Life

ZERO TO HERO TALK: “อุทิศ เหมะมูล” ชายผู้เต็มไปด้วยความขบถที่ขอเลือกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง

By: TOIISAN November 21, 2019

โลกจดจำคนส่วนใหญ่จากความสำเร็จที่เขาได้ทำไว้ บางคนถูกพูดถึงเป็นร้อย ๆ ครั้งจากผลงานอันโดดเด่น บางคนถูกสังคมยกย่องด้วยความสำเร็จที่น่าประทับใจ แต่น้อยครั้งนักที่ผู้คนจะหันกลับมามองจุดเริ่มต้นก่อนจะก้าวสู่ความสำเร็จ 

ด้วยเหตุผลที่ปฏิเสธไม่ได้ที่ว่าในโลกใบนี้ไม่มีใครประสบความสำเร็จมาตั้งแต่เกิด ทำให้ UNLOCKMEN ได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ คุณม่อน หรือ อุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์จากวรรณกรรมเรื่อง ‘ลับแล, แก่งคอย’ ที่ผู้คนมองว่าเขา ‘ประสบความสำเร็จ’ ด้านงานเขียนในงาน Zero to Hero Talk : The Art of Not Giving Up ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่ได้สร้างบทสนทนาเน้นความสำเร็จ เราอยากรู้ถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่อุทิศจะต้องยอมแลกเพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เพราะก่อนใครสักคนจะกลายเป็นฮีโร่ล้วนต้องเริ่มจากศูนย์ไม่ต่างกัน

 

จุดเริ่มต้นจากการค้นพบว่าเราไม่เก่งอะไรเลย

เล่าเรื่องราวในวัยเด็กให้ฟังหน่อย ว่าก่อนที่จะมีอุทิศ เหมะมูล นักเขียนรางวัลซีไรต์ เรามีวัยเด็กแบบไหน ?

ตอนเด็กผมค้นพบว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนที่ทำอะไรดีสักอย่าง เมื่อเราพูดถึงสิ่งที่เด็ก ๆ ทำได้ดี ก็คงจะต้องเป็นเด็กที่เรียนเก่ง แล้วเราก็จะถูกพ่อแม่บอกตลอดว่าถ้าสอบได้คะแนนติดอันดับ 1-3 จะมีของขวัญให้ ผมเลยรู้ว่าความดีของเรามันถูกวัดอยู่กับความสามารถในระบบการศึกษา

ผมไม่ใช่คนที่จะเป็นเด็กดีในระบบการศึกษาเพราะคะแนนวิชาภาษาไทยผมก็ไม่ได้เรื่อง ทั้งที่ตอนนี้ผมเขียนวรรณกรรมแต่เคยสอบตกภาษาไทย คณิตศาสตร์ก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ ทำตามเงื่อนไขที่พ่อให้ไว้ไม่ได้สักอย่างเลยครับ ผมสอบได้คะแนนดี ๆ อย่างที่พ่อหวังไม่ได้ มันก็เป็นบาปในใจนะ เป็นบาปในชีวิตผม เราไม่เก่งถึงขนาดที่เวลาครูให้จับกลุ่มทำงาน เพื่อนก็จะไม่เลือกเรา

ความเดียวดายเพราะเพื่อนไม่ต้องการในห้อง พอกลับบ้านมาเล่นกับเพื่อน เขาก็ไม่เลือกเราอีก เราก็เหมือนสอบตกซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะเกมของเด็ก ๆ มันก็จะมีมาตรฐานของมันเหมือนกัน ผมปีนต้นไม้ก็ไม่เก่ง ไหวพริบปฏิภาณสู้เพื่อนไม่ได้เลย เล่นเกมโยนการ์ดการ์ตูนก็แย่ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

“เราไม่มีวันเป็นที่รัก ไม่มีวันเป็นความภาคภูมิใจให้พ่อกับแม่ได้เลย”

แล้วมาเจอสิ่งที่ตัวเองชอบหรือว่าทำได้ดีตอนไหน ?

ตอนที่รู้สึกโดดเดี่ยวผมค้นพบว่าการวาดรูปมันคือความสบายใจ ไม่ต้องเรียกให้หรูว่าศิลปะก็ได้ แต่การวาดรูปทำให้ผมรู้สึกว่าการอยู่คนเดียวมันโอเคว่ะ มันอยู่ได้ ชีวิตเราไม่ต้องตั้งอยู่บนความคาดหวังของคนอื่น และผมก็รู้สึกดีมาก ๆ กับความคิดที่ว่า มึงไม่รักกู กูก็รักตัวเองได้

ผมเริ่มทำบางสิ่งเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง จนวันหนึ่งครูเห็นว่าเราวาดรูปได้ดีก็เลยส่งเราไปแข่งงานประกวดต่าง ๆ พอขึ้นมัธยมต้นผมก็ชอบวิชาศิลปะเพราะมันทำให้รู้สึกอิสระ มั่นคง ปลอดภัย ส่วนวิชาอื่นเราก็มีปมกับมันมาตลอด แต่ศิลปะทำให้ผมสามารถยืนอยู่กับมันได้โดยที่มั่นใจว่าตัวเองจะไม่เป็นอะไร ผมค้นพบที่ที่มีค่า มันคือการวาดรูป

 

แตกหักเพื่อก่อร่างสร้างใหม่

หลาย ๆ คนรู้จักอุทิศ เหมะมูล ในฐานะนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ ชายผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหลากหลาย ใครทั้งหลายจึงใคร่อยากรู้ว่าก่อนจะก้าวมาถึงวันนี้เขาเจอความยากอะไรมาบ้าง ชีวิตสู่ความสำเร็จนั้นง่ายดายจริงหรือไม่ และถ้าเราต้องแลกกับบางสิ่งเพื่อได้ทำสิ่งที่รัก อุทิศ เหมะมูล จะยอมแลกกับอะไรบ้าง

ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอกว่าศิลปะจะทำให้เราสามารถแตกหักกับความต้องการของครอบครัวได้ ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้พยายาม เราพยายามแล้วที่จะทำให้ครอบครัวรักหรือให้เพื่อนยอมรับ แต่เราพยายามแล้วก็รู้ว่าทำไปก็เท่านั้น

พอผมจบมัธยมต้นพ่อก็มอบความคาดหวังให้ เขาอยากให้ผมเรียนช่างยนต์ ผมก็สมัครสอบแต่เวลาเขียนคำตอบก็เขียนส่ง ๆ หวังให้สอบตก แล้วผมก็แอบไปสอบศิลปะด้วย ท้ายที่สุดพอประกาศผลสอบ ผมก็ไปบอกพ่อว่าผมสอบติดศิลปะแล้ว แน่นอนว่าเขาไม่ยอม

“ถ้าไม่ทำตามที่ต้องการก็ไม่ต้องอยู่บ้านนี้ ออกจากบ้านไปเลย” คำพูดนั้นมันทำให้รู้สึกว่าทำไมถึงต้องแลกขนาดนั้นถ้าเราเข้าใจกัน แต่ถ้าคุณอยากให้เราแลก เราก็ยอมแลก

พ่อบอกว่าถ้าจะเรียนศิลปะก็จะไม่ส่งเสีย ถ้าไม่เดินตามเส้นที่เขาขีดไว้ก็เดินออกจากบ้านไป ตัดขาดพ่อลูกกันไปเลย เราก็รู้สึกว่าทำไมเขาถึงทำให้มันเป็นเรื่องเลวร้ายขนาดนี้ ชีวิตของเรา อนาคตของเรา เราควรที่จะได้เลือกเอง แทนที่เขาจะสนับสนุนในสิ่งที่ผมชอบกลับกลายเป็นว่าเขาไล่เราออกจากบ้าน

คำพูดของเขาทำผมหน้าชา แต่ผมเป็นพวกดื้อเงียบก็เลยไม่ได้ตอบโต้อะไรเขา พ่อเป็นคนที่ค่อนข้างเข้มงวดมากส่วนแม่ก็ไม่มีปากเสียงอะไรเวลาที่พ่อบ่น พ่อเปรียบเหมือนพระเจ้าในสถาบันครอบครัวของผม พ่ออยากให้ทำอะไรก็ต้องทำ เพราะฉะนั้นชีวิตของเขาจะอยู่ได้ด้วยการปกครองโดยที่ไม่มีใครมีปากเสียง เขาวัดความราบรื่น ความสงบสุขจากการไม่ตั้งคำถาม แล้วเมื่อไหร่ที่สมาชิกในครอบครัวมีคำถาม แค่นั้นก็ทำให้เขาหงุดหงิดได้แล้ว มันเป็นภาพในสังคมที่เรายังเห็นอยู่ในปัจจุบัน

สุดท้ายเมื่อถึงจุดที่คิดว่าควรพอก็เลยพร้อมที่จะก้าวออกมา ?

มันเป็นชีวิตของเรา เราต้องใช้ชีวิตของเรา เราต้องมีสิทธิ์เลือกและตัดสินใจว่าจะทำอะไร ถ้าเราเปิดประตูบานหนึ่งให้เขา เขาจะเข้ามาเต็มที่ ขีดเขียนชีวิตของเราภายใต้คำว่า ‘ดูแล’ ซึ่งความหมายของมันก็คล้ายกับการ ‘ควบคุม’ เขาจะเข้ามามีสิทธิ์ขาดและเราก็ต้องทำให้เขาเห็นว่านี่มันคือชีวิตของเราไม่ใช่ของเขา มันมากกว่าเรื่องการเคารพกันแต่มันคือความรักความเข้าใจในตัวเรา ผลมันจะออกมาดีหรือเลวเราก็จะรับเอาไว้เอง

คำพูดของเขาทำให้ผมรู้สึกหนักแน่นขึ้นว่าพอแล้วกับการถูกบีบบังคับ ถูกขีดเส้นไว้ว่าจะต้องเป็นแบบที่เขาต้องการ ผมถามตัวเองแล้วว่าเราทำได้ไหมถ้าเรียนจบให้พ่อ อยู่กับช่างยนต์ที่ไม่ชอบแล้วเราจะรักมันได้ไหม เราจะมีความสุขไหมถ้าจะเดินไปตามเส้นทางนี้ และผมก็ได้คำตอบชัดเจนว่าจะแลกหรือไม่แลก 

เราสามารถเรียกการตัดสินใจแลกหลายสิ่งที่มีอยู่เพื่อทำตามความฝันและอยู่กับสิ่งที่ตัวเองชอบของคุณอุทิศว่า ‘เริ่มจากศูนย์’ ได้หรือไม่ แต่การก้าวออกจากบ้านตัวเปล่า ไร้ที่พึ่งพิง ไร้คนส่งเสียทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ออกจากครอบครัวที่โอบกอดเรามาตลอด ถือเป็นเรื่องยากที่ใครหลายคนอาจจะจินตนาการไม่ออกด้วยซ้ำว่าถ้าเป็นตัวเอง เราจะจัดการเรื่องราวน่าลำบากใจแบบนี้อย่างไร แต่สิ่งที่เรารู้อยู่อย่างหนึ่งคือความสวยงามของคำพูดที่สื่ออารมณ์เจ็บปวดได้อย่างชัดเจน

การก้าวออกจากบ้านครั้งแรกเพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองก็ยังไม่แน่ใจว่ามันดีหรือไม่ดี ตอนนั้นมันเกิดความรู้สึกอย่างไรบ้าง ?

โคตรตื่นเต้นเลย โคตรดี! เหมือนได้ลมหายใจใหม่ รู้สึกปลอดโปร่ง ได้อิสระเสรีที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แล้วก็ไม่รู้สึกว่ามันไม่มีอะไรน่ากลัวเหมือนที่คิดไว้ตอนแรก เรารู้สึกว่าโล่งหลังจากที่รู้สึกว่าถูกบีบอัดมาตลอด การออกจากบ้านมันเต็มไปด้วยความหวัง คิดไปยันเรื่องเล็ก ๆ ว่าการนอนอยู่บนเตียงเฉย ๆ ของเราก็ไม่มีใครมาด่าว่าขี้เกียจหรือมาถามว่าไม่คิดจะทำอะไรกับชีวิตบ้างเลยเหรอ 

เราดึงเอาการตัดสินใจ ความรับผิดชอบ อำนาจ และเสรีภาพมาไว้ที่ตัวเองได้แล้ว เราไม่ต้องเอาสิ่งเหล่านี้ไปฝากไว้กับคนอื่น เราแค่ต้องดูแลจัดการเสรีภาพและความรับผิดชอบของตัวเองให้ดี ความรู้สึกชุ่มชื่นหัวใจหลังออกจากบ้านมันก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้าเราคือการเผชิญหน้ากับความกังวลใหม่ ๆ

 

โลกแห่งวรรณกรรมและกรอบของภาษาที่ต้องทำลาย

ความขบถที่มีอยู่เต็มตัวของอุทิศ เหมะมูล อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลงานด้านการเขียนของเขาโดดเด่น แต่เรารู้ว่าอุทิศในวัยเด็กเรียนไม่เก่ง สอบตกวิชาภาษาไทย สิ่งที่สงสัยและค้างคาใจคือ “แล้วงานเขียนของอุทิศเกิดขึ้นได้อย่างไร” เหมือนกับว่าเขาเคยเริ่มต้นจากศูนย์ แตกหักกับครอบครัวเพื่อศิลปะ จากนั้นก็ต้องเริ่มใหม่อีกครั้งในโลกของวรรณกรรม 

ถ้าพูดถึงภาษาไทยคนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงภาษาไทยที่เรียนในชั้นเรียน ความภูมิใจในความเป็นไทย ไวยากรณ์ที่ต้องใช้ให้ถูกต้อง ถูกสอนว่าเวลาไปทำงานเราต้องทำตามลำดับ 1, 2, 3, 4 ไปเรื่อย ๆ ผมก็เกิดคำถามในใจกับภาษาไทยว่ามันไม่มีวิธีอื่นแล้วหรือที่จะเข้าใจภาษามากขึ้นกว่ากรอบที่กำหนดไว้

ผมค้นพบว่าภาษามันเป็นมากกว่าพยัญชนะ ตัวสะกด และไวยากรณ์ มันมีภาษาอื่น ๆ ที่มากกว่าที่เราเจอในห้องเรียน มันกว้างไกลกว่านั้นมาก ๆ ตอนเรียนเราจะถูกบีบให้เดินไปตามทางแคบ ๆ เพื่อใช้ภาษาที่ถูกต้องเพื่อสื่อสารกับคนอื่น เพื่อสอบได้และเรียนจบด้วยคะแนนที่ดี แต่เราไม่ได้เข้าใจภาษาอื่นอย่างภาษาในชีวิตคู่ ภาษากับคู่สนทนาที่มีบุคลิกและนิสัยแตกต่างกันไป มันมีอะไรเยอะมาก ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา

โรงเรียนไม่ได้สอนภาษาความรักให้กับเราหรอก เวลาที่ภาษานี้มันเกิดขึ้นในหัวใจตอนคุณแอบชอบใครสักคนในวัยประถมหรือมัธยม โรงเรียนก็ไม่ได้สอนว่าเราต้องทำอย่างไร ไม่ได้สอนว่าเราต้องตอบโต้หรือมีปฏิสัมพันธ์กับภาษาแบบนี้อย่างไร ก็เลยทำให้ผมรู้ว่าภาษามันมีอะไรมากกว่าในห้องเรียน

“เราไม่ได้ถูกสอนให้มีจินตนาการ เราถูกผลักเข้าไปอยู่ในกรอบที่เขาทำมาให้ แต่ระบบการศึกษาที่เจอมาไม่ได้สอนให้รู้จักหัวจิตหัวใจหรือความเป็นมนุษย์เลยแม้แต่น้อย”

การตั้งคำถามทำให้อุทิศพยายามหาคำตอบที่เข้าท่าที่สุด ?

พอรู้สึกว่าภาษามันมีมากกว่าที่คิด เราต้องตอบคำถามอันนี้ให้ได้ ก็เลยคล้ายกับว่าผมกำลังต่อต้านกับความถูกต้อง ต่อต้านกฎเกณฑ์ เกิดคำถามว่าสิ่งที่ทำต่อกันมาจนกลายเป็นขนบธรรมเนียมมันเปลี่ยนได้ไหม ผมสามารถเขียนแบบนี้ได้ไหม ? ผมสามารถขยับหน้าหรือสลับหลังประโยคได้ไหม ? ถ้าผมจะเขียนอะไรสักอย่างผมไม่เอาคำนามขึ้นก่อนได้หรือเปล่า ? เราถูกถามแล้วมีคำตอบ ก ข ค ง มาให้บังคับเลือก ไม่มีช่องว่างให้เราได้แสดงทัศนะอะไรเลย มันง่ายกับครูที่เป็นคนตรวจข้อสอบ แต่จริง ๆ แล้วทุกอย่างไม่ง่ายแบบนั้นหรือเปล่า ผมมองว่ามันเป็นมากกว่าหลักการเพราะมันคือจินตนาการ

แสดงว่างานเขียนเราเกิดจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่เราไม่เห็นด้วย ?

ผมได้ภาษาที่แตกต่างจากการทำงานศิลปะ เพราะก่อนจะวาดรูปเราต้องมองสิ่งที่เราจะวาดเพื่อเข้าใจมันก่อน ผมต้องพูดกับต้นไม้ พูดกับอากาศ ทิวทัศน์ ภูเขาและทะเล เวลาเรียนวาดรูปมันไม่ได้ใช้เพียงแค่อารมณ์เท่านั้น เวลาคนที่จบสายอื่นพูดถึง เขาจะชอบบอกว่าศิลปินไม่มีเหตุผลใช้แต่อารมณ์ความรู้สึก แต่จริง ๆ แล้วทุกอย่างมีตรรกะของมัน มีวิธีของมันเพื่อทำให้เราเข้าใจอะไรหลาย ๆ อย่าง

ยกตัวอย่างจากงานเขียนของผมที่ได้รางวัลซีไรต์ก็ได้ครับ กรรมการและคนอ่านเขามักพูดว่าหนังสือของผมไม่ใช่งานเขียนของคนจบอักษรศาสตร์ มันเหมือนกับภาพในรูปแบบของตัวอักษร เพราะฉะนั้นถ้าคุณมี vision เราจะอยู่ตรงไหนก็ได้ จากคนที่สอบตกวิชาภาษาไทยกลับสู่โลกของภาษาอีกครั้งด้วยการเอาตรรกะหรือทรัพย์สมบัติอื่นกลับมาพร้อมกัน เอาวิธีพูด วิธีเขียนแบบอื่น ที่ไม่ได้ถูกสอนในแบบเรียนเพราะเรามองว่ามันควรมีการอธิบายแบบอื่น ๆ บ้าง

แต่การออกนอกกรอบของเราไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ จะเขียนอะไรที่อยากเขียนเลยก็ได้ เพราะหากมีคนแย้งหรือสงสัยขึ้นมาว่าสิ่งที่เราเขียนมันดีแล้วจริง ๆ หรือ ? แล้วเราไม่สามารถหาเหตุผลที่ดี หรือเหตุผลเข้าท่าที่หนักแน่นมากพอมาบอกเขา มันก็ไม่มีความหมาย

ไม่จำเป็นจะต้องถูกตามหลักสูตรเสมอไป เพราะสิ่งที่เราจะเขียนมันขึ้นอยู่กับเรื่องราวในจิตใจที่เราอยากจะบอกอะไร ถ้าคุณหมกมุ่นอยู่กับการถูกโครงเรื่องหรือไวยกรณ์มากเกินไป คุณก็จะเข้าไปอยู่ในกรอบโดยไม่รู้ตัว แล้วคุณก็ไม่ได้ปลดปล่อยความในใจอะไรออกมาเลย

 

ย้ำเตือนตัวตนเพื่อก้าวไปสู่จุดหมาย

แล้วสิ่งที่เลือกในตอนนั้นมันใช่สิ่งที่พาให้เราประสบความสำเร็จเหมือนอย่างวันนี้ไหม ?

เอาจริง ๆ ตอนนั้นไม่มีใครรู้อะไรจริง ๆ หรอก ทุกอย่างมันก็ดำเนินไปเรื่อย ๆ ตามแบบของมัน ไม่ใช่แค่เรื่องค่าเทอมหรือค่าอุปกรณ์การเรียนครับ ผมไม่มีที่ซุกหัวนอนต้องไปขอนอนที่บ้านเพื่อนคนโน้นคนนี้ ต้องขอข้าวกิน บอกเพื่อนว่าเราไม่มีเงินเลี้ยงข้าวเราหน่อยได้ไหม ทั้งหมดมันเป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยที่เดินไปพร้อมกับเรา มันช่วยผลักดันเรา พิสูจน์ศักยภาพของตัวเราว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ไหม แล้วเราก็ต้องก้าวต่อไปเพราะเราตัดสินใจแล้ว จะมายึกยักแล้วกลับบ้านมันก็ไม่ได้ รู้ตัวอีกทีลืมตาขึ้นมาอีกทีก็อายุ 44 แล้ว 

“ลืมตาอีกทีก็ 44 แล้ว” มันเป็นอย่างไร ?

ตอนที่อายุ 15-30 ปี มันเป็นช่วงเวลาที่ผมรู้สึกว่า “กูอยากโตไว ๆ ชิบหาย” หรือ “กูไม่อยากใช้ชีวิตแบบนี้อีกแล้ว” จะรู้สึกอยู่ตลอดว่าอยากให้มันผ่านไปไว ๆ อยากจะอายุ 25 หรือ 30 เร็ว ๆ แต่ทำไมทุกวันแม่งเดินช้ามาก ผมมองไม่เห็นอนาคตตัวเอง รู้สึกว่าต้องต่อสู้กับชีวิตอยู่ตลอดเวลา แต่แปลกมาพออายุ 30 ปุ๊บ ก็ 30 โดยไม่ทันได้รู้ตัวเลย

ทุกอย่างมันผ่านไปไวมากจนอยากจะบอกกับชีวิตว่าให้รอก่อน ขอพักหายใจสักหน่อยได้ไหม พอโตขึ้นมาถึงตอนนี้ก็รู้สึกว่ามันไม่เหมือนกับช่วงวัยรุ่นที่เรากำลังรอคอยอะไรบางอย่าง รอความหวัง รอความงดงาม รออนาคต รอวันที่สดใส แต่พอโตขึ้นจริง ๆ มันไวเกินไป เพราะช่วงชีวิตแต่ละช่วงมันต่างกัน ความกังวล ความกลัวแต่ละช่วงมันก็คนละเรื่องกัน เรามองว่าช่วงชีวิตวัย 15-25 เป็นชีวิตที่ทุเรศทุรังแต่สุดท้ายเราก็ผ่านมามันได้ แล้วเราก็ได้รู้ว่าช่วงชีวิตที่ว่าแย่ ทุเรศทุรัง พอมองย้อนกลับไปแล้ว เราไม่ได้เกลียดช่วงชีวิตตอนนั้นหรอกนะ

ถึงแม้จะมีช่วงเวลาที่ยาก ช่วงชีวิตที่ต้องล้มลุกคลุกคลานแต่มันก็ให้ความสุขในแต่ละวันด้วยเหมือนกัน ผมไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องประสบความสำเร็จ ต้องมีบ้าน มีกองทุน มีรถยนต์ เพราะผมไม่ได้ต้องการมันขนาดนั้น ช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดคือช่วงวัยรุ่น วัยทำงาน ช่วงชีวิตที่ต้องสร้างเนื้อสร้างตัว บางคนเร่งทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวเพื่อให้อายุ 40 มีครบทุกอย่าง ทำงานหนักเพื่อเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศ แต่พออายุ 50 ปี ก็ต้องอยู่โรงพยาบาลบ้าง ไปนอนสามวันสองคืนจ่ายทีเป็นแสน นั่นไม่ใช่เป้าหมายของผม เพราะผมจะมีความสุขกับวันนี้ สมมุติตอนนี้ผมมีเงินหมื่น ผมก็จะออกไปกินอะไรที่ตัวเองอยากกิน หรือถ้าอยากไปเที่ยวก็ต้องเที่ยวเดี๋ยวนี้เลย

อุทิศจะมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าก่อนเสมอ ?

ช่วงเวลาที่เป็นอยู่ตอนนี้มันไม่ใช่ช่วงเวลาที่ต้องใช้ไม้เท้า หรือนอนติดเตียง อันนี้มันเป็นความคิดของผมเท่านั้นนะที่มองว่า เพื่ออะไรที่เราต้องทำงานหนักวันนี้แล้วเก็บเงินไปใช้ตอนแก่ชรา เพื่ออะไรอะ ? เพื่อให้โรงพยาบาลได้ใช้เงินคุณเป็นล้าน ๆ เงินที่คุณทำงานหนักมาทั้งชีวิต แล้วสุดท้ายก็ต้องนอนบนเตียง

“เมื่อเราเลือกแล้วก็ต้องยืนอยู่ข้างมัน คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่มีความหมาย เราต้องกอดมันไว้กับเราและเชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเอง”

ผมไม่ได้บอกว่าการตัดสินใจของผมถูกหรือผิด หรือคิดว่าเราจะต้องประสบความสำเร็จ ชีวิตมันก็ต้องมีล้มหัวทิ่มหัวตำบ้าง แต่ผมก็มองว่าความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในชีวิตมันไม่ใช่ที่สุด เพราะกูยังไม่ตาย เดี๋ยวกูจะไปให้สุดให้ดู

การกอดสิ่งที่เลือก ขีดชีวิตตัวเองด้วยสองมือและใช้ชีวิตไปให้คุ้มค่า อาจไม่ใช่หนทางที่เหมาะสำหรับทุกคน แต่การทำตามใจตัวเองก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเช่นกัน หากคุณรู้ว่าปลายทางที่รอนั้นคืออะไร UNLOCKMEN หวังว่าการแชร์เรื่องราวใต้ภูเขาความสำเร็จของคุณม่อน จะทำให้คุณเชื่อมั่นในตัวเองว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ตราบเท่าที่เราลงมือลงแรง ทุ่มเทชีวิตและลมหายใจให้มันเป็นมากกว่าความฝันและความหวัง

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line