Life

“เพราะเราอยู่ในประเทศที่ผีน่ากลัวที่สุดในโลก!” เรียนรู้ 5 เคล็ดลับการเล่าเรื่องน่ากลัวให้น่ากลัว

By: GEESUCH November 9, 2022

ก่อนนอนคุณสตรีมมิ่งอะไรดูเพื่อให้นอนหลับสนิทกันครับ ส่วนตัวผมนั้นเช่าหอพักอยู่กับรูมเมท ที่จะต้องเปิดเรื่องเล่าประสบการณ์ผีจากทางบ้าน The Ghost Radio ฟังทุกคืนราวกับว่าเป็นพิธีกรรมบางอย่างเพื่อให้ตาปิดได้สนิท แต่มีอยู่คืนนึงครับ ตอนเวลา 00:40 ตามเวลานัด เพื่อนคนนี้ก็เร่ง Volume ให้เสียงของพี่แจ็คได้ขับกล่อมเหมือนคืนก่อน ๆ ซึ่งผมที่กำลังพยายามข่มตาหลับถึงกับต้องเปิดตาพร้อมเงี่ยหูฟังไปด้วย เพราะเรื่องเล่าในคืนนั้นเกิดขึ้นในหอที่พวกเราทั้งคู่อาศัยอยู่ แล้วจู่ ๆ คนเล่าคนนั้นก็บอกว่าได้ยินเสียงหัวเราะทุกคืนตอนเวลา 00:40 จากห้องที่หมายเลขเดียวกับที่เราทั้งคู่นอนอยู่! ในตอนนั้นเอง ผมถึงกับสะดุ้งขึ้นมาเพื่อจะคุยกับรูมเมทว่าจะเอายังไ ง… ในเตียงนอนของรูมเมทของผมว่างเปล่า มีเพียงเสียงหัวเราะที่ไม่มีต้นตออย่างน่ากลัวอยู่ตรงนั้น     

เป็นยังไงบ้างครับกับเรื่อง (แต่ง) ผีของผม ถ้าได้โทรไปเล่าให้ฟังเองจะน่ากลัวกว่านี้อีกนะ นี่ล่ะที่เขาเรียกว่าถ้าเราโตขึ้นมาในประเทศไทยที่มี Soft Power เรื่อง ‘ผี’ เราก็จะมีทักษะในการเล่าเรื่องผีติดตัวไปโดยปริยาย แต่ต้องบอกก่อนนะครับถึงผมจะสนใจเรื่องผี แต่ตัวเองก็กลัวผีมาก ๆ แล้วเรื่องผีในบ้านเรานี่มีทุกรูปแบบ และเยอะแบบไม่จบไม่สิ้นจริง ๆ ลองดูจากข้อมูลปี 2018 ที่ The MATTER ทำเอาไว้ ก็จะเห็นว่าเพียงรายการผีรายการเดียวในไทย ก็มีเรื่องเล่าที่ไม่ซ้ำกันเต็มไปหมด 

เอาจริง ๆ การเล่าเรื่องผีให้น่ากลัวก็เป็นศิลปะแบบเดียวกับอาชีพ Comedian หรือ Podcaster เลยนะ เพราะระดับจะเล่าเรื่องผีให้คนกลัวได้มันไม่ง่าย ไม่ใช่แค่ว่าต้นเรื่องดีอย่างเดียวก็น่ากลัวได้เลย แต่ต้องพึ่งองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งการเรียงไทม์ไลน์ให้สนุก ปรับโทนเสียงให้สอดคล้องกับอารมณ์ของในแต่ละเหตุการณ์ ไปจนถึงการเลือกสรุปจบตอนท้ายให้น่าสนใจ อันนี้พูดทั้งในแง่ของที่ไม่ว่าจะเปลี่ยนเรื่องจริงหรือว่าเรื่องแต่งขึ้นก็ตาม  

แต่ว่าเมื่อเราอยู่ประเทศไทยแล้ว คุณก็เป็น ‘นักเล่าเรื่องผี’ ได้นะ UNLOCKMEN จะขอแชร์เคล็ดลับทักษะการเล่าเรื่องน่ากลัวให้น่ากลัวที่เราอ่านเจอมา ไม่ว่าจะใช้กับทักษะการเล่าเรื่องประสบการณ์ตรงที่เจอมาเพื่อโทรไปเล่าให้พี่แจ็คในรายการ The Ghost ฟัง หรือเขียนนิยายสักตอนก็เวิร์คทั้งนั้น 


Lesson 1 ให้แน่ใจว่าเราให้รายละเอียดกับตัวละครหลักมากพอ

ในเคล็ดลับที่ 1 คือการทำให้ตัวละครสมจริงด้วยการให้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เฉพาะเจาะจง (specific) มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น นิสัยใจคอ เป้าหมายในชีวิต พฤติกรรมเฉพาะตัว โดยพยายามเลือกจุดที่จะสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้ฟังเข้ามาด้วย เพื่อตัดรายละเอียดบางอย่าง ซึ่งอาจจะไม่ได้จำเป็นต่อเรื่องเล่านั้นออกไป  

ถ้าใครเป็นแฟนนิยายของราชาสยองขวัญ Stephen King จะรู้กันดีว่าหนังสือของเขามักใช้เวลาไปกับการปูภูมิหลังของตัวละครหลายบทอยู่เสมอ (เป็นเหตุผลหนึ่งที่นิยายทุกเล่มหนาเตอะ) จนเหมือนกับตัวละครนั้น ๆ มีเลือดเนื้อในชีวิตจริง และเราได้รู้จักเขาจริง ๆ และเมื่อเรื่องน่ากลัวเกิดขึ้นในเล่ม เราก็จะรู้สึกอินกับความรู้สึกที่เขาต้องเจอ จนอดกลัวตามไปด้วยทุกคร้งไม่ได้ 


 Lesson 2 เอาใจใส่กับความน่ากลัวของฉากหลัง

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่าเรื่องน่ากลัวคือฉากหลัง”

คือคำพูดของ Ruth Robbins ศาสตราจารย์สาขาวรรณคดีจากมหาวิทยาลัย Leeds Beckett University สาขาวรรณคดียุควิคตอเรียน (Victorian literature) เธอบอกว่าแรกเริ่มในการเขียนนั้นให้เริ่มจากการคิดขึ้นก่อนเลยว่าฉากของเรื่องนั้นเป็นที่ไหน พร้อมกับลงรายละเอียดสำคัญ ๆ เช่น บรรยากาศเป็นอย่างไร, มีองค์ประกอบน่าขนลุกอะไรบ้าง แล้วจะมีเรื่องราวน่ากลัวแบบไหนเกิดขึ้นที่นั่นได้บ้าง 

กลับมาที่ข้อมูลปี 2018 ของ The MATTER อีกครั้ง จะเห็นว่าเข้ามีการจัดอันดับกราฟให้เห็นว่า เมื่อเรื่องเล่านั้น ๆ ถูกเปลี่ยนสถานที่ฉากหลังออกไป มันจะมีผลต่อความสนใจและความกลัวของคนฟังอยู่เสมอ ซึ่งมีฉากของ ‘บ้าน’ ยึดพื้นที่ความน่ากลัวอันดับ 1 ซึ่งตรงนี้สามารถอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ของคนกับสถานที่ในแง่ที่ว่า เราต่างมีภาพความกลัวในใจในรูปแบบของสถานที่ที่ต่างกันออกไป บางคนไม่กล้าเข้าวัดเพราะเชื่อว่าคนตายเวียนวนอยู่ที่นั่นตลอดเวลา หรือบางคนก็กลัวโรงแรมเพราะให้ความรู้สึกของเป็นพื้นที่ปิดตาย เป็นต้น 


Lesson 3 เล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครที่อยู่ในภาพ หรือ เล่าเรื่องผ่านมมุมมองของคนที่อยู่นอกภาพแต่กำลังเป็นผู้สังเกตุการณ์อยู่ 

หนึ่งในนักเขียนนิยายที่มีความสำคัญต่อวงการ Horror Fiction อย่าง R.L. Stine ผู้ให้กำเนิด Goosebumps แชร์เทคนิคจาก MasterClass ของเขาว่า เคล็ดลับที่ในการสร้างเรื่องให้น่ากลัวสุด ๆ คือการใช้มุมมองที่ใกล้ชิดกับตัวละครหลักของเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความสยองขวัญที่จะเกิดขึ้นแบบใกล้ชิดมากที่สุด พูดง่าย ๆ ก็คือการเล่าในมุมมองบุคคลที่ 1 เปรียบว่าเรากำลังสวมบทเป็นตัวละครในเรื่องนั้นเอง ส่วนอีกวิธีที่สร้างความน่ากลัวได้ไม่แพ้กัน ก็คือการเล่าแบบมุมมองบุคคลที่ 3 เป็นผู้สังเกตุการณ์เหตุการณ์อย่างใกล้ชิด แต่จะมีข้อควรระวังอยู่ว่า คุณต้องรักษาบาลานซ์ระหว่างสิ่งที่ตัวละครรู้สึก สิ่งที่ตัวละครเห็น และสิ่งที่ตัวละครคิดให้ดี

จากคำพูดของ R.L. Stine ลองสังเกตุจากเรื่องเล่าใน The Ghost Radio หรือหนังผีที่มี Narrator ที่มีผู้บรรยายของเรื่อง ที่ใช้วิธีการเล่าโดยการเปรียบตัวเองเป็นตัวละครหลักของเรื่องนั้น ๆ ซึ่งจะทำให้ความน่ากลัวของเรื่องดูน่ากลัวขึ้นทวีคูณ ราวกับว่าผีที่ยืนรำอยู่หน้าห้องของผู้หญิงในเรื่องคนนั้น กำลังฟ้อนเล็บอยู่นอกห้องของเราเอง


Lesson 4 วางความสงสัยไว้ตั้งแต่เริ่ม แล้วค่อยให้คำตอบอย่างช้า ๆ  

เคล็ดลับต่อไปนี้เป็นของ Lee Child นักเขียนแนว Mystery & Suspense ที่นักอ่านชาวไทยคุ้นเคยดีกับซีรีส์ Jack Reacher ที่ทั้งบู๊ระห่ำ และวางปมความน่ากลัวได้อย่างแยบยล อัจฉริยะอีกคนของวงการนี้ ได้แชร์เคล็ดลับของเขาเองว่า ‘ให้สร้างคำถามต่อเรื่องราวตั้งแต่ต้นเรื่อง แล้วชะลอคำตอบให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้’ เช่น เปิดเรื่องด้วยการที่พระเอกของเราถูกขังอยู่ในคุกแห่งหนึ่งมานานกว่า 10 ปี แล้วเขาเข้ามาอยู่ในนี้ได้อย่างไรล่ะ? หรืออีกตัวอย่างคือ หญิงชราได้ยินเสียงอะไรบางอย่างในโถงทางเดินอันมืดมิด เจ้าสิ่งนั้นคืออะไร และมันต้องการอะไรจากเรา? 

ไอเดียของ Lee Child เป็นรูปแบบที่ค่อนข้างคลาสสิกมาก ๆ ในภาพยนตร์และหนังสือแนวสืบสวนสอบสวน (ซึ่งเข้าใจได้เพราะเป็นทางถนัดของเจ้าตัว) อย่าง Se7en (1995) ของ David Fincher เองก็ใช้วิธีการนี้ วางปมคำถามไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง แล้วไปขมวดตอบคำถามนี้เอาตอนจบไม่กี่นาทีท้ายเรื่องเลย ในซีรีส์ American Horror Story (2011) ก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามาในแนวทางนี้ เรียกว่าเป็นการสร้างความน่ากลัวแบบใจเย็นแล้วเชือดคนดูนิ่ม ๆ ในตอนจบ


 Lesson 5 สปอยล์หายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น   

เคล็ดลับนี้ใช้ในช่วงจังหวะที่คุณปูเหตุการณ์เข้าสู่ ‘ช่วงก่อนพีค’ ของเรื่อง ที่กราฟเริ่มไต่ระดับกำลังจะแตะเข้าสู่ขีดสีแดงของความน่ากลัวสูงสุด ในช่วงเวลานั้นเอง ให้สปอยล์เหตุการณ์ล่วงหน้าของตัวละคร โดยการใส่ความเห็นของตัวผู้เล่าเองให้กับตัวละครหลัก ว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดกับเหตุการณ์ที่ตัวละครกำลังเผชิญได้นั้นคืออะไร และจากตรงนี้เอง มีตัวเลือกการสร้างความกลัวให้ 2 แบบ 

5.1 anticlimax : หักมุมก่อนในทีแรกว่าที่สปอยล์ไปนั้นมันไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรอก จนเมื่อคนฟังโล่งใจ ก็ให้จัดการขยี้ให้ตกใจในเวลาต่อมา เป็น Jump Scare ให้ตกใจโดยไม่ทันตั้งตัว 

5.2 The Spoil Is Real : ปล่อยให้สิ่งที่สปอยล์เกิดขึ้นจริงเลยในจังหวะนั้นเพื่อระเบิดความน่ากลัวในทีเดียว

และสำหรับเคล็ดลับสุดท้ายนี้ เอาจริง ๆ แล้วคุณสามารถจบเรื่องเล่าทั้งหมดโดยการให้ความน่ากลัวของเรื่องแตะขีดสีแดงสูงสุดได้เหมือนกันนะ เอาให้ความกลัวทะลุหัวใจของผู้อ่านหรือคนฟังเก็บไปนอนฝันร้าย หรือหลังเรื่องจบแล้ว จะสรุปภาพรวมทั้งหมด พร้อมอธิบายแต่ละจุดสำคัญโดยการใช้วิธีที่ 4 ก่อนหน้าก็น่ากลัวไม่แพ้กัน


SOURCE : 1 / 2 / 3 / 4 / 5

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line