Work

นุ่มนอกแต่แกร่งใน ถอดรหัส “ทำไมผู้นำหญิงจัดการได้ดีกว่า?”เมื่อหายนะมาเยือน

By: PSYCAT May 5, 2020

ยุคสมัยที่ผู้นำส่วนใหญ่บนดาวเคราะห์ดวงนี้มีแต่ผู้ชายสุดแข็งแกร่งนั้นอาจเลือนรางลงไปนานแล้ว ความเท่าเทียมในหลายมิติทำให้มนุษย์ไม่ว่าเพศสภาพไหน ๆ ก็สามารถขึ้นกุมบังเหียนเพื่อบริหารองค์กรหรือประเทศได้

แม้ภายนอกคล้ายจะเป็นแบบนั้น แต่การเป็นผู้นำผู้หญิงนั้นกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากผู้นำผู้หญิงมักถูกกล่าวหาด้วยภาพเหมารวมความเป็นหญิงบางอย่าง เช่น ผู้หญิงนั้นเจ้าอารมณ์ ไม่มั่นคง ไม่เด็ดขาด ผู้หญิงไม่แข็งแกร่งพอ ผู้หญิงไม่มีความรู้เรื่องการบริหารดีเท่าผู้ชาย ฯลฯ

รวมไปถึงความกดดันที่ผู้นำผู้หญิงต้องพยายามพิสูจน์ตัวเองมากกว่าผู้นำผู้ชาย เพื่อให้ทุกคนในองค์กร (หรือแม้แต่ระดับประเทศ) ยอมรับ

Abbie Griffith Oliver ผู้ช่วยศาสตราจารย์จาก Georgia State University ทำงานวิจัยสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันพบว่าเมื่อพูดถึง “ผู้นำที่พวกเขาชื่นชม” คนจำนวน 80% จะนึกถึงผู้ชาย และเมื่อ Abbie Griffith Oliver ถามนักศึกษาในชั้นเรียนว่าคิดอย่างไรกับผู้นำผู้หญิง มีเพียง 5% เท่านั้นที่พอจะนึกถึงผู้นำหญิงออกสักคน

แน่นอนว่ามีผู้นำหญิงในหลายองค์กรที่ทำให้เห็นว่าผู้หญิงเองก็สามารถบริหารจัดการได้ดีไม่แพ้ผู้ชาย แต่เมื่อ COVID-19 ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์สำคัญระดับโลกมาเยือน ทั้งโลกต่างได้เห็นบทบาทของผู้นำหญิงชัดเจนขึ้น เนื่องจากหลายประเทศที่มีผู้นำหญิงเป็นผู้บริหารนั้นสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือแม้แต่มีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ

ผู้นำหญิงจากหลายประเทศถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ทั้ง Angela Merkel จาก Germany, Jacinda Ardern จาก New Zealand หรือ Tsai Ing-wen จากไต้หวัน ไม่ใช่แค่จำนวนผู้เสียชีวิตที่มีจำนวนน้อย และการควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ผู้นำหญิงจากหลายประเทศทั่วโลกยังสามารถบริหาร สื่อสาร และตัดสินใจได้รวดเร็วกว่า (ที่นำไปสู่การลดการแพร่ระบาดของเชื้อได้มากกว่า)

UNLOCKMEN ไม่ได้มาเพื่อมาบอกว่าผู้นำหญิงทั้งโลกดีกว่าผู้นำเพศอื่น ๆ แต่เราอยากชวนมาถอดรหัสว่าอะไรที่ทำให้พวกเธอสามารถบริหารประเทศในสภาวะวิกฤตได้อย่างทรงพลัง แล้วเราจะนำบทเรียนจากพวกเธอนี้มาปรับใช้กับธุรกิจของเรา หรือแม้ชีวิตของเราให้ดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง?

ผู้หญิงมีความกล้าที่จะยอมรับว่า “เราไม่รู้”

ความมั่นใจเป็นสิ่งที่ดี แต่อะไรที่มากเกินไปก็นำไปสู่หนทางผิด ๆ ได้เช่นกัน ผู้นำผู้ชายมีแนวโน้มที่จะมั่นใจในความสามารถและความฉลาดของตัวเองสูง ในขณะที่ผู้นำหญิงอาจมั่นใจน้อยลงมา แต่กล้าที่จะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้มากกว่า และเมื่อกล้าที่จะยอมรับว่าตัวเองไม่รู้อะไร ก็แปลว่าพวกเธอสามารถขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่รู้เรื่องนั้นถ่องแท้ได้มากกว่า

ผลสำรวจหนึ่งระบุว่า ผู้ชาย 71% เชื่อว่าตัวเองนั้นฉลาดกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่มีผู้หญิงเพียง 57% เท่านั้นที่คิดแบบนั้น ยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าผู้ชายนั้นมีแนวโน้มจะเชื่อมั่นในการเลือก การตัดสินใจ และสัญชาตญาณของตัวเองอย่างแรงกล้า แม้แต่ตอนที่พวกเขาเปลี่ยนสายงานไปในสายที่พวกเขาไม่รู้จัก พวกเขาก็ยังเชื่อและมั่นใจว่าตัวเองรู้ดีกว่าหรือมากกว่า

ในขณะที่ผู้หญิงเชื่อใยการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย ซึ่งในสภาวะวิกฤตการยอมรับว่าเราไม่รู้อะไรและหาข้อมูลหรือรับฟังจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นสิ่งสำคัญมาก

อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่เรื่องการกล้าจะยอมรับว่าไม่รู้ดท่านั้น ที่ทำให้พวกเธอเปิดกว้าง แต่ในสังคมการทำงานนั้น ถ้าผู้นำหญิงเสนอความเห็นอะไรออกมาแล้วใช้ไม่ได้หรือไม่ได้การยอมรับมักจะถูกตำหนิมากกว่า รวมถึงการที่ผู้นำผู้หญิงเสนออะไรก็มักจะถูกตั้งคำถามอย่างละเอียดมากกว่า (เพราะผู้คนมักไม่เชื่อมั่นผู้นำผู้หญิง) นั่นทำให้พวกเธอหาข้อมูลและรับฟังความเห็นอันหลากหลายอย่างรอบคอบเสมอ

ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้แปลว่าผู้ชายทุกคนมั่นใจจนไม่ฟังใคร หรือแปลว่าผู้หญิงทุกคนจะรับฟังเสมอไป เพียงแต่หันมาสำรวจตัวเองมากขึ้น (ไม่ว่าเราจะเป็นเพศอะไร) ว่าเรากล้าที่จะยอมรับว่าเราไม่รู้ และกล้าที่จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ หรือคนที่รู้มากกว่าเราหรือยัง ในสภาวการณ์ที่หลาย ๆ อย่างยากลำบากอย่างตอนนี้

ภาพเหมารวมที่คับแคบมีส่วนทำให้ผู้หญิงจัดการอารมณ์ได้ดีกว่า

“ผู้นำผู้หญิงเจ้าอารมณ์” , “อย่าทำตัวแบบผู้หญิงสิครับ” ความเชื่อว่าผู้หญิงมีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอารมณ์ยังคงลอยฟุ้งในอากาศ วงสนทนา หรือแม้แต่ในทัศนคติเหมารวมแบบไม่ตั้งใจในที่ทำงานอยู่บ่อยครั้ง แต่ความเชื่อทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงความเชื่อ เมื่อข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า “ผู้นำหญิงมีความฉลาดทางอารมณ์มากกว่าผู้นำชาย”

นั่นทำให้พวกเธอเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากกว่า นอกจากนั้นการเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยถูกสอนว่าต้องเข้มแข็ง แข็งแกร่ง ห้ามมีน้ำตา จึงทำให้ผู้นำหญิงยอมรับว่าตัวเองรู้สึกอะไร และหาวิธีแสดงออกอย่างเหมาะสม ในขณะที่ผู้ชายอาจถูกสังคมบอกว่าต้องแข็งแกร่ง ห้ามโกรธ ห้ามเกรี้ยวกราด ห้ามเศร้า ห้ามแสดงออก ผู้ชายจึงกดอารมณ์นั้นไว้ ไม่ยอมรับ และไม่ได้จัดการมันอย่างถูกวิธี

มากไปกว่านั้นการเป็นผู้นำหญิงทำให้พวกเธอต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างมากในโลกของผู้นำหรือผู้บริหารแบบผู้ชาย ๆ ผู้นำหญ้งจึงต้องซึมซับวัฒนธรรมทางอารมณ์แบบผู้ชาย ไปพร้อม ๆ กับที่พวกเธอก็ถูกคาดหวังว่าเป็นผู้หญิงก็ต้องอ่อนโยน เห็นใจผู้คน (ซึ่งเป็นอารมณ์แบบผู้หญิง ๆ) การบริหารงานภายใต้สภาวะกดดันที่สังคมบอกว่าผู้นำหญิงต้องเป็นอย่างผู้ชาย และก็ต้องอ่อนโยนแบบผู้หญิงไปด้วยจึงทำให้พวกเธอเรียนรู้เรื่องเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา

Bobbi Thomason ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์ประจำ Pepperdine Graziadio Business School กล่าวว่าทั้งหมดที่ผู้นำหญิงต้องเจอมันคือความไม่เท่าเทียมและสองมาตรฐานทางเพศ สังคมหรือองค์กรคาดหวังและตีกรอบว่าพวกเธอต้องเป็นอะไร และไม่เป็นอะไร

แต่กลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ในยามวิกฤตพวกเธอบริหารจัดการอารมณ์และอยู่ภายใต้สภาวะกดดัน แต่ก็เห็นอกเห็นใจคนอื่นไปได้มากกว่าผู้นำชายที่อาจไม่ได้ถูกคาดหวังว่าต้องทั้งมีประสิทธิภาพและอ่อนโยน หรือไม่ต้องคอยแบกรับความคาดหวังทางอารมณ์เท่าพวกเธอ

“เพราะเอาชีวิตคนไปเสี่ยงไม่ได้” ผู้นำหญิงรับมือกับวิกฤตในรูปแบบที่ต่างออกไป

“กล้าได้กล้าเสีย” ไม่กลัวความเสี่ยง ความเด็ดขาดแบบนี้เรามักเข้าใจว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้นำชาย และผู้นำหญิงมักถูกเหมารวมว่าเป็นพวกขี้ขลาดเกินกว่าจะเสี่ยง หรือตัดสินใจอะไรแย่ ทว่าในสถานการณ์วิกฤตที่การพาองค์กรหรือประเทศไปเสี่ยงอาจไม่ได้มีผลตอบแทนคุ้มค่ารออยู่ แต่หมายถึงความเสียหายครั้งใหญ่ที่ไม่อาจกู้คืน

Mara Mather นักประสาทวิทยาประจำ University of Southern California และ Nichole R. Lighthall ประจำ Duke University ศึกษาเรื่องการทำงานของระบบประสาทผู้ชายและผู้หญิงเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์เสี่ยง

ผลออกมาว่าผู้ชายนั้นมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงและสู้กลับแบบสุดตัวเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด ในขณะที่ผู้หญิงเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดแบบที่แทบไม่ต่างจากการรับมือสถานการณ์ทั่วไป (ฮอร์โมนเกี่ยวกับความเครียดไม่เพิ่มขึ้นมาก) รวมถึงผู้หญิงมีแนวโน้มจะใช้ข้อมูล และเลือกใช้การตัดสินใจที่เสี่ยงน้อยที่สุด

จึงไม่แปลกใจที่หลายประเทศที่มีผู้นำหญิงเลือกตัดสินใจและดำเนินการฉับไว เพื่อให้ประชาชนในประเทศเผชิญความเสี่ยงน้อยที่สุด แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่มาก แต่เมื่อคำนวณแล้วพวกเธอเห็นว่าไม่คุ้มเสี่ยง จึงสามารถตัดสินใจใช้มาตรการล็อกดาวน์และเตรียมรับมือได้อย่างรวดเร็ว

จิตวิญญาณเพื่อส่วนรวม ที่ผู้หญิงได้มาเพราะสังคมกำหนด

“กล้าหาญ เข้มแข็ง อดทน เด็ดเดี่ยว แข็งแกร่ง” เมื่อเราได้อ่านชุดคำพวกนี้ เราอาจมีภาพในหัวได้ทันทีว่านี่คือคำอธิบายคุณลักษณะของผู้ชาย ในขณะที่ “ดูแล อ่อนโยน เมตตา เห็นอกเห็นใจ” ภาพในหัวที่ได้คือภาพผู้หญิง

แม้ในความเป็นจริง ไม่ใช่ผู้หญิงหรือผู้ชายทุกคนจะมีลักษณะแบบนั้น แต่การที่สังคมประกอบสร้างภาพเหล่านี้ให้ผูกติดกับเพศใดเพศหนึ่ง เพศนั้น ๆ ก็มักแสดงออกเพื่อให้ตรงกับคุณลักษณะที่สังคมประกอบสร้าง เช่น ผู้ชายเศร้าก็พยายามไม่ร้องไห้ เพราะกลัวจะถูกมองว่าไม่เข้มแข็ง ไม่เป็นลูกผู้ชาย

นั่นจึงมีส้วนอย่างมากที่ทำให้ผู้หญิงมีทัศนคติบางอย่างที่พวกเธอมองว่าพวกเธอต้องทำเพื่อคนอื่น ต้องดูแลคนอื่น และใช้ความสามรถในการต่อรองที่ตัวเองมีในการทำเพื่อคนอื่นหรือส่วนรวมมากกว่าตัวเอง งานวิจัยชิ้นหนึ่งสำรวจพบว่าหากให้ผู้หญิงต่อรองอะไรบางอย่างเพื่อตัวเอง เช่น ขอขึ้นเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง พวกเธอจะทำออกมาได้ไม่ดีนัก

แต่หากให้เธอต่อรอง ลุกขึ้นพูดหรือทำอะไรเพื่อสวัสดิการโดยรวมของสังคมหรือองค์กร พวกเธอจะทำได้อย่างราบรื่นและเป็นธรรมชาติ นั่นจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้นำผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่ง ไม่ได้รู้สึกว่าเธอกำลังทำสิ่งนี้เพื่อตัวเธอเอง ตำแหน่งเธอเอง พรรคของเธอเองเท่านั้น แต่กกำลังทำเพื่อทุกคนอยู่นั่นเอง

สำรวจทัศนคติตัวเองจากมุมมองแบบผู้นำผู้หญิง (ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน) ไม่แน่อาจมีบางอย่างที่คุณหลงลืมไป แล้วนำมาปรับใช้ได้ในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ เพราะการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพไม่ได้เกี่ยวกับเพศ หากแต่เกี่ยวกับคุณสมบัติบางอย่างที่ถ้าเราหมั่นสำรวจตัวเองและปรับปรุงอยู่เสมอ ก็เป็นผู้นำที่ทรงพลังได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามขอคารวะและปรบมือดัง ๆ ให้บรรดาผู้นำหญิงของหลายประเทศทั่วโลกที่สามารถดึงคุณสมบัติดี ๆ ในตัวมาลดความเสี่ยงให้ประชาชนได้อย่างน่าภูมิใจ

 

SOURCE: 1 2 3 4

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line