Life

เฉยชา ไม่เศร้า ไม่สุข “ภาวะสิ้นยินดี”ความผิดปกติทางอารมณ์ที่ไม่ควรมองข้าม

By: unlockmen June 29, 2021

จะเป็นอย่างไรถ้าหากวันหนึ่งก็เกิดความรู้สึกเฉย ๆ กับทุกสิ่งรอบตัว ไม่ได้รู้สึกยินดีแต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่รู้สึกเศร้า ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกลับรู้สึกว่างเปล่าและนิ่งเฉยไปหมดทุกอย่าง อย่านิ่งนอนใจเพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังพบเจอกับภาวะสิ้นยินดีก็เป็นได้

ภาวะสิ้นยินดี หรือ Anhedonia คืออาการไม่ยินดียินร้าย ไม่มีอารมณ์ร่วมหรือรู้สึกกับอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความสุขหรือความเศร้า ทั้งที่เมื่อก่อนสิ่งต่าง ๆ รอบตัวสามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองได้ เช่น การไปดูหนังที่ชอบ อยู่กับคนรัก หรือแม้กระทั่งเรื่องเซ็กซ์

ภาวะสิ้นยินดีเป็นความผิดปกติทางอารมณ์ หรือที่เรียกว่า mood disorder ชนิดภาวะซึมเศร้า ตามเกณฑ์การวินิจฉัยเกี่ยวกับอาการทางจิตเวชในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิตที่มักเรียกสั้น ๆ กันว่า DSM-IV ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริการะบุว่าภาวะสิ้นยินดีนั้นพบได้ในโรคจิตเภทและความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ

จากคำบอกเล่าของผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าหลายคนที่มีอาการของภาวะสิ้นยินดีต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเกลียดความรู้สึกว่างเปล่านี้มากกว่าอาการของโรคซึมเศร้าที่เป็นอยู่เสียอีก เพราะการไม่สามารถทำตามสิ่งที่ตัวเองชอบได้เหมือนที่เคยเป็นอะไรที่ทุกข์ทรมานมาก สำหรับพวกเขาการที่ยังรู้สึกถึงความเศร้าก็ยังดีกว่าการไม่รู้สึกอะไรเลย

เมื่อไม่อยากทำอะไร กิจวัตรในชีวิตประจำวันและบุคลิกของผู้ที่มีอาการภาวะสิ้นยินดีจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ตัว เช่น ถ้าแต่ก่อนเป็นคนกระตือรือร้นหรือไฮเปอร์ ก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นคนนิ่ง ๆ ไม่ยินดียินร้าย ดูไร้อารมณ์ขึ้นกว่าปกติหรือคนที่มีบุคลิกนิ่งอยู่แล้วก็จะมีความไม่เป็นมิตรมากขึ้นและเข้าสังคมน้อยลง

Llorca & Gourion ศึกษาเกี่ยวกับภาวะสิ้นยินดีตามโรงพยาบาลต่าง ๆ พบว่า ผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีจะพบมากในแผนกผู้ป่วยนอกมากกว่าแผนกผู้ป่วยใน ซึ่งจากข้อมูลการศึกษาในแผนกผู้ป่วยนอกโรคเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าแถบยุโรปจะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีภาวะสิ้นยินดีอยู่ในระดับรุนแรงอยู่ที่ร้อยละ 86.29 และกลุ่มคนเหล่านี้จะเฉยชากับเรื่องทางเพศ เพราะความผิดปกติของสารในสมองจะไปกดอารมณ์ความรู้สึกทางเพศ จึงทำให้ร้อยละ 60 ไม่ต้องการที่จะมีเซ็กซ์

งานวิจัยนี้ศึกษาพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีภาวะสิ้นยินดีค่อนข้างสูงโดยพบถึงร้อยละ 64.3 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ Llorca & Gourion ที่พบว่าภาวะสิ้นยินดีจะพบในผู้ป่วยนอกมากกว่าผู้ป่วยในที่สามารถเป็นตัวยืนยันได้ว่าภาวะสิ้นยินดีเป็นลักษณะอาการหลักที่พบในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ซึ่งภาวะสิ้นยินดีนี้จะทำให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุขลดลง และพบได้บ่อยในผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้วโดยจะมีอาการไร้ความกระตือรือร้นต่อกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่ชอบหรือไม่ชอบ มักแยกตัวอยู่คนเดียว ขาดความสนใจหรือความเพลิดเพลินต่อสิ่งเร้ารอบตัว ภาวะสิ้นยินดีจะส่งผลให้อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทวีความรุนแรงมากขึ้น และนำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้ง่ายขึ้น

Winer et al ศึกษาความสัมพันธ์ของภาวะสิ้นยินดีกับความคิดฆ่าตัวตายในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวน 645 ราย และโรคทางจิตอื่น ๆ อีก 570 ราย พบว่าระดับภาวะสิ้นยินดีมีความสัมพันธ์ทางบวกที่สอดคล้องกับความคิดอยากฆ่าตัวตาย เพราะว่าไม่รู้สึกอะไรจึงทำให้ไม่กลัวความตาย จึงสามารถกล่าวได้ว่าภาวะสิ้นยินดีเป็นปัญหาที่สำคัญมากในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

ในระยะแรกของผู้ที่มีภาวะสิ้นยินดีอาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากมัก และใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ เช่น ตอนเช้าไปทำงานและกลับบ้านในตอนเย็น แต่เมื่อนานเข้าอาจจะเริ่มเกิดความรู้สึกไม่อยากทำงาน ไม่อยากออกเดินทาง ไม่อยากพูดคุยกับใคร ทุกอย่างที่เคยทำเป็นปกติในวันนี้กลับเริ่มทำไม่ได้ เพราะคิดว่าทำแล้วไม่เกิดอะไร

คนที่กำลังเผชิญกับอาการที่เรียกว่าภาวะสิ้นยินดีมักชอบนอนอยู่เฉย ๆ แต่กลายเป็นว่าเมื่อยิ่งนอนก็ยิ่งเหนื่อย และทำให้ไม่อยากพบเจอผู้คนภายนอกมากยิ่งขึ้น เมื่อมีอาการหนักขึ้นจะไม่รู้สึกรู้สากับอะไรทั้งนั้น และหากปล่อยไว้นานเกินจะเริ่มดูแลตัวเองน้อยลง ในแบบสอบถามที่ทางศูนย์วิจัยได้ให้ผู้ที่มีอาการภาวะสิ้นยินดีทำ เคยพบกับคำตอบที่ว่าแค่หวีผมยังไม่อยากทำเลย เพราะถึงแม้ตัวเองจะดูแย่ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ซึ่งการแก้ปัญหาเกี่ยวกับอาการดังกล่าวคือการรีบไปพบแพทย์จะดีที่สุด

ลองสำรวจความรู้สึกของตัวเองให้ดี ว่าเคยรู้สึกไม่ยินดียินร้ายบ้างหรือไม่ หรือเฉย ๆ กับทุกสิ่งรอบตัวมากเกินไปหรือเปล่า โดยการดูง่าย ๆ จากสิ่งที่ตัวเองชอบและในตอนนี้ไม่สนใจแล้ว ว่ามันเป็นความรู้สึกอิ่มตัวกับสิ่งที่ชอบหรือว่าเป็นเพราะกำลังมีอาการภาวะสิ้นยินดีอยู่โดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า

นักจิตวิทยาได้ให้คำแนะนำกับผู้ที่กำลังเผชิญกับภาวะสิ้นยินดีนี้ว่า นอกจากการพบแพทย์และทานยาอย่างสม่ำเสมอแล้ว การให้กำลังใจตัวเองเพื่อให้พ้นจากอารมณ์ที่ไร้ความรู้สึกนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน การยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคไม่ได้แปลว่าเราจะต้องแพ้ และฝึกตั้งสิ่งที่อยากทำเรื่องเล็ก ๆ ที่เป็นสิ่งที่เคยชอบแล้วค่อย ๆ พาตัวเองกลับไปหาสิ่งที่ชอบ หรือทำสิ่งที่รักอีกครั้ง จากนั้นจึงค่อยขยับไปยังสิ่งมุ่งหวังที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เรากลับมารู้สึกยินดีหรือยินร้ายได้อีกครั้ง

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line