Work

ทำงานหนักแทบตายทำไมยังไม่ก้าวหน้า? ‘5 วิธีปลดล็อกความสำเร็จ’ที่คุณอาจมองข้ามไป

By: PSYCAT July 7, 2020

ในหนึ่งชีวิตการทำงานของมนุษย์มีคุณสมบัติหลายต่อหลายอย่างที่นำไปสู่ “การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน” แต่หลายครั้งเราก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า จบมหาวิทยาลัยที่น่าเชื่อถือก็แล้ว ประวัติการทำงานน่าชื่นชมก็แล้ว เก่งก็เก่งแล้ว ทำงานหนักก็ทำแล้ว แต่ทำไมยังไม่พอ? ทำไมเราถึงไม่ไปสู่จุดที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเสียที? ทำไมหัวหน้าไม่เคยเห็นความพยายามนี้? ทำไมเรายังดูเป็นค่าเฉลี่ยทั่ว ๆ ไป ทั้ง ๆ ที่เราก็พยายามในทางของเรา?

อาจเป็นเพราะบางครั้งแค่เก่ง และทำงานหนักอาจยังไม่พอ การที่มนุษย์ประสบความสำเร็จ หรืออย่างน้อยก็โดดเด่นพอให้คนมองเห็นความสามารถนั้น ต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย

UNLOCKMEN อยากชวนมาปลดล็อกศักยภาพการทำงานไปอีกขั้น ที่เก่งและทำงานหนักก็ดีอยู่แล้ว แต่เราอยากชวนมาทบทวนตัวเอง เผื่อหลงลืมปัจจัยบางสิ่งไป จะได้ไหวตัวทัน หาทางปรับตัวอีกตั้ง แล้วลองมุ่งสู่ความสำเร็จหรือการเติบโตที่เราตั้งใจ ก่อนจะท้อหรือหมดไฟ เพราะคิดว่าเก่งไปก็เท่านั้น ขยันไปก็ไม่ได้อะไร

เก่งและทำงานหนัก แต่ยึดติดพื้นที่เดิม ๆ “ต้องกล้าเริ่มในพื้นที่ใหม่ ๆ บ้าง”

การเป็นคนทำงานที่มีเครดิตดี ดูเป็นคนเก่ง แถมพ่วงด้วยการทำงานหนักมาตลอดก็มีราคาที่ต้องจ่าย หนึ่งในนั้นคือ “ค่าความกลัวที่จะออกจากคอมฟอร์ตโซน” เพราะการที่เรารู้ว่าถ้าเราทำงานหนักในแบบของเรา ในพื้นที่ของเรา มันคือสูตรที่เราคุ้นเคย คือพื้นที่ที่เรามั่นใจในความสามารถของเราเต็มเปี่ยม เราจะทำงานหนักไปอีกกี่ปี เราก็รู้ว่าเราไม่มีทางผิดพลาดแน่ ๆ

แต่วิธีการทำงานแบบนี้เองก็เป็นกับดักของคนเก่งและทำงานหนัก เพราะความสำเร็จใหม่ ๆ ความก้าวหน้าใหม่ ๆ มันไม่มีทางผลิดอกออกผลมาจากการทำซ้ำแบบเดิม ๆ ดังนั้นการเก่งและทำงานหนักเป็นเรื่องที่ดี แต่หากต้องการนวัตกรรมใหม่ ๆ ต้องการการเติบโตแบบที่ไม่ใช่การเก่งย่ำอยู่กับที่ (และอาจจะโดนแซงไปครั้งแล้วครั้งเล่า) คือการที่เราต้องกล้าจะไปลองทำอะไรใหม่ ๆ เจอผู้คนใหม่ ๆ หรือลองหาทางเชื่อมกับสายงานที่ไม่เคยลองมาก่อน

ท่ามกลางโอกาสใหม่ ๆ ที่เราก้าวเท้าออกไป เราอาจไม่ได้รู้สึกมั่นใจเหมือนตอนที่ขลุกตัวอยู่ในพื้นที่เก่า แต่เชื่อเถอะว่าความก้าวหน้าใหม่ ๆ ไม่มีทางงอกออกมาจากการย่ำเท้าอยู่ที่เดิมแน่นอน

เก่งและทำงานหนักยังไม่พอ การรับฟังและทำงานร่วมกันก็มีความหมาย

เก่งนั้นดีแล้ว ทำงานหนักก็ดีเช่นกัน แต่หลายครั้งเมื่อเรารับรู้อยู่บ่อย ๆ ว่าเราช่างเก่ง ช่างทำงานหนัก ก็อาจเผลอทำให้เราสำคัญตัวว่าเราสามารถคว้าทุกสิ่งที่เราต้องการได้ด้วยตัวคนเดียว หรือเชื่อว่าคนที่ไม่ได้เก่งเท่าเรา ทำงานหนักเท่าเรา ไม่ควรค่าแก่การรับฟัง

ต่อให้เราไม่ได้คิดสุดโต่งแบบนั้น แต่การสำรวจความคิดของเราก็สำคัญเช่นกัน หากลองเปลี่ยนวิธีคิดดูว่าความสามารถ และการทำงานหนักก็เป็นคุณสมบัติหนึ่ง ในขณะที่คนที่ไม่ได้มีความสามารถเท่าเราในเรื่องนี้ อาจมีคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น เป็นคนละเอียดรอบคอบ เป็นคนทำงานเสร็จรวดเร็ว เป็นคนมีคอนเนกชันเยอะ ฯลฯ พูดง่าย ๆ ว่าทุกคนมีข้อดีแตกต่างกันไป อย่าปล่อยให้ความคิดที่ว่ามีความสามารถและทำงานหนักก็พอแล้ว และไม่ต้องฟัง ไม่ต้องทำงานร่วมกับใครเข้าครอบงำ

รวมไปถึงวิธีคิดที่คิดว่าเรามีความสามารถระดับนี้ ไม่ควรฟังคนที่มีความสามารถไม่เท่าเรา หรือเข้าหาแค่คนที่เรารู้สึกว่าเก่งกว่า มีอำนาจมากกว่า เพราะคิดว่ามีแต่คนที่เก่งกว่าเท่านั้นที่จะนำพาความก้าวหน้าทางการงานมาให้เราได้ แต่จริง ๆ แล้วความสามารถอาจไม่ได้วัดกันในแนวดิ่งเสมอไป มีความสามารถอีกหลากหลายแบบที่เราอาจไม่ได้เชี่ยวชาญ หรือรู้กว้างเท่าคนอื่น ดังนั้นอย่าลืมเปิดใจรับฟังความคิดเห็น อีกทั้งหาทางปรับคุณสมบัติการทำงานที่เด่นในแบบของเรา เข้ากับความเด่นของคนอื่น บางทีการทำงานในฐานะทีมก็อาจพาความก้าวหน้าบางแบบที่เราไม่คาดคิดมาให้

อย่าให้ความคิดที่ว่า “เก่งเกินจะลดตัวไปทำ” มาทำร้าย

หลายครั้งการทำงานหนักและความสามารถก็พ่วงมากับคำชม ผลงานชิ้นโบว์แดง หรือโปรเจกต์สุดอลังการที่คอยเสริมบารมีและความมั่นใจให้เรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นรางวัลยืนยันความสามารถและการทำงานหนักได้ แต่อย่าปล่อยให้คำชมเหล่านี้ฉุดรั้งเราไว้ เพราะหลงคิดว่าเราเก่งเกินกว่าจะไปทำงานบางอย่าง

งานเล็ก ๆ บางงาน การลงไปใส่ใจรายละเอียดบางแบบ หรือการไปลองโปรเจกต์ที่ไม่เคยมีใครชายตามองมาก่อน ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เก่งเสมอไป การเอาความคิดที่ว่าเราเก่งเกินกว่าจะมาทำงานแบบนี้ บางทีก็กลายเป็นอุปสรรคไม่ให้เราได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รวมถึงพลาดโอกาสหลายอย่างไปอย่างน่าเสียดาย

คนเก่งไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ คนเก่งต้องล้มเหลวได้ เรียนรู้เป็น

ยิ่งทำงานหนัก เราก็ยิ่งรู้ว่าทุกสิ่งที่เราตั้งใจทำด้วยความสามารถนั้นมีความหมาย แต่ยิ่งมันมีความหมายกับเรามาก บางทีเราก็เผลอปกป้องหรือยึดติดกับมันมากเช่นกัน ดังนั้นหลาย ๆ หนที่เราถามตัวเองว่าเราก็มีความสามารถนะ แถมทำงานหนักด้วยทำไม่ไม่ก้าวหน้าสักที? บางครั้งคำตอบอาจเป็นว่าเรากลัวที่จะไม่สมบูรณ์แบบหรือเปล่า?

เพราะคนที่ได้ชื่อว่าเก่งและทำงานหนักบางทีก็กลัวว่าถ้าล้มเหลว การทำงานหนักที่ผ่านมา ความสามารถที่ทำมาอาจถูกมองว่าเป็นของปลอม อาจถูกมองว่าไม่เก่งจริง

แต่เราเชื่อว่าคนเก่งและคนที่มีโอกาสก้าวหน้าไม่ได้หมายถึงคนที่ไม่เคยผิดพลาดทำอะไรก็สมบูรณ์แบบ 100% แต่หมายถึงคนที่กล้าที่จะลอง กล้าที่ล้ม และกล้าที่จะเรียนรู้จากการล้มแต่ละครั้ง เพื่อลุกใหม่ เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาการทำงานใหม่ ๆ มากกว่าคนที่ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อย เพราะกลัวว่าจะดูไม่สมบูรณ์แบบ

บางงานไม่เด่นพอ แต่อาจมีความหมายในระยะยาว

เวลาคือต้นทุนที่สำคัญ จึงไม่แปลกที่คนมีความสามารถและทำงานหนักทั้งหลายจะพิถีพิถันกับการใช้เวลามาก จนบางครั้งเราเลือกที่จะทำแต่สิ่งที่เรามองว่ามีผลตอบแทนสูง ๆ โปรเจกต์สำคัญที่จะทำให้เราก้าวหน้า (เพื่อให้ตุ้มค่าเวลาที่เสียไปที่สุด) อย่างไรก็ตามการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานไม่ใช่แค่เพราะเราวิ่งไล่ตามโปรเจกต์เด่น หรืองานผลตอบแทนคุ้มค่าเสมอไป

หลายครั้งการประสบความสำเร็จก็มาจากการแบ่งเวลาไปทำโปรเจกต์ใหญ่ ๆ ที่อาจเหมือนการวิ่ง 100 เมตร ทุ่มความสามารถมาก เร่งรัด ใช้เวลาไม่นาน แต่ในขณะเดียวกันบางอย่างก็คล้ายการวิ่งมาราธอน ที่ต้องใช้เวลานานกว่านั้น ฝึกนานกว่านั้น บ้มเหลวบางหน เรียนรู้ใหม่ เจอความท้าทายใหม่ ๆ แม้มันอาจไม่สำเร็จและดูรวดเร็วอย่างการวิ่งระยะสั้น แต่การหาเป้าหมายระยะยาว ที่ต้องใส่ใจ พิถีพิถันก็อาจเป็นอีกหนทางที่ทำให้เราก้าวหน้าไปในแบบที่การวิ่งระยะสั้นไม่อาจให้เราได้

ลองสำรวจตัวเองอย่างเป็นกลาง หรือจะไถ่ถามใครสักคนที่เราไว้ใจ ว่าเราเผลอติดกับดักอะไรกับการเป็นคนมีความสามารถ หรือทำงานหนักไปหรือเปล่า? แล้วเราพอจะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้างไหม? เพราะบางครั้งการเก่งและทำงานหนักอาจยังไม่พอ ในโลกทุนนิยมที่ฟาดฟันกันอย่างเข้มข้น ลองปลดล็อกวิธีคิดและเปลี่ยนการทำงาน อาจพอให้เราเห็นแสงสว่างที่เราหวังได้มากขึ้น

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line