Business

“เรือลำนั้นเป็นของสหราชอาณาจักร” ญี่ปุ่นฟาดกลับเมื่อลอนดอนยื่นมือเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเพราะโควิด-19

By: anonymK February 24, 2020

ต้องยอมรับว่าสื่อทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเรื่องโควิด – 19 (Coronavirus 2019) กันจริงจัง หลายประเทศเปิดมาตรการป้องกัน ตรวจสอบ และกักกันคนที่มีอาจเกี่ยวข้องกับเชื้อนี้ แต่เจ้าที่เราเห็นชัดว่าตอนนี้กลายเป็นที่จับตาไปทั่วโลกอีกประเทศคือ “ญี่ปุ่น” หลังพบการระบาดจากเรือสำราญที่เข้าเทียบ

จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลุกลามทำให้หลายประเทศเริ่มแจ้งระวังการเดินทางไปญี่ปุ่น และพิจารณานักเดินทางที่ต้องการเข้าประเทศหากเดินทางมาจากญี่ปุ่น ซึ่งจะเรียกว่าเป็นโชคร้ายหรือคราวซวยก็ว่าได้ เพราะระยะเวลาการระบาดดันไปประจวบเหมาะกับช่วงจัด Tokyo Olympic 2020 ปีนี้พอดิบพอดี กลายเป็นจุดตั้งสังเกตว่า สรุปแล้วงานครั้งนี้จะล่มหรือรอด

ระหว่างที่ยังไม่ถึงเดือน 7 ตามกำหนดการจัดการของโตเกียว จู่ ๆ Shaun Bailey ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของลอนดอน (ตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับเลือก) ก็ดันจับเรื่องนี้ไปเป็นหนึ่งในนโยบายการหาเสียงของตัวเองในทวิตเตอร์ส่วนตัวโดยกล่าวว่า

ใจความง่าย ๆ ก็คือสามารถรับเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปีน้ีแทนได้ เพราะเราเคยมีประสบการณ์มาแล้ว และถ้าผมได้เป็นนายกเทศมนตรีแล้วล่ะก็ ผมจะทำให้มั่นใจเลยว่าลอนดอนรับเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง (หลังเคยเป็นมาแล้วในปี 2012) ได้อย่างแน่นอน แถมยังบอกว่าอยากให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) พิจารณาเรื่องนี้ด้วย

Secretary of State for Transport Chris Grayling call on Tokyo Governor Koike

ฝั่งผู้ว่าการกรุงโตเกียว ยูริโกะ โคอิเกะ ก็ตอกกลับเบา ๆ ว่า “ไม่เป็นไร” แต่ให้เหตุผลเจ็บหนักที่ฟังแล้วไม่รู้ว่าทางลอนดอนจะเจื่อนแค่ไหนว่า “เหตุผลที่ทำให้ปัญหานี้กลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลกก็เพราะเรือสำราญลำนั้น แต่นั่นเป็นเรือสัญชาติสหราชอาณาจักร ฉันเข้าใจได้ดี และคิดว่ามันยังไม่ถึงจุดนั้น (ยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิก)”

ไม่เพียงแค่ทางฝั่งเจ้าภาพจัดการจากญี่ปุ่นฝ่ายเดียวเท่านั้นที่ออกมายืนยันความพร้อมเดินหน้าของโอลิมปิก แต่ John Coates ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOC) ร่วมกับ WHO ต่างก็ออกมายืนยันเช่นกันว่ายังไม่จำเป็นต้องยกเลิกการจัดงานครั้งนี้ หรือย้ายสถานที่จัดไปที่อื่น และรับรองว่าจะเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์จากปัญหาโควิด – 19 ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อนักกีฬาและผู้เข้าชมอย่างแน่นอน

ถ้าดูจากตัวเลขที่ The Wall Street Journal ทำ Infographic ให้เห็นค่าใช้จ่ายของญี่ปุ่นสำหรับการสร้างสเตเดียมแล้วที่มูลค่าสูงสุดตั้งแต่มีเจ้าภาพมา 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าใจเลยว่านาทีนี้จะให้ถอยหลังไปเพราะไวรัสแล้วรออีก 4 ปีเนื่องจากคนอื่นยื่นมือมารับช่วงต่อคงเป็นไม่ได้จริง ๆ

 

ทำไมคนถึงอยากเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกนัก?

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่ากับไอ้การจัดกีฬาให้นานาประเทศมาแข่งกีฬา เสียเงินลงทุนตั้งหลายพันล้าน มันจะอะไรกันนักกันหนาทำไมจะต้องแย่งกันนัก อันนี้เราขอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าโอลิมปิกเนี่ยมันมีความพิเศษอย่างหนึ่งที่เรียกว่า “Olympic Effect” ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์สำหรับเจ้าภาพจัดงานเท่านั้น เพราะมันช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้ดี พิสูจน์ได้จากตัวเลขของเจ้าบ้านและผลที่ญี่ปุ่นได้รับจากเศรษฐกิจ

1. 2-5 ปีก่อนการแข่งขัน GDP เจ้าภาพบวกราว 10%

เศรษฐกิจประเทศไหนฝืด พอมาทำหน้าที่เจ้าภาพโอลิมปิกจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจาก 2 สาเหตุ

  • การเพิ่มขึ้นของการลงทุนด้านสิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มจากโอลิมปิก
  • ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

2. ถึง Olympic จะจบแต่ผลกระทบเชิงบวกจะยังอยู่ ไม่ได้ลดลงฮวบฮาบ

เหตุผลมาจากประเทศที่เป็นเจ้าภาพมักผ่อนปรนมาตรการต่าง ที่เข้มงวดลง เมื่อรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ และผู้ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพคือสัญญาณแสดงความต้องการเติบโต พร้อมเปิดประเทศต่อนานาชาติจึงเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นที่ได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพในปีนี้ รัฐบาลประกาศจะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (TPP) เป็นหนึ่งในสมาชิกจากทั้ง 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และ เวียดนาม เพื่อคานอำนาจของสงครามระหว่างจีนและสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังเพิ่มโอกาสได้จากการเป็นเจ้าภาพสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศเจ้าภาพเดิมจะยิ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น (สร้างพันธมิตรจากหลายทิศทาง)

3. นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการเดินทางมามากขึ้น ช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้ดีขึ้น และทำให้ได้รายรับจากการท่องเที่ยวถึง 2 ทาง

  • จำนวนของปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
  • รายรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากการเข้าชมและได้รับผลกระทบเชิงบวก (Spilller effect) ต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยรวม

4. เพิ่มการลงทุนด้านการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิกเช่นเดียวกับประเทศเจ้าภาพทุกประเทศ สำหรับประเทศญี่ปุ่นมีนักวิเคราะห์คาดการณ์ตัวเลขการลงทุนสำหรับการพัฒนาทั้งอาคารพาณิชย์ โรงแรม รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสาธารณะ ฯลฯ อยู่ที่ราว 10 ล้านล้านเยน!

UNLOCKMEN เองก็มองว่าเรื่องนี้แม้จะเป็นความหวังดีจากหนุ่มแคนดิเดต Shaun Bailey จริง แต่ถ้าแง่การเมืองและเศรษฐกิจ งานนี้ดูท่าจะไม่ค่อยเป็นลูกผู้ชายเท่าไหร่ เพราะอันที่จริง ฝั่งญี่ปุ่นเขาก็เตรียมการมาหลายปีแล้ว เท่าที่เห็นทั้งนวัตกรรม ฯลฯ ก็พร้อมรองรับนักกีฬาจากทุกชาติ เงินที่ควรสะพัดเข้าญี่ปุ่นเองก็ไม่ควรจะหมุนไปที่อื่น อย่างน้อยถ้าเลื่อนสักปีความเสียหายก็คงน้อยกว่าการเลื่อนไปอีก 4 ปีแน่นอน เผลอ ๆ สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกเสื่อม ก็ต้องจ่ายค่า maintanace ไปเพิ่มอีก กลายเป็นจ่ายไม่คุ้มทุน

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องลุ้นให้วิกฤตนี้ผ่านพ้นไปไว ๆ ทั้งญี่ปุ่นและทั่วโลก ไม่งั้นปีนี้อาจจะเป็นโอลิมปิกที่สุดเหงาทั้งที่เจ้าภาพจัดงานเป็นอีกประเทศที่ทุกคนรอคอยก็ได้

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line