Entertainment

“5 หนังเกาหลีเสียดสีสังคม” เพราะความปกติสุขในทุกวันอาจซ่อนความบิดเบี้ยวจนยากจะเยียวยา

By: TOIISAN January 10, 2020

ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าในช่วงเวลานี้ภาพยนตร์จากประเทศเกาหลีใต้เรื่อง Parasite (2019) ก่อให้เกิดการพูดถึงเป็นวงกว้างไม่ใช่แค่คนในวงการหนังเท่านั้น เพราะภาพยนตร์ที่กล้าเล่าความจริงในชีวิตประจำวัน เสียดสีสังคมแบบจัดเต็มทำให้คนส่วนใหญ่อินตามเรื่องราวในหนังได้ง่าย ๆ 

เพราะภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ที่มาแรงมากในปีนี้ ทำให้ UNLOCKMEN เลือกภาพยนตร์เสียดสีสังคมเกาหลี 5 เรื่อง เนื้อเรื่องหนัก เครียด ชวนให้หดหู่และเล่าไว้ได้เจ็บแสบมาแบ่งปันกันให้ทุกคนรับรู้ว่า ความสังคมและผู้คนที่เราพบเจอกันอยู่ทุกวันมันอาจไม่สวยงามอย่างที่ตาเห็น แถมหนังทั้ง 5 เรื่อง ยังแสดงให้เห็นว่ากระแสจากสื่อบันเทิงมีส่วนขับเคลื่อนสังคมได้มากกว่าที่คิด  

 

Silenced (2011) 

Silenced (2011) อ้างอิงจากเหตุการณ์จริงสุดสะเทือนใจของเกาหลีใต้ เมื่อครูคนใหม่มาสอนในโรงเรียนสำหรับเด็กผู้บกพร่องทางการได้ยินอินฮวา (เด็กหูหนวก) เขาบังเอิญพบว่าเด็กเหล่านี้ถูกทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศเป็นเวลานาน ครูคนใหม่ (รับบทโดย กงยู) จึงพยายามนำเรื่องราวน่าสะอิดสะเอียนที่ไม่มีใครรับรู้นี้ออกให้แจ้งสาธารณชนได้รับรู้โดยร่วมมือกับนักสิทธิมนุษยชน

เมื่อภาพยนตร์เรื่อง Silenced (2011) ออกฉายในปี 2011 ทำให้โรงเรียนอินฮวาถูกสั่งปิดในอีกสองเดือนถัดมาพร้อมกับการตั้งคำถามของสังคมว่ามันเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากเรื่องน่าเศร้านี้กินเวลานานหลายปีตั้งแต่ปี 2005 ที่แก๊งครูผู้ก่อเหตุ 6 คน กับผู้อำนวยการโรงเรียนร่วมมือกันปกปิดเหตุการณ์ดังกล่าว

แม้ถูกสืบสวนและตั้งข้อหาข่มขืนเด็กพิการอย่างน้อย 9 คน แต่เรื่องกลับเงียบหายไปเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ใส่ใจจะเอาคนผิดมาลงโทษ คนชั่วลอยนวล สื่อก็เพิกเฉย คนทั่วไปจึงไม่เคยรับรู้ถึงเรื่องแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กพิการที่ถูกล่วงละเมิด

เมื่อภาพยนตร์สามารถเรียกร้องความยุติธรรมกลับมาให้กับเหยื่อ ประชาชนในเกาหลีใต้ต่างลุกฮือ เรียกร้องให้นำคดีที่เงียบไปกลับมาพิจารณาใหม่ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ช่วงโหว่ของกฎหมายทางเพศในประเทศตัวเองว่าไร้ประสิทธิภาพ ตุลาการศาลไม่ทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ ด้วยกระแสสังคมอันร้อนแรงทำให้รัฐสภาเกาหลีใต้มีมติเอกฉันท์ให้ผ่าน ‘ร่างกฎหมายโดกานี’ (ชื่อหนังภาษาเกาหลี) ให้ยกเลิกอายุความคดีอาชญากรรมทางเพศเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปี รวมถึงผู้พิการ และให้เพิ่มโทษสูงสุดเป็นจำคุกตลอดชีวิต 

สุดท้ายใครจะเชื่อว่าภาพยนตร์เรื่องเดียวจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมได้มากมายขนาดนี้ 

 

V.I.P (2017) 

สำหรับข่าวฉาวใหญ่สะเทือนวงการบันเทิงของเกาหลีใต้ปี 2019 คงไม่มีข่าวไหนดังไปกว่า ‘ห้องแชทลับของเหล่าเซเลป’ และ ‘คดีผับเบิร์นนิ่งซัน’ เมื่อนักข่าวสามารถรวบรวมข้อมูลห้องแชทวิตถารของเหล่านักร้อง นักแสดงชายของเกาหลีว่าพวกเขาสนุกสนานแค่ไหนกับการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง และสามารถสาวข้อมูลเพิ่มไปถึงผับชื่อดังว่ามีบริการเปิดห้อง VIP ให้แขกสามารถข่มขืนผู้ใหญ่รวมถึงอัดคลิปเซ็กซ์แบบวิปริตจนเป็นคดีความยืดเยื้อและฉาวไปทั่วโลก 

วงการหนังเกาหลีใต้เคยทำภาพยนตร์ที่มีเรื่องราวใกล้เคียงกับคดีดังกล่าวไว้ในเรื่อง V.I.P (2017) เล่าถึงชีวิตเหนือจินตนาการของ คิม กวางอิล (รับบทโดย อี จงซอก) ลูกชายของผู้มีอิทธิพลเงินทุนหนาในเกาหลีเหนือที่ถูกตามใจมาตั้งแต่เด็ก

เขามีรสนิยมแปลกประหลาดจากคนทั่วไป ชื่นชอบความรุนแรง มีความสุขเวลาเห็นคนร้องไห้จากความเจ็บปวด สนุกกับการทำร้ายร่างกายผู้หญิง ข่มขืน ทารุณกรรม และฆ่าทิ้งแบบไม่สนใจมากกว่า 12 คดีในเกาหลีเหนือ เพราะเขารู้ว่าตัวเองคือชนชั้น VIP ของเกาหลีที่ทำผิดแค่ไหนก็จะได้รับการให้อภัยเสมอ 

เมื่อเข้ามาอยู่เกาหลีใต้ก็ยังคงคอนเซ็ปต์เด็กหนุ่มโรคจิตอย่างต่อเนื่อง ก่อคดีเพิ่มอีก 9 คดี ถูกเพ่งเล็งจากสำนักงานตำรวจเกาหลีใต้ หน่วยสืบราชการลับ (NIS) และนายทหารจากเกาหลีเหนือ เจ้าหน้าที่ที่ทำคดีต่างต้องระแวดระวังอำนาจมืดจากครอบครัวของคิม กวางอิล พร้อมกับพยายามจับกุมเขามารับโทษทางกฎหมายให้ได้ 

V.I.P (2017) เป็นภาพยนตร์ที่มีฉากสะเทือนใจอยู่หลายฉาก เล่าถึงการเมืองสกปรก อำนาจเงินที่สั่งการทุกอย่างได้ดั่งใจ กลุ่มผู้มีอิทธิพล การโยนความผิดให้แพะผู้บริสุทธิ์ และผลประโยชน์ทับซ้อนขององค์กรต่าง ๆ ที่ยอมทำเป็นไม่รู้เห็นกับเรื่องแย่ ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือความจริงในสังคมแต่ไม่มีใครกล้าพูด

 

Kim Ji Young Born 1982 (2019) 

“เพราะพวกเราทุกคนคือ คิม จียอง”

Kim Ji Young Born 1982 (2019) ดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกัน ผลงานของ โช นัมจู โดยผู้แต่งเขียนคำโปรยไว้หน้าแรกของหนังสือว่า “เพราะพวกเราทุกคนคือ คิม จียอง” โดยอ้างอิงมาจากรายชื่อยอดฮิตของเด็กผู้หญิงในปี 1982 ผู้เขียนต้องการจะสื่อว่าชีวิตของคิม จียอง ในหนังสือก็คือเรื่องราวของผู้หญิงเกาหลีทุกคนที่ต้องเจอกับความหดหู่ 

หนังสือจะเล่าถึง คิม จียอง หญิงสาวอนาคตไกลต้องทิ้งชีวิตการทำงานเพราะแต่งงาน เปลี่ยนตัวเองมาเป็นแม่บ้าน เป็นภรรยาที่ดีของสามี และเป็นแม่ที่ดีของลูก หนังสือจะพาเราไปพบกับสังคมชายเป็นใหญ่เข้มข้นของเกาหลีใต้ จนบางครั้งผู้หญิงบางคนอาจโดนกดขี่ด้วยระบบนี้โดยไม่รู้ตัว ความปกติในสังคมอาจเป็นเรื่องที่ไม่เท่าเทียมมาตั้งแต่แรกแต่กลับไม่มีใครรู้ตัวเลยว่าสิ่งที่เจออยู่มันไม่ยุติธรรม 

เดิมทีหนังสือคิมจียอง เกิดปี 82 ไม่ค่อยได้รับความนิยมในประเทศเกาหลีใต้เท่าไหร่นัก จนเกิดประเด็นดราม่าเมื่อมีคนถ่ายภาพ ‘ไอรีน’ ไอดอลสาววง Red Velvet ถือหนังสือเล่มดังกล่าว ทำให้แฟนคลับผู้ชายบางกลุ่มไม่พอใจที่เธออ่านหนังสือเล่มนี้จนถึงขึ้นเอารูปไอรีนที่ตัวเองซื้อมาเผาและถ่ายรูปลงโซเชียล เพราะรับไม่ได้ที่เธออาจจะเป็นเฟมินิสต์ 

มุมมองเฟมินิสต์ของเกาหลีใต้ยังคงแตกต่างกับมุมมองของคนทั่วโลก ผู้ชายเกาหลีบางคนมองว่าเฟมินิสต์คือกลุ่มคนที่อยากให้ผู้หญิงขึ้นเป็นใหญ่ กดอำนาจผู้ชาย เลยทำให้รังเกียจใครก็ตามที่แสดงตัวว่าเป็นเฟมินิสต์ แต่เมื่อเหตุการณ์เผารูปไอดอลหญิงกลายเป็นข่าวดัง ผู้คนกลับพากันตามหาหนังสือเรื่องคิมจียองเกิดปี 82 มาอ่าน และเรียกมันว่า ‘หนังสือที่ไอรีนอ่าน’ 

ในที่สุดเรื่องเล่าในหนังสือก็กลายมาเป็น Kim Ji Young Born 1982 (2019) เธอจะมีชีวิตในโลกภาพยนตร์ ด้วยโทนเรื่องนุ่มนวลกว่าหนังสือ เผยให้เห็นสังคมเกาหลีใต้ ความทุกข์ของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พาไปพบกับสิ่งที่ผู้ชายต้องแบกรับ มองสิ่งที่ผู้หญิงต้องเผชิญ บางช่วงบางตอนชวนให้ผู้ชมขบคิดว่าตัวเองอาจเคยทำเรื่องเล็ก ๆ แต่สะเทือนใจคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว และ ‘คิม จียอง เกิดปี 82 ไม่ใช่หนังของผู้หญิงเท่านั้น แต่มันคือหนังของทุกคน’

 

The Chaser (2008) 

 The Chaser (2008) ภาพยนตร์ระทึกขวัญดัดแปลงจากคดีฆาตกรต่อเนื่อง ‘ยูยังซอล’ ช่วงปี 2003-2004 กับการก่อคดีฆาตกรรมผู้บริสุทธิ์มากกว่า 20 ราย ในเวลาเพียงแค่ 11 เดือนเท่านั้น ว่ากันว่ายังซอลในวัยเด็กถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรุนแรง ครอบครัวที่ไร้ความอบอุ่นและความรักทำให้เขากลายเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แถมยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี เมื่อเติบโตขึ้นเขาจึงคิดว่าสาเหตุทำให้ตัวเองป่วยและมีชีวิตล้มเหลวเป็นเพราะ ‘สังคมเกาหลีใต้ที่เน่าเฟะ’ 

การฆาตกรรมเพื่อระบายความโกรธแค้นที่มีต่อสังคมเกาหลีเริ่มต้นขึ้นจากการสังหารคนรวย เขามองหาเหยื่อผู้มีอันจะกิน ลวงมาทรมาน และสังหารทิ้งด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ใช้ค้อนทุบหัวจนแหลก เอามีดพกปาดคอ จากนั้นค่อยทำลายหลักฐานด้วยการแร่ร่างไร้วิญญาณเป็นชิ้น ๆ เพื่อนำไปทิ้ง 

เมื่อว่างจากการก่อเหตุฆาตกรรม เขามักปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจรีดไถเงินจากโสเภณี แมงดา จนมีเงินเป็นกอบเป็นกำ สามารถใช้ชีวิตหรูหราได้อย่างคนรวยที่เขาเกลียดหนักหนา และเริ่มมีความรักจนถึงขั้นลงหลักปักฐานสร้างครอบครัว แต่ก็ยังไม่วายออกล่าเหล่าคนรวยอยู่เหมือนเดิม 

ความวิปริตกู่ไม่กลับของเขาเริ่มหนักขึ้นเมื่อชีวิตรักล้มเหลวจนถึงขั้นหย่าร้าง เขาได้ขยายเป้าหมายจากการสังหารแค่คนรวยเปลี่ยนมาเป็นออกล่าโสเภณี ล่อลวง สังหาร หั่นศพเป็นชิ้น ๆ แถมยังนำชิ้นส่วนไปทำอาหารกิน สำหรับใครกำลังมองหาภาพยนตร์ที่ดูแล้วชวนให้อึดอัดและเสียดสีสังคม The Chaser (2008) ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยครับ เพราะคดียูยังซอลถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สะเทือนขวัญของเกาหลีใต้ที่ผู้คนจะไม่มีทางลืมง่าย ๆ 

 

Han Gong Ju (2014) 

“เรื่องเลวร้ายที่สุดในชีวิตคุณคืออะไร ? สำหรับฮัน กงจู คือการถูกข่มขืนโดยชาย 41 คน”

เมื่อพูดถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ทีไร หลายคนที่เคยดูแล้วต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหดหู่มาก ๆ กับ Han Gong Ju (2014) หนังที่เล่าเรื่องจริงจากคดีเมืองมิรยางปี 2004 เมื่อเด็กชาย 41 คน รุมข่มขืนนักเรียนหญิง 3 คนนานกว่า 11 เดือน แม้จะทำผิดและมีหลักฐานแน่นหนาเพราะพวกเด็กผู้ชายได้ถ่ายคลิปเก็บไว้แบล็กเมล์เหยื่อ แต่ผลตัดสินดันออกมาว่าผู้กระทำผิดโดนแค่ข้อหาทำร้ายร่างกายและกรรโชกทรัพย์

Han Gong Ju (2014) จะไม่เน้นฉากรุนแรง ไม่เน้นฉากข่มขืน แต่สุดสะเทือนใจทุกครั้งเมื่อเห็นหน้าของฮัน กงจู เหยื่อจากการข่มขืนต้องใช้ชีวิตต่อไปท่ามกลางเสียงหัวเราะของเพื่อนร่วมชั้น เจ้าหน้าที่ที่รับคดีมองเธอด้วยสายตาดูแคลน คนชั่วที่ทำให้เธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปยังคนลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคม แม้เธอจะบอกคนรอบตัวอยู่เสมอว่า “ฉันไม่ได้ทำอะไรผิด” ก็ไม่มีใครแคร์เธอจริง ๆ สักคน 

กงจูไม่สามารถเรียนจบชั้นมัธยมปลายได้เพราะความกดดันหลายอย่าง แม้จะบอกให้ไม่แคร์สายตาคนรอบข้างแต่ถ้าให้ทำจริง ๆ มันก็ไม่ง่าย นอกจากนี้เธอยังถูกคุกคามจะครอบครัวของเด็กผู้ชายหลายคน จากเด็กวัยรุ่นอนาคตไกลกลายเป็นเด็กที่ต้องหาเช้ากินค่ำด้วยการใช้แรงงาน 

ความหดหู่ที่นำเสนอในเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เล่าถึงการบูลลี่เหยื่อ เสียดสีกฎหมายเกาหลีใต้ และความเศร้าทางจิตใจที่ทำอย่างไรก็ไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ โดยไม่ใช้ฉากรุนแรงแต่ทำให้ใครหลายคนเสียน้ำตาได้ง่าย ๆ 

 

เรื่องราวที่ต่างสถานการณ์ ต่างเวลา ต่างบุคคลของภาพยนตร์ทั้งหมด 5 เรื่อง แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลย บางเรื่องเล่าถึงชีวิตแม่บ้าน อีกเรื่องเล่าถึงคนรวยโรคจิต และเรื่องของเด็กสาวที่ถูกข่มขืน แต่สิ่งที่ภาพยนตร์ทั้ง 5 เรื่องมีเหมือนกันคือความต้องการสื่อสารให้ผู้ชมเห็นโลกแห่งความเป็นจริงที่แสนเจ็บปวด พร้อมกับหวังว่าการเล่าเรื่องของสื่อบันเทิงที่เรียกว่า ‘ภาพยนตร์’ จะทำให้ผู้คน ‘ตื่น’ และมองเห็นความเป็นจริงได้มากขึ้น 

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line