Life

ผู้เชี่ยวชาญเตือน WFH แอบงีบง่าย แต่อย่างีบซี้ซั้ว!! เพราะแทนที่จะเพิ่มพลังมันจะพังยิ่งกว่าเดิม

By: NTman January 6, 2021

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการรุกรานของ COVID-19 ทำให้เราทั้งหลายได้พบเจอกับข้อดีมากมายจากการทำงานอยู่บ้าน หรือ Work From Home แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสียอีกไม่น้อยซ่อนอยู่ ยกตัวอย่างเช่นการไม่ต้องรีบเดินทางไปทำงานตั้งแต่เช้าก็ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้มีเวลาให้นอนต่ออีกนิด แต่เวลานอนมากขึ้นนั้นทำให้หลายคนกลับต้องประสบปัญหาการนอนหลับเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจาก Work From Home

ด้วยเหตุที่ว่าเตียงนอนดูดวิญญาณมันดันอยู่ในระยะทำการ ที่พร้อมให้พุ่งตัวไปนอนเมื่อไหร่ก็ได้ โดยที่มีคำว่า ‘Power Nap’ หรืองีบเอาแรงสักหน่อยเป็นข้ออ้าง จนทำให้งีบไปงีบมาสุดท้ายกลายเป็นว่ากลางวันก็ไม่สดชื่น แถมกลางคืนก็ไม่สามารถข่มตาหลับได้ซะอย่างนั้น

จากปัญหานี้ทำให้หลายคนกลับมาตั้งคำถามกันอีกครั้งว่าจริง ๆ แล้วการงีบหลับช่วงกลางวัน มันคือการ Power Nap ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือเป็นตัวทำลายนาฬิกาชีวิตจนส่งผลให้เกิดปัญหานอนไม่หลับกันแน่

ซึ่งข้อสงสัยนี้ถูกไขให้กระจ่างโดย Dr. Roxanne J Prichard,  Professor of Neuroscience and Psychology จาก University of St. Thomas ที่ได้เปิดเผยถึงประโยชน์ของการงีบหลับว่า “ความเหนื่อยล้าอันหนักหน่วงจนร่างกายส่งสัญญาณอาการง่วงออกมานั้น ไม่มีวิธีแก้วิธีไหนที่จะดีไปกว่าการนอนหลับให้รู้แล้วรู้รอดไป”

“และสำหรับใครที่ไม่มีเวลานอนหลับมากมาย เพราะยังมีงานอีกหลายชิ้นให้ต้องเคลียร์ การงีบหลับถือเป็นทางออกที่น่าสนใจ แม้มันจะไม่ได้ประสิทธิผลเท่ากับการนอนหลับตามปกติในเวลากลางคืน แต่การหาเวลา Nap Sleep คือวิธีฟื้นฟูสมองและร่างกายให้กลับมา Productive ได้อีกครั้ง” Dr. Roxanne กล่าวเสริม พร้อมเพิ่มเติมคำเตือนที่ถือเป็นกฎเหล็ก 2 ข้อ ที่ชาว Power Nap ควรยึดถือให้มั่น เพราะไม่อย่างนั้นจากการงีบเพื่อฟื้นคืนพลัง จะกลายเป็นอะไรที่พังยิ่งกว่าเดิม


 

กฎข้อแรก

งีบได้แต่อย่านาน Dr. Roxanne กล่าวว่า “ถ้าหากคุณเป็นคนสุขภาพดี ไม่มีปัญหาในการนอนหลับใด ๆ หากรู้สึกอ่อนล้าก็สามารถ Power Nap เพิ่มพลังได้ไม่ผิด แต่อย่างีบนานเกิน 20 นาทีจะดีมาก แต่แนะนำว่าควรหาที่งีบหลับบนโซฟา เตียงพับ หรืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่เตียงนอนคู่ใจเพราะร่างกายอาจสับสนกับการนอนหลับแบบจริงจัง และไม่ควรงีบในช่วงที่ใกล้เคียงกับเวลาเข้านอนปกติเพื่อไม่ให้ส่งผลต่ออาการง่วงนอนตามธรรมชาติ จนพาลให้เกิดปัญหานอนไม่หลับตามมา”

นอกจากนี้ในกรณีที่ทำงานเป็นกะ หรือรู้ตัวล่วงหน้าว่าจะต้องอดนอนยาว ๆ ต้องถือเป็นข้อยกเว้นเพราะการงีบแค่ 20 นาทีคงไม่เพียงพอ และอาจต้องเพิ่มระยะเวลาสักประมาณ 1 – 3 ชั่วโมงเพื่อหลับตุนเอาแรง แต่ถ้าจะให้การหลับพักผ่อนในระยะเวลาสั้น ๆ ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด Dr. Roxanne แนะนำว่าระยะเวลา 90 นาที คือช่วงเวลาที่เหมาะสมตรงตาม Sleep Cycle ซึ่งจะทำให้ตื่นมาอย่างสดชื่นมีพลัง และที่สำคัญการนอนพักเอาแรงโดยที่ตื่นไม่ตรงตาม Sleep Cycle นั้นจะส่งยิ่งผลเสียมากกว่าที่คิด โดย Dr. Roxanne ได้อธิบายถึงประเด็นนี้เอาไว้ในกฎข้อที่สอง


 

กฎข้อที่สอง

สำหรับเหล่านกฮูกนอนน้อยแต่งานเยอะ จนร่างกายโหยหาการนอนหลับที่ก้าวข้ามการ Nap Sleep (ไม่เกิน 20 นาที) ไปสู่ Step การหลับพักผ่อนในระยะเวลาที่มากกว่าก่อนที่จะตื่นมาซัดงานต่อ ต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับช่วงเวลา Sleep Cycle เพราะในกรณีที่อยากงีบหนัก ๆ ทำนองว่ายิ่งนานยิ่งสดชื่น เลยจิ้มนาฬิกาปลุกไว้ที่ 45 นาที ซึ่งไม่ครบรอบระยะเวลา Sleep Cycle 90 นาที ตามที่ Dr. Roxanne กล่าวไว้ในเบื้องต้น บอกเลยว่ามันคือการสร้างปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เราตื่นขึ้นมาในช่วงภาวะหลับลึกซึ่งมันเป็นฝันร้ายของคนที่มีงานรอให้สะสางเป็นอย่างยิ่ง

เพราะในขณะหลับลึกคือช่วงเวลาที่คลื่นสมองทำงานช้าลงกว่าปกติ หากงีบเกิน 20 นาทีแล้วบังเอิญแจ๊กพ็อตเข้าสู่ช่วงหลับลึก แต่กลับต้องตื่นขึ้นมาด้วยเสียงนาฬิกาปลุก หรือว่าอะไรก็ตามแต่ สมองเอื่อย ๆ ที่ถูกกระชากให้กลับมาทำงานโดยฉับพลัน มันจะยิ่งส่งผลให้ร่างกายนั้นห่างไกลความสดชื่น แต่เป็นการตื่นขึ้นมาพร้อมความมึนงง ปวดหัว สับสน คล้ายคนเมา จนมีศัพท์ที่เรียกอาการนี้ว่า Sleep Drunkenness และแน่นอนว่าสมองเบลอเบอร์นี้มันเป็นเรื่องยากที่จะลุยงานต่อ จนอาจต้องพับจอนอนหลับยาว ๆ ถึงจะหาย


จากกฎเหล็กทั้ง 2 ข้อของ Dr. Roxanne เราขอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า สำหรับคนทำงาน WFH ที่อาจไม่ได้ใช้แรงกายมากมาย หรือจำเป็นต้องอดหลับอดนอนต่อเนื่อง เหมือนเหล่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หรือต้องทำงานเป็นกะเข้านอนไม่เป็นเวล่ำเวลา หากมีอาการอ่อนเพลียถามหาระหว่างวันจะแวะไปงีบ Power Nap เพื่อลดความเครียด เติมพลังให้สมองกระปรี้กระเปร่าสักหน่อยก็ไม่ว่ากัน แต่อย่าให้นานเกิน 20 นาที และไม่ควรที่จะงีบใกล้กับเวลานอนปกติมากไป

ส่วนกรณีที่ต้องการการพักผ่อนที่มากกว่า แต่ยังมีเวลาให้นอนหลับได้ไม่ยาวนานถึงขนาด 6 ~ 8 ชั่วโมง ก็สามารถหาทางออกด้วยการนอนหลับชาร์จพลังแบบฉุกเฉิน โดยไม่ลืมที่จะตั้งปลุกตามรอบ Sleep Cycle ซึ่งจะครบรอบทุก ๆ 90 นาที หรือ 1.30 ชั่วโมง จะจัดเบา ๆ เป็นเซ็ตชั่วโมงครึ่ง หรือสามชั่วโมง แล้วค่อยตื่นมาลุยงานต่อก็ตามสะดวก หรือจะเอามาปรับใช้กับเวลานอนปกติ เลือกเวลาเข้านอน – เวลาตื่นนอนให้ตรงตาม Sleep Cycle ก็เข้าท่า แค่บวกเวลาไปรอบละ 90 นาที เท่านี้ก็จะตื่นมาด้วยความสดชื่นแจ่มใสอย่างแน่นอน


 

SOURCE / 1

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line