Work

เศรษฐกิจไม่ดี แต่ยังมีงานทำ ‘เคล็ดลับเป็นคนที่องค์กรไหนก็ต้องการ’ ในวันที่งานหายากเช่นนี้

By: PSYCAT August 25, 2020

หันมองคนรอบตัวเราตอนนี้ ถ้ามีใครสักคนที่งานยังรุ่ง การเงินยังพุ่งแรง ธุรกิจยังทะยานไปข้างหน้าได้แบบไม่ตก คงต้องคารวะอย่างสุดจิตสุดใจ แต่ข้อเท็จจริงคือคนเหล่านั้นไม่ใช่คนส่วนใหญ่ สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง ส่งผลต่อสภาพธุรกิจที่ไม่แข็งแรง จนหลายองค์กรต้องปรับตัวขนานใหญ่ (และปรับอยู่บ่อย ๆ เพื่อตามสถานการณ์ให้ทัน)

สภาวะคับขันแบบนี้องค์กรจึงยิ่งต้องการคนทำงานที่ประสิทธิภาพมากพอที่จะพาองค์กรเติบโตหรือยังไปต่อได้ ดังนั้นใครที่ยังมีงานประจำ ยิ่งต้องกอดงานตัวเองไว้ให้แน่น เพราะการปรับเปลี่ยนพนักงาน ปรับโครงสร้างก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่องค์กรเลือกปรับ ถ้าคนทำงานไม่ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ ขององค์กรได้

คำถามก็คือในสภาวะที่ไม่มั่นคงแบบนี้ เราจะรักษามาตรฐานอย่างไรถึงจะเป็นคนทำงานที่องค์กรต้องการตัวเราอยู่เสมอให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เราทำงานอยู่ หรือเผื่อต้องหางานใหม่ในอนาคต?

มาตรฐานสูงเข้าไว้ (และอย่าให้มาตรฐานตก!)

สิ่งที่ต้องจำให้แม่นมั่นในสถานการณ์อันยากลำบากแบบนี้คือเราต้องเป็นคนที่ดีที่สุด ต้องเป็นคนที่มีมาตรฐานที่สูงที่สุดในพื้นที่การทำงานของเรา หมั่นรักษาทักษะและศักยภาพที่มีให้สดใหม่และรักษาความแข็งแกร่งเดิมไว้ให้ได้ เพราะในขณะที่ตลาดงานหดตัวลง (คนต้องการทำงานเยอะ องค์กรมีอัตราการจ้างต่ำ) นายจ้างยิ่งมีทางเลือกมากขึ้นดังนั้นองค์กรมักเลือกคนที่ดีที่สุดมากกว่าเลือกคนที่ทำงานไปวัน ๆ

อย่างไรก็ตามคำว่า “มาตรฐานสูง” ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราเป็นระดับจูเนียร์แล้วจะข้ามไปซีเนียร์ ไปทำงานบริหาร แต่หมายความว่าเราต้องทำดีที่สุดในพื้นที่ของเรา ( เช่น ถ้าพูดถึงตำแหน่งนี้ของจูเนียร์ เราต้องเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่ผู้บริหารพูดถึง)

ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ในระดับไหนของตำแหน่งที่เราทำ เป็นระดับปฏิบัติการ เป็นระดับบริหาร เป็นะดับอาวุโส ฯลฯ เราต้องรักษามาตรฐานให้สูงที่สุดในพื้นที่ของเรา ด้วยการเรียนรู้อยู่เสมอ พัฒนาทักษะใหม่ ๆ ที่สำคัญต่องานที่เราทำอยู่ และงานที่เราตั้งใจว่าอยากทำในอนาคต

การมั่นใจว่าความรู้ของเราล้ำหน้ากว่าคนรอบ ๆ จะทำให้เราแตกต่าง ในแง่นี้ถ้ามีบริษัทไหนต้องการคน เราก็จะเป็นคนแรก ๆ ที่เขาสนใจ รวมถึงทำให้เห็นว่าเรามุ่งมั่นและกระหายการเรียนรู้ ซึ่งเป็นคุณลักษณะ 2 ประการที่ดึงดูดใจนายจ้างเสมอ

‘คอนเนกชัน’ ยามคับขันก็มีความหมาย

นอกเหนือไปจากความสามารถที่สำคัญเหลือแสนแล้ว ความสัมพันธ์กับผู้คน การสร้างคอนเนกชันถือเป็นอีกโอกาสและช่องทางที่จะทำให้คนเข้าถึงหรือเห็นความสามารถที่เรามีมากขึ้น ดังนั้นในสภาวะที่งานไม่ได้หาง่าย ๆ แบบนี้ การเชื่อมโยงกับผู้คนทั้งในสายงานและนอกสายงานเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะเราไม่มีวันรู้ได้เลยว่าวันหนึ่ง เขาเหล่านี้อาจมีงานมาแนะนำให้เรา หรือเห็นศักยภาพของเรามากพอจะไปแนะนำเราให้องค์กรก็เป็นได้

การเชื่อมโยงความสัมพันธ์เพื่อเป็นคอนเนกชันนั้นควรทำทั้งในเชิงลึก และเชิงกว้าง ในหมู่ผู้คนสายงานเดี๋ยวยวกันที่เราทำงานอยู่ด้วย หรือเคยร่วมงานด้วย หมั่นติดต่อ อัปเดต พูดคุยกับพวกเขา ให้รู้สึกว่าเราไม่ได้หายไปไหน เมื่อใดที่เขามีงานต้องการให้ใครสักคนทำเราจะได้เป็นชื่อแรก ๆ ที่เขานึกถึง (ไม่ใช่แค่เพราะเราพูดคุย แต่เพราะความสามารถที่เรามีด้วย)

ในขณะที่คนนอกสายงานเราก็ควรขยายฐานความสัมพันธ์ทางการงานออกไป อย่าคิดว่าที่มีอยู่ในมือหรือแค่สายงานเดียวกันก็พอแล้ว เพราะเพื่อนนอกสายงานก็สามารถเพิ่มโอกาสให้เราได้เช่นกัน

‘INVENTIVE MINDSET’ ต้องมา

ก่อนที่ COVID-19 จะมา หรือก่อนที่สภาพการเงินขององค์กรจะฝืดเคือง เราอาจเคยทำงานในคอมฟอร์ตโซนได้เต็มสูบ ทำแบบเดิม ทำแบบไม่ต้องเหนื่อยมาก ทุกอย่างก็ยังเคลื่อนต่อไปได้ ตำแหน่งไม่สั่นคลอน การเงินยังอยู่ดี แต่ไม่ใช่กับสถานการณ์ตอนนี้

ตลาดงานและวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ นั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ (หรือถ้าใครเลือกทำแบบนั้นก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกปรับออก) INVENTIVE MINDSET จึงเป็นสิ่งที่คนทำงานอย่างเรา ๆ ต้องใส่ใจ เพราะองค์กรไม่ได้ต้องการแค่คนทำงานตามหน้าที่แล้วจบ ๆ ไป องค์กรต้องการคนที่คิดอะไรใหม่ ๆ หรือหาวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่จะขับเคลื่อนตัวเองและองค์กรให้ผ่านช่วงวิกฤตไปได้

ดังนั้นนอกจากการรับผิดชอบหน้าที่เดิมแล้ว ลองมองหาหนทางว่าเราทำอะไรได้อีกบ้าง? เราพัฒนาทักษะเราไปทางไหนได้อีกที่นำมาช่วยองค์กรของเรา รวมถึงศักยภาพใหม่ ๆ ที่เราคิดล่วงหน้าไปหนึ่งขั้นว่าองค์กรต้องการ เพราะในสภาวะเช่นนี้องค์กรอาจไม่ได้มีเวลาเหลือมากพอจะมาบอกว่าเราต้องพัฒนาอะไร ต้องเพิ่มอะไร ถ้าเราสามารถคิดแทนและพัฒนาตัวเองไปถึงจุดนั้นได้ ย่อมเป็นที่ต้องการไม่ว่าจะต่อนายจ้างปัจจุบันหรือในอนาคต

‘ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการแก้ปัญหา’ คุณสมบัติที่หลายองค์กรต้องการตอนนี้

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้รูปแบบความต้องการคนทำงานเปลี่ยนไป ผลสำรวจโดย Society for Human resource Management ระบุว่า 10% ของนายจ้างอยู่ระหว่างการเริ่มต้นโครงการใหม่ ๆ  อย่างไรก็ตาม 55% ของ CEO เชื่อว่าพวกเขาไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้สำเร็จและ 44% มองว่าไม่สามารถแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้เนื่องจากบุคลากรของพวกเขาขาดทักษะ

หมายความว่าในสภาวะที่องค์กรกำลังดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้ องค์กรกลับรู้สึกว่าบุคลากรที่พวกเขามีนั้นไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นถ้าเราต้องเป็นที่ต้องการตัวทักษะสำคัญที่จะช่วยดันโปรเจกต์ใหม่ ๆ ของแต่ละองค์กรไปข้างหน้าได้ คือการมีความคิดสร้างสรรค์และทักษะการแก้ไขปัญหา หลายองค์กรถึงกับระบุว่าพวกเขาต้องการนวัตกรรมใหม่ ๆ และทักษะความคิดสร้างสรรค์เป็นพิเศษ ดังนั้นอย่าลืมเน้นย้ำสิ่งเหล่านี้ลงในเรซูเม่ (หรือใช้ศักยภาพเหล่านี้กับงานปัจจุบันให้มากที่สุดเพื่อรักษษงานไว้ และไว้ใช้สมัครงานที่ใหม่ ๆ ได้อีกด้วย)

ในเรซูเม่หรือการพูดคุยกับผู้คน (เพื่อสร้างคอนเนกชัน) อย่าลืมยกตัวอย่างว่าเราได้แก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากหรือพบวิธีแก้ปัญหาที่ไม่คาดคิดในสถานการณ์ที่ยากลำบากขององค์กรได้อย่างไร รวมถึงแสดงวิธีที่เราได้เรียนรู้ตลอดการทำงานว่ามันส่งเสริมให้เราเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ มาแก้ปัญหาได้อย่างไรร่วมด้วย

ในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การหางานหรือยังรักษางานที่มีอยู่ได้อาจเป็นความท้าทายที่สำคัญอย่างหนึ่ง เราจึงไม่สามารถทำงานด้วยวิธีการเดิม ๆ และหวังผลลัพธ์แบบเดิมได้ โดยเฉพาะเมื่อเราต้องดิ้นรนแข่งทั้งกับตัวเองและคนอื่นนั้นการนิ่งอยู่กับที่ในวันที่คนอื่นขวนขวายไปข้างหน้าตลอดเวลาอาจหมายถึงการถอยหลังได้ UNLOCKMEN เป็นกำลังใจให้ทุกคนและขอให้รู้ว่าเราไม่ได้สู้อยู่เพียงลำพัง


 

SOURCE: 12, 3

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line