Business

THE ART OF BUSINESS: คุณเศรษฐา ทวีสิน วิธีบริหารองค์กรให้พร้อมรับมือวิกฤตระยะยาว

By: Chaipohn July 30, 2020

ในช่วงที่ประเทศไทยต้อง Lock Down เพื่อควบคุม Coronavirus ที่ระบาดหนักในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา น่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกสำหรับเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ เจ้าของ SME รวมไปถึงพนักงาน พ่อค้าแม่ค้า หรือแม้แต่แรงงาน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่เป็นทั่วโลกที่ต้องเจอกับความท้าทายครั้งใหญ่ครั้งใหม่ บางคนปรับตัวประคับประคองมาได้ ท่ามกลางข่าวธุรกิจที่ปิดตัวไม่เว้นแต่ละวัน

สำหรับประเทศไทย ต้องบอกว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าอีกหลายประเทศ เราสามารถควบคุมการระบาดของ Coronavirus ได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันการใช้ชีวิตเริ่มกลับมาเป็นเหมือนปกติ ธุรกิจกลับมารัน คนออกมาทำงาน แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เห็นความไม่ปกติที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังมากมาย โดยเฉพาะในหมู่เจ้าของธุรกิจ ที่ต้องเจอกับรายได้ลดลงน้อยกว่ารายจ่ายอย่างต่อเนื่องแม้จะผ่านช่วงปิดเมืองไปแล้ว ต้องพยายามลดต้นทุนเพื่อรักษา Cash flow ยื้อชีวิตเอาไว้ให้นานที่สุด ความยากลำบากในการบริหารพนักงานที่สูญเสียกำลังใจ

เชื่อว่าคนทำธุรกิจหลายท่านน่าจะรู้สึกเครียด คิดไม่ออกว่าจะทำยังไงต่อไปดี เราจึงสร้าง ‘THE ART OF BUSINESS’ รายการที่จะไปถามผู้บริหารตัวจริง ประสบความสำเร็จจริง เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะกับสถานการณ์แต่ละช่วง

สำหรับผู้บริหารคนแรกของ THE ART OF BUSINESS เราได้ คุณเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มาให้คำแนะนำสำหรับการรับมืออนาคตครึ่งปีหลัง ในช่วงที่สถานการณ์ Covid-19 คลี่คลาย แต่เจ้าของธุรกิจต่างรู้ดีกว่ารายได้ยังไม่กลับมา และการบริหารองค์กรท่ามกลางความกดดัน เราควรจะบริหารงานแบบไหน ควรจะปลุกใจให้พนักงานมีคุณสมบัติอย่างไรถึงจะพาให้ทุกคนประสบความสำเร็จไปด้วยกันได้

ในช่วงที่เศรษฐกิจบ้านเรากำลังทรุดหนัก แต่แบรนด์ Sansiri กลับสามารถเอาตัวรอดได้อย่างสวยงาม ปิดยอดขายโครงการระดับ Super Luxury ได้ถึง 2 โครงการ และทยอย Sold Out โครงการอื่น ๆ อีกมากมาย ด้วยการปรับตัว ปรับกลยุทธ์ และปรับ Mindset ของแบรนด์อย่างรวดเร็ว ซึ่งการบริหารองค์กรที่มีพนักงานหลายพันคนให้ขยับตัวได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางวิกฤตได้ เป็นเหตุผลที่เราคิดว่าไม่มีใครเหมาะจะให้คำแนะนำว่าจะรับมือกับอนาคตช่วงครึ่งปีหลังอย่างไร ได้ดีไปกว่า คุณเศรษฐา ทวีสิน

 

ตอนนี้ดูเหมือนผู้คนจะกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติแล้ว แต่ธุรกิจยังไม่สามารถกลับมารันได้อย่างที่เราคิด

“ผมเห็นด้วย 100% ว่าเศรษฐกิจยังไม่กลับมาในช่วงครึ่งปีหลังแน่นอน ดังนั้นความสำเร็จ ก็พูดได้แค่ช่วงเวลาที่ผ่านมา จนถึงวิกฤตครั้งต่อไป ถ้าเราไม่สามารถฟันฝ่าไปได้เรื่อย ๆ ก็ไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ เราโชคดีที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีทีมงานที่เหมาะสม ทำให้เราผ่านวิกฤตมาได้เสมอ”

“ช่วงวิกฤต covid ที่ผ่านมาประมาณ 6 เดือน Sansiri เราเป็น first mover สิ่งแรกที่เราให้ความสำคัญคือ เรายึดใจพนักงาน เราไม่มีการลดเงินเดือน เราไม่มีการลดคน สองคือเรามีการ take care ลูกค้าที่ดี แต่ challenge ต่อไปคือการเดินไปข้างหน้ามากกว่า

ที่เราประสบความสำเร็จในช่วง Q2 เป็นช่วงที่เราโอนบ้านและคอนโดได้มากที่สุด คำถามสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้ยอดขายเหล่านั้นเกิดขึ้นใน Q3-4 ต่อไปได้อีก ในขณะที่กำลังซื้อของลูกค้าอาจจะตกต่ำสะสมไปเรื่อย ๆ เพราะหนึ่งเรายังไม่รู้เลยว่าวิธีกู้เศรษฐกิจของภาครัฐจะเป็นยังไง กำลังซื้อของลูกค้าก็ลดถดถอยลงไป ไม่รู้ว่า Bank จะปล่อยกู้หรือเปล่าเมื่อถึงเวลาต้องโอน”

 

แม้แบรนด์ Sansiri จะสามารถผ่านช่วงที่หนักที่สุดของ Coronavirus มาได้ แต่ในช่วงครึ่งปีหลังที่เหลืออยู่ คุณเศรษฐายังมองว่าไม่มีอะไรแน่นอน 

“ตอนนี้บอกตรง ๆ ว่าฟังแล้วอาจจะดูไม่ค่อยดี แต่เราดูสถานการณ์กันวันต่อวัน เราบริหารยอดขาย บริหารยอดโอน เพราะอสังหาริมทรัพย์ไม่มีอะไรซับซ้อน มันไปกับ GDP ของประเทศ ถ้า GDP ติดลบ ยอดขายของอสังหาริมทรัพย์ก็ติดลบ ไม่มีทางสวนกระแสได้ ไม่เหมือนพวกธุรกิจอื่น ๆ เช่น ออนไลน์ หรือบริษัทเทคโนโลยี เราไม่สามารถสวนกระแสได้

วันนี้เราพูดอย่างไม่อายเลย มันเป็นอะไรที่ต้องยอมรับก่อน เพราะเราเห็น เรามีตัวเลข เรามี data อยู่ว่าคุณภาพของลูกค้าลดลงทุกวันเนื่องจากเศรษฐกิจ”

สำหรับบริษัทกลุ่ม SMEs ที่อาจจะไม่เคยเผชิญหน้ากับวิกฤตมาก่อน และไม่ได้มีเงินสายป่านเยอะมากเท่า Sansiri จะเตรียมตัวรับมือกับครึ่งปีหลังยังไง

“ยากมากสำหรับ SME เรียนตามตรง สำหรับ SME น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดแล้ว เพราะ Supply chain ถูก disrupt, ยอด order ไม่มา ทำให้ Cash Reserve ที่มีอยู่จำกัดสะดุดได้ ดังนั้นผมแนะนำว่าอย่างแรกต้องพยายาม Secure Cash Reserve ของตัวเองเอาไว้ พยายามกลับไปดูซิว่าจุดแข็งของเราคืออะไร เอาไอเดียจุดแข็งไปคุยกับสถานบันการเงินซึ่งมี Soft loan ให้กู้ยืม ให้เค้าช่วย support ต่อ อธิบายให้เค้าฟังว่าหลังจากเศรษฐกิจดีขึ้น เราจะกลับมายังไง และพยายามขายฝันตรงนี้ให้ได้

เราไม่ได้พูดขึ้นมาให้คนตกใจ แต่มันคือความจริง เพราะแม้วันนี้ Sansiri จะมีเงินในบัญชี 12,000 ล้าน เราเป็นบริษัทที่แข็งแกร่ง และมีคนอยากเข้ามาร่วมงานด้วยมากที่สุด แต่เราเองก็ยังไม่เคยนิ่งนอนใจเลยแม้แต่วันเดียว”

 

อะไรคือ Rules of Success ที่คุณเศรษฐาคิดว่าสำคัญที่สุดที่ผู้บริหารควรจะมี เพื่อบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จ

“จริง ๆ แล้วมันมีมากกว่า 3 ข้อนะครับ แต่หลัก ๆ เลยก็คือ ข้อแรก ต้อง Work Hard ผู้บริหารต้องทำงานหนัก ไม่ใช่เจอปัญหาแล้วนอนก่ายหน้าผาก หนีปัญหา ไม่อยากไปทำงาน ผมถึงออฟฟิศ 7 โมงครึ่ง ผมนั่งอยู่ข้างล่าง เพื่อให้พนักงานรู้ว่าเราพร้อมทำงาน พร้อมช่วยคุณแก้ไขปัญหา ใครมีปัญหา ใครมีข้อแนะนำ ใครมีอุปสรรคออะไร เราพร้อมช่วยแก้ไข”

“ข้อสองคือวินัย สำคัญมาก ยังไงคุณต้องมีวินัยการทำงาน วินัยด้านการเงิน การคลัง มีวินัยในการดำรงชีวิต”

ข้อสามเป็นข้อที่ผมเน้นมาโดยตลอด คุณต้องไม่ลืมต้นน้ำ Sansiri อยู่มา 30 กว่าปี เรามี Partners เยอะ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ผู้รับเหมา บริษัทผู้ผลิต ​Material ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีวันนี้ได้ เราต้องฟันฟ่าวิกฤตไปด้วยกัน ใครมีปัญหา ใครเดือนร้อนอะไร เราต้องช่วยเหลือกัน ประคองกันไป เพื่อที่จะผ่านมันไปให้ได้ด้วยกัน”

ปัญหาสำหรับหลายบริษัทคือการบริหารคนในองค์กร สำหรับ Sansiri ที่มีพนักงานมากกว่าสองพันคน การจะสร้าง Corporate Culture ที่ดีจากภายใน จนสามารถปรับเปลี่ยนการทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพผ่านวิกฤต Coronavirus และเป็นบริษัทที่คนอยากร่วมงานที่สุดอันดับ 1 ต้องทำอย่างไร

“เราต้อง Lead by Example ถ้าผมปฏิบัติตัวอย่างนึง ผมบอกเค้าอีกอย่างนึง มันก็คงไม่น่าเชื่อถือ เราต้องซื้อใจพนักงาน เรากัดฟันประกาศก่อนเลยว่าเราไม่ลดพนักงาน เราไม่ลดเงินเดือน ขอให้คุณเต็มที่กับเราในการทำงาน ซึ่งเราก็ต้องเต็มที่ให้เค้าเห็นด้วยเช่นกัน ช่วงวิกฤตผมก็มา stand by ที่บริษัทให้ทุกคนเห็นตั้งแต่เจ็ดโมงครึ่งทุกวัน พร้อมตอบข้อสงสัย พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา”

Corporate Culture ของเราค่อนข้างจะ Open แม้แต่การคุยกับลูกค้า ถ้าพนักงานมีปัญหา สมมติลูกค้าประสบปัญหาเรื่องการโอนบ้าน 200 ล้าน ซึ่งราคาสูง ลูกน้องอาจจะตัดสินใจอะไรเองยาก ผมก็จะเข้าใจนะ และยินดีเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้ เข้าไปคุยกับลูกค้าให้ ไม่ใช่เอาแต่สั่งว่าต้องปิดมาให้ได้ ต้องจบให้ได้ โดยไม่รู้สถานการณ์ของพนักงานก่อน”

ถ้าจะโปรโมตพนักงานสักคน อะไรคือคุณสมบัติหรือความโดดเด่นที่พนักงานควรจะมี ถึงจะเข้าตาผู้บริหาร และมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่า

“ถ้าไม่นับเรื่อง basic เช่น มีวินัย work hard ซื่อสัตย์ สุจริต คนแบบที่ผมไม่ชอบเลย คือคนที่อธิบายให้ผมฟังตลอดเวลาว่า ‘ทำไมถึงทำไม่ได้’ คุณไม่ได้ถูกจ้างมาให้อธิบายว่าทำไมทำไม่ได้ คุณถูกจ้างมาเป็นมืออาชีพเพื่อทำงานให้สำเร็จ

ผมชอบคนที่ ไม่ Take No For An Answer ยังไงต้องทะลุทะลวงทำมันให้ได้ แต่บางอันซึ่งเป็นไปไม่ได้จริง ๆ ก็โอเค เข้าใจ แต่ไม่ใช่ 4 ใน 5 เรื่อง อธิบายว่าทำไม่ได้

เราอยากได้ยินว่าทำยังไงถึงจะทำได้ มี Solution อะไรบ้าง ถ้ามันมีความเสี่ยงแบบนี้ คุณรับได้มั้ยครับ

ถ้าคุณเป็นผู้บริหารระดับสูง คุณไม่ได้อยากจะแก้ไขปัญหาทั้งหมด คุณต้องการเป็นคนเลือกออพชั่นที่เค้าเสนอมามากกว่า ซึ่งคงไม่ใช่เฉพาะกับ Sansiri แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกคนมองหาในตัวพนักงาน”

ผู้บริหารที่มีประสบการณ์มากว่า 30 ปีอย่างคุณเศรษฐา วันนี้เลือกที่จะเชื่อ Gut Feeling หรือ Data ที่ทีมนำเสนอ ถ้าสองสิ่งนี้ไม่ตรงกัน

“ย้อนกลับไป 10 ปีที่ผ่าน ตอนนั้นเราก็ทำงานมาได้ไม่น้อยกว่า 20 ปี ก็ถือว่าเรามี Gut feeling ที่ดี

สมัยก่อนอาจจะมีบ้างที่เชื่อ gut feeling มากกว่าปัจจุบัน แต่หลายปีมานี้เราเชื่อการใช้ Big Data ใช้ข้อมูลกันมากขึ้น เพราะข้อมูลตัวเลขมันมีที่มาที่ไป ว่าทำได้หรือทำไม่ได้ โดยเฉพาะช่วง 3-4 ปีหลัง เราค่อนข้างจะเข้าถึงข้อมูลได้ลึกและละเอียด ซึ่งช่วยในการตัดสินใจได้มากพอสมควร เพราะฉะนั้นประมาณ 9 ใน 10 เราเชื่อในสิ่งที่ทีมนำเสนอมาจาก Data มากกว่าสิ่งที่เรารู้สึก

วันนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียม Sansiri มีนโยบายเรื่องความ Sustainability Equality และ Inclusivenss อย่างไรบ้าง

“นี่เป็นเรื่องที่เราตระหนักและให้ความสำคัญมาโดยตลอด เราไม่ใช่แค่พูดอย่างเดียว ไม่ว่าจะเรื่องการโปรโมท การจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องการให้ Compensation เราไม่นึกถึงเพศ ทุกคนเท่าเทียมกันหมด เราพยายามสนับสนุนมากด้วยซ้ำ

เรื่อง Sustainability ก็สำคัญ​ เช่นเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า อย่างรถยนต์ผู้บริหารที่นี่ทุกคันเป็นรถพลังงานไฟฟ้าหมด ไม่ว่าจะเป็นผมหรือ EVP เรื่องการลดใช้พลาสติก เมื่อก่อนเรามีตำรวจเพื่อดูว่าใช้พลาสติกไปเยอะน้อยแค่ไหน

หรือแม้แต่ผู้รับเหมา เราเน้นมากว่าไม่ให้ใช้แรงงานเด็ก แรงงานต้องอายุเกินกำหนดไปแล้วเท่านั้น เพราะเราเป็นพันธมิตรกับ UNICEF ถ้าผู้รับเหมารายไหนถูกจับได้ว่าใช้แรงงานเด็ก เราสามารถ terminate สัญญาได้เลย”

วันนี้นักศึกษาจบใหม่ หรือคนที่พึ่งจะเริ่มทำงาน อาจจะมีความรู้สึกว่าทำงานออฟฟิศสมัยนี้แปลว่าไม่ประสบความสำเร็จ ต้องรีบเปิดบริษัทของตัวเองเท่านั้นถึงจะรวย คุณเศรษฐามีคำแนะนำว่ายังไง

“เรื่องความฝันอยากเป็นแบบแบบ Mark Zuckerberg เป็นเรื่องที่ดี แต่เราต้องฝันอย่างระมัดระวัง เพราะมีเพียงกี่คนที่จะเรียนไม่จบแล้วออกมาเป็นอย่าง Mark เป็นอย่าง Bill Gates หรือ Steve Jobs ได้ มันเป็น Inspiration อย่างนึง ซึ่งไม่ผิด แต่พวกนี้เป็นเพียง 1 ใน Billion ที่จะเกิดขึ้นได้

ลูก ๆ ของผมทั้ง 3 คน ไม่มีใครทำงานที่เดียวกับผมเลย ผมขอแค่อย่างเดียว ให้ไปอยู่ในองค์กรใหญ่ ๆ ก่อน ไปทำงานเป็นลูกจ้างเค้าก่อน บริษัทในไทยมีบริษัทดี ๆ เยอะ เป็น Training Ground ที่ดี ควรจะไปสมัครงานซะ

ถึงแม้พ่อแม่จะร่ำรวยขนาดไหนก็ตามที อยากแนะนำให้ไปเป็นลูกน้องเค้าก่อน ไปเป็นลูกจ้างเค้าก่อน เด็กสมัยใหม่จะคิดว่าไม่อยากเป็นลูกจ้าง อยากเป็นเจ้านายตัวเอง อยากเป็นเจ้าของกิจการ

คำแนะนำของผมคือ อย่าพึ่งรีบเป็นเจ้านายตัวเอง ไม่จำเป็นต้องรีบเป็นเจ้าของกิจการพันล้านหมื่นล้าน ต่อให้คุณเก่งแค่ไหนก็ตามที เรื่องวินัย และการบริหารมันต้องฝึกฝน ในการ handle ปัญหา การบริหารจัดการ วันนี้คุณมาถึงเป็นเจ้านายคนเลยลูกน้อง คุณจะสั่งๆๆ อย่างเดียว มันไม่ได้ใจ คุณต้องเป็นลูกน้องคนมาก่อน คุณจะเข้าใจว่าการถูกสั่งมันเป็นยังไง เวลาคุณเป็นเจ้านายเค้า คุณจะรู้ว่าเวลาจะสั่งงานคุณจะสั่งยังไงให้ได้ใจเค้า

การทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ ก่อน เป็น training groud ที่ดี คุณไม่เสียเวลาขนาดนั้นหรอก อย่างลูกผม 3 คน ผมก็บอกขอให้ไปทำงานก่อนอย่างน้อย 3 – 5 ปี  ได้ความรู้พอสมควร สร้าง network ของตัวเองที่ดีด้วย ได้รับการยอมรับด้วย เวลาคุณมาตั้งบริษัท ไม่ใช่ว่าพ่อกูมีตัง พ่อกูมีตังแล้วมา set up บริษัท อย่างน้อยลูกน้องที่จะมาทำงานกับคุณเค้าจะมองว่าคุณมี credential อะไร คุณจบอะไรมา คุณไปทำงานประสบความสำเร็จมาแค่ไหน”

การทำธุรกิจให้สำเร็จ ไม่ใช่แค่ความสามารถของใครเพียงคนใดคนหนึ่ง สิ่งที่คุณเศรษฐาย้ำอยู่เสมอคือการบริหารคนในองค์กร ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองหลักที่สำคัญที่สุดโดยเฉพาะใน Sansiri การจะบอกให้คนในองค์กรทำอะไร คุณต้องทำแบบนั้นเป็นตัวอย่างก่อน และต้องบริหารอย่างจริงใจ เท่าเทียม รวมถึงสร้าง Network ที่แข็งแกร่งกับคู่ค้าทั้งต้นน้ำ เพราะเมื่อเกิดปัญหา ทุกคนจะได้ช่วยเหลือกัน

เมื่อฟันเฟืองทุกชิ้นแข็งแรง ผู้บริหารก็ควรประเมินความเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลังให้ดี โดยเฉพาะการรักษาเงินสดในบริษัทเอาไว้ ซึ่งคุณเศรษฐามองว่าเศรษฐกิจอาจจะติดขัดอยู่แบบนี้ไปอีกราว 18 ถึง 24 เดือน

ดังนั้นประคองธุรกิจของคุณพร้อมกับหาแหล่งเงินทุนสำรอง หาจุดแข็งที่สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต แม้มันจะเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับ SME ในตอนนี้ แต่ตราบใดที่ผู้บริหารยังไม่ยอมแพ้ ฟันเฟืองทุกตัวก็จะยังคงหมุนต่อไปได้ และวันนึงเราจะผ่านมันไปได้อย่างแน่นอน

 

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line