Entertainment

ULM PLAYLIST: 10 Songs of Heroin ผลิตผลของ “แป้ง” เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเพลงฮิต

By: unlockmen May 7, 2021

ในยุคสมัยที่เฮโรอีน เป็นแค่ “แป้ง” และทำคนพ้นมลทินมัวหมองไปอย่างลอยนวล ยังมีบทเพลงมากมายที่ใช้แป้ง เป็นแรงบันดาลใจจนเกิดบทเพลงฮิต ๆ มากมายที่คุณจะต้องตกใจว่า “เพลงนี้มันเป็นเกี่ยวกับโคเคนเฮโรอีนเหรอเนี่ย” วันนี้ UNLOCKMEN จึงขอแนะนำบทเพลงเหล่านี้ ที่คุณทั้ง “เฮ” และทั้ง “อิน” ไปพร้อม ๆ กัน

 

The Beatles – Happiness Is a Warm Gun (1968)

หนึ่งในบทเพลงเหงาเศร้าจับจิตที่เขียนโดย John Lennon ที่เขียนในช่วงเวลาทำอัลบั้ม White Album ที่สุดตึงเครียด ช่วงนั้นเขาห่างหายจากศรีภรรยา Yoko Ono และพบเจอคำ ๆ นี้จากบทความในนิตยสาร Warm Gun ถูกคนตีความได้ 2 นัย นัยหนึ่งคือตัวแทนของเครื่องเพศประจำตัวผู้ชาย ที่ John คิดถึง Yoko ในรสรักที่เขากับเธอเพิ่งจะเสพสมด้วยกันมาหมาด ๆ ส่วนอีกนัยยะก็เปรียบเสมือนเข็มที่เพิ่งฉีดเข้าเส้นสด ๆ ร้อน ๆ และความสับสนซับซ้อนในตัวของตัวเขาระหว่างไอ ในท่อนที่ว่า “I need a fix ‘cause I’m going down”

แม้ John จะปฏิเสธว่า “มันเป็นแค่เพลง เอ็งจะไปตีความอย่างนั้นทำไม” แต่อย่างไรก็ดีเพลง ๆ นี้ก็ถูก BBC แบนในความอันตรายที่ซ่อนอยู่ในเนื้อร้อง แต่ตรงกันข้าม กาลเวลาก็พิสูจน์เว่า บทเพลงเพลงนี้ยิ่งใหญ่และมีความซับซ้อนในแบบฉบับ 4 เต่าทองที่หลายต่อหลายคนชื่นชอบ และยกย่องในความเป็นตำนานได้อย่างยอดเยี่ยม


Iggy Pop – Lust For Life (1977)

บทเพลงเร่งเร้าในช่วงเวลาที่ Iggy Pop ติดเฮโรอีนอย่างหนักหน่วง และใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนซี้ David Bowie ช่วงเวลาหนึ่งพวกเขาติดซีรีส์ Starsky & Hutch อย่างมาก และระหว่างที่เขารอซีรีส์นี้อย่างใจจดจ่อ จะมีข่าวจากสำนักข่าว Armed Forces Network ขึ้นมา เสียงสัญญาณแทรกในรายการนั้นทำให้ Bowie หยิบอูคูเลเล่มาดีดเล่น จนกลายเป็นเพลงที่ผสมผสานแรงบันดาลใจหลากหลาย ตั้งแต่ชื่อเพลงที่มาจากหนังอัตชีวประวัติของแวนโก๊ะห์ เนื้อเพลงที่พูดถึงราชายาเสพติด รวมไปถึงพฤติกรรมความชื่นชอบในเฮโรอีนของเขา และเพลงนี้ก็เปลี่ยนภาพลักษณ์ให้ Iggy Pop กลายเป็นร็อคสตาร์ที่ชอบถอดเสื้อร้องเพลง และชอบพังข้าวของบนเวที

หากใครเป็นแฟนตัวยงของหนังเรื่อง Trainspotting ที่สุดของหนังยา ก็คงรู้ดีว่าเพลงนี้ถูกใช้เป็นเพลงเปิดช่วงที่พระเอกของเรากำลังวิ่งหนีตำรวจอย่างหัวซุกหัวซุนนั่นเอง


Suede – So Young (1993)

บทเพลงในอัลบั้มแรกของวง Britpop ชื่อดัง Suede ที่ Bret Anderson เขียนถึงช่วงเวลาตอนเป็นวัยรุ่นที่ผงขาวหาซื้อได้ง่ายในกรุงลอนดอน แม้จะเต็มไปด้วยความโลดโผนของฮอร์โมนส์ที่พุ่งพล่าน การไล่ล่าความฝันไม่ต่างกับการไล่ล่ามังกรในเนื้อเพลง แต่อัศวินบางคนก็ร่วงหล่นลงสู่พื้นดินเมื่อพวกเขาโอเวอร์โดสมันจนช็อคตาตั้ง

บทเพลง So Young จึงเป็นทั้งเพลงแห่งการรำลึกและบันทึกช่วงเวลาที่สุดผาดโผน ขณะเดียวกันก็สรรเสริญถึงช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่หลายคนอาจจะเลือกเดินทางผิดจนไม่อาจหันหลังกลับคืนมาได้ โชคดีที่ Bret กระโดดออกจากเส้นทางแห่งความหลงผิดนี้ได้ทัน ไม่งั้นมันอาจจะลอยเคว้งจนไม่อาจจะเยียวยาได้อีกต่อไป


The Velvet Underground – Heroin (1967)

บทเพลงชื่อตรงตัวของคณะวงดนตรีหัวก้าวหน้าแห่งยุค 60s ที่ไม่อาจชี้ชัดว่าเฮโรอีนนั้นมีคุณอนันต์หรือโทษมหันต์ แต่บทเพลงที่สะท้อนความซับซ้อน สับสน ผ่านจังหวะดนตรีที่เริ่มต้นอย่างเชื่องช้า ก่อนมันจะค่อย ๆ ทวีความรุนแรง และรวดเร็วหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ จนมันกลายเป็นความบ้าคลั่ง ก็สะท้อนได้ถึงฤทธิ์ยาที่ค่อยเข้ามาในร่างกายก่อนยึดร่างเรา ให้พบวิบากกรรมนานัปการ

ซึ่ง Lou Reed เองก็แบ่งรับแบ่งสู้ถึงบทเพลงนี้ว่า “คงไม่มีใครสนับสนุนให้เสพเฮโรอีนหรอก แต่ผมเองก็ไม่เห็นโทษของมันสักเท่าไหร่นะ (อ้าว)” แต่ถึงกระนั้น มันก็เป็นหนึ่งในบทเพลงที่สะท้อนความเป็นอัจฉริยะของพวกเขาได้อย่างดี เมื่อพวกเขาปฏิเสธที่จะใช้เครื่องดนตรีสามัญ ด้วยการลดทอนความสำคัญของกีตาร์และกลอง แต่ใช้ประโยชน์ของเครื่องดนตรีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นไวโอลินที่สีอย่างบ้าคลั่ง ทำให้บทเพลงมีทั้งความกล้าหาญและท้าทายศีลธรรมอันดีงามในยุคนั้นได้อย่างแข็งแกร่งและรุนแรง


Red Hot Chili Peppers – Under the Bridge (1992)

เพลงสุดฮิตของคณะ RHCP ที่ซ่อนความเหงาอ้างว้าง และช่วงที่เขามียาเสพติดเป็นเพื่อนในเวลาชีวิตแสนสับสนนี้ เกิดขึ้นในวันหนึ่งที่ Anthony Kiedis รู้สึกสิ้นหวังกับตัวเอง เขาบรรจงเขียนบทกวีของเขาไว้ในบันทึกส่วนตัวเพื่อบรรยายถึงช่วงเวลาโดดเดี่ยวและย่ำแย่ของตัวเองที่แปลกแยกท่ามกลางเมืองลอสแองเจลลิส มีเพียงที่พักใจหนึ่งเดียว นั่นก็คือใต้สะพานอันมืดดำ ที่เขาพร้อมมอบตัวและหัวใจให้กับเฮโรอีนและโคเคน เสมือนเพื่อนเพียงคนเดียวที่เข้าใจเขา แต่แน่นอนว่าความเลวร้ายของมันก็ทำให้ชีวิตของเขาจมปรักอยู่กับมันถึง 3 ปีเต็ม ก่อนจะละทิ้งจากเพื่อนคนนี้และเปลี่ยนตัวเองเสียใหม่

Under the Bridge กลายเป็นเพลงโคตรฮิตด้วยการทะยานขึ้นสูงสุดอันดับ 2 แถมยังกวาดรางวัลและยอดขายระดับแพลทตินั่มให้กับวง จนมันกลายเป็นหนึ่งในแทร็คคลาสสิคตลอดกาลของพวกเขาจวบจนปัจจุบัน


MGMT – Time to Pretend (2005)

บทเพลง Psychedelic ที่สร้างชื่อให้กับคณะ MGMT ที่นอกจากจะมีดนตรีชวนเหม่อลอยแล้ว ยังมีเนื้อเพลงอย่าง

“I’ll move to Paris, shoot some heroin and fuck with the stars
You man the island and the cocaine and the elegant cars”

สรุปแล้วพวกเขาได้แรงบันดาลใจจากเฮโรอีนใช่หรือไม่ แม้ Andrew VanWyngarden จะพยายามกล่าวอ้างถึงแรงบันดาลใจว่า “มันมาจากการร่ายรำของตั๊กแตนตำข้าว สัตว์เลี้ยงของเราต่างหาก” แต่ถึงกระนั้นบทเพลง ๆ นี้ก็มักจะถูกกล่าวอ้างเสมอว่ามันเป็นเพลงเกี่ยวกับเฮโรอีนที่ชวนเหม่อลอย และการโลดแล่นบนโลกแห่งแฟนตาซีแบบนี้ คนดี ๆ เขาไม่คิดกันหรอกนะ


Blur – Beetlebum (1997)

ใครจะไปคาดคิดว่าบทเพลงรักหวานซึ้ง ที่เป็นหนึ่งในบทเพลงสุดเพราะของ Blur แท้จริงแล้วนั้น จะเป็นเพลงรักขมที่เล่าถึงช่วงเวลาที่ Damon Albarn กับแฟนเก่า Justine Frischmann แห่งวง Elastica กำลังอยู่ในวงจรอุบาทว์ของการเสพเฮโรอีนกันอย่างงอมแงม มันเต็มไปด้วยอารมณ์ซับซ้อนชวนฝัน ขณะเดียวกันก็เศร้าระทมทุกข์

ซึ่ง Damon ก็ไม่ปิดบังว่าช่วงเวลานั้นใคร ๆ ก็เสพมัน และมันช่วยให้หัวสมองแล่นด้วย เพราะตอนนั้นทั้ง 2 กำลังเป็นเป้าให้เหล่าหนังสือพิมพ์ซุบซิบได้เขียนถึงไม่ว่าจะขยับเขยื้อนไปไหน มันจึงกลายเป็นบทเพลงสะท้อนความสับสนของห้วงชีวิต และการเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่เช่นกัน


Nine Inch Nails – Hurt (1995)

บทเพลงแห่งความชอกช้ำที่กัดกินไปถึงหัวใจของ Nine Inch Nails ที่ Trent Reznor มักจะใช้เป็นเพลงปิดท้ายในการเล่นคอนเสิร์ตอยู่เสมอเพลงนี้ เกิดขึ้นจากอาการซึมเศร้าที่เขาต้องพึ่งพาเฮโรอีน เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ และความเจ็บปวดที่เขาต้องเผชิญ แม้ Trent จะพยายามแย้งว่ามันเป็นความเจ็บปวดแต่หาได้เกิดจากการเสพย์ยาไม่ แต่มันคือจดหมายลาตายที่เต็มไปด้วยความระทม หลังจากที่เขาย้ายบ้านไปอาศัยอยู่ในบ้านที่ Sharon Tate เคยถูกฆ่าอย่างทรมานจากลัทธิ Manson Family ที่คำว่า PIG ที่ละเลงอยู่ตรงผนังแม้จะถูกทาสีทับแล้วแต่เขายังเห็นร่องรอยนั้นอยู่

และเพลงนี้ถูกนำมาคัฟเวอร์ใหม่โดยราชันย์แห่งเพลงคันทรี Johnny Cash ที่แปรความเจ็บปวดได้อีกอารมณ์ มันจึงเป็นบทเพลงแห่งความรำพันความเศร้าที่เกาะกินใจ และทางออกสุดท้ายคือการใช้ยานั่นเอง


Blind Melon – No Rain (1993)

เพลงสร้างชื่อและทำให้ Blind Melon กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรม Alternative ที่ดังสุดในยุค 90s โดยเพลงนี้ได้แรงบันดาลใจมากจากแฟนสาวของ Brad Smith มือเบสของวงที่เป็นโรคซึมเศร้า เธอมักจะนอนกลางวันและพร่ำบ่นว่า “ทำไมวันนี้ฝนไม่ยอมตก” ขณะเดียวกันก็มีคนตีความว่ามันเป็นเพลงแห่งการเสพยา และเล่าช่วงเวลาที่คุณกำลัง High ด้วยการนอนนิ่ง ๆ เพื่อซึมซับอารมณ์ที่คุณกำลังอยู่ในอาการเคลิ้ม ซึ่งเหมือนเดิม ทางวงพยายามจะปฏิเสธว่ามันไม่ใช่เพลงแห่งการเสพยาซักหน่อย แต่แฟนเพลงหลายคนก็ยอมรับว่าเวลาที่เขาเสพยาเขามักจะเปิดเพลงนี้ เพื่อระลึกถึง Shannon Hoon นักร้องนำของวง ที่จากไปจากการเสพยาเกินขนาดเช่นกัน


The La’s – There She Goes (1988)

เพลงทำนองน่ารักที่กลายเป็น One Hit Wonder ของวง The La’s ที่มองเนื้อเพลงแล้ว น่าจะเป็นเพลงตัดพ้อต่อหญิงสาวที่เดินไปจากชีวิต แต่หารู้ไม่ว่าความจริง She ในที่นี้คือการอุปมาอุปไมยถึงอาการเคลิ้มที่เฮโรอีนมันเข้าเส้นต่างหาก โดยเพลงนี้สะท้อนช่วงเวลายุค 80s ที่เฮโรอินหาได้แสนง่ายในเกาะอังกฤษ และเพลงก็อุทิศให้ Lou Reed แห่ง The Velvet Underground ที่มีเพลงที่ชื่อคล้าย ๆ กันอย่าง There She Goes Again

และเพลงนี้ก็กลับมาดังอีกครั้งตอนที่วงอินดี้พ็อพอย่าง Sixpence None the Richer นำมาคัฟเวอร์จนโด่งดังอีกครั้ง ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าวงเขารู้มั๊ยเนี่ย ว่าเพลงจังหวะกุ๊งกิ๊งมันเป็นเพลงเกี่ยวกับเฮโรอีน

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line