Entertainment

อภิชาติพงศ์ / นัฐวุฒิ / บรรจง – 3 ทหารเสือผู้กำกับแห่งวงการภาพยนตร์ไทย ที่สยายปีกคว้ารางวัลระดับโลกในต่างแดน

By: unlockmen July 19, 2021

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสที่ทำลายทุกวงการ โดยเฉพาะวงการภาพยนตร์ที่ต่างต้องหยุดฉายเลื่อนวันกันจนเสียขบวน จากสถานการณ์ที่ส่งผลให้โรงหนังในประเทศไทยถูกปิดอย่างไม่มีกำหนด

แต่วิกฤตที่ว่าหนักหน่วงนี้ ก็ไม่อาจปิดกั้นประกายแห่งความสำเร็จและความยอดเยี่ยมของผู้กำกับสายเลือดไทย ที่ได้ออกไปสร้างชื่อเสียงความยิ่งใหญ่ในต่างแดน ในฐานะผู้นำพาความภาคภูมิใจ และประจักษ์แก่ฝีมือว่าฟิล์มเมคเกอร์ไทยนั้นมีฝีมือไม่แพ้ขาติใดในโลก

UNLOCKMEN ขอนำคุณไปรู้จักกับผู้กำกับสุดยอดฝีมือทั้ง 3 ท่าน ที่มีผลงานคว้ารางวัลระดับโลก และขึ้นอันดับ 1 หนังทำเงินอย่างสมภาคภูมิ และมาดูกันว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จในครั้งนี้เกิดขึ้นจากอะไรบ้าง เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้นำไปปรับใช้ได้สำหรับทุกคน


เริ่มจากผู้กำกับที่หลักไมล์ในวงการหนังไทยอาจดูน้อยเมื่อเทียบกับผู้กำกับท่านอื่น ๆ เนื่องจากมีผลงานที่ผ่านตากับหนังเรื่องยาวเพียง 2 เรื่องเท่านั้น นั่นคือ Countdown (2012) และ ฉลาดเกมส์โกง (2017) แต่เพราะผลงานหนังเรื่องฉลาดเกมส์โกง ได้สร้างรูปแบบเฉพาะตัว จนกลายเป็นงานเปี่ยมล้นด้วยสไตล์ที่ล้ำสมัยและสื่อสารทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้อยู่หมัด ทำให้ชื่อของ “บาส นัฐวุฒิ” กลายเป็นฟิล์มเมคเกอร์รุ่นใหม่ที่ฝีไม้ลายมือเป็นที่กล่าวขานในระดับสากล

โดยที่หนัง ฉลาดเกมส์โกง หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Bad Genius ได้สร้างชื่อเสียงในระดับอินเตอร์โดยเฉพาะประเทศจีนที่สามารถทำรายได้ระดับปรากฏการณ์ ทำให้ชื่อของบาส ทำลายกำแพงภาษา เป็นที่เตะตาของผู้สร้างระดับโลกที่อยากจะชวนเขามาร่วมงานด้วย และผู้โชคดีที่ได้ร่วมโปรเจกต์หนังเรื่องต่อมาของบาสก็คือ ผู้กำกับผู้ทรงอิทธิพลของคนยุคใหม่อย่าง หว่องการ์ไว (Wong Kar-wai) นั่นเอง ใน One for the Road ที่เป็นโปรเจกต์ที่บาสใช้เวลาขลุกอยู่กับหนังเรื่องนี้มาเป็นเวลา 3 ปี

One for the Road เล่าเรื่องของเพื่อนซี้ที่มีชีวิตต่างกันแบบสุดขั้ว คนหนึ่งมีชีวิตที่กำลังไปได้ดีในฐานะบาร์เทนเดอร์อนาคตไกล (รับบทโดย ต่อ ธนภพ) แต่อีกหนึ่งแสงแห่งชีวิตกำลังค่อยริบหรี่ไปจากการพบมะเร็งเนื้อร้ายในตัว (รับบทโดยไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์) ทั้งคู่จำต้องเดินทางเพื่อนำอดีตส่งคืนให้กับแฟนเก่าเพื่อไถ่โทษในสิ่งที่เคยก่อไว้ จนกลายเป็นการเดินทางอันยาวไกลที่เต็มไปด้วยความเศร้า ความสุข ความทุกข์ และการจากลา

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้นอกจากหนังได้ถูกขับเคลื่อนโดยหว่องการ์ไวที่มีชื่อเสียงในระดับโลกแล้ว หนังยังได้ไปไกลเดินสายฉายในรอบเวิร์ลพรีเมียร์ในเทศกาลหนัง Sundance Film Festival เวทีระดับโลกของหนังอิสระปีล่าสุด พร้อมทั้งคว้ารางวัลสาขา World Cinema Dramatic Special Jury Award ในสาย Creative Vision อีกด้วย ซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติในรางวัลสาขานี้

โดยเสียงตอบรับจากนักวิจารณ์กล่าวถึงหนังเรื่องนี้ในเชิงบวก ในฐานะหนังที่เติมเต็มด้วยอารมณ์และความซับซ้อนที่ซ่อนไว้ รวมถึงการควบคุมงานของหว่องการ์ไว ที่สามารถดึงศักยภาพของบาสออกมาได้อย่างเต็มที่ นับเป็นหนึ่งในหนังที่เป็นความภาคภูมิใจและเปล่งประกายฝีมือของบาสได้อย่างมหัศจรรย์


 

สำหรับชื่อของ โต้ง บรรจง หลายคนต่างรู้จักเขาในผลงานหลายเรื่องหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็น ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ (2004) หนังเปิดตัวสุดสยองที่ประเดิมศักราชใหม่ของหนังผีไทยสไตล์ T-Horror / หนังรอมคอมในยุค K-Pop ครองเมืองอย่าง กวนมึนโฮ (2010) หรือหนังสุดฮิตระดับบล๊อกบัสเตอร์ระดับพันล้านอย่าง พี่มากพระโขนง (2013) ก็ล้วนแต่บ่งบอกถึงฝีไม้ลายมือของตัวโต้งที่สามารถโชว์ศักยภาพในการทำหนังอันหลากหลายได้เป็นอย่างดี

สำหรับโต้งกับชื่อเสียงในระดับอินเตอร์นั้นมีมาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผลงานที่ถูกนำไปรีเมคในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ชัตเตอร์ ที่ฮอลลีวู้ดนำไปทำใหม่ในชื่อ Shutter (2008) และในเวอร์ชั่นอินเดีย Sivi (2007) หรือ แฝด (2007) ที่อินเดียไปรีเมคในชื่อ Alone (2015) กระทั่งหนังโรแมนติกดราม่าอย่าง แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว (2016) ก็ถูกนำไปเล่าขานใหม่ในเวอร์ชั่นจีนในชื่อ I Remember (2021) ที่เพิ่งผ่านสายตาชาวไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ในส่วนการทำงานระดับอินเตอร์นั้น โต้ง บรรจง เคยถูกเลือกให้ไปกำกับในหนังสยองขวัญที่รวมเรื่องสั้นจำนวน 26 ตอนไว้ในหนัง The ABCs of Death (2012) โปรเจกต์กระตุกขวัญที่เรียงชื่อหนังสั้นตามตัวอักษรตั้งแต่ A ถึง Z โดยโต้งรับหน้าที่กำกับในหมวดตัวอักษร N ในชื่อ Nuptials แต่หนังก็อินดี้จนหลายคนอาจจะลืมไปว่าเคยมีผลงานของโต้งอยู่ในนั้น หรือข่าวว่าโจวซิงฉือได้ชมหนัง 4 แพร่งและ 5 แพร่ง (2008, 2009) ในตอน คนกลาง กับ คนกอง ที่โต้งใช้สถานการณ์ความฮาเบรคความสยองในหนังได้อย่างอยู่หมัดและชอบจนอยากร่วมงานด้วย แต่สุดท้ายข่าวการจับมือกันก็เงียบหายไปอย่างน่าเสียดาย

 

 

กระทั่ง โต้ง บรรจง ได้โกอินเตอร์อย่างสมภาคภูมิเมื่อ นาฮงจิน ผู้กำกับที่เคยเขย่าขวัญสั่นประสาทในหนังอย่าง The Wailing (2016) ได้สนใจโต้งในฐานะผู้กำกับหนังสยองขวัญ จนเกิดเป็นโปรเจกต์ร่วมสร้างระหว่าง เกาหลีและไทย ในชื่อ “ร่างทรง (The Medium)” ที่นำความเชื่อในเรื่องวิญญาณเข้าสิง มาเล่าเป็นเรื่องราวของหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่การสืบทอดทายาทร่างทรง นำพาให้พวกเขาได้อัญเชิญวิญญาณสุดเฮี้ยนจนนำไปสู่ความหวาดกลัวถึงขีดสุด นับเป็นการกลับมาอย่างสมภาคภูมิในฐานะราชาหนังสยองขวัญยุคใหม่ของโต้ง หลังจากห่างหายในหนังแนวทางนี้มานานแสนนาน ขณะเดียวกันบรรยากาศความน่ากลัวในหมู่บ้านเร้นลับของชนบทภาคอีสาน ก็ขับเน้นความน่ากลัวในแบบ Exotic อันแปลกตาให้กับนักดูหนังต่างชาติได้เป็นอย่างดี

ซึ่งในขณะนี้ ร่างทรง ได้แผลงฤทธิ์ความน่ากลัวให้กับคนดูหนังชาวเกาหลีใต้ ได้สัมผัสความสยองจนสามารถขึ้นอันดับ 1 หนังทำเงินประจำสัปดาห์ได้ แถมยังมีการปล่อยข่าวว่าหนังหลอนสุดฤทธิ์จนต้องเปิดรอบเปิดไฟฉายในโรง หรือคนดูที่พยายามปิดตาตอดการเข้าชม ซึ่งความเฮี้ยนนี้ยิ่งสร้างความน่าดูให้กับหนังผีสุดหลอนของโต้งได้เป็นอย่างดี


 

และผู้กำกับท่านสุดท้าย ไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้ เพราะเพิ่งขึ้นรับรางวัลอันทรงเกียรติในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุดมาหมาด ๆ จากการคว้ารางวัล Jury Prize รางวัลภาพยนตร์ขวัญใจคณะกรรมการซึ่งเป็นรางวัลที่ 2 ในชีวิตที่ เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้ครอบครองรางวัลนี้จากหนัง “Memoria” หนังที่ถ่ายทำในประเทศโคลอมเบีย โดยได้ Tilda Swinton นักแสดงสายคุณภาพมารับบทนำ เรื่องราวของหญิงสาวที่ได้ยินเสียงปริศนานั่นคือเสียง ปัง! หลอนในหัวตลอดเวลาโดยไม่ทราบสาเหตุ เธอจึงเดินทางเพื่อค้นหาที่มาของเสียงประหลาดนี้ จนได้รับรู้เรื่องราวที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นกับตัวเธอ

แน่นอนว่าสำหรับ เจ้ย อภิชาติพงศ์ คอหนังบ้านเราอาจจะรู้จักในฐานะคนทำหนังอิสระที่อาจจะดูยากสักหน่อย แต่ในเมืองนอกแล้ว ชื่ออภิชาติพงศ์ คือศิลปินนักทำหนังอาร์ตที่สั่งสมชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน ด้วยการทำหนังที่หันหลังให้กับตลาดหลัก เพื่อสร้างงานศิลปะผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวที่นำพาคนดูสู่อีกห้วงอรรถรสของการรับชมในรสชาติที่แตกต่างและไม่มีการประนีประนอม จนกลายเป็นผู้กำกับสาย Author (ผู้กำกับที่มีแนวทางส่วนตัว และเป็นตัวของตัวเองแบบสุดโต่ง) ที่โลกต้องคารวะ ในการหลอมรวมเรื่องเล่าแนวสมจริงและแนวเหนือจริงเข้าด้วยกัน ผ่านการใช้ศาสตร์ของภาพและเสียงได้อย่างเต็มอรรถรสโดยไม่จำเป็นต้องใช้เส้นเรื่องนำพา

หนังหลายเรื่องจึงเป็นที่รักของนักดูหนังระดับสุดขีดคลั่งที่ต้องการเสพย์แนวทางใหม่ของภาพยนตร์ที่ต้องใช้การตีความ แต่ในทางตรงกันข้าม อภิชาติพงศ์ก็เป็นที่ดูแคลนในหมู่คนดูหนังสายแมสที่ไม่สามารถคลิกกับหนังของเขาได้ ขณะเดียวกันก็ไม่เป็นที่ถูกใจในหมู่ผู้สร้างของไทยที่มองว่าหนังต้องเสพย์ง่าย ต้องกอบโกยเงินได้ ถึงจะเรียกว่าเป็นหนังที่ดี

 

 

อภิชาติพงศ์ จึงแทบใช้เวลาทั้งชีวิตในการทำหนัง ระดมทุนกับผู้สร้างที่เห็นค่าในงานศิลปะของเขาซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างชาติ สะสมชื่อเสียงนับตั้งแต่หนังเรื่องแรก ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon, 2000) การเริ่มต้นสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านสารคดีทุนต่ำอย่างเด็ดเดี่ยว มาจนถึง สุดเสน่หา (Blissfully Yours, 2002) หนังรักชายขอบในตะเข็บชายแดน ไทย-พม่า ที่สามารถคว้ารางวัล Un Certain Regard prize จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ได้สำเร็จ / กรุยทางสร้างชื่อในฐานะหนังทดลองเต็มสูบในหนัง สัตว์ประหลาด (Tropical Malady, 2004) ที่คว้ารางวัล Jury Prize ในเมืองคานส์ได้สำเร็จเป็นตัวแรก และคว้ารางวัลสูงสุดได้ใน ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives, 2010) จนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ติดลิสต์ยอดเยี่ยมแห่งทศวรรษในหลายสำนัก

ซึ่งผลงานของเจ้ยนั้นนอกจากเป็นการก้าวข้ามการเล่าเรื่องในแบบขนบปกติแล้ว เขายังได้สะท้อนภาพจริงอันชวนเศร้าของปัญหาคนชายขอบ / เพศทางเลือก ไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองผ่านสัญญะอันเผ็ดร้อน ไม่แปลกใจที่นายทุนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์สายหลัก รวมไปถึงภาครัฐไม่เคยยื่นมือมาช่วยหรือร่วมแสดงความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของเขาเลย ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นการดิ้นรนหาทุนและการสั่งสมประสบการณ์ตลอด 20 ปีของเขาทั้งสิ้น

แต่ถึงอย่างไรก็ดี เสียงปรบมืออันยาวนานของผู้ชมหลังจากชมหนังเรื่องนี้จบ รวมไปถึงวลี “Long Live Cinema” และ Speech อันกล้าหาญ หลังจากขึ้นไปรับรางวัลที่ว่า

“ผมโชคดีที่ได้มายืนตรงนี้ ในขณะที่ผู้คนในประเทศของผมจำนวนมากไม่สามารถเดินทางได้ คนอีกหลายคนประสบความทุกข์อย่างมากจากภัยโรคระบาด ที่มาจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาดในเรื่องทรัพยากร, การบริการสาธารณสุข และการเข้าถึงวัคซีน ผมต้องการ call out ให้รัฐบาลไทยและโคลอมเบีย และรัฐบาลอื่นที่ประสบกับสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกัน ได้โปรดตื่นขึ้นมาทำงานเพื่อประชาชนของคุณเดี๋ยวนี้เลยครับ”

สะท้อนได้ดีว่าผลงานของเขานั้นไม่เพียงสะท้อนแง่มุมทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงกระเพื่อมอันยิ่งใหญ่ที่สังคมอีกด้วย


 

ความสำเร็จของผู้กำกับทั้ง 3 ท่าน ไม่ว่าจะด้วยรางวัลระดับโลก หรือรายได้มหาศาลจากการฉายนั้น มีปัจจัยที่พอจะวิเคราะห์และถอดบทเรียนจากความสำเร็จนี้ได้อย่างคร่าว ๆ แบ่งเป็น 5 ข้อดังต่อไปนี้

1. สร้างงผลงานให้เป็นที่จดจำ

เพราะผลงานที่ดี คือ Portfolio ที่จะอยู่กับคุณไปจนหมดลมหายใจ และผลงานของผู้กำกับทั้ง 3 ก็เป็นตัวบ่งชี้ได้อย่างดีว่า ผลงานคุณภาพนั้นจะถูกจดจำอย่างยาวนาน บาส อาจจะเคยพลาดพลั้งจากคำวิจารณ์ก้ำกึ่งจากหนังเรื่องแรกของเขา แต่ผลงานเรื่องที่ 2 ที่สร้างงานมาตรฐานชั้นยอดจากหนังฉลาดเกมส์โกง ก็สามารถทำให้เขาเป็นที่จดจำในวงกว้างได้อย่างง่ายดาย

 

2. ค้นหาสไตล์ตัวเองให้เจอ

การหาตัวตนของตัวเองได้นั้น เป็นเสมือนทางลัดที่จะนำทางไปสู่โลกอันกว้างใหญ่ไพศาล จะเกิดอะไรขึ้น หาก เจ้ย อภิชาติพงศ์ ยอมทำหนังตามแนวทางคนอื่น ชื่อของเจ้ยอาจจะไปได้ไม่ไกลเฉกเช่นปัจจุบันก็เป็นได้ หากแต่สไตล์ของคุณนั้น ก็ต้องมาพร้อมการยอมรับของคนกลุ่มหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งสไตล์ที่ดีต้องมาจากความชอบส่วนตัวของคุณเป็นแรงผลักดันสำคัญ จะพบว่าผู้กำกับระดับ Author หลายรายบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น Quentin Tarantino หรือ หว่องการ์ไว ต่างก็มีเอกลักษณ์และสไตล์เฉพาะตัว จนสามารถทำงานที่มีความส่วนตัวได้อย่างยอดเยี่ยมจนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกได้

 

3. ทำหนังให้โดนใจคนดัง เดี๋ยวแรงผลักดันจะมาเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้ผลงานของคุณจะยอดเยี่ยมขนาดไหน แต่หากได้คนดังร่วมผลักดันผลงาน มันก็ยิ่งสร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ให้กับผลงานคุณได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังเช่น One for the Road ที่ส่วนหนึ่งในความว้าวคือการได้หว่องการ์ไวมาโปรดิวซ์ให้ ซึ่งหว่องการ์ไวเอง สมัยทำหนัง Chungking Express เขาก็ได้ Quentin Tarantino เป็นป๋าดันให้หนังได้ฉายในอเมริกาจนกลายเป็นหนังคลาสสิคร่วมสมัยได้ / ร่างทรงก็เช่นกันที่ได้รับการการันตีจาก นาฮงจิน จนเป็นหนังที่ชาวเกาหลีให้การต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

 

4. ใช้เวลาสั่งสมตัวตนเพื่อพิสูจน์ความยิ่งใหญ่

แม้บาส จะใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองในระยะสั้น ๆ จากหนังเรื่องที่ 2 แต่หากเทียบเป็นระยะเวลาแล้ว จากหนังเรื่องแรก Countdown (2012) จนถึง One for the Road เขาต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานไม่ใช่น้อยในการพิสูจน์ผลงาน เช่นเดียวกันกับเจ้ย อภิชาติพงศ์ ที่การคว้ารางวัลของเขานั้นเริ่มต้นทีละขั้น กว่าจะสำเร็จได้รับการยอมรับนั้น เขาต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ฝีมือเป็นสิบ ๆ ปีเลยทีเดียว ดังนั้นประสบการณ์คือดอกเบี้ยชั้นดีที่จะพิสูจน์ตัวตนของคุณว่าคุณสามารถยืนหยัดในวงการนี้ได้อย่างยาวนานขนาดไหน

 

5. อย่ารอให้โอกาสมาหา จงเดินเข้าหาโอกาสนั้นด้วยตัวคุณเอง

เจ้ย อภิชาติพงศ์คือตัวอย่างที่ดีของการเดินหน้าหาทุนในการทำหนังด้วยตัวเองมาอย่างยาวนาน ซึ่งการทำหนังนั้นมีการระดมทุนอันหลากหลาย ไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ การรอคอยความช่วยเหลือโดยเฉพาะจากภาครัฐ ที่หากคุณไร้ซึ่งเส้นสายก็ไม่ต่างกับการรอคอยหิมะในเขตร้อนชื้น โลกใบนี้ถูกย่นย่อด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่คุณสามารถนำเสนอผลงานให้อีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นอย่าท้อหากคุณมั่นใจว่ามีพอร์ตงานเจ๋ง ๆ นายทุนจากอีกฟากฝั่งก็พร้อมผลักดันคุณอย่างง่ายดาย

อ่านบทความนี้จนจบแล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่วงการไหน คุณก็สามารถปักธงความภาคภูมิใจในระดับโลกได้หากคุณมั่นใจในผลงานของตัวเอง อย่าท้อหาก 10 คนจะหันหลังส่ายหน้าให้คุณ เพราะคนที่ 11 ที่หันหน้ารับผลงานของคุณอาจจะเป็นบันไดก้าวแรกที่แข็งแรงที่ชื่นชอบผลงานของคุณอย่างลึกสุดใจก็ได้ เฉกเช่นผู้กำกับทั้ง 3 ที่แม้ในขณะนี้ความสำเร็จจะเฉิดฉาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าที่พวกเขานั้นจะมาถึงจุดนี้

ดังนั้นอย่าท้อ อย่าละความพยายาม พวกเรา UNLOCKMEN ขอเป็นกำลังใจให้กับคุณทุกคน

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line