Life

ยิ่งโตยิ่งโกหกเก่ง: “ศาสตร์แห่งความเท็จ”เพราะความจริงเจ็บปวดจนต้องหลอกตัวเอง

By: PSYCAT December 4, 2019

คุณเป็นคนขี้โกหกไหม?

ถ้าถามกันโต้ง ๆ ตรง ๆ น้อยคนจะยอมรับ เพราะภาพในหัวมนุษย์อย่างเรา ๆการโกหกถือเป็นเรื่องร้ายแรง รับไม่ได้ จนยากจะเปิดใจสำรวจตัวเองว่าเราก็อาจเป็นคนขี้โกหกกับเขาได้เหมือนกัน

เกลียดการโกหกกันทั้งนั้น แต่วัน ๆ โกหกกันอย่างน้อย 5 ครั้ง

แม้เราจะรู้สึกว่าไม่นะ ผมไม่ใช่คนขี้โกหกสักหน่อย เพราะการยอมรับว่าตัวเองโกหก ลดทอนความน่าเชื่อถือทางสังคมอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ความจริงมนุษย์โกหกบ่อยกว่าที่คิด

งานวิจัย From junior to senior Pinocchio: A cross-sectional lifespan investigation of deception ระบุว่ากลุ่มตัวอย่างอายุ 18-44 ปี โกหกมากถึงวันละ 5 ครั้ง! ยิ่งเราเติบโตมากขึ้นเท่าไหร่ สกิลการโกหกก็จะเติบโตและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นจากการเรียนรู้ผ่านสภาพสังคม วิธีปฏิสัมพันธ์ พูดง่าย ๆ ว่ายิ่งโตก็ยิ่งโกหกเก่งขึ้น แนบเนียนขึ้นนั่นเอง

ศาสตร์แห่งการโกหก” 7 เหตุผลที่คนเลือกหลอกลวง

นอกจากมนุษย์จะโกหกมากกว่าที่คิด (ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม) การโกหกยังมีรากที่หลากหลายและลึกซึ้งเกินกว่าจะเหมารวมว่าใครโกหกเพราะนิสัยไม่ดีแล้วจบ ๆ ไป

ดร. Robert Feldman ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา ประจำ  University of Massachusetts Amherst ศึกษาเรื่องการพูดโกหกโดยตรงกล่าวว่าการโกหกคือกลยุทธ์ทางสังคมที่ทรงประสิทธิภาพหลายคนรู้ดีว่าเราไม่ได้โกหกเฉพาะเรื่องใหญ่โตหรือเรื่องเลวร้ายเสมอไป แต่เราล้วนโกหกเล็ก ๆ บ้าง แต่งความจริงเพิ่มนิดหน่อยบ้าง หรือเลือกปกปิดด้วยการพูดไม่หมดบ้าง เพื่อเหตุผลทางสังคม และนี่คือ 7 เหตุผลที่คนเลือกหลอกลวง

โกหกเพื่อประจบ

Feldman ระบุว่าคำโกหกที่พบได้มากที่สุดคือการโกหกเพื่อเยินยอหรือประจบใครสักคน ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ตั้งแต่เรื่องทรงผมใหม่ของเพื่อนร่วมงาน ไปยันเรื่องชี้เป็นชี้ตายอย่างการเจรจาธุรกิจ เพราะการโกหกประเภทนี้ช่วยมวลมนุษยชาติได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งช่วยให้เป็นมิตรกับคนคนนั้นได้ง่ายขึ้น ช่วยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ชวนอึดอัด ไปจนถึงการช่วยโน้มน้าวใจอีกฝั่งเพื่อให้ทำอะไรตอบแทน รวมถึงช่วยให้คนที่ได้รับคำเยินยอเชื่อใจตัวเองมากขึ้น

โกหกเพื่อความสุภาพ

การโกหกเพื่อความสุภาพ ถือเป็นอีกประเภทการโกหกที่ใครหลายคนคุ้นเคย จินตนาการว่าถ้าเพื่อนโคตรสนิทของเรามาชวนเราไปปาร์ตี้วันศุกร์สิ้นเดือน แต่เราอยากนอนแอ้งแม้งอยู่ที่ห้องมากกว่า มันก็เป็นเรื่องไม่ยากที่เราจะบอกเพื่อนไปตรง ๆ ว่ากูอยากนอนอยู่บ้าน เจอคนแม่งเหนื่อยว่ะ

แต่ถ้าเป็นใครสักคนที่มีความสัมพันธ์ห่างออกไป หรือถ้าเขาให้คุณให้โทษกับเราได้ การจะตอบไปตรง ๆ ว่าขี้เกียจ อยากนอนมากกว่า อาจสร้างความรู้สึกอึดอัดใจระหว่างเราและเขาได้ การตอบว่าขอโทษครับ ผมติดธุระกับที่บ้านแม้จะโกหกแต่ก็ดูจะทำให้สถานการณ์ราบรื่นมากกว่า การโกหกแบบนี้จะถือว่าโกหกเพราะเกรงใจก็ได้เหมือนกัน

โกหกเพื่อเป่าหูคนอื่น

Feldman กล่าวว่าผู้คนโกหกเพื่อให้คนอื่นทำในสิ่งที่เขาต้องการถ้าการโกหกถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในสังคม แรงกระตุ้นอันดับต้น ๆ ของการโกหกก็เพื่อทำให้ผู้อื่นคล้อยตามและทำในสิ่งที่เราต้องการนั่นเอง

นั่นอาจหมายความว่าเพราะความเป็นจริงของเราไม่ดึงดูดมากพอให้ใครต่อใครทำตามสิ่งที่เราต้องการ เราเลยต้องดัดนิดแปลงหน่อย แต่งเรื่องบ้างเพื่อสร้างเรื่องราวให้คนคล้อยตาม โดยการโกหกชนิดนี้อาจไม่จำเป็นต้องโกหกทั้งหมด 100% แต่อาจมีความจริงบ้างบางส่วน ก่อนจะต่อเติมเรื่องให้เข้าข้างตัวเองเพื่อความสมจริง และเป่าหูคนอื่นให้คล้อยตามได้มากที่สุด

โกหกเพื่อให้พ้นผิด

หลายครั้งความจริงก็เจ็บปวด โดยเฉพาะความจริงที่ว่าเราทำอะไรผิดพลาดไป มันจึงง่ายกว่าที่จะโกหก เพื่อหนีความผิด โกหกเพื่อบอกคนอื่นว่าคนที่พลาดไม่ใช่เรา Feldman ให้ความเห็นว่าเรารู้จักการโกหกประเภทนี้มาตั้งแต่เด็ก จินตนาการถึงตอนเราทำแก้วน้ำตกแตก แล้วเราอาจจะทำเหมือนว่าเราไม่ได้ทำ แต่แมวของเราทำแทน

อย่างไรก็ตามยิ่งโตขึ้นเราจะยิ่งโกหกได้เก่งขึ้น และเรายังคงโกหกเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด แต่ในหลายกรณีเราจะเลือกโกหกเพื่อให้คนที่เรารักหรือเราอยากปกป้องพ้นผิดไปด้วย แม้เราจะรู้อยู่เต็มอกว่าจริง ๆ แล้วความจริงคืออะไร

โกหกเพื่อได้หน้า

ถ้าคนเรายอมปล่อยความจริงไปกับสายลมเพราะกลัวตัวเองหรือคนที่เรารักโดนลงโทษ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าเราจะโกหกเพื่อให้ตัวเองหรือคนที่เรารักได้รับรางวัลก้อนโต (โตเกินกว่าที่ควรได้รับตามปกติ)

Feldman บอกว่าผู้คนมักโกหกเพื่อผลลัพธ์เชิงบวกโดยเฉพาะในที่ทำงาน เช่น การพูดผลงานตัวเองเกินจริงในการสัมภาษณ์งาน เพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ดี หรือค่าตอบแทนที่ต้องการ รวมถึงโกหกให้เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานเพื่อให้เพื่อนร่วมงานได้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งส่งผลเกี่ยวเนื่องไปกับภาพลักษณ์ตัวเองให้ดีตามไปด้วย (เนื่องจากมองว่าถ้าเพื่อนตัวเองดี หัวหน้าจะมองว่าตัวเองดีไปด้วย พ่วงกันเป็นเครือข่าย)

โกหกเพื่อให้คนอื่นประทับใจ

ในโลกที่เต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา มนุษย์ล้วนกระหายความชอบและความประทับใจจากผู้อื่น เพื่อยืนยันว่าเรามีตัวตน เราพิเศษเหนือใคร และเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกโดดเดี่ยวเกินไปนัก หลายครั้งเราจึงมโนเรื่องราวว่าเราน่ารักกว่าที่เป็น ดีกว่าที่เป็น เก่งกว่าที่เป็น หรือแม้กระทั่งหยาบกว่าที่เป็น ดุดันกว่าที่เป็น เพื่อให้ใครสักคนประทับใจหรือชอบเราเป็นพิเศษ หรือรับเราเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนั้น แม้ตัวตนจริง ๆ เราอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป

โกหกเพื่อการโกหกครั้งที่แล้ว

โกหกครั้งหนึ่ง โกหกตลอดไปวลีนี้อาจไม่ได้หมายความถึงนิสัยช่างมโน ชอบโกหกที่แก้ได้ยากเท่านั้น แต่เป็นเพราะว่าเมื่อเราได้ลองโกหกเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เราจำเป็นต้องทำเรื่องโกหกแรกให้เป็นความจริงตลอดไป เราจึงต้องโกหกซ้อนโกหกไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้ใครรู้ว่าเราโกหกมาตั้งแต่แรก แม้จะฟังดูซับซ้อน แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นเรื่องธรรมดาของเรื่องโกหก ถ้าอยากให้มันดูจริงที่สุด เราก็ต้องมโนให้มากที่สุดเพื่อทำให้ผู้คนเชื่อว่านั่นคือความจริง

Confabulation: โกหกคนอื่นจนตัวเองเชื่อ
เมื่อความทรงจำจอมปลอมกลายเป็นเรื่องจริง

แรงกระตุ้นให้มนุษย์เราโกหก ถ้าพิจารณาถี่ถ้วนก็ไม่แปลกใจเลยที่งานวิจัยจะบอกว่าเราโกหกกันวันละ 5 ครั้งเป็นอย่างน้อย เพราะการโกหกบางเรื่องเราก็เผลอทำจนเป็นเรื่องปกติ หรือทำเพราะมองว่าเป็นมารยาททางสังคม (เพราะถ้าพูดความจริงอาจทำให้คนวงแตกหรือรับไม่ได้)

อย่างไรก็ตามจุดสำคัญของการโกหกคือเรารู้ว่าอะไรจริง และอะไรที่เราโกหกเพื่อผลลัพธ์อะไรบางอย่าง เพราะอย่างน้อยที่สุดเราก็จะเห็นว่าเรายังพอแยกแยะได้ว่า สิ่งไหนคือความจริง และสิ่งไหนคือความมโนที่เราเลือกบอกคนอื่นเพื่อผลบางอย่าง

แต่Confabulation” หรืออาการทางจิตวิทยาที่หมายถึงมนุษย์ที่เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองมโนขึ้นมานั้นเป็นความจริง หรือการโกหก หลอกคนอื่นจนตัวเองก็เชื่อไปแล้วว่าสิ่งที่ตัวเองโกหกนั้นเป็นเรื่องจริง

แม้ Confabulation เป็นอาการระดับประสาทวิทยาที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ที่ได้รับการกระทบกระเทือนจนมีภาวะสูญเสียความทรงจำ จนไม่อาจจดจำความจริงอันเจ็บปวด ถึงขั้นต้องสร้างความทรงจำปลอม (ที่เจ็บปวดน้อยกว่า) มาแทนที่เพื่อให้สภาพจิตใจสามารถพาร่างกายไปต่อได้

แต่ก็ใช่ว่า Confabulation  จะเกิดเฉพาะระดับรากลึกเท่านั้น คนธรรมดาอย่างเรา ๆ ก็อาจเกิดสภาวะหลงไปในความมโนของตัวเองได้เช่นกัน โดยมนุษย์จะสร้างเรื่องเล่าปลอม ๆ ปลอบใจตัวเอง เพื่อให้ตัวเองหายใจในแต่ละวันได้อย่างที่ฝัน

UNLOCKMEN ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งการเลี่ยงที่จะพูดความจริงไปตรง ๆ สามารถช่วยชีวิตเราไว้ได้ในหลายสถานการณ์ แถมช่วยรักษาความสัมพันธ์ในสังคมให้ยังคงราบรื่นต่อไปได้  หรือที่เรียกการโกหกแบบนี้ว่า การโกหกสีขาว (White Lies) การโกหกในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ทำให้ใครต้องเจ็บปวดและไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไร โดยแต่ละคนคงมีเส้นแบ่งความร้ายแรงของตัวเองไว้ในระดับที่ต่างกัน

แต่อย่าลืมว่าการโกหกก็คือการโกหก ตราบใดที่เรายังระลึกได้ว่าสิ่งไหนคือความจริง สิ่งไหนคือความลวง ก็อาจค่อย ๆ ปรับลดระดับการโกหกลงไปไหว แต่หากเมื่อใดที่โกหกจนชิน มโนบ่อยจนคนรอบข้างและตัวเองหลงเชื่อว่าสิ่งนั้นคือความจริง อาจต้องระวังอย่าให้ถึงขั้นเกิดอาการ Confabulation หรือหลงผิด เพราะนั่นอาจไม่ใช่การโกหกธรรมดา แต่ไปไกลถึงขั้นต้องรักษาอย่างถูกวิธี

SOURCE, SOURCE2 ,
SOURCE3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line