GADGETs

Toys For Boys : ‘DJ พล่ากุ้ง’ เสียบตลับ จับจอย กดสตาร์ท เพราะเกมอยู่ในทุกความทรงจำของชีวิตเรา

By: GEESUCH December 16, 2023

นี่คือ Jingle เสียงจริงของรายการใน Youtube ที่มีชื่อว่า แงะlocker คนอ่าน UNLOCKMEN ที่โตมาในยุค 90s และชอบเล่นเกมแบบเข้าเส้นน่าจะรู้จักรายการนี้หลายคน เพราะมันมีอยู่รายการเดียวแหละที่ทำคอนเทนต์แคสเกมคลาสสิค 8 Bit จากเครื่อง Famicom พร้อมกับให้เกร็ดความรู้ประวัติศาสตร์สนุกสนานว่าด้วยความเป็นมาของเกมนั้น ๆ ไปพร้อมกับเล่นน็อคเกมไปพร้อมกับคนดู แต่ ถึงจะยังไม่รู้จักรายการนี้ เราก็ค่อนข้างเชื่อว่าคุณต้องรู้จักพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ และเกมเมอร์ของช่อง ชายหนุ่มทรงผมแอฟโฟร่พร้อมแว่นตากันแดดสีทึบ ที่ชื่อว่า ดีเจ พล่ากุ้ง อย่างแน่นอน    

“พล่ากุ้ง Magenta / DJ พล่ากุ้ง / เป็นพิธีกร / มีวงดนตรีของตัวเอง / รับจ้างออกรายการ / พิธีกรตามอีเวนต์ / เล่นเกม / แคสเกม / ทำรายการเกม / แล้วก็มีของสะสมที่เป็นเกม / ตอนนี้เป็นเจ้าของรายการของตัวเอง ชื่อรายการ ‘แงะlocker’ เป็นรายการที่เอาเกมเก่ามาเล่นให้มันจบไป”

ผู้สัมภาษณ์ไม่ใช่เด็กที่เติบโตมาในยุค 90s แต่คุ้นเคยดีกับชื่อและหน้าตาของดีเจคนนี้ในบทบาทพิธีกรในทีวีตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกับการเป็นพิธีกรรายการตะลุยญี่ปุ่นสุดเซอร์ในตำนานที่ชื่อว่า Kimochiii ของช่อง iheredottv แต่ถึงจะรู้จักและตามผลงานของเขา สิ่งที่เราและเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน คือเจ้าชายแห่งวงการเกมคลาสสิกคนนี้มีชีวิตผูกพันธ์กับเกมมาตลอดทั้งชีวิตตั้งแต่ก่อนจะเข้าวงการบันเทิงด้วยซ้ำ

คอลัมน์ล่าสุดของ Toys For Boys เราจะพาทุกคนเปิดตลับเกม Famicom กระโดดขึ้นเครื่องไทม์แมชชีนย้อนกลับไปในวันที่เด็กชายพล่ากุ้งเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่หลงใหลเกมสุดชีวิต ในวันที่ตัวเองก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่เกมเหล่านี้จะส่งผลกับชีวิตของเขาได้มากขนาดไหน


UNLOCKMEN : ในวันที่วงการเกมพัฒนาไปไกลมาก ๆ อะไรที่ทำให้พี่พล่ากุ้งยังคงเลือกเล่นเกมคลาสสิก 

DJ พล่ากุ้ง : ผมเชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนที่กำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้อยู่พอถึงวัยที่เกิน 30 ไปจนถึง 40 จะโหยหาความเป็นยุคคลาสสิกของตัวเอง ผมคือวัยรุ่นยุค 90s เดี๋ยวเจนต่อ ๆ มาก็เป็น 2000s / 2010s / 2020s ก็จะกลายเป็นวัยรุ่น 2000s / วัยรุ่น 2010s ซึ่งเดี๋ยวก็ต้องมีหนังที่เกี่ยวกับยุคนั้น ๆ ต้องมีของสะสมอารมณ์ประมาณว่า 

มันต้องมีลูปแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งในเวลานี้มันเป็นตอนที่วัยรุ่นยุค 90s กลายเป็นคนทำงานมั่นคงระดับนึง มีครอบครัวกันแล้ว และก็อยากโหยหาความทรงจำวัยเด็ก ซึ่งของผมก็คือประมาณนี้ล่ะ ความทรงจำวัยเด็กของตัวเอง ซึ่งเวลาเราเจอของจากตอนเป็นเด็กความรู้สึกมันเหมือนระลึกชาติขึ้นมา มันมีความอบอุ่นบางอย่างเกิดขึ้นในจิตใจ โมเมนต์ของเพื่อนคนนี้เคยไปบ้านมันแล้วเล่นเกมด้วยกัน แม่ของเขาทำกับข้าวให้เรากินนะ แล้วตอนนี้เพื่อนคนนั้นกำลังทำอะไรอยู่ เป็นโดมิโน่ความทรงจำที่กระทบกันไปเรื่อย ๆ

UNLOCKMEN : แล้วพี่พล่ากุ้งคิดว่าอะไรคือความเจ๋งของเกมคลาสสิก

DJ พล่ากุ้ง : ก็ต้องบอกว่ามันคือปู่ย่าตาทวดของเกมยุคนี้ที่น้อง ๆ เล่นกัน อย่างพวกเกมมือถือนี่คือปลายน้ำละ แต่เกมคลาสสิกคือต้นกำเนิดของทั้งหมด เครื่อง Famicom ฟังก์ชั่นของ D-PAD กับ ปุ่ม AB ทุกวันนี้ Playstation ก็ยังใช้อยู่เลย ถึงแม้หน้าตาจะเปลี่ยนเป็นปุ่ม Analog แล้วก็ตาม มันคือต้นตระกูลความคิดเป็นเหมือนเป็นครูให้กับเกมทุก ๆ เครื่องที่เกิดขึ้น 

แล้วก็ต้องยอมรับว่าบริษัท Nintendo เป็นบริษัทที่มีความครีเอทในด้านของความสนุกสนานของเครื่องเกมเยอะมาก เขาทำมาหลากหลายจริง ๆ บางเทคโนโลยีมีมาตั้งแต่ยุค 90s แล้ว แต่บางทีเราไม่รู้ อย่าง Joystick Wireless การควบคุมด้วยมือ หรือเป็นระบบแบบรีโมทก็ทำมาแล้ว หรืออย่างเกมจอสองจอแบบ Nintendo DS เขาก็มี Game & Watch มาตั้งแต่ยุค 80s 

แต่ผมไม่ได้บอกว่าต้นตำรับจะต้องดีกว่านะ เครื่องเกมแรก ๆ ที่คิดค้นออกมามันไม่มีความสมบูรณ์แบบหรอก มีความก๊อกแก๊ก ความไม่เนี้ยบ ความเล่นไม่สนุกบ้างบางเกม หรือสนุกบางจังหวะ เป็นเรื่องปกติของการทดลองการสร้างสิ่งใหม่ ผมเห็นคุณค่าตรงนั้นมากกว่า มันคือวิวัฒนาการ การที่คนแม่งนั่งประชุมกันเพื่อคิดจะทำเกมกดหน้าเดียวเป็นคนแรกเขาคิดอะไรวะ อยากได้อะไรที่แม่งผ่อนคลายคนว่ะ หรือว่าอยากทรมานคนว่ะ แบบเล่นแล้วแม่งแบบหัวร้อน เออตื่นเต้นแทนเขาว่าเขาคิดอะไรกันอยู่ ทำไมถึงมีไอเดียเหล่านั้นขึ้นมาได้

 ผมเลยรู้สึกว่าการเก็บสะสมเกมคลาสสิกมันไม่ใช่แค่เรื่องของตลับสวย สำหรับผมมันมองเข้าไปลึกกว่านั้น เวลาได้เปิดเล่นขึ้นมา “ทำไมเขาดีไซน์แบบนี้วะ” ถึงผมจะไม่ใช่โปรแกรมเมอร์รู้เรื่องของการ edit เบื้องหลังคอมพิวเตอร์ แต่ผมมองแค่การออกแบบผมก็สนุกแล้ว ผมจบอาร์ทมา มองแค่สีหรือรูปแบบเกมเพลย์ เผลอ ๆ สิ่งเหล่านี้จะสนุกกว่าการเล่นบางเกมอีก เรารู้ประวัติก็เลยหลงใหลมัน มีหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ในตลับเหล่านั้น

UNLOCKMEN : แล้วถ้าให้พี่พล่ากุ้งพูดถึงความสนุกของเกมในยุคสมัยปัจจุบันล่ะ มีความต่างกับเกมคลาสสิกยังไง

DJ พล่ากุ้ง : Playstation ทุกวันนี้ผมก็เล่นนะ มีทุกเจน 1 , 2 , 3 , 4 แต่ Playstation 5 ยังไม่ได้ซื้อเพราะว่าจะไปซื้อแล้วพ่อค้าแม่งโก่งราคารีเซลล์ จากหมื่นห้าหมื่นหกแม่งล่อไปสามหมื่นกว่า ! มีตังค์แต่กูไม่ซื้อ เหมือนงอล แต่ไม่เป็นไรก็ไม่ได้ซีเรียส 

เกมสมัยใหม่ผมเคยเล่นหมด PUBG / Rov / Free Fire หลัก ๆ ก็เล่น ROV เป็นหลัก เพราะว่ากว่าจะเล่นเป็นต้องทำความเข้าใจนาน สองคือ ID กว่าจะเท่ขนาดนี้ก็เติมหนัก ทุกคนที่เล่นรู้เลยว่าหนัก ฉะนั้นมันก็ไม่อยากเปลี่ยน เปลี่ยนเยอะกูก็ต้องเติมใหม่มันก็ยังเป็นเกมที่ดังอยู่ แล้วผมก็ยังมีอีเวนท์งานจาก Rov ด้วย ก็ถือว่าทำให้เราไม่ตกเทรนด์ ทำให้คุยกับเด็กเล็ก ๆ เด็กรุ่นใหม่รู้เรื่อง

บรรทัดต่อจากนี้ไปที่ทุกคนจะได้อ่าน (เกริ่นยิ่งใหญ่แบบ Cut Scene เกม) เราให้พี่พล่ากุ้งเลือกตลับเกม เครื่องเกม และสารพัดอย่างที่ต่อปลั๊กเข้ากับแต่ละช่วงเวลาในความทรงจำของเขา ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันที่เป็นเด็กหนวด เอาล่ะไม่ปล่อยจอยให้รอคนเล่นนานเกินไป เราไปเริ่มต้นที่ชิ้นแรกกับเรื่องราวที่เขาเตรียมมาเซอไพรส์เลยดีกว่า


DJ พล่ากุ้ง : สิ่งของที่เกี่ยวกับเกมชิ้นที่แบบว่าเป็นต้นกำเนิด สร้างเรื่องราวทุกอย่างในชีวิตที่มาถึงตอนนี้เกี่ยวกับเกม คือเครื่อง Family Computer (1983) หรือที่เรียกกันว่า Famicom นั่นเอง งานจากบริษัท Nintendo Entertainment System ของญี่ปุ่น

Famicom เป็นเครื่องเกมยุคแรกที่สามารถเปลี่ยนตลับได้ ก่อนหน้ามันจะมี Game & Watch Series เป็นเกมกด ผมก็เคยเล่นแต่ถามว่าประทับใจมั้ย มันก็เล่นได้แปปนึง หน้าจอมันก็มืด ๆ มองไม่ค่อยเห็น แต่ว่าพอมาเจอ Famicom มันเปลี่ยนเกมได้แล้วก็มีการบังคับแบบอิสระขึ้นลงซ้ายขวาเอบีคือเปลี่ยนโลกเลย ซึ่งผมว่า Nintendo แม่งโคตรเก่ง จอยของเครื่องดีไซน์มาแบบที่ไม่ว่าจะเป็นคนตัวใหญ่ คนตัวเล็ก จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่เล่นไซส์นี้ทุกคนแฮปปี้หมด ผมจับถึงทุกวันนี้มันยังคงเข้ามืออยู่ แล้วทัชชิ่งของเขาทำมาแบบปุ่มเด้ง ทุกอย่างดีไซน์มาค่อนข้างจะตอบโจทย์มาก ๆ 

จริง ๆ มันไม่ใช่เครื่องเกมแรกที่ผมได้เล่นนะ เพียงแต่ว่าตอนเด็ก ๆ บ้านผมไม่ได้มีฐานะร่ำรวย แล้วพ่อแม่ไม่ได้สนับสนุนให้เล่นเกมด้วย คือเขาไม่รู้จักเกมอยู่ละ ฉะนั้นผมก็ต้องไปเล่นตามบ้านเพื่อน โชคดีว่ามีเพื่อนร่ำรวยก็มีเครื่องเกมให้เล่น เราก็เป็นเล่นที่บ้านมัน ก็เหมือนเป็นลูกเขาอีกคน อยู่ยันเช้า ยันมืด เพราะว่าสมัยก่อนบางเกมมันไม่มีเซฟ อย่าง Contra มึงจะเล่นน็อคได้มึงต้องเปิดเล่นทีเดียวแล้วก็ต้องเล่นยาวจนจบ ใครเตะปลั๊กหลุดไฟดับห่าเหวไรแม่งคือเริ่มใหม่ เด็กสมัยก่อนเลยเล่นเกมอึดมาก 

แล้วความสนุกของมันก็คือถ้าอยู่กันหลายคนจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ตายเปลี่ยนมือ’ ยุคนี้ตายเปลี่ยนมือไม่มีแล้วนะ เพราะทุกคนมีเครื่องเล่นพร้อมกันหมด การตายเปลี่ยนมือแม่งเป็นอะไรที่อย่างเหงา ถ้ามึงตายมึงก็นั่งดูนั่งแซว ปากหมาอยู่ข้างหลังเพื่อน เป็นกูรูไป ก็เป็นความสนุกกันคนละแบบ

ฉะนั้นเครื่อง Famicom เป็นจุดกำเนิดของผม ทำให้ผมเข้าสู่วงการเป็นนักสะสม Collector แบบจริงจังด้วย เครื่องนี้คือในยุคนั้นผมไม่มีตังค์เลยมาตามซื้อได้ตอนโตแล้ว และมี Famicom ผ่านมือมาน่าจะเกินสิบเครื่อง มีเอง ซื้อมาเก็บไว้ขายไป เอาไปแปลงเละเทะพังหมด แกะเล่นอยากรู้ว่าเป็นอะไรยังไง มีทั้งงานกล่องแล้วก็งานไม่มีกล่อง ตอนนี้คือเก็บเฉพาะเครื่องที่เล่นได้ปกติแล้วก็สภาพสมบูรณ์แบบ

แล้ว Famicom ตัวนี้คือพิเศษอย่างนึงคือด้านหลังที่เป็น Selector เมื่อก่อนเครื่องเกมจะต้องเสียบผ่านสายอากาศทีวี มันไม่ใช่ช่อง HDMI เหมือนสมัยนี้ หรือเป็นช่อง AV เหมือนสมัยกลาง ๆ มันคือช่องเสาอากาศ เมื่อก่อนจะมีรูเสาอากาศใหญ่ ๆ หนวดกุ้งตามบ้าน แล้วก็จะลิงค์สายกลม ๆ เอามาเสียบท้ายทีวี นั่นคือเวลาเราดูทีวี แต่เวลาเราเล่นเกมเราต้องถอดไอรูนั้นออก เอาสายเกมเสียบไปเข้าทีวีแล้วค่อยจูนหา เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักคำว่าจูนละ จูนคือเข้าไปกดหา มันจะวิ่งหาคลื่นจนเจอกันถึงภาพจะชัด ซึ่งมันเป็นอะไรที่ผู้ปกครองสมัยก่อนไม่เข้าใจ ก็จะด่าว่า “ทีวีพังหมด!” เพราะบางทีมันไปจูนช่องที่เขาดูปกติไง ไปจูนช่อง 3 ซึ่งเขาจูนทีวีเอาไว้ที่ช่อง 3 เสือกจูนหนีไปเป็นวีดีโอ พอเขามาเปิดอีกทีไม่เจอช่อง 3 เจอจอมืดเขาก็ด่าดิ เมื่อก่อนไม่มีความรู้เลยจริง ๆ 

แล้วญี่ปุ่นเขาทำมาให้มันเป็น Selector ก็คือเสียบเข้าไปในทีวี แล้วตัว Selector มันจะมีช่องเสียบเสาอากาศสองรู รูนึงมึงก็เสียบทีวีเข้าไป อีกรูนึงมึงก็เอาสายเกมเสียบ ละมึงก็แค่กดแป๊ะเลือกฝั่ง ทีวีก็แป๊ะมาทางฝั่งทีวี เขาก็เปิดเจอทีวีตลอด พอจะเล่นเกมมึงก็ไม่ต้องจูน มึงก็แค่สลับแป๊ะมาทางฝั่งเกมมันก็เปิดเกมติดละ แต่คนไทยคือทิ้งไม่เอา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม เครื่อง Famicom เข้ามาเมืองไทยคือไม่มี Selector ตัวนั้น ผมนี่แอบเล่นตอนกลางคืนก็จูนจนทีวีจนแม่งพัง ไม่รู้ว่าเพราะกดแรงหรือว่าอะไร ทีวีสมัยก่อนอาจจะบอบบางน่าจะไม่เกี่ยวกับจูนสัญญาณแล้วพังนะ

มีจังหวะนึงในชีวิตตอนผมอยู่ม.ต้น ปิดเทอมใหญ่ เฮียที่อยู่ข้าง ๆ บ้านผมเขาเป็นเจ้าของร้านเครื่องไฟฟ้า แล้วเขามีไอเดียจะสร้างร้านเกมขึ้นมา เพราะตอนนั้นกระแสเกมเริ่มมาละ เขาก็หาคนเฝ้าร้านก็มาคุยกับแม่ ผมได้ยินก็เลยแบบ “เห้ย ! เอาดิ ผมเฝ้าให้ จ้างเลย” ก็ปรากฎว่าผมได้เป็นเด็กเฝ้าร้านเกม แล้วในยุคนั้นคือเฮียคนนี้ร้านเกมถือว่าค่อนข้างจะทันสมัย มี Famicom ประมาณสัก 4-5 เครื่อง 3DO Interactive Multiplayer / Sega Saturn / Superfamicom มียันเครื่องใหญ่สุดคือ Neo Geo ตลับ เป็นเกมที่จำลองเอาเกม Arcade เกมอาเขตคือเกมตู้เอามาเล่นในทีวีได้ ตอนออกใหม่ ๆ ตลับเดียวหมื่นกว่าบาท บางตลับหมื่นห้า บางตลับหมื่นแปด แพงมาก เช่าเล่นที่ร้าน 60 บาทต่อ 1 ชั่วโมง ก็คือนาทีละบาท เป็นเครื่องอยู่ข้างในสุดของร้านใครเล่นนี่คือเด็กมุงล้อม มันน้อยร้านที่จะมีเครื่องนี้ แต่คือผมคนเฝ้าร้านก็เลยมีโมเมนต์ที่เวลาไม่มีเด็กกูก็นั่งเล่นชิลเลย แล้วเด็กคนไหนฉอเลาะหน่อยเดี๋ยวแถมเวลาให้


DJ พล่ากุ้ง : ชิ้นแรกในชีวิตที่เกี่ยวกับเกมที่ผมมีครอบครองคือเกมกดชื่อว่า Game-Clock & Calculator Dragon Fighter (1983) คุณพ่อซื้อให้เป็นของขวัญ ตอนนั้นสอบได้คะแนนดีหรืออะไรสักอย่าง

โมเมนต์ที่มีกับเครื่องเกมนี้คือตอนนั้นผมต้องขึ้นรถไปโรงเรียนตอนเช้าทุกวันตรงแถว ๆ สะพานใหม่ บางเขน แล้วร้านที่เขาขายเกมนี้เป็นร้านเครื่องเขียนอยู่ตรงป้ายรถเมล์ตรงที่รอรถนั่นแหละ เราก็จะได้เห็นเครื่องเกมนี้อยู่สองเวลาคือตอนเช้าที่ไปรอขึ้นรถกับตอนเย็นที่นั่งรถกลับมา ตอนเช้าร้านยังไม่เปิด แต่ตอนเย็นก็จะเห็นเครื่องเกมอยู่ในตู้กระจกวางสวย ๆ เราก็จะไปเกาะดูทุกวัน 

วิธีการเล่น Game-Clock & Calculator Dragon Fighter ก็คือตัวละครของเราจะโผล่มาด้านซ้ายล่าง แล้วด้านซ้ายบนจะเป็นมังกรพ่นไฟลงมา เราต้องเดินหลบหลบไฟจากมังกร แล้วก็มาขึ้นที่แท่นที่ด้านฝั่งขวา พอขึ้นแท่นเสร็จหน้าเราจะหันเข้าสู้มังกร ให้กดยิงแล้วเราจะปาหอกพุ่งขึ้นมาเฉียงมาโดนมังกร อธิบายเหมือนยิ่งใหญ่นะ แต่ภาพแบบโคตรกะโหลกกะลาเลย มันเดินแค่ 4 ขั้นแล้วขึ้นแท่น พอผ่านเลเวลมังกรก็จะพ่นไฟเร็วขึ้นปาให้โดนมังกรคะแนนก็จะขึ้น แค่นั้นเองไม่มีไรเลย

UNLOCKMEN : ราคาแพงมั้ย ?

DJ พล่ากุ้ง : น่าจะหลักร้อยแต่ตอนนี้ไม่มีขายละนะ ผมเจอที่คลองถมครั้งแรกแล้วก็ไปเจออีกทีที่ญี่ปุ่นก็เลยซื้อมาเก็บไว้ เพราะของเก่ามันหายไปไหนไม่รู้ มันไม่ใช่เกมที่ดังอะไรแต่อันนี้ซื้อเก็บความทรงจำตัวเอง 

เกมในแบบเดียวกันที่ดัง ๆ ในยุคนั้นจะเป็นของค่าย Nintendo ซีรีส์ Game & Watch (1980) คือของมีราคา แต่พวกที่เป็นตลับแบบหน้าเดียวก็ยังไม่เท่าไหร่นะ ยุคที่เด็ก ๆ เริ่มเอา Game & Watch ไปโรงเรียนคือแบบที่มี 2 หน้า แม่งโคตรเท่ นี่คือต้นแบบของ Nintendo DS เป็นเกมจากยุค 80s อย่าง Donkey Kong (1982) เปิดมาสองหน้าแม่งเท่ละ 

คือ Nintendo เขาออกตระกูล Game & Watch มาค่อนข้างจะเยอะนะ มีเกมดัง ๆ อย่าง Greenhouse (1982) / Mickey Mouse (1981) เขาจะมีแมคคานิคในการคิดค่อนข้างเก่ง แต่พวกหน้าเดียวทุกวันนี้คือแพงเพราะว่าหายาก พวกนี้คือต้นกำเนิด เกมแรกจะเป็นเกมชื่อ Ball (1980) เป็นเหมือนตัวแรกของตระกูล Game & Watch ของ Nintendo มันไม่ใช่เครื่องเกมต้นกำเนิดของ Nintendo นะ แต่ว่าเป็นต้นกำเนิดเกมแบบที่เราเล่นแพทซ้ายขวาหน้าหลังก่อนยุคของ Famicom

Game & Watch เนี่ยควักออกมาเล่นเพื่อนก็กรี๊ดในระดับนึงละ แต่ที่กรี๊ดยิ่งกว่าคือตัวนี้ Nintendo Micro Vs System (1984) หนึ่งคือแม่งเป็นตลับยาว ความกรี๊ดของมันคือสามารถเล่นคู่ 2 คนได้ เพราะมีคอนโทรลเลอร์ 2 จอย อันนี้ของผมเป็นเกมต่อยมวย บ๊อกซิ่งนะฮะ ชวนเพื่อนฝูงมาเล่นกันแต่ว่าหน้าจอใม่มีแสง ฉะนั้นต้องเล่นตอนกลางวันเท่านั้น กลางคืนคือมองไม่เห็น


DJ พล่ากุ้ง : จริง ๆ เกมที่เล่นกับเพื่อนแล้วสนุกของ Famicom เนี่ยมีหลากหลายเกมมาก ๆ ต้องเล่าอย่างนี้ก่อน เครื่อง Famicom เครื่องเกมมันสามารถเล่นได้สองจอยเนอะ ‘จอยหนึ่ง’ เป็นตัวเลือกบังคับ เป็นตัวเลือกฟังก์ชันต่าง ๆ เลือกฟังก์ชันว่าจะเล่น 2 จอยหรืออะไรทั้งหมด แล้วถามว่าจอยสองมันมีอะไรพิเศษ ที่ด้านบนจอย 2 จะมีเหมือนปุ่มอะไรสักอย่างนึง ซึ่งปุ่มนี้มันคือ Volume เป็นการปรับเสียงดัง-เบา แล้วมีไว้เพื่ออะไร ก็บนจอย 2 มันมีแผ่นรับไมค์อยู่ สามารถพูดใส่ได้แล้วเสียงมันก็จะไปดังในทีวี เพราะว่าบางเกมมันมีระบบที่ว่าใช้เสียงพูดแล้วจะไป Active กับเกม แต่ว่าเด็กไทยสมัยนั้นรวมถึงผมด้วยไม่รู้ว่าสิ่งนี้ทำอะไรได้ ก็จะพยายามแย่งเอาจอย 1 ส่วนใครที่เล่นจอย 2 ก็คือใช้ด่าฝ่ายตรงข้ามอย่างเดียว “พ่อมึงตาย ไอเหี้ยเอ้ย ไอสัส !” ด่าออกทีวีเลย

มาพูดถึงเกมที่เล่นกับเพื่อนแล้วสนุกกันต่อ หลาย ๆ คนก็น่าจะรู้จักกับในตระกูลนี้อยู่แล้ว อย่าง Contra (1987) เกมช่วยกันยิงผ่านด่านไป แต่มันจะมีด่าน 3 ที่เป็นด่านกระโดดขึ้นน้ำตก ไอด่านน้ำตกเนี่ยถ้าใครกระโดดขึ้นเร็วแล้วอีกคนมัวแต่กระโดดอยู่ข้างล่างช้าไม่ทันก็จะตายห่าเลย เขาเรียก ‘ดึงฉาก’ คือแกล้งกันได้อะ

UNLOCKMEN : สมัยนั้นเกมที่ฮิตเล่นกัน 2 คนจะเป็นเกมประเภทไหน

DJ พล่ากุ้ง : เกมแอคชั่นแน่นอน เดินลุยไปเรื่อย ๆ จากซ้ายไปขวา เกมส่วนมากก็ทำออกมาเป็นทรงนี้หมด แต่ว่าก็จะมีแบบที่กระโดดขึ้นบ้าง เป็นมาตรฐานของ Famicom เลยว่าหน้าตาประมาณนี้ มันก็จะมีตระกูลอย่าง Double Dragon (1987) อันนี้ก็คือฮิตเหมือนกันเป็นเกมเดินลุย ..

“อ้าว เปิดไม่ติดว่ะ ?”

ที่เกมเปิดไม่ติดเพราะว่าแพทปริ้นมันสกปรก (Printed Circuit Board (PCB)) ตัวอ่านข้อมูลของตลับเกม Famicom ที่ทำหน้าที่เป็นตัวอ่านข้อมูลอย่างเดียวที่เราคุ้นชินกันกับคำว่า ROM ตัว Printed Circuit Board มันจะเป็นทองแดงตัวผู้กับตัวเมียระหว่างตลับเกมกับเครื่อง Famicom พอเวลาเสียบตลับเข้าไปมันก็จะอ่านข้อมูลจากสล็อต ข้อมูลก็ถูกไหลเข้าไปในการอ่าน แล้วความจุมันแค่ 8 Bit เองนะ โคตรน้อย อย่างเกม Contra นี่สูงสุดอยู่ที่ 360 K เทียบกับภาพสมัยนี้ที่มีกี่ล้านพิกเซล แค่ไฟล์ Microsoft Word เด็กทำรายงานส่งครูก็ความจุเกินตลับพวกนี้แล้ว คนทำเกมแม่งโคตรเก่ง พอตลับมีฝุ่นเกาะเลยทำให้อ่านไม่ติดได้ ถ้าเป่าตลับแล้วยังไม่ติดผมมีวิธีการตามนี้

– Step 1 เริ่มง่าย ๆ จากเอาคัตตอนบัตเช็ด ๆ ตรงแผ่นปริ้นท์ จะเห็นว่ามันมีฝุ่นเกรอะคอยบังตัวทองแดงของแพทปริ้นอยู่ 

– Step 2 ถ้ายังเปิดไม่ติดอยู่สายแอดวานซ์อย่างผมจะใช้กระดาษทรายฉีกพร้อมหาคัตตอนบัตเล็ก ๆ พันแล้วขัดคลีนเลย ตลับมันไม่พังหรอก แต่ว่าทำมาก ๆ มันก็ไม่ดี ตัวทองแดงมันก็ถูกบั่นทอนให้บางลง

DJ พล่ากุ้ง : และนี่คือ Double Dragon เล่นสองคนได้ สมัยก่อนเกมเป็นภาษาญี่ปุ่นหมด ข้อเสียคือทำให้เราไม่รู้เรื่องราวของเกมเลย ทำให้เราพลาดเนื้อเรื่อง สำหรับตลับเกมแท้จะมี Cut Scene แต่พวกตลับปลอมเขาจะเอาฉาก Cut Scene ออก อย่าง Contra ก็เหมือนกัน 

แล้วก็ยังมี Teenage Mutant Ninja Turtles 2 (1990) เต่านินจาภาค 2 ก็จะสามารถเล่นสองคนได้ แล้วเกมนี้ดีนะมีภาษาอังกฤษด้วย แต่ตอนเด็ก ๆ ผมก็อ่านไม่ออกอยู่ดี 555 พอเปิดเกมมาดูตอนนี้ก็รู้สึกว่าผู้สร้างอย่าง Konami นี่เก่งเนอะ เวลาผ่านนมา 30 – 40 ปี ดีไซน์ยังเจ๋งอยู่เลย ภาคนี้ตอนออกมาแรก ๆ เด็กเล่นเต็มร้าน

ส่วนอีกตระกูลนึงที่ดังมาก ๆ ไม่แพ้กันคือตระกูลคุนิโอะ Kunio-kun Series (1987) เป็นตระกูลเดียวกับเสื้อ แงะlocker ที่ผมใส่อยู่ตอนนี้ ที่ดังที่สุดน่าจะเป็น ‘คุนิโอะดอดบอล’ Nekketsu Koukou Dodgeball Bu (1988) หรืออย่างคุนิโอะรวมกีฬาก็ดังนะฮะ 

อันนี้ตลับสุดยอดของ Famicom อีกหนึ่งเกม Konami Wai Wai World (1988) เป็นเกมเดินลุย ผมเล่นในรายการแงะ Locker ไปละ เพราะตอนเด็กผมไม่เคยเล่นจบเลย เกมนี้มันจะเป็นตัวละครที่ทาง Nintendo คิดขึ้นมาเองเลย Konami Man / Konami Lady เราจะไปช่วยตัวละครทั้งหมดเพื่อปกป้องโลก เกมดีมากเล่นได้ 2 คนพร้อมกันด้วย เพลงเพราะอีกต่างหาก เป็นเกมตระกูลดังของ Nintendo อีกตระกูล แต่เขาไม่ทำภาคต่อทำแค่สองภาคละก็หายไปเลย Konami Wai Wai World 2: SOS!! Parsley Jō (1991) ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันทำไมถึงหายไปเสียดายเหมือนกัน


DJ พล่ากุ้ง : เกมที่ยากต้องบอกว่าจริง ๆ แล้วมันก็แล้วแต่คนนะ เพราะว่าคนเล่นเกมก็มีหลากหลายแบบ มีทั้งเกมแอคชั่น (Action) เกมเทิร์นเบส (Turn Based) เกมภาษา (RPG) ต้องบอกว่าผมเป็นคนไม่ค่อยชอบเล่นเกมภาษาเพราะว่าอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก แล้วเกมมันใช้เวลาในการเล่นนาน ส่วนที่ญี่ปุ่นเกมมันดังมากเพราะว่าเขาอ่านออกกันไง เขาก็เล่นกันแบบยาว ๆ ซีรีส์ที่เด็กที่ญี่ปุ่นรอคอยก็จะมีตระกูล Final Fantasy (1987) ผมมีภาค 1 2 3 ที่ตอนออกมาดังมากเลย อีกเกมที่ดังคู่ ๆ กันคือ Dragon Quest (1986) แต่ว่าก็มีเด็กไทยที่ตั้งใจเล่นจนจบเป็นเรื่องเป็นราว โคตรเก่งอะ ผมรู้จักเพื่อนคนนึงพี่ชายอ่านญี่ปุ่นออก จบเลย แม่งนั่งเล่นกับพี่ชายโคตรมีความสุข อันนี้คือไฟนอลคือเกมภาษา สำหรับผมก็คือเล่นยาก ต้องเล่นเป็น ต้องเข้าใจ สมัยก่อนหนังสือสูตรของไทยมีเอาเกม RPG มาแปลขายด้วยนะ 

UNLOCKMEN : เป็นแบบบทสรุปเกมเลยเหรอ

DJ พล่ากุ้ง : ใช่ เมื่อก่อนบทสรุปเกมขายดี ของเกมภาษาคือขายได้เลย แล้วสมัยก่อนเขาก็เอามาจากต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นในยุคที่ยังไม่มีลิขสิทธิ์ เอาญี่ปุ่นมาแปลถ่ายรูปอาร์ทเวิร์ค ละก็เอาตัวหนังสือไทยพิมพ์ทับ เต็มเหนี่ยวกันไป

UNLOCKMEN : มันบอกแค่วิธีเล่นหรือมันบอกเนื้อเรื่องด้วย

DJ พล่ากุ้ง : บอกเนื้อเรื่องด้วย แล้วถ้าสำนักพิมพ์ที่ดีหน่อยเขาก็จะแปลมาให้ แต่ก็จะแปลมั่ว ๆ หน่อย อย่างผมเล่นเกม Rygar In The West (1986) มันจะมีซีนหนึ่งของเกมเป็นห้องเดินเข้าไปแล้วจะเจอประตู เข้าไปปุ๊บมันจะเจอเหมือนเป็นผู้เฒ่านั่งอยู่ แล้วภาษาญี่ปุ่นก็จะขึ้นมา ถ้าแปลเป็นไทยเลยก็คือ “เดินตรงไปข้างหน้าที่ป่านี้ เดี๋ยวเจ้าจะเจอทางเข้าลับอยู่ตรงต้นไม้” แต่ในหนังสือสูตรไทยแม่งพิมพ์บอกแค่ว่า “ผู้เฒ่าเล่าเรื่องราวต่าง ๆ” โถ ! กูจะรู้เรื่องมั้ย ผู้เฒ่าเล่าเรื่องต่าง ๆ ประตูมันกี่ช่องใครจะรู้เรื่องวะ


DJ พล่ากุ้ง : ถ้าเป็นยุคที่เริ่มเล่นเกมใหม่ ๆ เกมที่เล่นบ่อยที่สุดนอกจาก Contra 1 ที่ถึงขนาดว่าตัวเดียวจบไม่ต้องใส่สูตร 30 ตัว ขึ้น ๆ ลง ๆ ซ้ายขวา ๆ บีเอ ๆ สตาร์ท อีกเกมคือ Super Mario Bros. 3 (1988) ซึ่งเกม Mario มันดังมาตั้งแต่ Super Mario Bros. 1 (1985) แต่จริง ๆ คาแรคเตอร์ตัว Mario มันไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกใน Super Mario Bros นะ แต่จะอยู่ใน Game & Watch เป็นตัวละครชื่อ Jumpman ที่จะไปช่วยแฟนสาวอยู่ในเกม Donkey Kong (1982) มาก่อน สำหรับผมเกม Super Mario Bros. 3 มันผ่านมา 40 ปีแล้วแต่ดู Artwork ดิ โคตรคมเลย ดูยังไงก็ไม่เก่า ประเทศญี่ปุ่นเนี่ยมันงานดีไซน์แข็งแรงมากจริง

Super Mario Bros. 3 เป็นภาคที่ผมคิดว่าเป็นภาคที่สมบูรณ์แบบที่สุดของ Mario ในยุค Famicom เกม Super Mario Bros. 1 ตอนที่ออกมามันความจุแค่ 64 K แต่ว่าพอเป็น Super Mario Bros. 3 มันมาเต็มคือ 360 K ทำให้ระบบต่าง ๆ ภาพต่าง ๆ ไอเทมในเกมถูกพัฒนาไปเยอะมาก แล้วก็เป็นเกมที่มีความลับในเกมซ่อนอยู่เพียบ

พูดถึง Contra เพิ่มอีกหน่อย เกมนี้คือในตำนาน น้อง ๆ รุ่นใหม่หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้ สองตัวละครในเกมนี้เขามีอินสไปร์มาจากคุณ Arnold Schwarzenegger กับ Sylvester Stallone อาโนลก็คือคนเหล็ก ซิลเวสเตอร์ก็คือแรมโบ้ แล้วเขาเอามาปรับเป็น Bill Razer กับ Lance Bean สำหรับบ้านเราเกมนี้จะรู้จักมาจากตลับปลอมคลาสสิกที่เรียกว่า 700 In 1 

UNLOCKMEN : ญี่ปุ่นมีตลับรวมเกมแบบนี้มั้ย ?

DJ พล่ากุ้ง : ญี่ปุ่นไม่มีรวมเกมแบบนี้ครับ เอาให้เขาดูนี่แบบ “อ่าโน!” เลย บอกตรง ๆ เลยว่า Soft Power ของจริง แม่งเล่นกันทั่วประเทศ สำหรับ Contra จะมีสูตรคลาสสิคตามนี้ 

UNLOCKMEN : นอกจาก Contra แล้ว มีเกมอื่นที่ใส่สูตรได้อีกมั้ย ?

DJ พล่ากุ้ง : เยอะแยะเลย คือเกมเขาคิดมาแล้ว ถามว่าเยอะขนาดไหน ผมมีสิ่งที่เรียกว่าหนังสือเฉลยสูตรเกมที่เขารวงรวมสูตรมาให้ชื่อ Special-T บางเกมมีสูตรเลือกฉาก สูตรเพิ่มตัว สูตรพลังไม่ตาย มีสูตรอะไรก็แล้วแต่ แล้วแต่เขาจะหาข้อมูลมาได้ แล้วก็รวมสูตรจากหลาย ๆ เครื่อง Famicom / Mega Drive หลายสูตรเต็มไปหมด


DJ พล่ากุ้ง : ผมมีตลับนึงหายากที่สุดในโลก ไม่มีใครมีแน่นอน ฝรั่งยังไม่มี ญี่ปุ่นก็ไม่เห็น ซูมกล้องเข้ามาครับ 1 2 3 มันคือ Super Plakung !!!!! (2017) เคยเห็นที่ไหนรึเปล่า ? กล้องส่ายหน้าหน่อย เดี๋ยว ๆ กูให้กล้องส่ายหน้าไม่ได้ให้มึงส่ายหัว 555 หลายคนบอกทำปกตลับมาเอาฮา ๆ รึเปล่า เสียบโป๊ะ ! ซุปเปอร์พล่ากุ้ง ตัวผมใส่แว่น โหม่งเห็ดออกมา ไม่ใช่เห็ดแต่เป็นวิกผมฮะ แดกซะ ตัวใหญ่ 555 หลายคนถึงกับเช็ดปาก แผ่นนี้ผลิตขึ้นมาตอนปี 2017 คนทำชื่อ TOUCHY เป็นคนไทยซึ่งผมไม่สามารถติดต่อเขาได้แล้ว ตลับเดียวในโลก เป็นตัวละครผมพล่ากุ้งแทน Mario แค่นั้นเลย ที่เหลือเหมือนกันหมด

UNLOCKMEN : จุดเริ่มต้นของการทำเกมนี้มาจากไหน

DJ พล่ากุ้ง : คือผมจัดงานเกมชื่อ Thailand Classic & Toy Game จัดครั้งแรกที่ The Nine Center Rama 9 ครั้งที่สองจัดที่พันทิพ มันก็ใหญ่ขึ้นมาเรื่อย ๆ มีรุ่นน้องคนนึงแนะนำให้เจอกับคุณ TOUCHY เขาบอกว่าทำเกมแบบนี้ได้แล้วก็อยากทำให้ด้วย ผมก็อารมณ์แบบอยากลองของ แล้วเขาก็ทำได้จริงออกมาเป็น Super Plakung อย่างที่เห็น สุดยอดมาก ถ้าคุณ TOUCHY อ่านอยู่ติดต่อผมมาด้วยนะฮะ คือโคตรเป็นตำนานเป็นบั๊กในชีวิตผม ก็ถือว่าเป็นตลับหายากที่สุดของผมละ ทำเป็น Made In Japan มาด้วยนะ ภูมิใจ ถ้าให้ตีมูลค่าก็ประมาณแสนนึง หยอก ๆ ขายตั้งแต่หมื่นแล้ว 555 แต่ไม่ขายหรอกอันนี้เก็บเอาไว้เอง


DJ พล่ากุ้ง : เกมที่แพงที่สุดสำหรับผม แต่อันนี้ผมไม่มีนะ ชื่อเกม Punch-Out (1987) คนไทยจะเรียก Mike Tyson ที่ผมมีอยู่คือตลับปกติทั่วไป แต่มันจะมีตลับนึงเป็นตลับสีทอง Punch-Out Gold Model (1987) ซึ่งเขาทำขึ้นมาเฉพาะกิจเพียง 10,000 ตลับทั่วโลก เป็นทอง 24K Gold ทาง Nintendo ทำขึ้นมาเพื่อเป็นรางวัลสำหรับผู้เข้าแข่งขัน Family Computer Golf : U.S. Course ซื้อขายกันหลักหมื่นบาท (เช็คล่าสุดใน E-Bay วันที่ 15/12/2023 ขายกันอยู่ที่ราคาสามหมื่นต้น ๆ)

แล้วก็เกมอีกตระกูลนึงที่มีราคาแพงและผมเกริ่นไปแล้วนิดหน่อยตอนชีวิตช่วงที่เฝ้าร้านเกมคือ Neo Geo (เครื่องเกมที่พัฒนาโดย SNK Corporation ช่วงระหว่างปี 1990 – 2004) ตอนเด็ก ๆ ไม่มีปัญญาเล่น ตลับที่แพงมาก ๆ ของเกมตระกูลนี้ ถ้าผมจำไม่ผิดมูลค่าตอนวางขายใหม่ ๆ ตลับเดียวประมาณ 20,000 บาท คือมันไม่ใช่ของเก่าและแพงแต่มันคือของใหม่ที่แพงเลย เด็กยุค Famicom ยังไม่มีปัญญาเลยอะ เด็กที่มี Neo Geo เล่นที่บ้านมึงคืออัคระมหาเศรษฐี ผมก็โชคดีนิดนึงอย่างได้ทำงานเฝ้าร้านเกมก็เลยได้เล่นฟรี 

Neo Geo เป็นเกมที่จำลองเอาเกม Arcade Game Machine เกมตู้มาไว้ที่บ้าน ซีรีส์ที่ฮิต ๆ แพง ๆ ก็จะมีพวก The King of Fighters (1994) ส่วนตระกูลที่ผมชอบเลยก็จะเป็น Samurai Shodown (1993) / World Heroes (1992) หรือเกมบอล Super Sidekicks (1992) ที่ผมมีเก็บอันนี้ไปเจอมาจากญี่ปุ่นราคาพอสู้ได้ก็เลยซื้อเก็บไว้ แต่เครื่องอยู่ไหนแล้วก็ไม่รู้นะ


DJ พล่ากุ้ง : ผมเชื่อว่าเกมทุกเกมมันมีทิศทางแหละ เพราะกว่าจะเป็นเกมนึงขึ้นมาไม่ใช่แค่คนเดียวทำ ต่อให้เป็นเกมตลับ 24K โง่ ๆ ก็ต้องมีทีมมานั่งประชุม อย่างเช่นเกมที่ทุกคนรู้จักแน่นอน Circus Charlie (1984) เกมนี้เราก็รู้ว่าเขาสร้างมาเพื่อให้เราเป็นนักละครสัตว์ขี่สิงโตกระโดดลอดไฟผ่านด่านไปเรื่อย ๆ 

หรืออย่างเกมชื่อ Front Line (1982) เกี่ยวกับทหารสู้รบสงครามแนวหน้า แต่ท่าเดินโคตรต๊อง การยิงแปลก ๆ ปาระเบิดไซด์โค้ง ถามว่าปัญญาอ่อนมั้ย ก็แบบ แต่ถามว่าต้องใช้ทีมกี่คนมานั่งโต๊ะประชุมงานกัน เพราะฉะนั้นเกมที่สร้างมาทำไมสำหรับผมไม่มีหรอก มันสร้างมามีเหตุผลทุกเกมแหละ เขาต้องคิดมาทุกอันอยู่แล้ว


DJ พล่ากุ้ง : ถ้าพูดถึงเครื่องเกมของไทยที่ผมเติบโตมาด้วย ซึ่งจะใช้คำว่างานก๊อปก็ไม่ได้ ต้องเรียกว่าเป็นแรงบันดาลใจ เด็กไทยยุค 90s น่าจะคุ้นเคยกันดีกับเครื่อง FR 202 (1987) มาพร้อมกล่อง ‘Funny Set’ เป็นรุ่นยอดนิยมของบ้านเรา ในเซ็ทนี้ทำยิ่งใหญ่มาก มีตลับเกม Top Ten Variety รวม 10 เกม ไม่พอยังมี 66 In 1 มีทั้ง Contra , Ninja Cat , Chip & Dale แถมมีจอยที่เหนือกว่า Famicom ของญี่ปุ่นตรงที่สามารถถอดเสียบได้ (ของ Famicom จอยจะติดกับเครื่อง) มีสิ่งที่เรียกว่าปืนต่อจอยยิงเข้าทีวีทำขึ้นสำหรับเกมยิงปืนซึ่งมีไม่กี่เกมหรอก ที่ดัง ๆ ก็ Duck Hunt (1984) เกมยิงเป็ดในตำนาน FR 202 ก็คือ Famicom นั่นเอง ของแท้ต้องมีตัวนูนพิมพ์ทองตามสโลแกนโฆษณา ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีเครื่องกับตลับนี้คอนนั้นเราอาจจะไม่รู้จักหลาย ๆ เกมก็ได้ เพราะยุคนั้นมันก็ยังไม่เวิลด์ไวด์เหมือนยุคนี้ สินค้านำเข้าก็ราคาสูง 

UNLOCKMEN : ยุคปัจจุบัน FR202 หายากและแพงมากมั้ย ?

DJ พล่ากุ้ง : ในมุมนักสะสมก็ชุดนี้ก็ถือว่าหายากอยู่ ราคาอาจจะไม่แพงเวอร์ประมาณหลักหมื่น เพียงแต่ว่าสภาพกล่องครบ ๆ แบบนี้อาจจะมีน้อย เป็นชุดเครื่องเกมสามัญประจำบ้านแต่ผมก็ขายออกไปหลายชุดแล้วเหมือนกัน 

ขอพูดถึงงานไทยอีกอันที่ผมรู้สึกว่าเจ๋ง แล้วทีมที่ผลิตขึ้นมาต้องขอยอมรับเลยว่าเขาทำด้วยแพชชั่นสุดยอดจริง ๆ ก็คือเล่มนี้ครับ Famicom Complete 1983-1994 เป็นหนังสือรวบรวมเอาทุกเกมของ Famicom ตั้งแต่ปี 1983 ถึง 1994 ทุกเกมเข้ามาอยู่ในนี้พร้อมคำอธิบายว่าออกเมื่อไหร่ ราคาเท่าไหร่ เกมเกี่ยวกับอะไร เรียงตามตัวอักษร A-Z ประมาณพันสองร้อยกว่าตลับถ้าจำไม่ผิดนะ เป็นภาษาไทยทั้งเล่ม คิดดูดิ เขาต้องมีแพชชั่นขนาดไหน ผมอุดหนุนเพราะว่าเห็นถึงความตั้งใจ งานกระดาษ งานกล่อง จะเรียกว่าเป็นคัมภีร์ของ Famicom เลยก็ได้เป็นข้อมูลที่โคตรดี ถือว่าเป็นแรร์ไอเทมอันนึงในประเทศเลยนะ ของสำนักพิมพ์ Otaku Comics


บทสนทนาระหว่างเรากับ DJ พล่ากุ้ง ดำเนินมาถึงช่วงท้าย ๆ เขาโชว์ของทุกอย่างที่เกี่ยวกับเกมซึ่งเกี่ยวโยงกับความเป็นพล่ากุ้งมาให้เราดูจนครบแล้ว แต่ที่เราตั้งใจมาวันนี้นอกจากอยากจะรู้จักผู้ชายคนนี้ให้มากขึ้นผ่านการคุ้ยดูความทรงจำของเขาแล้ว เรายังมีคำถามสำคัญอยู่อีกอย่างที่ไม่ถามกันตอนนี้คงคาใจไปอีกนาน ‘เกม’ สิ่งที่มอบความสนุก เสียงหัวเราะ ความหัวร้อน รวมถึงสร้างอาชีพให้ใครหลายคน สำหรับเขามันมีความหมายว่าอะไรกันแน่นะ 

DJ พล่ากุ้ง : ถ้าพูดถึงตัวมันเองเลยก็น่าจะเป็นการจำลองสภาวะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้คนเล่น คนที่เข้าไปบังคับมันได้มีส่วนร่วมกับประสบการณ์นั้น ๆ บางเกมอาจจะภาพสวย บางเกมอาจจะใช้ความคิด บางเกมอาจจะเป็นเกมภาษา บางเกมอาจจะเน้นแอคชั่นสนุกสนานอย่างเดียว

สุดท้ายแล้วความสนุกของมันคือเราได้ทิ้งโลกแห่งความจริงแล้วหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของเกมที่ผู้สร้างเขาตั้งใจเอาไว้ ใน Mario เราหลุดเข้าไปกินเห็ดตัวโต กระโดดหลบ 2D ง่าย ๆ แต่พอเป็นสมัยใหม่ MOBA ก็จะเป็นอารมณ์แบบออกของไงวะ แม่งเอ้ยอย่าออกทับกันดิ แครี่มึงก็ช่วยเพื่อนยิงดิ คือมันก็มีความหลากหลายของมัน 

ผมเคยทำเกมเองนะตอนเรียนประถม เป็นเกมกระดาษเหมือนเกมเดินลุยทอยลูกเต๋า เดินไปลุย ตกตรงนี้ปุ๊บ เสียพลัง 1 ขีด เดินตรงนี้ได้พลัง 2 ขีด เดินไปเจองูกัดลดพลัง ผมรู้สึกว่าตอนเราเป็นเจ้าของเกมให้เพื่อนเล่นแบบจริงจัง เรามีมุมของคนทำเกมที่เราแม่งมีความสุขเว้ย แล้วกับคนที่แม่งทำออกมาเป็นตลับขายได้ทั่วโลกมีเงินขนาดนนั้นความสุขมันจะขนาดไหน

UNLOCKMEN : ถ้างั้นบอกเราหน่อยว่าเกมมีส่วนสำคัญในชีวิตพี่พล่ากุ้งยังไง 

DJ พล่ากุ้ง : อย่างแรกเลยคือ ‘มันทำให้ผมสนุก’ มีเวลาที่ได้อยู่กับอะไรที่ไม่ต้องคิด เกมทำให้ผมมีอาชีพ อย่าง UNLOCKMEN มาถ่ายรายการ หรือขอซื้อเกมผมก็เทรดเป็นอาชีพขายของได้ ทำให้ผมได้อยู่ในวงการเกมด้วย ในตอนเริ่มแรกเราคิดแค่ว่าได้เดินขึ้นบันไดบ้านมามองเห็นผนังเกมกูก็แฮปปี้ละ เพราะว่าตอนเด็ก ๆ เราอยากได้ผนังเกมเหมือนกับร้านเกมที่เราเคยไปเช่า เห็นเขามีผนังเกมเล็ก ๆ แล้วรู้สึกว่าสวยดี เป็นโมเมนต์ที่ตอนเด็กมันฝังใจอยากมีผนังเกมเป็นของตัวเอง พอโตขึ้นมาทำงานได้ก็เซอร์วิสตัวเอง ผมขึ้นบ้านมาทุกครั้งก็จะมานั่งตรงโซนนี้ทุกครั้ง ผมก็มีความสุขของผมทุกครั้ง บางทีผมซื้อตลับเกมมาดูแค่หน้าปก ดูแค่ข้างหลัง ดูแค่ตลับ ผมแฮปปี้แล้ว

ทุกโมเมนต์ชีวิตผมมันมีเกมมาสอดแทรกตลอด ทำให้เกิดทั้งความสุขส่วนตัว ทำให้เกิดงานหล่อเลี้ยงอาชีพ แล้วก็ทำให้เกิดสังคมที่ได้เจอกับคนที่ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน คนที่มา Subscribe ในช่องของผมก็เป็นคนที่ชอบอะไรคล้าย ๆ กัน ดูเกมคลาสสิกเหมือนกัน ผมยังไม่ได้คิดเรื่องมูลค่า ผมคิดแค่ความสบายใจก่อน เห็นแล้วมีความสุข แค่นั้นก่อน ส่วนที่เหลือทุกอย่างมันตามมาเอง


Photographer : Krittapas Suttikittibut

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line