World

EUROPEAN SUPER LEAGUE คืออะไร? บทสรุปที่เข้าใจง่าย และผลกระทบด้านลบที่กำลังเกิดขึ้น

By: Chaipohn April 19, 2021

เชื่อว่าเช้านี้แฟนบอลหลายคนน่าจะตื่นมาพร้อมกับคำว่า ‘European Super League’ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่สโมสรระดับโลกในยุโรป จะจับมือกันสร้างลีกการแข่งขันของตัวเอง ฟังดูเหมือนจะดี แต่ก็มีหลายประเด็นที่ขัดกับหลักการของกีฬาฟุตบอล แน่นอนว่ามีทั้งแฟนบอล สโมสร รวมถึงสมาคมฟุตบอลทั้ง UEFA, FIFA ที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย  เพราะมันเกี่ยวกับผลประโยชน์ก้อนใหญ่ระดับหลายพันล้านเหรียญที่แต่ละสโมสรจะได้รับ

ว่าแต่ European Super League คืออะไร ใครเป็นนายทุน เรามีสรุปมาให้เข้าใจง่าย ๆ เพื่อช่วยประหยัดเวลาทำความเข้าใจให้ทุกคน จากข้อมูลที่รวบรวมมาล่าสุด ณ เวลานี้

ตอนนี้มีสโมสรที่ร่วมก่อตั้งและสนับสนุน Super League ทั้งหมด 12 ทีม นำโดย Florentino Perez ประธานสโมสร Real Madrid และอีก 11 ยักษ์ใหญ่อย่าง Milan, Arsenal, Atlético Madrid, Chelsea, Barcelona, Inter, Juventus, Liverpool, Manchester City, Manchester United, Tottenham Hotspur (ปัจจุบันมีอีก 3 สโมสรที่ยังไม่เปิดเผยตัว จึงเรียกได้ว่ามีทั้งหมด 15 สโมสร Founding Members)

ทั้ง 12 สโมสร Founding Memberes จะได้รับเงินทันทีทีมละ €3.5 billion เพื่อนำไปใช้เตรียมการปรับปรุงสนามรองรับการแข่งขัน Super League ที่จะเกิดขึ้น และคาดว่าลีกนี้จะสามารถทำรายได้ไม่น้อยกว่า €10 billion สูงกว่ารายได้ที่ได้รับจากการแข่งในลีกยุโรปตอนนี้ โดยมี JP Morgan บริษัทลงทุนอเมริกันอยู่เบื้องหลังการเงินของโปรเจคนี้ ก็ควักเงินอัดฉีดไปอีก $5 billion USD ยังไม่นับบรรดาสปอนเซอร์ที่จะตามมา เช่น Broadcasting network ที่อยากได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอลถ้วยนี้ ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ผลักดันให้เกิดลีกนี้ขึ้น เพราะประธานสโมสร Founding Members ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สโมสรจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มจากแฟนคลับ และการรวมตัวกันของสุดยอดทีมที่มีแฟนรวมกันกว่าพันล้านคน คือทางออกที่สำคัญและจำเป็นต้องเกิดขึ้น

ส่วนสโมสรจาก German อย่าง Bayern Munich, Borussia Dortmund และ French อย่าง Paris Saint-Germain ต่างปฏิเสธคำเชิญเข้าร่วม Super League ทั้งหมด


Super League จะประกอบไปด้วยจำนวนสโมสรระดับท็อปทั้งหมด 20 สโมสร โดยจะแบ่งเป็น 15 สโมสร Founding Members ที่จะอยู่ในลีกตลอดไปโดยไม่ต้องคัดเลือก ไม่ต้องสนใจว่าจะได้อยู่ลำดับที่เท่าไหร่ในลีกบ้านตัวเอง และเปิดรับอีก 5 ทีมให้เข้ามาแข่งขันโดยพิจารณาเป็นรายปีจากความสำเร็จของสโมสรนั้น ๆ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้อย่างเร็วที่สุดภายในปีฤดูกาล 2023-2024

การแข่งขันแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 10 ทีม เตะกันแบบเหย้า-เยือนในช่วงกลางสัปดาห์ เพื่อให้ได้ 8 ทีมในรอบก่อนรองชนะเลิศ สามอันดับแรกของแต่ละกลุ่มจะเข้ารอบต่อไปทันที ส่วนที่เหลือจะเป็นอันดับ 4 และ 5 ในแต่ละกลุ่มมาเตะแบบ Play-off เพื่อหาสโมสรเข้ารอบอีก 2 ทีม เพื่อเข้าไปแข่งกับเหย้า-เยือนในรอบรองชนะเลิศ จนได้สองทีมสุดท้าย เตะแบบนัดเดียวที่สนามกลางเพื่อหาแชมป์ Super League


‘Greed’ หรือความโลภ คือคำที่แฟนบอลนิยามให้การจัดตั้ง Super League นี้ และสมาคมฟุตบอลทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น UEFA, the English FA, RFEF, FIGC, the Premier League, La Liga, Lega Serie A, FIFA ต่างก็ไม่เห็นด้วย เพราะการแข่งขันแบบนี้ถือเป็น Closed League ที่จัดแข่งกันเองเพียงไม่กี่สโมสร ขัดกับหลักการแข่งขันเสรีของฟุตบอลที่ทุกทีมควรจะมีสิทธิในการเข้าร่วม เป็นการมองข้ามหัวสโมสรที่เล็กกว่าว่าไม่มีคุณค่าพอ และการให้สิทธิ Founding Members 15 ทีมยืนพื้นแข่งโดยไม่สนใจคะแนนสะสมหรือลำดับในตาราง ก็ชัดเจนว่าเป็นการเห็นแก่ตัวของสโมสรที่น่ารักเกียจที่สุด

ผลที่จะตามมาคือ สมาคมฟุตบอลทั้งหมดจะร่วมมือกันต่อต้านทุกวิธีไม่ให้ Super League เกิดขึ้นได้ ซึ่งวิธีแรกคือการแบนไม่ให้สโมสรที่เข้าร่วม Super League ลงแข่งขันทั้งในลีกในประเทศ ลีกยุโรป หรือแม้แต่การติดทีมชาติในเวทีฟุตบอลโลก

แต่ดูเหมือนการแบนของสมาคมฟุตบอลทั้งหมดอาจจะกลายเป็นดาบสองคม ที่ไม่รู้ว่าจะกล้าแบนสโมสรทั้งหมดใน Super League ได้จริงหรือไม่ ลองคิดดูว่าการแข่งขันฟุตบอลที่ไม่มี Real Madrid, Milan, Arsenal, Atlético Madrid, Chelsea, Barcelona, Inter, Juventus, Liverpool, Manchester City, Manchester United, Tottenham Hotspur จะเป็นยังไง เพราะสโมสรเหล่านี้ต้องมั่นใจว่าแฟนบอลของตัวเองมีเยอะมากพอที่จะใช้เป็นตัวประกันจากสมาคมฟุตบอล ถ้าแบนหมด ก็เหมือนตัดเส้นเลือดใหญ่ของตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนว่าแฟนของทุกสโมสรต่างออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และผิดหวังกับสโมสรของตัวเองที่เข้าร่วม European Super League จากสโมสรของประชาชน กลายเป็นอุปกรณ์ทำเงินของกลุ่มทุน และหลายคนก็กังวลว่าราคาตั๋วที่จะเข้าไปดูจะต้องแพงมหาศาลแน่นอน เพราะชัดเจนว่าลีกนี้เกิดขึ้นเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้น ไม่ใช่เพื่อกีฬาฟุตบอลหรือแฟนคลับอีกต่อไป

ลองจินตนาการนักเตะของ 15 Foundinng Members ที่ต้องเจอกันทุกปี ความตื่นเต้นที่จะได้ดู Ronaldo vs Messi ที่จางหายไปเพราะเจอกันเป็นเรื่องปกติ ถ้าลีกนี้เกิดขึ้นจริง ฟุตบอลจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป และนั่นก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า

แต่ดูจากสถานการณ์ตอนนี้ เชื่อว่าน่าจะเกิดขึ้นจริงแน่นอน เพราะการตอบรับพร้อมกันของสโมสรยักษ์ใหญ่แบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ และแม้สมาคมฟุตบอลจะขู่แบนนักเตะที่เข้าร่วมจากการติดทีมชาติ Florentino Perez ก็ตอบโต้แบบชิว ๆ ว่า

‘ถ้านักเตะที่เข้าร่วม European Super League แล้วต้องโดนแบนจากบอลโลก พวกเราจะสร้างลีกบอลโลกขึ้นมาใหม่ ไม่เห็นจะยาก’

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line