Business

‘ลูกผู้ชายพูดแล้วไม่คืนคำ’ ทำไมความรับผิดชอบถึงสำคัญสำหรับลูกผู้ชาย

By: unlockmen October 12, 2020

ผู้ชายอย่างเราๆ ถูกสั่งสอนเรื่อง ‘ลูกผู้ชาย’ กันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่แต่ละบ้านอาจสั่งสอนเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน บางบ้านอาจเน้นไปที่ ความกล้าหาญ บางบ้านอาจเน้นไปที่ ความเป็นผู้นำ ฯลฯ ในบทความนี้อยากจะขอพูดถึง ‘ความรับผิดชอบ’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของลูกผู้ชาย  ทำไม ‘ลูกผู้ชายพูดแล้วไม่คืนคำ’ ทำไมลูกผู้ชายถึงต้องรับผิดชอบในคำพูดของตัวเอง  บทความนี้ UNLOCKMEN จะอธิบายให้ฟัง พร้อมแนะนำวิธีการทำตัวให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น เพื่อให้ทุกคนมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จต่อไป

ความสำคัญของความรับผิดชอบ

ความรับผิดชอบ (responsibility) เป็นเรื่องที่เราได้ยินกันบ่อย แต่อาจไม่ได้มีความเข้าใจในเรื่องนี้ตรงกัน เราเลยอยากอธิบายความหมายที่แท้จริงของมันให้ฟังอีกสักรอบ ความรับผิดชอบ หมายถึง การทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุลวง ปฎิบัติตามในสิ่งที่ตัวเองได้ให้สัญญาไว้ ยอมรับผลดีหรือผลร้ายที่ตามมาจากการกระทำของตัวเอง ความรับผิดชอบ มันเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนควรมีติดตัว เพราะจะทำให้ชีวิตของเราประสบความสำเร็จ และสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันของทุกคนในสังคม มันทำให้คนในสังคมเห็นถึงประโยชน์ของส่วนร่วมมากกว่าของตัวเอง ทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งกันน้อยลง และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุข

นอกจากเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมแล้ว ความรับผิดชอบยังมีบทบาทสำคัญในที่ทำงาน เพราะ การทำงานในบริษัทหรือองค์กร เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกับคนอื่น และต้องเคารพกฎระเบียบต่างๆ เวลาที่เราทำงานร่วมกับคนอื่น เราก็ต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ที่เราได้รับมอบหมายมา เช่น ทำเสร็จให้ทันกำหนด เพราะถ้าเราไม่สามารถรับผิดชอบงานอย่างเต็มที่ มันก็ไม่ใช่แค่เราคนเดียวที่มีปัญหา แต่คนอื่นจะมีปัญหาตามมาด้วย ยกตัวอย่างเช่น เวลาทำงานเสร็จไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด คนในทีมที่รอรับงานเราอยู่ก็ทำงานได้ช้า พองานล่าช้า การทำงานของทีมโดยรวมก็ล่าช้า เรียกได้ว่า ผิดที่ปลายเท้ากระทบถึงศีรษะ หรือ เวลาทำงานผิดพลาดทั้งที่เป็นความผิดของตัวเอง แต่กลับโทษเพื่อนร่วมทีมคนอื่น เราก็อาจจะโดนเพื่อนในทีมบอยคอตได้ ในอนาคตก็ไม่มีใครอยากทำงานร่วมกับคุณ บรรยากาศในการทำงานก็แย่ เพราะเพื่อนร่วมทีมกดดันให้คุณออกจากทีมหรือลาออกจากบริษัทอยู่ตลอดเวลา

ความรับผิดชอบจึงมีความสำคัญต่อการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าต้องยิ่งมีความรับผิดชอบมากกว่าคนอื่น ต้องให้ความสำคัญภาวะผู้นำรับผิดชอบ (Responsible leadership) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จะช่วยให้หัวหน้าได้รับความเคารพนับถือจากเพื่อนร่วมงาน และเมื่อทุกคนพร้อมสนับสนุนการตัดสินใจต่างๆ การทำงานมันก็จะง่ายขึ้น เร็วขึ้น เพราะไม่ใครมาขัดขวาง


ทำไมคนถึงขาดความรับผิดชอบ

ขาดความรับผิดชอบ จริงๆ แล้วเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักๆ คือ ความขี้เกียจทำงาน หรือ ความกลัวว่าจะผิดพลาดหรือล้มเหลว แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คนที่ขาดความรับผิดชอบมักไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต เราเลยจำเป็นต้องเช็กตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า เข้าข่ายเป็นคนขาดความรับผิดชอบแล้วหรือยัง ทุกคนสามารถเช็กได้ตามลิสต์ด้านล่างนี้เลย

  • ไม่สนใจงานของตัวเอง และความเป็นอยู่เพื่อนร่วมทีม
  • พอเกิดความล้มเหลวหรือผิดพลาด ก็เอาแต่โทษคนอื่น
  • ทำงานไม่เสร็จตามเดดไลน์
  • หลีกเลี่ยงงานที่ยากท้าทาย และไม่ยอมรับความเสี่ยง
  • ชอบบ่นว่าคนในทีมเลือกปฏิบัติ และพยายามทำให้ตัวเองดูน่าสงสาร
  • ไม่ยอมริเริ่มทำอะไรก่อน หรือ เสนออะไรใหม่ๆ ไม่พึ่งพาคนอื่น ไม่รับฟังคำแนะนำจากเพื่อนร่วมงาน
  • ไม่เชื่อใจเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า
  • มีข้ออ้างตลอดเวลาเจอมีปัญหา

ถ้าใครมีลักษณะตรงตามนี้หลายข้อ อาจเข้าข่ายเป็นคนไม่รับผิดชอบ ซึ่งนิสัยไม่รับผิดชอบปล่อยไวนานๆ จะเป็นปัญหาในระยะยาวได้ จึงอยากแนะนำให้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง และสำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง เราได้นำวิธีการพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากขึ้นมาฝากทุกคนเช่นกัน

เริ่มจาก เลิกมีข้ออ้างให้ได้ก่อน อย่างที่บอกไปแล้วว่า คุณสมบัติอย่างหนึ่งของคนที่ขาดความรับผิดชอบ คือ ชอบอ้าง เวลาทำผิดหรือเจอกับความผิดพลาดอะไรก็ตาม ก็ชอบผลักความรับผิดชอบไปให้กับสิ่งอื่น ตรงตามสำนวนที่เราชอบพูดกันว่า “รําไม่ดีโทษปี่โทษกลอง” คุณสมบัตินี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนขาดความรับผิดชอบไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมันทำให้พวกเขาไม่ลงมือทำอะไรที่จะนำไปสู่การประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรเลิกอ้าง กล้าลงมือทำ และกล้ารับผิดชอบเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

แต่เราก็เข้าใจว่า การรับผิดชอบในผลร้ายบางครั้งมันก็ทำให้เรากังวลหนัก และเป็นพิษต่อสุขภาพ จะดีกว่าถ้าเราไม่รับผิดชอบ แต่บางทีเราอาจจจะกังวลมากไปก็ได้ งานวิจัยบอกแล้วว่า สิ่งที่เรากังวลกันมักไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง กล่าวคือ เรามักคาดหวังว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับเราเป็นเรื่องที่เลวร้ายมากเกินไป แต่ในความเป็นจริงมันก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพราะฉะนั้น ยังไงการเลิกมีข้ออ้างก็ดีกว่าอยู่ดี

อย่าทำแต่อะไรเดิมๆ ต้องกล้าเสี่ยงและลงมือทำอะไรใหม่ๆ ด้วย! ทุกคนรู้ว่า ชีวิตของทุกคนล้วนไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็น การใช้ชีวิตหรือการทำงาน เราพบเจอกับสิ่งเราไม่คาดฝันได้เสมอ เราจึงต้องเตรียมตัวรับมือกับมันอย่างสม่ำเสมอ และเวลาเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เราไม่ควรตอบคเครียด ตื่นตระหนก หรือ ตอบสนองด้วยความเคยชิน
เราต้องมีเวลาให้ตัวเองคิดถึงวิธีการตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่ดีที่สุดด้วย ช่วงเวลาหยุดคิด แม้จะเพียงสั้นๆ ก็อาจทำให้ผลของการตัดสินใจเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือได้เหมือนกัน เพราะ เรามีโอกาสที่จะเจอตัวเลือกอื่นๆ ที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จมากกว่าเลือกตัวเลือกเดิม เราก็เลยมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าเดิม

กล้าหาญเข้าไว้ ความรับผิดชอบและความกล้าเป็นของคู่กัน เพราะการมีความรับผิดชอบ คือ เราต้องกล้ารับทั้งผลดีและผลเสียที่จะเกิดขึ้นมาจากการกระทำของตัวเอง ดังนั้นถ้าเราฝึกให้ตัวเองมีความกล้าได้ เราก็อาจจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบได้เหมือนกัน และการฝึกความกล้าหาญที่ง่ายที่สุด อาจเริ่มจากการฝึกมีความกล้าหาญเพื่อคนอื่น (เช่น ยอมรับความผิดแทนคนอื่นเมื่อจำเป็น หรือ กล้าปกป้องคนอื่น เมื่อพวกเขาเผชิญกับความอยุติธรรม) ความกล้าที่จะเสียสละเพื่อคนอื่น จะช่วยลดความเห็นแก่ตัวของเราลงได้ด้วย เมื่อเราเห็นแก่ส่วนร่วมมากขึ้น เราก็จะให้ความสำคัญกับหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองมากขึ้นเช่นกัน

ควบคุมตัวเองให้ได้ แม้อารมณ์จะทำให้มนุษย์อยู่รอด แต่ถ้ามีมากเกินไปก็ส่งผลเสียเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เราต้องรับผิดชอบอะไรบางอย่าง เพราะบางอารมณ์ เช่น ความโกรธ หรือ ความกลัว ทำให้เรารู้สึกว่าไม่อยากรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาทะเลาะกับใคร ความโกรธก็อาจพยายามทำให้เรารู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิด ซึ่งในความเป็นจริงอาจผิดทั้งคู่ ดังนั้น ความรับผิดชอบจะเกิดขึ้นได้ เราต้องรู้จักควบคุมตัวเองด้วย

ปรึกษาคนอื่น บางทีการคุยกับคนอื่นก็อาจทำให้เราเจอวิธีการแก้ไขปัญหาที่มากกว่า หรือทำให้การแก้ไขปัญหามันไวขึ้น เพราะมันมีคนที่เข้ามาช่วยเราแก้ปัญหา บางทีปัญหาเราไม่สามารถแก้ไขคนเดียวได้ยาก หรือ แก้ไขไม่ได้ด้วยตัวเอง เพราะไม่มีความรู้หรือความสามารถมากพอ ซึ่งนิสัยเป็นปัญหาทีเข้าข่ายทั้ง 2 ลักษณะ คือ แก้ไขได้ยาก และต้องมีคนช่วย ดังนั้น ถ้าอยากเริ่มแก้นิสัยขาดความรับผิดชอบ ก็ควรพูดคุยกับคนอื่น เพื่อขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน คนในครอบครัว หรือ แฟน แต่ถ้ารู้สึกว่าปัญหามันหนักหน่วงเหลือเกิน ก็ยังมีบริการของผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยา หรือ จิตแพทย์ เป็นทางเลือกเช่นกัน


 

Appendix: 1 / 2 / 3 /

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line