Life

เลี้ยงแมวจรตุรกี ดูหนังโคเรเอดะ อ่านเซเปียนส์ GAP.BUMSEEKER เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตาลีบัน

By: GEESUCH August 24, 2024

ความพิเศษของช่อง GAP.BUMSEEKER คือความเป็นมนุษย์ที่มันธรรมชาติมาก-มากซะจนเมื่อได้พบกับแก๊ปตัวจริงซึ่งนั่ง Grab มาถึงสเปซของ UNLOCKMEN ในบ่ายวันทำงานที่เปรี้ยงมาก ๆ พร้อมท่าทางเดินคล่องแคล่วจับสายสะพายของกระเป๋าเดินทางคู่ใจ (ซึ่งเราเป็นคนขอให้เขาเตรียมมา) เขาดูเป็นแก๊ปที่เรารู้จักจากในคลิปที่ได้เห็นมาโดยตลอด 

จนถึงวันที่เราได้สัมภาษณ์แก๊ป หลาย ๆ คนก็ได้แทบจะรู้ทุกเรื่องของเขาไปหมดแล้วล่ะ 

ศุภกาญจน์ จริยพิเชษฐ์ / เรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากร / เรียนตรีอักษรศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ-เรียนโทเอกภูมิศาสตร์ / อายุ 26 ย่างเข้า 27 / นอนกับตาลีบัน / กลับอีหร่านเพราะว่าต้องมาง้อแฟน / เรียกตัวเองว่าเป็นคน Introvert หลังเครื่องหมาย / เราก็เชื่อว่าเด็กหนุ่มที่ผ่านโลก ก็ยังมีแง่มุมที่น่าสนใจเพื่อ UNLOCK คนอ่านของเราอยู่แน่นอน  

บทสัมภาษณ์นี้เราเลยขอแก๊ปคุยความหมายของการเดินทางที่มีระหว่างทางสำคัญกว่าปลายทาง การอยากเข้าใจมนุษย์เพราะดูหนังกับอ่านหนังสือ และการเลี้ยงแมวตุรกี (อันสุดท้ายดูไม่เกี่ยวแต่ลองอ่านก่อนนะเพราะมันเกี่ยว)  

แก๊ปบอกกับเราว่าอยู่ไทยมาจะครบหนึ่งเดือนแล้ว เอาจริงในการกลับบ้านครั้งนี้เขาไม่ค่อยได้อยู่บ้านเท่าไหร่หรอก และเหตุผลก็เดาได้ไม่ยาก แน่นอนว่าเพราะว่าเขาโดนจีบไปสัมภาษณ์ตามสื่อ ราวกับว่าทริปนี้ของ GAP.BUMSEEKER เป็นการเดินทางเพื่อให้สัมภาษณ์ให้คนได้รู้จักเขามากขึ้น ‘เด็กหนุ่มที่นอนบ้านตาลีบัน’ ใครต่างก็จดจำเขาด้วยชื่อนำหน้าแบบนี้ไปแล้ว ณ ตอนนี้

ลองนึกแล้วนึกอีก เราก็ยังคงจิตนาการไม่ออกเลยว่าคนที่เดินทางไปอยู่อีกฟากหนึ่งของโลกไม่กลับไทยเลยเป็นระยะเวลาหลายเดือน จะมีความรู้สึกแบบไหนในตอนที่กลับบ้านกันนะ และถึงแม้จะเดินทางมามากมายหลายประเทศทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะยังคงเป็นประเทศร้อนหนึ่งในใจแก๊ปเสมอ

มันคือบรรยากาศที่คุ้นเคย อากาศร้อนเหมือนเดิม เป็นความร้อนคนละแบบกับตอนที่เดินทางไปประเทศอื่นอะ พอลมร้อนชื้นตีหน้าคือแบบ “อือออ นี่แหละลมประเทศไทย” แต่จริง ๆ ผมชอบชีวิตการเดินทางมากกว่านะ เพราะรู้สึกว่ามันง่ายกว่ากับตัวเอง ชอบความท้าทาย

แก๊ปลงท้ายประโยคด้วยคำว่า “แค่นั้นแหละ” คำติดปากของเขาที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้งระหว่างการพูดคุยของเรา ดูเหมือนว่าเขาจะเลือกทำทุกสิ่งด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายที่สุด หัวใจหลักคือถ้าไม่เริ่มก็จะไม่ได้เริ่มสักที … 

เพราะว่าพาสปอร์ตไทยเดินทางได้ค่อนข้างน้อย ภารกิจในการกลับไทย (จริง ๆ) ครั้งนี้ของแก๊ปจึงเป็นการมาเดินเรื่องขอวีซ่าที่สถานทูต และนอกจากนั้นก็เป็นเรื่องของการพักผ่อน แต่ใครจะรู้ว่ามนุษย์ที่รักการเดินทางและรักความท้าทาย จะชอบใช้ชีวิตในวันที่ไม่ทำอะไรเลยขลุกตัวอยู่ในโรงหนังเพื่อผจญภัยผ่านภาพของเหล่าผู้คนในจอแทน 

ถ้าเดินทางติดต่อกันเรื่อย ๆ มันจะมีช่วงที่เหนื่อยแล้วอยากจะหาที่สบายใจในการพัก ในการเตรียมภาษา กลับมากินอะไรที่คุ้นเคย แล้วก็ส่วนใหญ่เวลาอยู่บ้าน ถ้าไม่ได้ไปเที่ยวผมก็จะขลุกอยู่แต่โรงหนัง


ผมเป็นคนชอบดูหนังมาก ๆ ดูได้ทุกแบบ ทุกสไตล์ ทุกแนว ทุกชาติ ขอแค่เป็นหนังที่ดีก็พอ

อย่าเพิ่งคิดว่าเราคุยเรื่องหนังกับแก๊ปเพียงเพราะว่าจะเอาคอนเทนต์หรือว่าอะไร เพราะจริง ๆ แล้วชีวิตของแก๊ปหนังมีส่วนช่วยให้เขาผลักดันตัวเองในการออกไปเดินทางไปเจอผู้คนด้วย เราเพิ่งดูคลิปเมืองดาร์จีลิงในอินเดียของเขาไป ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ Wes Anderson และหนังเรื่อง The Darjeeling Limited (2007) ด้วยรึเปล่านะ  

กลับมาที่คำถามที่ตอบยาก “หนังดีสำหรับแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน อะไรคือหนังที่ดีของแก๊ป ?”

พอหนังดีเราจะสามารถบอกได้เลย มันจะมีหนังแมสที่ดี แล้วก็หนังแมสที่แค่ดูโปรดักชั่น ดูโปสเตอร์ ดูรายชื่อนักแสดง หรือแม้แต่กระทั่งชื่อของผู้กำกับ เราสามารถมีภาพล่วงหน้าได้แล้วว่าหนังจะเป็นยังไง พล็อตเรื่องจะน่าสนใจมั้ย ถ้าได้ดูบ่อย ๆ นะ 

แต่นอกจากการเลือกดูหนังที่ดี มันก็มีบางทีที่ตัวเองอยากจะดูหนังขายเอนเตอร์เทนเมนท์ชิล ๆ รีแลกซ์เหมือนกัน มันแล้วแต่อารมณ์ในตอนนั้น ถ้าเอาความชอบส่วนตัวผมจะชอบหนัง Biography หรือไม่ก็หนังแนว Drama ที่เข้าไปสำรวจชีวิตคน ไปกระเทาะชีวิตจิตใจ เป็น Coming Of Age

เป็นเนิร์ดหนังแบบนี้เชื่อเลยว่าแก๊ปต้องมีหนังและผู้กำกับคนโปรดในดวงใจของตัวเองแน่ 

โห มีเยอะเลยนะครับ ถ้าหนังโปรดให้นึกในหัวไว ๆ ตอนนี้ก็คง Manchester By The Sea (2016) มันเป็นหนังที่ดูครั้งแรกก็ชอบเลย ตัวหนังไม่ได้ถึงกับตรงกับชีวิตของผม แต่หนังมันกินใจ นักแสดงหลัก Casey Affleck เขาทำให้เราเชื่อว่าใจมันไปแล้ว ถ้าหนังเก่าๆ ที่ชอบดูก็มี Paris Texas (1984) ของ Wim Wenders เพราะว่าผมชอบแนวทางการกำกับผู้กำกับคนนี้มาก

ดู Perfect Days (2023) แล้วสินะ (เราคิดกับตัวเองแล้วก็ถามแก๊ปออกไป)

เป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่ผมดูก่อนจะออกทริปเลย ชอบความง่าย ๆ สบาย ๆ มินิมอล ตื่นมาใช้ชีวิตปกติ ญี่ปุ่นก็ดูจะมีแนวคอนเซปต์การใช้ชีวิตอะไรแบบนี้ แต่ว่าถ้าหนังญี่ปุ่นผมชอบผู้กำกับ Koreeda Hirokazu มากที่สุด แนวทางชัดเจนมาก ทำแต่หนังเกี่ยวกับครอบครัว แล้วผมว่าทำถึงเกือบทุกเรื่องเลย 

โห เอาเว้ย ! เซอร์ไพรส์มาก ชอบหนังที่เรียบง่ายขัดกับการเดินทางในประเทศที่คนไม่ค่อยไปสุด ๆ อยากรู้เลยว่าทำไมถึงชอบหนังที่เรียบง่ายของโคเรเอดะ 

ถ้าเอาเป็นชอบที่สุดคือ Still Walking (2008) เพราะว่ามันตรงกับตัวเองมากหลาย ๆ อย่าง ในแง่ชีวิตครอบครัวด้วย จริง ๆ เราเจอเหตุการณ์ตรงกับ Still Walking แล้วรู้สึก Connection ดูไปก็คุ้น ๆ กับเหตุการณ์ในชีวิตที่เคยเจอ ตัวเอกมีคนสำคัญในครอบครัวเสียชีวิต อยู่ในช่วงที่เรียกว่าก่อร่างสร้างตัวแม้ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ไปแล้ว เลยยุคที่น่าจะมีอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกับลูก แต่จริง ๆ คือก็ยังไม่พร้อม ตัวเองก็ยังอาจจะยังเอาตัวไม่ค่อยรอดเท่าไหร่ แต่ก็อยากจะเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี ผมชอบชื่อเรื่องด้วย คำว่า Still Walking ก็คือยังคงดำเนินต่อ ตรงกับผมในแง่ที่ว่าชีวิตก็เดินต่อยังไงมันก็ต้องไปต่อ

แก๊ปบอกว่าเขาดูทั้ง Shoplifters (2018) และ Monster (2023) ซึ่งเป็นหนังที่อยู่ในหมวดสนุกของโคเรเอดะสำหรับตัวเอง สำหรับเราที่ติ่งแตกโคเรเอดะเหมือนกัน พอแก๊ปเลือกหนังที่ชอบที่สุดไม่ได้อยู่ในหมวดแมส ทีนี้เลยอยากรู้เลยว่าความเนิร์ดของเขา มันทำให้หนังเข้ามามีส่วนในชีวิต ทำให้อยากออกไปเที่ยวด้วยมั้ย แบบในคลิป Bruges ในเบลเยียม ที่แก๊ปพูดถึงหนังเรื่อง In Bruges (2008) แบบแทบจะเป็นการตามรอยโลเคชั่นเลย

จริง ๆ หนังก็มีส่วนเยอะนะ เพราะเวลาดูหนังที่ไม่ได้มีเซ็ตติ้งตามเมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ ผมว่ามันช่วยเปิดโลกในแง่ที่ว่า เราได้เห็น Background ในพื้นที่แต่ละพื้นที่ว่ามันมี Mood และ Tones ต่างกันยังไง มันได้เห็นในสิ่งที่ไม่ได้อยู่แค่ในไทย สภาพแวดล้อมแบบไทย ๆ ผมก็เลยดูหมดทุกสัญชาติ ทำให้รู้สึกว่าสักวันนึงก็คงจะต้องออกเดินทางบ้าง อยากไปเห็นด้วยตาตัวเอง 

การออกไปต่างประเทศอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนังโดยตรง แต่อย่างน้อยคือหนังมันก็มีส่วนหลักเลยแหละที่ทำให้เราเป็นคนนิสัยแบบนี้ อยากออกไปเห็นสิ่งต่าง ๆ อยากไปผจญภัย ไปท้าทาย อยากไปเจออะไรใหม่ ๆ ไม่ได้แค่รู้สึกว่าเรียนจบออกมาทำงาน Full-Time แล้วรีบก่อร่างสร้างตัว รีบลงหลักปักฐานให้มั่นคง ทำให้ผมก็ไปเรื่อยชิล ๆ ชีวิต


จากการพูดคุยตลอดหลายนาทีกับแก๊ป เรามีความสงสัยเรื่องของความเป็น Introvert ในตัวเขาอยู่บ้างเหมือนกัน เอาจริง ๆ คือสงสัยตั้งแต่ดูในคลิปแล้วล่ะ ว่าคนที่ชอบเดินทางและชอบพูดคุยกับผู้คนเหลือเกิน จะมีมุมอีกด้านที่เราไม่รู้ยังไงบ้าง

ผมไม่รู้จะอธิบายยังไงดี อาจจะเพราะว่ามันก็เป็นกันทุกคนแหละเวลาเรานิยามคำว่า Introvert ก็อาจจะมีภาพจำว่า “พูดไม่เก่ง ชอบหมกตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่ค่อยชอบเข้าสังคม” แต่จริง ๆ คือเราก็ทำได้ มันเหมือนกับแค่ต้องอยู่ถูกจุดถูกที่ อยู่ในวงสังคมที่ทำให้รู้สึกว่าเราพูดออกไปแล้วมันสบายใจมากกว่า บางทีเราอยู่ในสังคมที่เราไม่รู้จะพูดอะไร ไม่ได้รู้สึกมี Topic ร่วมที่น่าสนใจจะพูด เราก็อาจจะเงียบ ไม่ได้เป็นคนเปิดประเด็น

เราสามารถเป็น Introvert ในวงสังคมนึง แต่ว่าเราอาจจะเป็น Extrovert ในอีกวงสังคมนึงก็ได้ ก็เลยคิดว่าผมเป็นคนแบบนั้น อยู่กับใครสบายใจก็อาจจะพูดมากหน่อย แต่ก็ไม่ได้ถึงกับจะเป็นคนพูดมากตลอดเวลา ถ้าเจอข้างนอกปกติก็เงียบ ๆ นิ่ง ๆ ไม่ได้หวือหวาหรือว่าตะโกน ขึ้นอยู่กับวาระมากกว่า

แล้วจุดไหนที่มันทำให้แก๊ปอยากออกไปเจอโลกมาก ๆ เปลี่ยนตัวเองให้เป็น Extrovert ในที่บางแห่งของโลก คำถามยังไม่ถูกเคลียร์ได้ทั้งหมด เลยต้องขอให้แก๊ปตอบเพิ่ม

ไม่ถึงกับเป็นเหตุการณ์สำคัญ ผมแค่วางจุดหมายชีวิตหลังเรียนจบมหาลัยว่าอยากไปเที่ยวสักปีสองปีแค่นั้นแหละ ไปเที่ยวให้มันจบแล้วค่อยโฟกัสชีวิตหลังจากที่กลับมาแล้ว อาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวอย่างนึงคือผมชอบไปสุด ไม่ชอบแทงกั๊ก ถ้าไม่เอาก็ไม่เอาเลย ถ้าจะไปก็ต้องไปให้สุด จะไปเที่ยวก็ไปเลย ไม่ใช่ว่าไปเดือนสองเดือนแล้วกลับมาทำงานเพื่อหาเงินไปต่ออีกเดือนสองเดือน อันนั้นไว้ทำตอนอายุเกิน 30 ดีกว่า เป็นช่วงพักผ่อนหรือทำงานหนัก ๆ แล้วเกษียณ 

แต่ตอนนั้นผมยังมีแรง เพราะแค่ 22-23 มันยังวัยเด็กอยู่ในสายตาของผม ไม่ได้เป็นผู้ใหญ่มาก ก็เลยคิดว่าไปตอนนั้นดีกว่า รู้สึกว่าทำงานเก็บเงินตั้งแต่ตอนมหาลัยเพื่อทุ่มไปกับเที่ยว แล้วก็ไป  

อย่างที่รู้สำหรับแฟนช่องรายการ GAP.BUMSEEKER แก๊ปออกผจญภัยครั้งแรกกับอ๋อม (แฟน) โดยปักหมุดไปอยู่ประเทศตุรกี 1 ปี ทำงานรีโมทเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้ จากนั้นก็วางแผนเที่ยวรอบ ๆ ก่อนจะเข้าสู่ยุโรปประเทศที่ใช้คำว่า ‘สนองนี้ด’ ในวัยเด็กของตัวเอง แล้วพอยิ่งเที่ยวก็ยิ่งมีประสบการณ์ ก็ไม่ได้อยากเที่ยวชมความสวยงามของเมือง กินอาหารขึ้นชื่อ แต่อยากที่เจาะลึกความเป็นผู้คนให้ลึกซึ้งยิ่งกว่าผ่านประเทศที่ไม่ค่อยมีใครได้ไปกันเท่าไหร่ ออกมาเป็นโคลอมเบีย อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และอีกหลายคลิปอย่างที่เห็น

ไม่ว่าทุกคนจะไปต่างประเทศด้วยเหตุผลอะไร แต่นี่คือเหตุผลของแก๊ปและสิ่งที่เขาสนใจที่สุดเวลาไปต่างประเทศทุกครั้ง “ผู้คน”  

ผู้คนเป็น Core หลักของประเทศเลย พอ ๆ กับภาษา แล้วก็อาหารที่เวลาทำคลิปยังไงมันก็รีวิวได้อยู่แล้ว แต่ผมรู้สึกว่าผู้คนนี่แหละน่าสนใจดี เขาจะมีรีแอคกับคนต่างชาติยังไง หรือว่าเขามีมุมมองน่าสนใจยังไงในแง่ของชีวิตตัวเอง แล้วส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยเจอคนรวยหรอก ก็เจอคนหาเช้ากินค่ำปกติ ไปดูเพื่อให้รู้ว่ามันมีอะไรที่ดูจะขัดกับภาพลักษณ์รึเปล่า เพราะเวลานำเสนอผ่านสื่อหรือได้ยินมามันจะค่อนข้างเป็นข่าวที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ การก่อการร้าย หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันค่อนข้างที่จะเป็นแง่ลบ เราก็อยากจะไปรู้ว่าเขามีทัศนคติต่อตัวเขาหรือต่อประเทศของเขาเองยังไง และมีทัศนคติต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไง 

ผมไม่ได้อยากจะไปแล้วก็สรุปเหมารวมว่า สิ่งที่ผมเจอมันสามารถสรุปเหมารวมทั้งประเทศได้ เพียงแต่ผมต้องการจะไปนำเสนอว่านี่คือประสบการณ์การเดินทางที่ผมเจอ คือประสบการณ์การเดินทางที่คนท้องที่ต้อนรับผมแบบนี้ ไม่ต้องเซ็ทอัพอะไรนั่นคือพอยต์ที่ผมอยากจะทำคลิป

แต่ความสนใจในผู้คนเป็นเพราะผมดูหนังด้วยส่วนหนึ่งนะ แล้วก็อ่านหนังสือ 

จริง ๆ ตอนมัธยมปลายผมเรียนจบสายวิทย์คณิต เรียนตามเพื่อนแต่มันไม่ใช่ทางเลย ก็แค่เรียนเอาตัวรอดได้ รู้มาตั้งแต่ตอนนั้นแล้วว่าชอบสายภาษาสายสังคมมากกว่า เดี๋ยวมหาลัยก็คงไปเรียนไม่สาขาอักษรก็มนุษย์ศิลปศาสตร์ เพราะว่าสนใจในตัวมนุษย์อยู่แล้ว 

พวกเราเป็นเผ่าพันธุ์ Species ที่ค่อนข้างน่าสนใจ ในแง่ที่รู้อยู่แล้วว่าอะไรถูกอะไรผิด แต่บางทีก็อยากจะทำซ้ำอยู่ดี เหมือนกับไม่เคยเรียนจากบทเรียนทางประวัติศาสตร์เลย แล้วส่วนใหญ่มนุษย์ที่ผมประสบเจอมา 90% คือคนปกติที่มีความต้องการ เรื่องส่วนตัว เรื่องครอบครัว เรื่องพื้นฐานในชีวิตไม่ต่างอะไรกับเรา ๆ

ผมเป็นคนสนใจ Political Affairs ด้วย เรื่องความเป็นไปของโลก ประวัติศาสตร์โลก อะไรก็ได้ที่มันเกี่ยวกับสายสังคม สายภาษา เพียงแต่พอเรียนสายอักษรมันค่อนข้างหลากหลาย ไม่รู้ว่าจะจบมาทำอะไร รู้แค่ว่าเราชอบแบบนี้ ก็แค่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในแวดล้อมที่ชอบก่อน เดี๋ยวจบมาจากเรียนมหาลัยค่อยว่ากันอีกที ตอนนี้ก็ยังไม่รู้อีกเหมือนกันว่าถ้าจบจาก YouTuber ถ้าไม่เป็นสิ่งนี้แล้วจะเป็นอะไรต่อ ก็ทำไปเรื่อย ๆ ก่อน โฟกัสแค่อนาคตในระยะใกล้


“ขอคัทก่อนครับ” 

ทีมวิดีโอหันมาบอกเพราะว่ากล้องจะตัดเหมือนทุกครั้ง หลังฉากที่กล้องไม่ได้บันทึกเขาก็ยังคงเป็นแก๊ปคนที่พร้อมจะทำความรู้จักกับผู้คน ไม่ว่าเราจะชวนคุยอะไรแก๊ปจะมีสิ่งที่น่าสนใจตอบกลับมาเสมอ และเมื่อแก๊ปบอกว่าตัวเองอ่านหนังสือแบบนี้ และมีหนังสือ ‘ล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า’ เป็นเล่มในดวงใจตอนวัยเด็ก เราก็อยากรู้ว่าหนังสือมีผลต่อชีวิตส่วนตัวและการเป็นนักเดินทางของแก๊ปเหมือนที่มีกับหนังด้วยมั้ย

ผมชอบหนังสือ ‘ล่าขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า’ มาก จริง ๆ ก็ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กเลย 

ผมว่าคนเราจะเป็นยังไงมันขึ้นอยู่กับนิสัยส่วนตัวตั้งแต่เด็กด้วย อาจจะไม่ได้ 100% แต่อย่างน้อยลึก ๆ มันทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ การปลูกฝังแล้วก็การเติบโตในแต่ละวัยมันหล่อหลอมให้เราเป็นเรา ยกเว้นเสียว่าจะเจอจุดพลิกผันในชีวิตที่มันสวิทช์ทันที ทำให้เราไม่สามารถเป็นคนแบบนั้นได้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องครอบครัว แต่ผมไม่ได้เจอหนักขนาดนั้น หรือถึงเจอผมก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันกระทบกับชีวิตส่วนตัวในแง่นิสัย ผมว่านิสัยส่วนตัวของผมมันเริ่มหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็ก ชอบอ่านหนังสือ ชอบอะไรที่เกี่ยวกับสังคม ชอบอะไรที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 

ตอนเด็ก ๆ เวลาไปเที่ยวห้างวันอาทิตย์แม่จะชอบไปช็อปปิ้งซื้อของกิน แล้วก็ให้ผมรออยู่ที่ร้านหนังสือนานมีบุ๊คส์ ด้วยความที่ไม่รู้จะทำอะไร ตอนนั้นยังเด็กเห็นการ์ตูนในร้านเราก็หยิบอ่าน พออ่านแล้วชอบนิดนึงก็บอกแม่ซื้อให้หน่อย นอกจากนานมีบุ๊คส์ก็มีอีกสำนักพิมพ์ที่เขาชอบทำหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของบุคคลสำคัญของโลกเป็นตัวการ์ตูนด้วย (แก๊ปบอกว่าลืมชื่อ) ก็ซื้อมาเพียบเลย แล้วพอโตขึ้นก็เลิก อ่าน Non-Fiction ที่ไม่มีตัวการ์ตูนแทน

แต่ถ้าให้กลับไปอ่านหนังสือการ์ตูนอีกรอบก็อ่านได้นะ แค่โตมามีเรื่องทำเยอะมาก หลัก ๆ ถ้าเป็นหนังสือ Non-Fiction ชุดโปรดก็คือ Sapiens แต่มันเป็นช่วงที่อ่านหนังสือตอนเรียนมหาลัยแล้ว ผมจำได้ว่าตอนเรียนผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือเท่าไหร่ เพราะก็ต้องอ่านแต่หนังสือเรียน แล้วก็จะมีของสำนักพิมพ์ Bookscape บ้าง แล้วก็สำนักพิมพ์ยิปซีผมก็ซื้อมาอ่านเยอะเหมือนกัน 

แล้วก็จะมีซื้อสารานุกรมประวัติศาสตร์ปกแข็งซื้อที่ในงานหนังสือ เขาจะเรียงเป็นชุดตัวอักษร A – D เป็นชื่อคนหรือไม่ก็ชื่อเหตุการณ์ มันจะมีแต่ตัวหนังสือมีภาพนิดเดียว พอเรียนจบก็ไม่ค่อยมีเวลาอ่าน แต่ถ้าชอบจริง ๆ แล้วก็ยังอ่านอยู่ถ้าอ่านได้ก็คือหนังสือในชุด Sapiens ที่จะมี Homo Deus กับ 21 Lessons 

แต่จริง ๆ ผมว่าอ่าน Sapiens เรื่องเดียวก็คลุมละ โห จริง ๆ Sapiens นี่ผมว่า Woke นะ แล้วก็ Woke ในแง่ที่ว่า Woke กับตัวเองด้วย เหมือนกับไม่ได้เลือกฝั่ง จิกกัดในแง่เชิงวิชาการทั้งฝั่งซ้ายแล้วก็ฝั่งขวา แล้วก็เรื่องมนุษย์ด้วย ไม่ว่าฝั่งไหนอ่านก็คือกระเทือน รู้สึกว่าจะมี Feedback กลับมาเยอะ ผมไปอ่านตามงานวิจารณ์เขาบอกว่าคนเขียน Yuval Noah Harari ด้วยความที่เขาเป็นยิวก็เลยมีเรื่องโดนด่าว่าเป็น Pretentious (อวดรู้) ค่อนข้างจะยกยอปอปั้นตัวเองว่าเป็นผู้รู้ ทำมาเป็นเข้าใจมนุษย์ซะทุกอย่าง เพราะว่าเขาเขียนวิจารณ์แทบทุกอย่างเลย เหมือนเขาพยายามถอยออกมาจากวงสังคมโลก ทั้งเรื่องของศาสนา สังคม รัฐบาล แล้วพยายามเขียนเหมือนเป็นผู้รู้ตีแผ่ให้ทุกคนฉุกคิด ผมชอบมาก เพราะว่ามันตรงกับสิ่งที่ผมคิดในหัวเลย แต่แค่ไม่มีใครกล้าพูดออกมา

ว่าด้วยความเห็นต่างของความเป็นมนุษย์ ก็แสดงว่าถ้า Yuval Noah Harari เขาเขียนออกมาแล้วความคิดไม่ตรงกับแก๊ปจะทำให้แก๊ปไม่ชอบเขาไปด้วยรึเปล่า

ก็เฉย ๆ ครับ เข้าใจได้ เพราะว่ามันก็มีนักเขียนหลายคนที่ผมไม่ได้ชอบงานเขียนของเขา เราดูไปที่ตัวผลงานดีกว่า ถ้าผมอ่านแล้วรู้สึกไม่ถูกใจก็แค่หยุดอ่าน แต่ไม่ได้ถึงกับจะไม่ชอบหรือเกลียดอะไร เพราะว่าไม่ได้ปฏิเสธ เปิดใจหมด ผมไม่ค่อยเกลียดใครด้วย พยายามตัดสินคนที่แต่ละเหตุการณ์ ไม่ได้อยากมีไบแอส ต่อให้เขาอาจจะมีเบื้องหลังที่อาจจะไม่ตรงกับความคิดของเรา อันนี้พูดถึงในแง่การเมืองหรือหลาย ๆ เรื่องด้วยนะ


“ผมอยากล่องเรือโจรสลัดแต่มันใช้เงินเยอะ” 

ถึงแม้ว่าความฝันจะเป็นสิ่งที่ใครต่อใครต่างถามแก๊ปอยู่เสมอ แต่เขาก็ยังคงตอบมันออกมาด้วยคำตอบเดิมด้วยความหนักแน่น และเชื่อว่าสิ่งนี้จะสามารถอยู่บนความจริงได้ สิ่งนี้แสดงว่าเด็กหนุ่มในวัยอายุเข้าใกล้ 27 เชื่อมั่นว่านี่คือฝันจริง ๆ ที่เขาอยากทำให้ได้

สิ่งนี้อยู่บนความจริงได้นะ ผมหาข้อมูลแล้วก็เห็นคนไปเหมือนกัน ล่องเรือในสไตล์โจรสลัดเป็นการล่องเรือผ่าน .. น่าจะเป็นช่องแคบเดรกมั้ง ตรงทางใต้ของชิลีเพื่อจะไปแอนตาร์กติกา ซึ่งสมัยก่อนตรงนี้เรือจะอับปางบ่อย แต่ปัจจุบันเรือพัฒนาพอสมควรแล้ว แต่ทรงเรือมันยังเป็นเรือไม้อยู่ เหมือน Pirates of the Caribbean (2003) เลย ค่อนข้างปลอดภัยแต่ใช้เงินเยอะ หูววว หลายแสนนะ  เท่าที่ผมหาข้อมูลมาเขาก็จะเปิดเป็นรอบ ๆ ก็มีล่องไปกาลาปากอสบ้าง หรือจะล่องมาแอนตาร์กติกาบ้าง มีบริษัททำอยู่ 

ถ้าการเดินทางด้วยเรือเป็นความฝันสูงสุด และแก๊ปเดินทางมาแล้วแทบจะทุกแบบ เราก็อยากรู้ว่าเขาอินกับการเดินทางด้วยขนส่งแบบไหนมากที่สุด

‘เครื่องบิน’ ตัดไปเลย เพราะว่ามันง่ายไป ถ้าอินที่สุดจะบอกว่า ‘รถไฟ’ ก็ได้นะ 

เพียงแต่มันต้องแยกก่อน ถ้าเดินทางแบบไม่ Vlog ไม่ถือกล้องอาจจะชอบรถไฟมากสุด เพราะว่ามันเป็นการเดินทางที่สบายในระดับนึงแล้วได้เห็นผู้คนท้องที่มากที่สุดด้วย บนเครื่องบินส่วนใหญ่จะเจอแต่นักท่องเที่ยว แล้วเราก็ยังได้เอ็นจอยกับวิวข้างทาง ได้เห็นอะไรที่แตกต่าง 

เพียงแต่ถ้าทำคลิปอยู่แต่บนรถไฟมันจะไม่มีการเปลี่ยนแบล็คกราวด์แล้วมันอาจจะดูน่าเบื่อไปหน่อย ก็เลยคิดว่าต้องบาลานซ์หน่อย แต่ส่วนตัวก็ชอบรถไฟด้วย อะไรก็ได้ที่ทำให้เราได้นั่งติดหน้าต่าง ใช้คำนี้ดีกว่า เพราะจะดูวิว แล้วก็เผื่อเวลาทำคลิปจะได้ยื่นกล้องออกไปให้ทุกคนเห็น 


Wonder

ตอนที่เราติดต่อแก๊ปเพื่อขอสัมภาษณ์รูปไลน์ของแก๊ปเป็นโปรไฟล์แมวส้มหนึ่งตัวนั่งเท่ ๆ อยู่ “คุณคือทาสแมวใช่หรือไม่” และเมื่อเราถามแก๊ปเรื่องนี้ แก๊ปบอกว่าเขากับอ๋อมรับแมวมาเลี้ยง 1 ตัวจากประเทศตุรกี แมวที่ชื่อว่า Wonder และน้องคือตัวที่อยู่ในโปรไฟล์ตัวนั้นล่ะ สิ่งนี้คงจะเกี่ยวข้องกับเวทมนตร์ในการเดินทางที่ว่า ถ้าแก๊ปไม่ได้ออกไปข้างนอก ก็คงจะไม่ได้เจอสิ่งที่ทำให้ตัวเองรักขนาดนี้ 

ตอนที่ไปต่างประเทศครั้งแรกอยู่ตุรกีกับอ๋อม 1 ปี ที่นั่นแมวจรเยอะ ปกติเรากับอ๋อมถ้าว่างก็ให้อาหารแมวปกติ แต่มันจะมีแมวส้มอยู่ตัวนึง มันถูกชะตาในแง่ที่ว่าเราไม่ได้แค่เลือกเขา แต่มันเหมือนเขาเลือกเรา 

เจอกับแมวตัวนี้ครั้งแรกข้างล่างของอพาร์ทเม้นต์ แต่ว่าวันถัด ๆ มาพอเปิดประตูระเบียงค้างไว้เพื่อจะไปตากผ้า อยู่ ๆ มันวิ่งมาจากไหนไม่รู้เข้าห้องมาเลย ผมกับอ๋อมก็ชอบแมวอยู่แล้วไง รู้สึกมันไม่ได้เป็นแค่ครั้งแรกที่เจอ งั้นเดี๋ยวให้ที่นอนให้ข้าวก่อนแล้วกัน สุดท้ายคือมันไม่ไปไหนเลย 

แต่มีช่วงนึงที่มันออกไปแล้วก็หายไปเลยประมาณสามสัปดาห์ ผมกับอ๋อมก็ตกใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับมันรึเปล่า แต่จริง ๆ คือมันติดสัตว์ ตอนนั้นแพนิกเลยว่าจะเป็นอะไรมั้ย พอเข้าสัปดาห์ที่สามก็นึกว่าจบแล้วล่ะ สุดท้าย เปิดประตูระเบียงไว้เหมือนเดิม อยู่ ๆ วันดีคืนดีมันก็วิ่งเข้ามาปกติ พร้อมกับเด็กในท้องอีกห้าตัว ผมกับอ๋อมก็เลี้ยงปล่อยให้มันคลอดไป เลี้ยงดูอยู่จนลูกมันโตซักประมาณนึง ก็เริ่มประกาศหาคนตุรกีมารับไปเลี้ยง ตอนนั้นไปอยู่ตุรกีผมไม่ได้แค่ทำฟรีวีซ่า แต่ทำ Resident Permit ด้วย เลยพอจะรู้จักคนอยู่บ้าง พอจะได้ภาษาตุรกีนิดหน่อย ก็รู้ว่าช่องทางไหนที่จะต้องโพสต์เพื่อหาคนมาเลี้ยง พอเคลียร์เรื่องลูกเรียบร้อย ก็เหลือแต่ตัวแม่นี่แหละ เลยคุยกับอ๋อมว่าเดี๋ยวเอากลับมาไทยดีกว่า เพราะเขาอุตส่าห์เลือกเราแล้ว 

ก็เลยพาไปทำหมัน ทำพาสปอร์ตแมว บินบนเครื่องจากตุรกีมาไทยใช้เวลาประมาณสิบกว่าชั่วโมง มันก็ต้องเตรียมความพร้อมด้วย พาไปฉีดกึ่ง ๆ ยานอนหลับเพราะไม่งั้นก็ขึ้นบินไม่ได้ ไม่ได้อยากให้ยานอนหลับเต็มตัวกลัวว่ามันจะเป็นอันตรายอะไรกับเขาด้วย แฟนก็จัดการทำทุกอย่างจนบินกลับไทย พอถึงไทยเสร็จปุ๊บก็บินต่อจากกรุงเทพไปหาดใหญ่เพราะว่าบ้านอ๋อมอยู่ที่นั่น ตอนนี้ก็มีชีวิตปกติสุขภาพแข็งแรงอยู่ที่หาดใหญ่ 

Wonder ดูบอล กับ แก๊ป

ผมตั้งชื่อว่า Wonder แต่ตอนอยู่ตุรกีคนที่นั่นเรียกว่า ‘ซารึโป๊ะโปะ’ เป็นภาษาตุรกีแปลว่า ‘ไอ้ตูดส้ม’ เลี้ยงปกติแบบแมวไทยเลย เวลาเรียกก็ใช้ภาษาไทย “Wonder มานี่ ๆ” แต่มันเลือกกินนะ อาหารดี ๆ ไม่ค่อยกิน ชอบไปแย่งอาหารแมวตัวอื่นกิน ที่บ้านแฟนมีแมวอีกตัวนึงพอดี


ช่อง GAP.BUMSEEKER ใช้เวลาในการทำแต่ละคลิปกี่วัน แล้วเวลาที่แก๊ปไปต่างประเทศมีจุดประสงค์เดียวคือเพื่อไปทำคลิปเลยรึเปล่า หรือจริง ๆ แล้ว มีแบ่งหมวดหมู่การไปเที่ยวตามจุดประสงค์ / ไปเพื่อถ่ายคลิป / ไปเพื่อพักผ่อน / หรือไปเพื่ออะไรบางอย่าง

ส่วนใหญ่ก็รวมกันหมดเลยในทริปเดียว เพราะว่าเวลาออกไปทำคลิป แล้วถ้าผมรู้สึกสะดวกใจที่จะพักตรงไหนนาน ๆ รู้สึกชอบก็แค่อยู่นานเพื่อจะพักผ่อนด้วย ไม่ได้ถึงกับว่าเดี๋ยวออกทริปนี้เพื่อไปทำคลิปยาว ๆ โดยที่ไม่ได้พักเลย เวลาไปก็คือไปเลยจนเรารู้สึกว่าถึงเวลา Move On ย้ายเมือง ย้ายประเทศ ก็แค่ไป แต่ถ้าพอไปถึงเมืองไหนแล้วไม่ชอบ ก็อยู่แค่แปปเดียวแล้วก็ย้ายไป แพลนยืดหยุ่นมาก ๆ รู้แค่ว่าจะไปประเทศไหน จะเข้าออกยังไงแค่นั้น แล้วเดี๋ยวระหว่างทางก็ค่อยมาดูอีกทีว่าจะเข้าออกได้ตามแพลนมั้ย จะต้องมีแพลน B รึเปล่า

ถ้าจำไม่ผิดตอนที่ไปจีนกับปากีสถานตอนแรกกะจะอยู่แค่สิบกว่าวันตามแพลน เพราะว่าอยากจะไปให้ถึงยุโรปไว ๆ เดี๋ยววีซ่า Schengen Agreement หมดก่อน แต่สุดท้ายก็อยู่ครบวีซ่าสามสิบวัน เพราะว่าผมชอบจีนอยู่แล้ว มันหาของกินง่าย เหมือนได้ทริปพักผ่อนด้วย ธรรมชาติสวยเยอะ ปากีสถานก็เหมือนกันอยู่เต็มเลยสามสิบวัน มีอัฟกานิสถานกับอิหร่านนี่แหละที่อยู่ไม่ครบ เพราะว่าปัญหาเรื่อง Wi-Fi แล้วก็หลายอย่าง

วันพักผ่อนนอกการถ่ายคลิปของช่อง GAP.BUMSEEKER ทำอะไรบ้าง

อย่างแรกคือนอน เพราะว่าพอเวลาไปถ่ายแล้วกลับมาห้องมันต้องตัดต่อแบบเกือบจะ Real Time เลย ถ้าทุกอย่างพร้อมนะ แล้วก็ทำซับ-ซึ่งเป็นพาร์ทที่ผมรู้สึกเหนื่อยมาก ๆ รู้สึกจำเจ ต้องมานั่งอยู่หน้าจอคอมแล้วก็เลื่อน Manual ทำซับนี่ใช้เวลาประมาณสองวันเลย 

เพราะฉะนั้นวันที่พักจริง ๆ คือพัก เต็มที่ก็แค่เลื่อนมือถือ ตอบคอมเม้นต์ เช็คข่าวบอล เช็คข่าวหนัง ทำทุกอย่างเหมือนอยู่ที่ไทย เพียงแต่แค่อยู่ต่างประเทศ ออกไปหาข้าวกิน ถ้าขี้เกียจออกไปก็สั่ง เวลาพักผ่อนส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยออกไปข้างนอกเท่าไหร่ มันเหนื่อย มันหมายถึงการเดินทางอยู่ดี ถ้าออกไปก็แค่ในระยะที่แบบเดินใกล้ ๆ แค่นั้นพอ 

ยกเว้นทริปที่ไปกับอ๋อม วันพักบางทีอาจจะไปซ้ำตามรอยเดิมที่ไปถ่ายมาแล้ว เอาที่อ๋อมมันชอบว่ามันจะอยู่ตรงไหนนาน ๆ แต่บางที่มันก็กลับไปซ้ำไม่ได้ อย่างสมมติถ้าไปมาชูปิกชูก็ไปกับอ๋อมที่อัดคลิปไปด้วย แต่ถ้าจะให้กลับไปซ้ำมันกลับไม่ได้ เพราะมันมันไกลมาก ก็เที่ยวด้วย ผจญภัยด้วย พักผ่อนด้วยในทีเดียวไปเลย

แก๊ปเคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองเปลี่ยนไดเรกชั่นการทำคลิป จากการท่องเที่ยวเพื่อบันทึกการเดินทาง สู่การท่องเที่ยวเพื่อคนอื่น แต่สิ่งนี้แลกมาด้วยการความโดดเดี่ยวที่ต้องไปเองคนเดียวอยู่บ้างเหมือนกัน มาฟังแก๊ปเล่าถึงสิ่งนี้กัน

เอาจริงคลิปช่วงแรกกับคลิปของตอนนี้มันต่างกันในแง่ที่ว่า ตอนแรกสุดผมอยากจะทำคลิปเพื่อแค่บันทึกเอาไว้เองดูเล่น ๆ กับอ๋อม แล้วพอเที่ยวไปสักพัก ก็มีความคิดที่ว่าหรือเราจะทำคลิปเพื่อดึงความสนใจผู้คนมากขึ้น เลือก Topic ที่น่าสนใจมากขึ้น ให้มี Engagement มากขึ้น จะได้ถอนทุนเพราะไปเที่ยวมันใช้เงินเยอะอยู่แล้ว เลยคิดว่าทำยังไงดีเพื่อจะถอนทุนคืนมากขึ้น ก็แค่ต้องไปเที่ยวในประเทศที่รู้สึกว่าไม่ได้ไปเพื่อตัวเอง แต่ไปเพื่อคนอื่นมากขึ้นในแง่ที่ว่าอาจจะมีคนอื่นอยากดูมั้ย อาจจะเลือก Topic ในประเทศที่จะไปว่าเผื่อคนจะสนใจดูในแง่นี้มั้ยแล้วก็ไปมากขึ้น 

เราขอไทม์ไลน์แก๊ปจากตอนแรกพี่ไปกับอ๋อมเป็นหลัก จนจุดที่แก๊ปไปคนเดียวมันคือตอนไหน

ประเทศจอร์แดนหลังจากกลับจากตุรกี จริง ๆ คือมันก็ยังเป็นประเทศที่อ๋อมไปด้วยได้ เพียงแต่หลังจากนั้นงานของอ๋อมมันยากที่จะไปด้วยกัน แม้ว่างานของแฟนผมจะทำที่ไหนก็ได้บนโลก แต่มันมีตารางเวลาชัดเจนก็เลยไปเที่ยวด้วยกันไม่ค่อยได้เท่าไหร่ บางที่ที่มันอันตรายเกินไปหรือมันเสี่ยงเกินไปผมก็ไปคนเดียวดีกว่า อันนี้เป็นอีกเหตุผลนึงด้วยนะ จริง ๆ ก็อยากให้มันมาด้วยแหละ อะไรที่เราเห็นผ่านหน้าจอด้วยสายตาตัวเอง เราโชว์ให้ทุกคนดู เราก็อยากให้มันเห็นด้วยกันผ่านหน้างานไปเลย

การเที่ยวเพื่อคนอื่นมันไม่ได้ทำให้ถ่ายคลิปยากมากขึ้น แค่ต้องเปลี่ยนสไตล์การพูดตัวเอง เพราะว่าช่วงแรก ๆ ที่ผมทำยังเขินกล้องอยู่ มันจะต้องหันมาเล่นกับกล้อง ต้องมาสื่อสารกับกล้องมากขึ้น เหมือนกับว่าเราไม่ได้คุยกับกล้องแต่เหมือนกับเราคุยกับคนดูผ่านกล้อง เราต้องทำแบบนั้น ซึ่งมันก็ดีในแง่ที่ว่ามันพัฒนาตัวเองให้เป็นคนมีความมั่นใจในการพูดมากขึ้น จากที่แค่เขิน ๆ กล้อง เหนียมอายเกินไป กับพอเราตัดต่อเองด้วยเรารู้ว่าอันนี้เราพัฒนาตัวเองได้นะ เราต้องหันมาพูดจังหวะนี้นะ 

การบาลานซ์ระหว่างตัวตนของ ‘แก๊ป’ กับตัวตน ‘หน้ากล้อง’ พอเปลี่ยน Mindset ว่าต้องเป็นคนที่พูดหน้ากล้องมากขึ้น แก๊ปต้องเปลี่ยนตัวเองเยอะแค่ไหน

ไม่ถึงกับต้องบาลานซ์นะ มันเหมือนกับเอาสิ่งที่เป็นตัวเองอยู่แล้วเวลาอยู่ใกล้คนรอบตัวออกมาให้คนดูเห็นมากขึ้น ก็แค่เป็นตัวเอง เพียงแต่ช่วงที่ทำแรก ๆ พอมาทำผ่านกล้องมันไม่ใช่ตัวเองด้วยซ้ำ ฝืน เขิน มันก็เลยทำได้ไม่สุด ผมก็เลยคิดว่างั้นก็ช่างมัน เป็นตัวเองเวลาพูดกับอ๋อมนั่นแหละ แค่อาจจะต้องเปลี่ยน Switch โทนภาษานิดนึง เวลาอยู่กับคนใกล้ตัวกับเพื่อนสนิทอาจจะมีพูดคำหยาบ กูมึง ใช่มั้ย แต่พอพูดผ่านหน้ากล้องผมพยายามอยากจะให้มันดูทางการนิดนึง ไม่ถึงกับทางการมากแต่แค่ไม่ได้อยากให้มันหยาบ ถ้าหยาบก็ให้มันมีนิดนึงแซมมาบ้าง ไม่ได้อยากให้เป็นภาพลักษณ์ว่าเป็นคนติดพูดคำหยาบเฉย ๆ

มนุษย์ที่ผจญภัยด้วยตัวเองได้อย่างคล่องแคล่วอย่างแก๊ป แต่ว่าเริ่มต้นมาจากการเดินทางกับแฟนเพื่อบันทึกความทรงจำ ถ้าให้เลือกได้เขาอยากจะดีไซน์ชีวิตการเดินทางแบบคนเดียวหรือไปกับใครสักคน

เลือกไปกับอ๋อมนะ ผมเป็นคนชอบเดินทาง ไม่ได้บอกว่าไม่ชอบเดินทางคนเดียว เดินทางคนเดียวมันมีข้อดีเยอะกว่าเดินทางสองคน แต่ไปสองคนมันได้สบายใจกว่า อะไรหลาย ๆ อย่างที่เราเหนื่อย เราก็จะมีคนคอยดูแล หรืออะไรที่เราอยากจะให้เขาเห็นตอนนั้นเขาก็เห็นกับเราตอนนั้น ผมเป็นคนที่รู้สึกว่าเราทำทุกอย่างในทุกวันนี้ได้เพราะว่ามีคนรอบตัวคอยสนับสนุน โดยเฉพาะอ๋อมแล้วก็แม่ ทำทุกอย่างได้เพราะต่อให้รู้ว่าไปเที่ยวคนเดียวกลับมาก็ยังมีเขาอยู่คอยซัพพอร์ต มันก็เลยรู้สึกว่าดีกว่าถ้าจะให้เขาไปด้วยกัน 


บทสนทนาระหว่างเราล่วงเลยจากช่วงเวลาที่แดดเปรี้ยงในตอนเช้า จู่ ๆ ฟ้าก็มืดครึ้มและฝนตกลงมาอย่างรุนแรง ฟ้าที่แล่บทำให้เราคิดถึง Topic เรื่องความกลัวขึ้นมา เออ พอแก๊ปเป็นมนุษย์รีเสิร์ชเพื่อท่องเที่ยวด้วยแล้ว เพราะเขาทำข้อมูลเป็นอย่างดีรึเปล่านะเลยทำให้รับกับสภาพที่จะเจอจริง ๆ หน้างานได้ เราเริ่มต้นขอรู้ว่ามันมีประเทศที่เขาศึกษาแล้วพบว่าพอไปมันไม่ตรง Ref. อยู่บ้างมั้ย

โห นึกยากอ่ะ เพราะประเทศส่วนใหญ่มันตรงหมดเลย ‘ปากีสถาน’ แล้วกัน คือประเทศอัฟกานิสถานเนี่ยอยู่แล้วแหละ ภาพลักษณ์มันดูน่ากลัว ซึ่งหน้างานจริง ๆ ผมว่าผมไม่ได้กลัว เพียงแต่ปากีสถานจะมี Twist ค่อนข้างเยอะ เพราะว่าภาพลักษณ์ค่อนข้างจะไม่ดีในแง่ผ่านสื่อ ข่าวไม่ดีเพียบ แต่พอหน้างานจริงใช้ชีวิตปกติมาก หลาย ๆ ที่เหมือนผมเดินอยู่ในอินเดียหรือไม่ก็ในกรุงเทพปกติเลย 

เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้สึกเหมือนเดินแถว ๆ บ้าน มันก็น่าจะปลอดภัยในระดับนึง ไม่ได้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อยเหมือนที่เห็นผ่านสื่อเวลาเกิดเหตุก่อการร้าย หรือว่าเหตุความไม่สงบ มันเลยต่างพอสมควร ปากีสถานจริง ๆ มีโซนที่พัฒนาแล้วด้วยซ้ำนะ ผมไปถ่ายมาแล้วด้วยกับเพื่อน เพียงแต่กล้องมันตกน้ำ แล้วผมก็เลยกู้ข้อมูลจาก ตัว SD Card เก่าไม่ได้ มันเป็นโซนที่เรียกว่า Bahria Town ตรงเมือง Lahore เหมือนดูไบทุกอย่าง ผมอยากจะนำเสนอด้านนั้นมาก ๆ 

เราอยากจะไปเที่ยวที่ไหนหรืออยากจะนำเสนอตรงไหนมันมีทุกด้านจริง ๆ ผมก็เลยรู้สึกว่าปากีสถานอาจจะไม่ตรงเรฟมากที่สุด เพราะว่าเวลาไปหาข้อมูลส่วนใหญ่ทั้งข้อมูลรีวิวไทยเขาบอกว่าประเทศปากีสถานไปเองไม่ได้ต้องใช้ไกด์ โดยเฉพาะปากีสถานเหนือเพราะว่ามันอันตราย แต่จริง ๆ ผมไม่ได้รู้สึกอันตรายเลย มันแค่เดินทางลำบากเฉย ๆ ลัดเลาะภูเขาสิบกว่าชั่วโมง แต่รู้สึกปกติมาก ๆ

ผมพยายามอธิบายในหลาย ๆ คลิปว่าความกลัวของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันด้วย ก็เลยอยากให้ทำความเข้าใจในแง่นี้ เวลาที่ผมบอกว่าผมไม่ได้รู้สึกกลัวหรืออันตรายอะไรในบางที่ มันไม่ได้น่ากลัวจริง ๆ มันขึ้นอยู่กับผู้คนที่ผมเจอด้วยแหละ ถ้าเขาทำให้ผมรู้สึกสบายใจ ถ้าเขายิ้มแย้มหรือว่าไม่ได้น่ากลัวไม่ได้น่าเกรงขามอะไร เราก็จะรู้สึกชิล ปรับตัวได้ง่าย ส่วนนึงด้วยที่ผมเจอมาคือคนปากีสถานค่อนข้างไนซ์แล้วก็เฟรนด์ลี่แทบจะทุกพื้นที่เลยที่ไปมาตั้งแต่ตอนเหนือ ตอนกลาง รวมถึงเมืองที่แม้แต่ใกล้ ๆ ชายแดนอัฟกานิสถาน ก็ปกติ แม้ว่าหลายคนจะเตือนว่าเมืองแถวชายแดนอัฟกานิสถานน่ากลัวนะ

ถ้าเอาที่พอจะรู้สึกกลัวจริง ๆ ก็น่าจะเป็นโซนอเมริกาใต้ ก่อนไปอเมริกาใต้หรือแม้แต่กระทั่งโคลอมเบียผมมีภาพในหัวว่าผมโดนแน่ หน้าติ๋ม ๆ ตัวเล็ก เดินถือกล้องริมถนน แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ ก็เลยไม่กลัว แต่ถ้ากลับไปอีกรอบนึงถามว่าอาจจะโดนมั้ย มันก็อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะว่ามันเป็นสัดส่วนที่เกิดขึ้นได้ง่าย เวลาเดินตามท้องถนนอเมริกาใต้มันค่อนข้างจะอันตรายในแง่ฉกชิง ปล้นจี้ หรือแม้แต่ถ้าเราขัดขืนก็ยิงทิ้งได้เลย เพราะเขาไม่ได้สนใจเท่าไหร่ว่าคุณจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนพื้นที่ จะนักท่องเที่ยวหรือคนท้องที่คือกูอยากได้ทรัพย์สินก็จะเอา 

แล้วอเมริกาใต้มันก็มีเรื่องของแกงค์ค้ายาเยอะ เพียงแต่เขาก็จะไม่มายุ่งอะไรกับนักท่องเที่ยวหรอก แต่ถ้าเราไปอยู่ผิดที่ผิดเวลาจริง ๆ โดยเฉพาะผมถือกล้องด้วยเนี่ย ก็อาจจะโดนได้บ้าง เพราะว่าส่วนใหญ่เวลาผมไปทำคอนเทนต์ในอเมริกาใต้ก็จะไปในโซน ‘สลัม’ เพราะว่ามันน่าสนใจกว่า ผู้คนเยอะ แล้วก็มีหลายที่เปลี่ยนจากสลัมเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เพราะว่าสถานที่ท่องเที่ยวจริง ๆ ในอเมริกาใต้ก็คล้าย ๆ ยุโรป

แล้วก็ทริปเปรูด้วยที่ไปเดินตลาด Iquitos ที่แอมะซอน ตรงนั้นมันก็เป็นโซนที่น่ากลัว ตอนเช้าคนเยอะเลยไม่กลัวมาก คนในโฮสเทลที่ผมอยู่ที่เปรูเขาก็แนะนำว่าให้ผมไปตลาด Iquitos ตอนเช้าจะปลอดภัยกว่าถ้าจะไปถือกล้องนะ ผมจำได้เลยว่าตอนหลังสี่โมงที่มาถึงวันแรก โอ้โห โคตรน่ากลัวเลย มันเป็นเมืองที่มีภาพในอุดมคติว่า นี่แหละ ถ้าเป็นพวกแกงค์ค้ายาหรือเด็กแว้นซ์จะอยู่จะออกมาหากินกัน ก็เลยเลือก Timing ที่จะไปถ่ายด้วย น่าจะเป็นโซนอเมริกาใต้แหละ ถ้าจะเอาพูดถึงความน่ากลัวนะ แต่ผมถือคติที่ว่าถ้าผมกลัวผมคงไม่ไปแต่แรก ผมรู้สึกว่าพอผมคิดว่าถ้าผมไปแล้วผมจะทำคลิปด้วยแล้วถ้าผมกลัว แล้วจะไปทำไมให้มันดูกลัว สุดท้ายเดี๋ยวมันก็จะมี Feedback ว่ามันมีที่สบาย ๆ ให้เที่ยวทำไมไม่ไป แล้วจะไปที่กลัว ๆ ให้มันอันตรายทำไม 

แสดงว่ามีประเทศที่ถูกตัดออกจากตัวเลือกเพราะว่ามันน่ากลัว

ก็มีสิ น่าจะเป็นประเทศพวกที่กำลังเกิดสงครามอยู่ ณ ปัจจุบัน ถ้าจะไปจริง ๆ คือหลังสงคราม เป็น Post War ดีกว่า ไปดูเศษซาก ไปดูบาดแผล ไปดูตึก แต่ไม่ได้พาตัวเองไปอยู่ในสภาวะสงครามจริง ๆ เพราะฉะนั้นใครหลายคนที่เชียร์ให้ไปปาเลสไตน์ / ยูเครน / อิสราเอล พักก่อน ไม่ใช่นักข่าวภาคสนามขนาดนั้น ต้องบาลานซ์ความเสี่ยงด้วย เพราะว่าถ้าไปแล้วเอาตัวรอดเองออกมาไม่ได้ หรือว่าถ้าไปแล้วมันเดือดร้อนคนอื่น เดือดร้อนสถานทูตคงไม่ไป


อีกหนึ่งจุดเด่นของแก๊ปที่คนดูน่าจะรู้สึกเหมือนกัน และเราเรียกสิ่งนี้ว่า “การมองคนเก่ง” ซึ่งทำให้หลาย ๆ การผจญภัยจากคลิปของแก๊ปมักจะเจอคนที่คอยช่วยเหลือ หรือกระทั่งเอ็นดูต้อนรับเขาอย่างดีเสมอ สุดยอดสกิลที่เราไม่แน่ใจว่าแก๊ปมีวิธีใช้ยังไง

ถ้าเอาเรื่องมองคน ผมไม่สามารถตัดสินเขาได้ตั้งแต่แว้บแรกเห็น คือโอเคแหละ ในแง่นึงมันจะมีออร่าบอก เวลาเราเดินมาคือรู้ว่ายี่ห้อคนนี้คือจะดีหรือไม่ดี เพียงแต่มันเหมือนเป็นการ Pre-Judge ล่วงหน้าไปแล้วว่าจะเป็นแบบนั้น ซึ่งมันจะทำให้เรามีธงในใจ มีอีโก้ในใจ ข้อดีก็คือมันทำให้เราป้องกันตัวได้ถ้าเขาเป็นคนไม่ดีจริง ๆ 

เพียงแต่ผมถือคติว่าต่อให้เขาดีหรือไม่ดีชผมจะพยายามพูดแบบ Be Nice ไปก่อน พูดดี ๆ ทุกอย่าง พยายามทำให้เขารู้สึกสบายใจในพื้นที่ของเขา เพราะว่าเราเป็นแขก เขากำลังอยู่ในพื้นที่ของเขา ในเขตประเทศของเขา เพราะฉะนั้นผมไม่อยากทำให้เขาไม่สบายใจในบ้านของเขาเอง ต่อให้เขาเป็นคนไม่ดีนะ

หลังจากนั้นลองสื่อสารดูก่อนว่าเขาต้องการอะไรจากผม ถ้าเขาต้องการในสิ่งที่ผมให้ได้ ผมก็จะพยายามให้ ถ้าเขาต้องการเงิน เดี๋ยวก็ต้องดูก่อนว่ามันเป็นจำนวนเงินที่มากน้อยแค่ไหน หรือเขาต้องการให้ผมไปกับเขามั้ย ผมก็ต้องมานั่งคิดในหัวตอนนั้น มันเป็นเรื่องของการคิดในหัวหน้างานว่าจะเอาตัวรอดยังไงมากกว่า ถ้าผมจะไปจะไปเพราะว่าอะไร ไปแล้วคุ้มมั้ย หรือถ้าไม่ไปจะไม่ไปเพราะอะไร ผมเลยมาตอบตรงนี้ยากว่าเพราะอะไร จริง ๆ ขึ้นอยู่กับคนที่ผมเจอหน้างาน แล้วผมก็จะตัดสินใจจากหน้างานล้วน ๆ เลย โดยที่ไม่มีธงอะไรในใจเลย

มันเปล่าประโยชน์ที่จะเกรี้ยวกราดใส่ แต่สมมติว่าถ้าเรารู้อยู่แล้วว่าเราจะไม่เอา เราจะไปเอง เราไม่ต้องการ ก็แค่ปฏิเสธไป หลังกล้องหลายครั้งบางทีผมก็ไม่ได้สนใจเขานะ ต่อให้ใครเดินเข้ามา ก็แค่มอง พยักหน้าแล้วก็เดินหนี เขาก็ปกติ โดยเฉพาะโซนท่องเที่ยว เพราะเราไม่ได้มี Energy พอที่จะมาปฏิเสธได้ตลอด เวลาใครบอกว่าผมชอบทักคนนู้นคนนี้ จริง ๆ คือส่วนใหญ่มันจะเป็นเพราะว่าผมมี Eyes Contact ไปแล้ว แล้วผมต้องการจะละลายพฤติกรรมในแง่ที่ว่าเรามองหน้าเขา แล้วเราถือกล้องอยู่พอดี เราก็เลยคิดว่างั้นเราก็ทักไปก่อนก็ได้ เพราะเขาอาจจะมองเราเป็นคนปกติ หรือเขาแค่สงสัยแต่เขาแค่ไม่กล้าที่จะทักเรา เราแค่ทักไปแล้วเขาก็ทักกลับมาแล้วกลายเป็นว่าก็ยิ้มไปเลย มันช่วย Break the Ice นี่คือที่ผมคิดเฉย ๆ 

แต่ถ้าเรื่องตัดสินคนจริง ๆ ว่าจะรู้ได้ไงว่าคนไหนเป็นคนดีคนไม่ดี ผมไม่รู้จริง ๆ เพราะว่าบางคนก็เนียนเป็นนักแสดงได้เลยอ่ะ เราแค่ต้องหาทางหนีทีไล่ดี ๆ เวลารู้สึกว่าแหม่ง ๆ กลิ่นเริ่มตุ ๆ พอไปเรื่อย ๆ ถ้าถึงเข้าตาจนจริง ๆ ถ้าจะต้องวิ่งผมก็พร้อมวิ่ง

พอแก๊ปบอกว่าการมองคนเป็นสิ่งที่เขาตอบได้ยากว่าทำไมเขาถึงได้เจอคนที่ไนซ์กับเขาบ่อยนัก แต่มันทำให้เราค่อนข้างเชื่อว่า ‘ภาษา’ อาจจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คนอื่นยอมละลายน้ำแข็งเข้าหาเด็กหนุ่มจากประเทศไทยคนนี้สู่ประตูในทุกโลก 

ผมว่าภาษามีส่วนสำคัญมากเลย เพราะมันทำให้ Flow ในการพูดไวกว่า สมมติถ้าเราไม่รู้ว่าจะทักทายภาษาเขาว่าอะไร  หรือถามว่าสบายดีมั้ย หรือรู้ศัพท์เบสิกง่าย ๆ โดยเฉพาะถ้าไปโซนท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ค้าก็จะโกงได้ แต่ถ้าเรารู้มานิดนึง มันเหมือนกับเพิ่มความท้าทายในจิตใจให้เขา “เอ๊ะ จะโกงดีมั้ยวะ” หรือ “เอ้อ ก็ดู Nice ดีนะ” 

แล้วบางคนพอทักทายไปแล้วด้วยพื้นฐานของเขาที่มัน Nice อยู่แล้ว บางทีได้อังกฤษเพิ่มก็คุยกันต่อได้ มันดีกว่าที่จะมาเปิด Google Translate โดยเฉพาะเมื่อเราทำคลิปด้วยอย่างงี้ ถือกล้องอยู่ใช่มั้ย เราไม่สะดวกที่จะเปิดมือถือแล้วก็ยื่นไปมา Flow มันไม่ได้ รู้บ้างคำไปมันช่วยจริง 

ส่วนผมจะจำคำศัพท์หรือชุดประโยคได้จากหน้างานซะส่วนใหญ่ สมองเรามันเหมือนพัฒนามาเพื่อการใช้งานในแง่นั้นมากกว่า มากกว่าการมานั่งท่องจำอยู่ในห้องสุดท้ายก็ลืมอยู่ดี เพราะว่าเราจำมากไม่ได้ขนาดนั้น แต่ถ้าเราไปใช้งานจริง มันเหมือนสมองเราจำรูปแบบของภาพจำเหตุการณ์ว่า พอถึงหน้างานตรงนั้นเราพูดแบบนี้ คนท้องที่เขาพูดกลับมาแบบนี้ มันก็เลยจำได้ง่ายมากกว่า นั่นก็เลยเป็น Trick ที่ทำให้เรียนรู้ภาษาได้ไวมั้ง

แล้วการได้ภาษากับ Be Nice ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้คนเข้าหาแก๊ปรึยัง

ผมคิดว่าสิ่งนั้นมันแค่ 20% ส่วนหลัก ๆ คือนิสัยของคน ๆ นั้นที่เจอมากกว่า แล้วมันจะเป็นภาพจำแล้วก็เป็นภาพลักษณ์ของประเทศด้วย เพราะว่าถ้าเราเจอคนดีมันไม่ได้หมายความว่าคนทั้งประเทศดี เพียงแต่มันเป็นการบอกว่าคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ตรงนั้นอาจจะเป็นคนดี แล้วก็คนใน Area ตรงนั้นอาจจะมีทัศนคติต่อคนต่างชาติที่ดี 

ผมรู้สึกว่ามันขึ้นอยู่กับทัศนคติของคนในพื้นที่ต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่อคนที่มาเยี่ยม ต่อแขกที่มาเยี่ยม อันนั้นผมว่า 80% เพราะว่าที่ผมทำทั้งหมด 20% มันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยถ้าเขามีธงในใจอยู่แล้วว่า “เดี๋ยวจะโกง” มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อนักเที่ยวต่างชาติแต่แรก ต่อให้เราพยายามดีแค่ไหนมันไม่ได้ผลหรอกถ้าเขาปักธงไปแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผมเจอคือเขาไม่ได้ปักธงนะ เขาเห็นว่าเราเป็นแขกจริง ๆ พร้อมที่จะช่วยเหลือ พร้อมจะโชว์ด้านดี ๆ ของประเทศของเขาให้เราชม 


ตั้งใจพาแก๊ปไปถ่าย Street เท่ ๆ แต่ฝนตกหนัก ก็อดสิครับ

พาร์ทสุดท้ายของการคุยกับแก๊ป เราอยากให้ช่วงเวลาก่อนจากกันเป็นเหมือนการสรุปคลิปของ GAP.BUMSEEKER ใน Topic ที่ว่า “สุดท้ายแล้วการเดินทางมีความหมายต่อชีวิตของแก๊ปอย่างไรบ้าง” โดยเริ่มจากการอยากรู้ก่อนว่า ‘ระหว่างทาง’ กับ ‘ปลายทาง’ สำคัญต่างกันอย่างไรสำหรับแก๊ป

ปลายทาง 10% ผมใช้คำนี้เลย ผมรู้แค่ว่าตั้งปลายทางไว้เพื่อจะให้มันดูว่ามีอะไร ว่าจะไปให้ถึง เพราะว่าถ้าเราออกเดินทางโดยที่ไม่มีปลายทางเลยมันจะจับฉ่าย มันจะดูเลื่อนลอย ขอแค่มีปลายทางก่อน เพียงแต่เราจะไปถึงปลายทางด้วยวิธีไหน ผมพยายามเลือกเส้นทางแล้ว แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่าจะเจออะไรบ้าง 

เพราะฉะนั้นระหว่างทางมันคือ 90% การที่ผมจะเดินทางไปถึงปลายทางได้ มันต้องมีเรื่องราวระหว่างทางที่ทำให้ผมรู้สึกสนุก ทำให้ผมรู้สึกอยากจะไปต่อ ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่ได้อยากกลับบ้าน มันต้องมีอะไรที่น่าสนใจ หรืออย่างน้อยทำให้ผมรู้สึกปลอดภัยในระดับนึง ไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าน่ากลัวที่มันจะทำให้ผมล้าทั้งกาย ล้าทั้งใจ ล้าทั้งสมองจนต้องกลับมา

เหมือนกับทุกคลิปแหละครับ เวลาผมตั้งชื่อตอนหรือแม้แต่กระทั่งมีจุดหมาย แต่เนื้อหาหลัก ๆ จริง ๆ ที่ผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจมากกว่าก็คือระหว่างทาง เพราะเวลาพอไปถึงจุดหมายปลายทาง ผมก็แค่นั้น น่าจะมี Air Time ประมาณสองสามนาทีเอง “มาถึงแล้ว!” แล้วก็พยายามเปลี่ยนมุมกล้องหน่อย แต่มันก็แค่นั้นแม้ว่ามันจะเป็นจุดหมายปลายทาง แต่เรื่องราวระหว่างทางไปดูซิว่าผมไปยังไง ผมรู้สึกอะไรยังไงบ้างในแต่ละตอนที่กว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้นผมให้คุณค่ากับระหว่างทางมากกว่าเยอะเลย

คลิปไหนที่ของช่อง Gap.bumseeker ที่ชัดเจนที่สุดว่าระหว่างทางสำคัญมากคือ ?

ในหัวของผมก็มีแค่ที่ ‘มาชูปิกชู’ กับ ‘ปาตาโกเนีย’ เพราะว่าที่มาชูปิกชูคือถ้าผมมีเวย์สบายในการไป เวย์ที่ใช้จ่ายเงินเยอะ แต่มันสบายไป พอเวลาเราไปด้วยอะไรสบาย ๆ มันจะไม่ค่อยจำได้เท่าไหร่ 

จนถึงตอนนี้ เวลาเราเลือกไปทางลำบากเดินสิบกิโลเพื่อที่จะไปถึงเมืองสักเมืองนึง หรืออย่างตีนเขาของมาชูปิกชูกับอ๋อม มันจะเป็นภาพจำว่าเราเคยเดินข้ามห้วยตรงนี้ เดินข้ามสะพาน มันจำได้มากกว่าในสายตาผม แล้วมันมีอะไรน่าจดจำกว่าพอเราผ่านมาได้ 

ปาตาโกเนียก็เหมือนกัน ที่ผมไปเดินคนเดียว ตอนไปถึงแล้วมันก็สวยจริง แล้วมันก็เป็นความสวยที่ผมไม่ค่อยได้เห็นที่ไหนมาก่อน แต่ประเด็นคือพอเราไปเห็นอะไรสวย ๆ บ่อย ๆ มันก็ประทับใจแค่ตอนไปถึง แต่พอระหว่างทางเนี่ย โห กว่าจะเดินขึ้นไปได้ เออมันมันยากเนอะ มันยากจริง ๆ ระหว่างทางสำคัญกว่าเสมอ พอไปถึงปลายทางแล้ว เออเห็นวิวแล้วหายเหนื่อย ใช่ แต่ประเด็นคือสิ่งที่มันทำให้ Story น่าจดจำมันคือระหว่างทาง

หัวใจสำคัญของบทสนทนาในครั้งนี้ที่เราอยากรู้จากแก๊ปคือการออกไปต่างประเทศหมายถึงการทำให้ชีวิตมีค่ารึเปล่า ทุกคนต้องทำแบบนั้นเพื่อให้ชีวิตมีความหมายมั้ย

ผมว่าไม่จำเป็นเลย มันขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน บางคนรู้สึกพอใจในใน Comfort Zone อยู่แล้ว ไม่ได้มีความรู้สึกว่าจะต้องไปลำบาก ไปเที่ยว ต่อให้ไป Holiday เราทำงานเหนื่อย ๆ ห้าวัน แค่จะขับรถไหนมันก็เหนื่อยแล้วนะ แล้วบางทีไม่ได้รู้สึกว่าการเดินทางมันคือการตอบโจทย์ชีวิตตัวเอง บางคนแค่ต้องการพักผ่อน บางคนแค่ต้องการมีครอบครัวที่มั่นคง บางคนแค่ต้องการชีวิตที่ราบเรียบไม่ได้หวือหวาอะไร ซึ่งไม่ผิดเลย แต่ละคนมีนิยามความสุขนิยามความต้องการของตัวเองไม่เหมือนกัน 

เพียงแต่ผมรู้สึกว่าแบบนี้แหละมันเวย์ผม ชอบท้าทายตัวเองเฉย ๆ แล้วผมก็จะรู้สึกว่าอยากจะท้าทายตัวเองจนกว่ารู้สึกว่าตัวเอง Achieve บางอย่างแล้วในแง่ของการเดินทาง จากนั้นก็ Move On ไปทำอย่างอื่นให้กับชีวิต มันเหมือนเป็นแค่จุดหลักไมล์ในชีวิต เพราะว่าผมอยากจะทำไปเรื่อย ๆ จนผมรู้สึกเหนื่อย หรือจนรู้สึกว่ามันไม่ใช่ละ ก็แค่ไปทำอย่างอื่น แต่ละคนมีหลักไมล์ที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นเอาที่แต่ละคนสบายใจดีกว่า

จริง ๆ ผมก็เดินทางแค่สองสามปีเอง แต่ก็อาจจะบอกว่าผมค่อย ๆ โตขึ้น ความคิดก็เลยเริ่มเปลี่ยน ดูใจเย็นขึ้น แล้วก็ค่อนข้างที่จะเข้าใจ .. ไม่อยากจะพูดว่าเข้าใจโลกมากขึ้น แต่อย่างน้อยผมรู้สึกว่าผมพยายามทำตัวเข้าใจโลกมากขึ้น แล้วก็ Asshole น้อยลง 

ไม่ได้อยากจะไปในพื้นที่ไหนแล้วรู้สึกว่าเราต้องการการต้อนรับระดับห้าดาวเพราะเราจ่ายเงินไปแล้ว เฉย ๆ นะ เขาไม่ต้องมายิ้มแย้มอะไรก็ได้ เอาที่สะดวกเลย เราก็มาเที่ยวเฉย ๆ ขอแค่ทำหน้าที่ของตัวเอง ไม่ถึงกับต้อง Be Nice หรือ Over Nice เพราะผมเข้าใจว่าบางคนอาจจะไม่ได้อยู่ใน Mood ที่กำลังดี บางคนแค่มี Bad Day แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเป็นคนไม่ดี หรือบางคนแค่อาจจะมี Moment ตอนนั้นซึ่งมันไม่ได้จริง ๆ แล้วมันต้องคุมอารมณ์ให้ยิ้มแย้ม แต่เขาอาจจะทำไม่ได้ไง ผมไม่ได้อยากจะไป Judge เดินทางมา 2-3 ปีรู้สึกโตขึ้นแล้วก็ตัวเล็กลง ไม่ได้รู้สึกว่าทุกอย่างต้องหมุนรอบตัวเองขนาดนั้น

คำถามสุดท้าย “บทเรียนสำคัญที่ได้จากการเดินทางตลอด 3 ปีมานี้คืออะไร”

พื้นฐานผมเป็นคนที่ไม่ชอบตัดสินใครอยู่แล้ว ไม่ค่อยชอบที่จะเอาตัวเองไปยุ่งเรื่องของคนอื่น มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบตัดสินใครไม่ว่าเขาจะทำดีหรือไม่ดี เราปล่อยให้เป็นเรื่องของข้อกฎหมายดีกว่า แต่ผมไม่ถึงกับอยากจะมาใส่น้ำเสียงอะไรมากมาย มันเลยทำให้ผมรู้สึกว่าพอเวลาเดินทางเราเจอคนที่หลากหลาย เราอาจจะมองว่าเขาทำดีกับเรา แต่เบื้องหลังเขาอาจจะไม่ใช่คนดีก็ได้ เขาทำไม่ดีกับเราบางทีเขาอาจจะทำไม่ดี เขาอาจจะโลภ แต่ในกับอีกคนนึงเขาอาจจะเป็นคนดีในแง่ที่ว่าเขาเอาเงินมาเพื่อครอบครัว แม้ว่ามันจะเป็นการไถนักท่องเที่ยวในมุมมมองเรามันเลยไม่ดี แต่ผมเลยไม่อยากจะตัดสิน ผมไม่อยากจะบอกว่า “เห้ย คุณทำแบบนี้ไม่ได้มันไม่ควรจะต้องทำอีกแบบ” 

บทเรียนที่ได้จากการเดินทางคือผมเลิกตัดสินคนไปเลย แล้วก็เลิกที่จะเอาความคิดและทัศนคติของตัวเองเวลาไปที่ไหนไปครอบคนอื่น พยายามเข้าใจว่าเขามีวัฒนธรรม พื้นฐานทางสังคม เขาโตมาไม่เหมือนกัน จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องออกเดินทางหรอก ต่อให้ในไทยคนเราด้วยกันเองก็โตมาต่างกัน และยิ่งถ้าไปต่างประเทศมันทำไม่ได้เลยที่จะไปบอกว่าสิ่งที่คุณทำอยู่มันไม่ดีกับตัวคุณเองหรือมันไม่ดีกับสังคม

และถึงแม้จะรู้สึกว่าสิ่งที่คนอื่นทำมันไม่ควรจะเป็นแบบที่ตัวเองคิดผมก็จะไม่พูดมันออกมา แล้วผมจะไม่บอกกับเขาตรง ๆ ด้วย เพราะว่าบางเรื่องมันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องศาสนา ผมจะพยายามทำความเข้าใจคนอื่นมากที่สุด ให้ความเคารพมากที่สุด โดยที่ในคลิปคนดูทุกคนสามารถตัดสินเองผ่านสิ่งที่ผมนำเสนอได้เลย

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line