DESIGN

เรื้อนแต่เทพ เมาแต่มีของ: “เป๋ง-ชานนท์”อาร์ตไดฯ ที่เชื่อว่างานออกแบบต้องไม่ใช่การกดสูตร

By: PSYCAT November 14, 2019

คุณขี้อิจฉาไหม? คุณอยากดังหรือเปล่า? คุณอยากเป็นคนที่เมาเละได้ แต่ก็เป็นคนมีของ มีความสามารถซ่อนอยู่หรือไม่? เป็นคำถามแปลกประหลาดที่เรามั่นใจว่าต่อให้ถามใครหลายคน ก็คงไม่มีใครหาญกล้าตอบกลับมาง่าย ๆ โดยเฉพาะในบทสัมภาษณ์กับสื่อแปลกหน้า

แต่ไม่ใช่กับ “เป๋ง-ชานนท์ ยอดหงษ์” อาร์ตไดเรกเตอร์ที่เราพยายามหาคำมานิยามเขาแล้ว แต่ก็หาได้ยากเหลือเกิน จนกระทั่งเขานิยามตัวเอง และเรารู้สึกว่า โห! ใช่ว่ะ เขาเป็นแบบนี้แหละ

“เลอะเทอะ เมาเรื้อนอะไรก็ได้ แต่ผมต้องมีความสามารถที่ทำให้คนอื่นเห็นว่ากูก็มีของ ถึงกูจะเหลวแหลกแต่ก็มีอะไร”

เรื้อนแต่เทพ เมาแต่มีของ เหลวแหลกแต่ก็มีอะไร จะมีใครกล้านิยามตัวเองแบบนี้ คงมีแค่เขาที่อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อว่าคนที่รู้จักเขา หรือแม้แต่ตัวเขาเองรู้ว่าคำเหล่านี้ไม่ใช่คำเชิงลบอะไรต่อตัวเขาก็เพราะเขารู้ดีว่าความจริงคืออะไร และงานออกแบบจากสมองและสองมือของเขานี่แหละที่โดดเด่นยิ่งกว่า

Production Controlled By Peng Chanon

สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าอาร์ตไดเรกเตอร์คนนี้มีของอะไร เทพแบบไหน เราอยากเล่าสั้น ๆ ว่าเขาเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ด้านเพลงที่หาตัวจับยาก เด่น ๆ คือการออกแบบปกซิงเกิ้ล ปกอัลบั้มของค่าย genie records ทั้ง BMW Be My World Project, Bodyslam, Big Ass, Paradox, Ebola , Sweet Mullet , Klear และอีกสารพัด ตอนนี้เขากำลังลองทำงานออกแบบแนวอื่นบ้าง เน้นที่คีย์วิชวลคอนเสิร์ต ก่อนจะเริ่มขยับไปเป็นโชว์ไดเรกเตอร์

ส่วนชีวิตเรื้อน เมา แต่เทพ และมีของ เราขอชวนทุกคนไปพิสูจน์ด้วยตัวคุณเองในบทสนทนาครั้งนี้…

จากนักออกแบบไร้คาแรกเตอร์ สู่อาร์ตไดเรกเตอร์แห่ง genie records

คาแรกเตอร์ของคุณคืออะไร? ถ้าเราถามคำถามนี้กับคุณและคุณไม่ใช่ดีไซน์เนอร์หรือนักออกแบบ การตอบคำถามนี้ได้หรือไม่ได้ คงไม่กวนใจคุณนัก แต่สำหรับนักออกแบบอย่างเป๋ง- ชานนท์ การรู้ตัวว่าเพื่อนรอบตัวเริ่มเจ๋งขึ้น ๆ มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนขึ้น ในขณะที่ตัวเขา ณ ตอนนั้นกำลังทำงานไปวัน ๆ เพื่อหาเงินไปเที่ยว ดูเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้

“ผมอยากดังอ่ะ” “ผมอยากโดนโฟกัส” ถึงเขาจะบอกว่าเหตุผลแรกเริ่มของเขามีเท่านี้ แต่มันกลับเป็นแรงกระตุ้นอันทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ

“จริง ๆ ผมเรียนวิศวะมาแล้วรีไทร์เพราะว่าไม่ได้ชอบ ชอบตามที่พ่อแม่อยากให้ชอบ เหมือนเด็กหลาย ๆ คนที่พ่อแม่อยากให้เป็นอะไร เราก็เป็นอย่างนั้น ตามเขาไป พอเรียนวิศวะได้ปีเดียว ไม่รอด ไม่รอดนี่คือไม่รอดทั้งจิตใจความรู้สึก แล้วก็ความสามารถของตัวเองด้วยนะ ไปต่อไม่ได้จริง ๆ เลยเลือกเรียนสิ่งที่ตัวเองชอบ คือวาดรูป”

“ผมชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านไม่มีเงินซื้อเกม คนอื่นเขามีเกม มีของเล่น แต่เรามีแค่กระดาษ สมุด ปากกา ก็นั่งวาดรูปเล่น ที่บ้านผมเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่กันเป็นสิบ ๆ คน จะมีพวกน้า ๆ ฟังเพลงกันเยอะ ในห้องนอนของน้าผมแต่ละคน เขาจะฟังเพลงไม่เหมือนกัน ผมเหมือนได้ชอปปิงแนวเพลง ห้องนี้พังก์ ห้องนี้สายโพรเกรซซีฟ ห้องนี้ร็อก ห้องนี้แจ๊ซ ผมก็วนอยู่แต่ละห้อง มีสมุด ปากกา วนวาดรูปเล่น จริง ๆ ตอนนั้นก็ยังไม่รู้หรอกว่าตัวเองชอบอะไร แค่เป็นเด็กคนหนึ่งที่วาดรูปและฟังเพลง”

ตอนนั้นก็ยังไม่รู้หรอกว่าตัวเองชอบอะไร แค่เป็นเด็กคนหนึ่งที่วาดรูปและฟังเพลง

“ทีนี้เราก็มาทำงานออกแบบ เพราะมีพื้นฐานวาดรูป เอาตัวรอดให้ได้ก่อน ให้ไปเรียนอย่างอื่นก็ไม่รอดเหมือนกัน พอเรียนจบ ก็ทำงานปกติ ผมไม่เลือกงานเลย เป็นสายหลักลอยมาก งานอะไรก็ได้ ขอแค่มีตังค์ไปเที่ยวก็พอ สุดท้าย ทำงานมาได้สักสองสามปี เริ่มรู้สึกว่าทำไมเพื่อนคนอื่นไปได้ดีจังวะ เพื่อนแม่งเท่กว่าเราแล้วว่ะ เฮ้ย เราแม่งไม่มีคาแรกเตอร์เลยอ่ะ เราแค่ออกแบบไปวัน ๆ “

“จนเราเริ่มได้ไปร่วมงานเฟสติวัลเยอะขึ้น มีงานหนึ่งเราเห็นคนห้อยแท็กที่คอว่าเป็นอาร์ตติสต์  เป็นนักออกแบบ พี่ ๆ เขาเท่จังวะ เราเห็นแล้วเราอยากห้อยแท็กแบบนี้บ้าง อยากเป็นอาร์ตติสต์ เรารู้สึกว่ามันได้รับเกียรติมากกว่านักออกแบบที่เราเป็นอยู่ ถือเป็นความอิจฉาส่วนตัว เฮ้ย ไม่ได้แล้วว่ะ กูต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เป็นแบบนั้นให้ได้ มันเท่ คนโฟกัสพวกเขา เราอยากโดนโฟกัสบ้าง”

“เลยกลับไปคิดว่าเราชอบทำอะไรมาก่อนวะ? เราชอบอะไร? แล้วคาแรกเตอร์ที่เราจะทำให้ตัวเองเด่นขึ้นมาได้ พูดตรง ๆ คืออยากดังอ่ะ เหตุผลตอนนั้นมันมีแค่นั้นเลย เป็นเหตุผลที่ปัญญาอ่อนมาก แต่มันเป็นตัวดันให้เรามาไกล”

ใครหลายคนคงไม่กล้ายอมรับออกมาตรง ๆ ว่าตัวเองขี้อิจฉา อยากดัง อยากเด่น แต่กับเป๋ง-ชานนท์ การยอมรับ และกล้าบอกว่าสิ่งเหล่านี้นี่แหละเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเขาให้เป็นเขาอย่างทุกวันนี้ก็ทำให้เราอดทึ่งไม่ได้

ที่สำคัญไปกว่านั้น เขาไม่ได้แค่นั่ง ๆ นอน ๆ อิจฉา อยากดัง แล้วก็วนใหม่อีกรอบ แต่เขาเป็นมนุษย์ประเภทที่ ใช่ กูอิจฉา กูอยากดัง และกูจะลงมือทำเพื่อพาตัวเองไปถึงจุดนั้นให้ได้

“จากนั้นหาหลายทางมาก เริ่มทำกราฟิกกลางคืน ทำงานตามผับ ตามบาร์ เพราะเหตุผลโง่ ๆ ของเรา ก็คือคนทำงานด้านนี้แม่งน้อย ถ้าเราทำแล้วเราจะเด่นออกมาง่าย เราคิดแบบนี้ แล้วพอจังหวะนั้นไปทำ เราอยู่ได้ครึ่งปีมั้ง แต่แย่ตรงเราเมาทุกวัน ทำงานไป ดื่มไปตลอด หนักมาก”

“แต่เราก็ยังเชื่อว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้วดีเสมอ ซึ่งมันจริง เพราะมันทำให้ผมมีเพื่อนเป็นนักดนตรี เพราะทำงานกลางคืนมันต้องเจอนักดนตรีกลางคืน แล้วเราก็ได้แรงบันดาลใจมากขึ้นว่ากูชอบทำอะไรเกี่ยวกับดนตรีว่ะ ปกติผมจะทำใบโปรโมชัน โปสเตอร์”

“แต่เมื่อไหร่ที่ผมทำอาร์ตเวิร์กที่เป็นของวงดนตรีที่เป็นวงเล่นคืนนั้น เพราะเป็นผับใหญ่ ก็ต้องทำอาร์ตเวิร์กขึ้นจอตลอด รู้สึกสนุกว่ะ เรามีความสุขกับตรงนี้มากที่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับนักดนตรี มีโลโก้วง”

“รู้สึกสนุกว่ะ เรามีความสุขกับตรงนี้มากที่ได้ทำอะไรเกี่ยวกับนักดนตรี”

“พอทำไปเรื่อยแล้วก็ลาออก ในยุคที่ไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่มีเฟซบุ๊ก ไม่มีอินสตาแกรม ไม่มีอะไรเลยดีกว่า อินเทอร์เน็ตยังอืด ๆ อยู่เลย ผมก็เอาไงดีวะ? พอดีเรารู้จักเพื่อนนักดนตรีเยอะขึ้น พอเพื่อนกลุ่มนั้นมันรวมตัวจับกลุ่มกันทำพวก คอนเสิร์ตกันเอง ผมก็เสนอตัวขอทำโปสเตอร์ให้นะ ทำฟรีนะ ขอแค่อย่างเดียวขอมีชื่อกูอยู่ข้างล่าง อาร์ตเวิร์ก บาย เป๋ง ชานนท์ ขอแค่นี้พอ”

“จนพี่เต๋า นักร้องนำ  Sweet Mullet  ไปเจออาร์ตเวิร์กเราแล้วเขาชอบ เขากำลังอยากได้อาร์ตไดฯ วงใหม่ให้วง Sweet Mullet เขาก็เห็นแค่ชื่อเรา แต่ไม่มีคอนแทค เสิร์ชเจอไม่ได้ เขาก็ถามต่อกันไปเรื่อย ๆ ว่าผมเป็นใคร แล้วบังเอิญว่าพี่เต๋าเขาดันไปสักร้านเดียวกับที่ผมไปสัก จังหวะพอดี เขาเลยติดต่อมา”

“ผมเป็นคนโชคดีมาก ผมทำให้ Sweet Mullet แล้วผมทำให้ฟรี เพราะวงนี้ ผมฟังอยู่แล้ว ผมรัก พี่เอาไปเลย ทีนี้ค่าย genie records อาร์ตไดเขาออกพอดี เขาก็เลยติดต่อเรามา เพื่อให้เราไปเสนอพอร์ตผลงาน พอผมเอาพอร์ตทั้งหมดของผมไป ซึ่งผมสะสมพอร์ตทางดนตรีมาตลอดอยู่แล้ว เลยได้เข้าไปทำที่ genie records”

“งานออกแบบไม่ใช่การกดสูตร” ถ้าเดาตอนจบได้ ก็ไม่มีอะไรใหม่

ถ้าชีวิตเหมือนเกมสักเกม ชีวิตในวงการออกแบบของเป๋ง-ชานนท์ ได้อัปเลเวลจากการทำงานไปวัน ๆ และยังหาคาแรกเตอร์ตัวเองไม่เจอ ไปสู่การเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ แห่ง genie records ที่ที่เขาได้ปลดปล่อยศักยภาพล้นเหลือให้ทุกคนเห็น จนอาจเรียกว่าเป็นความฝันของคนทำงานออกแบบหลายคนเลยก็ว่าได้

แต่งานออกแบบไม่ใช่การกดสูตร การทำงานในที่ที่ทำให้เขารู้สึกราบรื่นเกินไป ไม่ต่างอะไรกับการกดสูตรลัด นอกจากจะไม่ท้าทาย มันยังทำให้เลเวลเขาดิ่งลง ๆ อีกด้วย

“เรายังวนอยู่กับการดีไซน์ เหมือนกดสูตรทางลัดไปแล้ว ใช้วิธีที่ตัวเองทำแล้วเพลย์เซฟ แล้วมันออกมาดีแน่นอน เฮ้ย งานเรากำลังตกลงเรื่อย ๆ นี่หว่า สกิลเรากำลังตก เราแค่ใช้สูตรที่เรามีอยู่ในตัวเรา ในความคิดเรา ปล่อยงานออกไป เดิม ๆ ไม่มีอะไรใหม่เลย เราถึงรู้สึกว่า ไม่ได้แล้วว่ะ แย่แล้ว ถ้าอยู่นานกว่านี้ต่อไปเราจะกลายเป็นดาวน์ไปเรื่อย ๆ “

“ทำอะไรออกมาก็ผ่าน พูดตรง ๆ นี่เราแม่งคือเก่งเลย เราคือคนเก่งมากทำอะไรก็ผ่าน เอาเวลาไปเที่ยวต่อ เมาปาร์ตี้ แฮงก์ ๆ กลับมานั่งทำงานต่อก็ยังผ่าน ชีวิตแม่งง่ายมาก ตอนนั้นมันง่ายไปหมด พอสักพักเราเห็นงานคนอื่นเขาดีกว่าตัวเองเยอะมาก เรารู้สึกว่า เฮ้ย นี่เราไปอยู่ไหนมา ดูคนอื่นเขาพัฒนาไปไกลแล้ว”

“ทำอยู่ห้าปีแล้วออกเอง เป็นที่แรกที่อยู่นานแค่นี้ ปกติผมอยู่ปีนึงแล้วก็ออก เหตุผลคือเบื่ออย่างเดียว แต่อยู่ที่นี่ไม่เบื่อเลย สนุก แต่สนุกเกินไป จนเราลาออกเพราะเราสนุกเกินไป เหตุผลคือมันเละเทะมาก พอปีที่ห้าผมรู้สึกแล้วว่าแบบ แม่งหนักไปแล้วว่ะ สำหรับเรา กลายเป็นคนเอาแต่ใจตัวเอง เหมือนไม่ตั้งใจทำงานแล้ว 

เป็นจุดที่ผมทำอะไรแล้วเขาก็เอา เดือนหนึ่งผมทำงานไม่ถึงห้าวัน ผมทำงานอยู่บ้าน เขาปล่อยฟรีเต็มที่จนเรารู้สึกผิด เรารู้สึกว่าถ้าเราอยู่ต่อไป เราจะกลายเป็นเด็กที่พ่อแม่ตามใจ ก็เลยขอเดินออกจากบ้านนั้นดีกว่า ไปบอกเขาว่าพี่ผมขอโทษ แล้วพอเราบอกเหตุผลนี้ไป เขาก็เฮ้ย อะไรของมึงวะ แล้วก็ลาออกมา”

“วัดดวงออกไป ถ้าไม่ขยัน ไม่เก่ง ไม่พัฒนา เราก็จะไม่มีกิน “

มีมนุษย์จำนวนมากที่ชอบการคิดงานออกง่าย ๆ เหมือนร่ายเวทมนตร์ แต่ไม่ใช่กับมนุษย์ที่ชื่อเป๋ง-ชานนท์ อะไรที่ราบรื่นไป เดาภาพออกแต่แรก มันไม่ตื่นเต้นสำหรับเขาเอาเสียเลย การได้คิด การได้เจอความท้าทาย การรู้สึกยากเย็นแสนเข็ญกว่าจะได้มาต่างหากที่ทำให้หัวใจของเขาเต้นระรัว

“ผมไม่สนุกกับการไม่ตื่นเต้น ผมว่ามันเหมือนดูหนัง สมมติว่าผมทำงาน แล้วผมรู้ตอนจบ ผมจะไม่ชอบ ถ้าผมเดาภาพตอนจบออกแล้วมัน โห ถ้าได้รับบรีฟมาแล้ว ปิ๊ง! มีภาพโผล่มา เผลอ ๆ ผมจะหนีไอเดียนั้นด้วย ผมรู้สึกว่ามันต้องเครียดสิวะ ต้องคิดไม่ออก ผมชอบโมเมนต์นั้น แล้วพอมันคิดออกมันคือโคตรความสุข เหมือนการเสพยา แบบคิดงานออกว่ะ มันภูมิใจ สะใจ เฮ้ย กูคิดออกเว้ย”

“สมมติว่าผมทำงาน แล้วผมรู้ตอนจบ ผมจะไม่ชอบ”

“จริง ๆ สบาย ๆ มันก็ดีนะ แต่มันน่าเบื่อ มันไม่ตื่นเต้น ผมชอบอะไรที่มีเรื่องราวระหว่างทาง ผมชอบให้มีปัญหาอยู่ในงาน บางทีผมสร้างปัญหาให้มันเองเลยด้วยมั้ง บางทีมันง่าย ๆ มันก็ได้ แต่บางทีผมก็ไปสร้างปัญหา ผมเคยโดนค่ายว่า มึงอีกแล้ว มึงชอบสร้างปัญหา ผมว่ามันสนุกดี เหมือนดูหนัง ถ้ารู้ตอนจบก็ไม่สนุก ก็ลุ้นไปด้วยกัน แต่ว่าอาจจะเป็นข้อเสียก็ได้ เพราะว่ามันทำให้ลูกค้าหรือค่ายเพลง หรือศิลปิน เขาก็เครียดไปกับเราด้วย เขาก็ต้องคอยมาคิดว่ามึงจะจบยังไงวะเนี่ย”

“เราค่อย ๆ หาสาเหตุว่าจะมีทางไหนที่จะทำให้ตัวเองไม่เป็นแบบนี้ มันคือการรื้อวงจร ทำทุกอย่างใหม่หมด ล้างไพ่ นับหนึ่งใหม่ เราเลยตัดสินใจลาออกจากค่ายเพลงที่ทำให้เราได้เกิดมาตรงนี้ เราไม่อยากอยู่บ้านที่พ่อแม่ให้เงินเราใช้ตลอดเวลา โดยที่เราทำอะไรก็ได้ เราต้องขอออกจากบ้านโดยที่ไม่มีเงิน ไปตายเอาดาบหน้า เพราะตอนที่ออกไปก็ไม่ได้มีงานฟรีแลนซ์รอรับอยู่เลย วัดดวงออกไป ถ้าไม่ขยัน ไม่เก่ง ไม่พัฒนา เราก็จะไม่มีกิน แต่ถ้าเราอยู่ genie records ต่อไป เราก็มีกินไปเรื่อย ๆ ช่วงออกไปใหม่ ๆ ต้องฝึกใหม่”

“เรื้อนแต่เทพ เมาแต่มีของ” การเริ่มต้นครั้งใหม่บนเส้นทางอาร์ตไดฯ สายดนตรี

หลังจากอัปเลเวลไปสู่จุดที่สนุก (จนถึงขั้นสนุกเกินไป) จนทำให้เขาเผลอกดสูตรลัดกับงานออกแบบของตัวเอง เป๋ง-ชานนท์จึงกระชากตัวเองออกจาก genie records ที่เป็นคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง แต่มากกว่านั้นการลาออกครั้งนี้ถือเป็นการกระโจนออกจากคอมฟอร์ตโซนทางความสามารถครั้งสำคัญของเขาด้วย

“ผมเป็นคนที่เห็นคนอื่นมีแล้วอยากมีบ้าง คนขี้อิจฉาตัวจริง สิ่งที่เราต้องทำก็คือต้องฝึก เราต้องเก่ง ต้องเก่งให้คนเห็น ผมอยากทำตัวเละ ๆ ได้ เหี้ย ๆ ได้ เลอะเทอะ เมาเรื้อนอะไรก็ได้ แต่ผมต้องมีความสามารถที่ทำให้คนอื่นเห็นว่ากูก็มีของ ถึงกูจะเหลวแหลกแต่ก็มีอะไร

เพราะผมชอบนักดนตรีต่างประเทศด้วยมั้งที่ก็ทำตัวเรื้อน ๆ แต่อยู่บนเวทีแล้วเขาเป็นเทพเจ้ามาก ปาร์ตี้ทีอุบาทว์มาก ผมชอบอะไรแบบนั้น พอถึงคราวตัวเองบ้าง กูจะเละอย่างเดียวไม่ได้ กูต้องมีดีให้เขาเห็น ช่วงหนึ่งผมฝึกหนักเลย ทำงานออกแบบ คิดงาน”

“เรื่องเลว ๆ เขาก็จำ เขาก็ไม่ลืมหรอก น้อง ๆ จะบอกว่า พี่เวลาเมาเละ พี่ก็เละสุดเนอะ แต่งานพี่ก็เต็มที่ดีเนอะ เรารู้สึกว่าแบบนี้แหละที่เราอยากจะเป็น”

“ผมอยากทำตัวเละ ๆ ได้ เหี้ย ๆ ได้ เลอะเทอะ เมาเรื้อนอะไรก็ได้ แต่ผมต้องมีความสามารถที่ทำให้คนอื่นเห็นว่ากูก็มีของ ถึงกูจะเหลวแหลกแต่ก็มีอะไร”

“ตอนจบใหม่ ๆ ก็ยุ่งไม่เท่าตอนนี้ เวลาที่เหลือผมจะฝึกทำงานออกแบบ ลองคิดงาน เช่น ถ้าวงนี้ทำปกนี้มา ผมจะทำอีกปกหนึ่ง แล้วเก็บไว้เอง หรือวงนี้มีโปสเตอร์คอนเสิร์ต ผมก็จะทำโปสเตอร์เวอร์ชันของผม แล้วเก็บไว้เอง ไม่ได้โพสต์ที่ไหน เพราะตอนนั้นไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตรงนี้เลยเหมือนได้ฝึกคิด ฝึกทำ”

“วิธีการของผมคือจะคิดจากต้นหัวของศิลปินเลย ผมจะไม่เปิดจากสูตรเดิม จะไม่เปิดจากภาพแรกในหัว เช่น วงนี้มา ผมก็มีภาพมาแล้ว แต่ผมไม่เอา ผมจะเปิดจาก ก้อนไอเดียก้อนแรกก่อนว่า คีย์เวิร์ดของศิลปินคนนั้นคืออะไร อย่างน้อยต้องมี 3 คำ ที่ปิดหน้าศิลปินคนนี้ วงนี้ แล้วเรารู้ว่าคือคนนี้โดยที่ไม่ต้องบอกชื่อเลย หรือ 3 คาแรกเตอร์นี้ต้องเป็นมึงเท่านั้นว่ะ มันเป็นคนอื่นไม่ได้ ต้องจับไปยัดใส่คนนี้เท่านั้น ใส่คนอื่นไม่ได้”

“พอเป็นวิธีนี้มันเลยสามารถแตกออกไปอีกทางได้มากว่า สมมติเอาตัวเองเป็นตัวตั้งมันจะตรงไปทางของเรา แต่เราเป๋มุมนิดนึง ปลายทางมันจะเบนออกไปเรื่อย ๆ อย่างน้อยมันก็มีกลิ่นที่เราเคยทำอยู่ แต่ผลลัพธ์มันจะไม่มีทางตรงกันแบบ 100%”

“ผมโดนสอนมาแบบนี้ด้วยมั้ง ตอนนั้นผมทำธีสิสแล้ว ตอนนั้นผมจะทำปกอัลบั้มของวงที่ผมชอบ อาจารย์บอกผมว่า ถ้าคุณรู้ปลายทางมาแล้วอย่างนี้ มันไม่สนุกแล้ว คุณคิดใหม่ ค่อย ๆ คิดไปทีละขั้น แล้วปลายทางคุณจะเหลือเชื่อมาก แค่นี้เองเปลี่ยนชีวิตผมเลย”

ชีวิตคือการอัปเลเวล: ถ้าวันนี้เหนื่อย พรุ่งนี้จะเก่ง

ไม่มีใครเกิดมาแล้วเก่งเลย คนเราล้วนเติบโตขึ้น เก่งขึ้น งอกงามผ่านวันเวลา ผ่านการฝึกฝน ผ่านการเผชิญสิ่งท้าทายที่เราคิดว่าเราทำไม่ได้ แต่สิ่งที่เราคิดว่าทำไม่ได้ ฉิบหายแล้ว นั่นแหละ ที่จะปลดล็อกศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา ถ้าเราคิดว่า ยากจัง เหนื่อยมาก หยุดเถอะ ศักยภาพเราจะถูกแช่แข็งไว้ตลอดกาล เพราะเป๋ง-ชานนท์ก็เป็นอีกคนที่เชื่อแบบนี้ เชื่อว่าถ้าเหนื่อย ถ้าจะฉิบหาย พรุ่งนี้เขาจะเก่งกว่าเดิม

“พอได้ทำอะไรที่ตัวเองทำไม่เป็น มันจะกลับไปเครียด แล้วตื่นเต้น กลับบ้านไปจะคิดว่า ฉิบหายแล้วกู เขาเอาด้วยว่ะ เครียด ๆ คิด ๆ ทำ ๆ สนุก พอถึงวันงาน ตอนจบ เห็นผลออกมา ผมน้ำตาไหลตรงคอนโทรล กูทำได้แล้ว เครียดมาไม่รู้กี่เดือน มันมีความสุข จบเลย ความเหนื่อยหาย แล้วมันก็เหมือนเราอัปเลเวลตัวเอง”

“ผมชอบตอนเป็นโชว์ไดเรกเตอร์ให้ Bomb at Track เป็นงานแรกที่ได้เป็นโชว์ไดเรกเตอร์ ผมเป็นคนชอบเสนอหน้าประมาณหนึ่ง ผมไปขอทำ เคยทำคอนเสิร์ตใหญ่ของวง Silly Fools ซึ่งเป็นวงที่ผมชอบอยู่แล้ว เขาก็ให้ผมเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ของงาน ผมเลยเสนอตัวว่าขอทำทั้งหมดได้มั้ย ทั้งหมดของคอนเสิร์ต โยนเงินมาแล้วผมทำให้หมดเลย ผมชอบสองงานนี้”

“ผมชอบทำงานที่มันอัปสกิล ไม่ใช่สกิลโปรแกรมหรือเครื่องมือ ผมชอบอัปสกิลความสามารถตัวเอง ป้อม Lomosonic เคยบอกผมว่า แล้วพี่จะข้ามผ่านศักยภาพตัวเองไปได้ คำนี้เป็นคำที่ผมรู้สึกว่า โห เท่ว่ะ แล้วมันจริง คำไอ้ป้อมมันลอยออกมาว่าเรากำลังข้ามผ่านศักยภาพตัวเองไปอีกขั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ ผมคิดว่า ถ้าวันนี้มันเหนื่อยมาก ๆ พรุ่งนี้กูจะเก่งกว่าวันนี้ เราก็จะอีกนิดหนึ่ง ๆ ผมรู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้น เหมือนคนขี้อวดเลยนะ แต่ผมรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ “

“ถ้าวันนี้มันเหนื่อยมาก ๆ พรุ่งนี้กูจะเก่งกว่าวันนี้”

“ผมไม่ใช่คนทำเป็นมาก่อน ไม่เป็นเลย เวลาทีมงานมาพูดอะไร ผมจะบอกว่าขอศัพท์บ้าน ๆ แล้วมาอธิบายให้ฟังด้วย มันรู้สึกเหมือนได้เรียนรู้ ได้เจอกับมุมมองใหม่ ได้เห็นคนอื่นทำงาน เห็นคนที่เด็กว่าเรา ทำไมมันเก่งวะ? ไปเรียนมาตอนไหนวะเรื่องพวกนี้? แล้วเราก็ไปเรียนรู้จากเขาอีกที ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจจากเขามา แล้วพอผ่านไปได้มันก็มีความสุข เหมือนได้อัปเลเวล ทุกครั้งที่อัปเลเวลก็มีความสุข”

นักออกแบบไม่ใช่อาชีพแต่เป็นชีวิต

ยิ่งอัปเลเวล ยิ่งอยู่ในแวดวงการออกแบบมากเท่าไหร่ เขายิ่งตระหนักได้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่ไม่ใช่แค่งาน แต่คือชีวิตของเขา ไลฟ์สไตล์ของเขา สิ่งที่เขารัก ไปจนถึงปรัชญาการทำงานที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาอย่างโชกโชน

“ผมมองว่านักออกแบบไม่ใช่อาชีพ แต่เป็นการใช้ชีวิต แต่เป็นไลฟ์สไตล์ เราไม่สามารถแบ่งชีวิตตัวเองได้ว่าตอนนี้กูเป็นดีไซน์เนอร์ หรือตอนนี้กูใช้ชีวิตปกตินะ ชีวิตกับสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อคิดแบบนี้ได้เมื่อไหร่ผมว่ามันทำให้ตัวเองไปได้ไกลและเร็วขึ้น”

“ผมไม่เคยเกลียดวันจันทร์ ผมโคตรรักวันจันทร์เลย ผมพูดจากใจจริงเลย พอถึงวันจันทร์ผมรู้สึกว่า เหี้ย ถึงวันจันทร์แล้วเหรอวะ โคตรอยากทำงานเลย โคตรชอบ วันอาทิตย์คือเราทำไม่ได้ เพราะมีลูกต้องเลี้ยง มีความรับผิดชอบอื่นต้องทำ พอถึงวันจันทร์มันเลยเหมือนปลดปล่อย วันจันทร์แล้วโว้ย”

“ชีวิตกับสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งเดียวกัน

เมื่อคิดแบบนี้ได้เมื่อไหร่ผมว่ามันทำให้ตัวเองไปได้ไกลและเร็วขึ้น”

“เริ่มต้นจากความชอบ ผมจะเห็นเยอะ หลายคนเรียนออกแบบไม่ได้เพราะรัก แต่อยากแค่เรียนให้จบ ถ้าเทียบกับคณะอื่นมันไม่มีสอบ ไม่มีท่องหนังสือ แค่ส่งงานก็จบ มันก็เลยดูจบง่าย สำหรับคนที่คิดจะแค่จบอย่างเดียวจริง ๆ แต่ถ้าคนคิดไม่ได้เอาจบอย่างเดียวจริง ๆ แต่มาเรียนรู้ ผมว่านั่นแหละ อาจจะยาก เพราะว่าเขาต้องมาตั้งใจกับทุกชิ้นงานให้ดีที่สุด”

“ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ ผมว่ามันจบเลย ดีไม่ดียังไงเราก็ได้ทำแล้ว”

“ทำสิ่งที่ตัวเองชอบก็พอแล้ว ไม่ต้องเป็นนักออกแบบก็ได้ คนทำข้าวมันไก่ ทำอาหารก็ได้ ขอแค่คุณทำในสิ่งที่คุณรัก คุณรักมัน ผมรู้จักร้านกระเพราแท้ที่ขอนแก่น ที่ขายกระเพราอย่างเดียว ใส่จานแบบไม่เหมือนใครมา เหี้ย มันคืออะไรวะ ผมรู้สึกว่าเขารักในสิ่งที่เขาทำ ถามว่ากระเพราเขาอร่อยมั้ย ผมก็ตอบไม่ได้ว่ากระเพราเขาอร่อยไหม แต่ทุกครั้งที่ผมไปขอนแก่นผมต้องไปกินร้านนี้ แล้วคนก็เต็มร้าน นี่คือ ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ ผมว่ามันจบเลย ดีไม่ดียังไงเราก็ได้ทำแล้ว”

เมื่อคาแรกเตอร์งานไม่ได้อยู่ในงาน แต่อยู่ที่ “วิธีคิด”

ถ้าจุดเริ่มต้นของเป๋ง-ชานนท์ มาจากการอยากมีคาแรกเตอร์ของตัวเองเพื่อให้คนโฟกัสและจดจำได้ เมื่อวันเวลาเคลื่อนผ่านเป็นหลักสิบปี เราเองก็อดอยากรู้ไม่ได้ว่า ณ วันนี้เขาเจอคาแรกเตอร์ที่ตัวเองตามหาแล้วหรือยัง? แล้วคาแรกเตอร์นั้นมันมีหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่?

“เมื่อก่อนผมชอบหาคาแรกเตอร์ ต้องมีเพื่อให้คนจดจำได้ แต่ตอนนี้เชื่อไหมว่าผมคิดกลับกันเลย ผมพยายามหนีคาแรกเตอร์ตัวเอง ไม่รู้มันใช่สิ่งที่ถูกหรือเปล่า แต่ผมพยายามไม่ให้เหมือน ผมมองว่าผมเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ ผมไม่ใช่อาร์ตติส ต์ ถ้าผมเป็นอาร์ตติสต์ผมต้องมีคาแรกเตอร์ ผมต้องทำให้ทุกอย่างเป็นเซ็นเตอร์เพื่อให้คนเข้ามาหา แต่ผมเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ ผมต้องสร้างงานใหม่ออกไปหาคนอื่น ในมุมผมอาร์ตไดเรกเตอร์ต้องเป็นคนสร้าง ไม่ใช่คนครอบศิลปิน”

“ศิลปินให้โปรเจกต์งานชิ้นหนึ่งมา แล้วเราต้องทำให้เขา เป็นภาพออกมาเป็นภาพศิลปินให้ได้ ไม่ใช่เป็นตัวเราเข้าไปครอบเขา ผมก็เลยพยายามเลี่ยง กลายเป็นว่าคาแรกเตอร์ของผมน่าจะเป็นวิธีการคิดงาน มากกว่าจะเป็นเรื่องภาพ”

“คาแรกเตอร์ของผมน่าจะเป็นวิธีการคิดงาน มากกว่าจะเป็นเรื่องภาพ”

“งานไหนที่มีคนทักว่า เฮ้ย ดูไม่ออกว่าเป็นพี่ทำว่ะ โคตรภูมิใจเลย ถ้างานไหน มีคนบอกว่า โห ดูรู้เลยว่านี่งานพี่เลย ซึ่งเขาก็คงคิดว่านี่เป็นคำชมสำหรับผมแหละ แต่ผมจะ เอาใหม่เว้ย ต้องเอาใหม่ แต่บางครั้งมันก็ฉีกลำบากเหมือนกัน เพราะศิลปินที่เขามาจ้างเรา เขาก็จ้างเพราะตัวเราด้วยประมาณหนึ่งเหมือนกัน ก็เลยมีความเป็นเราอยู่”

“การเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ไม่ใช่อาร์ติสต์ สิ่งที่สำคัญที่สุดของอาร์ตไดเรกเตอร์คือการสร้างชิ้นงานจากโปรดัก จากโจทย์ ไม่ต้องไปครอบเขา ไม่งั้นมันจะกลายเป็นแพตเทิร์นเกินไป”

“ผมว่านี่แหละหน้าที่สำคัญของอาร์ตไดเรกเตอร์ สร้างสิ่งใหม่ สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น แล้วก็ทำให้ศิลปินหรือโปรดักนั้นเด่นและชัดเจนออกมาได้ ด้วยวิธีการอะไรก็แล้วแต่ผมไม่รู้ แต่อย่างน้อยต้องสดและใหม่ ไม่ใช่การเอามือจิ้มเรฟเฟอเรนซ์แล้วบอกว่าจะเป็นแบบนี้ นี่คืออาร์ตไดเรกเตอร์ที่ดีสำหรับผม”

ดีไซน์สวย เป๋งไม่ ดีไซน์ “อะไรของแม่งวะ?” เป๋งชอบ

การออกแบบ งานดีไซน์ อาจเป็นรสนิยมส่วนบุคคล เมื่อมีคนชอบงานหนึ่งเพราะงานนั้นสวยจนใจแทบหลอมละลาย ก็ย่อมมีคนที่เห็นว่าความสวยงามก็ดีนะ แต่ก็น่าเบื่อออก เป๋ง-ชานนท์เป็นหนึ่งในนั้น ดีไซน์คือดีไซน์ประเภทที่ดูแล้วจบ แต่ดีไซน์ที่ดูแล้วเกิดคำถามคือดีไซน์แบบที่เขาชอบและอยากทำแบบนั้น

“เราชอบสิ่งใหม่ เราชอบเรื่องราวใหม่ ๆ เราไม่ชอบงานดีไซน์ที่สวยอย่างเดียว มุมเราคนเดียวนะ รู้สึกว่างานที่สวยมันก็สวยอ่ะ เหมือนผมมองผู้หญิง ถ้าผู้หญิงสวยอย่างเดียว ไม่มีความสามารถ ไม่มีอะไรเลย ผมก็ไม่ชอบ ผมชอบคนที่รู้สึกว่าคนนี้แม่งน่าค้นหาว่ะ คนนี้แม่งมีของว่ะ ไม่ต้องสวยมากก็ได้ แต่เขามีอะไร งานดีไซน์ก็เหมือนกัน มันต้องเห็นแล้วรู้สึก “เหี้ยย อะไรของแม่งวะ” หรือ มันดีเปล่าวะ? ดูแล้วอยากตั้งคำถาม”

“ผมชอบดูปกอัลบั้ม มีหลายปกที่ดูแล้วผมจะถามว่าแม่งทำอะไรวะ แม่งทำไปทำไมวะ ผมจะชอบงานพวกนี้ ถ้าสวย ๆ ผมก็จะเฉย ๆ ปกนี้มันสื่ออะไรวะ? มันสนุกกับเรา เราก็ต้องไปเปิดหาหนังสืออ่าน ไปถามคนที่เป็นแฟนเพลง มันสนุกดี ดูแล้วมันไม่จบ”

“ถ้าเห็นแล้วแค่สวยดี มันก็จบ เราก็แค่เดินผ่านไป แล้วก็ต้องสร้างสิ่งใหม่ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่เห็นให้เขาอยาก อยากอะไรก็แล้วแต่ อาจเป็นอยากทำตาม อยากซื้อ อยากถาม นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าในงานออกแบบแทบทุกประเภทต้องมี ซึ่งผมก็ใช้วิธีแบบนี้ทำงาน ก็ทำให้ผมได้ลูกค้าเฉพาะกลุ่มจริง ๆ ถ้าลูกค้าสายสวยงามเขาก็จะไม่ใช้เราเลย เพราะเรางานเรามันไม่สวย”

ยิ่งผิดพลาด ยิ่งโดนด่า ยิ่งเรียนรู้

ใครจะคิดว่าระดับเป๋ง-ชานนท์ ก็มีข้อผิดพลาดกับเขาเหมือนกัน แต่เขายอมรับกับเราแบบตรงไปตรงมา (และอย่างหน้าชื่นตาบาน) ว่าเขามีข้อผิดพลาดเพียบ! คนแบบไหนกันที่กล้ายอมรับกับคนอื่นว่าตัวเองพลาด แต่เมื่อได้ฟังคำตอบก็ไม่แปลกใจ คนแบบเป๋ง-ชานนท์นี่เอง ที่เห็นข้อผิดพลาด คำวิจารณ์ หรือแม้แต่คำด่า เป็นหนทางแห่งการเรียนรู้ ที่เขาจด จำ และนำไปแก้ไข ปรับปรุงเพื่อให้งานครั้งหน้าของเขาดีขึ้นเรื่อย ๆ

“โห ข้อผิดพลาดเพียบครับ แต่ดีออก ผมเคยฟังมาว่าคนที่ไม่มีข้อผิดพลาด แสดงว่าไม่ได้ทำอะไรใหม่ ๆ ทำเหมือนเดิมตลอด ผมว่าข้อผิดพลาดนี่แหละที่ช่วยให้เรากล้าลองทำนู่นทำนี่ได้อีกเยอะ ลองไปเต็มที่ก็โดนด่า เต็มที่ก็โดนเลิกจ้าง แต่ไม่มีใครตายจากข้อผิดพลาด”

“ผมชอบมาก ผมเคยทำวิชวลงานหนึ่งด้วยเวลาจำกัด และความสามารถ ความรู้เราก็ไม่ถึง เกิดความผิดพลาดเยอะมาก หลายคนบอกผมว่าคนดูดูไม่ออกหรอก แต่ผมบอกว่าผมรู้ พี่ที่เป็นหัวหน้าทีมเขาเดินมาว่าเรา ผมบอกเขาว่า พี่ว่าผมมาเยอะ ๆ เราก็น้ำตาคลอนะ แต่พี่ใส่มาให้เต็มที่เลยพี่ (หัวเราะ) ใส่มาให้ครบทุกเม็ด ชอบ”

“คำด่า คำว่า ที่มาจากเหตุผล ว่าจากงาน ไม่ใช่จากความอดคติ ผมยินดีมากและผมจด ข้อแก้ไข ทุก ๆ ปีผมจะสรุปตัวเองทุกปี หรือครึ่งปี สรุปว่าทีผ่านมาทำอะไรไป และต้องแก้ไขอะไร ต้องทำอะไรต่อไป เมื่อก่อนจะปีละครั้ง แต่ตอนนี้ลดมาปีละสองครั้ง เพราะทุกอย่างมันต้องสั้นลง ทุกอย่างมันเร็วขึ้น เผลอ ๆ ต่อไปอาจเป็น 3 เดือนครั้งก็ได้ หรือเดือนเดียวก็ได้”

“คำด่า คำว่า ที่มาจากเหตุผล ว่าจากงาน ไม่ใช่จากความอคติ ผมยินดีมาก”

“ทุกครั้งที่จบงานชิ้นหนึ่งมา ผมจะจดแล้วว่างานนี้ผิดพลาดยังไง ดียังไง เรารู้สึกอะไรกับมัน บางทีก็โพสต์ลงโซเชียล คนอื่นจะได้อ่านด้วย จะได้แชร์ แล้วผมก็ได้เก็บไว้เพื่อกลับมาอ่าน ทุกชิ้นงานมีปัญหาหมดอยู่แล้ว ไม่มีงานไหน 100% กูต้องแก้ให้ได้ ก็จะรู้แล้วว่าต่อไปจะแบบนี้ ต่อไปจะอย่างนี้”

นอกจากสิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดีในงานแต่ละชิ้น สิ่งหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญมากจนต้องบันทึกไว้เสมอมา คือความรู้สึกเกี่ยวกับงานแต่ละชิ้นที่เขาใส่ใจทำ ทำไมกัน? ความรู้สึกนั้นมันสำคัญแค่ไหน? แล้วมันช่วยการทำงานของอาร์ตไดเรกเตอร์อย่างเขาได้อย่างไร?

“มันคือแรงบันดาลใจ คือแพสชัน ตัวเดียวที่ขับเราไปได้ ยิ่งอายุเยอะขึ้น ทำงานของตัวเองมากขึ้น ต่อให้เป็นงานที่ตัวเองรักแค่ไหน แพสชันมันลดลงเรื่อย ๆ อยู่แล้ว มันไม่มีความตื่นเต้นเท่าเมื่อก่อน ความภูมิใจมันหายไปเยอะ เมื่อก่อนแค่คนชมว่าดูดีนะ เราโคตรดีใจเลย เดี๋ยวนี้คำชมกลายเป็นคำที่เราชิน แต่พอเป็นคำด่าเราจะแบบ มีอะไรอีก จะหูผึ่ง อยากฟัง”

“หลาย ๆ ครั้ง พลังจากข้างนอกมันช่วยเราได้ไม่เท่าจากพลังข้างในตัวเราเอง”

“ความรู้สึกคือความสด ณ ตอนนั้นของเรา เราพยายามอย่าลืมความสดใหม่ ความรู้สึกที่มี ณ ตอนนั้น เพราะความรู้สึกมันจะลดลงเรื่อย ๆ อยู่แล้ว พอเรากลับไปอ่าน เราจะจำได้ว่า ตอนนั้นเรามีความสุขกับเรื่องแค่นี้เอง ต้องจำ ไม่งั้นเราจะกลายเป็นหุ่นยนต์ ไม่ยินดียินร้าย แต่การจดไว้เมื่อเรากลับไปอ่านเราจะรู้สึกว่าเมื่อก่อนเรื่องแค่นี้เรายังมีความสุขได้เลย มันเยียวยาข้างในเราได้เหมือนกัน หลาย ๆ ครั้ง พลังจากข้างนอกมันช่วยเราได้ไม่เท่าจากพลังข้างในตัวเราเอง”

หลังบทสนทนาจบลง มุมมองในหัวเราพลิกแบบไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แรงบันดาลใจของหลายคนอาจจะมาจากเรื่องเท่ ๆ คูล ๆ ก็ได้ แต่การยอมรับว่าเราเริ่มต้นจากความอิจฉา การอยากดัง การอยากเป็นที่รู้จัก มันก็ไม่เป็นอะไรเลย เส้นบาง ๆ ที่ตัดสินว่าพลังแบบไหนขับเคลื่อนเรา คือเส้นบาง ๆ ที่ว่าวันนี้เราลงมือทำในสิ่งที่เราอยากไปถึงหรือยัง?

คงเหมือนที่ เป๋ง-ชานนท์ ยอดหงษ์ บอกกับเราว่า “ทำในสิ่งที่ตัวเองรักและเป็นตัวของตัวเองจริง ๆ ผมว่ามันจบเลย ดีไม่ดียังไงเราก็ได้ทำแล้ว” อย่างน้อยที่สุด การได้ลงมือทำในสิ่งที่เชื่อ เราจะสามารถบอกตัวเองได้ว่าเราทำมันแล้ว ดีกว่านั่งเสียดายทีหลังแน่นอน

 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line