Business

ถอด 5 นิยามของการเป็น “Leader” ที่ดี จาก 5 เรื่องเล่าของผู้นำทั่วโลก

By: unlockmen January 20, 2021

การเป็น “หัวหน้า” อาจได้รับเลือกจากประสบการณ์ ความรู้ และสถานะทางสังคม แต่การได้ชื่อว่าเป็น “หัวหน้าที่ดี” ไม่ใช่สิ่งที่คนได้ชื่อว่าเป็น “หัวหน้า” จะทำได้ทุกคน

ไม่ว่าคุณจะได้เป็นหัวหน้าตามระดับตำแหน่งงานหรือตกอยู่ในสถานการณ์ให้รับบทบาทนั้น สิ่งสำคัญก็คือต้องแสดงสปิริต “Leader” ออกมาให้ได้ เพราะหน้าที่ของ “หัวหน้า” คือนำทีมไปสู่เป้าหมายด้วยกัน ไม่ใช่คนออกคำสั่งว่าใครต้องทำอะไรเท่านั้น

มาดูกันว่า 5 ผู้นำทั่วโลก ยึดแนวคิดหรือมีวิธีปฏิบัติของการเป็นหัวหน้าแบบไหนบ้าง เพื่อให้เห็นว่าการเป็นหัวหน้าหรือ “Leader” ที่ดีนั้นเป็นกันได้อย่างไร

รักลูกน้องเหมือนครอบครัว: Howard Schultz

หากย้อนเส้นทางการก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสตาร์บัคของ Schultz แล้วนั้น ต้องยอมรับว่าทุกอย่างเริ่มต้นจากความรู้สึก “…เหมือนผมได้อยู่บ้าน” นับแต่ก้าวแรกที่มาเยือนร้านสตาร์บัคในตอนที่แบรนด์เพิ่งก่อตั้งมาได้ 10 ปี หรือแม้แต่ตอนที่กลับมารับตำแหน่ง CEO หลังลาออกไปนานถึง 8 ปี เขาก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ได้ทำสตาร์บัคเป็นธุรกิจเลี้ยงปากท้อง แต่เขาทำมันเป็นธุรกิจที่หล่อเลี้ยงและเติมเต็มพลังใจ นี่เองทำให้เขาบริหารจัดการทุกอย่างภายใต้แบรนด์สตาร์บัคด้วยใจ ซึ่งรวมไปถึงการดูแลลูกน้องในทีมเหมือนหุ้นส่วนที่ร่วมหัวจมท้ายไปด้วยกัน

Source: Inc

นอกจากสวัสดิการที่ส่งเสริมการสร้างความมั่นคงในชีวิตระยะยาวอย่างประกันต่าง ๆ สิทธิผู้ถือหุ้น หรือแผนเกษียณงานแล้ว ความรักและการดูแลใส่ใจพนักงานเหมือนคนในครอบครัวก็สะท้อนสปิริตผู้นำของเขา เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์ปล้นในวอชิงตัน ดีซี ทำให้เขาต้องสูญเสียพนักงานไปสามคน Schultz รีบบินตรงไปที่นั่นทันที รวมทั้งอยู่ดูแลและเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนร่วมงานและครอบครัวของผู้เสียชีวิตเป็นเวลา 1 สัปดาห์ การกระทำของเขาแสดงให้เห็นว่าการทำงานในทีมและหัวหน้าที่ดี ไม่เพียงซัพพอร์ตลูกน้องในรูปแบบเงินหรือรายได้ชดเชยอันเป็นผลประโยชน์ทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังต้องอยู่กันด้วยความเอื้ออาทรและพร้อมสนับสนุนทุกความต้องการทางใจ ปฏิบัติต่อกันเหมือนเป็นคนคนหนึ่งในครอบครัวด้วย


เอาใจเขามาใส่ใจเรา: Ken Melrose

Empathy คืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญของหัวหน้าที่ช่วยบริหารจัดการทีมและทำให้บริษัทฟันฝ่าทุกปัญหาได้ Toro ถือเป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนสปิริตของ Leader ข้อนี้ออกมาได้ชัดเจน เดิมทีแบรนด์ผลิตเครื่องมือเครื่องจักรงานช่างแบรนด์นี้ประสบปัญหาถูกฟ้องร้องจากผู้ที่เกิดอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บจากการใช้งานเครื่องจักรเฉลี่ยปีละ 50 คดีด้วยกัน แต่เมื่อ Ken Melrose ก้าวขึ้นมาบริหาร ก็ได้ตั้งนโยบายไกล่เกลี่ยและเยียวยาผู้เสียหายใหม่ขึ้นมา โดยส่งตัวแทนบริษัทไปพบผู้เสียหายและครอบครัวถึงที่ รับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตั้งใจ รวมทั้งหาทางเยียวยาตามตกลงกัน

Source: Thecpt

แนวทางการเยียวยาของ Melrose แสดงให้เห็นถึงการมองในมุมของผู้เสียหายเป็นหลัก เพื่อให้เข้าถึงและเข้าใจพวกเขาได้อย่างรอบด้าน มากกว่าจ่ายเงินชดเชยไปตามข้อเรียกร้องทางกฎหมาย ซึ่งบริษัทใหญ่ที่มีเงินทุนหนามักทำได้ (และก็ต้องสูญเสียฐานลูกค้าไปเรื่อย ๆ) นโยบายไกล่เกลี่ยและเยียวยาดังกล่าวไม่เพียงทำให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าได้รับการชดเชยอย่างแท้จริง แต่ยังช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยเรื่องคดีความฟ้องร้องได้มากถึง 95% รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความไปต่อสู้คดีในศาล เรียกได้ว่า Melrose สามารถพาทีมและบริษัทแก้ปัญหานี้ไปได้สวยทีเดียว


สร้างความเชื่อมั่นให้กับทีม: James Parker

ถ้ายังจำกันได้ เหตุการณ์ 9/11 ก่อวิกฤติการณ์ส่งผลกระทบผู้คนและเศรษฐกิจอย่างหนัก รวมไปถึงธุรกิจสายการบินในอเมริกาหลายสายการบิน ถึงอย่างนั้น James Parker ก็พา Southwest Airlines ฝ่าวิกฤติครั้งนี้มาได้จนกลายเป็นต้นแบบสายการบินที่โดดเด่นเรื่อง customer service

James เลือกที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร เหล่าลูกเรือ และพนักงานในบริษัทท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดจากคำสั่งชัตดาวน์ของรัฐบาล โดยกระตุ้นให้ลูกน้องในทีมคิดวิธีเอนเตอร์เทนผู้โดยสารเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่วิตกกังวลเกินไป เช่น พาไปดูหนัง หรือโยนโบว์ลิง นอกจากนี้ เขายังประกาศจ้างพนักงานทุกคนต่อไป รวมทั้งทำแผน profit-sharing ในขณะที่สายการบินเจ้าอื่นต่างเลย์เอาต์พนักงานออกมากถึง 20%

Source: Buffalonews

แนวคิดและการกระทำของ James ช่วยทำให้พนักงานรู้สึกรักและเชื่อมั่นทั้งในตัวเขาและบริษัทมากขึ้น ส่งผลให้ลูกน้องอยากพัฒนาและร่วมฟันฝ่าปัญหาไปกับทีมมากกว่าแค่มาทำงานให้จบตามหน้าที่แต่ละวัน หากมองในมุมผู้บริโภค ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกเชื่อมั่นในแบรนด์ด้วย เพราะรับรู้ได้ว่าสายการบินพร้อมให้บริการอย่างแท้จริง ที่สำคัญ ยังถือเป็นตัวอย่างของการรับมือปัญหาที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้เป็นอย่างดี


ผลักดันลูกน้องให้โตไปพร้อมกัน: Chales Coffin

ครั้งหนึ่งนิตยสาร Fortune ได้ลิสต์ชื่อ Charls Coffin เป็นที่สุดแห่ง CEO ตลอดกาล นอกเหนือจากชื่อเสียงที่เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้ง General Electric (GE) บริษัทข้ามชาติผลิตเครื่องยนตร์อากาศยานระดับโลก Charls ยังสร้างนิยาม CEO ในอุดมคติของยุคปัจจุบัน ซึ่งทำให้เห็นว่าหัวหน้าหรือผู้บริหารที่ดีจำเป็นต้องทำอะไรและบริหารบริษัทอย่างไร

Source: Saratogaliving

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือวิธีปฏิบัติต่อพนักงานในบริษัท จริงอยู่ที่บริษัทต้องการบุคลากรคุณภาพมาพัฒนาโปรเจ็กต์สำคัญ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ของทีม แต่ Charls ไม่ได้เลือกวิธีจ้างคนเก่งมาทำงานเหมือนที่โทมัส เอดิสัน ผู้บริหารคนก่อนมักทำ แต่กลับเลือกสร้างคนที่มีอยู่ให้เก่งมากพอจะมาทำโปรเจ็กต์สำคัญไปด้วยกัน โดยเขาทั้งสอนและผลักดันนักวิทยาศาสตร์และเหล่าผู้จัดการในองค์กรให้พัฒนาทักษะต่าง ๆ และทำงานของตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนสร้างห้องทดลองและทำวิจัยแห่งแรกของอเมริกาขึ้นมาได้สำเร็จ รวมทั้งผลิตผลงานมากมายจนเกิดการขนานนามช่วงที่ Charls ดำรงตำแหน่ง CEO ว่าเป็นยุคของ Steinmetz

นี่เองที่ทำให้เห็นว่า หากคุณมีเงินอาจจ้างคนเก่งโปรไฟล์ดีมาทำงานตาม job description ได้มากมาย แต่ถ้าเราใส่ใจและผลักดันให้ลูกน้องในทีมดึงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ให้มากที่สุด คุณจะไม่ได้แค่คนที่ทำงานให้ แต่จะได้พาร์ทเนอร์ที่พร้อมลองทำและสร้างสิ่งใหม่ไปด้วยกัน


ลงไปทำมากกว่าสั่งให้ทำ: Walt Disney

เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จัก Walt Disney อย่างน้อยก็ต้องผ่านตาหรือได้ยินชื่อผลงานของเขาแน่นอน สิ่งที่ทำให้ดิสนีย์กลายเป็นที่จดจำและอยู่ในใจผู้คนมาอย่างยาวนานขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็รวมไปถึงวิธีบริหารลูกน้องในทีมของเขานั่นเอง

“Whatever we accomplish belongs to our entire group, a tribute to our combined effort” คำกล่าวของเขาที่เป็นเหมือนสารตั้งต้นในการปั้นดิสนีย์ นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาตั้งใจสร้างดิสนีย์ให้เป็นผลผลิตจากการมีส่วนร่วมของคนในทีม

Source: Dw

ดิสนีย์พยามปลูกฝังและกระตุ้นให้สมาชิกในทีมมีส่วนร่วมในการออกไอเดียหรือตัดสินใจทุกเรื่อง ยกตัวอย่าง ช่วงปี 1930 เขาลงทุนสร้างสตูดิโอที่แคลิฟอร์เนีย และออกเดินทางทั่วประเทศ เพื่อเปิดรับสมัครศิลปินมาร่วมงานด้วย 700 คน โดยคัดเลือกเองกับมือ รวมทั้งเสนอออกค่าใช้จ่ายสำหรับส่งเข้าเรียนคอร์สพัฒนาทักษะเพิ่มเติม หรือแม้แต่ตอนทำโปรดักชันของหนัง ดิสนีย์ก็ลงมาดูทุกขั้นตอนการผลิตด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสร้างโมเดล เขียนสตอรี่บอร์ด ลงรายละเอียดฉาก พล็อต หรือคาแร็กเตอร์ต่าง ๆ เขาลงไปทำงานทั้งหมดนี้ทั้งวันทั้งคืนร่วมกับทีมงานอีกหลายร้อยชีวิต เรียกได้ว่าไม่มีพนักงานคนไหนไม่เคยไม่ได้ทำงานร่วมกับ CEO

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งสปิริตของ Leader ที่ดี เมื่อคุณจัดแจงหน้าที่ความรับผิดชอบให้แต่ละคนอย่างเหมาะสมแล้ว การลงมาร่วมหัวจมท้ายกับทีมทุกขั้นตอนก็ช่วยทำให้ลูกน้องรู้สึกว่างานของตนเองมีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้


 

Source : Biography / Notredameonline / Smallbusiness / Resourcefulmanager

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line