Entertainment

ร่วมฉลอง 30 ปี ‘หว่องกาไว’ กับ 5 หนังที่ดูแล้วจมดิ่งสู่ห้วงความเหงาอันงดงาม

By: PERLE June 11, 2018

แสงไฟสีส้มสลัว, ควันบุหรี่, แก้วเหล้า, และความเหงา ถ้าพูดถึงสิ่งเหล่านี้ในโลกภาพยนตร์แล้ว ชื่อของผู้กำกับชาวฮ่องกงอย่าง ‘หว่องกาไว’ คงเป็นชื่อแรกที่จะนึกถึงแน่นอน เนื่องจากในภาพยนตร์ของเขาทุกเรื่องมักมีสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนประกอบเสมอ และนับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่อง As Tears Go By ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่เขารับหน้าที่กำกับเข้าฉายในปี 1988 นับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 3 ทศวรรษแล้ว จากผู้กำกับหน้าใหม่ในวันนั้น วันนี้ชื่อของหว่องกาไวขึนหิ้งในฐานะผู้กำกับระดับตำนานไปเรียบร้อย และในโอกาสนี้ UNLOCKMEN จึงขอแนะนำ 5 ภาพยนตร์ของหว่องกาไวที่ดูแล้วหายสงสัยแน่นอนว่าทำไมชายคนนี้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเหงา จะมีเรื่องอะไรกันบ้างไปดูกันเลย!

Days of Being Wild (1990)

“โลกนี้มีนกอยู่ชนิดหนึ่งไม่มีขา มันได้แต่บินและบิน เหนื่อยก็นอนในสายลม ในชีวิตจะลงดินเพียงครั้งเดียว นั่นคือวันตายของมัน”- ยกไจ๋

ถึงจะเป็นแค่ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ในชีวิต แต่หว่องกาไวไม่ปราณีคนดูเลยแม้แต่น้อย เขาปลดปล่อยความเหงาและความเจ็บปวดอย่างเต็มเปี่ยมท่ามกลางฉากหลังงดงาม

Days of Being Wild เล่าเรื่องราวของ ‘ยกไจ๋’ (นำแสดงโดยเลสลี่ จาง ที่ต่อมากลายเป็นนักแสดงคู่บุญของหว่องกาไว) ชายหนุ่มที่โดนแม่ทิ้งไปตั้งแต่เกิด เขารู้สึกปวดร้าว และพยายามแก้แค้นผู้หญิงทั้งโลกด้วยการทำให้พวกเธอเจ็บปวดเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่า Days of Being Wild คือภาพยนตร์ที่รวบรวมผู้คนที่มีความเจ็บปวดแตกสลายภายในมาอยู่ด้วยกัน และต่างก็ทำร้ายกันต่อไปเป็นทอด ๆ โดยมียกไจ๋เป็นศูนย์กลาง เชิญชวนทุกคนมาร่วมดื่มด่ำความร้าวรานที่แสนงดงามนี้ไปด้วยกันใน Days of Being Wild

Chungking Express (1994)

“เราเลิกกันในวัน เอพริล ฟลูส์ เดย์ ผมเลยคิดว่าจะรับมุขเธอสักเดือนนึง ด้วยการซื้อสับปะรดกระป๋องที่หมดอายุวันที่ 1 พฤษภาคม ทุกวัน เพราะเธอชอบกินสับปะรด

ส่วน 1 พฤษภาคม คือวันเกิดของผม

ผมเลยบอกกับตัวเองว่า ถ้าซื้อสับปะรดถึง 3 กระป๋องแล้วเธอยังไม่กลับมา หลังจากนั้น ผมจะซื้อสับปะรดกระป๋องที่หมดอายุ 1 พฤษภาคม ทุกวัน

ความรักของเราก็จะหมดอายุลงไปด้วย” – นายตำรวจหมายเลข 223

ทุกลิสต์หนังเหงา, หนังเปลี่ยว, หนังอกหัก เชื่อเหลือเกินว่าต้องมีชื่อ Chungking Express รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ภาพยนตร์เรื่องนี้คือ Stereotype เลยก็ว่าได้

ภาพยนตร์เรื่องที่ 4 ของผู้กำกับหว่องกาไวเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องความรักอันสลับซับซ้อนของ 2 นายตำรวจหนุ่มกับหญิงสาวปริศนา ดำเนินเรื่องโดยมีฉากหลังเป็นเมืองฮ่องกงที่ดูเหมือนจะครึกครื้นแต่ก็เปลี่ยวเหงาอย่างน่าประหลาดเคล้าคลอไปกับบทเพลง California Dreamin’ ใครอยากจมดิ่งสู่ความเหงาลึกสุดขั้วหัวใจ หาสับปะรดกระป๋องมาเปิดกินพร้อมกับดู  Chungking Express ดูสิ

Happy Together (1997)

“ไหล่เยี่ยฟาง…เรามาเริ่มต้นกันใหม่นะ”-โหวเป่า

ภาพยนตร์ที่พิสูจน์ว่าความรัก ความร้าวร้าน ความเจ็บปวด เกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ เพราะนี่คือภาพยนตร์ LGBT เรื่องแรกของหว่องกาไว

Happy Together เล่าเรื่องราวของชายคู่หนึ่งซึ่งเคยคบหากัน แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้พวกเขาต้องแยกทางกัน จนกระทั่งทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันอีกครั้งในประเทศอาร์เจนตินาโดยคนหนึ่งทำงานเป็นไกด์ อีกคนขายบริการทางเพศ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือความรู้สึกที่พวกเขามีต่อกัน

หว่องกาไวคือหนึ่งในผู้กำกับที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ลึกซึ้งที่สุด ทุกบริบทใน Happy Together ถูกนำมาเสนอผ่านทุกไดอะล็อกที่พิถีพิถัน ตลอดทั้งเรื่องเราแทบไม่รู้สึกเลยว่าเราดูหนังเกย์อยู่ เพราะที่เราเห็นคือความสัมพันธ์ของคู่รักมนุษย์ธรรมดาคู่หนึ่งที่มีทั้งสุข เศร้า และเคล้าไปด้วยน้ำตา รวดร้าว เปลี่ยวเหงา งดงาม นี่คือหนึ่งในหนัง LGBT ที่ดีที่สุด การันตีด้วยชื่อหว่องกาไว

In the Mood for Love (2000)

“คนในสมัยก่อนเมื่อมีความลับ พวกเขาจะขึ้นไปเจาะรูบนต้นไม้ กระซิบบอกความลับของตัวเองลงไปแล้วอุดมันด้วยดิน เพื่อที่ความลับของเขาจะคงอยู่ตลอดกาลโดยไม่มีใครรู้”- โจวหมู่หวัน

หว่องกาไวเริ่มต้นศตวรรษที่ 21 ด้วยผลงานตามสไตล์ถนัดของตัวเอง In the Mood for Love ดำเนินเรื่องในเกาะฮ่องกงเหมือนเรื่องอื่น ๆ แต่แตกต่างด้วยยุคสมัย เพราะเหตุการณ์ในภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นในยุค 60 ยุคสมัยที่ความรักยังดูเคร่งครัดอยู่ในธรรมเนียมจารีตประเพณี เรื่องราวใน In the Mood for Love  จึงดูผิดศีลธรรมอย่างร้ายแรง เพราะมันคือเรื่องราวความรักของคู่รัก 2 คู่ที่พักอาศัยอยู่ในห้องเช่าติดกัน สามีของหญิงสาวคนหนึ่งตกหลุมรักภรรยาของอีกคนหนึ่งสลับไขว้กันราวกับตลกร้าย

ถึงจะเป็นความรักที่ผิดศีลธรรมไปไกลแต่หว่องกาไวกลับเล่ามันออกมาได้อย่างอ่อนโยน เหมือนยาพิษแสนหวานที่รู้ว่าสามารถฆ่าเราได้แต่อดใจไว้ไม่ไหว

In the Mood for Love ได้ชื่อว่าคือหนึ่งในภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเรื่องหนึ่งแห่งยุค ทั้งเรื่องบท เพลงประกอบ และที่เห็นว่าดีงามที่สุดคงจะเป็นงานภาพ ใครยังไม่เคยดูหนังหว่องเลยสักเรื่อง แนะนำให้เริ่มดูจากเรื่องนี้เลย เพราะมันกลมกล่อมที่สุด

My Blueberry Nights (2007)

“มันก็เหมือนพายกับเค้กนั่นแหละ รู้ไหมทุกคืนชีสเค้กและพายแอปเปิ้ลจะถูกขายหมดเสมอ ส่วนพายผลไม้ถูกขายเกือบหมด มีแต่บลูเบอรีพายเท่านั้นที่ไม่มีใครแตะเลย” – Jeremy

“แล้วมันมีอะไรผิดปกติเกี่ยวกับบลูเบอรีพายล่ะ”- Elizabeth

“ไม่มีสิ่งใดผิดปกติเลย บลูเบอรีพาย มันก็เป็นบลูเบอรีพายปกติ ดูมีสีสันน่ากิน แต่ที่มันเหลือก็แค่เพราะคนอื่นเขาเลือกที่จะกินอย่างอื่น และ ไม่มีใครต้องการมัน ก็แค่นั้นเอง”- Jeremy

ในปี 2007 หว่องกาไวกลับมาหลังจากหายไปร่วม 3 ปีด้วยภาพยนตร์เรื่อง My Blueberry Nights ที่ดูจะแปลกไปจากทุกครั้ง เพราะภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของเขามักจะใช้นักแสดงฮ่องกงเป็นหลัก แต่คราวนี้หว่องกาไวมาร่วมงานกับฝั่งฮอลลีวูด ทัพนักแสดงจึงเป็นชาวตะวันตกล้วน ๆ ถึงอย่างไรก็ตาม แม้นักแสดงจะแปลกไป แต่ความเหงาความปวดร้าวที่เป็นจุดขายในหนังของเขาเสมอไม่ได้เปลี่ยนไปเลย มันยังคงอานุภาพรุนแรงเหมือนเดิม

My Blueberry Nights เล่าเรื่องหญิงสาวผู้ผิดหวังจากคนรัก และได้ตัดสินใจเดินทางท่องอเมริกาเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความรัก จนกระทั่งได้เจอกับชายหนุ่มเจ้าของคาเฟ่ใน New York

ถึงจะเป็นผลงานของหว่องกาไวที่ไม่ได้รับการพูดถึงมากเท่าเรื่องอื่น ๆ แต่ UNLOCKMEN ก็ไม่อยากให้พลาดภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะมันแฝงแง่มุมที่ตัวผู้กำกับมีต่อโลกซึ่งนำเสนอออกมาแตกต่างจากผลเรื่องอื่น ๆ

ถ้าเปรียบ My Blueberry Nights เป็นเบเกอรี่สักชิ้นก็คงเป็นเค้กดาร์คช็อกโกแลตไส้สตรอเบอรี่ ที่ด้านนอกเคลือบไว้ด้วยความขื่นขมแต่ก็มีความหวานแสนชุ่มชื้นหัวใจซ่อนอยู่ภายใน

ทั้ง 5 เรื่องเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมาหว่องกาไวได้บรรจุความเหงาลงแผ่นฟิล์มมากมายหลายสิบ เรื่อง เอาเป็นว่าถ้าคุณดูภาพยนตร์ที่เราแนะนำแล้วชอบ แปลว่าเคมีคุณเข้ากับผู้กำกับคนนี้ได้ จากนั้นอยากหาเรื่องไหนมาดูต่อก็แล้วแต่หัวใจคุณเลยว่าจะทนทานต่อความเหงาได้แค่ไหน

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line