Style

มีอะไรก็ควรปรึกษาเพื่อน ระบายปัญหากับคนใกล้ชิดช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้

By: unlockmen October 30, 2020

หลายคงเคยมีช่วงเวลาที่รู้สึกว่า โลกนี้ช่างโหดร้าย มองไปทางไหนก็เจอแต่ปัญหาเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน การเรียน การใช้ชีวิต ฯลฯ ทุกอย่างล้วนไม่ราบรื่น และมีปัญหาที่ทำให้ปวดหัวตลอด ทุกคนเยียวยาตัวเองยังไงในช่วงเวลาแบบนี้ ? ทำงานอดิเรก เล่นกีฬา อ่านหนังสือ เพื่อละความสนใจ ?

การเก็บกดอารมณ์ทำให้เกิดความเครียด ความไม่สบายใจ และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เราเลยอยากแนะนำว่า เวลารู้สึกแย่ อย่าเก็บเอาไว้ แต่ควรนำไปคุยกับใครสักคนที่เราเชื่อใจดีกว่า เพราะ นอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว ยังส่งผลดีต่อสุขภาพของเราด้วย

งานวิจัยเผยพูดถึงปัญหาดีกว่าเก็บมันเอาไว้

วิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเรารู้สึกไม่ดี หากพูดมันออกมา จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ โดยมีงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า เพียงแค่พูดถึงปัญหาและแชร์ความรู้สึกกับคนที่เราเชื่อใจ ก็สามารถช่วยลดความเครียด เสริมแกร่งภูมิคุ้มกัน และลดความทุกข์ทรมานทางกายและใจ

อาจเป็นเพราะ การพูดถึงความรู้สึกแย่ๆ ส่งผลดีต่อการทำงานของสมอง งานวิจัยชิ้นหนึ่ง (2007) จาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) พบว่า การเปลี่ยนความรู้สึกเป็นคำพูด (หรือที่เรียกกันว่า affect labeling ) ช่วยลดการตอบสนองของ amygdala เวลาเผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้เราอารมณ์เสีย เมื่อพูดถึงความรู้สึกของตัวเอง เราจึงเครียดน้อยลง

ถ้าเราไม่มีคนที่คุยด้วยได้ การเขียนก็อาจช่วยได้เช่นกัน อ้างอิงจากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง(1988) จากมหาวิทยาลัยเมธอดิสต์เซาท์เทิร์น พบว่า การเขียนถึง เหตุการณ์สะเทือนจิตใจ หรือ เข้ารับการพูดคุยบำบัด ส่งผลดีต่อสุขภาพและระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย

การเก็บความรู้สึกแย่ๆ เอาไว้ในใจ ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ และสร้างความเครียดให้กับเราได้ ส่งผลให้ เราเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น หรือ ไม่มีความสุข
การพูดถึงปัญหาของตัวเองจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ

แล้วจะพูดอย่างไรดี ?

แต่เราก็เข้าใจ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เราเครียด แล้วจะไปคุยกับคนที่เราเชื่อใจตอนไหนได้ มันยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เราต้องคิดเพิ่ม เช่น นิสัยของเพื่อน ช่วงเวลา หรือ บริบทต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมกับการพูดถึงปัญหา

UNLOCKMEN จึงอยากแนะนำ Tips เล็กๆ น้อยๆ ที่จะช่วยให้เราพูดถึงปัญหาได้อย่างสบายใจมากขึ้น

อย่างแรก คือ คุยให้ถูกคน เพราะถ้าเราคุยผิดคน เราอาจไม่ได้อะไรกลับมา แย่กว่านั้น จะรู้สึกแย่ลงกว่าเดิมด้วย เพราะ เขาอาจซ้ำเติมเรา หรือ พยายามยัดเยียดวิธีแก้ปัญหาที่เขาทำได้คนเดียวให้เราทำตาม คำแนะนำของเราในเรื่องนี้ คือ เลือกคุยกับคนที่เคยเจอปัญหาคล้ายๆ กัน หรือ เพื่อนสนิทที่เรามั่นใจว่าเขาจะรับฟังเราอย่างแน่นอน

รู้เวลาที่เหมาะสมในการพูดก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าเราโทรไประบายกับเพื่อน ตอนที่เพื่อนไม่พร้อม หรือ กำลังยุ่งกับงานอยู่ นอกจากจะไม่ได้ปรึกษาแล้ว อาจถูกเพื่อนเกลียดได้ด้วย เราเลยอยากแนะนำว่า ให้ถามเพื่อนก่อนว่าพร้อมจะให้คำปรึกษาหรือไม่ มีเวลาหรือแรงกายแรงใจมากพอที่จะฟังปัญหาของเรารึเปล่า จะช่วยให้เราปรึกษาเพื่อนได้อย่างเต็มที่ และได้ผลลัพธ์ที่ดีมากกว่า

ในการปรึกษา ควรพูดทั้งเรื่องที่ดีและเรื่องที่ไม่ดีสลับกันไป แม้เราจะบอกว่า การเก็บอารมณ์ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ปลดปล่อยออกมาจะดีกว่า แต่ไม่ใช่ว่า เวลาเราเจอเพื่อน เราก็บ่นแต่เรื่องแย่ๆ ใส่พวกเขาอย่างเดียว เพราะจะทำให้เราคิดแต่เรื่องลบๆ และไม่มีความสุข การพูดถึงประสบการณ์หรือความรู้สึกดีๆ ด้วยจะช่วยให้เราไม่คิดแต่เรื่องลบๆ และมีความสุขมากกว่า

อย่าต่อความยาวสาวความยืด ทุกบทสนทนาล้วนมีจุดจบ บทสนาเกี่ยวกับปัญหาก็เช่นกัน เราไม่จำเป็นต้องพบวิธีการแก้ปัญหาจากการพูดถึงปัญหาเสมอไป แต่มันควรทำให้เราคิดอะไรบางอย่างได้ หรือ ทำให้เรารู้สึกดีขึ้น การคุยยืดยาวเกินไป ทำให้เราเสียเวลาโดยไม่จำเป็น จึงควรหยุดการสนทนาในเวลาที่เหมาะสม และเอาเวลาที่เหลือมาทบทวนความรู้สึกของตัวเอง และดูว่าเราได้อะไรจากการพูดคุยบ้าง

อย่างไรก็ตาม ถ้ารู้สึกว่าตัวเองเครียดจนเกินไป ปรึกษากับเพื่อนยังไงก็ไม่หาย เราอยากแนะนำให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักบำบัด นักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์ เพราะอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสุขภาพจิต

 

Appendixs: 12

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line