CARS
THE PROFILES: DOT ROBINSON ความเท่และตำนานของแก๊งสตรีขี่บิ๊กไบค์ที่จะไม่ยอมอยู่ในกรอบเดิม
By: TOIISAN January 16, 2020 172948
ถ้าพูดถึง ‘ไบค์เกอร์’ หลายคนก็จะนึกถึงกลุ่มชายชาตรีหนวดเคราเฟิ้ม ใส่เสื้อหนัง สวมรองเท้าบู๊ท ขี่รถคันใหญ่ไปด้วยกันเป็นคาราวาน บางคนจะนึกถึงผู้คนที่ไม่อยู่ในกรอบและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ส่วนในต่างประเทศผู้คนมักพูดถึงแก๊ง Hell Angels, Outlaws, 69’rs หรือ Black Sabbath แต่ยังไม่ค่อยรู้จักแก๊งนักบิดชื่อว่า Motor Maids เท่าไหร่นัก
UNLOCKMEN เคยเล่าเรื่องราวของชาวแก๊งนักบิดอยู่บ่อยครั้งทั้งแก๊ง Hell Angels หรือแก๊งนักซิ่งของฝรั่งเศส แต่เรายังไม่เคยเล่าเรื่องของสุภาพสตรีขี่บิ๊กไบค์จากยุค 40 ทั้งที่พวกเธอนั้นเต็มไปด้วยชีวิตชีวา แต่งตัวจัดจ้านได้เท่ไม่แพ้ผู้ชาย และจะไม่ยอมอยู่ในกรอบที่ถูกเขียนไว้ว่า ‘ผู้หญิงต้องแต่งงาน เป็นเมียที่ดี เป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบ’ เพราะพวกเธอจะเป็นคนเลือกเส้นทางการใช้ชีวิตของตัวเอง
ย้อนกลับไปช่วงปี 40 ห้วงเวลาแห่งสงครามโลก มีหญิงสาวชาวออสเตรเลียคนหนึ่งชื่อว่า Dot Robinson เกิดปี 1912 เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการมอเตอร์ไซค์ของสหรัฐอเมริกา เธอมีความชอบแตกต่างจากหญิงสาวในยุคเดียวกัน เธอคลั่งไคล้มอเตอร์ไซค์มากและหลาย ๆ คนคาดว่าเธอได้รับอิทธิพลมาจากพ่อตัวเองที่เป็นนักออกแบบรถแถมยังเป็นนักแข่งมอเตอร์ไซค์อีก
เธอชื่นชอบทุกอย่างเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ พออายุ 16 ปี ก็แวะเวียนไปยังร้าน Harley-Davidson อยู่บ่อยครั้ง เพราะพ่อของเธอเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับแบรนด์มอเตอร์ไซค์สัญชาติอเมริกา ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดีแต่พอเข้าสู่ปี 1930 ทุกประเทศทั่วโลกต่างต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การนำเข้า-ส่งออก ของสหรัฐฯ ไม่ต้องพูดถึงการซื้อขายในประเทศที่ชะลอตัว กิจการของบ้าน Robinson ได้รับผลกระทบและ Dot ต้องหาทางทำอะไรบางอย่างกับเรื่องนี้
สาเหตุที่เราเล่าถึงสภาพเศรษฐกิจที่ดูจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวตำนานขี่รถของ Dot Robinson เพราะเราอยากให้ทุกคนได้รู้ว่าเธอมีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับ Arthur Davidson (หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Harley-Davidson) ซึ่งเคยให้เงินเธอถึง 3,000 เหรียญเพื่อให้ Dot รับช่วงต่อธุรกิจของพ่อ อาจเพราะวงสังคมอบอุ่นของคนที่มีความชอบเหมือนกันเป็นส่วนผลักดันให้เธอหลงใหลเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์มากขึ้น และกล้าก้าวออกมาขี่มอเตอร์ไซค์อย่างจริงจังในยุคที่ผู้หญิงควรอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน
Dot ไม่หยุดอยู่แค่ความชอบมอเตอร์ไซค์ เธอตัดสินใจลงแข่งรถในปี 1930 ด้วยระยะทาง 100 ไมล์ (160 กิโลเมตร) แถมยังคว้าชัยชนะมาครองพร้อมกับคะแนนไร้ที่ติ ต่อมาในปี 1935 Dot กับสามีตกลงกันว่าจะสร้างสถิติใหม่ด้วยการขี่รถข้ามทวีปจากลอสแองเจลิสไปยังนิวยอร์ก เป็นการขี่รถโคตรบ้าเพราะถ้านั่งเครื่องบินจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง หากเปลี่ยนไปขับรถยนต์แบบไม่หยุดพักก็จะใช้เวลาเดินทางราว 42 ชั่วโมง ด้วยเส้นทางกว่า 3,995 กิโลเมตร แต่ Dot กับสามีเลือกที่จะขี่มอเตอร์ไซค์
จากการแข่งขันแสนทรหดต้องใช้ความอดทนอย่างมาก เพราะทางหลวงของสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้นยังไม่ดีเหมือนถนนในปัจจุบัน ท้ายที่สุด Dot ก็เดินทางจากลอสแองเจลิสไปยังนิวยอร์กด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ได้สำเร็จด้วยเวลา 89 ชั่วโมง 58 นาที นอกจากนี้ชื่อของเธอยังถูกจากรึกลงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้หญิงคนแรกที่ชนะการแข่งขันระดับชาติ AMA (American Motorcycling Association) ซึ่งใคร ๆ ต่างบอกว่านี่คือการแข่งสุดโหด การันตีความเหนื่อยได้จากจำนวนความสำเร็จที่มีเพียง 7 คน จากผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 52 คน
เธอพิสูจน์ฝีมือของตัวเองอยู่เสมอ ผู้คนจำนวนมากที่ชื่นชอบมอเตอร์ไซค์ต่างรู้จักชื่อของเธอ หลังจากสร้างสถิติใหม่ไม่เว้นแต่ละวัน Dot วางแผนจะเข้าร่วมการแข่งขัน National Endurance Run หลังจากคว้าชัยในสนาม Michigan State Championship และ Ohio State Championship แต่เหล่าผู้อำนวยการของ AMA ไม่ต้องการให้ Dot รวมถึงผู้หญิงคนอื่น ๆ เข้าร่วมการแข่งขัน National Endurance Run เมื่อมีกติกาไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น Dot Robinson จึงตระเวนไปทั่วเมืองเพื่อรวบรวมลายเซ็นของผู้คนนับพันเพื่อพิสูจน์ว่า
“ผู้หญิงก็สามารถขี่มอเตอร์ไซค์ได้”
จากคำพูดของ Dot Robinson ที่กล่าวไว้ว่า “ผู้หญิงก็ขี่มอเตอร์ไซค์ได้” ไม่ใช่แค่การพูดลอย ๆ แต่ลงมือทำจริง เธอสนับสนุนให้ผู้หญิงที่ชอบขี่มอเตอร์ไซค์รวมกลุ่มกัน ในปี 1939 Dot Robinson กับ Linda Allen Dugeau ขี่รถไปทั่วสหรัฐฯ และตั้งกลุ่มขึ้นมาอย่างเป็นทางการในปี 1941 โดยใช้ชื่อว่า Motor Maids of America (ปัจจุบันใช้ชื่อว่า Motor Mailds Inc.)
Motor Maids ได้รับแรงบันดาลใจจาก The Ninety-Nines หน่วยกองทัพอากาศหญิงของ Amelia Earhart นับเป็นคลับคนรักรถจักรยานยนต์หญิงกลุ่มแรกของโลกที่ได้รับการยอมรับจาก AMA และมีข้อตกลงหลักร่วมกันเพียงข้อเดียวคือจะต้องเป็นผู้หญิงที่มีมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง ถ้าคุณมีคุณสมบัติตรงก็สามารถเข้ากลุ่มได้ทันที
ช่วงแรกที่ตั้งกลุ่มมีผู้ชายหลายคนให้ความสนใจ Motor Maids ของ Dot เป็นอย่างมาก สุภาพบุรุษหลายคนสนับสนุนให้ผู้หญิงที่รักรถเหมือนกับพวกเขาได้ดำดิ่งลงไปในความชอบ แต่ก็ยังมีผู้ชายบางกลุ่มไม่เห็นด้วยและต่อต้าน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่แตกเป็นสองฝั่ง รู้ตัวอีกที่สมาชิกของกลุ่ม Motor Maids ก็เต็มไปด้วยผู้หญิงจากหลากหลายอาชีพทั้ง หมอ พยาบาล ทนายความ ครู วิศวกร นักบัญชี แม่บ้าน ไปจนถึงคนรุ่นคุณยายรวมตัวกันขี่มอเตอร์ไซค์ท่องเที่ยวไปทั่วสหรัฐฯ
ตอนที่เธอตั้งกลุ่มขึ้นมาโลกกำลังอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวแก๊ง Motor Maids พยายามช่วยเหลือสังคมเท่าที่จะทำได้ แม้สหรัฐอเมริกาไม่ใช่สมรภูมิสงครามแต่ก็ได้รับผลกระทบอยู่ดี ทำให้พวกเธออาสาเป็นคนส่งของให้กับผู้รับเหมา คนธรรมดาที่ออกจากบ้านไม่ได้ รวมทั้งสอดส่องดูแลความปลอดภัยของสุภาพสตรีในย่านนั้น ๆ และครั้งนี้พวกเธอก็ได้รับการสนับสนุนจากชายที่ชื่อว่า Arthur Davidson อีกครั้ง
เมื่อสงครามจบลง แก๊ง Motor Maids ก็ยังคงรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนแถมยังมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กิจกรรมของกลุ่มไม่ได้มีแค่นัดกันขี่มอเตอร์ไซค์ แต่ยังมีนัดกันไปเล่นบิงโก (เกมยอดฮิตในสมัยนั้น) จัดปาร์ตี้ ทำกิจกรรมเพื่อการกุศลอย่างขี่รถหาเงินบริจาคให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม บางครั้งคนที่ไม่ชอบมอเตอร์ไซค์ก็ถามว่ารวมกลุ่มกันไปเพื่ออะไร และพวกเธอมักตอบกลับไปว่า “ไม่รู้เหมือนกัน” เพราะแค่ความชอบก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ด้วยวีรกรรมที่ทำไว้มากมายทั้งเข้าแข่งขันกับผู้ชาย เป็นคนขี่มอเตอร์ไซค์แทนที่จะเป็นคนซ้อนท้ายอย่างที่ควรจะเป็นในสังคมชายเป็นใหญ่ ตั้งกลุ่มนักบิดหญิง และเป็นมิตรกับเหล่าสุภาพบุรุษไบค์เกอร์ที่ไม่ต่อต้านเธอ ทั้งหมดนี้ทำให้ Dot Robinson ถูกเรียกว่า ‘First Lady of Motocycling’ หรือ ‘สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของวงการมอเตอร์ไซค์’ …โคตรเท่จริง ๆ ครับ
Dot Robinson สร้างชื่อเสียงมากมายจากสิ่งที่ทำ และเธอก็ยังถูกพูดถึงมากอีกครั้งในปี 1950 ด้วย ‘เซตสีชมพู’ ชมพูที่ว่าจัดเต็มทั้งมอเตอร์ไซค์ Harley-Davidson สีชมพู เบาะหนัง เสื้อตัวใน เสื้อคลุม ถุงมือ หมวกกันน็อค ทาลิปสติกสีชมพู จากนั้นจึงขี่รถไปทั่วฟลอริดา เหตุที่เซตสีชมพูของ Dot ถูกพูดถึงเพราะปกติแก๊งไบค์เกอร์มักมีแฟชั่นสีดำ รถสีดำ ทุกอย่างคุมโทนทึบและเท่ แต่ Dot ในวัย 38 ปี กลับเลือกใช้สีชมพูเสียอย่างนั้น
ส่วนคู่หูที่ร่วมก่อตั้งแก๊งนักบิดหญิงอย่าง Linda Dugeau ย้ายไปอยู่เมืองลอสแองเจลิสและไม่หยุดทำสิ่งที่รัก Linda ส่งพิมพ์เขียวแบบรถสีแดงสดให้กับ Harley-Davidson หาคอลเลกชันเสื้อผ้าสีแดงทั้งเสื้อกั๊กหนัง ผ้าพันคอ เพื่อทำตามความชอบของตัวเอง และจากไปอย่างสงบในปี 2000 ด้วยวัย 86 ปี
ทางด้าน Dot ยังขี่มอเตอร์ไซค์จนถึงปี 1971 พอร่างกายเริ่มไม่ไหวก็เปลี่ยนมานั่งพ่วงข้างแทน (ก็ยังไม่ยอมลาวงการจริง ๆ ครับ) ในที่สุดเธอจากไปในปี 1999 ด้วยวัย 87 ปี ผู้คนต่างคาดเดากันว่าตลอดชีวิตของเธอได้ขี่รถมากกว่า 1.5 ล้านไมล์ (2.4 ล้านกิโลเมตร) ด้วยรถจักรยานยนต์ 35 ประเภท และถูกบรรจุชื่อเข้าสู่ Hall of Fame ของ American Motorcycle Association นับเป็นสตรีคนที่สี่ของโลกที่อยู่ใน Hall of Fame ในฐานะผู้บุกเบิกส่งเสริมการขี่จักรยานยนต์ของผู้หญิงช่วงทศวรรษที่ 1930 ส่วน Harley-Davidson สีชมพูของเธอถูกเก็บไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์ Harley-Davidson Milwaukee
ชีวิตโลดโผนและเต็มไปด้วยสีสันของเธอแสดงให้เห็นว่า Dot Robinson ได้เดินตามเส้นทางที่ตัวเองกำหนด อยู่กับความชอบจนช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต และยังทิ้งมรดกแสนสำคัญไว้ให้คนรุ่นหลังอีกด้วย
หลังจากการเกิดขึ้นของแก๊ง Motor Maids ผู้หญิงจำนวนมากที่ชื่นชอบการขี่รถจักรยานยนต์เหมือนกันได้ตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นเป็นจำนวนมาก และรู้ตัวอีกทีเครือข่ายมอเตอร์ไซค์ก็ขยายไปทั่วโลก
ทางตอนใต้ของกรุงวอชิงตันผู้คนจะเห็นแก๊งสตรีขี่บิ๊กไบค์สวมเสื้อกั๊กหนัง กางเกงเดนิมขับผ่านทิวสนอยู่บ่อยครั้ง พวกเธอมีชื่อกลุ่มว่า The Dream Roll งานรวมกลุ่มคนรักกับขี่มอเตอร์ไซค์กว่า 280 คน ในกองคาราวานเราจะเห็นรถยอดฮิตทั้ง Harley-Davidson และ Triumphs ขับเข้าไปในป่า พวกเธอจัดแคมป์ แจกเบียร์ฟรี แจกไอศกรีมกัญชา (กัญชาถูกกฎหมายในรัฐวอชิงตัน) ทำที่พักสไตล์กระโจม จัดปาร์ตี้สุดเหวี่ยงนั่งชมแสงจันทร์และดวงดาวกันจนพระอาทิตย์ขึ้น
นอกจากนี้แก๊งนักซิ่งสาวหลายอีกหลายกลุ่มในอเมริกายังขึ้นชื่อเรื่องการปรับแต่งรถจักรยานยนต์ให้มีขนาดพอเหมาะกับสรีระผู้หญิง ทั้งรถสุดคลาสสิกอย่าง Ducati Scrambler, Honda Rebel 300/500, BMW G310R และ Rod Street ของ Harley-Davidson เพื่อให้การขับขี่เป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด
เดินทางไปยังทวีปแอฟริกากันบ้าง ในประเทศเคนยาก็มีกลุ่มนักบิดหญิง ‘Inked Sisterhood’ พวกเธอเดินทางจากเมืองหลวงไนโรบีไปยังเมืองออลอยท็อกท็อก (Loitokitok) บนถนนลูกรังสุดโหดไกลถึง 170 ไมล์ (270 กิโลเมตร) หัวหน้ากลุ่ม Inked Sisterhood มักไปไหนมาไหนกับรถคู่ใจ Karizma ZMR 223cc กล่าวว่าเธอตัดสินใจออกมาตั้งกลุ่มเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากทีวีซีรีส์เรื่อง Nikita แล้วมันเท่มาก ๆ แถมพวกเธอทุกคนยังมีรอยสักอีกด้วย
ประเทศที่มีเรื่องราวของชนชั้นวรรณะเข้มข้นอย่างอินเดียก็มีกลุ่มผู้หญิงขี่บิ๊กไบค์ให้เห็นด้วยเช่นกัน พวกเธอแหวกขนบธรรมเนียมเดิม หญิงสาวกว่า 2,500 คน ก้าวออกจากบ้านมาขี่มอเตอร์ไซค์ที่รัก ไม่แคร์ว่าจะโดนมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เพราะมอเตอร์ไซค์สำหรับแก๊งสตรีอินเดียมันมีความหมายถึง ‘สัญลักษณ์ของอิสระ’ และ ‘เติมเต็มความฝัน’ การได้ขี่รถยังสร้างความสุขให้กับพวกเธอได้
Mohua Polley สมาชิกคนหนึ่งยังแซวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “ฉันรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่บนมอเตอร์ไซค์ตัวเองมากกว่าฝากชีวิตไว้กับระบบขนส่งสาธารณะ” รู้สึกเหมือนชาว UNLOCKMEN เวลาขึ้นรถเมล์หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างเลยครับ
มองกลับมาที่ประเทศไทยกันบ้าง เราพบว่ามีหญิงไทยจำนวนไม่น้อยชื่นชอบการขับขี่รถจักรยานยนต์คันใหญ่ไม่แพ้สาว ๆ ประเทศอื่น ใน Facebook จะมีเพจ Lady Bike Club ที่มีผู้ติดตามถึง 6,500 คน และกลุ่มย่อยอื่น ๆ ที่จะนัดรวมคนที่มีความชอบเหมือนกันขี่รถออกต่างจังหวัดไปพร้อมกันเป็นคาราวาน
บางคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร บางคนกลัวเรื่องความไม่ปลอดภัยถ้าต้องเดินทางร่วมกับคนแปลกหน้า บางคนคิดว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นเปลือง แต่สำหรับคนที่ชอบและรักการขี่มอเตอร์ไซค์อย่างแท้จริงอาจไม่มองอย่างนั้นและกล้าออกมาทำอะไรใหม่ ๆ เพื่อความพึงพอใจที่แสนมีความสุข
“เราไม่รู้จักกัน เราต่างเชื้อชาติ ต่างสีผิว แต่เรามีความชอบเดียวกัน”