CARS

CONVERSATION WITH แทม พศิน อัธยาตมวิทยา ผู้กำกับมือดีที่มี PASSION จากความรักรถ CLASSIC

By: SPLESS November 4, 2018

ความสุขในชีวิตคนเราตั้งแต่เกิดมาจนตายไปคืออะไร ?

คำถามนี้สำหรับผู้ชายหลายคนอาจยังอยู่ในช่วงเดินทางตามหาคำตอบกันอยู่ แต่สำหรับ แทม หรือ พศิน อัธยาตมวิทยา เขาคงเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ค้นเจอคำตอบพวกนั้นด้วยตัวเองแล้ว แม้ช่วงอายุจะอยู่ในรุ่นราวเดียวกันกับใครหลายคนซึ่งยังเลือกใช้ชีวิตอยู่อย่างไร้ความท้าทายภายใน Comfort Zone ของตัวเอง

จากเด็กหนุ่มอายุ 20 ที่ลงมือเรียนรู้ด้วยตัวเอง จนสามารถเขียนหนังสือที่คนรักการถ่ายรูปหลายคนต้องรู้จักอย่าง Speed Of Light ต่อด้วยบทบาทผู้กำกับงานโฆษณาฝีมือโดดเด่น รวมไปถึงเรื่องราวความชื่นชอบในรถยนต์ที่มีมาตั้งแต่เด็ก สู่ชีวิตที่หลงใหลการอยู่หลังพวงมาลัยความเร็วสูง อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเขาจากเด็กหนุ่มหัวรั้นให้กลายเป็นผู้ชายที่มีคุณภาพทั้งด้านการทำงานและการใช้ชีวิต วันนี้เรามาหาคำตอบไปพร้อมกัน

“ชื่อแทมนะครับ พศิน อัธยาตมวิทยา ตอนนี้เป็นผู้กำกับครับทำเกี่ยวกับหนังโฆษณาแต่ก่อนหน้านี้จริง ๆ คนอาจรู้จักผมในฐานะการเป็นช่างภาพครับเพราะผมเริ่มถ่ายรูปมาตั้งแต่ก่อนเรียนมหาวิทยาลัย ใช้เวลาอยู่ตรงนั้นประมาณ 7 ปี ในฐานะช่างภาพที่มีความถนัดในเรื่องของ แสง เคยเปิดสอนเกี่ยวกับเรื่องแสงเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อนและตอนอายุประมาณ 20 ปีก็มีหนังสือของตัวเองออกมาครับ”

ศาสตร์แห่งแสง มีความสำคัญยังไง ?

“สำหรับผมแล้วแสงมันค่อนข้างเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมากเลยนะเพราะเราสามารถมองเห็นมันตลอด แต่เวลาที่มันลงมากระทบตัว มันก็แค่สะท้อนออกไปโดยที่เราไม่รู้สึกอะไร แถมสามารถนำมาปรับแต่งให้วิ่งสวนทางกันได้แบบต่างคนต่างไป นอกจากนี้ยังบอกเล่าถึงรูปทรงและลักษณะพื้นผิวในแบบต่าง ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่นการถ่ายภาพรถยนต์

อีกเหตุผลหนึ่งคือถ้าเราเคยสังเกตดี ๆ จะมองเห็นว่าในที่เดียวกันแต่คนละเวลา ก็เป็นคนละแสง ในเวลาเดียวกันแต่อยู่คนละมุมโลกก็เป็นคนละแสง ทิศทางของมันเปลี่ยนไปอารมณ์ทุกอย่างก็เปลี่ยนหมด”

7 ปีกับการเป็นช่างภาพจนเกิดหนังสือที่ชื่อว่า Speed Of Light อะไรคือแรงบันดาลใจให้เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น ?

“ก่อนหน้าที่จะเขียนหนังสือผมเคยจัดสอนมาก่อน ตอนนั้นรับสูงสุดแค่ครั้งละประมาณ 20 คน เพราะผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่สอนแล้วต้องประกบให้เขาทำ จะได้รู้ว่าถูกหรือผิด พอจำนวนมันจำกัดไว้น้อยขนาดนั้น โดยใช้เวลาแค่ 1 วัน เราก็มาคิดว่าจะทำไงให้คุ้มค่าที่สุดทั้งสองฝ่าย คือตัวคนมาเรียนต้องได้เยอะก่อนเป็นอย่างแรก แล้วเราก็ต้องได้ในสิ่งที่คุ้มกับเราด้วย ด้วยความที่เราโตมากับการวิ่งไปขอฝึกงานกับคนอื่นบ้าง หาอ่านเองบ้าง ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่ง่าย และน่าจะมีวิธีที่เราจะเรียนรู้ได้เร็วกว่า กระชับกว่า ไม่ต้องเสียเวลามาเป็นปี ๆ พอย้อนกลับไปมองตัวเองตอนเริ่มถ่ายรูปก็ไม่ได้มีเงินเหมือนกัน เพราะเราถูกเลี้ยงมาให้เริ่มทุกอย่างเอง”

“ขณะเดียวกันเราก็รู้สึกว่ายังมีเด็กในรุ่นเราหรือผู้ใหญ่บางคนที่ยังอยากจะเก่งขึ้นในสายอาชีพนี้ แต่ว่าเขาอยู่ไกลหรือไม่สามารถมาเรียนกับเราได้ ทำให้เกิดความคิดที่จะทำหนังสือขึ้นมา แต่ตอนนั้นก็ต้องคุยกับตัวเองว่าถ้าทำหนังจะสอนต่อไปไม่ได้แล้ว  เพราะเรื่องทั้งหมดที่เราสอนคงไปอยู่ในหนังสือ แต่เราก็มองในแง่ของความคุ้มค่าของผู้อ่าน ยกตัวอย่าง คน ๆ หนึ่งกำลังถ่ายรูปที่ต้องใช้เทคนิคแสงมาเกี่ยว เขาอาจจะนึกขึ้นมาได้ว่าเรื่องนี้เคยอ่านจากหนังสือของคน ๆ นี้มาก่อน ผมรู้สึกว่าตัวเองอยากเป็นคน ๆ นั้น ผมอยากจะลองให้ความรู้คนอื่นก็เลยตัดสินใจว่ามาทำหนังสือดีกว่า แล้วก็ตั้งใจทำมันให้ดีที่สุดจนกลายเป็นหนังสือ Speed of Light ออกมา”

ก่อนที่จะมาทำหนังสือและมีความรู้ขนาดนี้ ผ่านอะไรมาบ้าง ?

“ส่วนใหญ่เป็นการลองผิดซะเยอะครับ  ทุกวันนี้ก็ยังคิดว่ามีอะไรที่ผิดอยู่ตลอด ยกตัวอย่างเช่น เราลองผิดกับการถ่ายรูปทิวทัศน์ที่อยู่ตรงหน้า พอถ่ายเสร็จได้รูปมาเราคิดว่ามันออกมาสวยแล้ว แต่พอนั่งปรับแต่งไปเรื่อย ๆ เราก็รู้ว่ามันมีที่สวยได้อีก เพราะฉะนั้นการเรียนรู้มันคือการลองผิดลองถูก เพียงแค่พอเวลาผ่านไปการลองผิดก็จะเริ่มน้อยลงส่วนการลองถูกก็มีมากขึ้น

“เราเคยไปขอฝึกงานกับช่างภาพเก่ง ๆ และทำให้เห็นว่าเรามีความตั้งใจจริง ๆ ทำหมดทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นยกไฟ , ซื้อข้าวให้ลูกค้า, ชงกาแฟ จนวันหนึ่งเขาเห็นถึงความตั้งใจของเราก็มีโอกาสได้ลองลงมือทำบ้าง บางครั้งเรื่องเทคนิคเรายังพอหาอ่านได้ แต่ประสบการณ์จริงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายหรือวิธีการรับมือกับลูกค้ามันไม่สามารถไปเจอที่ไหนได้ เราก็จะรู้ว่ามีวิธีจัดการกับปัญหาเหล่านั้นยังไงมาจากการเรียนรู้แบบนี้เป็นส่วนใหญ่”

ไม่เคยเรียนจากตำราแต่เรียนรู้จากการทำงานร่วมกับคนอื่น ?

การที่ไม่ได้ลงเรียนมหาลัยหรือในโรงเรียนแต่มาหาความรู้ด้วยตัวเองจากการทำงานร่วมกับคนอื่นก็ถือเป็นการเรียนในตัว แต่ต้องบอกก่อนว่าเราไม่เคยต่อต้านการเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย แค่เรามองว่านั้นคือการเรียนรู้ในแบบที่คนอื่นขมวดปมมาให้อยู่แล้ว เช่น เบสิคช่างภาพก็ต้องเรียนรู้ในตำราเท่านี้นะในขั้นต่อไปคุณต้องไปหาต่อ”

“ส่วนในสิ่งที่ผมเรียนรู้ด้วยตัวเองมันอาจจะช้ากว่าคนอื่น แต่ขณะเดียวกันเราก็จะได้เลือกในสิ่งที่ตัวต้องการรู้จริง ๆ เช่น ผมอยากรู้เรื่องแสงก็จะได้ศึกษาแต่เรื่องแสงเต็มที่จนพอใจ พอเรื่องแสงได้ระดับหนึ่งแล้วบังเอิญมีช่างภาพคนหนึ่งมาบอกแสงเราโอเคแล้วแต่นางแบบอารมณ์แข็งไป ถ้าเรามองเห็นเหมือนกับที่เขาพูด มันก็จะเป็นโจทย์ที่จะนำเราไปหาคำตอบใหม่ว่าต้องทำยังไงถึงจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เป็นการเรียนรู้ที่เราเลือกให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในความรู้แค่นั้นเอง”

หันเหเข้ามาสู่บทบาทผู้กำกับได้ยังไง ?

“การมาเป็นผู้กำกับมันเริ่มจากวันหนึ่ง เรานึกขึ้นมาได้ว่าเมื่อก่อนเราชอบรูปเพราะเราชอบออกไปข้างนอก แล้วพอเราได้เจออะไรใหม่ ๆ หลังจากสังเกตว่าเรามองเห็นมันด้วยตาเป็นแบบนี้นะ แต่ขณะเดียวกันก็อยากจะลองเล่าออกมาอีกแบบด้วยกล้องถ่ายรูป ก็ทำงานอยู่สักพักใหญ่ ๆ แต่มันคือการทำตามโจทย์ที่ให้มาของคนอื่น ทำให้รู้สึกว่าเราไม่เหลือความเป็นตัวเองเลย

ตอนนั้นเลยที่รู้สึกว่าอยากลองอะไรใหม่  ๆ ก็คิดขึ้นมาว่าอย่างน้อยเราก็ใช้กล้องเป็นก็ใช้วิธีเดิมเลย เริ่มต้นใหม่ไปขอฝึกงานกับรุ่นพี่ที่ทำหนังโฆษณาในตำแหน่งช่างภาพวิดีโอ พอผ่านได้ประมาณ 2-3 เรื่อง ก็รู้สึกอีกว่าจริง ๆ เราไม่ได้ชอบถ่ายหนังหรือขยับกล้องไปมา แต่เราชอบที่จะบอกคนในเฟรมว่าให้เขาทำอะไรหรือกำหนดว่าในนั้นอะไรบ้างมากกว่า รวมถึงวิธีการเล่าเรื่องในแบบต่าง ๆ ว่าจะถ่ายทอดและนำเสนอออกมาแบบไหน”

“อีกเหตุผลหนึ่งคือเราชอบทำงานร่วมกับคนอื่น อาจเพราะเริ่มทำงานด้วยอายุน้อยซึ่งมีช่วงหนึ่งที่ผมคิดว่าตัวเองเก่งมาก แต่พอมาถึงวันที่เลิกสนใจการถ่ายรูปเรากลับรู้สึกตัวเองว่า “มึงไม่ได้เก่งขนาดนั้น” ยังมีคนเก่งกว่าเราอีกเยอะ เพราะช่างภาพคือ One man Show ส่วนผู้กำกับคือการทำงานเป็นทีม เรามีโอกาสได้มาสัมผัสกับบรรยากาศตรงนี้ทำให้รู้เลยว่าทุกตำแหน่งไล่ตั้งแต่ผู้ช่วยผู้กำกับไปจนถึงช่างไฟ ทุกคนมีความสามารถที่ถนัดของตัวเองทั้งนั้น ทำให้รู้สึกว่ากำลังอยู่ในโรงเรียนที่สามารถทำงานด้วยเรียนรู้ไปด้วยแต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ได้ INPUT ความรู้ที่มีให้กับคนอื่น ๆ เหมือนกัน ผมว่ามันสนุกเพราะทุกวันนี้อายุ 30 แล้วยังรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้แก่เลยเพราะว่าเราก็ยังเรียนรู้ตลอดเวลา”

ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยมีอีโก้บ้างไหม จัดการกับมันยังไง ?

“สมัยก่อนต้องบอกว่ามีเยอะมากครับ คือด้วยความที่เราเริ่มทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย อายุ 17 เริ่มทดลองเทคนิคแสงสารพัด พอโตขึ้นมาหน่อยก็เริ่มมีคนมาขอให้สอน พอสอนไปสอนมา Class เรียนก็เพิ่มขึ้น อายุได้ 20 ปีก็มีสำนักพิมพ์ติดต่อมาให้เขียนหนังสือ ทำให้ช่วงนั้นเป็นธรรมดาที่มีอีโก้ขึ้นมาในความคิด ไปทำงานเราอายุน้อยกว่าผู้ช่วยเป็น 10 ปี ก็เคยด่ามาแล้ว แต่มาถึงวันหนึ่งที่เป็นเหมือนจุดเปลี่ยนมันตลกมากเลยนะเพราะมันเกิดจากการที่เรามีโอกาสได้ไปบวช

บวชแบบไม่ได้คิดอะไร แต่เราก็ตั้งใจกับการบวชตรงนั้นเพราะคิดว่าคงเป็นโอกาสเดียวในชีวิต จนได้ไปศึกษาในเรื่องความโกรธว่ามันส่งผลยังไงกับเราบ้าง ทำให้รู้ว่าเวลาที่โมโหหรือพูดจาแย่ ๆ ใส่คนอื่นไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย จากนั้นมาก็เลิกโมโหคน และลองเปลี่ยนทัศนคติตัวเอง ลองมาคิดในมุมเขาดูว่าทำไมเขาทำแบบนั้น จากนั้นมาผมพบว่าชีวิตง่ายขึ้นเยอะเลย แค่ทำความเข้าใจและสื่อสารกันดี ๆ เพราะบางทีเหตุผลเขาอาจจะดีกว่าของเราก็ได้ แต่อีโก้เรามันบังหน้าเราก็ยกมันออก อาจมีไว้บ้างแต่ไม่ได้เอาไปเกทับคนอื่น แต่มีไว้เพื่อให้เราเป็นตัวเราในวันนี้แค่นั้นก็พอ”

จุดเริ่มต้นในการชื่นชอบและเริ่มสะสมรถยนต์

“คือเราเริ่มต้นชอบในรถยนต์มาตั้งแต่เด็กแล้ว จำความได้เราก็เห็นแต่ของเล่นที่เป็นรถยนต์ ชีวิตตั้งแต่จบมัธยมก็ถูกผลักดันด้วยมันมาตลอด และเป็นเหตุผลให้เริ่มทำงานเพราะว่าอยากเก็บเงินซื้อรถแต่ที่บ้านไม่ตามใจ เราก็มาตั้งคำถามกับตัวเองทำยังไง ก็ได้คำตอบว่าเราก็ต้องทำงานเก็บเงินแล้วก็ซื้อรถ ไอ้ความหลงใหลที่มีก็ฝังอยู่ในเส้นเลือดเราอยู่แล้ว พอเราได้เจอรถที่ชอบก็จะรู้สึกอยากได้มาเป็นเจ้าของ สำหรับผมมองว่ารถแต่ละคันมันมีที่มาที่ไปเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะรถถูกรถแพง คันใหญ่หรือคันเล็ก สภาพเก่าหรือใหม่ ทุกคันมีเรื่องราว รวมความรู้สึกที่ได้นั่งอยู่หลังพวงมาลัยของรถยนต์แต่ละคันแต่ละยี่ห้อที่เราชอบมากกว่า”

เราเลยถือโอกาสให้คุณแทมแนะนำรถแต่ละคัน เพื่อเป็นการแบ่งปันความรู้ในมุมมองของคนที่รักและหลงใหลในรถยนต์ รวมถึงบอกเล่าเหตุผลพิเศษของแต่ละคัน ว่าอะไรคือสิ่งที่ดึงดูดเขาให้คว้ามาเป็นเพื่อนรู้ใจตอบสนองความหลงใหลที่มีมาตั้งแต่วัยเด็กของตัวเอง

 

Mercedes Benz 1964 Classic



คันแรกคือ Mercedes Benz ปี 1964 หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “เบนซ์ หางปลา” มาจากส่วนท้ายของตัวรถซึ่งเป็นครีบแหลมคล้ายหางปลา สำหรับผมเป็นรถที่อยากได้มาตั้งแต่เด็กแล้ว ซึ่งหลังจากได้มาขับทำให้เรารู้ว่า Mercedes Benz 1964 เป็นรถที่ขับสบายมากมีความโอ่โถงและช่วงล่างที่นุ่มสบาย ถือเป็นเพื่อนรู้ใจที่เดินทางไปด้วยกันมาแล้วทุกที่ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ขับจากใต้ขึ้นเหนือพร้อมกับย้อนกลับรอบประเทศระยะทางเกือบ 8000 กิโลเมตรในทริปเดียวใช้เวลาไปประมาณ 19 วัน ทำให้รู้สึกว่าคันนี้เป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งเลยที่ถึงใครจะเอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

 

Mercedes Benz 500  SL-Class ปี 1994

คันนี้ใช้ชีวิตช่วงแรกอยู่ที่ประเทศฮ่องกง ผมยังจำสภาพรถตอนที่เอาเข้ามาในเมืองไทยใหม่ ๆ ได้ เพราะสภาพดีมาก รอยแตกรวมถึงความกรอบของตัวรถแทบไม่มีให้เห็นเลย เป็นอีกคันที่อยากได้มานาน เพราะตอนเด็ก ๆ เคยมีโมเดลจำลองของมันอยู่ชิ้นหนึ่ง ต่อมาต่อยอดเป็นความคิดที่ว่าอยากได้สเกล 1 ต่อ 1 ของรถรุ่นนี้สีนี้ให้ได้ ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร เคยดูผ่านไป 4 คันเราไม่ชอบคันไหนเลย แต่อยู่ดี ๆ คันนี้ก็โผล่มาจากนักเรียนคนหนึ่งที่เคยเรียนเรื่องแสงกับผมมาก่อน เขารู้ว่าเราหาอยู่ พอผมไปเห็นก็ถูกใจและวางมัดจำตอนนั้นเลย

Mercedes Benz 500 SL ในความรู้สึกผมเป็นรถที่มีเครื่องยนต์ใหญ่เหมาะกับการขับระยะไกล มาพร้อมช่วงล่างที่นุ่มไม่แข็งกระด้างซึ่ง SL นั้นมาจากคำว่า SportLight แต่สำหรับผมที่นิยามให้ SL คันนี้เป็น Grand Touring มากกว่า คือเป็นรถที่ขับทางไกลสบายวิ่งความเร็วสูงที่ 200-240 ได้นิ่งไม่มีปัญหาแถมยังสามารถเปิดประทุนได้เป็นคันที่เหมาะกับการหยิบกุญแจและเปิดประตูขับออกไปเลยไม่ว่าจะอยากไปที่ไหนก็ตาม

 

Porsche Boxster ปี 2002

ตัวนี้เป็นรถรุ่นแรกในสายการผลิตซึ่งจริง ๆ แล้วไฟเลี้ยวมาเป็นสีขาว เราก็เอาไปทำกลับเป็นสีส้มซึ่งเป็นของเดิม สำหรับผม Boxster เป็นรถที่สนุกมากเพราะมีน้ำหนักเบารวมถึงแบ่งเฉลี่ยหน้ากับหลังเท่านั้น 50:50 จัดการความสมดุลด้วยการวางเครื่องไว้ตรงกลาง ตัวรถและช่วงล่างที่ยึดเกาะทำให้เราขับสามารถขับไปในที่คดเคี้ยวหรือเข้าโค้งแบบไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยเลย

ความพิเศษของ Porsche Boxster คันนี้คือการที่เจ้าของคนเดิมดัดแปลงให้เป็นรถสนาม เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์, เบรก, ช่วงล่าง ไปจนถึงชุดเกียร์ ทุกส่วนทำงานตอบสนองการขับขี่ได้รวดเร็ว ถือเป็นรถที่เอาความสุขเข้ามาในบ้านเลยทีเดียว

 

Alfa Romeo GTV ปี 1978

รถสัญชาติอิตาลีคันเดียวในบ้านเพราะ 3 คันก่อนหน้านี้เป็นเยอรมนีทั้งหมด ซึ่งอิตาลีก็จะมีความแปลกในตัวมันเอง เช่น ปุ่มหรือสวิตซ์ต่าง ๆ ก็จะอยู่ผิดที่ผิดทาง ไม่เหมือนรถที่เราเคยขับมาก่อน แถมสภาพที่ได้มาก็ดีมากสำหรับรถอายุ 40 ที่พึ่งจะวิ่งไปแค่ 70,000 กิโลเมตร โดยสภาพทุกอย่างในรถเป็นของเดิมหมด สำหรับผมเป็นรถที่มองดูแล้วมีความเป็นจิ๊กโก๋ คือไม่ใช่รถที่เท่หรือสวย แต่มีความเป็นรถยนต์ในยุค 70’s อยู่เต็มเปี่ยม ยกตัวอย่าง เส้นกระจกหน้าแบบลาดเอียงเป็นพิเศษ ก็ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญในยุคสมัยนั้นเลยทีเดียว ทำให้ผมรู้สึกว่าเหมือนกำลังขับงานศิลปะอยู่ยังไงยังงั้น

คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจอยากเล่นรถบ้างจะเริ่มยังไง ?

“คนที่เล่นรถได้อาจจะต้องมีเงินก่อนครับ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องมีเยอะนะ เพราะแต่ละคนไม่จำเป็นต้องซื้อรถแพง แต่ซื้อรถในราคาเท่าที่เราซื้อได้โดยไม่เดือดร้อนตัวเอง เพราะผมถือคติว่า รถเขาเงินเขา ต่อให้คุณซื้อมาแล้วมาทำสีฉูดฉาด แปะสติ๊กเกอร์เต็มไปหมดหรือทำอะไรที่อยากจะทำกับรถตัวเอง แต่หลังจากนั้นคุณมองหันกลับมามองแล้วคิดว่ารถตัวเองสวย นั้นแหล่ะคือเป้าหมาย มันคือความสุขของตัวคุณ

อีกอย่างคือคุณไม่ต้องเป็นคนเล่นรถแต่คุณเป็นแค่คนชอบรถได้ ผมมีเพื่อนหลายที่มีความรู้ด้านรถยนต์เยอะมากแต่ไม่มีรถ เขาก็จะมีความสุขตลอดเวลาที่ได้ไปดูรถสวย ๆ ตามงานรถยนต์ต่าง ๆ ก็ไปดูไปศึกษาเป็น Passion ให้ชีวิต และไม่จำเป็นต้องเอาเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวด้วยก็ได้”

เริ่มต้นกับอะไรก็ต้องเต็มที่ ชอบอะไรก็วิ่งเข้าใส่จนประสบความสำเร็จ มีแนวคิดอะไรที่ใช้บอกตัวเองบ้างไหม ?

“อย่างแรกคือต้องมองภาพให้ชัดเจนก่อนว่าตัวเองอยากทำอะไรอยู่ตรงไหน อาจเริ่มมองจากใกล้ ๆ ก่อน เช่นวันพรุ่งนี้เราจะทำอะไร สัปดาห์หน้าจะทำอะไร เดือนต่อไปทำอะไร อยากเห็นตัวเองเป็นยังไงก็นึกภาพนั้นเอาไว้ ต่อด้วยการตามหาว่าเส้นทางไหนจะพาเราไปยืนตรงนั้นได้ ที่สำคัญคือ อย่าหยุด อย่ายอม และปรับปรุงพัฒนาตัวเองตลอดเวลา”

เป้าหมายต่อไปในชีวิตที่อยากจะปลดล็อกตัวเองและลงมือทำ ?

“ความฝันของผมจริง ๆ เลยคือการเป็นช่างซ่อมรถ ตอนเด็ก ๆ พ่อ-แม่จะถามผมเสมอว่าตอนแก่ไปอยากทำอะไร เราก็จะบอกเสมอว่าเป็นช่างซ่อมรถ ถึงตอนนี้จะไม่รู้หรอกว่าจะซ่อมรถยี่ห้ออะไรรุ่นไหน แค่เราอยากอยู่กับเครื่องมือ, เครื่องจักร, กลไกต่าง ๆ เพราะการทำงานของมันมีที่มาที่ไปเป็นระบบแบบเข้าใจง่ายเป็นขั้นตอน ทำให้รู้สึกว่าถ้าแก่ตัวไปตัวเองคงต้องการอะไรแบบนั้น แต่วันนี้ภาระต่าง ๆ ก็ยังมีอยู่ ก็แค่ทำงานให้เยอะ เก็บหอมรอมริบไป ในอนาคตวันหนึ่งจะได้ทำรึเปล่าไม่รู้ แต่วันนี้ผมไม่ยังยอมแค่นั้นเอง”

ถือเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ที่ดี โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการไฟในการเริ่มต้นชีวิตในแง่ของการทำงานและทัศนคติ ส่วนในเรื่องจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นคงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องไปตั้งเป้าหมายกันเอาเองของใครของมัน ที่สำคัญคือถ้าเล็งเป้าแล้วก็ไม่ควรใส่เกียร์ถอยหลังวิ่งหนี ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม มีแต่ต้องเหยียบคันเร่งเดินหน้าออกไปลุยให้รู้กันไปเลยว่าทำได้หรือทำไม่ได้สักครั้งในชีวิต

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line