Business

“อาชีพนี้เราขายอดีต” คุยเรื่องเก่ากับคนเก๋า ‘ต๋อง – สุพจน์’ นักสะสมความทรงจำแห่ง PAPAYA

By: anonymK June 22, 2019

ทุกวันนี้เราพยายามเกาะติดทุกสถานการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกเพื่อไม่ให้ตัวเองตกขบวนการเป็นส่วนหนึ่งของอนาคต แต่ขณะที่หลายคนมุ่งวิ่งไปข้างหน้า กลับกันอีกมุมหนึ่งที่เหมือนโลกคู่ขนานอย่าง “วงการแอนทีค” หรือ “วงการของเก่า” ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่หลงใหลและยอมทุ่มหมดตักเพื่อให้ได้อดีตมาครอบครอง

เพื่อเข้าใจเรื่องของเก่าอย่างมีรสชาติ รู้อีกมุมของวงการนี้ให้แตกฉาน คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการพูดคุยกับคุณต๋อง – สุพจน์ ศิริพรเลิศกุล บุรุษใหญ่ระดับตำนานผู้คร่ำหวอดในวงการของเก่ามายาวนาน เจ้าของอาณาจักร PAPAYA โกดังสามชั้นที่อัดแน่นด้วยข้าวของวินเทจประเมินค่าไม่ได้ย่านลาดพร้าวแห่งนี้

อาชีพนี้เราขายอดีต มันก็อาจจะไม่สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ เพราะคนที่เข้ามาตรงนี้มันไม่ใช่เรื่องเทคโนโลยี อย่างเราชอบสักชิ้นนึง มัน  Remind อะไรเราบางอย่าง พวกที่เคยขายคอมพิวเตอร์บางทีผมก็ซื้อร้านขายเศษเหล็กเครื่องละสองสามพันบาท แต่เรารู้ว่าไอ้นี่มันอยู่ปีไหน เราขายเครื่องสามสี่หมื่น ก็ขายได้ คือทุกอย่างถ้าเกิดเรามีความใส่ใจกับมันทุกอย่าง เราจะรู้ว่าทุกอย่างมันมีราคา แต่คนที่เห็นมันคือคนที่มันต้องรู้ไง”

 

กี่บาทก็ต้องเก่า

“สะสมของนี่เก็บมาตั้งแต่เด็ก ๆ สมัยก่อนพอมีเงินเราจะไปสนามหลวงข้างวัดพระแก้ว วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะไปตั้งแต่ 6 โมงเช้า ไปเดินซื้อ พูดง่าย ๆ ว่ามีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อของเก่าหมด พอซื้อไปก็รู้จักคนไปเรื่อย เริ่มซื้อเป็น เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ใช้เวลานาน เป็นปี ๆ”

ถ้าใครย้อนไปเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว ท่ามกลางบรรยากาศของสนามหลวงช่วงวันหยุดจะพลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่นำของเก่าจากทุกสารทิศมาวางขาย คงมีโอกาสได้เห็นเด็กหนุ่ม ม. ปลายคนหนึ่งที่มีเงินเก็บติดกระเป๋า เดินดูไปรอบ ๆ ถามไถ่ราคาพ่อค้าแม่ขาย ซื้อนาฬิกาเรือนโตนำกลับมาตั้งไว้ที่บ้าน ก่อนขาจรอย่างเขาจะกลายเป็นขาประจำที่ซื้อของกลับมามากขึ้นเรื่อย ๆ มีคนมาขอซื้อของต่อ จนทำให้งานอดิเรกจากความชอบกลายเป็นงานที่ได้เงินในที่สุด

“ตอนซื้อของเก่าชิ้นแรกน่าจะอยู่ในช่วงมัธยมปลาย ตอนนั้นชอบเรื่องนาฬิกา ตอนเราซื้อนาฬิกาเรือนแรกมา เราก็ตั้งไว้ให้มันเดินแล้วก็ฟังเสียงมันตี (หัวเราะ) แล้วเราก็คิดว่า เดี๋ยวถ้ามีเงินอยากจะได้อีกหลาย ๆ เรือน เขาเรียกว่านาฬิกาลอนดอน สมัยก่อนยังจำได้เลยว่าซื้อมาเรือนละ 3,000 ส่วนใหญ่ก็จะเก็บตังค์มาแล้วก็มาหาซื้อเอง”

 

ของสะสมมี 2 ประเภท ผมอยู่ในประเภทที่ 2

การสะสมของเก่าคือภาพกว้าง แต่ถ้าจะให้แบ่งประเภทอย่างง่าย ๆ เขาบอกเราว่าแบ่งได้ชัดเจน 2 แบบ แบบแรกคือของที่มีมูลค่าสูง เช่น เครื่องลายคราม พระเครื่อง นาฬิกาข้อมือ รถยนต์ ภาพเขียน อีกแบบคือของสำหรับตกแต่ง หยิบฉวย ประดับประดา ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้ต้องอาศัยความรู้ไม่ต่างกัน ส่วนปลายทางที่ตั้งเป้าไว้ของนักสะสมส่วนใหญ่คือหวังว่ามูลค่าของมันจะเพิ่มขึ้นในอนาคต และดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นจริงเพราะเขากล่าวว่า “เท่าที่ผ่านมา 20 ปี มูลค่ามันก็ขึ้นมามากกว่า 10 เท่า”

“ผมคือประเภท 2 คือของใช้สำหรับตกแต่ง หยิบฉวย ประดับประดา เป็นพร็อพ เป็นอะไรที่ทำให้ตัวร้าน ตัวบ้าน ให้มันดูแล้วมันอบอุ่น คือเราจะเล่นแนวนี้มา แนวแรกเนี่ยก็มีความรู้ แต่มีของมาก็ขายหมดไม่ค่อยเล่นหรือเก็บ”

ของหนึ่งชิ้นที่อาจจะใช้งานไม่ได้แล้ว ต่อให้ใช้ได้ อะไหล่ก็แพงหามาซ่อมยาก อัปเดตรุ่นคงไม่ได้ ทำไมเราถึงอยากเก็บไว้ ตัวเลขหลายหลักพวกนี้มาจากอะไร คำตอบง่าย ๆ ของวงการนี้อยู่ที่ Demand Supply ล้วน ๆ ของชิ้นไหนที่หายาก ราคามันก็จะขึ้นสูง แบบเดียวกับความลิมิเตดที่ลูกผู้ชายเราชื่นชอบ เราไม่อยากมีของเหมือนใคร ๆ แต่ที่พิเศษกว่าคือของวินเทจที่เหล่านี้หลายชิ้นเกิดมาก่อนเราเสียอีก มูลค่าของประวัติศาสตร์วันวานที่ผลิตใหม่ไม่ได้จากวัสดุที่แตกต่าง ความประณีตของงานช่าง ฯลฯ เป็นสิ่งที่ต่อให้มีเทคโนโลยีสุดไฮเทคมาเป็นตัวช่วยก็นำกลับมาไม่ได้ ดังนั้น ราคามาตรฐานจึงไม่มี แต่อยู่ที่ใครกันแน่จะมองเห็นค่าของมัน

“ภาษาอังกฤษมันมีบอกว่า “Some fools buy, Some fools sell” (หัวเราะ) คือคนขายก็ขายด้วยความพอใจ คนซื้ออยากได้กูก็ซื้อ มันไม่มีมาตรฐานว่าชิ้นนี้จะต้อง 500 เป๊ะ พรุ่งนี้อาจจะเป็นพันนึง”

ของที่ไม่ซื้อ ของที่ไม่ขาย

แม้จะเห็นว่าของที่ Papaya มหาศาลแค่ไหน แต่ก็มีสิ่งที่เซียนวินเทจอย่างเขาไม่ซื้อแม้จะรู้เรื่องราวของสิ่งเหล่านั้นมากแค่ไหนก็ตาม อย่างแรกคือ “พระ” เพราะส่วนตัวเขาไม่ได้อยากนำพระมาหากิน ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันแม้เขาจะมีความรู้ และอย่างที่สองคือซื้อของที่เจ้าของไม่ยินยอมขาย

“คือถ้าเขาไม่ขายเราก็ไม่พยายามที่จะซื้อ ของอย่างนี้จะซื้อยาก มันก็คือเกมไง เขาไม่ขาย บางทีของมันมูลค่าไม่แพงก็ซื้อไม่ได้เพราะเขาคิดว่าเขาไม่อยากขาย”

นั่นก็เป็นฟากของคนขาย แล้วสำหรับคนซื้ออย่างเขาที่เจนสนามเรื่องการแลกเปลี่ยนและสะสม เรายิงคำถามที่อยากรู้ต่อทันทีว่า “มีสิ่งที่คุณต๋องไม่อยากขายบ้างหรือเปล่า”

“สมัยก่อนเป็นเหมือนกัน ไม่อยากขาย มาตอนนี้ได้ราคาขายหมด เพราะว่าคิดว่าถ้าเรามีเงินซื้อ เวลาที่เราขายไป สมมติเราขายตอนนี้ไปหมื่นนึง แล้วเราเอาหมื่นนึงไปสร้างผลกำไรต่อ ในอนาคตเราอาจจะซื้อของชิ้นนี้กลับมาในราคาสี่หมื่น (แล้วเคยมีของแบบนั้นไหม?) อ๋อ เป็นประจำอยู่แล้ว ของบางทีเราก็ขายไปห้าพัน หมื่นนึง แล้วเราไปซื้อกลับมาสี่หมื่น เสร็จแล้วเราก็ขายห้าหกหมื่น จำนวนของมันมีจำกัด คนเล่นใหม่เกิดมามันก็ต้องการได้ของ อย่างเรารู้ว่าของที่เราขายให้ใครไป เราก็ไปตามกลับมา มันเป็นเรื่องของที่มีชิ้นเดียวแต่ย้ายเปลี่ยนเจ้าของไปเรื่อย”

 

เรื่องของเก่าในโลกใหม่

ความวินเทจ คลาสสิคอาจจะเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลา แต่เรารู้ดีว่าเทคโนโลยีกับเวลาที่หมุนไปข้างหน้ายังไงก็ต้องมีผลกระทบกับทุกวงการ สำหรับเรื่องการสะสมของเก่าก็เช่นกัน คุณต๋องบอกกับเราว่าทุกวันนี้จะเข้ามาสะสมแล้วได้ของดีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องศึกษาข้อมูลมากขึ้น ยิ่งกับเรื่องธุรกิจยิ่งแล้วใหญ่ ไอ้ที่หวังจะฟลุกได้กำไรดี ๆ ก็แทบไม่เหลือให้เห็นเพราะคนขายเก่งขึ้น

“ทุกอย่างเราต้องใส่ใจ สมัยก่อนก็มันไม่มี Google อยากจะรู้อะไรสักอย่างมันก็ต้องเสาะหา อ่านหนังสือ หาความรู้ ต้องดูเป็น ถ้าอยากจะรู้ว่ามูลค่าที่เราซื้อมา 100 นึงมันจะกลายเป็น 1,000 ได้ไหม สุดท้ายคือเรื่องเงินเรื่องทองว่าเราจะหยิบชิ้นนี้มันมีโอกาสฟลุกไหม สมัยก่อนโอกาสฟลุกมันเยอะมาก ซื้อไม่แพง เพราะบางทีคนก็ไม่รู้มูลค่าของสิ่งของต่าง ๆ

แต่เดี๋ยวนี้โอกาสที่เราจะซื้อของถูกไม่มีแล้ว คือพูดง่าย ๆ 3-4 ปีมานี้ผมไม่เคยได้ของฟลุกเลย ของไม่ถูก เพราะว่าคนขายฉลาดมาก (หัวเราะ) อย่างเมื่อก่อนนี้ตอนที่อินเทอร์เน็ตยังไม่มา สมมติมีนาฬิกาดี ๆ สักเรือนนึง คนก็ไม่รู้จะขายใครหรือ search ที่ไหน ก็วิ่งมาหาผมที่ร้าน PAPAYA ที่ Central World เราก็ถามเขาว่าอยากได้เท่าไหร่ เขาบอกว่าอยากได้ห้าแสน ถ้าเรากล้าเสี่ยงเพราะมั่นใจว่าการจ่ายเงินก้อนใหญ่ครั้งนี้น่าจะเพิ่มมูลค่าในอนาคตได้ ก็ตกลงกันซื้อขายกัน่ัได้ เอาบัตรประชาชนมาทำใบซื้อขาย 

แต่ก่อนมันมีโอกาสที่จะได้อย่างนี้บ่อย ๆ ได้เรื่อย ๆ เพราะคนยังไม่ค่อยรู้คุณค่าของเก่ากันมากนัก เลยอยากจะขายออกไป หรือคนพาไปซื้อของที่บ้านหลังนึง มีของใช้เก่าเยอะ ๆ เราพอจะดูรู้บ้างว่ามันมีของน่าสนใจหลายชิ้น ก็ถามเขาว่าจะให้ของชิ้นนี้เท่าไหร่ เขาก็บอกราคา อยากได้เงินสดสักสองล้าน เราดู ๆ แล้วของมูลค่ามันน่าจะเพิ่มมูลค่าไปได้เกินสองล้าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่นะ อาจจะใช้เวลานานมาก ๆ เราก็ต้องรับความเสี่ยงไปหาเงินมาจ่าย ซึ่งมันเป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่มีอะไรใช้คำนวณหรือดูเทรนด์ได้เลยว่าสองล้านนั้นจะไม่ขาดทุน เพราะอย่าลืมว่าเราควักเงินจำนวนมากไปเปลี่ยนเป็นของ ซึ่งล้วนต้องใช้เวลาในการเพิ่มมูลค่า

แต่อย่างน้อยถ้ามันขายไม่ได้ เราก็มีของที่เราชื่นชอบเพิ่มขึ้นมาให้นั่งมองอีกหลายชิ้นเท่านั้นเอง (หัวเราะ)”

 

ของเก่า ต้องเก๋า เพราะเกมธุรกิจไม่เก่า

กลยุทธ์ซื้อขายของเก่าเป็นอีกเรื่องที่คุยเคล้ากลิ่นบุหรี่ยิ่งออกรสและติดลม ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายรูปแบบการเล่นเกมพนันอย่างโปกเกอร์ของคนซื้อกับคนขาย เพราะไม่ใช่ว่าเราจะอยากได้ของถูกฝ่ายเดียว คนขายก็อยากได้ราคาสูง หรือบางทีตั้งใจมาหลอกขาย ทั้งสองฝ่ายจึงต้องซ่อนสีหน้าวิธีการให้มิดชิด

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ว่าเขาไปที่บ้านที่มีคนชี้พิกัดว่าจะขายของ คนซื้อต้องไม่แสดงอาการสนใจเกินเหตุกับของที่รู้ว่ามีค่าและอยากได้ แต่ไปขอซื้อและให้ราคาตัวอื่น ๆ ที่ไม่มีมูลค่าให้กับเค้าด้วย ไม่ใช่จะเอาชิ้นนี้ ก็จะจ่ายเงินเพื่อซื้อของชิ้นนี้เท่านั้น

“บางทีถ้าเราสนใจไปของชิ้นนี้เยอะ ๆ เนี่ย เราก็ซื้อไม่ได้ เราต้องซื้อของอย่างอื่นเยอะ ๆ ชิ้นไปด้วยแม้เราจะไม่ค่อยสนใจมัน เพื่อจะรวบชิ้นที่เราหมายตาไว้ไปด้วย เช่น เราไปซื้อพระเขาอย่างนี้ พระเขาไปทำบุญเพิ่งได้มาเมื่อวานหยก ๆ เลย ให้ราคาเขาเหรียญละพัน ๆ ทั้งที่ราคามันไม่มี ซื้อมาทีเป็นกองสองหมื่นสามหมื่น แล้วก็ขอซื้อชิ้นที่เราต้องการรวมไปด้วย แน่นอนว่าเราต้องจ่ายแพงขึ้น ลงทุนไปมากขึ้นเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ แต่มันก็เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เรา Win Win ทั้งคนขายคนซื้อ”

ส่วนอีกเรื่องคือการดูของปลอม ระหว่างคุยกันสนุก ๆ พี่ต๋องก็หยิบสมาร์ตโฟนในมือมาเปิดไลน์ส่วนตัวอธิบายให้เราดูว่า คนส่งภาพมาถามว่าของชิ้นนี้ได้ไหม แต่ทั้งหมดนี้น่ะไม่มีแท้เลย เขาบอกว่าดูของแบบนี้เราอาศัยความคุ้นเคยเวลาแยกว่าปลอมหรือไม่ ไม่ต้องนัดเจอก็ทำได้ คนที่คลุกคลีกับสิ่งนี้แค่มองก็รู้แล้วว่าจริงไหม ทั้งสัดส่วน วัสดุ สีสัน หรือขนาด อย่างแบบพระหรือเหรียญ ต่อให้เอาของจริงไปถอดพิมพ์มา แบบมันก็บวม เศรษฐีบางคนตายแล้วเปิดกรุมาเจอสมบัติแท้อยู่ไม่กี่ชิ้น เพราะหลอกกันต่อ ๆ มา รู้กันเป็นขบวนการ ถามคนโน้นบอกแท้ คนนี้บอกแท้ เตะตะกร้อกันไปมาแบบนี้ คนซื้อเองก็เอาตัวไม่รอด

 

ความสนุกกับแพสชั่นสะสมความทรงจำ

การลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เก็บหอมรอมริบจนสร้างกิจการขนานไปกับการซื้อของเก่าไปเรื่อย ๆ คือสิ่งที่คุณต๋องทำเสมอมาจนประสบความสำเร็จ และวันนี้ของเหล่านั้นไม่ได้เป็นเพียงของสะสมที่มีชีวิตอยู่ในร้าน Papaya เพียงอย่างเดียวแต่หลายชิ้นยังปรากฏอยู่ในจอโทรทัศน์ นิตยสารนายแบบนางแบบจากการยืม – เช่าด้วย เรียกง่าย ๆ ว่าแม้ไม่ใช่จุดประสงค์แรกแต่ก็ต่อยอดกลายเป็นเงินไปโดยไม่รู้ตัว

เขาคือตัวแทนของคนที่ยืนยันว่าถ้าความรักกลายเป็นอาชีพได้จะมีหน้าตาแบบนี้แหละ ความเป็นเด็กก็ไม่จำเป็นต้องตายเสมอไปเมื่อเราโตตราบเท่าที่เรารู้และรักมันมากพอ

“ผมไปทำอาชีพหลายอย่างนะ แต่ว่าไอ้อาชีพของเก่าเนี่ยมันให้ทั้งความสุขแล้วมันก็ให้ทั้งการดำรงชีพได้ หาเงินได้ คนหลายคนที่มีความฝันอยากจะทำอะไรแล้วไม่ทำ วันนี้อาจจะยังอยู่ที่เดิมกินเงินเดือน แต่ผมได้คิด ได้ทำ ได้จับอะไรของตัวเองมาหลายอย่าง จนของตรงนี้มันเยอะมากมายมหาศาล”

เราอำลากันพร้อมความทรงจำดี ๆ แม้ไม่ได้ของติดไม้ติดมือ แต่เชื่อว่านานแค่ไหนกาลเวลาก็ทำอะไรมันไม่ได้ กว่า 80% ของเรื่องราววันนี้ที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากข้าวของวินเทจ แต่ใจความสำคัญที่เราค้นพบไม่ได้อยู่ที่ในสิ่งที่สะสมว่ามันจะ “เก่าหรือใหม่” แต่อยู่ที่ “ชอบหรือไม่” และ “ทำหรือไม่ทำ” ต่างหาก

 

Photographer: Krittapas Suttikittibut 

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line