Life

THE REAL: คุยกับ THE DUANG นักวาดตัวจริง กับความสุข 100% บนเส้นทางใหม่ในโลก NFT

By: NTman October 7, 2021

ทุกวันนี้ เรื่องราวของเทคโนโลยีบล็อกเชน, เหรียญคริปโตต่าง ๆ นา ๆ ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้คนทั่วไปมากขึ้น รวมไปถึงการซื้อขายผลงานศิลปะในรูปแบบของ NFT (Non-Fungible Token) ที่ก่อให้เกิดศิลปินหน้าใหม่ขึ้นมากมาย ด้วยความเปิดกว้างของตลาด ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะสร้างงานแนวไหน ใช้เทคนิคอะไรยากง่ายไม่เกี่ยง ขอแค่เหล่านักสะสม หรือนักลงทุนถูกใจก็มีสิทธิ์ปล่อยผลงานออกไปในราคางาม

และท่ามกลางศิลปินจำนวนมากที่เริ่มเข้ามาชิมลางกับการสร้างงาน NFT หนึ่งในนั้นยังมีชายที่ชื่อว่า ‘วีระชัย ดวงพลา’ หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในนาม ‘THE DUANG (เดอะ ดวง)’ นักวาดการ์ตูนชาวไทย ที่มีฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา กับผลงานการ์ตูนรวมเล่มฮิต ๆ และงานวาดภาพประกอบเจ๋ง ๆ มากมาย อีกทั้งยังเคยคว้ารางวัลใหญ่อย่าง Silver Award จากเวทีประกวดรางวัลการ์ตูนนานาชาติ ที่ประเทศญี่ปุ่น มาแล้ว

แต่อะไรที่ทำให้ผู้ชายคนนี้หันมาตัดสินใจก้าวเข้าสู่โลก NFT แม้จะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้งในตลาดซึ่งชื่อเสียงที่สั่งสมมาในโลกจริง ไม่อาจการันตีว่างานของคุณจะขายได้ วันนี้เรามาพบคำตอบเหล่านั้นจากปากของ ‘THE DUANG – วีระชัย ดวงพลา’ ไปพร้อมกัน


 

ก่อนจะเป็น THE DUANG

ก่อนจะไปถึงเรื่องราวจุดเริ่มต้นในวงการ NFT ไหน ๆ ก็มีโอกาสได้พูดคุยกับ THE DUANG แล้ว เราจึงขอให้เขาเล่าย้อนไปถึงเส้นทางก่อนจะเป็น THE DUANG นักวาดฝีมือดีที่ใครหลายคนต่างชื่นชอบผลงงาน และยกให้เขาเป็นแรงบันดาลใจในทุกวันนี้

“จริง ๆ ผมเริ่มวาดมาตั้งแต่ 3 ขวบเลย วาดนู่นนี่ไปเรื่อย พอเรียนชั้นประถมก็เริ่มชอบวาดการ์ตูนให้เพื่อนอ่าน ตั้งแต่ประถม มัธยม เขียนให้อ่านตลอด จนมีการ์ตูนรวมเล่มของตัวเองวางขายจริงจังเล่มแรกประมาณปี 2005 ครับ ก็ใช้เวลานานอยู่ครับ

แต่ระหว่างทางมันดีตรงที่สิ่งนี้มันเป็นความชอบของเราด้วยแหละ เลยไม่เหมือนว่าเราจะต้องตั้งใจฝึกมัน เราอยากวาด อยากเขียนอะไร เราก็วาดไปเรื่อย ๆ สิ่งที่โชคดีอย่างนึงก็คือมีคุณพ่อ (เรืองศักดิ์ ดวงพลา) เป็นนักวาดการ์ตูนอยู่แล้วครับ เขาเขียนการ์ตูนผีเล่มละบาท พวกนิยายภาพอะครับ มีอะไรก็ถามเขา เขาก็ช่วยสอน

จนมาถึงจุดที่เราบอกพ่อว่าจะเป็นนักเขียนการ์ตูน พ่อเขาก็ไม่อยากให้เป็น เขาบอกว่ามันน่าจะดูแลตัวเองยาก ช่วงนั้นมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ เมื่อก่อนน่ะ แต่ว่าเขาไม่ห้าม เขาก็แนะนำที่ส่งว่าให้ไปตรงนี้ ก็จะมีเพื่อนพ่อที่เขาเป็นนักเขียนการ์ตูน ตอนนั้นมันมีหนังสือที่มันมาคู่กับขายหัวเราะก็คือ ตลาดตลก แล้วเพื่อนพ่อเขาก็พาไปส่ง ก็คืออยู่ในซอยเดียวกับสำนักพิมพ์แหละ ก็แค่เดินเข้าไปเสนองาน

ตอนนั้นอายุ 13 ได้เงินมา 1,000 บาทถ้วนเลยอะ เรารู้สึกว่าโคตรดีใจ แล้วรู้สึกว่าเนี่ยแหละอาชีพ ประมาณนั้น ทำไปด้วยเรียนไปด้วย แต่ก็รู้สึกว่าเขียนการ์ตูนแก๊กมันไม่ใช่ทาง จนช่วงปี 2005 มีโอกาสได้มาวาดการ์ตูนรวมเล่มของตัวเองชื่อว่า Shockolate เป็นการ์ตูนสั้นแนวตลกร้ายแบบที่เราชอบ มี 16-17 เรื่องในหนึ่งเล่ม ถือเป็นการ์ตูนเล่มแรกที่แจ้งเกิดเลย”


 

NFT เริ่มต้นจากความงง

“เราได้ยินมาช่วงนึงแล้วว่ามันคือการขายภาพดิจิทัล เราเข้าใจอยู่แค่นั้น แล้วในหัวก็คิดแต่ว่า บ้ารึเปล่า ใครมันจะไปซื้อภาพดิจิทัลในราคาแบบนี้วะ มันเป็นไปได้เหรอวะ ก็งงอยู่ 3 เดือน แล้วบังเอิญช่วงนั้น เราติดโควิดพอดีแล้วก็กักตัวอยู่ ก็เลยหาอะไรทำดีกว่า กลายเป็นว่าลอง NFT ละกัน ไม่ลองก็ไม่รู้ ก็เริ่มศึกษาแล้วก็ลงมือ

จะมีงง ๆ บ้างตอนลงงานครั้งแรก พวกการเปิดกระเป๋า Metamask การสมัครแอคเคาท์ต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องค่า GAS, การ Mint งาน ซึ่งฟังดูเหมือนจะยุ่งยาก แต่จริง ๆ มันไม่ได้ยากขนาดนั้น ใน Google มีลงขั้นตอนไว้ค่อนข้างละเอียด เราก็ทำตามนั้น แล้วก็มีปรึกษาพี่ ๆ เพื่อน ๆ บ้าง

เริ่มต้นขายงานจริง ๆ ที่แรกลงใน Opensea ก็คัดงานจากคอลเลกชันเก่าที่เราชอบ ๆ มาลง แล้วก็พยายามหา Invite จาก Foundation มาด้วย ช่วงแรก ๆ นะ”

THE DUANG เล่าให้ฟังถึงช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ที่ตัวเขาได้เริ่มต้นก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ ในตลาด NFT ที่ช่างกว้างใหญ่ แม้จะยังมีอะไรหลายอย่างที่เขายังไม่เข้าใจ และยังกังขาในชิ้นงานที่เห็นผ่านตามากมายว่ามันขายได้ราคาขนาดนี้เลยหรอ

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนั้นคงไม่มีอะไรจะให้คำตอบได้ดีไปกว่าการลงมือทำเอง ที่นอกจากจะช่วยคลายความข้องใจ มันยังถือเป็นโอกาสครั้งใหม่ในการขยายขอบเขตผลงานของเขาในพื้นที่ที่ยังไม่เคยไปถึง


 

นับหนึ่งใหม่ ไม่เคยง่าย

หลังจากตัดสินใจลองเริ่มต้นสร้างงาน NFT ให้หายสงสัย อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสใหม่ให้กับชีวิต กลับกลายเป็นว่าพื้นที่นี้ไม่ใช่เรื่องหมู ๆ สำหรับใคร แม้เขาคนนั้นจะเป็น THE DUANG ผู้ที่มากไปด้วชื่อเสียง ผลงาน และมีรางวัลการันตีมาแล้วก็ตาม

“การเข้าวงการ NFT เหมือนเริ่มต้นใหม่เลยครับ เพราะว่าตอนแรกก็คิดแค่ว่าเราพอขายหนังสือได้บ้าง พอจะมีคนรู้จักบ้างมันน่าจะไม่ยากมั้ง ปรากฏว่ายากครับ อย่างที่บอก พอลงคอลเลกชันพวกนั้นไป บางคนไม่ได้อ่านการ์ตูนเรา เขาก็จะงงว่าคืออะไร ก็ขายออกแค่หนึ่งตัว – สองตัว มันไม่ใช่การลงแล้วขายหมดอย่างงั้นอะ ก็เลยรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่นะ เหมือนมันขาดอะไรวะ คิดไม่ออก นั่นแหละครับ

คือเราลงไปประมาณ 5 หรือ 6 คอลเลกชันได้ แถมตอนนั้นยังได้ Invite จาก Foundation ด้วย ก็คาดหวังไอ้ Foundation นี่โคตร ๆ เลย แล้วเราก็ลงงานที่เราคิดว่ามัน Premium มาก ๆ ลงไป โอเค ลงไปภาพแรกขายได้ แต่ภาพที่สองที่สามเงียบ ก็เงียบมาจนถึงทุกวันนี้ 

ทุกวันนี้เนี่ยในนั้นมีประมาณสิบกว่าภาพมั้ง แล้วก็เงียบมายาว ๆ ตลอด 3-4 เดือนมานี้ ไอจังหวะที่เงียบ ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่าแบบมันต้องทำยังไงวะ คือเก็บมาคิดจริง ๆ เลยครับว่ามันเพราะอะไร ทำไมนะ”

แม้จะเริ่มต้นด้วยความหวังที่ว่าผลงานที่ผ่านมา น่าจะพอทำให้งาน NFT มีลู่ทางในการขายได้ไม่ยากเย็นมากมายนัก แต่ผลที่ได้กลับไม่เป็นอย่างที่คาด ทำเอา THE DUANG ของเราเกิดอาการเฟลไปไม่ใช่น้อย จนถึงกับต้องกลับมานั่งทบทวนว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่

“คือพยายามทำจิตใจให้แข็งแกร่งอยู่นะช่วงแรก แต่ว่ามันก็จะมีแบบ ทำไมวะ ก็นั่งคิดนอนคิดจนนอนไม่หลับ เพราะอะไร เพราะอะไรอยู่อย่างนั้น คือพอลงงานไปแล้วมันเงียบนานเป็นอาทิตย์ มันก็ได้แต่สงสัยว่าเพราะอะไรอยู่อย่างนั้นอะ 

เราก็ไปดูงานของคนอื่นที่ขายได้ ก็จะเจอพวกงานมีม หรืองานที่แบบ เฮ้ย ขายได้จริงดิ ก็งงมาก แบบเฮ้ยมันบ้าไปแล้ว ใช่ปะเนี่ย คือก็ไม่เข้าใจอยู่ดีช่วงแรก ไม่ว่าภาพไหนจะขายได้แบบหลักแสน หลักล้าน ก็ยังไม่เข้าใจอะ ไม่ได้อิจฉานะ แต่เราอยากเข้าใจว่าตกลง Collector เขาสนใจกันอะไรกันแน่ เพราะถ้าย้อนกลับไปในโลกจริงปกติ ภาพที่มันจะราคาเท่านี้ได้บางทีมันต้องแบบ ต้องอลังหน่อย พอมันเป็นภาพแบบนี้เราก็คิดว่ามันเป็นไปได้เหรอ

พอผ่านเวลาไปสักพักแล้ว เราก็ค่อย ๆ เข้าใจว่าแต่ละงานมันก็มีที่มาที่ไปอยู่นะ มันมีเหตุผลของมันอยู่ในแต่ละภาพ ไม่ใช่แค่หน้าตา หรือเทคนิคที่ใช้  ก็เริ่มเข้าใจว่า NFT มันคือศิลปะส่วนหนึ่ง การลงทุนส่วนหนึ่ง 

แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้คำตอบชัดเจนนะ สุดท้ายก็เลยตัดปัญหาทุกอย่างทิ้งไปเลยแล้วเอาตัวเองนี่แหละ ยังไงก็ต้องเป็นตัวเองเหมือนเดิม มีช่วงนึงคิดอยากจะทำงานตามกระแส คือเรารู้ว่าอันไหนมันคือกระแส ถ้าทำแบบนั้นคนก็จะสนใจ แต่ในใจนึงก็คิดว่าถ้าทำแบบนั้น ความสุขมันก็จะหายไปเปล่าวะ ต่อให้ขายได้มันก็จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจว่ามันไม่ใช่งานที่เราอยากทำนี่หว่า เหมือนทำเอาเงินอะ มันก็จะไม่ได้ความสุขไง ถ้างั้นเรายืนหยัดในจุดยืนและเป็นตัวเองนี่แหละ ดีแล้ว

จากนั้นก็เลยกลับไปนั่งอ่านการ์ตูนเก่า ๆ ของตัวเอง ดูว่าเราถนัดงานแบบไหน แล้วมันมีตัวละครนึงที่ผมพยามยามดันมันอยู่แล้วก็คือ Blackboy ที่เป็นตัวละครใส่หน้ากากเป็น Messenger ส่งของ ซึ่งเรื่องของมันเนี่ยมีเหตุทำให้ต้องพัวพันกับอาชญากรอยู่ตลอด เราก็มานั่งคิดว่าเราจะทำออกมาในรูปแบบไหนดี 

แล้วปรากฏว่าวันนั้นผมก็ไล่ค้นโฟลเดอร์งานไป แล้วมันมีตัวละครตัวนึง มันคือตัวละครเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน ที่อยู่ในมุมหันข้างพอดี ซึ่งมันจะเป็นตัวละครแรกใน Gangster All Star คอลเลกชันหนึ่ง แล้วผมก็ เห้ย เข้าท่านะเนี่ยมุมนี้ รู้สึกได้เลย ถ้าทำออกมาเยอะ ๆ ตอนนั้นไม่คิดว่ามันจะขายได้เลยนะ แค่คิดว่าทำออกมาเยอะ ๆ แม่งเท่แน่นอน ต้องเท่เลย เพราะถนัดวาดแนวแก๊งมาก ก็เลยเริ่มทำดู”


 

GANGSTER ALL STAR  หนทางที่ใช่ในโลก NFT 

“พอตัดสินใจได้ว่าจะไปทางไหน เราก็เริ่มลุยทันที่ ตอนนั้น Roadmap ก็ยังไม่ชัดเจนมาก ยังหลวม ๆ อยู่ แต่ก็บอกว่าคอลเลกชันแรกจะมีกี่ตัว แล้วก็จำนวนแรงก์เท่าไหร่ ๆ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่มาของ Gangster All Star

ซึ่ง Gangster All Star  เนี่ย ความรู้สึกมันเหมือนทำให้คนที่ชอบสะสมการ์ดตัวละครนั่นแหละครับ ระหว่างตอนที่ทำคอลเลกชันหนึ่งไปแล้วมันขายหมด เราเลยรู้สึกว่า เออเนี่ยมาถูกทางละ แต่ปัญหาคือ เราจะทำยังไงให้มันยังแข็งแรงอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ 

เราก็เลยวางแผน ใช้เวลาวางแผนไปเดือนกว่า เพื่อที่จะทำคอลเลกชันสองเตรียมไว้ล่วงหน้า คือเรารู้สึกว่า 50 ตัวละครมันต่อยอดได้ยังไง ก็เลยเอามันเป็นหัวหน้าแก๊งนี่แหละ แล้วแต่ละแก๊งมันก็ควรมีโลโก้มันถึงจะเท่ ก็เลยเสียเวลาเป็นเดือนเพื่อออกแบบโลโก้พวกนี้ให้ครบ 50 อัน แล้วพอมันครบ ทุกอย่างต่อจากนี้มันจะง่ายหมดเลย เพราะมันเริ่มเป็นกลุ่มเป็นก้อนชัดเจน

แล้วก็เลยคิดลูกเล่นเรื่องใครถืองานคอลเลกชันหนึ่งอยู่สามารถเข้าแก๊งได้ ควรจะมีตัวละครเป็นตัวคุณเองนะที่อยู่ในแก๊งนั้น เลือกแก๊งได้เลย แต่ถ้าใครไม่ได้ถืองานแต่อยากเข้าแก๊ง ก็ต้องจ่ายเพื่อที่จะเข้าแก๊งแล้วแต่ละแก๊งก็จะมีระดับ ซึ่งคนแม่งยอมจ่ายจริง ๆ ผมก็ตกใจเหมือนกัน ตอนนี้มี 30 Member แล้วครับจากทั้งหมด 90 Member ที่เปิดให้เลือก

สมมติว่าคนนี้ถืองานเราอยู่ในคอลเลกชันหนึ่ง เราก็ให้สิทธิ์เขาเลือกแก๊งจาก 50 แก๊งได้เลย แต่ว่างานที่เขาถืออยู่มันมีมูลค่าเท่าไหร่ เราก็จะแบ่งไว้เลยว่าถ้าถือราคานี้ถึงราคานี้ได้ 1 ดาวนะ อันนี้ได้ 2 ดาวนะ หรือแบบบางคนถือเกิน 1 Ethereum ก็จะได้ 3 ดาวถึง 4 ดาว ให้เลือก ก็จะมีการแบ่งอยู่ แต่ไม่ว่าใครจะเข้าแก๊งไหน เขาก็ดูแฮปปี้กันหมด เพราะเขาจะได้มีตัวละครของตัวเองแล้วก็ได้มีรายชื่ออยู่ในแก๊งนั้นด้วย แล้วก็มีบัตรเชิญส่งให้อย่างเป็นทางการ

แล้วสุดท้ายก็จะเอาคาแรกเตอร์ทั้งหมดไปวาดการ์ตูนลงในซีรีส์ Blackboy นี่อยู่ดี ตั้งใจว่าคงจะออกเป็นเล่ม เล่มละแก๊งเลยเพื่อเล่าสตอรี่ของแต่ละแก๊ง เพราะเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับทุกแก๊งที่ออกมา และล่าสุดจะมีเพลงประกอบ ของ Gangster All Star กำลังอยู่ในช่วงทำเพลงอยู่ เรฟมันก็มาจากหนังเรื่อง High&Low พยายามจะให้ดนตรีไปในทางนั้น ซึ่งเราได้มือกีตาร์ระดับประเทศมาทำให้อยู่ ใบ้ให้ว่าเป็นศิลปินวงร็อกชื่อดัง อักษรย่อชื่อวงคือตัว S ครับ (หัวเราะ) 

แล้วทีนี้พอมีเพลงผมก็จะทำเอ็มวี ซึ่งเอ็มวีนี้ก็ไม่ได้ทำขาย ทำเพื่อโปรโมต ก็อาจจะ Animated นิดหน่อย แบบโชว์แก๊งให้มันเท่ ๆ คือช่วงขั้นตอนนี้มันเป็นขั้นตอนบิ้วคนเป็นระยะ ๆ ให้คนอิน พยายามทำให้เหมือนเราแม่งมีแก๊งอยู่จริงเลยว่ะในอีกโลกนึง พอคนอินมาก ๆ ผมถึงจะปล่อยคอลเลกชันสาม ซึ่งน่าจะเป็นการจบคอลเลกชันสองแล้วปล่อยสามทันที มันจะเป็นโปรเจ็กต์แบบ Generate ครับ แบบ 7,700 ตัว คือผมกะทำงานในแบบ Quality สูงอะ ที่ไม่เป็นแบบภาพง่าย ๆ กะทำให้มันยาก ๆ ไปเลยแล้วก็กำลังดูองค์ประกอบอยู่ว่าจะใช้อันไหนที่เท่ ๆ ดี”

THE DUANG เล่าให้ฟังแบบหมดเปลือกถึง Roadmap ที่โคตรจริงจัง และเต็มไปด้วยพลังแห่งจินตนาการ หลังจากใช้เวลาหาตัวตนในโลกใหม่อย่าง NFT จนได้ข้อสรุปว่าจะเดินหน้าปั้นคอลเลกชัน Gangster All Star โดยไม่สนอะไรนอกจากความชอบของตัวเองล้วน ๆ 

และสุดท้ายด้วย Roadmap ที่มีเรื่องราวให้ติดตามไปไกลกว่าภาพวาด และให้ผู้ถืองานได้เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวนี้ ทำให้คอลเลกชัน Gangster All Star Vol.1 ทั้ง 50 ตัว Sold out ไปแล้วเป็นที่เรียบร้อย 

ซึ่งมูลค่าของคอลเลกชันนี้ (รวมงานพิเศษอีก 9 ตัว) นับจากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่บทความ มี Volume Trade อยู่ที่ 29.5 ETH เรียกได้ว่าชื่นมื่นทั้ง Creator, Collector และ Investor กันถ้วนหน้า ในขณะที่ Gangster All Star Vol.2 (Gangster All Star Universe) ก็กำลังทยอย Drop ออกมาด้วยการตอบรับที่อุ่นหนาฝาคั่งไม่แพ้กัน


 

NFT ในมุมมองของ THE DUANG

ต้องบอกว่ามันเป็นความสุข 100% ของการทำงานเลยดีกว่า

นี่คือคำแรกที่เอ่ยจากปากของ THE DUANG หลังจากที่ถามถึงมุมมองความรู้สึกที่เขามีต่อการมาของ NFT

“ทั้งชีวิตที่ทำงานมา ต่อให้เป็นงานการ์ตูนก็ตาม มันก็จะมีโจทย์บ้าง นาน ๆ ทีจะมีโจทย์ที่เราตั้งเอง พอมันมีโจทย์จากลูกค้าเนี่ย มันก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นงานการ์ตูนหรืองานภาพประกอบ ซึ่งมันไม่ใช่งานที่ออกมาจากตัวเรา 100%

แรกเริ่มถ้าเขาให้เราเป็นคนคิดไอเดีย เราจะคิด ซึ่งตอนนั้นมันยัง 100% อยู่ แต่ว่าพอมันออกไปแล้ว ถูกแก้ไข มันก็จะไม่ 100% ละ มันจะสุขไม่สุด มันจะสุขมากก็ต่อเมื่อมันถูกแก้น้อย ความสุขมันจะลดลงตอนที่ถูกแก้งานไปเรื่อยๆ พอมาเป็น NFT เนี่ย มันไม่มีการแก้งานแล้วอะ ถ้างานออกไปแล้ว Collector เขาชอบ มันก็คือจบแล้ว

แต่ถ้าถามว่างาน NFT เนี่ยมันหนักไหม บอกเลยว่าหนักนะ (หัวเราะ) แต่มันหนักเพราะสนุก อย่างเรามันสนุกจนไม่อยากนอน หัวมันคิดนู่นคิดนี่ หัวมันอยากทำ อยากทำ ๆ ๆ แต่พอเป็นงานหลักผมนอนเยอะนะ แบบว่าทำแล้วก็เบื่อ เบื่อคือเบื่อเลยอะ ไม่อยากแตะ ไปเล่นเกม ดูหนัง แต่พอเป็น NFT มันแบบ เราไม่อยากทำอย่างอื่น อยากทำงาน ก็สนุกดีครับ” 

นอกจากมุมมองที่มีต่อ NFT แบบส่วนตัว THE DAUNG ยังเปิดเผยถึงมุมมองที่เขามีต่อ NFT กับวงการศิลปะในไทยให้เราฟังว่า 

“เราว่า NFTมันเป็นโอกาสที่โคตรดี ไม่น่าจะมีอะไรดีกว่านี้อีกแล้วในตอนนี้ สำหรับนักวาดที่อยากจะวาดรูปทุกคน เหมือนเมื่อก่อนถ้าถามว่าจะขายงานที่ไหนยังไง คงพูดได้แค่ว่าโพสต์ลงเฟซสิ 

แต่ถ้าทุกวันนี้นักวาดหน้าใหม่ที่อยากจะทำงานแล้วไปโพสต์ขายงาน ก็จะแนะนำว่าให้ไปขายใน NFT นี่แหละ เราว่าทุกคนมันเท่ากันในโลก NFT บางคนในโลกจริงอาจจะไม่ได้มีชื่อเสียงเลยก็ได้ แต่พอเข้ามาโลก NFT เขากลายเป็นเทพขึ้นมา แบบว่าขายงานได้ทุกวัน มีอย่างนั้นเยอะแยะเต็มไปหมด 

และเรารู้สึกว่า NFT มันร่นระยะเวลาได้เยอะมากจริง ๆ ในการที่คนจะให้คนเห็นงานเราทั่วโลกซึ่งมันเป็นจุดที่ทำให้คนเปลี่ยนชีวิตไปได้เลยก็มีนะ ผมรู้สึกว่าทุกคนสามารถตั้งตั้วได้จากตรงนี้ แล้วก็ทำให้เห็นอนาคตได้ชัดเจนมากขึ้นด้วยซ้ำ”


 

คำแนะนำจาก THE DUANG

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ แน่นอนว่าเราไม่ลืมที่จะขอคำแนะนำจาก THE DUANG ให้กับชาว UNLOCKMEN ที่กำลังสนใจจะชิมลางสร้างงาน NFT กับเขาบ้าง ในฐานะผู้ที่เคยเริ่มต้นใหม่ ลองผิดลองถูกในโลก NFT จนค้นพบแนวทางที่เป็นตัวเองอีกครั้ง โดยผู้ชายคนนี้ได้ฝากแนวคิดเอาไว้ว่า 

“สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับการเข้ามาใน NFT ผมมั่นใจว่าแรก ๆ เข้ามาคือ Opensea แน่นอน ก็ต้องลองไปศึกษาการเปิดแอคเคาท์ การสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัล รวมถึงเรื่องความปลอดภัยต่าง ๆ ซึ่งเอาจริง ๆ แล้วมันไม่ยาก มีวิธีการให้ศึกษาเต็มไปหมด

แต่สิ่งที่สำคัญที่ทำให้งานเราเป็นที่สนใจ น่าสะสม น่าลงทุน ไม่ว่าจะเป็นงานภาพวาด ภาพถ่าย วิดีโอ งานเพลง หรืออะไรก็ตามที่จะลงขายเป็น NFT มันคือการคิดคอลเลกชันครับ มันไม่ใช่แค่การทำแค่คอลเลกชันนี้ 10 รูปแล้วจบแล้วย้ายคอลเลกชันมันไม่ใช่แค่นั้น สิ่งที่ต้องทำคือการวางแผน อย่างเราก็วางไว้เลยว่าว่าคอลเลกชันนี้จะมีตัวละครกี่ตัว แล้วสตอรี่มันเป็นยังไง คือทำยังไงก็ได้ให้คนที่มาซื้องานเห็นว่างานนี้มันน่าลงทุน

ต้องบอกสำหรับคนที่จะเข้ามาคือ เรามองมันเป็นศิลปะส่วนนึงนะครับ แต่เรามองในแง่ของคนที่จะมาลงทุนกับเราด้วย เพราะว่าถ้าเขามาซื้อรูปเราแล้วเขาเอาไปขายต่อ และถ้ามันขายได้ เขาก็จะกลับมาซื้อใหม่ ซึ่งมันเป็นงานที่น่าลงทุน ให้เราคิดเผื่อว่างานเรามันน่าลงทุนไหม ไม่ใช่แค่ทำออกมาแล้วขายได้แล้วจบเลย อันนั้นมันไม่ใช่เป้าจริง ๆ เป้าหมายจริง ๆมันคือการขาย Second sale ครับ แล้วการที่มี Second sale ที่แข็งแรงอะ ทำให้คอลเลกชันขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น สำหรับคนที่อยากเข้ามา เราอยากให้คิด Roadmap ไว้ให้ชัดเจน ว่าเราจะให้อะไรกับนักลงทุนบ้าง แต่ที่สำคัญจริง ๆ คืออย่าไปเครียดกับตรงนั้นมากจนเราไม่สนุกนะ แม้จะต้องคิดเผื่อการสะสม การทำให้นักลงทุนสนใจ แต่ยังไงอันดับแรก ต้องสร้างงานด้วยการเอาความสนุกของเรามาตั้งไว้ก่อนเลย แล้วค่อยแปลงความสนุกนั้นเป็นคอลเลกชันที่น่าสะสมครับ ประมาณนี้

ส่วนใครที่อยากติดตามงานของเรา ช่วงนี้ถ้าใครติดตามเฟซบุ๊กก็จะเห็นเราโพสต์แต่พวก Gangster นี่แหละ ส่วนถ้าใครไม่ได้เข้ามาเล่น NFT แค่เข้ามาดูงานเฉย ๆ ก็ได้ เพราะว่ามันสามารถที่จะสนุกไปด้วยได้ ดูภาพ ดูความเคลื่อนไหว เพราะมันมีความเคลื่อนไหวทุกอาทิตย์ แล้วเราจะรู้สตอรี่ ที่มันมาเรื่อย ๆ และสุดท้ายแล้ว Gangster All Star ของผมมันจะกลายไปเป็น Comics อย่างที่เล่าให้ฟัง ใครที่กำลังรออ่านแต่ไม่ได้เป็น Collector ใน NFT ก็รอเก็บหนังสือก็ได้ครับ ระหว่างนี้ก็ดูงานพวกนี้ไปเรื่อย ๆ ก่อน”


 

ติดตามผลงานของ THE DUANG ได้ที่

Facebook: TheDuang
Twitter: aroundtheduang
Opensea: THEDUANG
Foundation: @aroundtheduang


Photographer: Krittapas Suttikittibut

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line