Business

พร้อมพุ่งชน! ‘9 หมัดเด็ดที่ Google-Facebook-Apple’ไว้คัดคนเจ๋งๆ เข้าทำงาน

By: PSYCAT May 3, 2017

ในปี ๆ หนึ่งบริษัทชั้นนำของไทยมักได้รับความสนใจอย่างล้นหลามเมื่อพวกเขาเปิดรับสมัครคนที่จะเข้าไปร่วมงาน บริษัทชั้นนำในไทยยังเต็มไปด้วยคนที่แข่งขันกันเข้าไปทำงานด้วยมากขนาดนั้น ลองจินตนาการดูสิว่า Google, Facebook, Apple, Amazon บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกแบบนี้ปี ๆ หนึ่งจะมีคนส่งใบสมัครไปให้พวกเขาต้องปวดหัวกันมากขนาดไหน

จะดีแค่ไหนถ้าเรารู้ว่าวิธีการคัดเลือกผู้สมัครจากคนเป็นพันเป็นหมื่นคนนั้น เขาใช้วิธีหลอกล่อให้เราแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาอย่างไรบ้าง หรือใช่กลยุทธแบบไหนในการทำให้เราได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมา นี่คือความลับ 9 ข้อที่ Sarah Cooper ผู้เขียนหนังสือเรื่อง 100 Tricks to Appear Smart in Meetings  รวบรวมมาให้เราว่าบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกใช้วิธีใดในการคัดกรองคนเข้าทำงาน

เป็นคนไปสมัครอ่านไว้ก็ได้เปรียบ หรือเป็นคนรับสมัครจะเอาไปใช้บ้างก็ได้ผู้สมัครเจ๋ง ๆ แน่นอน ถ้าไม่อ่านก็พลาดมาก บอกเลย

pexels-photo-196656

ไม่โทรไปตรงเวลามากนัก อาจก่อนหรือหลังเวลานัด 15 นาที

หมัดเด็ด: ไม่โทรไปตรงเวลามากนัก
เหตุผล: หาคนที่เตรียมพร้อมอยู่เสมอ

บ่อยครั้งที่บริษัทชั้นนำไม่ได้ว่างมากพอจะเรียกทุกคนเข้ามาสัมภาษณ์ การสัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์จึงเป็นการกรองขั้นแรกที่ได้ผลดีนัก วิธีการง่ายแสนง่ายก็คือ หากนัดเวลา บ่ายสามโมงตรง ก็เป็นไปได้ว่าบริษัทจะเลือกโทรมาก่อนเวลานัดหรือหลังเวลานัดสัก 15 นาที บ่าย 2.45 ก็เตรียมตัวให้พร้อมได้แล้ว

การโทรไปตรงเวลาแล้วได้ผู้สมัครที่เตรียมพร้อมเป๊ะ ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้ แต่ถ้าโทรไปล่วงหน้าเล็กน้อยแล้วผู้สมัครยังมีสมาธิ ตอบได้ดี ไม่กระวนกระวาย ก็แสดงว่าผู้สมัครคนนั้นพร้อมอยู่เสมอ แถมเผื่อเวลาอีกด้วย ใครจะไม่อยากทำงานด้วยล่ะ?

ทำการสัมภาษณ์ให้งง ๆ เข้าไว้

หมัดเด็ด: เวลาไม่ชัวร์มาก วิธีการสัมภาษณ์ก็เบลอ ๆ ไม่ให้ใครรู้ล่วงหน้า
เหตุผล: อยากได้การตอบสนองที่เป็นธรรมชาติและใช้ไหวพริบมากที่สุด

บ่อยครั้งที่เรารู้ล่วงหน้าจากเพื่อนของเพื่อนของเพื่อนที่เคยไปสัมภาษณ์บริษัทนั้นบริษัทนี้ จนแทบจะรู้ว่าต้องไปนั่งห้องไหน เขาจะถามอะไร แต่บริษัทชั้นนำมักมีเทคนิคในการทำให้การสัมภาษณ์ดูคลุมเครือเข้าไว้ เพื่อให้ผู้สมัครคนหนึ่งไม่สามารถนำไปบอกให้ผู้สมัครคนอื่น ๆ ให้เตรียมตัวได้ ซึ่งจะได้คำตอบตรงหน้าจริง ๆ ไม่ใช่คำตอบที่เตรียมมาสวย ๆ อย่างเดียว

ดังนั้นการรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ก็คือต้องตั้งสติ เตรียมความพร้อมรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

60.04.24.trust.03

ทำเรื่องผิดพลาดในขณะผู้สมัครแสดงผลงาน

หมัดเด็ด: ให้ผู้สมัครพรีเซนต์ผลงาน แต่จอคอมพัง โปรเจคเตอร์เสียซะอย่างนั้น
เหตุผล: ดูวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

การเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ไม่ได้แปลว่าภายในบริษัทไม่มีปัญหาเลย แต่แปลว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นพวกเขาจะแก้ปัญหาได้ทันท่วงที หรืออย่างน้อยถ้าแพลนเอล่ม ก็ต้องมีแพลนบี แพลนซี แพลนดี รองรับไว้เสมอ

การที่บอกให้ผู้สมัครมาพรีเซนต์เสียดิบดี แต่จู่ ๆ อุปกรณ์เสีย จึงเป็นวิธีดูว่าผู้สมัครจะแก้ปัญหาตรงหน้าอย่างไร หรือจะถอดใจบอกว่า “โอเคครับ งั้นไว้ผมพรีเซนต์วันหลังก็ได้” หรือ “มาครับ ผมขออนุญาตพรีเซนต์ปากเปล่าก่อนนะครับ” , “ผมมีไอแพดติดตัวมาด้วย อาจจะเห็นไม่ถนัดนัก แต่ขออนุญาตใช้แทนก่อนนะครับ”

แม้การแก้ปัญหาจะไม่ออกมาสมบูรณ์พร้อม แต่ผู้สมัครที่มีแพลนสำรองไว้มักได้ใจกรรมการมากกว่าเสมอ

ทำเป็นเดาอะไรผิด ๆ ระหว่างสัมภาษณ์

หมัดเด็ด: เอ่อ คุณทำงานที่ทวิตเตอร์ใช่มั้ยนะ? (ทั้ง ๆ ที่ก็เขียนไว้แล้วว่าทำที่เฟซบุ๊ก!)
เหตุผล: หาคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ดี

คงเป็นเรื่องน่าเบื่อมากถ้าเราเขียนทุกอย่างไว้ในใบสมัครหมดแล้ว แต่คนสัมภาษณ์ก็ยังถามอะไรผิด ๆ เหมือนอ่านมาแล้วไม่ได้จำ หรือไม่ได้อ่านเลย เราอาจจบจากมหาวิทยาลัยหนึ่ง แต่ดันมาถามว่าอีกมหาวิทยาลัยหนึ่งเขาสอนคุณมาอย่างไรนะ?

นี่คือเทคนิคชั้นดีในการยั่วโมโห การสร้างความรำคาญของบริษัทชั้นนำ ดังนั้นอย่าปล่อยให้การล่อลวงง่าย ๆ นี้มาทำให้เราอารมณ์เสียจนไม่ได้งานไปด้วย

60.04.24.trust.01

ให้แก้ปัญหาส่วนตัวของบริษัท

หมัดเด็ด: คุณว่าปัญหานี้ต้องแก้อย่างไร?
เหตุผล: อยากได้ความเห็นจริง ๆ นั่นแหละ

อย่างที่บอกว่าบริษัทชั้นนำเต็มไปด้วยปัญหาหลากหลาย บางปัญหาก็แก้ไม่ตก และถูกนำมาใช้ถามเราจริง ๆ เผื่อว่าความคิดเห็นของเราจะเป็นประโยชน์กับบริษัทเขาได้จริง ซึ่งแน่นอนว่าถ้าคำตอบเราดูจะนำไปใช้ได้จริง แนวโน้มที่เขาจะรับเราเข้าไปร่วมงานก็มีมากขึ้น

ย้ายห้องสัมภาษณ์หลาย ๆ ห้อง

หมัดเด็ด: ห้องแรกสอบข้อเขียน ห้องสองสัมภาษณ์ครั้งแรก ห้องสามสัมภาษณ์ครั้งสอง
เหตุผล: ดูว่าผู้สมัครจะรับมือกับความตื่นเต้นอย่างไร

การนั่งในห้องเดียวนาน ๆ ก็จะช่วยให้เราลดความตื่นเต้น กระวนกระวาย ความประหม่าลงไปได้ ดังนั้นบริษัทชั้นนำจึงไม่เปิดโอกาสให้เราได้สัมภาษณ์ภายใต้บรรยากาศสบาย ๆ เป็นอันขาด

การสร้างความกดดันคือหน้าที่ของพวกเขา ที่จะดูว่าเรารับมือกับความกดดัน หรือสามารถพูดในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นชินได้มากแค่ไหน และการย้ายห้องสัมภาษณ์ไปหลาย ๆ ห้อง การเปลี่ยนคนสัมภาษณ์หลาย ๆ คนก็เป็นอีกวิธีที่ใช้เพื่อดูว่าเราจะทำงานกับเขาไหวไหมถ้าต้องเจอบรรยากาศที่ไม่สบาย ไม่คุ้นเคย

pexels-photo-288477 (1)

ถามคำถามเดิม ๆ ซ้ำ ๆ

หมัดเด็ด: ถามแล้วก็ถามอีก พอถามอีกแล้วก็วนมาถามใหม่
เหตุผล: อยากรู้ว่าคำตอบที่ได้จะเหมือนเดิมทุกครั้งใหม่

การเตรียมตัวมาตอบคำถามก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเตรียมมาสวยหรูดูดีเกินจริง มันก็มีแนวโน้มว่าเราจะจำไอ้สิ่งที่เราปั้นแต่งมาอย่างดีไม่ได้ บริษัทชั้นนำเขาก็ไม่ปล่อยให้เราหลอกเขาง่าย ๆ ขนาดนั้น การถามคำถามเดิมซ้ำ ๆ จึงเกิดขึ้น

บางทีเราตอบไปแล้ว เราอาจคิดว่าโล่งใจจัง คำถามยาก ๆ นี้เตรียมมาอย่างดี แถมตอบได้ดีเสียด้วย แต่กว่าจะรู้ตัวเขาอาจหลอกถามคำถามเดิมไปอีกรอบแล้ว ดังนั้นการตอบให้ตรงกับความจริงจึงเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุด

สัมภาษณ์ผู้สมัครพร้อมกันสองคน

หมัดเด็ด: เรียกมาสัมภาษณ์พร้อมกัน 2 คน
เหตุผล: อยากดูว่าผู้สมัครจะรับมือกับความตึงเครียดได้ดีแค่ไหน

สัมภาษณ์คนเดียวก็เครียดจะแย่แล้ว แต่ถ้ามีผู้สมัครอีกคนมานั่งอยู่ด้วย ความกังวลว่าจะตอบซ้ำไหม เราจะตอบได้ดีเท่าเขาหรือเปล่า แล้วถ้าตอบไม่เหมือนกันเราตอบผิดหรือเขาตอบผิดกันแน่ สารพัดความกดดันความตึงเครียดจะประเดประดังเข้ามา และนั่นคือวิธีที่บริษัทชั้นนำกำลังจับตาดูเราอยู่

รวมถึงการให้เหตุผลด้วยว่าทำไมเราถึงเห็นด้วยกับเพื่อน หรือทำไมเราถึงคิดว่าคำตอบเพื่อนผิด ซึ่งบ่งบอกทั้งการใช้เหตุผล และทัศนคติว่าเราจะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีแค่ไหน

pexels-photo-209151

สัมภาษณ์ไป กดแป้นพิมพ์เสียงดังไป

หมัดเด็ด: คุณตอบไปตามปกติได้เลยนะครับ ผมขอ take note ไปด้วย
เหตุผล: อยากรู้ว่าผู้สมัครมีสมาธิแค่ไหน

บ่อยครั้งที่ผู้สัมภาษณ์มาพร้อมแลปทอปคู่ใจ เราพูดอะไร ตอบอะไร เขาก็กดแป้นพิมพ์รัวสนั่น เสียงดังลั่นจนแทบจะดึงสมาธิและความมั่นใจทั้งหมดให้จางหายไป อย่ากังวลไป เขาฟังเราอยู่แน่นอน เพียงแต่อยากรู้ว่าเราจะมีสมาธิสามารถรับมือกับความน่ารำคาญนี้ได้มากแค่ไหน และสามารถตอบคำถามอย่างมีสติและแสดงศักยภาพออกมาได้ดีอยู่หรือเปล่า

9 ข้อโหดหินที่คิดไม่ถึงจริง ๆ ว่าจะล่อลวงให้เราตกหลุมพรางได้มากขนาดนี้ แต่คนที่เตรียมตัวพร้อมกว่า ก็สามารถรับมือได้ดีกว่า อ่าน 9 ข้อนี้จบแล้วจะไปสมัครงานครั้งหน้าก็ไม่ต้องไหวหวั่นอีกต่อไป อย่าเก็บไว้เตรียมพร้อมคนเดียวล่ะ ผู้ชายแมน ๆ อย่างเราแชร์ไปให้เพื่อนรับมือกับการสัมภาษณ์งานไปพร้อม ๆ กันเถอะ

SOURCE

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line