Work

หมดข้ออ้างว่าไม่มีเวลา! “กฎ 168 ชั่วโมงต่ออาทิตย์”ที่จะทำให้การจัดเวลาในชีวิตเปลี่ยนไป

By: PSYCAT March 22, 2018

“งานโคตรยุ่งเลยว่ะ ไม่มีเวลาทำอย่างอื่นเลย” นี่เป็นข้ออ้างอันดับต้น ๆ ของผู้ชายที่ Work Hard Play Hard ซึ่งข้ออ้างง่าย ๆ นี้ทำให้เราพลาดอะไรหลายต่อหลายอย่างในชีวิตแบบไม่รู้ตัว เราพลาดเวลาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดี เราพลาดเวลาไปเฮฮากับเพื่อนฝูงเพื่อความสัมพันธ์ที่ดี เราพลาดเวลาทำสิ่งที่เราชอบเพื่อเติมเต็มความฝัน เราพลาดแทบทุกอย่างในชีวิตเพียงเพราะคำว่า “ไม่มีเวลา”

เคยถามตัวเองบ้างไหมว่าที่ “ไม่มีเวลา” จริง ๆ หรือเราแค่ตัดโอกาสตัวเองออกจากสิ่งต่าง ๆ อย่างคนขี้แพ้กันแน่? UNLOCKMEN บอกได้เลยว่าหลังจากที่อ่านเรื่องราวการจัดสรรเวลา“กฎ 168 ชั่วโมงต่ออาทิตย์” นี้จบ เราจะมอง “เวลาในชีวิต” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ประหยัดเวลาเพื่อมีเวลา?

Laura Vanderkam คือนักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารเวลา เรื่องราวของเธอโคตรน่าสนใจ ตอนแรกเธอก็ดั้นด้นพยายามหาเวลาเพิ่มเหมือนเรา ๆ ทุกคนนี่แหละ โดยทริคที่เธอสนใจก็คือการประหยัดเวลาเพื่อเพิ่มเวลา

สมมติว่าเราซื้ออาหารสำเร็จรูปมาอุ่นแล้วมันเขียนว่าอุ่น 3-4 นาที เราก็อุ่นมันแค่ 3 นาที เพื่อประหยัดเวลา 1 นาทีไว้ไปทำอย่างอื่น หรือถ้าเราติดละครสักเรื่องแทนที่จะดูมันฉายทางโทรทัศน์สด ๆ เราก็ดูย้อนหลังแทน เพราะจะประหยัดเวลาที่ต้องเสียไปกับการดูโฆษณาได้รวม ๆ แล้ว 32 นาที แล้วก็เอา 32 นาทีนี้ไปออกกำลังกายซะ!

ดูเหมือนจะดี แต่ไป ๆ มา ๆ Laura Vanderkam ก็รู้สึกว่าแบบนี้โคตรไม่แฟร์เลย ทำไมเราต้องประหยัดหรือเร่งรีบทำเรื่องอย่างหนึ่งเพื่อมาทำอีกอย่างหนึ่งด้วยวะ? Laura Vanderkam จึงพูดสั้น ๆ แต่โคตรคมว่า

“เราไม่ได้สร้างชีวิตที่เราต้องการ โดยการประหยัดเวลา แต่เราสร้างชีวิตที่เราต้องการ แล้วเวลาก็จะประหยัดตัวมันเอง”

โปรเจกต์ไดอารี่เวลาเพื่อค้นพบว่า “เวลายืดหยุ่นได้”

ก่อนจะรู้ว่าโปรเจกต์ไดอารี่เวลาคืออะไร UNLOCKMEN ขอลองใจถามคำถามคุณสั้น ๆ ว่าอาทิตย์นี้เราขอเวลาคุณ 7 ชั่วโมงให้คุณไปฝึกไตรกีฬากับเราหน่อยได้ไหม? (โอเค ตอบคำถามเราแล้วเก็บไว้ในใจก่อน)

Laura Vanderkam ทำโปรเจกต์บันทึกวันเวลาของผู้หญิงที่งานยุ่งที่สุดเป็นเวลา 1,001 วัน ขึ้นมา จากนั้นเธอพบความน่าสนใจจากผู้หญิงงานยุ่งสุด ๆ คนหนึ่ง เพราะในคืนหนึ่งผู้หญิงคนนั้นกลับบ้านมาแล้วพบว่าเครื่องทำน้ำร้อนพัง น้ำเจิ่งนองไปทั้งบ้าน คืนนั้นเธอต้องทำความสะอาดมัน วันต่อมาเธอต้องเรียกช่างประปา วันต่อมาอีกเธอต้องเรียกช่างทำความสะอาดพรม และเธอเฝ้ามันทั้งหมดด้วยตัวเอง

ประเด็นก็คือเธอใช้เวลารวม 7 ชั่วโมงตลอดอาทิตย์นั้นเพื่อดูแลบ้านให้กลับมาปกติเหมือนเดิม และเธอก็ยังทำงานตามปกติ แต่ทายสิ ถ้าเราไปถามเธอตั้งแต่ต้นสัปดาห์ว่ามีเวลาว่างสัก 7 ชั่วโมงไปซ้อมไตรกีฬามั้ยเธอก็ต้องตอบว่า “ไม่เห็นหรอว่าฉันยุ่งจะตาย ฉันไม่ทำหรอก” (คุณก็ตอบแบบนั้นเหมือนกันใช่ไหมล่ะ?)

แต่การทำความสะอาดบ้านที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำมันทำให้เราเห็นว่าเวลายืดหยุ่นได้เสมอนั่นแหละ ถ้ามันสำคัญและต้องทำจริง ๆ เหมือนที่ Laura Vanderkam บอกไว้ว่า

“เวลายืดหยุ่นได้เสมอ เราไม่สามารถสร้างเวลาเพิ่มได้ แต่เวลาจะยืดออกเพื่อรองรับสิ่่งที่เราเลือกจะใส่ลงไป”

“การจัดลำดับความสำคัญ” กุญแจของการบริหารเวลา

มันจึงไม่ใช่เรื่อง “ไม่มีเวลา” แต่เป็นเรื่องที่เราเห็นว่า “ไม่สำคัญพอที่จะให้เวลา” ต่างหาก ดังนั้นการบริหารเวลาจึงเป็นการที่เรามีสิทธิจะเลือกได้ว่าอะไรสำคัญต่อชีวิตเรา แล้วเราก็จะจัดเวลาให้สิ่งนั้น ๆ ได้เอง ขอเพียงอย่าตั้งต้นด้วยประโยคที่ว่า “ไม่มีเวลา” แต่ให้ถามว่ามันสำคัญแค่ไหนและเราจะจัดมันไว้ตรงไหนของตารางเวลาเรา

“ฉันสรุปได้ว่านี่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องไม่มีเวลา ฉันก็แค่ไม่อยากทำเท่านั้นเอง พูดแบบนี้ช่วยเตือนสติเราว่า เวลาเป็นสิ่งที่เราเลือกได้”

ประเมิณเป้าหมายล่วงหน้า “หน้าที่การงาน, ความสัมพันธ์, ตัวเอง”

จะรู้ได้อย่างไรว่าอะไรสำคัญ? ลองนึกถึงการประเมิณ KPI การทำงานในช่วงสุดท้ายของปีเพื่อประเมิณเพอร์ฟอร์แมนซ์ของเราดูสิ เราต้องมานั่งไล่นึกว่าอะไรที่ทำให้ปีที่ผ่านมาของเราเป็นปีที่ดี เป็นปีที่เยี่ยมยอด ถูกไหม? ลองกลับหัวกลับหางดู คิดว่าตอนนี้แหละคือสิ้นปีแล้ว แล้วถามตัวเองว่าเราจะทำอะไรเพื่อให้ปีนี้เป็นปีที่เยี่ยมยอด ไอ้รายการพวกนั้นนั่นแหละคือสิ่งที่สำคัญ!

ไม่ใช่แค่เรื่องงานแต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์และชีวิตส่วนตัวด้วย คุณอยากให้มันออกมาเยี่ยมยอดด้วยปัจจัยอะไรบ้าง? และปัจจัยเหล่านั้นแหละคือสิ่งสำคัญที่คุณต้องลงมือทำ

ถ้ายังนึกไม่ออก เช่น ปีนี้จะเป็นปีที่เยี่ยมยอดถ้าเราลดน้ำหนักได้ 5 กิโลกรัม พูดภาษาที่ 3 ได้ และมีเวลาให้พ่อแม่ทุกวันอาทิตย์ นี่คือสิ่งสำคัญของเราดังนั้นก็จงใส่ตารางเวลาหาเวลาออกกำลังกาย หาเวลาเรียนภาษาที่ 3 และแบ่งเวลาวันอาทิตย์ให้ที่บ้านให้ได้

กฎภาพรวมเวลา 168 ชั่วโมงต่ออาทิตย์

โอเค ถ้ายังเถียงว่า “ผมก็ไม่มีเวลาอยู่ดี” เราขอเสนอการมองเวลาเป็นภาพรวม โดยกฎแห่งความเป็นจริงที่ว่า 1 อาทิตย์คุณมีเวลา 168 ชั่วโมงเท่ากันทุกคน แบ่งให้เป็นเวลานอน 56 ชั่วโมง ถ้าคุณทำงานวันละ 8 ชั่วโมง คุณก็จะเหลือเวลาตั้ง 72 ชั่วโมงเพื่อทำอย่างอื่น!

แต่ถ้าบอกว่าทำงานวันละ 10 ชั่วโมง คุณก็จะเหลือเวลาอีกตั้ง 62 ชั่วโมงอยู่ดี หรือถ้าทำงานแม่ง 7 วัน วันละ 10 ชั่วโมง คุณก็เหลือเวลาอีกตั้ง 42 ชั่วโมงอยู่ดีนั่นแหละ ดังนั้นไม่มีหรอกคำว่าไม่มีเวลา เวลามีเสมอ ขอแค่เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นมันสำคัญมากพอที่เราจะทำ

เมื่อรู้ว่าเรามีเวลาเหลือหลาย 10 ชั่วโมง เราก็สามารถใส่ลงไปในตารางได้ว่าอาทิตย์นี้เราจะใช้ 3 ชั่วโมงครึ่งเพื่อออกกำลังกาย 3 ชั่วโมงครึ่งเพื่อเรียนภาษา 3 ชั่วโมงครึ่งเพื่ออ่านหนังสือเล่มที่ชอบ หรือจะจัดแบบไหนก็แล้วแต่การให้ความสำคัญของเรา แต่จะหมดข้ออ้างเรื่อง “ไม่มีเวลา” อีกต่อไปแล้ว!

“มันเกี่ยวกับการมองภาพรวมของเวลาของคุณ แล้วดูว่าจะใส่สิ่งดีๆลงไปตรงไหน ฉันเชื่อจริงๆว่า เรามีเวลา แม้ว่าเราจะยุ่ง เราก็ยังจะมีเวลาทำสิ่งที่สำคัญ แล้วเมื่อเราใส่ใจกับสิ่งที่สำคัญ เราจะสามารถสร้างชีวิตที่เราต้องการ ในเวลาที่เรามี”

จงจำไว้เสมอว่ากุญแจแห่งการบริหารจัดการเวลา คือการลำดับความสำคัญ เราจะไม่มีเวลาให้สิ่งนั้นเลยถ้าเรามองไม่เห็นว่ามันสำคัญ และเราจึงต้องหมั่นถามตัวเองอยู่เสมอว่าความสำคัญในชีวิตเราคืออะไร? เราจะมีชีวิตที่ดีได้ก็ต่อเมื่ออะไรเกิดขึ้น? แล้วแบ่งเวลาไปทำสิ่งนั้นซะ ไม่ว่าจะเพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตที่ทำให้เรามีความสุขก็จงหาเวลามาทำมันให้ได้ เพราะ “เราเลือกเวลา ไม่ใช่ปล่อยให้เวลาเลือกเรา”

ใครอยากฟังเรื่องการบริหารจัดการเวลาแบบเต็ม ๆ ฟังเพิ่มเติมได้ ที่นี่เลย

 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line