

Life
“The Father of Invention” Dr. NakaMats นักประดิษฐ์ชาวญี่ปุ่น ผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตรมากกว่า 3,572 ชิ้น
By: Chaipohn October 20, 2020 190094
Dr. Yoshiro Nakamatsu คือชื่อเต็มของ “Dr. NakaMats” ชายผู้เคยถูกเรียกขานว่าเป็นหนึ่งในนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ผู้มีเป้าหมายในชีวิตคืออยู่ให้ถึง 144 ปี และต้องมีสิ่งประดิษฐ์เจ๋ง ๆ ให้ได้อย่างน้อย 6,000 ชิ้น
จุดเริ่มต้นเส้นทางสายนักประดิษฐ์ ผลงานประดิษฐ์ชิ้นแรกเกิดขึ้นตอนอายุ 14 ปี เมื่อต้องเห็นคุณแม่ของเค้ายก soy sauce หนัก ๆ เทจากถังใหญ่ใส่ขวดเล็กท่ามกลางอากาศหนาว ด้วยความเป็นห่วงอยากแบ่งเบาภาระ จึงเกิดเป็น “Shoyu Churu Churu” ตัวดูดสูญญากาศที่เราใช้กันอย่างแพร่หลายถึงปัจจุบัน เป็นจุดเริ่มต้นที่สร้างความสำเร็จ นำไปสู่การคว้ารางวัล International Grand Prix award Invention Content มากถึง 41 ครั้ง และมีสิทธิบัตรมากกว่า 3 เท่าของ Thomas Edision
“Shoyu Churu Churu” Cr. GreatBigStory
ตลอดชีวิตแม้จะมีสิ่งประดิษฐ์แปลก ๆ เหมือนหลุดออกมาจากมังงะ จนคุณต้องอ้าปากค้างแล้วถามว่ามันใช้ได้จริงเรอะ อย่างเช่น “Cerebrex” เก้าอี้เพิ่มพลังสมอง “Pyon Pyon boots” รองเท้าติดสปริงที่ช่วยให้กระโดดสูง หรือแม้แต่ Condom เสริมพลังงานแม่เหล็ก ที่เคลมว่าช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในผู้หญิงจนขนลุกซู่ได้รุนแรงกว่าเดิม
“Pyon Pyon boots”
ถ้าให้ยกตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจจากจำนวนสามพันกว่าชิ้น ด้านล่างคือตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ที่น่าอัศจรรย์ของ Dr. NakaMats ซึ่งมันทั้งน่ารักและน่าสนุกสนานราวกับหลุดออกมาจากในมังงะ “คิเทเรสึ เจ้าหนูนักประดิษฐ์” เลยทีเดียว
Dr. NakaMats Cr. GreatBigStory
แต่การคิดค้นที่ยิ่งใหญ่ แม้จะเป็นที่ถกเถียงกันพอสมควร คือการที่เจ้าตัวเคลมว่าเป็นผู้คิดค้น Floppy Disk และได้จดสิทธิบัตรไว้ตั้งแต่ปี 1952 ซึ่งนับเป็นเวลาหลายปีก่อนที่ IBM จะจดสิทธิบัตร Floppy Disk ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกในปี 1969
เมื่อดูในเนื้อหาจะพบความแตกต่างของ Floppy Disk จากแต่ละสิทธิบัตร ไอเดียที่ Dr. NakaMats ยื่นในตอนแรกแท้จริงแล้วควรจะเรียกว่า “กระดาษบันทึกเสียง” อ่านข้อมูลได้ด้วยแถบแม่เหล็ก ในขณะที่ Floppy Disk ของ IBM ใช้แถบแม่เหล็กในการบันทึกข้อมูล สามารถบันทึก ลบ และเขียนข้อมูลลงแถบแม่เหล็กใหม่ได้
แม้จะมีความใกล้เคียงจนดูเหมือนเป็นต้นกำเนิดไอเดีย แต่ที่จริงแล้วมีความแตกต่างในรายละเอียดเยอะมากพอสมควร ที่ผ่านมา IBM ไม่เคยมองว่าสิทธิบัตรทั้ง 2 ไอเดียนั้นเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้โจมตีอะไร Dr. NakaMats เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะ IBM เองก็ยังต้องซื้อสิทธิบัตรของ Dr. ไปมากถึง 14 ชิ้น แต่แน่นอนว่า Speaker ของ IBM ออกมายืนยันตลอดเวลาว่าไม่มี Floppy Disk อยู่ในนั้น
“Everything I invent, I do out of love,” เคล็ดลับในความคิดสร้างสรรค์ของ Dr. NakaMats คือความรักและความกล้าบ้าบิ่นที่จะทดลองเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การใช้ชีวิตที่ดีกว่า โดยมี Creative Process อยู่ 3 ขั้นตอน คือ 1. Theory (Suji), 2. Flash (Pika) และ 3. Praticality (Iki)
ถ้าสิ่งที่ตัวเค้าเจอตรงหน้ายังรู้สึกมีอุปสรรค ก็จะเริ่มคิดหาทางว่าจะทำยังไงให้การทำกิจกรรมนั้นดีขึ้น สะดวกขึ้น ก่อนจะเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ และลงมือสร้างผลงานที่ตัวเองภาคภูมิใจอย่างอิสระ ไร้กฎเกณฑ์ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวของ Dr. เอง เพราะมนุษย์ทุกคนก็สามารถพัฒนาไอเดียได้ถ้าฝึกฝนเป็นประจำ
เราขอทิ้งท้ายด้วยวิธีคิดไอเดียใหม่ ๆ ของ Dr. NakaMats ซึ่งน่าจะเหมาะสำหรับคนทำงานอย่างพวกเรา
Dr. บอกว่าการนั่งคิดไอเดียใหม่ ๆ นั้นต้องใช้สมาธิเป็นอย่างมาก ตัว Dr. จะมีห้องเงียบที่เรียกว่า ‘Sei room’ เป็นห้องที่ผนังทั้งหมดถูกเคลือบพื้นผิวด้วยทองคำ สามารถบล็อคสัญญาณทีวี โทรศัพท์ หรือแม้แต่ Internet ได้ เรียกว่าไม่มีสิ่งรบกวนใด ๆ จะตามเข้ามาได้เลย
ถัดมาคือห้อง ‘Dou room’ เป็นห้องแคบ ๆ สำหรับจำกัดการเคลื่อนไหว จะมีเพียงเสียงดนตรี Beethoven’s 5th symphony เล่นคลอเบา ๆ พร้อมนั่งนึกไอเดียไปพลาง
แต่ถ้าผ่านไป 2 ห้องแล้วยังคิดไอเดียดี ๆ ไม่ได้ ด่านสุดท้ายที่ Dr. บอกว่าได้ผลเสมอคือ ‘ใต้น้ำ’ การดำลงไปใต้น้ำพร้อมกระดาษจดที่ประดิษฐ์มาให้สามารถเขียนบันทึกไอเดียได้แม้จะเปียก เคล็ดลับคือการฝืนขีดจำกัดเพื่อให้ร่างกายรีบผลิตไอเดียออกมา มักจะทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้เสมอ (อย่างน้อยก็สำหรับตัว Dr. เอง)
แม้ Dr. NakaMats จะถูกตรวจพบเนื้อร้ายตั้งแต่ปี 2013 แต่มันก็ไม่ได้หยุดความคิดสร้างสรรค์หรือความสุขในการมีชีวิตอยู่ของ Yoshiro Nakamatsu คนนี้แม้แต่น้อย ในทางกลับกัน ตัวเค้ากลับยิ่งพยายามคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่จะมีประโยชน์ทั้งสำหรับตัวเองและสังคมให้มากที่สุดก่อนที่จะจากโลกนี้ไป และด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้ปัจจุบัน Dr. ยังมีชีวิตอยู่ด้วยอายุ 92 ปี และยังคงสนุกกับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ต่อไปอย่างไม่มีเบื่อ