Life

”ยิ้มสุดใจแต่ภายในสุดพัง” รู้จัก Smiling Depression การเสแสร้งว่าตัวเองมีความสุขเพื่อปิดบังซึมเศร้า

By: unlockmen February 19, 2021

เดี๋ยวนี้ความเศร้าเป็นเรื่องที่สังเกตได้ยาก เพราะคนยุคนี้เก็บซ่อนความรู้สึกกันเก่งขึ้น จากการที่เรามีโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นดั่งพื้นที่โอ้อวดชีวิต และทำให้เราเปรียบเทียบกับคนอื่นมากขึ้น ซึ่งมันก็ทำให้เราปฏิเสธความอ่อนแอทางจิตใจอย่างภาวะซึมเศร้ามากขึ้นเช่นกัน ปัจจุบันคนเศร้าจำนวนมากเลยเลือกที่จะปิดบังความเจ็บปวดทางใจของตัวเองเอาไว้ให้ใครเห็น และเกิดอาการที่เรียกว่า smiling depression ขึ้นมา


WHAT IS SMILING DEPRESSION?

ยิ้มซึมเศร้า หรือ Smling Depression เป็นคำอธิบายอาการที่เราพยายามซ่อนภาวะซึมเศร้าไว้ในใจ โดยการเสแสร้งว่าตัวเองโคตรมีความสุขกับชีวิต ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่อยากทำให้คนอื่นกังวล อับอายที่ตัวเองเป็นซึมเศร้า คิดว่าการเป็นซึมเศร้าจะทำให้ตัวเองดูอ่อนแอ หรือ รับไม่ได้ที่ตัวเองมีความผิดปกติ พวกเขาจึงเลือกที่จะปิดบังอาการเศร้า และแสดงออกมาในทางตรงกันข้าม

คนที่เป็น Smiling Depression มักเจอความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น เพราะไม่มีใครรับรู้อาการของพวกเขา และพาพวกเขาไปรับการรักษาที่ถูกต้อง เมื่อพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับอาการซึมเศร้าเพียงลำพัง โอกาสในการหายจากอาการซึมเศร้าก็น้อยลง และเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าปกติ


HOW TO COPE WITH SMILING DEPRESSION ?

การรับรู้ว่าอาการซึมเศร้าของตัวเอง และยอมรับมัน อาจเป็นก้าวแรกที่จะทำให้เรามีอาการดีขึ้น เพราะเมื่อเรารู้ว่าตัวเองมีปัญหาแล้ว เรามักจะพยายามค้นหาวิธีแก้ปัญหาเสมอ มันจึงช่วยลดโอกาสในการทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายที่เกิดจากการมีภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งคนที่เป็นซึมเศร้ามักมีอาการเหล่านี้ ได้แก่ น้ำหนักลด ความอยากอาหารน้อยลง นอนไม่หลับ เหนื่อยล้า รู้สึกสิ้นหวัง มองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง รวมถึง สูญเสียความสนใจในสิ่งที่ตัวเองเคยสนใจ

ถ้าเราเชื่อว่า ”เราต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบที่สุด” เราควรเปลี่ยนความคิด และเผื่อใจให้ความผิดพลาดมากขึ้น เพราะมนุษย์มีขีดจำกัด และมีปัจจัยที่ควบคุมได้ยากหลายอย่างที่ทำให้เราทำพลาดได้ ไม่ว่าจะเป็น ความเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย ความเครียด หรือ ความกดดัน ดังนั้น การตั้งมาตรฐานกับตัวเองไว้สูงเกินไป จึงไม่ต่างอะไรกับการทรมานตัวเอง

อีกหนึ่งความเชื่อที่ควรเปลี่ยน คือ การเชื่อว่า “การมีอาการซึมเศร้าจะทำให้เราไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่น” เพราะถ้าเราเชื่อแบบนี้ เราจะเกิดความกลัว และพยายามซ่อนอาการซึมเศร้าของตัวเอง การบอกเล่าความเศร้าของตัวเองให้คนอื่นฟังมักทำให้เราได้ปลดปล่อย และรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง ซึ่งจะทำให้อาการซึมเศร้าเบาบางลงได้ด้วย ดังนั้น เราควรกล้าที่จะพูดเรื่องนี้กับใครสักคน ไม่ว่าจะเป็น คนที่เราไว้ใจ เช่น เพื่อนสนิท หรือ คนในครอบครัว และ ผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักบำบัด

บางครั้งอาการซึมเศร้าก็ทำให้เราวิจารณ์ตัวเองหนักขึ้น บอกว่าตัวเองไม่ดีอย่างนั้นอย่างดี และรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งปัญหานี้แก้ไขได้ โดยการเรียกความภูมิใจในตัวเอง หรือ self-esteem กลับคืนมา ซึ่งสามารถทำได้โดยการหันมาใส่ใจกับสุขภาพของตัวเองมากขึ้น ทบทวนว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข รวมถึงการตั้งคำถามกับความคิดแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรานั้นมันเป็นจริงแค่ไหน พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เรามองโลกในแง่ลบน้อยลง และมีความสุขมากขึ้นได้

สุดท้าย ถ้าคนรอบตัวเรามีภาวะซึมเศร้า รวมถึง smiling depression เราสามารถช่วยเหลือพวกเขาโดยการสนับสนุนให้พวกเขากล้าที่จะไปพบแพทย์ พยายามรับฟังปัญหาของพวกเขาด้วยใจที่เปิดกว้าง หรือ อาจช่วยแบ่งเบาภาระของพวกเขา เช่น ช่วยทำงานบ้าน หรือ พาไปพบแพทย์ เมื่อพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับปัญหานี้เพียงลำพัง มันก็สามารถทำให้อาการซึมเศร้ามีผลกระทบต่อชีวิตพวกเขาน้อยลงได้เหมือนกัน


Appendixs: 1 / 2 / 3

 

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line