Business

ใหญ่ค้ำฟ้าก็จมได้! 3 CEOS อดีต HERO สู่ ZERO ของค่ายยนตรกรรมดังกับคดีฉาวประวัติศาสตร์

By: anonymK January 9, 2020

เก่งก็ดี แต่สิ่งที่รักษาไว้ยากกว่าคือชื่อเสียงกับตำแหน่งหลังจากนั้น เพราะยิ่งคุณเป็นคนเก่ง คนยิ่งจับตาเรื่องความคลีนที่คุณมี

หลังจากเจอข่าวดราม่าเรื่อง CEO Nissan เจอรวบตัวจนเป็นคดีให้ติดตามหลายสื่อ บางคนอาจจะตามทันบ้างไม่ทันบ้าง UNLOCKMEN จึงอยากย้อนอดีตและมัดรวมคดีของท็อป CEO จากค่ายยนตรกรรมผู้โด่งดังมาแบ่งกันอ่านให้เห็นอีกมุมกันบ้าง เพราะความสำเร็จที่สั่งสม…ไม่ว่าจะเป็นอะไร มันพร้อมจะสูญทันทีถ้าก้าวพลาด

CARLOS GHOSN / Renault-Nissan

Photo by Norsk Elbilforening / Flickr

คนล่าสุด ไม่พูดถึงไม่ได้ต้องยกให้ Carlos Ghosn เจ้าพ่อผู้กู้หน้าในธุรกิจ Nissan อดีต CEO ผู้มีคดีพ่วงหลังเรื่องยักยอกทรัพย์จากญี่ปุ่นตามตัวไปอีก

ความเก่งของ Carlos นี่ถือว่าอยู่ในระดับพระกาฬ เขากอบกู้วิกฤตของ Renault-Nissan จนกลับมายืนอย่างภาคภูมิในวงการยานยนต์อีกครั้ง

ช่วงที่เขาเข้ามาดูแล Renault ตอนนั้น เขาทำงานหนัก บริหารจนจากตัวเลขแดง ของ Renault กลับมาเป็นสีเขียวอีกครั้งจากการปิดโรงงานในเบลเยียมและปลดพนักงานกว่า 3,000 คน จนได้รับฉายาว่า  “นักฆ่าต้นทุน” (Le Cost Killer) จากนั้นนำกำไรจาก Renault ซึ่งอยู่ในกลุ่มพันธมิตรเดียวกับ Nissan ไปอุ้ม Nissan ต่อผ่านการซื้อหุ้น 40%

แต่ซื้ออย่างเดียวมันไม่ยั่งยืน บารมีของอดีต CEO คนนี้ยังมาจากการปรับโครงสร้างบริษัท Nissan และทำให้ Nissan กลับมาฟื้นได้กำไร เขาไม่เพียงเป็นผู้นำคนแรกของ Nissan ที่เป็นคนต่างชาติ (ปกติ CEO Nissan จะเป็นคนญี่ปุ่น) ที่ทำให้หลายคนสนใจเท่านั้น แต่ทะยานขึ้นมาโดดเด่นได้จากความแตกต่างเรื่องวิธีการด้วย เพราะเขาลงทุนจ้างดีไซเนอร์ตัวท็อปจากบริษัทคู่แข่งอย่าง Isuzu มานำเสนอดีไซน์ใหม่ และนำเสนอนวัตกรรมรถพลังงานไฟฟ้าตัวเฉียบจากการเปิดตัว Nissan Leaf จนขายดิบขายดีไปทั่วโลก ที่สำคัญในยุคของเขายังทำได้ถึงขนาดซื้อกิจการของ Mitzubishi อีกค่ายยานยนต์เข้ามาครองได้ด้วย

แม้เขาจะทำงานได้ดีจนมีผลงานให้เห็นยาวเป็นหางว่าว แข็งแกร่งจนทั่วโลกต้องซูฮกขนาดไหน แต่ล่าสุดกลับเจอคดีแจ้งรายได้น้อยกว่าความจริงต่อเนื่องมา 5 ปี โดยรายได้ที่หายไปคิดเป็น 44.4 ล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งเอาทรัพย์สินบริษัทไปใช้เอง และสืบเนื่องจากคดีนี้ ศาลญี่ปุ่นก็ตัดสินว่าเขามีความผิดจากคดีทางการเงินหลายคดีและเจอรวบตัวถึงบ้านพัก ระหว่างรอพิจารณาคดี เขาใช้หลักทรัพย์ประกันตัวออกมาก่อนวางแผนหลบหนีออกจากญี่ปุ่นไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคดีติดตัว แต่ที่รู้ คือตอนนี้ Carlos Ghosn ตัวแสบค่าย Nissan ก็หาทางเดินทางกลับบ้านที่เลบานอนได้แล้ว แถมทางการที่นั่นยังต้อนรับอย่างภาคภูมิ บทสรุปจากนี้เราไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร แต่แนวโน้มที่ว่าเขาจะลอยตัวอยู่ในบ้านก็มีเยอะมากจริง เพราะตอนนี้ระหว่างญี่ปุ่นกับเลบานอนไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน

 

Martin Winterkorn / Volkswagen

มาที่ค่ายรถคลาสสิกขวัญใจชายที่ผลิตเต่ามาเป็นตำนานอย่าง VW กันบ้าง งานนี้ก็มี CEO เลื่องชื่อที่สร้างประวัติศาสตร์ความฉาวระดับโลกที่ทำให้ VW ต้องจ่ายค่าปรับมูลค่าล้านล้านบาทเหมือนกัน! จากเหตุการณ์การโกงที่ไม่ใช่เพื่อยักยอกเข้าตัวเองแบบ Nissan แต่เป็นการปกปิดข้อมูลเพื่อสร้างรายได้เข้าบริษัทหลังจากที่อยากเปิดตลาดขายรถในอเมริกา

ต้องบอกก่อนว่าช่วงนั้นเป็นยุคที่อเมริกากำลังเข้มงวดเรื่องการคุมค่ามลพิษมาก พวกนักพัฒนาเครื่องยนต์ดีเซลที่อยากเจาะตลาดเลยต้องทำตามกฎ สร้างนวัตกรรมให้ได้ตัวเลขที่คาย NOx หรือไนโตรเจนออกไซด์ปริมาณตามที่เขากำหนด สุดท้ายปี 2012 ค่าย VW ก็เลยจัดเครื่องยนต์ดีเซลพลังงานสะอาดขึ้นมา เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หลายคนฮือฮา ค่าย Volkswaken ได้รางวัลแถมได้ส่วนลดทางภาษี เบิกบานกันทั้งบาง

แต่จู่ 2 ปีต่อมา เกิดมีนักวิจัยเอ๊ะขึ้นมาว่า เฮ้ย ทำไมตัวเลขนี้กับตัวเลขจริงมันไม่เห็นตรงกันเลย ลามไปถึงปี 2015 ที่มีคนไปวิจัยต่อจนเจอว่าบริษัทลูกอย่าง Audi ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ผลิตระหว่างปี 2009-2015 นี่ก็เกิดเหมือนกัน เลยกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ Diesel Gate

กลวิธีการโกงของทั้ง VW ใน Audi เรื่องการโกงตัวเลขมลพิษ คือเขาก็ทำเครื่องยนต์ออกมาเหมือนเดิม แต่สอดไส้ใส่ซอฟต์แวร์โกงค่าตัวเลขให้รถเข้าไปเพื่อตบตา เพราะโปรแกรมนี้ฉลาดสามารถจับสัญญาณจากการบังคับพวงมาลัยได้ว่านี่เป็นการทดสอบ ไม่ใช่การขับขี่จริง ทำให้มันปรับค่าลดแรงม้าและการประหยัดน้ำมัน เพื่อให้คาย NOx ออกมาน้อย ส่วนจำนวนที่ติดไปก็ไม่ใช่น้อย รวมทั้งหมดก็ประมาณ 11 ล้านคันทั่วโลก!

สุดท้ายคดีนี้จบลงด้วยค่าปรับมูลค่าหมื่นแปดพันล้านเหรียญ และตัว Martin ก็รับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งพร้อมประโยคหล่อ ทิ้งท้ายเพื่อชาว VW ทุกคนว่า เขาอยากให้ทุกอย่างเริ่มใหม่อีกครั้งและทำให้ VW มีอนาคตที่สดใส

“Volkswagen needs a fresh start – also in terms of personnel. I am clearing the way for this fresh start with my resignation,”

 

Yasuyuki Yoshinaga / Subaru

จากฝั่งเยอรมัน กลับมารถเอเชียตัวถึกอย่าง Subaru กับบ้าง แม้ยี่ห้อนี้อาจจะไม่โดดเด่นในวงการรถยนต์บ้านเรา แต่สำหรับเยอรมันและอเมริกา นี่คือ Top Brand ที่หลายคนให้ความสนใจ

Yasuyuki Yoshinaga คือ CEO ชาวญี่ปุ่นอีกคนที่สร้างผลงานไว้ในสมัยที่บริหาร โดยระหว่างช่วงที่เขาดูแลก่อนจะลงจากตำแหน่ง Subaru สามารถกวาดรางวัลทรงเกียรติสายยานยนต์แดนปลาดิบอย่าง Japan car of the Year ปี 2016-2017 จากรุ่น Subaru Impreza” แต่หลังจากนั้นเพียงปีเดียว เขากลับต้องโดนคดีบิดเบือนตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองกับค่ามลพิษในโรงงานจนต้องโค้งขอโทษต่อหน้าสื่อมากมาย

ถึงแม้เรื่องนี้จะมีผลกับรถจำนวนแค่หลักร้อย แถมความบกพร่องก็ไม่มีผลกับคุณภาพรถยนต์ ทว่าสุดท้าย CEO ค่ายยานยนต์ลูกไก่ก็ต้องยอมรับว่าเขาบกพร่อง และยื่นลาออกไปในที่สุดเพื่อรับผิดชอบ

ต่อให้เก่งแค่ไหน แต่การเป็นผู้นำมันไม่ง่ายเลย เพราะไม่ใช่แค่ต้องนำองค์กรไปให้ได้กำไร แต่ยังต้องชนะใจตัวเอง ไม่ให้ความโลภที่หอมหวานมากลืนกินวิถีการทำงานตัวเองด้วย ไม่งั้นอาจจะโดนเช็กบิลตามหลังจนอ่วมแบบนี้

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line