Life

จะทำอย่างไรเมื่อเกิดความคิดที่ว่า “ตายดีกว่าอยู่” และการฆ่าตัวตายกลายเป็นทางออกของปัญหา

By: TOIISAN December 11, 2018

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในสังคมยุคปัจจุบัน โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ทำให้คนตายได้มากพอ ๆ กับโรคร้ายอย่างมะเร็ง และโรคซึมเศร้าก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการฆ่าตัวตาย รวมถึงเรื่องของการใช้ยาเสพติด ไม่ว่าจะด้วยสภาพทางเศรษฐกิจ หรือปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนให้เกิดความเครียดทั้งนั้น ด้วยจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าหากวันนึงคนรอบข้างเป็นโรคซึมเศร้าถึงขั้นคิดว่าตายไปน่าจะดีกว่า เราควรจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร  ?

 

เข้าใจว่าความรู้สึกอยากตายเกิดจากอะไร?

บางคนเกิดมาจนถึงตอนนี้อาจไม่เคยเกิดความรู้สึกว่าอยากตายเลยสักครั้ง แต่สำหรับคนที่มีอาการซึมเศร้า เมื่อเจอปัญหาหนักเกินรับไหวก็จะเริ่มเกิดความคิดแบบนี้ขึ้นมา และจะถูกสะกิดให้คิดถึงมันได้แม้จะไม่มีปัจจัยอะไรมากระตุ้นก็ตาม เพราะความรู้สึกเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้ และเปลี่ยนแปลงง่ายไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางสภาพแวดล้อม คนรอบข้าง หรือตัวเองก็ตาม ทุกอย่างล้วนสร้างความคิดที่วนเวียน จมอยู่ในช่วงเวลาแย่ ๆ ในหัวจนรู้สึกโดดเดี่ยวออกมาจากสังคม

หากครั้งหนึ่งใครเคยได้ยินชื่อของ JD Schramm ที่ปรึกษาด้านธุรกิจการสื่อสารของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก็คงจะนึกออกว่าเขาคือชายผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดสะพานแมนแฮตตัน เขาเลือกการตายเพื่อจบความเจ็บปวดจากโรคซึมเศร้า และสุดท้ายเขาก็ถูกช่วยชีวิตไว้ได้ทัน จึงได้เอาประสบการณ์เกือบตายในครั้งนี้มาเล่าใน Ted Talk

TED

JD บอกว่าเขาเข้าใจความคิดของคนที่ต้องการฆ่าตัวตายเป็นอย่างมาก เพราะความคิดแบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับเขามาก่อนเหมือนกัน เขารู้ซึ้งถึงพลังของความเงียบเหงา และความหดหู่นั้นน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะมันจะเปลี่ยนสิ่งรอบตัวเราให้กลายเป็นความทุกข์อันมืดดำ จนรู้ตัวอีกทีไม่ว่าอะไรก็ไม่สามารถทำให้มีความสุขได้อีกแล้ว และทางออกเดียวที่คิดว่าจะช่วยทำให้ความทุกข์หายไปก็คือการฆ่าตัวตาย

JD สรุปว่าจิตใจเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก และถ้าหากเริ่มมีความเครียดนึกถึงแต่เรื่องแย่ ๆ ก็ต้องหาวิธีรับมืออย่างทันท่วงทีก่อนที่มันจะบานปลายจนถึงขั้นเกิดความคิดที่จะจบชีวิตตัวเอง

ทางด้านองค์กรต่างๆ ก็พยายามค้นหาคำตอบว่าสาเหตุที่ทำให้ผู้คนคิดฆ่าตัวตายเกิดจากอะไร ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ ฯ หรือ The Centers for Disease Control and Prevention (CDC) ได้วิเคราะห์ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้คนเกิดความรู้สึกอยากตาย เช่น ความรู้สึกเจ็บปวดจากการสูญเสียคนรัก การถูกกลั่นแกล้ง การถูกล่วงละเมิด ความยากจน รวมถึงการอยู่อย่างโดดเดี่ยว ซึ่งวัดจากอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรในสหรัฐ ฯ กว่า 54% ไม่ได้แสดงอาการผิดปกติทางจิตออกมา แต่มีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยข้างต้น

แต่ก็มีผู้แย้งบทวิเคราะห์นี้เช่นกัน โดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ ฯ หรือ National Institutes of Health (NIH) ที่ศึกษาเกี่ยวกับกรณีการฆ่าตัวตายและได้ผลออกมาว่ากว่า 90% ของคนที่คิดฆ่าตัวตายมีปัญหาสุขภาพจิต แต่อาจจะไม่รู้ตัวมาก่อน และไม่ได้รับการรักษาจนทำให้ถึงแก่ความตาย และได้วิเคราะห์ว่าโรคซึมเศร้าจะส่งผลให้อารมณ์อ่อนไหว ความอดทนต่อเรื่องต่าง ๆ ลดน้อยลง อารมณ์แปรปรวนเนื่องจากการขาดสารเคมีเซโรโทนิน ทำให้เกิดความเศร้าจนไปถึงขึ้นคิดว่าตัวเองควรตายจะดีกว่า

ซึ่งสมมุติฐานนี้ทาง Mental Health America ก็มีความคิดไปในทางเดียวกัน และเสริมเกี่ยวกับความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายว่า ถึงแม้จะเป็นเรื่องของความรู้สึกที่จะเอียดอ่อน แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้

 

เมื่อรู้สึกว่าอยากตาย เราควรรับมืออย่างไร?

บ่อยครั้งที่เหล่าผู้คนที่ต้องการฆ่าตัวตายถูกช่วยชีวิตเอาไว้ แต่เมื่อเขารอดแล้วหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไรต่อ? ด้วยคำถามดังกล่าวจึงทำให้เกิดการวิเคราะห์และได้พบกับผลลัพธ์ที่น่ากังวล จาก 19 ใน 20 คน ที่คิดฆ่าตัวตายแต่ทำไม่สำเร็จมีโอกาสที่จะทำมันอีกครั้งถึง 37% ดังนั้นการกำจัดความรู้สึกในการอยากฆ่าตัวตายจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่มองข้ามไม่ได้

สำหรับผู้ที่มีความเครียดและตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ถ้าต้องการสู้ดูสักครั้ง กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ อย่าหมกตัวอยู่แต่ในห้องแคบ ๆ ให้ลองออกมาเจอสภาพแวดล้อมข้างนอกบ้าง ซึ่งหลายคนเคยแนะนำว่าการเดินทางไปเที่ยวสามารถช่วยบรรเทาจิตใจได้ เพราะมันช่วยให้ได้เห็นผู้คนที่ใช้ชีวิต เกิดความคิดใหม่ ๆ และลดการคิดย้ำวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิม ๆ แถมการออกเดินทางยังสามารถสร้างฮอร์โมนที่จะช่วยผ่อนคลายความเครียดได้อย่างไม่น่าเชื่อ รวมถึงการกินยาตามที่หมอสั่งก็เป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนคนรอบข้างที่มีเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวมีความเครียดสะสม อยู่ในภาวะซึมเศร้า และมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง จากคำบอกเล่าของคนที่เคยฆ่าตัวตายต่างก็พูดไปในทางเดียวกันว่า พวกเขาไม่ต้องการคนที่พยายามทำตัวเป็นนักจิตวิทยามาพูดปลอบใจ สิ่งที่พวกเขาต้องการจากคนรอบข้างนั้นมีเพียงแค่รอยยิ้ม การทักทาย ภาษาและท่าทางที่เป็นมิตรเช่น การกอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ง่ายมากและช่วยเยียวยาจิตใจได้จริง

และขอให้หยุดความคิดที่ว่าเมื่อพูดดีด้วยแล้วไม่ดีขึ้น ก็ต้องพูดจาเสียดสี หรือเมินเฉยไปเลยเพราะคิดว่าจะเปลี่ยนเป็นแรงผลักดัน แต่ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับการส่งเสริมให้คนคิดฆ่าตัวตาย UNLOCKMEN จึงขอย้ำอีกครั้งว่าอย่าคิดทำเด็ดขาด แต่ขอให้อดทน เข้าใจ และให้เวลากับพวกเขาซักหน่อย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อเจอกับปัญหา คือการให้กำลังใจทั้งตัวเองและคนรอบข้าง ใช้ชีวิตอย่างมีสติ จะช่วยเราให้เจอกับทางออกของการแก้ปัญหา และก้าวผ่านความทุกข์ต่าง ๆ ไม่ว่าอกหัก การสูญเสียคนรักที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ความเครียดจากการทำงาน หรือเรื่องเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตามทุกสิ่งสามารถแก้ไขได้ เพราะทุกปัญหานั้นมีทางออกเสมอ ลองมองเรื่องเล็ก ๆ รอบตัวและเปลี่ยนมันเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุข อย่างการตื่นเช้ามาได้ดูรายการทีวีที่ชอบ กอดสัตว์เลี้ยงที่เรารัก หรือได้ฟังเพลงโปรด หากมองโลกในแง่ดีและมีสติก็จะเห็นได้ว่า ตัวเราเองนั้นสามารถสร้างสิ่งรอบตัวให้กลายเป็นความสุขได้จริง ๆ

 

 

SOURCE1 SOURCE2

 

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line