FASHION
The Real : ‘โจ้-Sold The World’ ความฝันของร้านเสื้อวินเทจ ที่อยากสร้างคอมมูลนิตี้ซึ่งทุกคนสามารถเป็นพวกเดียวกันได้
By: GEESUCH June 8, 2024 231234
ค่อนข้างมั่นใจกับตัวเองเลยล่ะ ว่าการที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งได้ลงในนิตยสารญี่ปุ่น City Boys ที่เราเองก็เป็นแฟนคลับมาตลอดอย่าง Popeye Magazine ในฉบับ April 2023 (#912) คือเหตุผลหนึ่งที่เราตัดสินใจขอให้คุณโปรดิวเซอร์ติดต่อหา ‘โจ้-ณศิพงศ์ วัชรพงศ์ชวลิต’ เด็กหนุ่มคนที่เราเพิ่งพูดถึง เด็กหนุ่มที่เป็นเจ้าของร้านขายเสื้อมือสอง/เสื้อวินเทจชื่อ Sold The World ร้านที่หากเราคุยกันถึงหน้าตาความสนุกของวงการเสื้อวินเทจไทยในปี 2024 นี่คืออีกหนึ่งตัวไฮป์ของวงการที่ลูกค้าและพ่อค้าไม่ต้องพูดกันเยอะ
ความรู้สึกดีใจ (ที่ดูจะเจือด้วยความน้อยใจ) จากคำพูดของโจ้ได้ถูกบันทึกเอาไว้ที่หน้า 205 ของนิตยสาร และยังคงถูกบันทึกเอาไว้บนโพสต์ Offcial Instagram ของ Sold The World ณ วันที่ 16 มีนาคม 2566 ถึงเราจะอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก แต่นิตยสารหน้านั้นสร้างคำถามขึ้นในหัวทันที การทำร้านขายเสื้อวินเทจมือ 2 ที่ไอเทมแทบจะทุกชิ้นในร้านมีราคาไกลลิบจากเสื้อผ้ามือ 1 ต้องใช้ความเชื่อ ความรัก และความพยายามมากแค่ไหนกัน ถึงจะสามารถเดินทางไปถึงจุดที่สปอร์ตไลต์ของโลกส่องหาได้แบบนั้น
ผมกับโจ้ได้เจอกันใน 1 อีกอาทิตย์หลังจากที่คุณโปรดิวเซอร์ส่งข้อความหาเขา ณ ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ สถานที่ซึ่งเป็นที่ทำงานปัจจุบัน และเด็กหนุ่มเคยได้เติบโตพร้อมกับเรียนชีวิตของเสื้อผ้ามือ 2 ในวันแรก ๆ การพูดคุยระหว่างเราได้ทำให้ได้รู้ว่า คำตอบของ ‘ความเชื่อ ความรัก และความพยายาม’ ของโจ้ มันอยู่ในระดับที่มากแบบสู้ยิบตาตลอดทั้งชีวิต และยังคงสู้อยู่ในวันที่ Sold The World เดินทางมาถึงปีที่ 4 แล้ว
บทสัมภาษณ์ The Real ตอนล่าสุด ‘โจ้-Sold The World’ ไม่ใช่แค่เรื่องราวของเสื้อผ้าวินเทจที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของเด็กหนุ่มเท่านั้น แต่นี่คือเรื่องราวของคน ๆ หนึ่งที่เชื่อว่าถ้าไม่ลงมือทำอะไรสักอย่างด้วยความหลงใหล เราก็ไม่สามารถครอบครองอะไรก็ตามบนโลกใบนี้ที่ตัวเองต้องการได้หรอก
เสียงเอฟเฟกต์กีตาร์ Distrotion สุดสกปรกของวง Oasis ดังลอยขึ้นมาจากทีวีที่ถูกห้อยประดับอยู่เหนือหัวของร้าน ภาพการแสดงของ 2 พี่น้อง Gallagher ที่ดูก็รู้ว่าไม่ชอบขี้หน้ากันเท่าไหร่ในเพลง Supersonic กำลังบรรเลงอยู่ ร้าน Sold The World ในวันและเวลาที่ไม่มีลูกค้า แต่ครบไปด้วยเหล่า Crew ของโจ้และเสื้อผ้าที่แขวนอยู่เต็มราวนั้น ทำให้รู้สึกเหมือนฐานทัพของตัวละครในคอมิค Young Adualt สักเล่ม และเนื้อหาก็คงจะพูดถึงเหล่าเด็กหนุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโลกนี้ด้วยเสื้อผ้าล่ะมั้ง เออหน้าตาของความเป็น Sold The Wolrd มันโคตรยูนีคเลยว่ะ (เราคิด)
เมื่อเพลงจบลง “โจ้เติบโตมาในสังคมแบบไหนถึงกลายเป็นคนที่ชอบแฟชั่นวินเทจ?” คำถามแรกที่ต้องการคำตอบก็ถูกปล่อยออกไป และมันพาเราย้อนเวลากลับไปเจอโจ้ในวันที่ไม่มีนามสกุล Sold The World ต่อท้ายแทบจะในทันที
ผมเกิดในครอบครัวที่เป็นคนจีน แต่ว่าไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับการค้าขายเลยนะ และโตมาแบบเด็กดีเดินตามคำสอนของอาม่ากับอากง จนพอมาถึงจุดที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่นผมต้องย้ายบ้านจากโซนเจริญกรุงมาอยู่ในโซนอ่อนนุช ต้องเปลี่ยนโรงเรียน และเปลี่ยนสังคมใหม่ จากตรงนั้นก็เริ่มเป็นจุดเปลี่ยน
จุดเปลี่ยนที่ว่าทำให้เด็กเรียนดีคนหนึ่งกลายเป็นเด็กเกเร และมันมาพร้อมกับ Keyword สำคัญในชีวิตของโจ้ที่จะติดตัวเขาไปตลอด ‘ความอยากมี-ความอยากได้’ คำที่เป็นทั้งยาพิษและเป็นเหมือนคำวิเศษในเวลาเดียวกัน โจ้อยากมีทุกอย่างที่เพื่อนวัยเดียวกันกับตัวเองมี และนั่นนำไปสู่การหาเงินครั้งแรกในชีวิตตอนอายุ 14 (ม.2) เริ่มจากล้างจานในร้านอาหารค่าแรงวันละ 80 บาท ได้เข้าไปทำงานกับรุ่นพี่ในคลังวิลล่า อดออมเงินเดือน 2 เดือนแรก 16,000 บาท เพื่อซื้อมอเตอร์ไซค์ตามเพื่อน “มันเป็นมอเตอร์ไซค์คลาสสิกทรงแบบ Honda C70 ผมไม่แน่ใจว่าความชอบในความเก่านี้มาจากไหนแต่ก็เริ่ม ๆ ชอบความวินเทจมาจากตรงนั้น” แน่นอนว่าเมื่อมีรถที่สวยแล้วก็จำเป็นที่จะต้องมีแฟชั่นที่ตอบโจทย์ตามมา
พอมีรถเราก็มาสนใจในเรื่องเสื้อผ้า เพราะต้องการให้ตัวเองเป็นเด็กที่ดูมีอะไรขึ้นมา ผมก็ได้ไปเจอกับพี่คนหนึ่งที่เป็นพ่อค้า ซึ่งผมชอบสไตล์การแต่งตัวของเขามาก ใส่หมวกยุคเก่า เสื้อยืดที่เป็นผ้าบาง พี่เขาก็จะ Selected รองเท้า Converse Jack Purcell Made In USA ขายในร้านตัวเอง ก็ไม่รู้ว่าเขาแต่งตัวแบบที่เรียกว่าอะไรนะจนทีหลังมาถึงได้เข้าใจว่ามันคือวินเทจ
โจ้ต่อยอดความชอบในแฟชั่นวินเทจที่ได้เห็นครั้งแรกด้วยสิ่งที่ใกล้ตัวและง่ายที่สุดต่อตัวเอง ‘ดนตรี’
ผมตั้งต้นจากความชอบของตัวเองก่อน ด้วยความที่เราเริ่มฟังเพลงแนวร็อคตั้งแต่ต้น ถ้าจำไม่ผิดวงแรก ๆ คือ Oasis ก็รู้จักว่าสองพี่น้องกัลลาเกอร์แม่งเท่มาก ๆ จากนั้นก็พัฒนามาเป็น Guns N’ Roses / Metallica แล้วก็ Nirvana สมัยนั้นไอดอลของทุกคนคือ Kurt Cobain แล้วเคิร์ทก็เป็นคนที่ทำให้เราสนใจสไตล์ของเขา ไม่ว่าจะเสื้อ รองเท้า หรือกางเกงยีนส์ ผมก็ซื้อเสื้อในแบบที่ตัวชอบเก็บมาเรื่อย ๆ รวมถึง ‘เสื้อวง’ ด้วย
ถึงจะเริ่มต้นเข้าสู่แฟชั่นวินเทจด้วยเสื้อวงและทำธุรกิจขายเสื้อเป็นหลักในปัจจุบัน แต่จุดเริ่มต้นในการทำอาชีพพ่อค้าของเขากลับเป็นการขาย ‘รองเท้า’ อาจจะดูเหมือนเร็วไปหน่อยที่จะพูดถึงชีวิตในพาร์ทนั้นของเด็กหนุ่ม แต่มันเป็นเพราะโจ้เริ่มต้นเส้นทางในอาชีพของตัวเองตั้งแต่เรียนอยู่ ม.ปลาย เท่านั้น !
ผมเริ่มมาเป็นพ่อค้าช่วงมัธยมปลาย ขายจากกลุ่มใน FACEBOOK ที่ชื่อว่า Up Your Mind เป็นกลุ่มที่สามารถขายของได้ทุกอย่าง โดยเทคนิคการขาย Signature ของกลุ่มคือ ‘การเสนอราคา’ สิ่งนี้จะต่างกับการประมูลตรงที่เมื่อพ่อค้าลงของแล้ว ถ้าราคาที่คนในกลุ่มเสนอมาไม่ใช่เลขที่เขาพอใจ ก็ไม่ต้องปิดการ ขายก็ได้
คลังสินค้าของโจ้ตอนมัธยมถูกสต็อกไปด้วยไอเทมหลากหลาย รองเท้า / กางเกงยีนส์ / ผ้าเช็ดหน้า / แหวน / เข็มขัด / แว่น ที่เขาไปตามล่าจากหลาย ๆ ที่ทั่วกรุงเทพด้วยมอเตอร์ไซต์คู่ใจ ไม่ว่าจะกรมชลฯ / ตลาดโรงงานยาสูบพระราม 4 หรือ พันธุ์ทิพย์-งามวงศ์วาน ซึ่งไอเทมหลาย ๆ ชิ้นเป็นของวินเทจแหละ แต่ว่าเพราะว่าในช่วงเวลาที่ออนไลน์เพิ่งจะเริ่มต้นคำว่าวินเทจยังไม่ได้แพร่หลาย แล้วจริง ๆ ก็เพิ่งจะเป็นคำที่ถูกใช้ประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว หลังจากที่โจ้เป็นพ่อค้าได้ 2-3 ปี
ด้วยความที่ตัวเองพอมีความรู้เรื่องกางเกง Levi’s ระดับนึง ก็เลยเลือกสิ่งนี้เข้ามาขาย ซึ่งพอจะได้ของหลุดอยู่บ้าง เช่น Made In USA ถ้าในกลุ่มที่เขาซื้อขายกันจริง ๆ ก็จะอยู่ที่ประมาณ 500-800 บาท แต่เราซื้อมา 300 บาท แค่เปิดเสนอราคาเริ่มต้นก็ตั้งที่เลขนี้แล้ว ผมก็จะเน้นที่รองเท้า Converse ที่เป็น Made In USA เป็นหลัก อาทิตย์นึงก็ลงขายสักประมาณ 20 ชิ้น เลือกทำเป็นอาชีพเสริมเพราะว่ายังเรียนอยู่
ในยุคที่ยังไม่มีคำเรียกว่า ‘วินเทจ’ ลูกค้าที่หลงใหลในเสื้อผ้าเก่าก็จะคุ้นชินกับคำว่า Made in USA เป็นหลัก คำที่โจ้บอกว่าตัวเองเขามารู้ทีหลังว่าจะต้องเป็นเสื้อผ้าในปี 1995s / 1994s / 1990s ลงไป เพราะว่าในช่วงปี 1996 – 1997 อเมริกาไม่มีฐานผลิตอยู่ในประเทศตัวเองแล้ว
ผมจำได้แม่นเลยว่าประสบการณ์การได้ของหลุดครั้งแรกคือ Levi’s ริมแดง ที่ได้มาจากร้านทรงป้า ๆ ในพันธุ์ทิพย์ ซื้อมาราคา 300 บาท ปิดประมูลในกลุ่ม Up Your Mind โดยที่ไม่รู้เลยว่าถูกหรือแพงในราคา 8,000 บาท ท่วมมาก ! เป็นความพีคที่สุดแล้วสำหรับเด็กม.6 คนหนึ่ง แต่ถ้าพูดกันในปัจจุบันราคา 8,000 บาทสำหรับริมแดงถือว่าหลุดมาก ๆ ยังไงก็ต้องเริ่มที่ 30,000 บาท และจริง ๆ ตัวเลขนี้บางครั้งก็อาจจะเอาไม่อยู่แล้วด้วย
ไม่มีอะไรถาวร ยิ่งโดยเฉพาะธุรกิจเสื้อผ้าที่ยอดขายส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการหมุนของเทรนด์แฟชั่นที่หมุนเร็วระดับเดือนต่อเดือน เมื่อโจ้ขึ้นมหาวิทยาลัยปี 1 กระแสของกลุ่ม Up Your Mind ก็ซาลงไปพร้อมกับการมาแทนที่ของวัฒนธรรม ‘ไลฟ์สด’ วิธีการขายบนโลกอินเทอร์เน็ตที่ได้ผลมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน
การไลฟ์สดบน FACEBOOK ในช่วงแรกจะไม่เห็นคนขายเสื้อเลย จะเป็นการไลฟ์ทำเพลงหรือ Entertrainment เป็นหลัก ซึ่งผมมองเห็นจุดนี้เป็นอันดับ 1 เลยว่ามันจะเป็นช่องทางที่ดีในการขายเสื้อผ้า ประกอบกับว่ารุ่นพี่ของเราส่วนหนึ่งก็เริ่มมาไลฟ์ใน FACEBOOK กันแล้ว ซึ่งผมเองก็พอมีของถึงจะไม่ได้เยอะแต่อยากลองดูก็จัดไลฟ์ในหอมหาวิทยาลัยเลย
ของที่ไลฟ์ขายก็จะเน้นที่รองเท้าเป็นหลัก Converse / Nike เป็นสไตล์วินเทจทรง Cortez พื้น Waffle เอาจริงผมไม่ได้ลงลึกข้อมูลมากแต่พอรู้ว่าทรงนี้เป็นดีไซน์เก่า ใส่แล้วเข้ากับกางเกง Levi’s เสื้อยืด มันยังไม่ได้เป็นวินเทจจริง ๆ แต่มันเป็นแนวการแต่งตัวที่หากว่าตอนนั้นเดินจตุจักรจะเห็นคนแต่งตัวคล้าย ๆ กันหมด
ผมไลฟ์สดครั้งแรกด้วยการขายของ ‘เก็บ’ เป็นรองเท้าของตัวเองที่ซื้อมาตั้งแต่สมัย ม.4 – ม.5 แต่ตอนที่ไลฟ์ก็ไม่ได้มีหัวการค้าอะไรขนาดนั้น เริ่มทำเพราะว่าอยากลองทำดูเฉย ๆ ไม่มีชื่อร้านด้วย จัดไลฟ์ในเฟซส่วนตัวนั่นแหละ ไลฟ์ครั้งแรก ๆ ด้วยรองเท้าคู่ละ 500-800 บาท ซึ่งสภาพคือเน่าไม่ไหว เราก็ลองคุยไปเรื่อย ๆ ในไลฟ์ ลองยกของขึ้นมาขายดู แม่งขายได้ 3,000 บาท ครั้งแรกก็ท่วมแล้วครับ ช่วงเวลาไลฟ์ขายของใน FACEBOOK ตอนมหาวิทยาลัยจึงสำคัญกับชีวิตของผมมาก เพราะว่าเป็นจุดเริ่มที่ทำให้รู้ว่าเราต้องเป็นพ่อค้าเต็มตัวได้แล้ว
ถ้าใครเป็นแฟนคลับ Sold The World ไม่ว่าจะลูกค้าหรือติดตามคอนเทนต์ที่โจ้กับแก๊งอัพเดทเทรนด์ Internet อยู่ตลอด ก็จะเห็นเลยว่าสกิลแห่งอนาคตในการขายของโจ้ถูกสะสมตั้งแต่ช่วงเวลานี้ ก่อนที่จะกลายเป็น Signature ของ Sold The World ที่เก่งกาจมากในการทำไลฟ์ขายของยังไงให้สนุก
และแล้วคำว่า ‘ความอยากได้-อยากมี’ ก็ย้อนกลับมาหาโจ้อีกครั้งในวันที่เขาเริ่มคิดกับตัวเองว่าน่าจะสามารถเป็นพ่อค้าเต็มตัวได้ และกำไรจากการขาย Converse ก็หลั่งใหลเข้ามาเรื่อย ๆ โจ้ต้องการ Converse ตอบสนองความหลงใหลในรองเท้าแบรนด์นี้เป็นของวตัวเอง และพอซื้อมากเข้า ๆ กลายเป็นว่าตัวเองก็กลายเป็นพ่อค้าขึ้นมาจริง ๆ จัง ๆ ยิ่งกว่าเดิม “ผมไลฟ์ขายใน FACEBOOK ไปเรื่อย ๆ จนเข้าสู่จุดพีคมีคนดู 4,000” ตรงนั้นล่ะทำให้โจ้เปิดเพจ Converse Is Here พร้อมกับศึกษาความวินเทจของรองเท้า Made In USA อย่างจริงจัง
Converse Is Here จะเป็นร้านที่เลือก Converse วินเทจ Made In USA มาขายเป็นหลัก ตอนนั้นคำว่า ‘วินเทจ’ ก็เข้ามาแล้ว ทีนี้มันก็มีเหตุการณ์พีคขึ้นมาอีกแล้ว ผมสามารถขาย Converse คู่นึงที่ตอนแรกเราตั้งใจซื้อมาเก็บ ปิดไปเกือบ 200,000 บาท !
รองเท้าคู่นั้นคือ Converse Jack Purcell 1960 ที่ซื้อมาจาก Collector คนหนึ่งในราคา 110,00 บาท คือราคาโหดจัดแบบที่ผมก็ไม่รู้ตัวเองเลยว่าทำอะไรลงไป เป็นรองเท้า Deadstock พร้อมกล่อง สภาพมือหนึ่งไม่เคยผ่านการสวมใส่ เป็น Converse รุ่นที่ที่ทำร่วมกับ B.F. Goodrich ยี่ห้อยางรถยนต์
อาจเป็นเพราะต้องการไอเทมวินเทจที่เป็นตัวแทนของ Goal Achievement บางอย่าง โจ้ให้เหตุผลที่ซื้อรองเท้าคู่นั้นกับเราว่า เป็นเพราะรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในจุดที่สูงสุด มีคนรู้จักกว้างขวางมาก ไลฟ์รองเท้าคู่ไหนก็ขายได้ตลอด แถมตอนไลฟ์สดคนดูก็เยอะ พีคในระดับที่ถูกเรียกว่า ‘โจ้ Converse’ ในเวลานั้น
พอซื้อ Converse Jack Purcell 1960 เราก็ถ่ายอวดลงโซเชียลเลย มีรูปเลียรองเท้าด้วยคือเกรียนจัดครับผม 555 แล้วพอหลังจากถ่ายรูปนั้นไปสักพักเท่านั้นล่ะ โห ! สายตรงโทรมาสามสายไหม้ ๆ เลย แล้วผมไม่ได้รับสายแรกเพราะว่าติดไลฟ์สดอยู่
พอลงไลฟ์เสร็จปุ๊บสายที่สองก็โทรเข้ามา คำแรกคือ “คู่ที่ลงใน FACEBOOK ขายไหมราคาเท่าไหร่” ผมลองพูดเล่น ๆ ว่า “แสนเก้าครับพี่” แล้วเขาตอบกลับมาว่า “เดี๋ยวพี่เข้าไปดู” เดี๋ยวนั้นเลย ซึ่งทำให้ผมเสียใจกับสายแรกที่ปฏิเสธไปมากนะ
เชี่ย ! หอพักผมอยู่จรัญ เขาขับรถมาจากนนทบุรีเพื่อขอดูตัวจริง พร้อมกับถามด้วยนะว่าเอามัดจำมั้ย แล้วลูกค้าคนนี้เขาไม่ได้เล่นของวินเทจขนาดนั้นอะ ปกติเขาจะใส่แบรนด์เนม แล้วคู่นี้เรียกว่าผมไม่ได้โม้ไม่ได้พูดขายเลยดีกว่า แค่ถ่ายรูปลงใน FACEBOOK ส่วนตัว จากนั้นผมก็เลยโทรไปหาสายแรกบอกขอโทษ จริง ๆ ไม่ได้อยากจะขาย แต่พอพูดไปว่าแสนเก้าอีกคนเขาเอาจริง คนแรกเขาก็โกรธผม “ทำไมไม่บอก ? แสนเก้ากูก็ซื้อ” เขาพูดอย่างนี้เลย สรุปว่าราคาที่ไปจบจริง ๆ ก็คือ 189,000 บาท ลดให้สายที่สองไป 5,000 บาท
After Effect ที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ที่สามารถขาย Converse Jack Purcell Deadstock 1960s ท่วมได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในตัวโจ้ที่เราเรียกมันว่าการ Coming Of Age อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งเวลาได้ประจวบเหมาะตรงที่เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนโจ้เรียนอยู่ปี 4 และหมายถึงการเป็นพ่อค้า Converse มาเป็นเวลา 4 ปีด้วยเช่นกัน
ทางแยกของเด็กจบใหม่กำลังหายใจรดต้นคอของเด็กหนุ่ม ‘ความฝัน’ หรือ ‘สิ่งที่เรียนมา’ คือสิ่งที่โจ้ต้องตัดสินใจให้กับอนาคตของตัวเอง ตอนจบของเรื่องนี้ก็ถูกสปอยล์ล่วงหน้าไปตั้งนานแล้วล่ะ แต่ให้โจ้เป็นคนพูดเองอีกครั้งชัด ๆ ดีกว่า
ผมเรียน Interior วิทยาลัยเพาะช่าง ซึ่งเอาจริง ๆ สายงานนี้เงินดีมากนะ แล้วตัวเราเองก็มีคอนเนคชั่นพร้อมแล้วด้วย แต่ด้วยความที่ตอนไปฝึกงานมันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกดีต่อการทำงานนี้เลย สุดท้ายผมก็เลือกที่จะทำตามความฝันของตัวเอง เปลี่ยนมาเป็นอาชีพพ่อค้าแบบเต็มตัว
จุดเปลี่ยนสำคัญอีกอย่างคือตอนเรียนจบผมมีลูกชาย เป็นสิ่งที่ก็เริ่มที่จะต้องฮึดขึ้นมา การค้าขายของเราแม่งก็ต้องแข็งแกร่งขึ้น มั่นคงขึ้น ผมจึงทำการตั้งเป้าต่อไปว่าอยากจะมี ‘หน้าร้าน’ เป็นของตัวเอง
ด้วยความที่ผมเป็นเด็กตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์มากือบ 10 ปี เดินทุกเสาร์-อาทิตย์ตั้งแต่ที่ตลาดเพิ่งเปิดใหม่ ๆ แล้วด้วยความที่บ้านเราอยู่ใกล้ ๆ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมมาลุยธุรกิจตรงล็อค 7 ที่เรานั่งกันอยู่ เพราะรู้ว่าตรงไหนเป็นจุดที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง
แล้ว Converse is Here ก็จะมาเปิดร้านที่นี่อย่างเป็นทางการ ผมก็เดินเรื่องทำการเซ้งร้านต่อจากเจ้าของเก่า ลุยตกแต่งร้านอย่างไว ช่วงเวลาแปปเดียวเท่านั้นล่ะ ‘โควิด’ ก็มา
ในเรื่องโชคร้ายนี้ไม่ได้มีแค่โควิดเป็นศัตรูเดียวต่อความฝันของเด็กหนุ่ม เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นดูจะหนักเสียยิ่งกว่า
จุดดาวน์หนักจริง ๆ ก็คือรองเท้าที่เราสั่งไปล็อตใหญ่ 300,000 บาท ซึ่งกำลังเดินทาง Shipping มาไทยกับเรือขนส่งเกิดคว่ำขึ้นมา ทุกสิ่งจมหายไปกับทะเล ก็เรียกว่าเกือบเกลี้ยงตัวได้เลย ผมมีรองเท้าเหลือไม่ถึงสิบคู่อยู่กับตัว คู่ละประมาณหมื่นกว่าบาท เท่านั้นเลย
โจ้พบกับตัวเองว่าการเป็นพ่อค้าขายรองเท้าของเขาเดินมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว บวกกับที่กระแสของรองเท้า Converse เองก็เริ่มซาลงเรื่อย ๆ คอนเนคชั่นที่โจ้เคยมีหายไป และเอาจริง ๆ ที่อาจจะสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ ก็คือเทรนด์แฟชั่นที่หมุนไปทางอื่นพร้อมทิ้งสินค้าที่เคยเป็น Bestseller ของเขาเอาไว้ข้างหลังเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าสถานการณ์นี้อาจจะเป็นอุปสรรคใหญ่ครั้งแรก ๆ ตั้งแต่เริ่มทำอาชีพพ่อค้า แต่ด้วยประสบการณ์ที่สะสมเอาไว้ตั้งแต่เด็กทำให้โจ้หาทางออกได้เร็ว
ด้วยประสบการณ์ที่เรารู้ว่าของมือสองมันสามารถขายได้หมดทุกอย่าง Sold The World เริ่มต้นจากการเปิดกระสอบลูกแรก 3,000 บาท แบบที่ไม่รู้อะไรเลย แม่งคือความกระเสือกกระสนจะทำยังไงก็ได้ให้มีของที่จะมาลงร้านให้ได้เยอะ ๆ ซึ่งเสื้อกระสอบก็เป็นทางที่ดีทางหนึ่งเท่านั้นเอง เอาจริงตอนที่ตัดสินใจเปิดลูกแรกก็ลืมไปว่าเปิดมาขายใคร เพราะตลาดช่วงโควิดไม่มีคนเดิน แถมตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์มันเป็นตลาดกลางคืน ตอนนั้นเคอร์ฟิว 21:00 ทุกคนก็ต้องเข้าบ้านแล้ว
แต่สถานการณ์ก็ค่อย ๆ ดีขึ้นด้วยสกิลการขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่เรียนรู้และอยู่กับมันตั้งแต่ตอนมหาวิทยาลัย โจ้ย้ายแพลตฟอร์มมาปักหลักที่ INSTAGRAM แทน FACEBOOK เพราะรู้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้ค่อนข้างมีเทสและพร้อมจับของที่ได้ราคาดีกว่า แล้วโจ้ก็เข้าสู่จุดพีคเหมือนแต่ก่อนอีกครั้ง คนดูหลักสามร้อยที่ถือว่าเยอะมากเพราะว่าเป็นคนจริงล้วนไม่มีบอท
ผมก็ Selected ของตามประสาตัวเอง เปิดกระสอบ อะไรที่ไม่สวยเราก็ไม่ขายก็เอาไปขายส่งให้คนอื่น อะไรที่มันสวยเราก็ Selected ขึ้นมา เลือกจากความชอบส่วนตัวเลย เสื้อการ์ตูน / เสื้ออนิเมะ / เสื้อวง / เสื้อแบรนด์กีฬา / แรก ๆ ก็มั่ว ๆ หลงทางไปอยู่สักพักนึงเหมือนกัน ควรที่จะขายอะไรดี สรุปแล้วเสื้อที่มันขายดีขายได้ที่สุดก็คือพวกเสื้อที่เป็นเหมือนในปัจจุบันเป็นเสื้อวงหรือการ์ตูน
จากเปิดกระสอบเราก็เริ่มจะไปหาซื้อ ‘งานชุด’ งานชุดก็คือเสื้อของคนที่เขาเปิดกระสอบเยอะ ๆ แล้วเอามาจัดเป็นชุดขาย ชุดเสื้อวง / ชุดการ์ตูน เราเริ่มที่จะรู้จักของแล้วและตอนนั้นเสื้อวินเทจก็เริ่มจะมีมูลค่าในตลาด ด้วยความที่ตัวผมเองก็เริ่มเก็บเสื้อวินเทจในช่วงก่อนที่จะเลิกขายรองเท้า ใน IG ตอนนั้นน้อยคนที่จะรู้ มันเหมือนว่าเราไปเปิดโลกให้เขาเหมือนกันนะ ให้รู้ว่าเสื้อแนวนี้คือเสื้อวินเทจ
หลังจากที่เดินทางมาคนเดียวใน DAY1 จนได้เจอกับใบเตยแฟนตอนเรียนมหาวิทยาลัย การมาถึงของ Sold The World ที่มีสเกลใหญ่ที่สุดตั้งแต่ทำอาชีพพ่อค้า ทำให้เส้นทางสายนี้ต้องการคนเข้ามาช่วยเพิ่ม
ตลอดมาผมขายเสื้อผ้ากับแฟนแต่แฟนจะไม่ได้ออกตัวมาอยู่ข้างหน้ามาก เขาเป็นสายซัพพอร์ตผมมาตลอดทำด้วยกันมาตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัย และเขาก็เป็นคนที่แนะนำว่าทำ Sold The World คนเดียวมันเหนื่อยเกินไปต้องมีคนช่วย และเขาก็มีคนรู้จักชื่อ ‘โก๊ะ’ ซึ่งจริง ๆ แล้วโก๊ะเป็นพ่อค้าคนดังมาก่อน เขาขายเสื้อ Harley ทางออนไลน์ แต่ความพีคก็คือเขาทำตอนที่ตัวเองเป็นพระ !
ความสำคัญของพนักงานคนแรกของ Sold The World ชื่อโก๊ะ เรียกว่าเป็นพาร์ทเนอร์ที่ดีที่สุดของโจ้ และเป็นชาวแก๊งที่ช่วยกัน Set ความเป็นตัวตนของร้าน ไปจนถึงเข้ามากู้วิกฤติของร้านเอาไว้ในช่วงที่ทุกอย่างเกือบพังทลายลงไป (ซึ่งเราจะเล่าทีหลังต่อจากพาร์ทนี้) คนที่จะเล่าเรื่องของโก๊ะได้ดีที่สุดก็ต้องเป็นตัวของเขาเอง
โก๊ะ : ตอนที่เป็นพระขายเสื้อ Harley ออนไลน์ลูกค้าไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นผม ผมนั่งอยู่หลังกล้องหลบมุมไม่ให้คนเห็น แล้วข้างหน้ากล้องก็จะเป็นน้องของผมแท้ ๆ คอยดีเทลเสื้อให้ลูกค้าในไลฟ์ ผมก็จะคอยตะโกนอยู่ข้างหลัง ซึ่งผมไม่ได้โยมจ๋าอะไรแต่พูดแบบประสาพ่อค้าคนหนึ่งเลย
เจ้าอาวาสของวัดเขาอยากให้เรามีอาชีพติดตัวเพราะผมไม่ได้บวชเรียนตลอดชีวิต ไม่ได้บวชเอานิพพาน เขาก็เลยปล่อยให้เราทำ ก็มีแซวกันตลอดว่าขายดีมั้ยอะไรอย่างนั้น
โก๊ะ : ที่ตอนนั้นเลือกขายเสื้อ Harley เพราะผมก็อยากขายอะไรที่มันเป็น ‘หน้าเดียว’ เสื้อกีฬาก็เสื้อกีฬาอย่างเดียว / เสื้อวงก็เสื้อวงอย่างเดียว / เสื้อการ์ตูนก็การ์ตูนอย่างเดียว / Harley ก็ Harley อย่างเดียวไปเลย เสื้อ Harley มันมีราคาตลาดสตาร์ทอยู่ที่ประมาณ 350 ถึง 500 แล้วผมได้ทุนมาตกตัวละ 250 ผมเปิดประมูลตัวละ 200 ยังไงก็กำไร ผมคิดง่าย ๆ แบบนั้นครับ กำไรต่อคืนขายพีคสุดจัดเซ็ทมาประมาณแสนนึง ขายก็กำไรสองหมื่น ตอนนั้นเป็นพระแต่ว่ามีลูกน้องก็เลยให้เป็นค่าเทอมเด็กที่มาช่วย เพราะผมแค่อยากทำ ได้มีอาชีพต่อยอดหลังจากที่สึกก็พอแล้ว
ชีวิตหลังจากสึกแล้วของโก๊ะก็ใช้สกิลที่ได้จากตอนทำโปรดักชั่นโปรโมทให้กับวัด เข้าไปเป็นผู้ช่วยช่างภาพฟรีแลนซ์ เข้าไปทำงานที่ Workpoint แต่พอมีโควิดก็เลยต้องออกมา หาเงินจากการทำงานที่ร้านทองแบบมนุษย์ออฟฟิศ เข้า 8 เลิก 3 ทุ่ม ชีวิตแสนน่าเบื่อทำให้เขาโทรหาใบเตย (แฟนของโจ้) ในจังหวะที่เธอต้องการคนมาช่วยโจ้สตาร์ทออกตัว Sold The World พอดี ถึงแม้ว่านั่นหมายถึงการลดเงินเดือนจากที่เคยได้ 20,000 เหลือ 8,000 โดยต้องหาคอมมิชชั่นเพิ่มเอาเองก็ตาม
โก๊ะ : ผมก็เลยตัดสินใจออกจากตรงนั้นแล้วก็มาอยู่กับโจ้ที่ Sold the World ประมาณ 3 ปีได้แล้วครับ ผมได้เจอเพื่อน ได้เป็นตัวเองเต็มที่ก็พอแล้ว แล้วก็ได้เงินจำนวนที่โอเค มีบ้านผ่อนบ้านได้ มีใช้ค่าครองชีพได้ แล้วก็มีชื่อเสียงประปราย Sold the World ดังแล้วก็คนก็รู้จักเราในนาม Sold the World ”
โจ้ : หน้าที่ของโก๊ะคือทำทุกอย่างเหมือนเป็นผมอีกคน พนักงานประจำคนแรกในตำแหน่งเบ็ดเตล็ด ตอนกลางคืนวันจันทร์-อังคารเราไลฟ์สดด้วยกัน โก๊ะเขาจะนอนที่ร้าน ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังนอนอยู่ เขาตื่นเที่ยงฮาร์ดคอร์จัดเลย บ่ายโมงต้องเริ่มงานละ นอนตอนเที่ยงคืนหรือตีหนึ่งครึ่ง Process คร่าว ๆ ก็จะเป็น เริ่มจากช่วยผมแพ็คของ ถ่ายรูปเสื้อโพสต์ลงออนไลน์ เตรียมทำความสะอาดหน้าร้าน เปิดร้าน เพราะว่าคนก็เริ่มกลับมาเดินตลาดละ
บททดสอบในความฝันของโจ้กลับมาอีกครั้งในช่วงเวลาที่เขากับโก๊ะทำงานอย่างเข้าขากัน เพื่อนคนนี้ตัดสินใจลาออกเพื่อตามหาตัวเอง เป็นช่วงเวลาเดียวที่ Sold The World กำลังเติบโตขึ้น พร้อมกับ ‘ความฝันครั้งใหม่’ ที่ผุดขึ้นในตัวของโจ้
มีช่วงที่โก๊ะลาออกไปประมาณ 11 เดือน ผมก็ฟอร์มทีมใหญ่ขึ้น มีพนักงานประมาณ 5 คน เราขยับขยายด้วยการทำทีม Content Creator เรามีแบรนด์เสื้อผ้าที่งอกขึ้นมาเพิ่ม ก็ต้องมีทีม Graphic Design มีทีมอยู่หน้าร้าน ทีมออนไลน์ ซึ่งคนค่อนข้างเยอะสำหรับร้านเสื้อผ้าเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมใฝ่ฝันที่จะไปสู่จุดที่ใหญ่กว่าที่ตัวเองตั้งเอาไว้ ทำให้มี Fixed Cost มหาศาล ผมเชื่อว่าไม่มีร้านไหนบ้าทำแบบผม
ด้วยความใจร้อนก็เลยทำหน้าร้านเป็น 3 ล็อค ทุบออกไปด้านหลังแล้วต้องรีโนเวทใหม่หมดเลย ซึ่งมันไม่ใช่การต่อเติมที่เสียแค่แสนสองแสน มันเป็นการปิดร้านเพื่อทำใหม่ สรุปว่าตอนทำโดนผู้รับเหมาโกง 2 เจ้าติด ซึ่งจริง ๆ ตอนนั้นหน้าร้านกำลังดีมากด้วยนะ ชาวต่างชาติเขาเข้ามาที่ตลาดรถไฟก็มี Sold The World เป็นหนึ่งในร้านที่ต้องมา Check In แต่ว่าพอเอาเงินไปขยายทำร้านรายได้มันหายไปช่องทางนึงเลย ผมต้องปิดร้านไปสองเดือนเต็ม ๆ
แต่แล้วความฝันครั้งใหม่ของโจ้ถูกพับเก็บเอาไว้เพราะว่าเงินที่ถูกเอามาใช้ต่อยอดความฝันนั้นหายวับไปกับตา แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ล้มเป็นครั้งแรก โจ้ก็ยังคงมีวิธีจัดการกับสิ่งนี้ในแบบของตัวเอง แต่ว่าสิ่งที่ต่างไปในครั้งนี้ มันคือการที่โจ้ไม่สามารถทำได้ด้วยคนเดียว และเขาต้องการเพื่อนคนสำคัญของตัวเองกลับคืนมาอีกครั้ง
ผมหิ้วเสื้อที่มีในร้านออกตระเวณขายลูกค้าที่เขาเป็น Supporter ที่สนับสนุนเรามาตั้งนานแล้วและเป็น VIP ของ Sold The World พอขายยอดก็เอามาทำร้านใหม่ทั้งหมด ทีนี้เสื้อในร้านจะเหลือน้อยมาก ๆ น้อยจนเข้าขั้นวิกฤต หลังจากนั้นพอร้านทำเสร็จแต่เสื้อแม่งไม่มีขาย ก็เลยเข้าสู่ทางตัน
ทีมงานรวมตัวกันทำงานที่บ้านผม เหตุการณ์คือทุกอย่างแม่งหดหู่ไปหมด มีทีมงานออกไปสองคน มันไม่ไหวมันกดดัน แล้วเราเองก็รู้สึกว่าบริหารได้ไม่ดีที่ทำให้คนอื่นเครียดไปด้วย จนสุดท้ายแล้วผมมาคลายล็อคตรงที่ต้องเอาโก๊ะกลับมาช่วยทีม
ในหัวตอนนั้นคือเอาของออกให้หมดก่อน หน้าร้านจะเป็นยังไงก็ตามแต่ เราเอาให้มันมียอดเพื่อที่จะดูแลทีมงานให้ได้ทุกคน ประจวบเหมาะพอดีกับมีผู้ใหญ่ใจดีเขาเรียกเราไปดูของ ซื้อของหลักล้านเลย ซึ่งตอนนั้นผมไม่มีเงินหรอกนะ ก็เลยใช้วิธีเหมือนเครดิตให้เขาก่อน โดยเรามีแผนการไปคุยกับเขา จนกลายเป็นช่องทางที่กู้วิกฤตกลับมาให้มันเป็น Sold the World ได้อีกครั้ง
แล้วก็เข้าสู่จุดพีคสุด ๆ คือการ ‘ไลฟ์สด 24 ชั่วโมง’ ใน Tik Tok การดึงโก๊ะกลับเข้ามาอีกครั้งเพราะว่าเขารู้เทคนิคของผมทุกอย่าง แล้วก็สนับสนุนผมได้ดีมาก ๆ เป็นเหมือนตัวปลุกปีศาจให้ทีมที่ดาวน์ไปแล้วกลับมีไฟลุกขึ้นมาอีกครั้ง ไลฟ์สด 24 ชั่วโมง ทำให้เสื้อราคาประมาณ 350 ที่เราขาย ๆ กันอยู่กลายเป็นท่วมแบบ 800 – 1,500 บาท เพราะว่าคอนเทนต์ของ Tik Tok ชอบแบบนี้
คอนเทนต์ก็มีส่วนต่อมูลค่าของโปรดักส์ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนผมก็เชื่ออยู่ลึก ๆ ว่าที่ผ่านมาได้และมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเพราะ Supporter ทุกคน ไม่ว่าจะเพื่อน พี่ น้อง และไม่ว่าเราจะหา Content มายังไง เขาก็ยังซัพพอร์ตเราอยู่ดี เราเองก็เชื่อมั่นพร้อมซัพพอร์ตเขากลับด้วยการบริการในสไตล์ของเรา ให้รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของ Sold The World
สูตรสำเร็จในการสร้าง Brand Loyalty ของโจ้ก็คือความจริงใจ และไม่ได้หวังผลที่ต้องทำให้ลูกค้ามาซื้อให้ได้เป็นความสำคัญแรก
คำว่า ‘ลูกค้า’ ผมยังไม่อยากจะใช้เลย เพราะผมนับถือทุกคนเป็น Supporter บางคนที่ไม่ได้มีกำลังซื้อมากผมก็ทำให้เขาดูเลยว่าเขาก็ซื้อของเราได้ เขาอยู่กับพวกเราได้ แค่มากดแชร์ กดหัวใจ หรือกดดูคลิปเรา ก็เป็น Supporter ของผมแล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อของกันเลยด้วยซ้ำ
การทำธุรกิจที่ไม่ได้มองเรื่อง ‘กำไร’ เป็นปัจจัยหลักขนาดนั้น แล้วเป้าหมายสูงสุดของ Sold the World คืออะไร ?
ผมอยากให้ทุกคนที่เข้ามาได้รู้จัก Sold the World ก่อน ไม่ใช่ในรูปแบบของร้านค้าด้วยนะ มันคือในรูปแบบของกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่มีทั้งไฟต์ / โก๊ะ / อาร์ต / แบงค์ / ใบเตย มีทีมงานของผม มันไม่ใช่แค่โจ้คนเดียว แล้วผมก็อยากจะให้ทุกคนในทีมได้มีชื่อเสียงแตกขนานออกไป
มันจะดูเป็น Community ที่ใหญ่ขึ้นได้ มันไม่ใช่เชิงเรื่องของธุรกิจแล้ว เพราะเรื่องของส่วนธุรกิจมันก็มีสิ่งอีกมากมายที่เราจะทำ ไม่ว่าจะเป็นสาขา 2 -3 แต่ Pain Point หลักของผมที่อยากทำให้ได้คือทำให้ทุกคนมีชื่อเสียงขึ้น ทีมงานของผมต้องรู้สึกว่าอยู่ตรงนี้แล้วไม่ได้มาแค่เป็นพ่อค้า ไม่ได้มาแค่เอาเงิน ผมต้องการที่จะให้พวกเขาได้มีสเต็ปขึ้นไปแล้วก่อขึ้นมาเป็น Community ของแต่ละคน ผมมอง Business แยกจากกันเลย เพราะถ้าเราทำตรงนี้ได้ดีเงินก็จะไหลเข้ามาอยู่แล้ว
ระหว่างที่อ่านถึงบรรทัดนี้ถ้ายังมองไม่เห็นว่าแล้วผู้คนที่เป็นของ Sold The World เป็นแบบไหน หรือเราใช่คนประเภทเดียวกับโจ้และผองเพื่อนรึเปล่า เราสามารถตอบแทนโจ้ได้เลยว่า ‘ทุกคนคือ Sold The World ได้’ ขอแค่ได้เป็นเพื่อนกันก่อนก็พอ
โจ้ : Target ลูกค้าของ Sold The World ถ้าดูตามข้อมูลก็อายุ 25-35 แต่ผมยังเชื่ออยู่เหมือนเดิม Target ของผมจริง ๆ ก็คือสาย Supporter แบบไม่เกี่ยงอายุ เป็นคนที่พร้อมจะซัพพอร์ตเรา ถ้าเราพูดไปถึงแนว Stream เกม ก็จะมีคนโดเนท ผมว่าลูกค้าผมเป็นแนวนั้น และสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ Sold the World เป็นมากกว่า Sold the World เหตุผลหลักก็คือเพื่อที่ผู้ซัพพอร์ตผมจะได้ไม่ผิดหวัง เมื่อคุณก้าวเข้ามาใน Sold the World มันมีอะไรมากกว่าที่คิดนะ เพราะการซื้อเสื้อจนเบื่อมันมีอยู่จริง
โก๊ะ : ทุกวันนี้กลยุทธ์การขายไลฟ์สดใน Tik Tok ผมคิดว่ามันเป็นเหมือนรายการ คนที่เข้ามาดูไลฟ์สดของ Sold the World ไม่ได้ถามว่าขายยังไงนะ เขาพิมพ์คำว่า ‘เล่นยังไง’ เพราะเรามีกิจกรรมให้เขาเล่นตลอด จับสุ่มบ้าง-จับสุ่มก็คือเหมือนจับสุ่มกาชาปอง / กิจกรรมโปรโมชั่น / เสื้อทั้งไลฟ์ราคาเดียว / แต่ละวันการขายเราจะไม่ซ้ำกันเลย เขาอาจจะไม่ได้สนใจเสื้อวินเทจแต่อาจจะสนใจกิจกรรม พอเขาสนใจกิจกรรมเสื้อเห็นเสื้อในไลฟ์สวย ๆ ก็ทำให้เขาอยากซื้อ
การพูดคุยที่ยาวนานของเราทั้ง 2 คนดำเนินมาถึงอีกพาร์ทที่มีความสำคัญต่อตัวตนของ Sold The World นั่นคือ ‘เสื้อวินเทจ’ ไอเทมที่ไม่ใช่แค่ในไทยแต่ลูกค้าจากหลาย ๆ ประเทศต่างต้องการมาจับของที่โจ้กับทีม Selected ได้อย่างเก่งกาจ จน Display ของร้านมีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง
เพื่อเข้าใจความเป็น Sold The World แบบรอบร้าน ตั้งแต่บรรทัดนี้ลงไปจะเป็นการเลกเชอร์ Vintage Seller 101 By Sold The World เป็นเคล็ดลับบทเรียนวิชาวินเทจตลอดชีวิตของโจ้ Sold The World ในมุมของพ่อค้า ที่เราทำการ Bullet Question ให้อ่านกัน
นอกจากเสื้อมือ 2 แล้ว ที่ Sold The World จะมีเสื้อวินเทจที่สตาร์ทตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสน มีหลายแนว ตอนนี้ที่ฮิต ๆ มากเลยก็คือ ‘เสื้อวง’ แล้วเราก็จะมีเสื้อภาพยนต์ เสื้อการ์ตูน ไปจนถึงที่เรียกว่า ‘ลายมัน’ ที่มันไม่ได้เป็นเสื้อลิขสิทธิ์ของอะไร ลายที่มันดูสวย ไม่ว่าจะล้อเลียน ลาย sex ลายกัญชา เราสามารถ Selected มาขายได้หมดทุกอย่าง
ลายมันเป็นแนวที่คนเล่นน้อยสุดแล้วก็ใส่ง่ายกว่า ผมก็ยังมี Selected เก็บไว้ที่บ้านเลย มันเป็นเสื้อแนวที่หายากด้วย แต่ว่ามันไม่มีราคาตลาด ซึ่งลายมันบางตัวก็มีแบบที่เป็นมีลิขสิทธิ์ด้วยนะ แต่ส่วนมากมันจะเป็นภาพอาร์ต เป็นเสื้ออะไรไม่รู้ เสื้อไม่ดัง แล้วเป็นรุ่นเก่า 90s ตลาดโลกลายมันจะยังไม่ค่อยกว้างขวาง แต่จะไปกว้างขวางที่อเมริกา
เสื้อวินเทจ ‘ในกระแส’ กับ ‘นอกกระแส’ ในปี 2024
เสื้อวินเทจในกระแสถ้าพูดเลยก็คือ ‘เสื้อวง’ กระแสที่มาแรงมากก็ Nirvana / Red Hot Chili Peppers / Marilyn Manson / Pink Floyd / Metallica เสื้อวงพวกนี้มีของเข้าร้านเมื่อไหร่ไม่เกินนาทีไลฟ์ไปหมดเลย เรทราคาก็จะวิ่งสตาร์ทตั้งแต่สามพัน สี่พัน ห้าพัน แต่ถ้าในตลาดตอนนี้ถ้าขายดี ๆ สำหรับ Collector ที่ต้องการเก็บของเก็บตัวดี ๆ ก็จะเป็นลายที่อยู่ในกระแสซึ่งก็หลักหมื่นหมดเลย
วิธีตั้งราคาขายเสื้อวินเทจอ้างอิงทฤษฎีจากอะไรบ้างเพื่อให้มันท่วม
ต้นทุนเป็นหลักเลย ผมก็ต้องตั้งกำไรเผื่อหลาย ๆ อย่าง ‘หน้าร้าน’ ก็มีค่าใช้จ่าย Fixed Cost ซึ่งผมตีเป็นรวม ๆ 25% อย่างต่ำ แต่ถ้าบางตัวผมได้มาถูกมาก ๆ ถ้าได้กำไรมากกว่า 25% ก็ต้องทำ เพื่อที่จะพัฒนาต่อยอด แต่ Fixed Cost หลัก ๆ ถ้าเราขายต่ำกว่า 25% มันก็จะไม่โต ราคาที่เราเคยขายเราก็ต้องรู้อยู่แล้ว ก่อนที่เราจะซื้อเราก็ต้องรู้ต้นทุนของเรา
แล้วถ้าเราขอถามแบบไม่อ้างอิง Supporter อยากรู้ว่าการที่พ่อค้ามี Knowledge ในเสื้อวินเทจ มันช่วยอัปมูลค่าของที่จะขายได้ไหม
มีครับ สำหรับ Knowledge ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าเรา Selected มาแบบที่ไม่ได้รู้อะไรเลยก็ขายยากนะ บางคนก็ไม่ได้เก็ทว่ามึงเอาไรมาขายวะ แต่ด้วยปัจจุบันสังคมเสื้อยืดวินเทจมันโต ลูกค้าอาจไม่จำเป็นต้องรู้ข้อมูลอะไรเยอะ บางทีเขาเล่นด้วยคำว่า “คนนี้ใส่” ยกตัวอย่าง Star ของเสื้อวินเทจเลย Travis Scott / Lisa / A$AP Rocky / Justin Bieber เขาเล่นเพราะแบบนี้โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักวงนั้นด้วย อย่างตัวผมเองชอบเสื้อวง Oasis เพราะว่าตัวผมฟังวง Oasis แต่บางคนชอบลาย Metallica แต่เขาไม่ได้ฟัง Metallica ชอบเพราะลาย ชอบเพราะกระแส มีหลายแบบมากเลย
สำหรับตัวเองผมก็ต้องมี Knowledge เพราะสิ่งสำคัญในการขายของ ก่อนที่จะขายมันก็ต้องรู้ และมันสำคัญสำหรับผมด้วย ผมไม่ได้มีความคิดแบบว่าเม็ดเงินสำคัญที่สุด ซื้อมาขายไปให้ไว ๆ ทำให้ลูกค้าเชื่อว่าร้านเขาขายถูกก็พอ ไม่ ผมรู้สึกว่าถ้าเราทำอะไรให้ลูกค้าพอใจได้เราก็ต้องทำ เราก็ต้องมีข้อมูลให้ลูกค้าตลอดไม่ว่าเขาจะถามหรือไม่ อย่างน้อยเสียเงินกับร้านผมก็ต้องรู้จักสิ่งที่ซื้อไป
ถ้า Knowledge สำคัญกับโจ้ไม่ว่าจะในเชิงคุณค่าหรืออะไรก็ตามแต่ แล้วเสื้อวินเทจมันสามารถต่อราคาได้รึเปล่า
เสื้อวินเทจทุกตัวผมคิดว่าต่อราคาได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าต้นทุนตัวนั้นจะลดได้หรือลดไม่ได้ แต่วิธีการของ Sold The World เราจะใช้วิธีทำระบบออกเป็น 3 แบบ Member / VIP / WIP ตรงนี้มีส่วนในการลดเปอร์เซนต์หมดเลย Member ลด 5% / VIP ลด 10% / WIP ลด 10% (อ่านรายละเอียดเต็ม ๆ ได้ที่ลิงก์นี้ : https://www.instagram.com/p/Cw9bVjlxK1V/?img_index=1)
แต่การต่อราคาถ้าพ่อค้าจบได้ก็ขายเถอะ เป็นผมก็ขายนะ ถ้าราคาในสิ่งที่เขาต่อมามันทำให้เราได้รู้จักกับเขาได้ผมก็ลดให้ แต่ส่วนมากลูกค้าผมไม่ค่อยต่อ ถ้าหลายคนดูไลฟ์สดผมจะรู้ว่าน้อยมาก ๆ ที่เกิดการต่อราคา เหมือนเรา Selected มาโอเค แล้วสมนาคุณที่เรามีให้อีก มันไม่ต้องพูดกันอะ เสื้อวินเทจราคา 8,000 คุณเป็น Member ก็ลดอีก 5% แบบที่ไม่ต้องเอ่ยปากขอ
แต่โจ้ก็ไม่ได้มองว่าการต่อราคาเป็นสิ่งที่น่าเกลียด
ไม่น่าเกลียดเลยปกติมากสำหรับเมืองไทยนะ คนที่มาซื้อของจากต่างประเทศเขาจะรู้เลยว่าประเทศไทยคือประเทศที่ลดได้เยอะที่สุดแล้วในการ Selected เสื้อวินเทจ พี่ลองไปเดินที่ญี่ปุ่นดูไม่มีร้านไหนลดราคาให้เลย ยกเว้นคุณจะไปลดภาษี VAT 7% เอาเอง เสื้อวินเทจขายเต็มเม็ดเต็มหน่วยตลอด ประเทศไทยยังมีอารมณ์แบบว่า “My friend I discount I can discount.” ชาวต่างชาติเลยชอบมา
ถ้างั้นคุณค่าหรือเสน่ห์ของเสื้อวินเทจคืออะไรทำไมสิ่งนี้ถึงมีความหมายต่อใครหลาย ๆ คน
ใส่แล้วดูมีสไตล์ จริง ๆ มันไม่จำเป็นต้องมีราคาอะไรมากหรอกถ้าเราใส่แล้วดูมั่นใจ อย่างวันนี้ผมออกจากบ้านสมมติใส่เสื้อตัวที่ไม่ชอบออกมามันก็จะเขินปะ แต่ถ้าได้เลือกสิ่งที่มั่นใจนั่นคือสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตส่วนนึงเลย ผมต้องดูดีในสายตาของผมเองก่อน-ก่อนที่จะไปให้คนอื่นได้เห็นว่าสไตล์เราเป็นแบบไหน
Fit Check ! เสื้อวินเทจตัวที่เลือกมาวันนี้มีคุณค่ากับโจ้ยังไง
ขอขายของเลยละกันนะพี่ 555 เสื้อตัวนี้เป็น Collection ใหม่ของ Sold the World ชื่อคอลเลกชั่นว่า ‘JESUS PLAN – first chapter of the jesus’ ซึ่งยังไม่ได้ออกขาย เป็นแบรนด์น้องใหม่ของร้านที่กำลังพัฒนาอยู่
เราก็ให้ความสำคัญกับเสื้อคอลเลกชั่นนี้ตรงที่ว่าทำการเลือกเองหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความยาวแขน ตะเข็บ สีเสื้อ สกรีน ทรงเสื้อ พอใส่แล้วก็ทำให้ผมดูมีความมั่นใจมากขึ้น ผมชอบเสื้อวินเทจทรงนี้มากเลยนะ แต่หาซื้อไม่ได้ก็เลยทำเอง มันเป็นสไตล์วินเทจแต่ไม่ใช่เสื้อวินเทจ ซึ่งเสื้อแบบนี้ผมขายดีมากในช่วงนี้ ประเทศญี่ปุ่น มาเลเซียเขาให้ความสำคัญกับเสื้อมือหนึ่ง อย่างคนจีนเองเขาก็ไม่เล่นเสื้อมือสองแล้ว
วงการขายเสื้อวินเทจไทยในตอนนี้หน้าตาเป็นอย่างไรบ้าง
หน้าตาวงการวินเทจนาทีนี้ผมคิดว่าคนที่ยังอยู่ในออฟไลน์ก็อาจจะลำบากขึ้น ตรงที่กลุ่มเป้าหมาย ณ ปัจจุบันเขาเล่นมือถือเป็นหลักในการใช้ชีวิต เพราะงั้นคุณต้องมี Skill ในการขายออนไลน์ อย่างน้อยผมคิดว่า 80/20 เลยด้วยซ้ำ คุณปล่อย Skill หน้าร้าน 20% ก็พอ แต่อีก 80% คือ Skill ในการค้าขายออนไลน์ จะต้องมีคอนเทนต์ในรูปแบบที่แตกต่างในสไตล์ของตัวเอง เพราะลูกค้าก็เลือกเหมือนกัน คุณอย่าลืมว่าตัวเองมีของดีใช่ว่าจะขายได้เสมอไป ของดีมีทั่วโลกครับ อยู่ที่ว่าลูกค้าเขาจะเลือกซื้อใครแค่นั้นแหละ
ถ้างั้นความสำคัญของหน้าร้านยังจำเป็นอยู่ไหม
จำเป็นครับ การมีหน้าร้านสำคัญที่สุดก็คือทำให้ลูกค้าที่ซื้อออนไลน์ได้มาพบเจอกับเรา มีความเชื่อใจกับเรา เพราะหน้าร้านอยู่ตรงนี้ถ้ามีปัญหาเมื่อไหร่ก็เข้ามาหาได้เลย หรือจะอยากเจอแลกเปลี่ยนข้อมูลอะไรต่าง ๆ ก็ตาม
โลกออนไลน์มันเป็นตัวเราได้แค่ 70% แต่ว่าโลกความเป็นจริงมัน Fake กันไม่ได้เลย ก็รู้กันอยู่ว่าในออนไลน์เรายังต้องมีเซฟคำพูดบางจังหวะที่มันจะไปกระทบการขาย หรือมันไปกระทบลูกค้า แต่หน้าร้านเราจริงใจเว้ย เราพูดได้หมด สิ่งที่เขาควรที่จะรู้ สิ่งที่เขาอยากจะรู้ และสิ่งที่เขาต้องรู้
แล้วพอ Sold The World ได้เจอลูกค้าทั้งในออนไลน์และหน้าร้าน เราได้คุยกันจริง ๆ จากที่ผมได้เห็นลูกค้าแค่ฝ่ายเดียวมาตลอด มันก็เกิดปฏิสัมพันธ์ พอเขามาแล้วรู้สึกดีทีนี้ก็อยู่กันแบบยาว ๆ พอพวกผมกลับไปขึ้นไลฟ์เขาก็จะมาแสดงตัวละ มาคุยกันเป็นพี่เป็นน้อง บางคนไม่ซื้อเลยนะแต่อยู่ดูไลฟ์สดผมทุกวันประมาณ 6 ชั่วโมง ดูแล้วก็พิมพ์เป็นเอนเตอร์เทนเกิดเป็น Comunity ขึ้นมา เขาบอกเราว่า “กูแค่อยากมานั่งคุยกับพวกมึง”
ช่วงสุดท้ายของบทสนทนาระหว่างเรากับโจ้ ที่มีเสียงหัวเราะของ โก๊ะ ไฟต์ ใบเตย แบงค์ รวมถึงชาวแก๊ง Sold The World คนอื่น ๆ ลอยเข้ามาเป็นระยะ คำถามที่เตรียมมาได้ถูกทำหน้าที่ใช้ถามและถูกตอบกลับจนหมดแล้ว
หลังจากฟังเรื่องราวของโจ้เรามั่นใจว่า Sold The World จะมี Comunity ที่เป็นกลุ่มใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยที่พวกเขาจะเป็นคนทำให้วงการเสื้อวินเทจของบ้านเราสนุกมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน น่าสนใจมากว่าหลังจากนี้พวกเขาจะพาวงการนี้เดินไปทางไหน
เวลาที่ยังเหลือเราจึงขอคุยกับโจ้ต่ออีกนิดถึงเรื่องเสื้อวินเทจในสไตล์ Bootleg / Copy ไปจนถึง Triger Shirt ที่มีความรุนแรง สิ่งที่เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญขับเคลื่อนวัฒนธรรมวินเทจ และนี่คือมุมมองที่น่าสนใจของโจ้
– Bonus Content By GEESUCH –
ว่ากันด้วยเสื้อแท้เสื้อปลอมที่เป็นประเด็นในวงการวินเทจ โจ้มีวิธีจัดการเรื่องนี้กับ Sold The World อย่างไร
ถ้าลูกค้าถามว่า ‘ของแท้’ หรือ ‘ของปลอม’ ในออนไลน์ Sold The World จะเป็นร้านนึงที่เลือกไม่ตอบกลับไป ผมจะตอบไม่ได้เลยเพราะว่าส่วนนึงเขาอาจจะยังไม่ใช่ลูกค้าเราจริง ๆ แล้วเขาอาจจะอ้างอิงเราไปในทางที่ไม่ดีได้ มันอาจทำให้คนที่ขายให้เขากลายมาเป็นโกรธ Sold The World ไปเลย
สมมติว่าลูกค้าซื้อเสื้อวินเทจร้านอื่นมา แล้วร้านนั้นการันตีให้เลยว่าเป็นของแท้ แต่พอเอามาถาม Sold The World แล้วผมบอกเป็นของปลอม แล้วลูกค้าก็เอาไปบอกว่า “Sold the World บอกปลอม มึงบอกแท้ได้ไง?” กลายเป็นว่าผมไปมีปัญหากับเจ้าของอีกร้านแน่นอน
จังหวะนี้ก็คือต้องดูนิดนึงว่าเขาเป็นลูกค้าร้านเราจริง ๆ รึเปล่า มันจะเซฟกับเรามากกว่า แต่ถ้าคุณมาที่หน้าร้านซึ่งแน่นอนว่าเราได้เห็นหน้าค่าตากัน ผมรู้ว่าคุณมีความจริงใจ เราก็สามารถช่วยเช็คได้ แต่ต้องกับแค่คนที่เราไว้ใจจริง ๆ แต่ถ้ารับประกันได้เลยว่าเป็นของแท้ก็คือของ Sold The World เอง ถ้าลูกค้าซื้อไปแล้ว เอาไปเช็คกับร้านอื่นแล้วไม่สบายใจผมรับคืน ถ้าไม่สบายใจคือเราต้องคืนอยู่แล้ว
สำหรับเสื้อ Bootleg ที่ไม่ใช่ของลิขสิทธิ์ล่ะ โจ้คิดอย่างไรกับการขายเสื้อวินเทจแนวนี้
ผมเคยทำแบรนด์ที่เป็นเสื้อ Bootleg ของตัวเองมาก่อน ก็จะมองต่าง ไม่รู้ว่าสังคมสมัยนี้เขาจะมองกันยังไงนะ อาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่คำว่า Bootleg มันจะแตกต่างจากงานที่เป็น Copy อันนั้นคืองานปลอมที่เอาลายเส้นของลิขสิทธิ์มาทำเพื่อการค้าขายเหมือนแผ่นก็อป-แผ่นผี
เสื้อ Bootleg ทำขึ้นมาเพื่อหลายจุดประสงค์มากมาย ไม่ว่าจะทำเพื่อให้กลุ่มเพื่อนใส่เอง ไม่ได้ทำเพื่อค้าขาย ทำเพื่อกลุ่มแฟน ๆ ที่ซื้อเสื้อ Official ไม่ทัน หรือซื้อลายลิขสิทธิ์ไม่ไหวแพงเกิน ก็เลยไปซื้อเสื้อ Bootleg ที่ต้นทุนมันถูกกว่า เสื้อ Bootleg มันเป็นเสื้อเถื่อนจริง แต่ด้วยไอเดียคือเขาต้องผลิตให้มันไม่เหมือนลาย Official คนเล่นรู้ คนดูรู้ว่านี่แค่ Fan Made เว้ย
ถ้าเป็น Copy ผมไม่ซื้อเลย เพราะว่าเจตนาเขาชัดเจนทำออกมาเพื่อว่าขายแน่นอน และเขาก็รู้ว่าไอสิ่งนี้มันมีผลงานศิลปะที่มีเจ้าของอยู่แล้ว มันไม่ได้ออกไอเดียอะไรมาเพื่อธุรกิจเลย
เสื้อวินเทจที่สื่อถึงสัญลักษณ์รุนแรงต่อสังคม ศาสนา เช่นเสื้อที่มีตราสวัสดิกะหรือคำเหยียดต่าง ๆ โจ้คิดว่ามันควรจะเป็นของขายไหม
ผมขายหมดครับ มันคือผลงานศิลปะชิ้นนึง เสื้อพวกนี้ฝรั่งส่วนมากจะซีเรียส แต่คนไทยน้อย เรื่องของศาสนา หรืออย่างอื่น ๆ คนไทยส่วนมากที่ก้าวเข้ามาเล่นเสื้อแล้วเขาจะมองว่ามันเป็นเหมือนสิ่งที่มึงมีก็ได้ กูมีก็ได้ ซื้อไปก็อาจจะมีแค่คนเดียวก็ได้ หรือว่าถ้ามองในอีกพาร์ทนึงคนไทยก็มองว่าก็คือศิลปะ เป็นแค่พรินต์นึงที่อยู่บนสกรีนเสื้อและสามารถสวมใส่ได้ แต่ถ้ามองกลับกัน ต่างชาติเขายังมีเรื่องของการเหยียดผิวหรืออย่างอื่นก็อาจจะมีโกรธเคืองคนที่ใส่อยู่บ้าง
ผมเคยโพสต์เสื้อที่เป็นเกี่ยวกับคำว่า Niggas ก็โดนด่าเลย แล้วก็มีครั้งนึงผมขายเสื้อ Will Smith ในช่วงที่เขามีกระแสจาก Chris Rock พอดี ฝรั่งก็ทักมา “มึงไปซัพพอร์ตมันทำไม ?” ทั้ง ๆ ที่มันแค่ลายเสื้อเอง นั่นก็เพราะฝรั่งเขาแอนตี้ความรุนแรง หรืออย่างตอน Travis Scott ผมก็โดน ช่วงนั้นที่มีคนเหยียบกันในคอนเสิร์ต แล้วผมทำคอนเทนต์ของ Travis Scott ขึ้นมาว่าเขาใส่เสื้อวินเทจอะไร ฝรั่งก็คอมเมนต์เต็มเลย “คุณไปซัพพอร์ตคนที่เป็นฆาตกรอย่างงี้ได้ไง” ทั้ง ๆ ที่ผมมองคนละ Point ของเสื้อวินเทจ เรื่องของนิสัยแต่ละคนเราก็แยกกันไปมันมีหลายมุมมองครับ
สุดท้ายสำหรับคนที่กำลังจะก้าวเข้ามาในวงการวินเทจด้วยเสื้อตัวแรก โจ้จะแนะนำว่ายังไง
คำเดียวเลย ‘เลือกจากที่ชอบ’ สุดท้ายแล้วถ้าคำว่าชอบเกิดขึ้นมามันก็ไม่มีอะไรไปขัดเขาได้ ถึงจะแพงก็ซื้อได้ถ้าชอบ จริง ๆ เล่นตามกระแสก็ได้เหมือนกันนะ เพราว่ากระแสก็มีผลทำให้คนเราชอบเสื้อได้เหมือนกัน