Work

สมองตีบ ไอเดียตัน “วิธีแก้โรคความคิดสร้างสรรค์อุดตัน”มีงานส่งทันแบบไม่เผา

By: PSYCAT July 22, 2020

ในสภาวะแบบนี้การยังมีงานให้ทำ มีโปรเจกต์ให้คิด มีลูกค้าที่ตั้งตารอเราส่งไอเดียไป ถือเป็นเรื่องน่าอิจฉา อย่างไรก็ตามแม้จิตวิญญาณเราจะพร้อมลุย พร้อมรับงานไม่ยั้ง คิดงานไม่มีหยุด แต่คล้ายว่าสมองของเราไม่ได้ทำตามสั่งได้ง่ายดายแบบนั้น

หลายครั้งที่เดดไลน์ก็ใกล้เข้ามา วันพรีเซนต์ไอเดียก็จ่ออยู่ไม่ไกล แต่สมองเราก็มึนตึ้บทึบตัน จนคล้ายว่าจะไม่มีไอเดียดี ๆ หลั่งไหลพุ่งกระฉูดออกมาให้เรา (เจ้านาย และลูกค้า) ได้ชื่นใจสักนิด ปัญหา “สมองตัน คิดงานไม่ออก” จึงไม่ใช่ปัญหาเล่น ๆ บางครั้งเราอาจแก้ปัญหาได้แบบวินาทีสุดท้าย แต่ใครจะรู้ว่าถ้าวันหนึ่งเราคิดอะไรไม่ออกเลยขึ้นมาจะเป็นอย่างไร?

UNLOCKMEN ชวนมาดูหนทางรับมือ และป้องกันเมื่อสมองตันคิดอะไรไม่ออกว่าเราทำอะไรได้บ้าง

 

คิดงานไม่ออกอย่าดันทุรัง “การเดิน” เพิ่มไอเดียสร้างสรรค์ได้อีก 60%

เราเข้าใจดีว่าความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่นั้นหนักหนาเพียงใด การคิดงานไม่ออกจึงไม่ต่างจากความกดดันที่หนักไม่แพ้กัน เมื่อไรก็ตามที่เราคิดงานไม่ออก เราจึงมักบอกตัวเองว่า ห้ามขยับไปไหน! ต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะหรือหน้าจอจนกว่าจะคิดงานออกนั่นแหละ!

แต่จริง ๆ แล้วเมื่อใดก็ตามที่เราคิดงานไม่ออก เราไม่ควรดันทุรังนั่งต่อไป ลอง “เดิน” ดูบ้าง จะเดินไปเดินมาในออฟฟิศ หรือเดินข้ามไปแผนกข้าง ๆ  แล้วจะพบว่าการเดินช่วยให้ความคิดไหลลื่นอย่างไม่น่าเชื่อ

เราไม่ได้คิดเองเออเองแต่อย่างใด Give Your Ideas Some Legs: The Positive Effect of Walking on Creative Thinking งานวิจัยจาก Stanford University ทำการทดลองกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 176 คน แล้วพบว่าคนที่เดินจะมีไอเดียลื่นไหลมากกว่าคนที่นั่งอยู่กับที่

ถ้าจะระบุให้ชัดลงไปอีกคือการเดินสัมพันธ์กับความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือการเดินจะยิ่งเร่งปฏิกิริยาให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้เร็วกว่าเดิม จากงานวิจัยชิ้นนี้ผลออกมาด้วยว่าการเดินช่วยให้ไอเดียของเราเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 60% เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นอย่ามัวกดดันตัวเองแล้วหวังว่าสมองจะลื่นไหล เราเองก็ต้องผ่อนคลายกับสมองด้วยเช่นกัน เพื่อให้ได้ไอเดียที่ดีที่สุด

 

ให้ธรรมชาติเยียวยา เมื่อสมองถึงเวลาตีบตัน

เมื่อใดที่ความคิดสร้างสรรค์เริ่มสั่งไม่ได้ เราอยากบอกให้เข้าใจว่ามนุษย์อาจไม่ได้ถูกออกแบบมาให้นั่งเฉย ๆ ในห้องสี่เหลี่ยม ดังนั้นลองพาตัวเองออกไปให้ธรรมชาติเยียวยา งานวิจัย Creativity in the Wild: Improving Creative Reasoning through Immersion in Natural Settings ระบุว่าการได้อ้อยอิ่งอยู่กับธรรมชาติ อย่างการมองเมฆเคลื่อนไปบนท้องฟ้า ฟังเสียงน้ำในลำธารไหลเอื่อย ๆ จะช่วยลดความเครียด และความคิดสร้างสรรค์ทำงาน

ไม่เพียงแค่นั้นงานวิจัยที่ชื่อว่า ยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการปิดเครื่องมือสื่อสารแล้วไปใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติจะช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์เรากระเตื้องขึ้นมากกว่าที่เคย

ในกรณีที่งานเร่งงานด่วน เราอาจเดินไปข้างล่างออฟฟิศหาส่วนที่มีพื้นที่สีเขียว มองต้นไม้ มองแสดงแดด มองก้อนเมฆเคลื่อนผ่านตึก แต่ในกรณีที่พอมีเวลาเหลือก็อาจพาตัวเองไปสวนสาธารณธสักแห่งในกรุง นั่งดื่มด่ำใต้ร่มไม้ หรืถ้ามีเวลามากกว่านั้นจะนั่งรถออกไปจังหวัดใกล้ ๆ ก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่

อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีเวลาให้ปลีกตัวไปแม้แต่น้อย งานวิจัยระบุว่าจะนั่งอยู่กับที่แต่พักสายตาด้วยการมองออกไปเห็นต้นไม้ หรือดูภาพธรรมชาติก็ยังดี

 

บางทีไม่ใช่คิดไม่ออก แค่ยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ลอง “BRAIN WRITING”

เราเข้าใจดีว่าหลายครั้งที่โปรเจกต์ใหญ่ งานชิ้นนี้ชี้เป็นชี้ตายตัวเราและบริษัทได้ เรามักจะอยากให้มันออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด หลายครั้งคำว่า “คิดไม่ออก” “สมองตัน” จึงไม่ใช่การคิดไม่ออกแบบสิ้นเชิง แต่เป็นการที่เรารู้สึกว่าเราคิดมาแค่ไหนก็ไม่เห็นจะเวิร์กเลย คิดออกมาตั้งมากมายก็ไม่สมบูรณ์แบบสมกับความยิ่งใหญ่ของโปรเจกต์ที่ได้รับมอบหมายเสียที

อย่างไรก็ตามต่อให้เป็นไอเดียที่โคตรเจ๋งที่สุดในโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าคนคิดเขาคิดครั้งเดียวแล้วออกมาเป็นไอเดียนั้นได้สมบูรณ์แบบเลย แต่ไอเดียนั้น ๆ ย่อมผ่านกระบวนการปรับ วิพากษ์วิจารณ์ แก้ จนออกมาเป็นไอเดียสุดท้าย ดังนั้นอย่ามัวแต่โบยตีตัวเองว่าคิดไม่ออก หรือคิดออกมากากจัง ห่วยจัง ทุก ๆ ความคิดที่ออกมาได้ล้วนมีความหมาย แค่ต้องการกระบวนการจัดการที่ถูกต้อง

ดังนั้นถ้าคิดออกเป็นท่อน ๆ เป็นส่วน ๆ หรือคิดฟุ้ง ๆ แล้วรู้สึกว่ายังไม่ดีเลย อย่าเพิ่งโยนไอเดียนั้นทิ้งไป ลอง “BRAIN WRITING” โดยจดลงกระดาษโพสต์อิท (ทุกไอเดียโดยยังไม่ต้องสนใจว่าดีหรือแย่แค่ไหน) แล้วแปะให้ทั่ว ก่อนจะค่อย ๆ จัดกลุ่มให้มัน ดูความเป็นไปได้ของแต่ละอัน อันไหนยังไม่ดีปรับ อันไหนดีกว่านั้นได้ก็เพิ่ม แต่เชื่อเถอะว่าไอเดียเหล่านั้นคือชิ้นส่วนสำคัญที่จะประกอบออกมาเป็นไอเดียใหญ่ที่สมบูรณ์

 

ทางออกระยะยาว “เพิ่ม Input- ทำ Idea List” เพราะบางทีไอเดียก็อาจไม่ได้มาในแบบที่เราคิด

แม้การหาทางออกเฉพาะหน้าแบบระยะสั้นจะมีความหมาย แต่ในระยะยาวการที่เราสมองตัน ความคิดสร้างสรรค์อุดตันบ่อย ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรแก้เฉพาะหน้าเท่านั้น วิธีการแก้ปัญหาระยะยาวก็จะช่วยให้เราสามารถคิดไอเดียเด็ด ๆ ให้ลื่นไหลได้เช่นกัน

อย่างแรกคือไอเดียแต่ละอันที่ออกมาคือ Output บ่อยครั้งที่เราก็ทำงานมานานนมควานค้นทุกซอกสมองเพื่อเค้นไอเดียออกมาใช้บ่อยแล้ว พูดง่าย ๆ ว่าความคิดที่เรามีมันก็จำกัด แถมเค้นมาใช้บ่อย ดังนั้นอย่าลืมเพิ่ม Input ใหม่ ๆ ให้ตัวเองบ้าง ถ้าชีวิตทำงาน คิด พรีเซนต์ ขาย จนไม่มีเวลาเพิ่มพูนอะไรใหม่ ๆ ลองหาหนังสือแนวใหม่ ๆ มาอ่าน พาตัวเองไปดูหนังที่ไม่เคยคิดจะดู ออกเดินทาง พูดคุยกับผู้คน เพราะบางครั้งการที่เราตันคิดไม่ออก ก็เพราะเราวนเวียนอยู่กับเรื่องเดิม ๆ ไม่ได้ใส่สิ่งใหม่ ๆ ให้ชีวิตเลยนั่นเอง

นอกจากการเติม Input ใหม่ ๆ ให้สมองและชีวิตแล้ว บางทีไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์เจ๋ง ๆ บนโลกใบนี้ไม่ได้มาตอนที่เรานั่งเค้นสมองอยู่กับโต๊ะทำงาน เวลาที่เราผ่อนคลาย หรือรู้สึกไม่ตึงเครียดต่างหากที่เรามักจะมีไอเดียดี ๆ พรั่งพรูออกมา

ดังนั้นเราควรมีสมุดหนึ่งเล่ม (หรือใช่สมาร์ตโฟน) เพื่อบันทึกไอเดียที่ไหลผ่านเข้ามาในช่วงที่เรากำลังผ่อนคลาย หรือนึกอะไรออก อย่าลืมว่าไม่ควรประเมินไอเดียไหนต่ำไป เพราะแม้ไอเดียที่แวบเข้ามาจะดูไม่สมบูรณ์แบบหรือไม่พร้อมใช้แค่ไหน แต่เมื่อเราต้องการใช้ การได้มานั่งดู Idea List นั้นมีส่วนอย่างมากที่จะทำให้เรานำมาปรับแต่ง เพิ่มเติม หรือประกอบกันแล้วกลายเป็นไอเดียที่เราต้องการได้ง่ายขึ้น

 

ในวันที่ไอเดียเป็นอีกสิ่งสำคัญว่าโปรเจกต์เราจะผ่านหรือไม่ผ่าน ยอดบริษัทเราจะกระเตื้องขึ้นหรือลดลง ไม่แปลกที่หลายครั้งเรากดดันตัวเองอย่างหนักเมื่อคิดอะไรไม่ออก แต่อย่าลืมว่าไอเดียที่ดีไม่ได้ออกมาจากการโบยตีตัวเองหรือคนอื่นในทีมเสมอไป การหาวิธีคิดไอเดียที่ไม่ต้องทำร้ายตัวเองหรือใคร และการแก้ปัญหาการคิดไม่ออกอย่างถูกวิธีนี่เองที่จะทำให้เราได้ไอเดียเจ๋ง ๆ มาครอง

 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line