Life

ZERO TO HERO: 7 ปีกับการสร้างวิมานในกระดาษของ ป๊อก-ไพโรจน์ ศิลปินไทยที่วาดภาพให้คนไร้บ้าน

By: anonymK January 30, 2019

ท่ามกลางฝุ่นควันวันนี้ ยังคงมีหลายชีวิตที่นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่ด้านนอก ไม่ยี่หระต่อสภาพอากาศหรือความอันตรายที่ข่าวประกาศปาว ๆ ว่าดมไปเยอะเข้าจะอันตรายต่อระบบหายใจ อันตรายถึงขั้นกลายเป็นมะเร็ง เพราะฝุ่นคงสำคัญน้อยกว่าอาหารสักมื้อและน้ำสักหยดตอนนี้

ภาพที่พร่าเลือนไม่ว่าจะมีฝุ่นหรือไม่ คือภาพของพวกเขา ชาวโฮมเลสไร้บ้านหรือคนด้อยโอกาสที่เดินอยู่บนฟุตบาทเดียวกับเรา อาศัยกำบังแสงแดด ลมฝน จากตึกแถวที่เราเคยผ่าน ทั้งหมดนี้ถ้าขัดถูด้วยหัวใจ ภาพจาง ๆ นั้นจะชัดยิ่งขึ้น ผู้คนเหล่านั้นบางคนอายุอานามเป็นพี่ น้อง เพื่อน หรือพ่อแม่ของเราได้ บางคนอาจเติบโตมาพร้อมกัน เพียงแต่อยู่ในกรอบสังคมและภาพลักษณ์ที่แตกต่าง

คุณจะมองเมินต่อสิ่งเหล่านี้ได้นานแค่ไหน สำหรับบางคนใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี อาจใช้ทั้งชั่วชีวิตนี้ หรือจนกว่าพบภาพสะเทือนใจตรงหน้าอย่างเขา “ป๊อก” ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล

“ตอนที่ไปเรียนปริญญาโทไปเรียนที่ซานฟรานซิสโกครับ ที่นั่นมีคนไร้บ้านเยอะ แล้ววันหนึ่งเราไปเห็นเขากำลังถูกทำร้ายอยู่แต่เราไม่ได้เข้าไปช่วยเขา ก็เลยตัดสินใจว่าเราจะทำโปรเจ็กต์เพื่อช่วยเขาในวันถัดไป ตอนแรกแค่กะแค่ว่าทำแค่วันสองวันแล้วก็พอแล้ว ไม่คิดว่ามันจะยาวนานมา 6-7 ปี

จริง ๆ โดนด่าตั้งแต่โปรเจ็กต์โฮมเลสแล้วครับว่าสร้างภาพ มาหากินกับโฮมเลส เราก็รู้สึกว่าไม่แคร์แล้ว เพราะว่าสนใจนักเลงคีย์บอร์ด สนใจคนไม่กี่คน แต่ว่าผมบริจาคให้โฮมเลสเยอะมาก ๆ แล้วมาทำโรฮิงญาตอนนี้ก็ไม่ได้ขอเงินใครครับผม เงินผมเอง สมมติว่าช่วยโรฮิงญาได้ไปลี้ภัยประเทศอื่นได้ ผมก็จะออกค่าเครื่องบิน เงินผมเองเนี่ยแหละ ออกค่าเครื่องบินให้เขาไป ก็เลยไม่ได้สนใจใคร จะแคร์ทำไม”

ระหว่างที่เราพูดคุยกับป๊อก ได้ยินเสียงหวูดรถไฟและประกาศเตือนของชานชาลาแว่วมาเป็นระยะ เราพูดคุยกับเขาว่าวันนี้ว่าจะขอติดตามไปวาดภาพด้วยกัน ไปเห็นวิธีการ และเข้าใจเรื่องราว ขั้นตอนการวาดภาพเหล่านั้นด้วยตาของตัวเอง

ภาพแผ่นหลังของเขาในชุดสีดำที่เดินย่ำเท้าอย่างทะมัดทะแมง ในมือถือม้วนกระดาษใหญ่พร้อมสีที่อัดแน่นเต็มกระเป๋าสีดำบนไหล่ ไม่สนใจความร้อนเดือดดาลของแสงแดดช่วงบ่ายแถวหัวลำโพงเป็นภาพที่เรียกได้ว่าหาดูได้ยากและติดใจเราไปตลอดวัน

หน้าร้านสะดวกซื้อมีร้านไก่ทอดรถเข็นขาย เขาเลือกชิ้นที่ดูน่ากินมาพร้อมข้าวเหนียวและซื้อน้ำเย็นทั้งที่กินข้าวมาแล้ว นี่คือสัญญาณเล็ก ๆ พอให้รู้ทันทีว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อ

“ให้อาหารดีกว่าครับ ให้เงินเดี๋ยวมันจะมีมิจฉาชีพปนแฝงเข้ามาด้วย เราไม่รู้ว่าให้ถูกคนหรือผิดคนอีก หลัก ๆ จะให้อยู่แค่นี้ คือให้เป็นอาหารแล้วก็ภาพวาดเป็นหลัก ๆ มากกว่า

มีบางคนก็เอาภาพไปขายเหมือนกันนะแล้วก็เอาเงินนั้นไปใช้ต่อ แต่จริง ๆ ถ้ายั่งยืนมันต้องแก้กันที่กฎหมายมากกว่า มันจะต้องสร้างที่พักมากขึ้น เพิ่มองค์กร ให้รัฐบาลกับองค์กรเอกชนเข้ามาช่วยเพิ่มเติมมากขึ้น น่าจะแก้ได้ พอเขาเข้าไปแล้วก็อบรมให้ความรู้เขาเรื่องงานช่างหรือความรู้พื้นฐานของเขา คุณทำเป็นมูลนิธิอะไรก็ได้ขึ้นมา สอนเย็บผ้า สอนทำกางเกง ทำเสื้อ สกรีนเสื้อก็ได้ ทำรองเท้าขาย ปักรองเท้า คุณให้วิชาชีพเขา อันนี้เราว่ายั่งยืน”

การออกเดินเท้าเกินกว่าครึ่งชั่วโมงเพื่อเดินหาโฮมเลสหรือผู้ด้อยโอกาสสักคนมาเป็นต้นแบบให้ถ่ายภาพไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด แม้เราจะเห็นว่าพวกเขาส่วนใหญ่มักไม่ได้เดินไปไหน แต่สิทธิ์ของการปฏิเสธยังคงเป็นของแบบภาพอย่างเขาเสมอ เราโดนปฏิเสธมาอย่างน้อย 2 รายเมื่อป๊อกเดินเข้าไปติดต่อ อย่างที่เขาว่าไว้ “ไม่ใช่ทุกคนจะต้องการสิ่งที่เรายื่นให้”

“เยอะครับ คนที่เขาไม่เอารูปที่เราวาดก็เยอะ เขาไม่ชอบก็เยอะ ฉีกทิ้งก็มี แต่เรารู้สึกว่าทุกครั้งที่ไปทำ อย่างเราไปทำข้างถนน บางทีจะเจอเด็กมาวาดรูปกับเรา เรารู้สึกว่าเรากำลังสอนเด็กให้ทำแบบที่เราทำอยู่ คือเด็กอาจจะไม่ต้องมาวาดรูปกับเราก็ได้ แต่วันหนึ่งเขามีพ่อแม่พาลูกมา เขาจะหยิบเศษ 1 ดอลลาร์มาหย่อนกระป๋องให้คนไร้บ้าน มันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ แล้วถ้าสมมติว่ามีคนทำเยอะ ๆ มีคนทำทั้งเมือง ทั้งประเทศ ประเทศมันจะอบอุ่น มันจะสวยงาม แล้วมันจะดีมาก”

กระทั่งเราไปเจอพี่ท่านหนึ่ง นั่งอยู่บนรถเข็นหน้าร้านอาหารในละแวกนั้น พวกเราพูดคุยกับเขาผ่านพี่เจ้าของร้านอาหารซึ่งคอยเป็นล่ามให้ เนื่องจากพี่เขาไม่สามารถสื่อสารและพูดคุยกับพวกเราปกติ อาหารหนึ่งมื้อย้ายจากมือของป๊อกไปแขวนไว้ที่ปลายด้ามจับรถเข็นนายแบบของเราในวันนี้ จากนั้นกระดาษขนาด A0 สองแผ่นถูกคลี่ออกจากม้วน ปิดเทปเชื่อมต่อกันให้ใหญ่ขึ้น พลิกด้านวางราบกับพื้น พร้อมมือจับแปรงที่ตวัดร่างและลงสีอย่างชำนาญ

เหงื่อที่ผุดบนใบหน้าได้รับการปาดออกด้วยท่อนแขน การดื่มน้ำเพื่อพักดับกระหาย ท่าทีของความตั้งใจทำให้คนละแวกนั้นทั้งขาจรและขาประจำต่างแวะเวียนมาดู ราวกับแม่เหล็กดึงดูด ทั้งภาพบนกระดาษและภาพแห่งชีวิตข้างหน้าต่างถูกจับจ้องสลับกันไปมา

แล้วการมอบภาพวาดให้กันมันจะช่วยโฮมเลสและคนด้อยโอกาสได้อย่างไร ทำไมถึงเป็นสิ่งที่เขาทำมาตลอดหลายปี

“คือจริง ๆ รูปมันเป็นการสื่อสารของเราเนอะ บางคนเราแทบจะไม่ได้พูดกับเขามากด้วย แต่เรารู้สึกได้จากการที่เรามีกิจกรรมร่วมกัน แววตาของเขาที่สื่อออกมา เขาก็เรียนรู้ เพราะอย่างวันนี้ที่เราวาดรูปกันจะมีคนสนใจเขา จะมีคนมองเขา จะมีคนบริจาค อยากจะช่วยเหลือเขาจริง ๆ เราเหมือนเรายิงสปอตไลต์ไปที่เขา ว่าคนนี้ต้องการความช่วยเหลืออยู่ แล้วพวกคุณล่ะจะช่วยกันไหม ผมน่ะลองทำแล้ว คุณลองทำดูสิ”

หลายชั่วโมงผ่านไป เรารอธรรมชาติช่วยพัดพาให้ภาพแห้ง และพูดคุยเรื่องอื่น ๆ กันไปด้วยกัน หลายประเด็นวันนี้เราไม่รู้มาก่อน ทั้งวัฒนธรรมที่ต่างกันของโฮมเลส สิ่งที่โรงเรียนไม่ได้สอน อุปสรรคที่ป๊อกต้องเจอจนเกือบตัดสินใจหยุดชะงัก รวมทั้งโปรเจ็กต์หน้าที่เขาจะทำต่อ

มิติของโฮมเลสไม่ใช่คนไร้ความสามารถ หรือแค่คนพบวิกฤตจนต้องไร้ที่อยู่เท่านั้น ?

  • โปรเจ็กต์นี้มันสอนเราหลายอย่าง อย่างการวาดรูปแต่ละครั้ง เราเจอว่าทุกคนมีปัญหาหมด บางคนมีเรื่องส่วนตัวร้อยพ่อพันแม่ จนสุดท้ายมาเป็นโฮมเลส บางคนลูกทิ้ง ภรรยาทิ้ง พ่อแม่ทิ้ง ตกงาน เศรษฐกิจล่มอเมริกา มันหลากหลายมาก ๆ เราไม่สามารถจะบอกว่า ทำไมคนนี้เป็นโฮมเลสทำไมคนนี้ไม่เป็น หรือบางคนสมัครใจอยากเป็นโฮมเลสก็มี เพราะไม่อยากอยู่ในระบบของสังคมที่อย่างในอเมริกาจะมีกฎระเบียบเยอะแยะที่อเมริกาอายุ 17 เขาต้องออกจากบ้านหมดครับไม่เหมือนบ้านเรา บ้านเรา 30 ยังอยู่ที่บ้านอยู่เลย แต่ที่โน่นอายุ 17 ออกไปหางานทำเอง บางคนประสบความสำเร็จ บางคนล้มเหลวเยอะมาก บางคนไปได้ไม่ได้ตามที่ตัวเองอยากจะเป็นบางคนเขาเล่นดนตรีได้ เขาก็มาเล่นดนตรีข้างถนน เล่นเป็นวง เล่นเป็นทีมอะไรอย่างนี้ แล้วก็มีร้านอาหารให้โอกาสเขาไปร้องเพลงในร้านก็มีครับ หรือบางทีเหมือนกับว่านิวยอร์ก LA มันเป็นเมืองใหญ่ เป็นเมืองของโอกาส ถ้าคุณมีความสามารถจริง ๆ คุณเก่งจริง ๆ ศิลปินหลายคนเริ่มจากการเป็นโฮมเลสนะครับ

เคยตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองทำไหม ว่าทำไปทำไม หรือคิดจะหยุดทำบ้างไหม?

  • โอ้ยมีเยอะมาก มีวันนึงที่ตำรวจจับครั้งแรกครับผม เพราะที่นิวยอร์กเขามีกฎหมายห้ามทำกิจกรรมข้างถนน ตำรวจจับแล้วเราก็รู้สึกว่าจะทำต่อดีไหมวะ เราก็หยุดแบบนั้นไปเดือนนึง หยุดไปเดือนนึง อาทิตย์ที่สามเริ่มคิดถึงข้างถนน คิดถึงชีวิตผู้คนที่เราได้ไปพูดคุยกับเขา เราไม่เคยเจอหน้าพ่อแม่เขามาก่อน ไม่เคยเจอเขามาก่อน รู้สึกว่า เรากลับไปทำดีกว่า มันไม่มีใครทำ

เราจะดำเนินการทำโปรเจกต์นี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ หรือเปล่า

  • ต่อจากโปรเจ็กต์โฮมเลส โปรเจ็กต์ที่อยากจะทำต่อคือโปรเจ็กต์ผู้ลี้ภัยแทนครับผม โฮมเลสเคยเป็นคนมีบ้านมาก่อนแล้ววันหนึ่งไม่มีบ้าน พวกเขาเลยต้องไปอยู่ข้างถนน แต่ผู้ลี้ภัยเนี่ย คือคนที่ไม่เคยมีบ้านเลย ไม่เคยมีแผ่นดินอยู่เลย เรารู้สึกว่าแววตาของเขามันเศร้ามาก ๆ แล้วทุกคนถูกขับไล่ บางคนถูกยิง ถูกแทง พ่อแม่โดนเผาทั้งเป็น เรารู้สึกว่าอยากจะช่วยคนพวกนี้ครับมันจะกว้างออกไปอีก เราจะไปในพวกค่ายสถานกักกัน ค่ายผู้ลี้ภัย ไปวาดรูปคนพวกนั้นจากความทรงจำ แล้วก็หาเงินบริจาคนำมาช่วยอีกที ไปมอบให้กับมูลนิธิต่าง ๆ ที่อยู่ข้างใน
LESSON LEARN SHAKING WALL STREET

นอกจากแสงของสปอตไลต์ที่ดึงดูดให้เราเห็นว่าทุกอย่างรอบข้างในสังคมพวกเราทุกคนล้วนมีส่วนร่วมแล้ว อีกสิ่งที่ถือได้ว่ากระชากความรู้สึกเราพอสมควรคือสิ่งที่หนุ่มคนนี้เคยทำให้คนในถนน Wall Street ต้องหยุดเหลียวมองเห็นบางอย่างที่พวกเขาอาจหลงลืม

“เรารู้สึกว่าหลัง ๆ สิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ได้ช่วยตัวเราหรือช่วยโฮมเลสโดยตรง แต่รู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดให้สำหรับคนในเมือง อย่างในแมนฮัตตัน ตรง Wall Street ทุกคนจะทำแต่งาน จะคิดถึงแต่เรื่องเงิน ธุรกิจอย่างเดียว จะทำงานเพื่อให้ได้เงินเพื่อร่ำรวย เราจะเอาเฟรมไปขวางถนนไว้ไม่ให้คุณเดิน คุณมีทางเลือกเหมือนกัน คุณจะเดินอ้อมไปข้างหลังก็ได้ เลี้ยวไปทางนี้ก็ได้ แต่ข้างหน้า ทำบุญกับเรา คุณจะเห็นโฮมเลสอยู่ตรงนี้ คุณจะทำไหม ไม่ทำก็ได้

เราตั้งคำถามให้สังคม ทุกวันเวลาของที่นิวยอร์กมันเป็นเงินครับ คนจะไม่ค่อยได้เข้าโบสถ์ เราวาดภาพนำมาวางไว้เหมือนยกการทำบุญออกจากโบสถ์มาให้คนได้ร่วมทำบุญข้างนอกเท่านั้นเอง พยายามกระตุ้นสังคม ช่วยสังคม”

อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้ามีบางอย่างมันกระซิบบอกคุณว่า ผ่านไปเหอะ เราไม่ได้มีเงินมากอย่างที่เขามี เราไม่ใช่ศิลปิน วาดรูปก็ไม่ได้ คุณคงกำลังดูถูกตัวเองอยู่

“เฮียไม่ได้รวยครับ เราอยู่ที่นิวยอร์กเราก็เป็นเด็กเสิร์ฟอาหาร แล้วเราก็ไปสอนหนังสือศิลปะ เราเสิร์ฟอาหารสองวัน ไปสอนหนังสือหนึ่งวัน แล้วที่เหลือเราก็จะไปวาดรูปของเขา เราแค่พออยู่ได้ ชนชั้นกลาง บางคนอาจจะบอกว่าเฮียยังไม่มีตังค์เลย เฮียจะบริจาคทำไม ไม่รอให้รวยก่อน

เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะตายหรือเปล่า เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้เราจะมีแขน มีกำลัง ออกมาทำอย่างนี้หรือเปล่า ก็ทำวันนี้เลย ทำเลย ก็คิดแล้วทำเลย เป็นคนที่ ถ้าคิดปุ๊ป ตัดสินปุ๊ปแล้วทำทันที

คนเล็ก ๆ ทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงโลกไปหมดแล้วครับ สิ่งใหญ่ ๆ วันนี้ที่ทุกคนทำไว้เขาเริ่มจากแค่เล็ก ๆ ก่อน
เราแค่ทำในสิ่งที่เราถนัดที่สุดให้ดีที่สุด และทำมันทุกวัน โดยที่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่ข้างใน แล้วมันจะดีเอง มันจะเปลี่ยนแปลงโลกเอง”

เมื่อภาพแห้งพอให้ม้วนเก็บ รูปภาพของป๊อกที่วาดแผ่นนี้หายไปแล้วพร้อมกับเจ้าของที่เป็นแบบภายในภาพตามความตั้งใจ เหลือทิ้งไว้เพียงความทรงจำและเรื่องราวให้ส่งต่อ

ใครที่อยากเห็นผลงานของเขา เดือนกุมภาพันธ์นี้เขาได้แสดงผลงาน สร้างโปรเจ็กต์ร่วมกับสยามดิสคัฟเวอรี่ เพ้นต์ภาพบุคคลที่เป็นที่มาแรงบันดาลใจของเขา 15 คน ลงบนสเก็ตบอร์ดซึ่งเป็นศิลปินจากวงการต่าง ๆ ทั้งเพลงและศิลปะให้ได้ติดตามชม ซึ่งเมื่อมีการอัปเดตเราจะนำรายละเอียดมาแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

 

PHOTOGRAPHER: Krittapas Suttikittibut

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line