Life

TALK ABOUT DEPRESSION: เรียนรู้และเข้าใจ ‘โรคซึมเศร้า’ ภาวะที่กัดกินเราจากภายในกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

By: PERLE August 10, 2018

หนึ่งในอาการป่วยที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดในสังคมคงไทยช่วงที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้น ‘โรคซึมเศร้า’ โรคที่อยู่ ๆ ก็ได้รับความสนใจทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนอยู่ในเงามืด แทบจะไม่มีใครรู้จักด้วยซ้ำ อาจเป็นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้คนในสังคมมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ผู้ป่วยจิตเวชหรือการไปหาจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือโดนแปะป้ายตีตราว่าเป็น ‘คนบ้า’ อีกต่อไป

อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจเรื่องนี้ ยังมีบางส่วนที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘โรคซึมเศร้า’ อยู่ โดยเหมารวมว่ามันคือ ‘ความอ่อนแอของจิตใจ’ ดังนั้นวันนี้ UNLOCKMEN จะพาไปทำความรู้จักและเรียนรู้เกี่ยวกับเจ้าโรคซึมเศร้าให้มากขึ้นจากการพูดคุยกับ รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล หัวหน้าสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลศิริราช

หลังจากที่แนะนำตัวพูดคุยกันเล็กน้อย ผู้เขียนและทีมงาน UNLOCKMEN ก็เริ่มเข้าประเด็นในสิ่งที่พวกเราและคนทั่วไปอยากรู้ทันทีว่าจริง ๆ แล้วโรคซึมเศร้าคืออะไรกันแน่ อะไรคือคำนิยามของมัน เป็นโรคทางกายภาพล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความอ่อนแอของจิตใจหรือเปล่า?

“จริง ๆ โรคซึมเศร้าจัดเป็นโรคทางจิตเวช ชื่อภาษาอังกฤษคือ Mental Disorder เป็นโรคทางจิตเวชที่แสดงออกมาเป็นปัญหาทางอารมณ์ แต่มีต้นเหตุจากความผิดปกติของสมอง สิ่งแวดล้อมและจิตใจ

นั่นหมายความว่าสาเหตุของโรคซึมเศร้าคือสาเหตุที่เกิดจากภาวะผิดปกติภายในร่างกาย ภายในสมองของเราที่ผลิตสารสื่อประสาทอันเกี่ยวข้องกับความสุขลดต่ำลง

ตัวกระตุ้นที่ทำให้อาการตรงนี้มันผิดปกติอาจจะเกิดจากยีน หรือสภาวะจิตใจที่มีเรื่องมากระทบในขณะนั้นครับ เช่น ผิดหวัง ตกงาน มีการสูญเสีย

หรืออาจเกิดจากสิ่งแวดล้อม เรื่องสภาวะกดดัน ภาวะที่ขาด Support จากคนรอบข้าง หรือขาดความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ ผู้คนทุกวันนี้ก็เลยอาจจะเก็บกด เนื่องจากมีการเยียวยาหรือช่วยเหลือทางจิตใจน้อยกว่าสังคมในอดีต

โรคซึมเศร้ามีสาเหตุเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ ปัจจัยทางด้านจิตใจและปัจจัยสิ่งแวดล้อม สามส่วนนี้มาประกอบกันเป็นสาเหตุครับ”

เป็นการอธิบายที่ทำให้เข้าใจสาเหตุของโรคนี้กว่าที่ผ่านมามาก แม้ว่าจะเคยศึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามาบ้างก็ตาม เมื่อเข้าใจถึงนิยามมันแล้ว UNLOCKMEN จึงถามต่อไปว่าถ้าสารสื่อประสาทในสมองเราทำงานปกติแต่เรารู้สึกเศร้ามาก ไม่มีกำลังใจจะทำอะไร แบบนั้นคือโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ?

“สมมุติว่าไม่ได้มีความบกพร่องในเรื่องของยีน ความรู้สึกเศร้าที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นปฏิกริยาตอบสนองต่อความเครียด ความสูญเสีย การตายของคนที่รัก ซึ่งเราจะแยกกันจากอาการความรุนแรงครับ

ปกติ หลาย ๆ คนมีภาวะเศร้าที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว แต่ภาวะที่เกิดขึ้นจะอยู่ไม่นาน อาจจะเป็นชั่วโมง เป็นวัน แต่ว่าจะไม่เกินสัปดาห์หรือเป็นเดือน และระดับความรุนแรงจะไม่รุนแรงถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย ไม่มีการโทษตัวเอง ตำหนิตัวเอง

แต่ว่าภาวะซึมเศร้าที่เกิดจากตัวโรคเนี่ย คนที่เป็นจะดิ่งลงไปลึกมาก จนกระทั่งคิดว่าตัวเองไร้ค่า ตัวเองไม่มีอะไรดีเหลืออยู่เลย อยู่ต่อก็เป็นภาระของสังคมของคนรอบข้าง เขาก็จะคิดว่าชีวิตนี้ตายซะดีกว่าไม่คู่ควรกับการอยู่ต่อ”

ตอนนี้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและเข้าใจถึงความแตกต่างกับอาการเศร้าธรรมดากันไปแล้ว สิ่งต่อไปที่ UNLOCKMEN อยากทราบคือการปฏิบัติตัวกับผู้ป่วยว่าควรวางตัวอย่างไร คำพูดไหนควรพูดหรือไม่ควรพูดกันแน่

“อันดับแรก คือต้องดูที่ทัศนคติของคนรอบข้างผู้ป่วยก่อนครับ ในอดีตมักจะมองว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าคือคนที่ขี้แพ้ อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง หนีปัญหา ไม่รู้จักคิด อันนี้คือทัศนคติของคนในอดีตที่มองมาว่าคนซึมเศร้าเป็นแบบนี้

ส่งผลให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าในอดีตพยายามที่จะปกปิด  ไม่เปิดเผยกับใคร และพยายามแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ดังนั้นเมื่อคนรอบข้างมองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าด้วยทัศนคติแบบนี้  พวกเขาก็มักจะพูดกับผู้ป่วยด้วยคำพูดประมาณว่าเรื่องแค่นี้เอง ทำไมเข้มแข็งหน่อยไม่ได้ เอาชนะหน่อยสิ ซึ่งเป็นคำพูดที่ไม่ควรพูดนะครับ

หรือบางคนอาจจะมองคนเป็นโรคซึมเศร้าว่าเป็นคนที่อ่อนแอ ก็อาจจะบอกว่า ไปหาอะไรทำมั้ย ไปออกกำลังกายหรือว่าไปพักผ่อนหน่อยเดี๋ยวก็หาย ซึ่งมันไม่ใช่คำตอบของคนที่เป็นโรคซึมเศร้า”

ลองสำรวจตัวเองดูว่ามีทัศนคติที่ผิดเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ปกติเราพูดจากับพวกเขาด้วยคำพูดแบบไหนกันแน่

“ทัศนคติที่ควรจะเป็นคือต้องมองว่าการที่เขาเป็นซึมเศร้าเนี่ยเป็นความป่วยอย่างหนึ่งครับ แต่เป็นความป่วยทางด้านจิตใจซึ่งมันยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ เพราะว่าถ้าป่วยทางด้านร่างก่าย เช่น เป็นไข้ คนรอบข้างจะเข้าใจ แต่พอเป็นภาวะทางจิตใจจะไม่สามารถมองจากภายนอกได้

เราอาจจะมองเห็นแค่ว่าคนนี้ซึมลง พูดน้อยลง ร้องไห้ง่ายขึ้น ดูไม่ค่อยมีสมาธิ ไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรง ก็จะยิ่งตอกย้ำความเชื่อในอดีตที่ว่าผู้ป่วยซึมเศร้าเป็นคนอ่อนแอ

แต่ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่าการที่เป็นซึมเศร้ามันเป็นเรื่องของสมอง เรื่องสารสื่อประสาทที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ สภาพอารมณ์ จะทำให้เรามองเขาใหม่ ด้วยสายตาที่เมตตาและให้โอกาส แล้วก็พร้อมจะช่วยเหลือเขา อย่าไปหงุดหงิดหรือรู้สึกว่าเขาเป็นภาระ

ท่าทีที่แสดงออกมาว่าเขาเป็นภาระให้กับเรา มันจะยิ่งไปตอกย้ำความเชื่อของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าว่าเขาไม่มีใครเอา ไร้ค่า เพราะฉะนั้นตรงนี้คือสิ่งที่คนรอบข้างต้องระวัง ระวังทั้งคำพูด ท่าที่ตอบสนอง ทัศนคติ เพราะว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเนี่ย เขาพร้อมอยู่แล้วที่จะเชื่อว่าทุกคนในโลกนี้ไม่รักเขา

 

เพราะฉะนั้นผมมักจะเปรียบเทียบเสมอว่าคนที่เป็นซึมเศร้าเหมือนคนที่ใส่แว่นกันแดดทึบ ๆ เขาจะมองทุกอย่างผ่านเลนส์ที่มันทึบ

จะไม่ได้มองทุกอย่างสดใสสว่างเหมือนที่เรามอง ทุกอย่างเป็นสีเทา สีดำ อึมครึม เพราะฉะนั้นการที่เขามองผ่านเลนส์แบบนี้ มันทำให้เขามองทุกอย่างรอบตัวหรือแปลสถานการณ์รอบตัวเนี่ยผิดแผกออกไป เพราะฉะนั้นเราก็ควรจะเข้าใจเขาตรงนี้”

แล้วตัวเราเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า เพราะอาการตรงกับที่คุณหมอพูดมาทุกอย่างเลย แต่ก็ไม่อยากคิดไปเองกันแน่ ? ดังนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองกำลังป่วย จำเป็นต้องพบจิตแพทย์แล้วหรือยัง ?

“ปกติเวลาผู้ป่วยหรือคนที่กำลังสงสัยว่าตัวเองป่วยมาพบจิตแพทย์ เราจะมีเกณฑ์การวินิจฉัยอยู่ 2 ระบบ คือระบบอเมริกันหรือ DSM – IV และระบบของ WHO องค์การอนามัยโลกครับ แต่ทั้ง 2 เกณฑ์ก็มีหลักใกล้เคียงกันครับ โดยเริ่มต้นดูว่าเขามีอารมณ์ความเศร้านานติดต่อกันขนาดไหน โดยเกณฑ์ปกติอยู่ที่ 2 สัปดาห์

รวมถึงมีอารมณ์เศร้ารุนแรงขนาดไหน ต่อมาคือภาวะสูญเสียความกระตือรือร้นหรือความสนใจในสิ่งที่ตัวเองเคยชอบ อารมณ์ความรู้สึกทื่อไปหมด เคยสนุกสนานรื่นเริงก็รู้สึกเฉย ๆ อันนี้เป็นเกณฑ์หลัก ๆ คือคนไข้ต้องมีข้อใดข้อหนึ่งใน 2 ข้อนี้ แล้วก็ค่อยตามด้วยอาการอื่น ๆ  เช่นการมองตัวเองในด้านลบ การเปลี่ยนแปลงของการนอน นอนไม่หลับหรือนอนเยอะ มีการรับประทานอาหารผิดแปลกไป เช่น ทานน้อย น้ำหนักลด หรือทานเยอะผิดปกติ น้ำหนักขึ้น

บางคนอาจจะมีเรื่องของความคิดอยากตายหรือฆ่าตัวตาย อันนี้คือเกณฑ์หลัก ๆ ที่แพทย์จะซักถามครับ ทีนี้ตอบคำถามที่ว่าคนที่อ้างเราจะรู้ได้ยังไง ก่อนอื่นเราต้องสังเกตว่าคนที่อ้าง อารมณ์ของเขามันคงทนถาวรแค่ไหน หมายความว่าเศร้าอย่างต่อเนื่องทั้งวันหรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นในผู้ใหญ่มักจะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นหรือเด็ก ความเศร้ามันอาจจะไม่ได้คงทนถาวรตลอดทั้งวัน อาจจะมีบางช่วงที่เขาทำกิจกรรมสนุกสนานก็อาจจะดูร่าเริง อันนี้จะบอกยาก เราต้องดูต่อเนื่องทั้งวันครับ แล้วก็ติดตามสักระยะนึง

ในเด็กในวัยรุ่นเนี่ย มันอาจจะไม่ได้ออกมาเป็นความเศร้า อาจจะออกมาในลักษณะอารมณ์หงุดหงิด เพราฉะนั้นเมื่อมีคนมาบอกว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า อาจจะต้องฟังหูไว้หู คุยกับเขาดี ๆ ว่าอะไรที่ทำให้เขาคิดว่าเขาเป็น ลองเล่าอาการให้ฟังว่าเป็นยังไง ไปหาหมอหรือยัง ถ้าเขาบอกว่าเขายัง ก็อย่าเพิ่งไปทึกทักว่าเขาเป็นหรือไม่เป็น เช่น ถ้าเขาบอกว่ายังไม่ไปหาหมอ เราบอกว่าอย่างนี้ก็ไม่เป็นสิ ห้ามพูดแบบนี้เด็ดขาด เพราะเขาอาจจะเป็นจริงก็ได้ แนะนำให้เขาไปพบแพทย์ อย่าเพิ่งรีบปฎิเสธว่าเขาไม่ได้เป็นและตัดสินเขา”

ไม่ว่าจะเขาจะป่วยจริงหรือไม่ แต่การที่เขาพยายามเรียกร้องความสนใจจากคนรอบข้างนั้นหมายความว่าเขากำลังต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง และในฐานะที่ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคนี้เลยอยากถามคำถามหนึ่ง ซึ่งไม่เคยถามกับจิตแพทย์ประจำตัวเหมือนกันว่าโรคซึมเศร้านั้นสามารถรักษาจนหายขาดได้หรือไม่?

“ถ้าถามว่ามีโอกาสหายขาดไหม ก็มีนะครับ โดยเฉพาะในรายที่อาการไม่หนักมากและเริ่มการรักษาเร็ว มีคนรอบข้างเข้าใจ ให้ความช่วยเหลือ มีการปรับสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งเขาเปลี่ยนความคิดทำให้เข้มแข็งขึ้นหรือมีมุมมองที่เป็นบวกมากขึ้น เวลาเขาเจอปัญหาเขาอาจจะแก้ปัญหาได้ดีขึ้นในอนาคต เขาก็อาจจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก

แต่คนที่เป็นโรคซึมเศร้าจำนวนมากจะไม่ค่อยหาย โรคซึมเศร้าเป็นโรคเรื้อรัง หายแล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก เพราะฉะนั้นหลายคนที่เป็นซ้ำหลาย ๆ ครั้ง แพทย์อาจจะไม่เสี่ยงให้เขาเป็นซ้ำอีก ก็อาจจะแนะนำว่าให้เขาทานยาอย่างต่อเนื่อง บางคนเป็นซ้ำมา 4-5 ครั้ง เขาทรมานมาก เขาเลือกทานยาดีกว่าจะได้ไม่เป็นซ้ำอีก บางคนจึงเลือกที่จะทานยาตลอดชีวิต ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นโรคซึมเศร้าแล้วจะต้องทานยาตลอดชีวิต จริง ๆ มันขึ้นอยู่กับระดับความร้ายแรงของอาการซึมเศร้า วิธีการรักษา มีการปรับเปลี่ยนตัวเองแค่ไหน เพราะฉะนั้นถ้าดูแลตัวเองดี ๆ ทานยาอย่างมีวินัย  คิดบวก ได้งานที่ดีเหมาะกับตัวเขา ไม่มีความเครียด เขาก็อาจจะหายขาดจากโรคซึมเศร้าได้”

การทานยาอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการรักษา แต่นอกเหนือจากนั้น ในชีวิตประจำวันผู้ป่วยยังมีวิธีอื่นให้เขารู้สึกดีขึ้นหรือไม่

“เยอะแยะเลยครับ อันดับแรกคือปรับเปลี่ยนทัศนคติตัวเอง ฝึกตัวเองให้เป็นคนคิดบวก รู้จักช่างมัน หรือพยายามบอกตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็ดีขึ้น พยายามคิดหาข้อดีจากเรื่องร้าย ๆ ที่เราเจอ อันนี้คือสิ่งสำคัญที่สุด

ต่อมาคือ Lifestyle หลีกเลี่ยงการนอนดึก หลีกเลี่ยงการอดนอนครับ เพราะนี่คือเป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้อาการซึมเศร้ากำเริบได้ครับ หมั่นออกกำลังกาย พยายามเข้าสังคม ทำกิจกรรมที่เป็นงานอดิเรกช่วยผ่อนคลายเวลาที่มีความเครียด ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง ดูหนัง เล่นดนตรี วาดภาพ เลี้ยงสัตว์ มันเลยเป็นที่มาของศาสตร์การบำบัดอย่าง Art Therapy, Music Therapy, Pet Therapy

เพราะฉะนั้นอยู่กับสิ่งที่เรารัก หลีกเลี่ยงการพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ที่จะทำให้ตัวเองเครียด บางคนถ้ารู้ตัวว่าเศร้าเพราะงาน ได้งานที่ไม่เหมาะกับตัวเอง ก็อาจจะต้องเปลี่ยนงาน หรือบางคนเศร้าเพราะคนรอบข้าง เพราะคนรอบข้างมีแต่คนคิดลบ กดดัน ซ้ำเติม แบบนี้ก็อาจจะต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนกลุ่มเพื่อน เพื่อที่จะลดการเผชิญกับคนเหล่านั้นไม่ให้ตัวเองรู้สึกแย่

ส่วนความเศร้าที่เกิดจากการสูญเสีย อันนี้ที่เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติความสูญเสียมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นตัวเราเองต้องฝึกตัวเองยอมรับความเป็นไปตามธรรมชาติ ยอมรับกับความเป็นจริง ว่าความสูญเสียมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา”

การได้พูดคุยกับคุณหมอในวันนี้ทำให้ทีมงาน UNLOCKMEN ทุกคนรวมถึงตัวผู้เขียนได้เข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามากขึ้นในมิติที่ไม่เคยรู้มาก่อนและเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนก็คงเช่นเดียวกัน

สุดท้ายนี้ UNLOCKMEN ขอขอบคุณ รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล เป็นอย่างสูงที่ยอมสละเวลามามอบความรู้ให้แก่ทุกคน

 

PHOTOGRAPHER: Krittapas Suttikittibut

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line