Life

THE COLLECTOR: ‘พลอย-ตวงพรรษ’ นักสะสมแผ่นเสียง สู่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนจากความหลงใหลสุดหัวใจ

By: NTman December 24, 2020

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเวลาคือสิ่งที่ไม่ว่าใครก็ไม่อาจหยุดยั้ง หรือสามารถกักเก็บเวลาเอาไว้กับตัวได้ และอาจเป็นเพราะสัจธรรมของเวลาที่มีแต่จะหมุนผ่านเลยไป ทำให้มนุษย์เรามักจะให้คุณค่าและเลือกที่จะเก็บสะสมกับสิ่งที่เป็นตัวแทนแห่งช่วงเวลาเก่า ๆ ยกตัวอย่างเช่นแผ่นเสียงที่แม้ว่าจะผ่านเวลามายาวนาน แม้จะเป็น Format เพลงที่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพเสียงคมกริบ หรือความสะดวกสบายในการฟัง

แต่สำหรับคอแผ่นเสียงทั้งหลาย น่าจะเห็นตรงกันว่าอารมณ์และเสน่ห์ที่ได้จากการเสพดนตรีผ่านแผ่นเสียงนั้นเป็นสุนทรีภาพด้านการฟังที่หาไม่ได้จากการฟังเพลงใน Format อื่น ทำให้จนถึงทุกวันนี้วงการแผ่นเสียงก็ยังคงถูกขับเคลื่อนด้วยผู้คนที่หลงใหลในแผ่นดำ โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นคุณจะเป็นคนยุคแอนะล็อก หรือยุคดิจิทัล ไม่ว่าใครก็ล้วนแล้วแต่มีโอกาสตกหลุมรักแผ่นเสียงไวนิลได้แทบทั้งนั้น

และคอลัมน์ The Collector สัปดาห์นี้ เราขอพาชาว UNLOCKMEN ทุกท่านไปพบกับเรื่องราวของ ‘พลอย-ตวงพรรษ รัตนวาทิน’ หญิงสาวที่เติบโตมาในยุคคาบเกี่ยวของแอนะล็อก และดิจิทัล ผู้เทใจให้กับแผ่นเสียงอย่างหมดหน้าตัก ด้วยความหลงใหลในแทบทุกอณูของมัน ทั้งสุ้มเสียงที่มีเสน่ห์ อาร์ตเวิร์กที่สวยงาม ไม่เว้นแม้กระทั่งกลิ่นจากซองแผ่นเสียงเก่า แถมยังนำเอาความหลงใหลเหล่านั้น มาต่อยอดเป็นธุรกิจที่เมื่อเอ่ยชื่อออกมาหลายคนเป็นต้องร้องอ๋อ กับร้านแผ่นเสียง Trackaddict Records และ Dumbo / York BKK บาร์แจ๊สชื่อดังย่านสะพานควาย ที่ว่ากันว่าเป็นหมุดหมายซึ่งชาวยิปซีแจ๊สต้องไปเยือนให้ได้สักครั้ง


 

เติบโตมากับดนตรี

ด้วยความที่คุณพลอยเกิดมาในครอบครัวที่มีพ่อเป็นนักดนตรี จึงได้ซึมซับศาสตร์ด้านนี้มาตั้งแต่เด็ก เพลงเมื่อสมัยนู้นก็จะประมาณ Ray Charles ที่เน้นทำนอง จังหวะน่าโยกอย่างเพลง Hit The Road Jack ลามไปถึงพวกเฮฟวี่ เมทัล อย่าง Deep Purple , Grand Funk Railroad หรือ CCR เป็นต้น ซึ่งคุณพลอยบอกกับเราว่า ตอนเด็ก ๆ เขาก็เหมือนแค่ฟังผ่าน ๆ ไป และก็ไม่ได้คิดอยากสะสมแผ่นเพลงอะไรเลย แต่พอโตขึ้น ได้ย้อนกลับมาฟังหรือได้ยินจากที่ไหนสักที่ เขากลับรู้สึกคิดถึงวัยเด็กซะอย่างนั้น ทีนี้จากแค่ฟังผ่าน ๆ มันกลับกลายเป็นความผูกพันโดยไม่รู้ตัวขึ้นมา หลังจากนั้น คุณพลอยก็เก็บสะสมแผ่นเพลงมาตลอด

‘ตอนประถมเราก็ไม่ได้สะสมอะไรนะ แต่พอโตขึ้น เฮ้ย อันนี้เราเคยฟังเมื่อตอนป.4 นี่ ก็เลยซื้อเก็บเลย ไม่คิดไรมากเลย ! ’ คุณพลอยพูดถึงความผูกพันกับดนตรีที่เกิดขึ้นเองโดยไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ

สำหรับสไตล์เพลงที่คุณพลอยชอบฟัง เจ้าตัวได้เล่าให้เราฟังว่าเป็นคนชอบเพลงที่ฟังได้สบาย ๆ ฟังได้ทั้งวันโดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนแผ่น ปล่อยให้มันรันไปเรื่อย ๆ แบบไม่ต้องยกเข็มเปลี่ยนร่อง ซึ่งหลัก ๆ ก็เป็นเพลง Jazz นั่นเอง และยังเป็นคนที่ไม่ค่อยฟังเพลงใหม่ ๆ อีกด้วย เรียกว่าอัปเดตเพลงใหม่ในกระแสจากปากเพื่อนเท่านั้นเอง


 

New York มหานครแห่งแผ่นเสียง

หลังจากคุยเรื่องรสนิยมการฟังเพลงไปสักพัก เราเริ่มเจาะเข้ามาในส่วนของนักสะสมของคุณพลอยกันบ้าง ซึ่งจุดเริ่มต้นในการเป็นนักสะสมแผ่นเสียงของเธอนั้นต้องย้อนไปในช่วงเวลา 7 ปีขณะกำลังศึกษาต่อที่ New York เมืองที่คนฟังเพลงอย่างเธอโดนสะกดด้วยมนเสน่ห์ของแผ่นเสียงเข้าอย่างจัง

‘คือที่ New York มันจะมีร้านแผ่นเสียงทุกมุมตึกเลย แม้กระทั่งข้างถนนก็จะมีร้านขายแผ่นเสียงมาขาย เราก็แบบตื่นตาตื่นใจมาก แล้วมันก็ไม่ได้แพงอะไร แผ่นละ 50 เซนต์เองอะ เราก็เลยซื้อเก็บ ๆ มาตลอด แล้วมันก็มีร้านเยอะมากจริง ๆ คือเรารู้สึกมีความสุขทุกครั้งในการไปเดินหาแผ่นเสียง แล้วมันไม่ได้มีแค่ร้านเดียวไง กระทั่งร้านขายเสื้อผ้ามือสอง ก็มีแผ่นเสียงขายในนั้น’ คุณพลอยเล่าประสบการณ์ช้อปแหลกที่ New York ด้วยอารมณ์คล้ายกับเด็กกำลังเลือกของเล่นยังไงยังงั้น

‘เราเริ่มเข้าถึงประมาณ 3 ปีหลังก่อนกลับไทยนี่แหละ คือเรารู้สึกว่าเราซื้อแผ่นเสียงเหมือนซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านเลยอะ จนรูมเมทเริ่มบอกว่าเริ่มเยอะแล้วให้เอากลับไปบ้านบ้าง แต่เรายังอยากได้อะ มันมีความสุขในการมานั่งดมซองเก่า ๆ เออ กลิ่นเมื่อ 50 ปีก่อนมันหอมดีเนอะ พี่เอากลับมาบ้านพี่ไม่เคยเปลี่ยนซองเขาเลย เราชอบมองความเก่าของมัน พวกรอยยับ รอยผุ คือพี่ไม่รู้ว่ามันเรียกว่านักสะสมหรือเปล่า แต่คือซื้อไม่หยุดอะ (หัวเราะ)’ คุณพลอยเล่าให้ฟังเพิ่มเติมถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้ภาพของคนซื้อแผ่นเสียงทั่วไป กลายเป็นนักสะสมตัวยงที่หลงใหลใน Element ต่าง ๆ ของแผ่นเสียงเก่าจนเราเห็นภาพ ทั้ง Artwork ความประณีตในการทำซอง มีเน้นขอบ มี Texture ทั้งซองที่ใส่ แม้กระทั่งการผลิตแต่ละแผ่นขึ้นมา มันเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย นอกเหนือจากดนตรี แผ่นเสียงยังถือเป็นงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ให้มากกว่าเสียงเพลงอีกด้วย คุณพลอยรู้สึกแบบนั้น


 

ชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง

เราเชื่อว่าคนฟังเพลงส่วนใหญ่มักจะมีดนตรีอยู่ในโมเม้นต์สำคัญของชีวิต จึงไม่ลืมที่จะไถ่ถามคุณพลอยว่า คนที่คลุกคลีกับเสียงเพลงมาโดยตลอดทั้งในฐานะคนฟัง และนักสะสมแผ่นเสียง ดนตรีได้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนชีวิตของเธอในด้านไหนบ้าง และคำตอบที่ได้ทำให้เรารู้ว่า เสียงเพลง และเสียงดนตรีนั้นมีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเธออย่างมากเลยทีเดียว

‘เรียกว่าดนตรีเป็น Inspiration ในการให้พี่เริ่มทำอะไรหลายอย่างเลยล่ะ เช่น พี่จะเปิดร้านแผ่นเสียง แรงบันดาลใจคือ พี่ชอบฟังเพลง พี่เลยจะเริ่มทำจากสิ่งที่พี่ชอบก่อน พี่เชื่อว่าธุรกิจไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราเริ่มจากสิ่งที่ชอบ เราจะทำมันได้ดี เพราะฉะนั้น เสียงเพลงมันคือแรงขับให้พี่เลือกแผ่นเพลงมาขายแล้วก็อีก 2 ร้านที่ก็เลือกเปิดแนวเพลงที่ชอบนั่นแหละ’ คุณพลอยเล่าถึงแรงบันดาลใจจากเพลงในการเปิดร้านแผ่นเสียงมาจนถึงตอนนี้ ก่อนจะเล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของร้าน Trackaddict Records ที่นอกจากแรงบันดาลใจจากเสียงเพลงแล้ว คำแนะนำของคุณแม่ยังช่วยจุดประกายให้แนวคิดการเปิดร้านแผ่นเสียงของคุณพลอยนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น

จากการสะสมแผ่นเสียงเป็นจำนวนมากตลอด 7 ปีที่ New York จนเมื่อถึงกำหนดกลับไทย คุณแม่ที่เห็นว่าคุณพลอยรักแผ่นเสียงมาก ๆ เลยแนะนำไปว่า ‘เก็บแผ่นเสียงเยอะขนาดนี้ ทำไมไม่ลองเปิดร้านดูล่ะ’ ซึ่งคำพูดนั้นคือสิ่งที่ตอกย้ำให้เธอเดินหน้าเปิดกิจการขายแผ่นเสียงอย่างจริงจัง

‘พอกลับมาไทย พี่ได้คำแนะนำจากคุณแม่ให้ไปเปิดร้าน แม่บอกว่ามันเป็นอะไรที่พลอยชอบ และแม่เชื่อว่าพลอยจะทำได้ดี ตอนนั้นพี่ก็เลยเปิดเลยและด้วยความที่เราตั้งใจ มันก็เลยสำเร็จจนได้ คือเราตั้งใจเลือกแผ่น คุยกับลูกค้าหรือแนะนำลูกค้า อะไรที่เราไม่รู้ เราก็แลกเปลี่ยนกับลูกค้า จริง ๆ ลูกค้าคือครูดี ๆ ของพี่นี่เอง เราก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดร้านแผ่นเสียงอะเนอะ คนรุ่นเก่า ๆ ที่เขาอยู่กับแผ่นเสียงมานานกว่าเรา แล้วเขาเป็นลูกค้าเรา เขาต้องการแชร์ให้เราฟังอะไรแบบนี้ เลยรู้สึกว่าการเปิดร้านแผ่นเสียงมันได้ Connection ดี ๆ เหมือนกันนะ คนก็เลยรู้จักเราในฐานะเจ้าของร้านแผ่นเสียง Trackaddict Records’ คุณพลอยอธิบายถึงประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้จากการเปิดร้านแผ่นเสียงที่มาจากความรัก ความหลงใหล และความเชื่อใจจากคนรอบข้าง

‘ตอนแรกพี่ก็ยังไม่มีร้านนะ พี่ไปออกบูตที่ K-Village ตอนนั้นมีแผ่นอยู่ประมาณ 4 ลัง 200 แผ่นเอง พี่ได้ฐานลูกค้าจากตรงนั้นแหละ จนหลายคนบอกให้พี่ไปเปิดร้าน พี่ก็เลยไปเปิด Trackaddict Records ตรงสุขุมวิท 69’ นี่คืออีกหนึ่งตะกอนความทรงจำเพิ่มเติม ที่เธอเล่าย้อนให้เราฟังณ จุดเริ่มต้นซึ่งยังไม่มีหน้าร้านของตัวเองเสียด้วยซ้ำ


 

ประสบการณ์ใหม่ที่ได้จากการเปิดร้าน

หลังจากเปิดร้านได้สักพัก คุณพลอยยังได้เรียนรู้ความแตกต่างของวัฒนธรรมระหว่างคน New York กับคนไทยถึงการบริโภคแผ่นเสียงจากลูกค้าโดยตรง จนได้รู้อะไรหลายอย่างจากการเปิดร้านในวันนั้น เกิดเป็น Connection ดี ๆ ในวงการแผ่นเสียงไทย

‘ด้วยความที่เคยอยู่ที่ New York อะเนอะ แผ่นมันก็ขายตามสภาพ แต่พี่เพิ่งรู้ว่าถ้าคุณจะขายคนไทย คุณต้องขายแผ่นที่เนียนกริ๊บที่แทบจะไม่มีรอยเลย เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะเป็น Collector ที่เป็นนักสะสมจริง ๆ แต่คนที่นั่นเขาก็แค่ซื้อเก็บอะ แผ่นสะดุดก็ช่าง ไปซื้อใหม่ ขณะที่คนไทยจะทะนุถนอม ปราณีตทุกอย่าง เราเลยได้คำแนะนำจากลูกค้ามาว่า ถ้าพลอยจะขายคนไทย พลอยต้องเลือกแผ่นที่สภาพดีหน่อยมาขาย พี่ก็เลยต้องเลือกสภาพแผ่นที่ดีหน่อยมาขาย คือมันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก เพราะพี่เจอลูกค้าที่ดี มันก็เลยทำให้เราไปได้ทุกทาง’ คุณพลอยเล่าถึงการประสบความสำเร็จที่แท้จริงที่ไม่ใช่แค่เปิดร้านแผ่นเสียงได้ แต่มันคือการสร้าง Communication ของวงการนี้ที่อุดมไปด้วยนักสะสมตัวยงที่ต่างมาแชร์เรื่องราวดี ๆ ต่อกันต่างหาก

คุณพลอยยังเล่าต่อถึงการได้เรียนรู้อะไรต่าง ๆ จากลูกค้า อย่างการได้รู้จักศิลปินมากขึ้น อะไรที่เคยเข้าไม่ถึงมาก่อนก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น และยังได้เปิดจิตวิญญาณของตัวเองให้เข้าใกล้ความเป็นศิลปินมากขึ้นอีกด้วย

‘คือจะมีอยู่วงหนึ่งชื่อวง มหาวิษณุ ที่พี่เมธี โมเดิร์นด็อก แนะนำ ซึ่งแรก ๆ พี่ฟังแล้วแบบปวดหัวอะ ฟังยากมากจริง ๆ คือต้องใช้จิตวิญญาณในการฟัง แล้วต้องมานั่งคุยกันทีละแผ่น ๆ ว่าเข้าใจว่ายังไง อะไรเงี้ย เป็นอะไรที่สนุกดี แถมยังได้เปิดโลกการฟังเพลงของเราด้วย เพราะลูกค้าชอบแนะนำให้เราไปฟังเพลงนั้นเพลงนี้นั่นแหละ’

แถมคุณพลอยยังย้ำกับเราตลอดการสนทนาว่า การเริ่มต้นทำร้านขายแผ่นเสียงร้านนี้เนี่ย เขาเริ่มมาจากความชอบทั้งหมด ทำให้การเปิดกิจการครั้งนี้ ไม่ได้มองว่าเป็นธุรกิจขนาดนั้น ซึ่งจะออกไปแนว Family Marketing มากกว่า ที่ไม่ได้เปิดร้านแค่ผิวเผิน แต่เป็นการสร้างสังคมของคนรักแผ่นเสียงขึ้นมาด้วย

‘คือที่ไม่ได้มองว่าเป็นธุรกิจ เพราะเราอิงจากสิ่งที่เราชอบ เราเลยตั้งใจทำให้มันดูสนุก ดูเข้าถึงง่าย ดูเราอิน ไม่ใช่แค่ผิวเผินอะค่ะ’


 

จากร้านแผ่นเสียงสู่ Jazz Communities ที่ใหญ่กว่า

และอย่างที่หลายคนรู้กันว่า จาก Trackaddict Records ร้านที่รวมกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่สนใจในเรื่องแผ่นเสียง คุณพลอยได้ขยับขยายพื้นที่ความหลงใหลในแผ่นเสียง และดนตรีแจ๊สที่เธอชอบ ในรูปแบบของร้าน Dumbo Jazz & Vinyl Bar และ York Bar ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ลืมที่จะให้เจ้าตัวเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของแจ๊สบาร์ยอดนิยมแห่งนี้ให้ทุกคนได้ทราบไปพร้อมกัน

‘ต้องขอบคุณเจ้าของตึกนี้เลย (ตึก Buffalo Bridge Gallery เก่า) ชื่อพี่ย้ง เขาอยากได้ร้านแผ่นเสียงมาเปิดที่นี่ ก็เลยชวนพี่มาว่าสนใจไหม จริง ๆ พี่ไม่มีแพลนจะเปิดร้านที่สองเลย แต่ตอนนั้นเราไปคุยกันที่ดาดฟ้าพอดี ก็เลยลองถามพี่ย้งว่า มี Rooftop Bar ให้ทำไหม พี่เขาก็ตกลง เราก็เลยได้ทำแบบงง ๆ คือเราชอบบรรยากาศบนนั้นมาก ๆ เหมือนรักแรกพบเลยอะ เราเห็นภาพว่าเราจะทำยังไง ทุกอย่างมันอยู่ในหัวเราหมดแล้ว’

Dumbo Bar ธุรกิจที่สองของคุณพลอยได้อิทธิพลมาจาก New York แบบเต็ม ๆ โดยอิงพื้นฐานทั้งหมดจากที่นั่น เพราะตัวเองชอบไป Rooftop Bar มาก แล้วพอมาทำร้านก็อยากจะได้ฟีลที่เคยสัมผัสที่นิวยอร์กบ้าง อารมณ์แบบนั่งจิบค็อกเทลนั่งฟังเพลงแจ๊สดูพระอาทิตย์ตกก็น่าสนใจดี นั่นเป็นไอเดียตั้งต้นที่ทำให้เกิด Dumbo Bar จนกลายมาเป็นบาร์เเจ๊สสไตล์อเมริกันต้นตำรับที่มีสไตล์โดดเด่นมาก ๆ ในไทยตอนนี้

‘คือเราตั้งใจให้ Rooftop Bar ของเรา เวลามองขึ้นฟ้าคือเห็นฟ้าเลย ไม่มีอะไรมาปิด ฝนตกก็คือฝนตก ให้นั่งแค่ตรงนั้นแหละ คือตั้งใจทำให้เป็นดาดฟ้ามีดนตรีแจ๊สเล่นบนหลังคาให้คนฟัง ให้เจ้าของร้านฟัง เพราะเจ้าของร้านชอบ (หัวเราะ) นั่นแหละค่ะ ก็เลยได้ Dumbo Bar มา’

‘ดนตรีที่เล่นในบาร์ก็จะเป็นเพลงแจ๊สหมด คือแต่ก่อนตึกนี้จะมีแต่คนอาร์ต ๆ เนอะ ก็จะเจอคนเล่นยิปซีแจ๊สเยอะ เราก็ลองให้เขามาออดิชั่น เรารู้สึกชอบมากเลย มันไม่ได้หาฟังที่ไหนก็ได้ ก็เลยชวนให้เขามาเล่นที่นี่จนกลายเป็นต้นตำรับยิปซีแจ๊ส ที่ใครก็ตามอยากฟังก็ต้องมาฟังที่ Dumbo Bar’

Tips: Gypsy Jazz จะต่างกับ Standard Jazz เพราะไม่มีคนร้องและเน้นแค่เครื่องสาย อารมณ์ดนตรีก็จะเป็นเพลงบรรเลงเป็นส่วนใหญ่ เน้นจังหวะความสนุกสนานแบบฉบับของชาวยิปซี

ส่วนที่มาของชื่อ Dumbo คุณพลอยบอกกับเราว่าได้มาจากชื่อย่าน ๆ หนึ่งใน Brooklyn ที่เป็นแหล่งงานอาร์ต มีบาร์เก๋ ๆ คนเก๋ ๆ กราฟิตี้สวย ๆ เวลาจะไปถ่ายรูปเท่ ๆ คุณพลอยก็จะมาย่านนี้ แถมชื่อก็ดูเรียกง่าย ติดปาก เลยตัดสินใจเอามาตั้งเป็นชื่อบาร์ และสำหรับ York Bar ที่อยู่ชั้นล่างของ Dumbo ก็ได้ที่มาง่าย ๆ มาจากชื่อสถานีรถไฟฟ้าที่เวลาจะไปย่าน Dumbo ก็ต้องมาลงที่สถานีนี้ก่อนที่จะเดินขึ้นไปเจอกับ Dumbo นั่นเอง และถึงแม้ที่มาของชื่อแต่ละร้านจะดูเรียบง่าย แต่เรามองว่าสตอรี่ที่ Connect กันอยู่ กลับสร้างความทรงพลังให้กับ Bar ทั้งสองอย่างมีนัยยะจริง ๆ


 

วงการแผ่นเสียงยังไปได้อีกไกล

หลังจากพูดคุยกับคุณพลอยในแง่ของการขยายความหลงใหลไปสู่ธุรกิจที่กว้างขึ้น ตอนนี้เราขอย้อนกลับมาที่ตัวตนที่เป็นคนสะสมแผ่นเสียงของเธออีกครั้ง กับมุมมองส่วนตัวที่มีต่อทิศทางการเล่นแผ่นเสียงว่ามันจะมีวันล้มหายตายจากไปตามวัฏจักรความนิยมหรือเปล่า

‘ไปต่อได้อีกนาน’ คุณพลอยตอบทันที

‘ไปต่อได้อีกเยอะด้วย เราจะเห็นว่าศิลปินใหม่ ๆ ก็ออกแผ่นเสียง ออกผลงานใน Analog Format มาเยอะนะ ขนาด Justin Bieber ยังขายเทปเลยอะ พี่ว่าวงการแผ่นเสียงจะไม่ตายแล้วนะ มันจะกลับมาบูมขึ้นเรื่อย ๆ เพราะว่าคนรุ่นใหม่เริ่มสนใจแผ่นเสียงมากขึ้น คนที่มีกำลังซื้อบางคน เขาก็ซื้อไปเป็นแค่ของตกแต่งที่บ้านก็มี แต่เราก็แนะนำให้เขาฟังนะ เพราะมันได้มิติที่น่าสนใจมากกว่าฟังใน Youtube แน่นอน บางคนก็แฮปปี้กับการซื้อแผ่นเสียงของศิลปินใหม่ ๆ ไปสะสมอะไรแบบนี้ พี่เชื่อว่าวงการนี้จะไม่ตายแน่นอน’


จากการได้พูดคุยกับคุณพลอย สิ่งที่เรารู้สึกได้อย่างชัดเจนคือ ผู้หญิงคนนี้เป็นอีกคนที่มีชีวิตที่น่าอิจฉา กับธุรกิจการทำงานที่เริ่มต้นจากการสะสมแผ่นเสียงที่เธอหลงใหล จนสามารถพูดได้เต็มว่าว่าเธอสามารถมีความสุขกับการออกไปทำงานได้ในทุก ๆ วัน เราจึงอยากรู้ว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ มีใครบ้างที่เธออยากขอบคุณในฐานะที่ทำให้เธอได้รู้จักกับเสน่ห์ของแผ่นเสียงและต่อยอดความชอบมาได้ไกลถึงขนาดนี้

‘อยากขอบคุณครอบครัวที่สนับสนุนมากกว่า เราโตมากับครอบครัวที่อยากสอนให้ลูกเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยตัวเอง การเริ่มต้นด้วยตัวเอง แล้วเราจะรู้ว่าจุดเริ่มต้นมันยากนะ แต่เราพอเราทำได้มันจะราบรื่นมาก พี่ต้องขอบคุณพ่อกับแม่และญาติพี่น้องทุกคนที่สนับสนุนและเข้าใจว่าทำไมพี่กลับมาแล้วไม่ยอมสมัครงานประจำ ! (กระแทกเสียง) อะไรเงี้ย พี่ไม่ได้บอกว่างานประจำไม่ดีนะ แต่การทำธุรกิจของเราเอง มันจะมีความมั่นใจในตัวเองและมีประสบการณ์ในการล้มลุกคลุกคลานที่ดีกว่า’

‘และสุดท้ายก็ต้องขอบคุณตัวเองด้วย ที่ตั้งใจมาก ๆ อะไรที่เราชอบแล้วเราสานต่อเป็นธุรกิจได้เนี่ย พี่รู้สึกว่ามันทำให้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้นนะ เราสามารถไปสอนลูกหลานได้ว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ เราผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยนะ อะไรแบบนี้’


Photographer: Krittapas Suttikittibut

ถอดเทปและเรียบเรียงโดย: Sorrapat Prasutjaritwong (สรภัศ พระสุจริตวงศ์)

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line