Life

ขี้อวดไม่ได้ดีเสมอไป “5 เรื่องที่อวดน้อยลงหน่อยก็ได้”เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์รอบตัวให้ดีขึ้น

By: PSYCAT September 26, 2018

ไม่ว่าอะไรก็ตามถ้าทำในระดับที่พอเหมาะพอดี ก็น่าจะพอมีด้านดี ๆ อยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่อง “การอวด” ถ้าเราใช้มันอย่างถูกวิธี หลาย ๆ ครั้งมันก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน เป็นการสร้างคอนเนคชั่นบางรูปแบบ รวมถึงเป็นโปรไฟล์ดี ๆ ในการทำอะไรต่อไปในอนาคต แต่การอวดในระดับที่มากเกินไปโดยเฉพาะการอวดในโซเชียลมีเดียก็อาจนำไปสู่การถูกนิยามว่า “คนขี้อวดได้” และ 5 เรื่องต่อไปนี้ UNLOCKMEN ขอประทับตราว่าอวดน้อยลงหน่อยก็ได้เพื่อให้อะไร ๆ รอบตัวดีขึ้น

อวดแบบไม่อวด

การอวดแบบไม่อวด (Humble Brag) บางครั้งก็เกิดจากความไม่ตั้งใจจริง ๆ แต่หลายครั้งเราเองก็แอบรู้สึกลึก ๆ ว่าอยากอวดนั่นแหละ แต่ถ้าอวดโต้ง ๆ มันจะดูไม่มีระดับ เลยใช้วิธีอวดแบบไม่อวดแทน สำหรับคนที่ยังงง ๆ ว่าการอวดแบบนี้มันคืออะไรกันแน่ ก็ให้นึกถึงสาวสักคนที่หุ่นผอมบางระดับนางแบบ แต่โพสต์รูปตัวเองแล้วประกาศว่า “โห อ้วนฉุเลยฉัน” ทางหนึ่งเธอพยายามถล่มตัวเองด้วยข้อกล่าวหาแบบแย่สุด ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันคือการทำเพื่อให้คนอื่นมาแย้งว่า “ไม่เลยครับ ผอมสวยมาก” ดังนั้นมันจึงเป็นวิธีที่ทำให้เหมือนว่าไม่ได้จงใจจะอวดว่าเราหล่อ รวย เก่ง หุ่นดี ฯลฯ แบบโต้ง ๆ แต่จริง ๆ แล้วเรากำลังอวดเต็ม ๆ การอวดแบบนี้เป็นพิษกับคนรอบข้างมาก ๆ ถ้าพอจะระลึกได้ว่าทำอยู่ UNLOCKMEN แนะนำว่าลดลงหรือเลิกอวดไปเลยดีที่สุด

อวดงานหนักในระดับสุดขั้ว

การโพสต์ว่าเราทำงานอะไร โดยเฉพาะผลงานที่เราภูมิใจเป็นเรื่องเข้าใจได้หรือโพสต์บอกใคร ๆ ว่าบางครั้งเราก็ทำงานดึกมาก ๆ นะ อาจนับเป็นการสร้างโปรไฟล์ความดูเป็นคนเอาการเอางานให้ติดตัวเราไว้ แต่ถ้าเราโพสต์ทุกวันว่าตีหนึ่งตีสองเราก็ยังทำอยู่ และทุกข์ทรมานกับการงานตรงหน้าเหลือเกิน แทนที่คนจะรู้สึกชื่นชม อาจกลับกลายเป็นว่าเรานี่เองที่บริหารจัดการเวลาไม่เป็น เพราะไม่ว่า CEO ระดับโลกคนไหนที่งานล้นมือเพียงใด ก็ต้องมีสกิลในการบริหารจัดการเวลาหรือแบ่งงานกันทำ

การที่เราโพสต์ว่าทำงานหามรุ่งหามค่ำเจียนตายทุกวันหรือวันละหลายรอบ มันจึงแสดงถึงความไม่มืออาชีพมากกว่าความมืออาชีพ หรืออีกนัยยะหนึ่งก็อาจโดนครหาจากเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานเอาได้ว่าทำไมถึงไม่เอาเวลาที่คร่ำครวญโพสต์ในเฟซบุ๊กอยู่นี้ ไปตั้งหน้าตั้งตาทำงานแทนเสียล่ะ

อวดแฟนหนักหน่วง

การอวดสาวคนรักของเราเป็นเรื่องปกติธรรมดาสุด ๆ มันคือเรื่องของเราที่เราอยากจะเก็บความทรงจำสวยงามเอาไว้ แต่ถ้าถึงขั้นตั้งสเตตัสบอกความในใจกันวันละสามสี่หนแล้วแท็กกันเหมือนว่าโลกนี้ไม่มีไลน์ ไม่มีแชตส่วนตัวเอาเลยมันก็เริ่มจะมากไป หรือแคปเอาแชตส่วนตัวที่เราคิดว่าหวานชื่นจนอยากโชว์ให้ชาวบ้านรู้ว่าแฟนเราน่ารักขนาดไหนมาโพสต์ อันนี้ก็เข้าข่ายละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนที่เรารักแบบเต็ม ๆ ดังนั้นอวดเถอะ แต่อวดในระดับที่พอดี อย่าให้ถึงขั้นละเมิดความเป็นส่วนตัวใครหรือแทนที่คนเขาจะชื่นชมความน่ารักแต่กลับกลายเป็นว่าเขารำคาญจนต้องกดซ่อนโพสต์เราทั้งหมดไปแทน

อวดเก๋ามั่วซั่ว

เราอาจจะมีเรื่องราวบาดหมางกับใครต่อใคร คนแถวบ้านเอย เพื่อนร่วมงานบางคนเอย หรือแม้แต่ความหงุดหงิดบนท้องถนนทั่ว ๆ ไป ในครั้งที่หนักหนาสาหัสจริง ๆ เราอาจโพสต์เพื่อระบายความรู้สึกและแสดงความโกรธเกรี้ยวออกมาได้ แต่ต้องไม่ใช่การโพสต์ว่ามีเรื่องกับคนนั้นคนนี้มาทุกวัน ในทำนองว่า “แม่ง เก๋านักหรอวะ จริง ๆ ก็ขี้ขลาด แน่จริงมาเจอกูตัวต่อตัวสิ”

การโพสต์ท้าทายคนอื่นไปทั่วด้วยความหยาบคาย ส่อเสียด เสียดสี แสดงความเก๋า ความโกรธขึ้งเป็นประจำ มันทำให้เราดูเป็นคนไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่สำคัญมันคือความสัมพันธ์เป็นพิษที่คนที่ไม่เกี่ยวข้องต้องมาอ่านถ้อยคำเชิงลบ โดยที่คนที่เราจงใจส่งความเก๋าไปถึง เขาอาจไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำ ที่สำคัญมันส่งผลให้เรากลายเป็นคนที่ไม่น่าเข้าใกล้ไปโดยปริยาย

อวดไปเรื่อย

ไม่ว่าการอวดแบบไหน ตราบใดที่มันยังอยู่ในพื้นที่ของเรา มันอาจสร้างความรำคาญใจให้คนอื่นไปบ้าง หรือสั่งสมภาพลักษณ์ที่ไม่ดีให้กับตัวเราเอง แต่การตระเวณไปอวดสิ่งต่าง ๆ ในโพสต์คนอื่น เฟซบุ๊กคนอื่น หรือพื้นที่ของคนอื่น เช่น เขาโพสต์ว่าไปที่นี่มานะ แล้วอยู่ ๆ เราก็ไปอวดทับว่าที่นี่เฉย ๆ นะ แต่ที่ที่เราไปมาสิดีกว่า ไม่ว่าใครจะพูดเรื่องงาน ชีวิต เพื่อน แฟน ที่กินเที่ยว แล้วเราไปแสดงความเห็น เราต้องหมั่นทบทวนตัวเองว่าเรากำลังสื่อสารอะไรกับคนอื่นกันแน่ ? ถ้าพบว่าเราไปอวดทับในที่คนอื่นไปทั่วโดยไม่รู้ตัว ก็ต้องลดหรืองดการกระทำแบบนี้ไปเลย เพราะมันไม่เป็นผลดีกับใครแน่ ๆ

อย่างไรก็ตามการอวดไม่ได้เลวร้ายเสมอไป และหลายครั้งถ้าในปริมาณที่พอดีมันก็อาจสร้างประโยชน์ แต่สำหรับ 5 การอวดที่เราบอกไป ยังไง ๆ น้อยเข้าไว้ก็ดีที่สุด เพื่อความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับคนรอบตัว เพื่อบุคลิกภาพที่ดีและเพื่อความมีวุฒิภาวะของเราเอง

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line