Work

WORK SAFE PLAY SAFE : 5 เทคนิคเจ๋ง ๆ ให้ลูกน้องรู้สึกปลอดภัยและไว้ใจเรามากขึ้น

By: unlockmen August 8, 2018

ปัญหาทีมเวิร์คในที่ทำงาน ดูเหมือนเป็นอะไรที่คลาสสิกเอามาก ๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาที่แฟนซีหวือหวารับมือยากแต่อย่างใด ถือว่าเข้าใจได้ คิดง่าย ๆ คือคนหลายคนจากต่างที่อยู่ ต่างสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู และอีกสารพัดปัจจัยที่ส่งผลถึงการเรียนรู้ นิสัยใจคอ ย่อมทำให้แต่ละคนมีนิสัยใจคอที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย ถ้าเราอยู่ในฐานะหัวหน้า การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมก็ตกเป็นหน้าที่ของเราไปโดยปริยาย

นอกจากเรื่องให้พวกเขามีทีมเวิร์คที่ดีในกลุ่มแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้องก็ควรไปได้ดีด้วยเช่นกัน ต่อให้ทีมเวิร์คในกลุ่มเจ๋งแค่ไหน ถ้าพวกเขาไม่ลงรอยกับหัวหน้า บรรยากาศในการทำงานก็ชวนให้กระอักกระอ่วนอยู่ดี  UNLOCKMEN จะมาแนะนำเทคนิคเจ๋ง ๆ ที่จะช่วยทีมไว้ใจและรู้สึกปลอดภัยที่จะทำงานกับเรา

มันคงเป็นสัญญาณที่ไม่ดีเท่าไหร่ ถ้าเรากับลูกน้องไม่ได้รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์ในการทำงานเท่านั้น แต่ในเรื่องความสัมพันธ์ก็ออกจะห่างเหินไปเสียหน่อย มันก็ทำให้บรรยากาศดูไม่ค่อยราบรื่นเสียเท่าไหร่ การที่เราเป็นหัวหน้า ทำให้เราอาจจะไม่ได้ลงไปทำงานกับเขาในทุกกระบวนการ ไม่ได้ร่วมหัวจมท้ายในทุกสถานการณ์ เลยอาจมีความผูกพันน้อยกว่าเพื่อในทีมเป็นธรรมดา 

หากเราอยากจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเราที่เป็นหัวหน้าและลูกน้องในทีมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือความไว้ใจ ทำให้เขาไว้ใจเราด้วยความรู้สึกจริง ๆ นั่นหมายความว่าเขาต้องรู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดใจ ปรึกษา พูดคุย และทำงานกับเรา หากจะมามัวเล่นสงครามประสาทกันตลอดเวลา มันไม่ช่วยให้เรื่องนี้ขึ้นแน่นอน มาดูกันว่าอะไรที่จะช่วยให้พวกเขารู้สึกไว้ใจเรามากขึ้นและรู้สึกปลอดภัยที่จะซี้ปึ้กกับเราได้บ้าง

ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

ใช้เราเองนี่แหละเป็นต้นแบบ ลงมือทำให้เขาเห็นว่ามันต้องทำยังไง ลองผิดลองถูกไปด้วยกัน เหมือนเราเป็นหน่ึงในสมาชิกของทีม ถ้าไม่มีใครพูด ไม่มีใครถาม เราทำเลย เป็นตัวแทนของพวกเขา แต่ทั้งหมดที่ว่ามานั้น ต้องเป็นไปในทางที่เป็นมิตร อย่าไปวางมาดว่า ทำอย่างนี้สิโว้ย ดูกูนี่ อะไรทำนองนั้น เพราะมันก็ไม่ต่างจาการเป็นหัวหน้าแล้วไปจิกหัวใช้ลูกน้องนั่นแหละ และนั่นยิ่งทำให้พวกเขากีดกันเราออกจากกลุ่มไปยิ่งกว่าเดิม อย่าลืมว่าความไว้ใจจะเริ่มได้ต้องมีความรู้สึกปลอดภัยที่จะทำงานร่วมกันเสียก่อน

อย่าพูดตัดบท 

ถ้าใครกำลังพูด เสนอไอเดีย หรือแม้แต่คุยเล่นในช่วงทำงาน อย่าเพิ่งไปขัดเขาจะดีกว่า ปล่อยให้บทสนทนามันไหลไปตามธรรมชาติดีกว่า เพราะการคุยสนุกเรื่องไร้สาระ หรือเสนอไอเดียอะไรสักอย่างโดยไม่ได้สนใจว่ามันจะเจ๋งหรือจะห่วยในสายตาใคร มันแสดงว่าพวกเขากำลังรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงความคิดเห็นของเขาออกมา หากไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองไปขัดความสุขของพวกเขาก็ปล่อยให้พวกเขาได้ทำอะไรที่มัน Relax เสียบ้าง การมานั่งหลังขดหลังแข็งจริงจังอยู่กับงานเกือบสิบชั่วโมงติดกัน มันไม่ทำให้บรรยากาศในออฟฟิศดีขึ้นนักหรอก

จำคำพูดของเราเองเสมอ 

ทุกครั้งที่เราร้องขอให้พวกเขาทำอะไร หรือบอกให้พวกเขาทำงานออกมาในรูปแบบไหน แล้วเรายืนยันว่านี่คือสิ่งที่เราต้องการ แต่สถานการณ์หรืออะไรก็ตาม ทำให้เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบนั้นไป อย่าลืมที่จะอธิบายให้พวกเขาฟังถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าวันก่อนพูดอย่าง วันนี้อยากเปลี่ยนก็พูดอีกอย่าง ไร้คำอธิบายใด ๆ นั่นทำให้ภาพลักษณ์ของคุณดูแย่เอาเปล่า ๆ ง่าย ๆ ก็คือดูเหมือนคนไม่รักษาคำพูดนั่นแหละ 

เมื่อมีใครแย้งในคำพูดของคุณขึ้นมา ให้โอกาสเขาอธิบายถึงที่มาที่ไป เหตุผลของเขา แสดงให้เห็นว่าเรารับฟังคำพูดของพวกเขาจริง ๆ ไม่ใช่ฟังผ่าน ๆ เพื่อจะพูดเรื่องตัวเองต่อไป แต่ต้องการฟังและทำความเข้าใจจริง ๆ 

ไม่ด่วนสรุป รีบตัดสิน 

หากเราเอ่ยปากวิจารณ์ผลงาน หรือการทำงานของใครสักคน เราต้องมั่นใจก่อนว่าเรามีข้อมูลมาครบทุกด้าน ทำความเข้าใจงานนั้นอย่างละเอียดแล้วจริง ๆ หากยัง เราควรถามถึงที่มาที่ไปของงานนั้น ๆ ให้รู้ถึงเหตุผลของเขาก่อนที่จะตัดสินอะไรลงไป เพราะบางครั้งเรามองในมุมของเรา ให้ตายยังไงก็ไม่ถูกใจ แต่ถ้ามองในมุมคนนอก มองในมุมคนอื่นบ้าง เราอาจจะเห็นอะไรที่กว้างขึ้นก็ได้

หากเราเคยรีบตัดสินใครไปสักครั้งแล้วล่ะก็ อย่าลืมว่าคนเราเจ็บแล้วจำ การทำงานในครั้งต่อไปก็จะยากแล้วล่ะที่จะให้เขาอยากทำงานกับเราอีก 

ไม่ทำตัวเกินเหตุ 

สิ่งสำคัญที่เราไม่ควรลืมคือ เราเป็นมนุษย์ ที่ให้ตายยังไงมันก็มี Human Error เข้าสักวัน เพราะ No One Perfect มันก็ต้องทำผิดพลาดกันบ้าง ถ้าเราคิดจะลงมือทำอะไรสักอย่าง คนที่ไม่ผิดพลาดก็คือคนที่ไม่ทำอะไรเลย อย่าไปกังวลหรือเอาผิดแบบเอาเป็นเอาตายกับความผิดของลูกน้องนัก ตักเตือน ลงโทษ ให้อยู่ในบรรทัดฐานที่เหมาะสมก็พอแล้ว เพราะการจมปลักอยู่กับความผิดของเขาไปตลอดนั่นหมายความว่าวิสัยทัศน์ของเรามีปัญหาซะแล้วล่ะ

และอย่าลืมที่จะพูดยอมรับความผิดของตัวเอง เมื่อเราทำผิดพลาดด้วย เพื่อแสดงให้เขาเห็นว่าเราเองก็มองเห็นความผิดของตัวเองเช่นกัน

ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะไหน หัวหน้า ลูกน้อง หรือผู้บริหาร ทุกคนต่างมีหน้าที่ มีภาระ มีความยากลำบากในการทำงานของ Position ตัวเองกันอยู่แล้ว อย่าได้น้อยใจไปถ้าหากคนใน Position ที่แตกต่างจะไม่เข้าใจในความยากของจุดที่เรายืนอยู่ ปรับตัวให้ได้ในทุกสถานการณ์จะเวิร์คที่สุด เพราะไม่ใช่คนที่แข็งแกร่งที่สุดที่จะอยู่รอด แต่คนที่รู้จักปรับตัวต่างหากที่อยู่รอด

SOURCE

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line