Life

5 วิธีที่จะทำให้คุณพูดในที่สาธารณะได้ดียิ่งขึ้น

By: Thada May 15, 2017

อาการกลัวเวลาต้องพูดต่อหน้าคนเยอะ ๆ เป็นหนึ่งในความกลัวคลาสสิคที่มนุษย์ทุกคนมักจะประสบพบเจอ ไหนจะออกอาการประหม่า ไม่มั่นใจเวลาที่ต้องแสดงความคิดเห็น หรือพูดจาวกไปวนมาเวลาที่ต้องอยู่ต่อหน้าคนจำนวนมาก ซึ่งต้นเหตุของอาการทั้งหมดทั้งล้วนเกิดจากความกลัวที่ทีมงาน UNLOCKMEN เคยพูดถึงการเอาชนะ “ความกลัว” ไปบ้างแล้ว แต่วันนี้ทีมงานจะมาขอโฟกัสเกี่ยวกับการเตรียมพูดในสาธารณะแบบเพียว ๆ ว่า ทำอย่างไรให้แคล้วคลาดปลอดภัย เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการพูดที่สาธารณะครั้งต่อ ๆ ไป

เมื่อกลัวจงทำ

ballpublic-speaking-03

นักพูดที่เชี่ยวชาญอย่าง Jeremy Stockwell และเป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินรายการ The Speaker ทางช่อง BBC ได้กล่าวว่าวิธีที่จะเอาชนะความกลัวการพูดในที่สาธารณะ คือออกไปพูดมันซะเลย เพราะว่ายิ่งเราใช้เวลาคิดตริตรองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความกลัวเข้าไปมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นถ้าได้รับโอกาสพูดในที่สาธารณะ ถึงแม้จะกลัวแค่ไหนก็ตามจงก้าวข้ามผ่านมันไปด้วยความมั่นใจ เพราะถ้ามัวแต่ลีลา จะออกหรือไม่ออกดี ความกลัวการพูดจะยิ่งทวีความรุนแรงมากกว่าเดิม

อย่าวิตกไปเอง

ball1024x1024-01

อย่าวิตกกังวลไปเองถึงสิ่งที่คุณยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่แน่ว่าการพูดอาจจะเป็นหนึ่งทักษะที่หลบซ่อนอยู่ภายในตัวคุณก็เป็นได้ คนส่วนใหญ่มักจะอุปทานหรือคาดถึงผลลัพธ์ไปเองว่าผู้ฟังจะต้องรู้สึกอย่างไร ทำให้เป็นตัวบล็อคความสามารถ ซึ่ง Judith Humphrey นักพูดระดับกูรูได้ให้แง่คิดข้อหนึ่งเกี่ยวกับการพูดว่า มีคนหลายคนมาบอกเขาว่า ฉันเป็นนักพูดที่แย่มาก เขาจึงถามกลับไปว่าแล้วคุณเคยผ่านการพูดมาแล้วกี่ครั้ง คำตอบที่ได้คือ ไม่ ดังนั้นอย่าเพิ่งตัดสินไปเองว่าคุณจะทำได้ หรือไม่ได้

สะกดอารมณ์ให้มั่น

ballgates-thought-jobs-was-fundamentally-odd-and-weirdly-flawed-as-a-human-being-02

เชื่อไหมว่าก่อนขึ้นหรือขณะพูด ร่างกายของคุณจะมีอาการตื่นเต้นใจสั่นราวกับว่ากำลังดูภาพโป๊สุดสยิวอยู่ นั่นก็เพราะร่างกายของคนเรากำลังตอบสนองด้วยโหมด Fight or Flight คุณจะไม่สามารถควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจได้ ทำให้มีเหงื่อไหลออกมาทั้ง ๆ ที่อยู่ในห้องแอร์ ซึ่งนักจิตวิทยาได้กล่าวว่าวิธีที่จะช่วยให้คุณสงบสติอารมณ์ได้ที่สุด คือการฝึกการหายใจช้า ๆ เพื่อให้ร่างกายไม่อยู่อาการตื่นตระหนก ค่อย ๆ พูด พร้อมหายใจเข้าออกช้า ๆ จะช่วยกำหนดจังหวะการพูดของคุณให้ดียิ่งขึ้น

ซ้อม ๆ ๆ

C616XW President Obama works on his State of the Union address with speechwriter Jon Favreau in the Oval Office Jan. 24 2011. (BSWH_201

สกิลความสามารถของมนุษย์ไม่มีอะไรที่ได้มาอย่างง่ายดาย ทุกอย่างล้วนต้องผ่านการฝึกฝนทั้งนั้น เพราะว่าขนาด Conor Neill วิทยากรอาวุโสของสถาบันธุรกิจชั้นนำของโลกยังบอกว่า “มีคนพยายามพร่ำบอกถึงเคล็ดลับในการพูดมาก ๆ แต่มันจะไม่ช่วยอะไรเลยหากขาดซึ่งการฝึกฝน” และอุปกรณ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับการฝึกซ้อมคือกล้อง webcam จงฝึกซ้อมผ่านกล้อง webcam ทุกวันอย่างวันสามนาทีให้เป็นประจำ แล้วมันจะสามารถช่วยคุณในการพูดครั้งต่อไปได้

จ้องมองผู้ฟังราวกับสิ่งของมีค่า

ballimage-01

หลายคนอาจจะไม่คิดว่าน้ำเสียงที่ไพเราะจะสามารถสะกดคนฟังได้ แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือการโฟกัสกับ eye contact ตลอดเวลา เพราะมันเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารที่ผู้พูดต้องจดจ่อไปยังผู้ฟังราวกับของมีค่าที่คุณไม่อาจจะละสายตาไปได้ การที่เรามี eye contact กับผู้ฟังเป็นเหมือนการรับส่ง feedback ตลอดเวลา หากคุณเอาแต่พูด ๆ โดยไม่ใส่ใจผู้ฟัง มีโอกาสที่พวกเขาจะหลุดการสนใจ และไม่ฟังที่คุณกำลังพูดต่อเลยก็เป็นได้ ดังนั้น เมื่อผู้ฟังเริ่มออกอาการงุน งง หรือเริ่มไม่เข้าใจ ลองพูดให้ช้าลง หรือ ลองหยุดพูดแล้วมองไปทางผู้ฟัง เพื่อสังเกตว่าผู้ฟังเข้าใจในเนื้อหาที่คุณกำลังนำเสนอหรือเปล่า แบบนั้นจะทำให้การพูดของคุณประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

ทีมงาน UNLOCKMEN อยากให้ลองนำทั้ง 5 ข้อนี้ไปประยุกต์ปรับใช้กันดู เพราะเราเชื่อว่าทุกคนล้วนต้องมีโอกาสที่ได้ไปพูดในที่สาธารณะ เพียงแต่จะเมื่อไหร่ก็เท่านั้น การเตรียมตัวไว้แต่เนิ่น ๆ จึงเป็นเรื่องดีที่ควรทำ ไม่แน่ว่าหากได้ลองขึ้นพูดดูสักครั้งแล้วอาจจะติดใจจนวางไมค์ไม่ลงเลยก็เป็นได้

 

 

Thada
WRITER: Thada
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line