Life

“ออฟฟิศไกลบ้านทำผมใกล้ตาย”อุปสรรคใหญ่ของมนุษย์เงินเดือนคือการเดินทางสุดทรหด

By: TOIISAN February 23, 2020

“บ้านผมอยู่ฝั่งธนฯ แต่ออฟฟิศผมอยู่รังสิต” หรือ “บ้านผมอยู่รังสิตส่วนที่ทำงานผมอยู่เพลินจิต” ประโยคเหล่านี้ไม่ใช่การพูดเกินจริงเพราะมันคือชีวิตประจำวันของใครหลายคนที่ต้องฝ่าฝุ่น ฝ่าฝน ฝ่าฟันการคมนาคมแสนโหดยามเช้า 5 วันติดกันเพื่อมาทำงานที่เรารัก แรก ๆ ก็คิดว่าไหว แต่รู้ตัวอีกที เราก็ได้ปัญหาสุขภาพมาเป็นของแถมจากการเดินทาง แถมยังมาแบบโหมกระหน่ำจนตั้งรับแทบไม่ทันอีกด้วย

เพราะใคร ๆ ต่างต้องเดินทางไปทำงานไม่ว่าใกล้หรือไกล UNLOCKMEN จึงค้นหางานวิจัยเกี่ยวกับการทำงานและการเดินทางมาให้ทุกคนได้อ่านกัน เพื่อประเมินตัวเองว่าการใช้ชีวิตของตัวเองนั้นเข้าข่ายน่าเป็นห่วงหรือไม่? 

มีงานวิจัยที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์มร่วมกับสถาบันสุขภาพและสวัสดิการของประเทศฟินแลนด์ (Finnish Institute for Health and Welfare) กล่าวว่าเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่ทำงานหนักและออฟฟิศอยู่ไกลจากบ้านมาก ๆ มักเจอกับความเครียดมากกว่าคนที่บ้านอยู่ใกล้กับที่ทำงาน โดยทีมวิจัยได้สำรวจความคิดเห็นของกลุ่มวัยทำงานจำนวน 22,000 คน เป็นเวลาสองครั้งตั้งแต่ปี 2008-2018 

กลุ่มตัวอย่างถูกถามเกี่ยวกับงานที่รับผิดชอบ วิธีการเดินทางไปทำงาน อาหารการกินแต่ละวัน การออกกำลังกาย การนอนหลับ รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์และความถี่สำหรับคนที่สูบบุหรี่ จนได้ผลลัพธ์น่าสนใจว่ากลุ่มพนักงานออฟฟิศไกลบ้านหรือคนที่ต้องเดินทางหลายต่อ เช่น เปลี่ยนจากรถไฟฟ้าเป็นรถเมล์ หรือเปลี่ยนจากรถไฟฟ้าเป็นต่อวินมอเตอร์ไซค์ กลุ่มตัวอย่างประเภทนี้จะอ่อนเพลียหมดเรี่ยวหมดแรงมากกว่าคนที่บ้านอยู่ใกล้ออฟฟิศหรือเดินทางเพียงต่อเดียว 

ความกระฉับกระเฉงหลังตื่นนอนถูกใช้ไประหว่างทาง บนรถไฟฟ้าแออัดหรือรถเมล์ร้อนระอุที่จอดนิ่งสนิทบนท้องถนน การเดินทางนั้นดูดพลังมากกว่าที่คิด รู้ตัวอีกทีเราก็ใช้เวลาอยู่บนรถหรือถนนนานเกือบ 5 ชั่วโมง (ขาไปและขากลับรวมกัน)

นอกจากนี้พอถึงออฟฟิศหลังจากสู้รบกับระบบคมนาคม กลุ่มตัวอย่างที่เป็นมนุษย์เงินเดือนบ้านไกลจะหมดเรี่ยวแรงส่งผลให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความเครียดสะสม พร้อมกับของแถมอย่างอาการปวดเมื่อย นอนหลับไม่สนิทหรือฝันว่ากำลังทำงานอยู่ ซึ่งทั้งหมดทำให้การตื่นมาเริ่มวันใหม่ไม่สดใสเอาเสียเลย

กลุ่มตัวอย่างที่เข้าข่ายว่าการเดินทางไปทำงานเป็นอุปสรรคต่อชีวิตเสี่ยงมีไลฟ์สไตล์เอื่อยเฉื่อยไม่กระตือรือร้นมากถึง 25% ส่งผลให้สมองทำงานน้อยลง รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา รวมถึงมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับเพิ่มขึ้น 16% ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย

ความเสี่ยงสองอย่างนี้เกิดขึ้นจากการเดินทางไกลทุกวัน ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ตามมาอีกเป็นขบวน เช่น โรคออฟฟิศซินโดรมหรือโรคเครียด ที่ไม่ว่าคนบ้านใกล้หรือไกลที่ทำงานต้องเจอไม่ต่างกัน 

เมื่อทราบถึงปัญหาแล้วสิ่งที่ต้องทำขั้นต่อมาคือการแก้ปัญหา เอาเข้าจริง UNLOCKMEN คิดว่าทุกคนคงรู้คำตอบดีอยู่แล้วว่าวิธีแก้ปัญหาการเดินทางจากออฟฟิศไกลบ้านมีอะไรบ้าง แต่จะให้ลาออกจากที่ทำงานไกล ๆ ทันทีและเปลี่ยนมาทำงานใกล้บ้าน หรือย้ายบ้านมาอยู่ใกล้ที่ทำงาน (เช่น เส้นสีลมหรือถนนสาทร) มันก็คงเป็นเรื่องเวอร์เกินจริงไปหน่อย เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเลือกสถานที่ทำงานได้ดั่งใจ เราจึงอยากให้ลองคำนวณถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อร่างกายพร้อมกับประเมินความเสี่ยงกันดู

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาด้วยตัวเองของพนักงานกินเงินเดือนตัวเล็ก ๆ คงไม่สามารถแก้ไขปัจจัยที่เหนือการควบคุมอย่างขยายสายรถไฟฟ้า เปิดเส้นทางคมนาคมให้กว้างขึ้น พัฒนารถเมล์ให้แอร์เย็นหรือไม่ต้องยืนรอหน้าป้ายรถเมล์เป็นชั่วโมงกว่ารถจะมา หรือให้เจ้านายสั่งทำงานที่บ้านได้ ดังนั้นจงอย่าโทษตัวเองอยู่คนเดียวที่ปวดหลังจนหมดเรี่ยวแรง เพราะปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ทำให้เราเครียดและป่วยได้เช่นกัน 

 

SOURCE 1

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line