Featured

“แค่ลูกเศรษฐีทำทีมฟุตบอล” มิตติ ติยะไพรัช จากคำสบประมาทถึงวันพาสิงห์ เชียงรายฯ คว้าแชมป์

By: PSYCAT December 3, 2019

ตอนอายุ 16 คุณฝันถึงอะไร? มีผู้ชายอายุ 16 ปี คนหนึ่ง ฝันอยากทำทีมฟุตบอลของตัวเอง ตอนอายุ 23 คุณกำลังทำอะไร? มีผู้ชายอายุ 23 ปี คนหนึ่ง ก่อตั้งสโมสรฟุตบอลและเป็นประธานสโมสรฟุตบอล ผู้ชาย 2 คนนี้คือคนเดียวกันและเป็นคนเดียวกับที่เคยถูกตราหน้าว่า “ก็แค่ลูกเศรษฐีทำทีมฟุตบอลแหละวะ”

ใช่ เขาคนนี้ยังเป็นคนเดียวกับผู้ชายอายุ 33 ปี ที่พาสโมสรฟุตบอลซึ่งปลุกปั้นมากับมือผงาดคว้าแชมป์ไทยลีก 2019 ได้เป็นครั้งแรก “ฮั่น-มิตติ ติยะไพรัช” คือชื่อของชายคนนั้น หลายคนอาจคุ้นชื่อนี้จากข่าวกีฬา หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อนี้จากข่าวการเมือง

เขาคืออดีตประธานสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด และอดีตเลขาธิการพรรคไทยรักษาชาติ ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด (ควบการเป็นผู้ช่วยโค้ช) ที่เพิ่งพาทีมคว้าแชมป์มาหมาด ๆ

การเป็นลูกเศรษฐีมาทำทีมฟุตบอลมันง่ายอย่างที่ใคร ๆ ว่าจริงไหม? หัวใจสำคัญของการพาทีมคว้าแชมป์ไทยลีกครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสรคืออะไร? หาคำตอบได้จากการดำดิ่งไปในเรื่องราวของเขา พร้อมกันกับเรา

จากความฝันที่ไปไม่ถึง สู่จุดเริ่มของการทำอีกภารกิจยิ่งใหญ่

คุณเคยฝันไหม? ฝันอยากเป็นอะไรบางอย่าง อยากไปถึงบางสิ่ง แต่รู้ตัวว่าฝันนั้นมันไกลเกินเอื้อม มิตติ ติยะไพรัช ก็ไม่ต่างจากคนอื่น เขาไม่ได้เริ่มจากฝันอยากทำทีมฟุตบอล แต่เริ่มจากฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพและเขารู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย แทนที่จะปลดระวางความฝันนั้นให้แห้งเหี่ยวตายซาก เขากลับมอบชีวิตใหม่ให้กับมัน

มิตติ ติยะไพรัช เลือกแปลงความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลอาชีพ สู่การทำทีมฟุตบอลในบ้านเกิดตัวเอง แม้จะเป็นไปได้มากกว่า แต่คงไม่มีใครกล้าฟันธงได้เต็มปากว่า ฝันที่จะทำทีมฟุตบอลให้รุ่งโรจน์นั้นเป็นเรื่องง่าย…

“11 ปีที่แล้ว ปี 2009 จริง ๆ เริ่มวางแผนเมื่อปี 2008 ตอนนั้นพูดตรง ๆ ว่าเราอยากทำอะไรที่มันต่าง อยากหากิจกรรมให้คนในจังหวัด ตอนนั้นเซ็นทรัลฯ ก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ผมเป็นคนดูฟุตบอล ชอบบรรยากาศ

เราไม่ได้ชอบดูฟุตบอลอย่างเดียว แต่เราชอบสังเกต แฟนคลับ บรรยากาศของคนเข้ามาดูบอล เวลาเราอ่านหนังสือฟุตบอล เราสัมผัสได้ว่าแฟนคลับเขามีความสุขนะ อ่านบทสัมภาษณ์แฟนคลับ เราก็อยากทำตรงนั้นตั้งแต่อายุ 15-16 แล้ว เพราะเรารู้ว่าเราคงเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่เก่งพอไม่ได้หรอก ยังจำได้เลย ตอนที่อายุ 16-17 คุยกับพ่อตลอดว่าผมมีความฝันจะทำทีมฟุตบอลเพื่อให้คนเข้ามาดูเยอะ ๆ”

“หลังจากนั้นก็คุยกันว่าเราจะเริ่มต้นยังไงดี บังเอิญช่วงนั้นสมาคมฟุตบอลก็มีโครงการที่จะทำให้แต่ละจังหวัดมีทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง เขาเรียกว่าลีกภูมิภาค ผมเลยไปคุยกับผู้ใหญ่ว่าขอทำส่วนของเชียงรายได้มั้ย เริ่มไปคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดและคนในสมาคม ซึ่งเขาต้องการให้ทุกจังหวัดมีทีมอยู่แล้ว

ก็เป็นช่วงเวลาที่พอเหมาะ พอเจาะกัน ที่เราคิดอยากจะทำแล้วเขาก็มีโอกาสให้เราพอดี หลังจากนั้นเลยเริ่มต้น ไปคุยกับผู้ใหญ่ที่อยู่ในวงการฟุตบอลที่เรานับถือ ขอคำปรึกษาจากเขา ว่าเขาอยากแนะนำเรายังไงบ้าง เขาก็ช่วยดูเรื่องโค้ชให้ เรื่องการคัดตัวนักฟุตบอลเข้าทีมให้ นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ยาวมาถึงทุกวันนี้”

“ปลูกหญ้าเอง ตัดหญ้าเอง เริ่มต้นเองทุกอย่าง” จากวันนั้นสู่ถ้วยแชมป์วันนี้

เมื่อ “มิตติ ติยะไพรัช” อยากทำทีมฟุตบอล แล้วมีโอกาสเข้ามาพอดี ทุกอย่างคล้ายจะราบรื่นในสายตาคนฟังอย่างเรา แต่ใครจะรู้ว่าแค่จังหวะพอเหมาะจากสมาคมฟุตบอลและคำแนะนำจากผู้ใหญ่ในวงการนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เท่านั้น

คนอยากทำทีมฟุตบอลที่ยังไม่มีแม้แต่สนามฟุตบอลเป็นของตัวเอง ไม่มีแฟนฟุตบอลเป็นของตัวเอง และเริ่มต้นในช่วงที่คนยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสียเงินมาดูฟุตบอลมืออาชีพ ใครต่อใครอาจบอกว่าก็แค่คนมีเงินทำเล่น ๆ ถ้านี่คือการเล่นก็ถือว่าเป็นการเล่นที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจมหาศาลเลยทีเดียว

“บรรยากาศของต่างจังหวัด เราก็จะมีสนามกีฬากลาง และถ้าเรามีมหาวิทยาลัยใหญ่ ก็จะมีสนามในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเชียงรายก็มีสนามกีฬากลาง แต่เราเลือกสนามที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่เราไม่สามารถเลือกสนามกีฬากลางได้ ทั้ง ๆ ที่อยู่กลางเมือง พูดตรง ๆ ก็เพราะเรื่องการเมือง

ตอนนั้นขั้วการเมืองของจังหวัดเชียงรายเป็นคนละขั้วการเมืองกับบ้านผม เพื่อความสบายใจ เราเลยไปใช้สนามแม่ฟ้าหลวงดีกว่า ห่างจากในเมืองประมาณ 15 นาที ซึ่งสำหรับคนต่างจังหวัด ถ้าไม่มีรถถือว่าไกลนะ เพราะไม่ได้มีระบบขนส่งสาธารณะ”

“ช่วงนั้นต้องไปดูอัฒจรรย์เอง ติดต่ออธิการบดี ปรับปรุงสนามให้เขา ปลูกหญ้าเอง ตัดหญ้าเอง เริ่มต้นเองทุกอย่าง พอเราคัดนักฟุตบอลมาได้ มีโค้ช เราก็หาที่พักให้เขา ต้องประหยัดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด เราเลยทำกับข้าวให้นักฟุตบอลกินเอง ตอนเช้าก็ทำกับข้าวให้นักฟุตบอลกิน ตอนกลางวัน ตอนเย็นมีแม่บ้าน แต่ตอนเช้าก่อนจะออกจากบ้าน เราก็ทำกับข้าว เสร็จแล้วเราก็ไปดูสนามหญ้า ไปตัดหญ้า”

“ที่สำคัญที่สุดเราเริ่มต้นจากการที่เราไปแจกใบปลิวเอง ทำป้ายไวนิลเอง เพราะในเชียงรายไม่เคยมีอะไรแบบนี้มาก่อน คนก็ยังไม่ค่อยรู้ มันเหมือนเราปฏิวัติทุกอย่างใหม่หมดในวงการฟุตบอลเชียงราย เพราะเมื่อก่อน ดูฟุตบอลก็ดูฟรี นี่คือโจทย์ที่ยากมากเลยนะ ให้เขารู้สึกว่านี่คือทีมอาชีพนะ”

ฝันถึงถ้วยแชมป์: ฟุตบอลคือการแชร์ความฝัน ฟุตบอลคือการที่คนจำนวนมากเห็นภาพเดียวกัน

“A dream you dream alone is only a dream. A dream you dream together is reality.” ครั้งหนึ่ง John Lennon เคยพูดไว้แบบนี้ ไม่ต่างจากเรื่องราวของสโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด ถ้ามีเพียงมนุษย์ที่ชื่อมิตติ ติยะไพรัช เพียงคนเดียวในจังหวัดเชียงรายที่ฝันเห็นทีมได้แชมป์ ฝันเห็นจังหวัดเชียงรายมีทีมฟุตบอลเป็นของตัวเอง ฝันก็อาจเป็นเพียงฝันต่อไป

แต่เมื่อมีแฟนคลับที่เชื่อในฝันเดียวกัน เมื่อทุกคนในทีมฟุตบอลเห็นภาพเดียวกัน เมื่อนั้นความฝันก็จะไม่เป็นแค่ฝันอีกต่อไป

“แต่เราก็โชคดี ตอนนั้นก็มีแฟนคลับกลุ่มหนึ่งที่มีความฝัน เหมือนเขามาแชร์ความฝันร่วมกันกับเรา เขาอยากจะเห็นบ้านเกิดของเขามีทีมฟุตบอลอาชีพ แฟนคลับเริ่มจาก 5 คน เป็น 10 คน เป็น 20 คน มาช่วยเขียนป้าย มาช่วยแจกใบปลิว มันเหมือนการเร่ิมต้นใหม่ โดยมีสิ่งที่ขับเคลื่อนคือทุกคนมีความฝันเดียวกัน”

“ผมไม่ได้มาคุยแบบนี้นานแล้วนะ พอคิดย้อนกลับไป มีความสุขเหมือนกันนะ อบอุ่น แล้วเราก็เจอคนเยอะ เจออุปสรรคเยอะ จะต้องวางแผนว่าจะต้องไปตลาดนัดที่ไหนบ้าง วันไหนบ้าง บางครั้งก็ไปที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย เอาใบปลิวไปเสียบไว้ตามตะกร้ารถมอเตอร์ไซค์เพื่อประชาสัมพันธ์”

“เริ่มต้นคนดูไม่ถึง 100 คน แมทช์แรกที่เล่นในบ้าน แมทช์แรกที่เราเล่นออกไปเยือนชัยนาท แต่กลับมาเล่นที่บ้านเจอกับพิจิตร ยังมีคนดูไม่ถึงร้อยคน หลังจากนั้นเราเริ่มต้นเร็วกว่าคนอื่น เราคัดนักฟุตบอลได้พร้อมกว่า เราเลยชนะรวด 10 แมทช์”

“ฟุตบอลคือผลงาน คีย์หลักที่จะทำให้ฟุตบอลประสบความสำเร็จ แล้วคนพูดถึงก็คือผลงาน จะเล่นสวยงามหรือไม่ไม่รู้ แต่คุณเป็นผู้ชนะ คุณก็ดีพอที่จะทำให้คนอยากมาดู หลังจากนั้นคนก็มาดูจากไม่ถึง 100 คนเป็น 100 จาก 100 เป็น 200-300 จนถึงหลักพัน จนแมทช์ที่คนดูเยอะที่สุดคือ 15,000 คน”

“สำคัญที่สุด สุดท้ายก็คือภาพในหัว คอนเซ็ปต์ ฟุตบอลมันไม่ใช่กีฬาเล่นคนเดียว คือกีฬาที่ทุกคนต้องมีภาพเดียวกัน เมื่อลงแข่งขัน คุณจะรุกด้วยกันทั้งทีมยังไง คุณจะรับด้วยกันทั้งทีมยังไง ภาพในหัวมันต้องเหมือนกัน”

เห็นพัฒนาการของทีมคือสิ่งที่รัก ความพ่ายแพ้คือสิ่งที่ทำให้อยากลุกขึ้นสู้ต่อ

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าแม้กับสิ่งที่เรารักที่สุด เราก็ยังต้องเหนื่อยกับมัน ต้องมีสิ่งที่เราชอบและสิ่งที่เราไม่ชอบเอาเสียเลย สิ่งที่มิตติชอบที่สุดในการทำทีมคือการได้เห็นพัฒนาการของมนุษย์ทุกคน ในขณะที่สิ่งที่เขาไม่ชอบคือคืนค่ำแห่งความแพ้พ่าย คืนที่เขามีความพ่ายแพ้ของทีมกล่อมนอน

แต่แทนที่จะจมอยู่กับความพ่ายแพ้นั้น ในอีกทางความพ่ายแพ้นี่เองที่ปลุกเขาให้ลืมตาตื่นในเช้าถัดไป และเมื่อแสงใหม่อาบร่าง วินาทีนั้น “ผมต้องทำงานหนัก” เขาบอกเราแบบนั้น

“การได้เห็นพัฒนาการของนักฟุตบอลแต่ละคนทำให้เรามีความสุขมาก ทำให้เห็นว่าเราสามารถพัฒนาเด็กคนหนึ่งจนเขาประสบความสำเร็จได้ ทำให้เขาดีขึ้น เปลี่ยนจากนักฟุตบอลธรรมดา เป็นนักฟุตบอลในอีกระดับได้ นี่คือสิ่งที่ผมภูมิใจและมีความสุขมาก ที่สำคัญที่สุดคือการที่เราได้แชมป์ มันคือรางวัลของการทำงานหนัก รางวัลของการที่เราทำงานด้วยความเชื่อมั่นในแบบของเรา จนมันได้ผลแบบนี้จริง ๆ”

“สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดคือวันนี้แพ้ ก่อนนอนเป็นโมเมนต์ที่ไม่ชอบที่สุด ตื่นขึ้นมาในเช้าอีกวันหนึ่งยิ่งเป็นโมเมนต์ที่เกลียดที่สุดเลย โคตรเกลียดเลย ไม่ชอบที่สุดเลย แต่ว่าพอลุกจากเตียงปุ๊บ ผมจะจัดการความรู้สึกได้เร็วมาก

ถ้านอนอยู่ คิด หรือดูข่าว ดูอะไรย้อนหลัง อาจจะเซ็ง เซ็งมาก แต่พอลุกจากเตียงได้ เราก็ต้องทำงาน ต้องเอาใหม่ กลับมาเริ่มต้นใหม่ เราจะทำยังไง ในฐานะผู้นำทีม เราจะทำยังไงให้นักฟุตบอลกลับมาเล่นเหมือนเดิม กลับมามั่นใจเหมือนเดิม อันนี้คือสิ่งที่ยากมั้ย”

“กีฬาฟุตบอล วันหนึ่งที่เราแพ้ ความรู้สึกของนักฟุตบอลหลาย ๆ คน กีฬาที่มันเป็นทีมมันยากที่สุดตรงนี้แหละ ตรงที่ต้องจัดการความรู้สึกของทุกคนในทีมให้อยู่ในหนทางที่ถูกต้อง The Right Track ยังไม่พอ ยังต้องอยู่ใน The Right Time ด้วย

ไปสร้างแพสชันช่วงเริ่มต้นของสัปดาห์ แต่เราจะแข่งอีกทีใน 7 วัน Motivation วันต้น ๆ มันพีคมาก แต่หลังจากนั้นเราไม่สร้างเพิ่ม สร้างแพสชัน ไม่พูดให้เห็นความสำคัญของเกมต่อไป มันก็จะค่อย ๆ ลืม”

“นี่คือสิ่งที่เราทำมา 10 ปี คือประสบการณ์ที่สั่งสมมา เราดูออกว่าในแต่ละวัน นักฟุตบอลคนนี้ทำได้ดีขึ้นมั้ย หรือดรอปเราจากอาทิตย์ที่แล้ว หรือจากเมื่อวาน ที่สำคัญที่สุดคือเรามีตัวเลข ตอนนี้การทำงานฟุตบอลไม่ใช่แค่การวิ่งลงไปซ้อม ไปวิ่งเฉย ๆ แต่ทุกมูฟเมนต์ของนักฟุตบอลจะถูกวัดออกมา ด้วยเทคโนโลยี”

ฟุตบอลของเชียงรายคือทีมแห่งโอกาส

มีขั้นตอนสู่ความเป็นแชมป์ไหม? แบบที่คนพอจะลอกได้ เอาไปทำตาม เราถามเขาแบบตรงไปตรงมา เขายิ้มให้เรา ตอบกลับมาไม่ตรงคำถามเท่าไหร่นัก แต่มีคำหลัก ๆ 2 คำที่เราจำขึ้นใจ และเชื่อว่าถ้าเอาไปใช้กับการทำงานเป็นทีมแบบไหนในจักรวาลนี้ก็ย่อมคว้าชัยได้ไม่ยาก 2 คำนั้นคือ “โอกาส” และ “เชื่อในความเป็นมนุษย์” 2 สิ่งที่เป็นหัวใจให้มิตติ ติยะไพรัช พา สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด คว้าชัย

“ฟุตบอลไม่ใช่แค่ทีมที่มีนักฟุตบอล แต่มีโค้ช มีทีมงาน โค้ชหลายคนก็มาเริ่มต้นที่เชียงราย ออกจากเชียงรายไปก็มี Better Salary Better Life เพราะฉะนั้น ฟุตบอลของเชียงรายคือทีมแห่งโอกาส คุณมาอยู่กับเรา ผมให้โอกาสคุณ เราลงทุนร่วมกัน

ผมเองลงแรง ให้ความรู้ ให้ความใส่ใจ ให้ Methodology ที่ผมคิดว่ามันนำไปสู่ความเป็นแชมป์ได้ พวกคุณมาเรียนรู้จากผม เล่นให้เต็มที่ เล่นตามแนวทางที่สโมสรกำหนดไว้ นั่นคือสิ่งที่ต่างฝ่ายจะได้รับ”

“ฟุตบอลของเชียงรายคือทีมแห่งโอกาส คุณมาอยู่กับเรา ผมให้โอกาสคุณ เราลงทุนร่วมกัน”

“ผมเชื่อมั่นว่าการทำทีมฟุตบอลคือการเชื่อในมนุษย์ เพราะมนุษย์มีพัฒนาการได้ในทุก ๆ วัน เพราะฉะนั้นถ้าเราใส่ใจรายละเอียดของนักฟุตบอลทุกคน นักฟุตบอลแต่ละคนก็จะพัฒนาขึ้นในทุกวัน ผมเชื่อมั่นเรื่องการฝึกซ้อม ถ้าเราซ้อมได้ดี ซ้อมได้สนุก มาตรฐานที่เราทำมาตลอดทั้งอาทิตย์ 5 วัน มันจะส่งผลในวันแข่งแน่นอน

นี่เฉพาะพาร์ตฟุตบอลนะ แต่การบริหารก็จะมีปัจจัยอื่น ๆ มีตัวเลขเข้ามา ผมเชื่อหลักการนี้แล้วก็ทำออกมาให้ดี ถ้าสังเกต ผมคุยมาตลอด ผมชอบเห็นพัฒนาการนักฟุตบอลทุกคนเก่ง ถ้าอยู่ในทีมที่ดี มีโค้ช มีผู้ใหญ่ที่ใส่ใจเขา ผมเชื่อว่านักฟุตบอลทุกคนมีอนาคตที่ดีแน่นอน”

“ผมเชื่อมั่นว่าการทำทีมฟุตบอลคือการเชื่อในมนุษย์ เพราะมนุษย์มีพัฒนาการได้ในทุก ๆ วัน”

“ผมมีวิสัยทัศน์เรื่องอะคาเดมีเชียงรายว่า ถ้าเด็กคนไหนพร้อมที่จะเล่นและเขาเก่งพอ ผมว่าเขาก็โตพอในสนามฟุตบอล แล้วยิ่งเขาเริ่มต้นได้เร็ว แบกรับความกดดัน แบกรับความรับผิดชอบได้เร็ว มันก็ทำให้เขาโตเร็วกว่าเด็กในรุ่นเดียวกัน

สังเกตว่าเด็กในอะคาเดมีหลาย ๆ ที่ เขาอาจมองว่าเด็กเก่งในรุ่นของเขา แต่ในระดับอาชีพ ระดับที่ต้องแบกรับความกดดัน เขายังไม่ได้วางแผนหรือรากฐานที่ดีพอให้เด็ก ๆ พวกนั้นจะเข้าไปสู่สนามที่ใหญ่ขึ้น สู่สถานการณ์ที่กดดันขึ้น”

“เด็กอายุ 16 เป็นต้นไปที่มีโพเทนเชียลจะเล่นในระดับอาชีพได้แล้ว เราก็จะมีทีมที่จะส่งเข้าไป แต่ขณะเดียวกันเขาก็ต้องเรียนหนังสือ เอกนิษฐ์ (เอกนิษฐ์ ปัญญา) เขาอยู่ในทีมต่ำกว่า 16 แต่โพเทนเชียลและฝีมือพร้อมที่จะเล่นอาชีพ เราก็ให้โอกาสเขาเล่นในไทยลีกเป็นครั้งแรก ตอนที่เขาอายุ 15

หลังจากนั้นเราเห็น ว่าเขาสามารถเล่นได้ เราเลยวางแผนให้เขาไปเล่นระดับอาชีพ แต่อาจไม่ได้อยู่ในระดับสูง ก็ได้เล่นกับผู้ใหญ่ กับคนต่างชาติ ในระดับ T4 โดยเขามีเป้าหมายจะพาทีมเลื่อนชั้น ซึ่งเอกนิษฐ์และเพื่อนหลายคนก็พาเชียงรายซิตี้ สู่ระดับ T3 ได้ในปีเดียว ถือเป็นสตอรี่ที่อเมซิ่งมากสำหรับเด็กคนนี้”

แชมป์เป็นได้แค่คืนเดียว สำคัญกว่าคือการรักษาแชมป์

เพราะคนจำนวนมากฝันร่วมกัน และเพราะความเชื่อในการให้โอกาส การฝึกซ้อมอย่างใส่ใจและเชื่อในพัฒนาการของมนุษย์ มิตติ ติยะไพรัช จึงพาสโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ดคว้าแชมป์ไทยลีก 2019 ได้ในที่สุด เป็นเวลา 10 ปีพอดีนับตั้งแต่ก่อตั้งสโมสร

เขาแอบกระซิบกับเราว่าเขาซุ่มซ้อมยกเวต เผื่อวันที่ฝันเป็นจริง ทีมของเขาได้แชมป์ การชูถ้วยรางวัลหนักกว่า 20 กิโลกรัม สูงขึ้นไปในอากาศให้ทั้งสนามร่วมชื่นชมจะได้ไม่ลำบากเกินไปนัก…

“ทุกคนต้องมีความฝันว่าจะไปถึงถ้วยแชมป์ ไม่อยากจะโม้นะ ก่อนฤดูกาลจะปิด ผมก็ซ้อมยกเวต เพราะเวลาเรายกถ้วยรางวัล เราจะได้ยกได้ สิ่งที่จินตนาการไว้คือเราคงจะมีความสุขมาก เราจะเฉลิมฉลองยังไง เราไปเจอคน เราจะคุยยังไง แต่พอถึงวันจริง ความรู้สึกทุกอย่างมันแฟลชแบ็ค เราเริ่มต้นมาได้ยังไงวะ กว่ากูจะมาถึงจุดนี้ พูดถึงโมเมนต์นั้นเรายังขนลุกอยู่เลย”

“ทุกอย่าง ความรู้สึก ความดีใจ ความปลื้มใจ มันทำให้น้ำตาไหล ตอนนั้นทุกอย่างมันกลั่นรวมกันออกมาภายในเสี้ยววินาทีเดียว หลังจากนั้นเหมือนทุกอย่างเป็นความฝัน เราได้แชมป์ไทยลีก เข้าใจคำว่าชีวิตดั่งฝันเป็นยังไง แต่ว่าโมเมนต์นั้นมันก็อยู่ประมาณอาทิตย์สองอาทิตย์ ตอนนี้ก็กลับมาทำงาน”

“มันมีความฝันก่อนนะ คำว่าความฝัน ความฝันของเราคือการที่เราเริ่มต้นมีทีมฟุตบอลได้ ฝันแรกมันเคลียร์แล้ว เรามีทีมฟุตบอล ฝันต่อมา เราอยากขึ้นไทยลีกมาก เราใช้เวลา 2 ปี ความฝันนั้นก็สำเร็จแล้ว หลังจากนั้นเราก็อยากได้แชมป์อะไรสักอย่าง เราก็ได้แชมป์ สุดท้ายแชมป์ที่ใหญ่ที่สุดก็คือแชมป์ไทยลีก ก็ทำได้แล้ว”

“ความสำเร็จของผมคือถ้าคนอื่นบอกว่าเราสำเร็จแล้ว เราก็สำเร็จ แต่ถ้าเรายังคิดว่าเรามีสิ่งที่ต้องไปต่อ เราก็หยุดไม่ได้หรอก ต้องไปต่อ อย่างความสำเร็จของทีมฟุตบอลก็คือการได้แชมป์ใช่ไหมครับ แต่นอกเหนือจากนั้น กว่าจะได้แชมป์ต่าง ๆ พื้นฐานต่าง ๆ มันต้องพร้อมหมด”

“การเป็นแชมป์ มันเป็นแชมป์แค่วันเดียว ก็คือคืนที่คุณได้แชมป์ หลังจากนั้นคุณจะป้องกันแชมป์ยังไง? คุณจะต่อสู้ต่อยังไง? นี่คือสิ่งที่สำคัญกว่า”

“การเป็นแชมป์ มันเป็นแชมป์แค่วันเดียวก็คือคืนที่คุณได้แชมป์ หลังจากนั้นคุณจะป้องกันแชมป์ยังไง? คุณจะต่อสู้ต่อยังไง? นี่คือสิ่งที่สำคัญกว่า วันนี้ชนะแล้ว แต่ไม่มีความหมายเลย ถ้าแมทช์ต่อไปไม่ชนะ แล้วปีนี้คุณได้แชมป์ ปีหน้าคุณก็เริ่มต้นใหม่ ทุกทีมศูนย์เท่ากันหมด ไม่เหมือนการเมืองไทยที่เริ่มต้นที่ 250”

“ไอ้ขี้แอ็ค” โต้เสียงด่าและคำสบประมาทด้วย “ผลงาน”

ตอนที่เรานอนฝันอยู่คนเดียวคงไม่มีคนแปลกหน้าเดินเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า “เลิกฝันเถอะ เพ้อเจ้อ” แต่เมื่อเราลงมือทำความฝันของเราให้โลกทั้งใบได้เห็นโดยเฉพาะกับการทำทีมฟุตบอลที่กำลังถูกจับตามอง เมื่อนั้นคำสบประมาท เสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่คำด่าหยาบ ๆ คาย ๆ ก็พร้อมหลั่งไหลมาหาเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ

มิตติเป็นคนหนึ่งที่ถูกสบประมาทตั้งแต่เริ่มทำทีมฟุตบอลใหม่ ๆ เขาไม่เคยตอบโต้ด้วยอารมณ์ การด่ากลับ หรือชูสักนิ้วให้ สิ่งเดียวที่เขาใช้ตอบโต้คือ “ผลงาน”

“ทำฟุตบอล มันไม่เหมือนที่เราคิด นอกจากเรื่องเงิน เรื่องต่าง ๆ ที่เล่ามา มันมีโมเมนต์ที่ดีอบอุ่น แต่กว่าเราจะผ่านมาได้ เราต้องเจอคำวิพากษ์วิจารณ์ เราอายุ 23 เริ่มต้นทำทีมฟุตบอล โอ้โห ตอนนั้นยังไม่มีเฟซบุ๊กนะ แต่เป็นเว็บบอร์ด ไทยแลนด์สู้ ๆ ซอคเกอร์ซัค”

“คนมันก็จะด่าก่อนเลยว่า มาทำทีมฟุตบอล ลูกเศรษฐี บ้านมีตังค์ มาทำเล่น ๆ เดี๋ยวก็ท้อ ทีมมันไม่ได้ขึ้นง่าย ๆ หรอก พอเราทำขึ้นชั้นอีก คนก็บอกฟลุค ๆ แน่ ๆ ฟลุคว่ะ เนี่ยเดี๋ยวมึงเจอของจริงละ เดี๋ยวมึงเจอแน่ พอเราขึ้นได้อีก คนก็บอกว่าเดี๋ยวมึงก็ตกชั้น นี่คือของจริงสุด ๆ แล้ว เราก็คิดนะมันจะมีของจริงอีกกี่อันวะ? มึงไม่ยอมรับความสามารถกูสักที”

“ฟุตบอลมันก็เป็นแบบนี้ หรือธุรกิจต่าง ๆ แม้แต่การเมือง คนที่เขาไม่ได้อยู่กับเรา เขาก็วิจารณ์ได้ แต่มันคือสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนหนึ่งของผมที่สำคัญเหมือนกัน อยากจะแสดงให้เขาเห็นว่าเราจะผ่านคำวิจารณ์พวกนั้นได้ไหม

ผมคิดว่า หนึ่ง มันอยู่บนพื้นฐานที่เขาไม่รู้จักเรา เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่ได้รู้จักเราดี เราก็มีแต่ต้องเอาผลงานไปตอบเขา แต่บางทีก็ยอมรับว่าเราก็มีความรู้สึก เราก็โกรธบ้าง บางทีเราก็ไม่พอใจ บางทีเราก็ไม่ชอบ” 

“แต่ว่าสุดท้ายแล้ว เราเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ เป็นคนทำฟุตบอล ถ้าเรารับแรงวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ เราด่าเขากลับ สวนเขา ทำท่าอะไรที่ท้าทายเขา มันก็ไม่มีอะไรดี สุดท้ายมันก็ไม่สร้างสรรค์ เรามีหน้าที่ทำงาน แล้วก็โชว์ฟีลลิ่งที่มีต่อเกม ต่อทีม ต่อแฟนคลับ”

“ผมเจอมาหมด ไอ้เหี้ย ไอ้ควย ไอ้สัตว์ แฟนฝั่งตรงข้ามเวลาเราไปเยือน อย่าแอ็คมากไอ้เหี้ย กร่างมาจากไหนวะ เราก็โดนมาหมดแล้ว โลกของเราคือซุ้มม้านั่งและสนามหญ้า โลกของเราไม่สูงไปถึงบนอัฒจรรย์ ณ เวลาที่มีเกมการแข่งขันอยู่”

“ขับเคลื่อนเชียงรายด้วยกีฬา” คือเป้าหมายต่อไป

เมื่อฝันของเขาตอนอายุ 16 เป็นจริง เมื่อสามารถตอบทุกคำสบประมาทได้เต็มปากเต็มคำ เป้าหมายต่อไปคือการรักษาแชมป์ และไปสู่ AFC Champions League เป็นครั้งแรก 2 ภารกิจนี้ก็ดูยิ่งใหญ่เอาการ แต่สำหรับมิตติแล้วเหมือนจะยังไม่พอ เพราะเขาอยากทำบ้านเกิดตัวเองให้มีชีวิต มีสีสัน มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ จากกีฬาที่เขาทำ และจากความฝันใหม่ ๆ ที่เขากำลังเริ่มต้นลงมือทำ

“ตอนนี้คิดว่าจะทำฟุตบอลเป็นหลักก่อน สิ่งที่อยากจะพัฒนาที่ค้างไว้ คือพัฒนาสนาม ความท้าทายใหม่คือการแข่งขัน AFC Champions League ที่เราต้องเตรียมความพร้อม และมันเป็นครั้งแรกที่เราได้ผ่านเข้าไปรอบแบ่งกลุ่ม

ช่วงที่เขามาแข่งที่บ้านเรา อยากทำยังไงก็ได้ให้คนในจังหวัดเชียงรายมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่ดูอย่างเดียว เรื่องขายของ ทำโฮมสเตย์ ทำการท่องเที่ยว จริง ๆ แล้วนี่คือสิ่งที่พี่คิดจะเตรียมให้กับคนเชียงรายด้วย เขาจะเป็นเจ้าบ้านที่ดีได้อย่างไร?”

“ตอนนี้พี่โฟกัสเรื่องฟุตบอล พอเรามีโอกาสได้ไปทำการเมือง ไปทำภาพใหญ่แล้วรู้สึกว่าพอเราผิดหวัง เราโดนแบน 10 ปี (มิตติในฐานะคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี)

ในความผิดหวังนั้นผมคิดว่า เราไปทำการเมืองภาพใหญ่ หรือไปทำอะไรมากไม่ได้ คิดว่าอยากพัฒนาจังหวัดเชียงราย ตอนนี้ก็กำลังมีโปรเจกต์อีกโปรเจกต์หนึ่งที่กำลังจะประกาศออกมา สนามฟุตบอลในวันที่ไม่มีแข่ง ไม่ได้ใช้ทำอะไรอยู่แล้ว เราเลยอยากทำ โคเวิร์กกิ้งสเปซ ทำให้เป็นสนามแห่งกิจกรรม”

“ผมก็เลยคิดกับทีมงานว่าเราควรเอาสเปซนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์นะ เอามาทำ กิจกรรม เช่น ดูหนัง เสวนา บุ๊กคลับ เราก็กำลังคิดกันอยู่ เราจะทำให้เชียงรายขับเคลื่อนไป ด้วยกีฬา อยากให้เป็น Exhibition City จุดรวมของคนเจนใหม่ รุ่นใหม่ หรือคนอายุเท่าไหร่ก็ได้แต่หัวใจยังใหม่อยู่ อยากให้เชียงรายมีกิจกรรมเยอะขึ้น มีอินเทอร์แอคของคนมากขึ้น พื้นที่ที่ให้โอกาสชาวบ้านมาขายของ ผมพยายามคิด พยายามพัฒนาสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับคนเชียงราย”

“ผมเชื่อเรื่องการพัฒนาประเทศ ไม่จำเป็นต้องจากบนลงล่าง แต่มันจาก Local to The Country ก็ได้ ถ้าโลคัลเราแข็งแรง เราบริหารจัดการ มีอัตลักษณ์ ดูแลตัวเองได้ มากพอที่จะพาคนมาท่องเที่ยว สร้างสินค้า ก็เป็นตัวอย่างที่ดี ที่ทำให้หลาย ๆ จังหวัดเอาโมเดลนี้เป็นตัวอย่างได้”

คนพาทีมเชียงรายฯ คว้าแชมป์, นักการเมืองรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องทำการเมืองในสภา, มนุษย์ที่เชื่อในโอกาสและพัฒนาการของมนุษย์ หรือลูกเศรษฐีทำทีมฟุตบอล ไม่ว่าใครจะมองเขาเป็นอะไรไม่สำคัญเท่าสิ่งที่เขาตอบตัวเองว่าเขาเป็นใคร คิดอะไร ฝันอะไร และสำคัญที่สุดผลงานที่อยู่ตรงหน้า เราเชื่อว่าพอยิ่งกว่าพอที่จะตอบทุกข้อสงสัยและศักยภาพของผู้ชายคนนี้ “ฮั่น-มิตติ ติยะไพรัช”

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line