Life

MASTERPIECE: คุยเรื่องศิลปะกับ “ป๊อด-ธนชัย”ผู้เชื่อว่าแรงบันดาลใจอยู่ในทุกที่

By: PSYCAT September 10, 2019

คุณยังกระโดดอยู่ไหม? เราอยากเริ่มต้นบทสนทนากับ “ธนชัย อุชชิน” หรือ “ป๊อด-Moderndog” ด้วยวลีนี้ แต่ก็ยั้งปากไว้ได้ทัน หรืออาจเป็นเพราะเมื่อเขานั่งอยู่ตรงหน้าทำให้เราประหม่าเล็กน้อย แววตาของเขาทรงพลังอย่างอธิบายไม่ถูก เราจึงทักทายเขาเพื่อมารยาทอันควรแล้วเริ่มต้นบทสนทนา

ทุกครั้งที่สิ้นสุดคำถามของเรา เขาจะนิ่งนึก ก่อนตอบออกมาเป็นประโยคที่เราอยากจะโควตเป็นคำคมประจำใจเก็บไว้ทุกคำ ยังกระโดด และที่กระโดดเพราะมีคนท้าว่ากระโดดไหวมั้ย ท้ายที่สุดเราก็ได้คำตอบของคำถามที่เราอยากรู้ เขายังกระโดด กระโดดเหมือนที่ 25 ปีก่อนเขากระโดดบนเวทีประกวดดนตรีซึ่งปูทางเขาสู่การเป็นนักดนตรีมืออาชีพถึงทุกวันนี้

“ผมชอบพลังงานจากการเคลื่อนไหว”

“การเคลื่อนไหว” ในคำตอบของเขาไม่ได้หมายความถึงแค่การกระโดดโลดเต้นบนเวทีเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเคลื่อนไปในมิติใหม่ ๆ ของชีวิต การท้าทายตัวเองให้สนุกกับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ การกระตุ้นตัวเองให้ไม่ทิ้งสิ่งที่ทำมาตลอดอย่างดนตรี คู่ไปกับการที่ไม่เคยทิ้งความฝันวัยเด็กอย่างการทำงานศิลปะ

เขาเคลื่อนไหวอย่างสุดขีดอย่างนี้มาโดยไม่หมดแรงได้อย่างไร?  แรงบันดาลใจที่ขับเคลื่อนให้เขาก้าวไปข้างหน้าอยู่ตลอดมาจากไหน? ให้บทสนทนานี้ไขข้อสงสัยของคุณ อนุญาตให้กระโดด หรืออยากนั่งนิ่ง ๆ แล้วกำซาบเรื่องของ “ป๊อด-ธนชัย อุชชิน” ไปพร้อมกันก็ย่อมได้

ชีวิตคือฤดูกาล เราจะผ่านทุกฤดูไปได้

ชีวิตไม่มีสูตรสำเร็จ แต่เมื่อเราอยู่ตรงหน้าศิลปินที่เล่นดนตรีก็ประสบความสำเร็จ ทำงานศิลปะก็สำเร็จอย่างงดงามไม่แพ้กัน เราอดถามเขาไม่ได้จริง ๆ ว่า “ถ้ามีหนึ่งสิ่งที่ทำให้คุณมาถึงจุดนี้ คุณว่าหนึ่งสิ่งนั้นมันคืออะไรกันแน่” และบนถนนแห่งการทำงานสร้างสรรค์ ไอเดียมันสามารถพรั่งพรูออกมาได้เรื่อย ๆ จริงหรือ? หรือคนอย่างเขาจะมีเวทมนตร์บางประการที่เป็นความลับซ่อนไว้ไม่ให้ใครล่วงรู้?

“ผมว่าการเรียนรู้นะ ผมชอบการเรียนรู้ การเรียนรู้ไม่ใช่แค่ว่าไปรู้เรื่องราวอื่น ๆ การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือเรียนรู้ตัวเอง มันสนุกที่เราจะได้เรียนรู้ตัวเอง เพราะมันไม่รู้จบ การรู้จักตัวเองมันซับซ้อนหลายมิติกว่าที่เราจะเข้าถึงตัวเองและกล้ายอมรับตัวเองได้จริง ๆ “

“การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือเรียนรู้ตัวเอง”

“บางทีผมก็มีเพลงใหม่ ๆ ที่แต่งโดยที่ไม่ต้องคิด เหมือนตอนเด็กเลยที่เนื้อเพลงมันออกมาจากข้างใน คล้าย ๆ กับการทำงานศิลปะ เพราะเวลาเพนต์ บางทีใช้ความรู้สึกล้วน ๆ ก็ออกมาเป็นงานที่ดีได้ ในขณะที่บางครั้งคิดซับซ้อน แต่งานมันซับซ้อนเกินไป ดูแล้วไม่โฟลว์ ทีนี้พอเราถอด HEAD ออก แล้วลองใช้แต่ HEART บางทีมันลื่นไหลมากเลย”

“พอเราถอด HEAD ออก แล้วลองใช้แต่ HEART บางทีมันลื่นไหลมากเลย”

“จริง ๆ ผมก็บังคับไม่ได้นะ มีบางช่วงที่ผมนิ่งเลย บางช่วงผมก็แต่งเพลงไม่ออกมาเป็นปี ๆ แต่ผมก็ไม่ฝืน ผมยอมรับในความเป็นไป บางช่วงมันเป็นฤดูฝน บางช่วงมันอาจเป็นฤดูใบไม้ผลิ ทุกอย่างมันก็ผลิบาน บางช่วงมันเป็นฤดูแล้ง มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่มีอยู่จริง ชีวิตคนเราก็เหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดเราก็จะผ่านทุกฤดูไปได้”

เวทมนตร์ที่เขาเชื่อคือ “การเรียนรู้” และ “การยอมรับ” สองวิธีคิดเรียบง่ายแต่ทรงพลัง กระนั้นก็ทำให้เขากระโดดโลดเต้นบนถนนสายดนตรีและศิลปะมานานเกือบเท่าอายุเรา ถ้าโลกยังมีหลายฤดู ทำไมชีวิตจะมีหลายฤดูบ้างไม่ได้? คำตอบของเขาชวนให้เราฉุกคิด เราถามย้ำอีกครั้ง “จริงเหรอ? ถ้าตัน คิดไม่ออก นี่ถือเป็นเรื่องปกติจริง ๆ เหรอ?”

“ใช่ ปกติ ต้องยอมรับมัน ไม่ใช่เรื่องชั่วร้ายอะไรเลย นอกจากมันมีงานที่เขาสั่งมาว่าต้องเสร็จ แต่ก็ไม่ยากหรอก เราต้องเชื่อว่าชีวิตมีทางของมัน ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ผมมีคือผมเชื่อมั่นในชีวิต ผมเชื่อว่าชีวิตมันจัดการตัวเองได้ ทำงานสร้างสรรค์ผมอยากให้เริ่มจากความสนุก ขอให้สนุก มันจะดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ ความสนุกจะพาทุกอย่างมาเอง หาความสนุกให้เจอ”

เป้าหมายคือแผนที่ แต่ความสำเร็จคือวินาทีที่เรามีความสุข

สำหรับคนที่อยู่ตีนเขาการจินตนาการและเฝ้าฝันถึงยอดเขานั้นไม่ใช่เรื่องยาก เราจะฝันหวานอย่างไรก็ได้ว่าความสำเร็จบนยอดนั้นจะหอมหวานเพียงใด แต่สำหรับคนที่เคยพิชิตยอดเขาแห่งความสำเร็จมาแล้ว เราไม่แน่ใจว่าเขาจะนิยามความสำเร็จไว้ว่าอย่างไร? ยอดเขาลูกไหนที่เขาอยากพิชิตต่อไปอีก? หรือเขาจะต้องตามหาความสำเร็จที่สูงขึ้น ๆ ๆ ราวกับไม่มีวันสิ้นสุด?

“ตอนเด็ก ๆ เราอาจเคยรู้สึกว่าเราต้องสำเร็จแล้วเราจะมีความสุข ซึ่งก็ใช่ เพราะทุกครั้งที่เราสำเร็จเราก็มีความสุขนั่นแหละ แต่เราสามารถมีความสุขที่ง่ายขึ้นจากช่วงเวลาปัจจุบัน คือเราไม่ต้องรอให้สำเร็จ เรามามีความสุขตอนนี้เลยไหม เราก็จะมีความสุขเป็นวินาทีต่อวินาที แต่ถ้าวินาทีไหนที่มันเฟล เราก็ดีลกับมัน ปรับมัน เท่ากับว่าเราไม่ต้องไปรอความสุขที่อยู่ไกลแล้ว เราหันมาเอนจอยกับวินาทีตรงหน้า”

“ถ้าถามในวัยนี้ ถามตอนนี้

ความสำเร็จของผมคือตรงนี้ ตอนนี้

ผมรู้สึกว่าผมไม่อยากไปรอเป้าหมายไหน

เราทำนาทีนี้ให้มันเต็มอิ่ม

แล้วนาทีนี้จะเป็นคีย์ไปสู่นาทีข้างหน้าเอง”

“ตอนเด็กเราคิดว่าจะต้องทำอันนั้นอันนี้ให้ได้ ในระหว่างทางเราอาจจะทำร้ายผู้คนเพื่อให้ไปถึงตรงนั้น เราอาจจะอารมณ์เสีย เราอาจจะหงุดหงิด เพื่อจะไปถึงสิ่งที่เราคาดหวัง เราไม่ได้คิดว่าเมื่อเราไปถึงตรงนั้นแล้ว มันเหมือนคนที่ประสบความสำเร็จ ขึ้นไปบนยอดเขาแล้ว แต่มองลงมาข้างล่างผู้คนตายเรียบเลย แล้วก็ไม่มีใครที่จะมาร่วมยินดีกับเรา”

“เรามีเป้าหมาย แต่เมื่อเรามีแล้ว มันก็เหมือนมีแผนที่นั่นแหละว่าเราอยากจะไปที่ไหน แต่ว่าเราก็อยู่กับวินาทีตรงหน้าแล้วก็เดินแต่ละก้าวให้ดี อยู่กับก้าวตรงหน้านี้”

หมายความว่าถ้าวินาทีนี้คุณมีความสุขก็ถือว่าสำเร็จแล้ว?  เราถามย้ำอีกครั้ง “ใช่” เป็นคำตอบเดียวสั้น ๆ พร้อมรอยยิ้มจากป๊อด-ธนชัย อุชชิน แต่หนักแน่นและจริงจังที่สุดเท่าที่เราเคยได้ยินคำว่าใช่มา

ศิลปะคือการออกจากคอมฟอร์ตโซน

การอยู่กับสิ่งเดิม ๆ มา 20 กว่าปี บางคนอาจเรียกมันว่าความหลงใหล บางคนอาจเรียกว่าสิ่งที่เราทำมันได้ดี บางคนอาจเรียกมันว่าวิถีชีวิต แต่สำหรับธนชัย อุชชิน การเล่นดนตรีมาตลอด 25 ปีอาจเรียกได้ว่าเป็นคอมฟอร์ตโซน เขายังรักและทำมันได้ดี แต่ขณะเดียวกันชีวิตเขาก็ต้องเคลื่อนไหวเพื่อออกจากคอมฟอร์ตโซนและหาความท้าทายใหม่ ๆ

“ผมก็พยายามที่จะหาอะไรใหม่ ๆ ให้ตัวเองทำอยู่เสมอเพื่อให้เราได้รักษาความสดใหม่ของตัวเองไว้ เราเล่นดนตรีมา 25 ปี เราก็อยากมีมิติอื่นของชีวิต เช่น ความฝันในวัยเด็กที่อยากเป็นเพนเตอร์ (Painter) ตอนนี้เราก็เริ่มมีเวลาลองกลับไปทำมันอย่างจริงจัง ทำให้เราได้มีช่วงเวลาที่เราได้เล่นดนตรีและเวลาที่เราได้ทำศิลปะ”

“ศิลปะทำให้เราเจอบางอย่างที่เราไม่คิดว่าเรามี ถ้าเราทำแค่งานเดิม ๆ ที่เราชำนาญแล้วก็เหมือนเราอยู่ในคอมฟอร์ตโซน แต่พอเราได้ลองก้าวออกไปนอกคอมฟอร์ตโซน เราอาจจะเห็นความกลัว ความเกร็ง ของตัวเอง หรืออาจเจอความสามารถบางอย่างที่เราไม่คิดว่ามันเป็นไปได้ หรือมันพัฒนาได้ มันทำให้เราไปต่อ คล้าย ๆ เรามีทางที่ให้เราไปต่อ”

“จริง ๆ ดนตรีกับศิลปะเหมือนกันนะ แต่ต่างกันที่อันหนึ่งใช้ตา อันหนึ่งใช้หู แต่จริง ๆ แล้วมันคือการขุดเอาข้างในตัวของเรานี่แหละออกมา”

แรงบันดาลใจอยู่ทุกที่บางทีไม่ต้องออกไป แต่ต้องเข้ามา

แม้เขาจะบอกเราว่าชีวิตคนไม่ต่างจากฤดูกาลมันอาจมีฤดูที่ความคิดผลิดอกออกผล แต่ก็อาจมีฤดูแล้งแห้งขอดที่ขุดสมอง คว้านหัวใจเท่าใดไอเดียก็ไม่ปรากฏตัว แต่อีกทางหนึ่ง “แรงบันดาลใจ” ก็เป็นสิ่งแวดล้อม เป็นบรรยากาศ เป็นสารพัดสิ่งที่ทำให้เรามีความคิดดี ๆ ผุดออกมาได้โดยไม่ต้องเปลืองแรงเค้น

“ถ้าเราเริ่มสังเกตในชีวิตประจำวัน เราจะเจอแรงบันดาลใจในทุกสิ่ง ทั้งจากคนที่เราคุยด้วย จากในบ้านตัวเอง บางทีเราก็มองข้ามมันไป มันอาจจะมีกองหนังสือที่เรากอง ๆ เอาไว้ แล้วเรามาเก็บบ้าน จนเจอว่าหนังสือเล่มนี้ ทำไมเราซื้อมาแล้วเรายังไม่เคยเปิดอ่านเลย

บางทีเราชอบไปมองว่าเราต้องออกไปหาแรงบันดาลใจข้างนอก แต่ในบ้านเราเองมีอะไรอีกเยอะเลย หรือในตัวเราเองนี่แหละ ถ้าเอาดี ๆ เราสามารถเจอแรงบันดาลใจได้”

“บางทีเราชอบไปมองว่าเราต้องออกไปหาแรงบันดาลใจข้างนอก แต่ในบ้านเราเองมีอะไรอีกเยอะเลย”

แรงบันดาลใจอยู่ได้ทุกที่การออกไปมันก็สำคัญ การไปท่องเที่ยว ไปเจอสถานการณ์ใหม่ ๆ แต่ถ้าสถานการณ์มันไม่เอื้ออำนวยหรือเวลามันไม่เอื้อ เราต้องอยู่ในชีวิตประจำวันที่ต้องไปทำงานตามตารางที่กำหนด เราก็ยังสามารถเจอแรงบันดาลใจได้เหมือนกัน”

สำหรับใคร ๆ แรงบันดาลใจอาจหมายถึงการต้องออกเดินทาง ต้องไปตามหา แต่สำหรับเขาแรงบันดาลใจอาจอยู่ข้างในมากกว่าข้างนอกในบางหน เราอาจเจอแรงบันดาลใจในการทำศิลปะชั้นยอดจากตัวตนของเรา รวมถึงอาจเจอแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ชั้นเยี่ยมในบ้านของเรานี่เอง

MUSEUM AT HOME: เพราะของทุกชิ้นในบ้านคือตัวตนของเรา

เพราะป๊อด-ธนชัยเชื่อว่าแรงบันดาลใจไม่ได้มาจากแค่ “การออกไปตามหา” แต่แรงบันดาลใจอยู่ได้ทุกที่ โดยเฉพาะ “การเข้ามามองข้างใน” ในตัวตนของเรา ในบ้านของเรา เขาจึงเชื่อว่า “บ้าน” สามารถเป็นพื้นที่มั่นคงปลอดภัยทางกายและใจคู่กันไปกับการเป็นพื้นที่ทางศิลปะที่อัดแน่นไปด้วยแรงบันดาลใจและตัวตนของผู้อยู่อาศัย

“ผมคิดว่าบ้านก็สามารถเป็นที่แสดงงานศิลปะได้ สำหรับทุกคนเลย งานศิลปะเหล่านั้นเป็นความชอบส่วนตัวของแต่ละคนได้เลย เป็นพื้นที่ที่เราแสดงงาน พื้นที่เรารู้สึกมีความสุขกับมัน ตื่นขึ้นมาแล้วเห็นชิ้นงานที่สร้างพลังบางอย่างที่ใจเราต้องการ

“ตื่นขึ้นมาแล้วเห็นชิ้นงานที่สร้างพลังบางอย่างที่ใจเราต้องการ”

“เทรนด์โลกมันก็เริ่มมา การที่ศิลปินเริ่มแหกออกมาจากกฎเกณฑ์เดิม ๆ แทนที่งานศิลปะจะต้องไปอยู่ในแกลเลอรีหรือมิวเซียมเท่านั้น ตอนนี้ศิลปินบางคนก็จัดแสดงงานในอพาร์ตเมนต์ หรืออย่างที่เราเห็น Hotel Art Fair ที่จัดงานตามห้องในโรงแรมซึ่งมันฉีกไปจากธรรมเนียมเดิม ๆ ที่มีอยู่”

“การฉีกออกมาแบบนี้มันดีมาก เพราะมันเปิดโอกาสให้งานศิลปะได้มีโอกาสมากขึ้น ผมว่ายุคนี้เพลงมันก็มีช่องทางที่จะออกไปหาคนได้ง่ายคน เหมือนที่เรามีโซเชียลมีเดีย เราทำเพลงเสร็จที่บ้านตรงนี้ เราก็ปล่อยให้เพื่อนได้ฟังได้เลย ศิลปะก็เช่นเดียวกัน เราไม่ต้องรอให้แกลเลอรีมาค้นพบเรา เราอาจจะเริ่มสร้าง เริ่มทำให้คนได้เห็นจากจุดเล็ก ๆ ของเรา แล้ววันหนึ่งมันอาจจะเติบโตไป”

“ทุกคนน่าจะลองทำนะ ผมว่ามันสนุก ผมเองยังอยากไปดูมิวเซียมของคุณ ว่าคุณมีอะไรมาวางไว้บ้าง มันคือการแสดงแพสชัน แสดงตัวตนของคนคนนั้น มันสะท้อนตัวตนคนคนนั้น การที่คนคนนั้นจะหยิบรูปใดมาแขวนมันต้องออกมาจากข้างในของคนนั้นว่าเขารู้สึกว่าสิ่งนั้นสื่อสารอะไรกับเขา เราสามารถรู้จักตัวตนคนนั้นได้ถ้าเราได้เข้าไปดูสิ่งที่เขาเลือกมาวาง”

MUSEUM AT HOME: โปรเจกต์ที่ช่วยให้ศิลปะเติบโตที่ THE PRIMARY V

เมื่อความเชื่อว่า แรงบันดาลใจอยู่ในทุกที่ ไม่เว้นแม่แต่ในบ้าน ผสมผสานเข้ากับแนวคิดที่ว่าทุกคนมีแพสชันและเรื่องเล่าในแบบของตัวเอง ผนวกเข้ากับความหวังว่าศิลปะจะเติบโตได้ต้องฉีกกรอบออกมา ไม่อยู่แค่ในแกลเลอรีหรือมิวเซียมเท่านั้นจึงเกิดโปรเจกต์ MUSEUM AT HOME โปรเจกต์ที่ยกเอางานศิลปะมาไว้ในพื้นที่อยู่อาศัยอย่าง THE PRIMARY V เพื่อชวนให้ทุกคนมาสัมผัสงานศิลปะจาก 6 ศิลปินโดยหนึ่งในนั้นก็คืองานของป๊อด-ธนชัยอย่างใกล้ชิด พร้อม ๆ กับการหาแรงบันดาลใจในการสร้างเรื่องเล่าและ MUSEUM AT HOME ในแบบของตัวเอง

“ผมเลือกชิ้นงานจากการดูภาพโครงการโดยรวม แล้วใช้ความรู้สึกว่างานชิ้นไหนของเราที่จะเข้าไปอยู่ในพื้นที่นี้แล้วสอดคล้อง ผมรู้สึกว่าที่นี่มันมีความไบร์ต มีเรื่องความสว่าง ความสด ผมคิดว่างานที่ผมเลือกมามันให้พลังแบบนั้น เท่าที่ผมหยิบมาทั้งหมดจะเป็นแนวสีสดใส ซึ่งพอเข้ามามันก็แมทช์จริง ๆ ด้วย เพราะที่นี่มันไบร์ตมาก”

“จริง ๆ ผมก็แอบตกใจตัวเองเหมือนกันว่าภาพมันไบรต์มาก แถมบางภาพก็มีสีที่หวานมาก ผมถึงบอกว่าเมื่อเราเริ่มทำงานศิลปะ เราก็จะเริ่มค้นพบอะไรบางอย่างที่เราไม่คิดว่าเรามีหรือเราเป็น หรือแม้กระทั่งเวลาผ่านไปสีมันเปลี่ยน เพราะข้างในเรามันเปลี่ยน สีของงานก็เปลี่ยนไป เหมือนเป็นรีเฟลกต์สะท้อนตัวเราว่าตอนนี้มู้ดแอนด์โทนเรามันมาแบบนี้แล้วนะ”

“รู้สึกตะลึงนะเพราะที่นี่ดูหรูหรามาก ทุกรายละเอียดของที่นี่ คนทำมีความเป็นศิลปิน เขาอินกับทุกอย่าง พรมทุกผืนที่เขาดีไซน์เอง สั่งทำพิเศษเอง โต๊ะกินข้าวที่ผ่านการทำแล้วเสีย จนต้องทำใหม่ซ้ำ ๆ จนกว่าจะได้โต๊ะที่สวยแบบนี้ ผมเห็นว่าทุกรายละเอียดมันคราฟต์มาก รู้สึกทึ่งกับสิ่งที่เขาตั้งใจทำ”

“โปรเจกต์นี้คิวเรเตอร์เลือกศิลปินมาทั้งหมด 6 ท่าน แล้วก็เอางานเพนติ้งของแต่ละคนมาติดตั้งในโครงการ ผมคิดว่างานแต่ละท่านก็น่าสนใจ แม้แต่การตกแต่งในโครงการก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจมาก เพราะคนที่สร้างสรรค์มันขึ้นมาเขาทำด้วยใจ ไม่ใช่แค่ค้าขาย”

“แม้กระทั่งกลิ่นที่ผมเดินเข้าไป ผมก็ตกตะลึง เพราะเขาจัดกลิ่นแต่ละห้องให้ไม่เหมือนกัน มันละเอียดอ่อนถึงขั้นนั้น มันมีอะไรให้ดูอีกเยอะเลย มันน่าสนุก เพราะผ่านกระบวนการคิดมาทุกรายละเอียด ถ้าผมไม่ได้เอางานมาจัดแสดงที่นี่ผมก็คงไม่ได้เห็นอะไรที่น่าสนใจอีกหลายอย่างเลย”

“ต้องชื่นชมคนที่เอางานมาจัดวางด้วยนะครับ โปรเจกต์ MUSEUM AT HOME นี้เหมือนเป็นโปรเจกต์คอลแลปส์กันระหว่างเราที่เป็นศิลปินที่นำภาพมาแล้วก็มาแจมกับพื้นที่ การที่นำเอาศิลปะแต่ละชิ้นมาวาง ทำงานเยอะเหมือนกันเพราะทั้งขนาดที่ต้องลงตัวกับแต่ละพื้นที่ แล้วก็ความเข้ากันกับเฟอร์นิเจอร์ที่มีอยู่แล้ว มันเหมือนการที่เราเอาตัวเองไปแจมกับวงดนตรีสักวงหนึ่ง”

ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่เชื่อว่าแรงบันดาลใจอยู่ในทุกที่  และเริ่มอยากลงมือสร้างสรรค์เรื่องเล่า สื่อสารตัวตนของตัวเองเพื่อเติมแรงบันดาลใจและนิยามความหมายของศิลปะให้งอกงามในรูปแบบ MUSEUM AT HOME ของตัวเองบ้าง เราขอชวนคุณมาดื่มด่ำกับโปรเจกต์ MUSEUM AT HOME ของโครงการ The Primary V ที่จะทำให้คุณเข้าใจว่าทำไมบ้านจึงเป็นมากกว่าบ้าน แต่เป็นที่สุดแห่งแรงบันดาลใจและพื้นที่ที่ศิลปะ รวมถึงพื้นที่ที่ความคิดสร้างสรรค์งอกงาม ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ THE PRIMARY V หรือโทร 098-262-2782

โดยเฉพาะถ้าคุณเชื่อเรื่องพลังงานที่ได้จากการเคลื่อนไหวอย่างที่ป๊อด-ธนชัย อุชชินเชื่อ ยิ่งไม่ควรพลาด เพราะผลงานสีสันสดใสจัดจ้านของเขารอให้คุณมาสัมผัสอยู่ที่ The Primary V เช่นกัน

PHOTOGRAPHER: Krittapas Suttikittibut

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line