World

จักจี้ให้ตาย การลงโทษสุดโหดในอดีตที่สร้างความทรมานได้มากมายภายใต้เสียงหัวเราะ

By: Chaipohn April 8, 2019

การจักจี้นำมาซึ่งเสียงหัวเราะ การหยอกล้อ และความเฮฮา คือสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าเป็นหน้าที่เพียงอย่างเดียวของการจักจี้

แต่ใครเคยโดนการจักจี้แบบเกินขีดจำกัด คงพอจะนึกภาพออกว่าภายใต้เสียงหัวเราะที่เปล่งออกมา มันคือความเจ็บปวดทรมานปริ่มจะขาดใจ ซึ่งในอดีตมีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการลงโทษทรมานด้วยการจักจี้อยู่ไม่น้อย ดังนั้นมันเป็นเรื่องซีเรียสที่หลายคนมองข้าม และนั่นทำให้มันเป็นประเด็นที่น่าสนใจ

“ใครจะไปตายเพราะโดนจักจี้วะ?”

ภาพหนุ่มสาวกำลังหยอกล้อจักจี้เอวกัน มันช่างเป็นภาพที่น่ารักและอยู่ห่างไกลจากคำว่า “ทรมาน” แต่ถ้าลองคิดให้ดี เราจะเห็นถึงมุมที่โคตรอันตรายจากการจักจี้ เพราะผู้ที่โดนกระทำจะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถสื่อสารหรือตอบโต้ได้ แค่จะส่งเสียงบอกว่า “พอแล้ว ไม่ไหวแล้ว” ยังทำไม่ได้ ดังนั้นในกรณีที่ผู้ถูกกระทำโดนจองจำทั้งมือและเท้าเหมือนในการลงโทษสมัยก่อน ความเจ็บปวดทรมานจากการจักจี้จึงอยู่เหนือจินตนาการที่เราจะสามารถรู้สึกได้

ในอดีต การจักจี้ ถือเป็นหนึ่งในวิธีการทรมานที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อสอบถามข้อมูลหรือคำสารภาพจากผู้ต้องหา เพราะทำได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์หรือสถานที่อะไรเลย

เมื่อจักจี้ในระดับที่รุนแรงเกินปกติ ร่างกายจะเริ้มสำลัก ขาดอากาศหายใจ เกิดความรู้สึกทรมาน เครียด มีผลกระทบกับสภาพจิตใจเป็นอย่างมาก และข้อดีคือแม้จะรุนแรงจนหัวใจวายตาย ก็ไม่มีร่องรอยหรือหลักฐานใด ๆ เหลือทิ้งไว้บนตัวเหยื่อเหมือนกับวิธีทรมานแบบอื่น ๆ

Irene Thompson นักวิจัยผู้เขียนหนังสือ “A to Z of Punishment and Torture” พูดถึงการทรมารด้วยการจักจี้ที่มีหลักฐานอยู่บ้างคือ “Chinese tickling torture,” ถูกใช้ในการลงโทษนักโทษในช่วงราชวงศ์ฮั่น (Han Dynasty, 206-220 AD) ซึ่งความน่ากลัวของมันคือเหยื่อสามารถฟื้นตัวจากการถูกจักจี้ได้เร็วและสมบูรณ์ จึงสามารถถูกจักจี้ให้ทรมานซ้ำไปมาได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ต่างจากการทรมานที่ใช้ความรุนแรงซึ่งเหยื่ออาจจะเสียชีวิต หรือเสียความสามารถในการตอบสนองไปอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งมีข้อมูลการทรมานด้วยวิธีนี้ย้อนไปไกลถึงยุค Ancient Rome แพร่กระจายไปหลายพื้นที่ใกล้เคียงในประเทศยุโรป โดยมีวิธีจักจี้ที่แตกต่างกัน เช่น มีรายงานใน British Medical Journal ว่าประเทศในยุโรปยุคก่อนมีการใช้แกะเลียเท้านักโทษซ้ำไปมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรือในประเทศญี่ปุ่นก็มีการลงโทษที่เรียกว่า kusuguri-zeme หรือแปลว่า “merciless tickling” อยู่ด้วย

ในการวิจัยของ Thompson หรือประวัติศาสตร์ไม่พบข้อมูลที่สามารถยืนยันได้ว่ามีการเสียชีวิตจากการจักจี้เป็นจำนวนกี่คน แต่มีข้อมูลบางส่วนที่ไม่สามารถยืนยันได้จากยุค World War II เมื่อนักโทษนาม Josef Kohout ระบุในหนังสือของ Heinz Heger ชื่อ The Men With The Pink Triangle ว่าเคยเห็นนักโทษในค่าย Flossenburg concentration camp เสียชีวิตจากการโดนจักจี้อยู่เช่นกัน แต่ถ้าคิดถึงผลของการจักจี้อย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ก็สามารถทำให้เกิดอาการช็อก ขาดออกซิเจน หัวใจวาย ได้ไม่ยาก

แม้ปัจจุบันจะไม่เคยได้ยินการทรมานด้วยการจักจี้ หรือเคสใครเสียชีวิตจากการถูกรุมจักจี้ แต่ก็ถือเป็นเรื่องราวท่ีน่าสนใจอีกมุมเกี่ยวกับความเจ็บปวดจากการหัวเราะนี้ ซึ่งใครมีลูกหลานก็คงต้องสอนให้เค้ารู้จักระวังและตระหนักถึงอันตรายที่เด็ก ๆ หลายคนอาจจะไม่ทราบ ว่าภายใต้เสียงหัวเราะนั้น มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่ากลัวแบบนี้ซ่อนอยู่ด้วย

 

Appendix: 1 / 2 / 3 /

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line