Life

SURVIVAL: เคล็ดลับการพังประตูปิดตายแบบเรื่องจริงไม่อิงหนัง เพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขัน

By: PEERAWIT May 18, 2018

“ทุกปัญหามีทางออก ทุกทางออกมีทางเข้า” แล้วถ้าประตูที่เราต้องการผ่านเข้าไปมันล็อกหละ ต้องทำอย่างไร ?

ทางออกที่ดีที่สุดก็อาจจะเป็นการโทรเรียกช่างกุญแจมาช่วยไขซะเลย ง่ายดี แต่อย่าลืมว่าโชคคงไม่ได้เข้าข้างเราเสมอไป เพราะถ้าเกิดเจอสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมา อย่างไฟไหม้บ้านหรืออาคารที่เราอยู่ หรือมีคนที่คุณรักติดอยู่ในห้องที่ไฟกำลังลุกโชน ไม่ก็ใครสักคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างสุด ๆ แต่ทว่าประตูห้องนั้นดันล็อกอยู่ ก็คงจะไม่มีเวลาโทรหาใครมาช่วย แบบนี้ก็ต้องรีบหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เอาวะ พังก็พัง!

ส่วนใหญ่แล้วภาพจำการพังประตูของเราน่าจะมาภาพยนตร์หรือซีรีส์หลายเรื่อง บ้างก็คิดง่าย ๆ ว่า แค่ทุ่มสุดตัว ใส่แรงเต็มที่พุ่งชนไปเลย มันต้องได้สิวะ แต่หารู้ไม่ว่าหากทำผิดวิธีแล้ว นอกจากจะพังไม่สำเร็จ ไอ้ที่พังนี่แหละก็จะกลายเป็นตัวเราเอง

ทีมงาน UNLOCKMEN เห็นว่าพวกเราควรจะมีทักษะการ “พังประตู” ติดตัวไว้ เผื่อเอาไว้ใช้ในยามคับขัน จึงได้สอบถามกับเจ้าหน้าที่ท่านหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยนาม และก็ได้คำตอบที่ทำให้เรารู้ว่าที่ผ่านมาเราส่วนใหญ่นั้นเข้าใจผิดมาตลอด

 

ทำความรู้จักกับประตูก่อน

Know You Enemy : รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง จะพังอะไรทั้งทีก็ต้องรู้จริง เชื่อว่ามีหลายท่านที่มีปฏิสัมพันธ์กับประตูแค่ “เปิด” และ “ปิด” มาทั้งชีวิต แบบนี้ต้องเติมความรู้เกี่ยวกับประตูเบื้องต้นกันหน่อย

  • ประตูภายนอก : ด้วยความที่ต้องทนแดดทนฝนทำให้เป็นแบบโครงตัน (solid core) ไม่ว่าจะเป็นโครงไม้ตัน หรือวันสดุอื่น ประตูแบบนี้แม้จะตัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าถึงทางตัน แค่ต้องใช้แรงมากพอสมควรจึงจะพังได้
  • ประตูภายใน : การใช้งานของประตูภายในจะไม่ได้เน้นตรงความปลอดภัยนัก ส่วนใหญ่ก็เลยจะเป็นประตูโครงไม้กลวง (hollow-core) ไม่ว่าจะทำมาจากไม้ หรือไฟเบอร์กลาส เพราะฉะนั้นการพังประตูแบบนี้จะใช้แรงไม่มากนัก
  • ประตูโครงไม้เนื้อแข็งตัน : ทั้งตัน ทั้งแข็ง ต้องใช้แรงเยอะหน่อยในการพัง ประตูแบบนี้มักจะทำมาจากไม้เต็ง, ไม้แดง, ไม้มะค่า, ไม้ตะเคียน, ไม้จำปา และไม้ประดู่ เป็นต้น
  • ประตูโลหะ : ขึ้นชื่อว่าโลหะ ไม่ว่าจะเป็นประตูโครงโลหะ หรือประตูหุ้มโลหะก็ตาม ย่อมต้องใช้แรงมากในการพัง ถ้าเป็นประตูไม้เนื้ออ่อนหุ้มโลหะก็อาจจะใช้แรงปานกลางถึงมากกว่าปานกลางในการพัง ถ้าเป็นประตูโครงโลหะที่มีน้ำหนักมากกว่าประตูชนิดอื่น รวมถึงบางบานที่ใช้โลหะที่ทนทานต่อความเสียหาย แบบนี้ต้องใช้แรงทั้งหมดเท่าที่มี ไม่ก็ต้องทำใจดี ๆ ว่าอาจจะพังไม่ได้หากไร้เครื่องมือ

 

อย่าทำตัวเป็นพระเอกหนังบู๊

หนัง action บางเรื่องก็ไม่เน้นความสมจริงในการพังประตู แต่เพราะเขาต้องการฉากบู๊ ก็เลยเน้นความมันส์ในสไตล์ “วิ่งใส่มันเลยไอ้น้อง” – ผู้กำกับคิวบู๊บางเรื่องบรีฟพระเอก

ขอบอกเลยว่าไม่ผิดครับ แต่ไม่ควร การพุ่งเอาไหล่ชนจะทำให้คุณบาดเจ็บไหล่ได้ง่าย ๆ พอไหล่พังแล้วสาว ๆ ที่ไหนจะมาซบ ไม่เท่เลย สิ่งที่ควรทำและได้ผลกว่าคือการถีบเข้าไปอย่างจังและพังให้ถูกจุด อย่าคิดว่าแค่เอาส่วนหนาของร่างกายบวกกับแรงควายกระแทกเข้าไปแล้วมันจะเปิดได้เสมอไป สิ่งที่ต้องใช้มากที่สุดก็คือ “กึ๋น”

 

อย่าตายน้ำตื้น

สิ่งที่ช่วยเราได้มากที่สุดในยามคับขันก็คือ “สติ” ใช้สมาธิเช็กประตูบานนั้นหน่อยว่า “ล็อกจริง ๆ หรือเปล่า ?” , “มันเปิดไปทางไหน ?” ในกรณีนี้ต้องขอทำความเข้าใจกันอย่างตรงไปตรงมาว่า วิธีที่เราแนะนำนั้นใช้ได้กับประตูบานที่เปิดออกจากตัวไปข้างหน้า ส่วนประตูที่เปิดเข้าหาตัวก็ต้องหาขวาน, ค้อน, ถังดับเพลิง หรืออุปกรณ์อื่น ๆ มาช่วยพังเข้าไป อย่าใช้ฝ่ามืออรหันต์แบบหนังกำลังภายใน หรือลูกเตะสไตล์ดาวซัลโวซัดเข้าไปเด็ดขาด เดี๋ยวขาขาดพอดี

 

ถีบตรงใกล้ ๆ กับลูกบิดประตู

การถีบที่ทรงพลังจะไม่ได้ผลเลย ถ้าถีบไม่เข้าเป้าหมายที่ถูกต้อง จุดอ่อนของประตูปกติอยู่ตรงบริเวณใกล้ ๆ กับลูกบิด หรือใกล้ ๆ กับรูกุญแจ เพราะส่วนใหญ่แล้วตรงลูกบิดเลยจะเป็นโครงเหล็กที่แข็งแกร่ง ส่วนตรงกลางประตูส่วนใหญ่ก็จะมีโครงสร้างและวัสดุที่แข็งแรง ยากต่อการถีบให้ทะลุ

ส่วนบางบานที่ดูอ่อนแอ ก็อาจจะถีบให้ทะลุตรงกลางได้ แต่จะเสียเวลามาก และเสี่ยงต่อการบาดเจ็บขาของคุณ เพราะฉะนั้นการถีบตรงใกล้ลูกบิดจึงตอบโจทย์ต่อการถีบให้เปิดออกโดยที่เราไม่เจ็บตัว ถ้าว่ากันตามหลักฟิสิกส์เบื้องต้น ซึ่งจุดหมุนก็คือแกนประตู ส่วนการถีบคือแรง (force) และความกว้างของประตูคือ moment arm ที่จะมีผลกับแรงบิด (torque) ที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวนี้

Warning : ห้ามถีบที่ลูกบิดประตู เพราะอาจทำให้คุณบาดเจ็บ ข้อเท้าพลิก หรือกระดูกเท้าแตกได้

 

ตั้งหลักถีบให้มั่น

บางคนอาจเป็นมวยไทย บางคนอาจเป็นเทควันโด บางคนอาจเป็นนักฟุตบอลอาชีพ บางคนอาจเป็นนักเลง แต่ไม่ทุกคนที่รู้ว่าท่าถีบประตูท่าไหนที่ใช่ 

ท่าถีบเพื่อพังประตูที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือ ยืนถีบไปข้างหน้า หรือ front kick นั่นเอง ไม่ใช่การกระโดดถีบที่เห็นในหนัง เพราะว่ามันจะทำให้เราเสียการทรงตัว ต้องถ่ายแรงถีบมาเพื่อประคองตัว ทำให้เสียแรงส่ง ทางที่ดีควรยืนให้มั่น ส้นเท้าหลักติดพื้น บาลานซ์ให้ดี แล้วยกเท้าที่จะถีบยันไปเต็มแรงตรงใกล้ ๆ กับลูกบิดประตู โดยที่ส้นเท้าหลักยังคงติดพื้น การยืนถีบแบบนี้ดูเผิน ๆ ไม่แรง แต่แรงนะ ถ้าใครเคยโดนยืนถีบแบบนี้ก็น่าจะรู้ว่าจุกไม่เบา

สำหรับท่าออกกำลังกายที่เราแนะนำให้ฝึกเผื่อต้องงัดพลังออกมาใช้ในยามคับขันคือ Squat และ Lunge ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อต้นขา ทั้งหน้าขา หลังขา และน่อง (ต้องจริงจังกันหน่อย)

 

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์จริงย่อมไม่ง่าย เป็นธรรมดาที่เราอาจจะยังพังประตูไม่ได้ในการถีบครั้งแรก แต่อย่าถอดใจครับ ท่องเอาไว้ว่ามีชีวิตที่ต้องช่วย และเราต้องรอด เดี๋ยวอะดรีนาลีนก็จะพรั่งพรูจนประตูหงอไปเอง ลองจดจำและนำไปฝึกฝนดูครับ (ถ้าหาประตูหนูทดลองได้) ทั้งหมดนี้คือวิธีการที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ผู้ชายอย่างเราเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดในสถานการณ์อันตราย และช่วยเหลือผู้อื่นได้ในยามคับขัน รวมถึงเติมเต็มความเป็นลูกผู้ชายที่ไม่ได้มีแค่ความกล้าหาญเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีมันสมองและทักษะการเอาตัวรอดที่ถูกต้องอีกด้วย

…อ่าว ประตูอีกบานก็มี แถมไม่ได้ล็อกด้วย

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line