DESIGN

ART OF ARS: งานนี้ใครทำ ? เปิดหน้า 3 ทีมเจ้าของผลงานสุดเจ๋งใน AWAKENING BANGKOK 2019

By: anonymK November 23, 2019

เดินดูงาน Awakening Bangkok มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้เองก็ตามมาถ่ายรูป แต่เชื่อว่าคุณยังไม่เคยรู้เลยว่าเจ้าของผลงานที่อยู่เบื้องหลังแสงไฟสวย ๆ เหล่านี้คือใคร…เราเองก็เช่นกัน

ปีนี้ UNLOCKMEN จึงขอถือโอกาสเพิ่มความพิเศษ จากเดินดูงานเปิดไฟ ขอไปเปิดหน้าศิลปินเจ้าของผลงาน 3 ชิ้นที่เราสนใจและเพิ่งลงผลงานของพวกเขาไปเมื่อวานกันบ้าง พร้อมบทสัมภาษณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะทำให้คุณรู้จักเขาและผลงานเพิ่มขึ้น

ใครชอบงานชิ้นไหน อย่าลืมจำชื่อของเขาไว้ บางทีระหว่างที่คุณดูงาน AWAKENING 2019 คืนนี้ อาจจะได้เจอกับพวกเขาก็ได้ หรือจบงานนี้ ไปเจอกันที่อื่น อยากจะเดินเข้าไปทักทายก็ทำได้เช่นกัน เพราะพวกเขาพูดคุยเป็นกันเองมาก

DON BOY : Lhong 1919 presents D19B19

อย่างที่เราบอกไว้ก่อนหน้านี้ในการลง Gallery Post ว่าเราเลือกความสนใจจากทั้งงานและสถานที่ที่มีกลิ่นอายความเป็นจีน ดังนั้น สถานที่ขนาดใหญ่อย่างล้ง 1919 ที่เซตขึ้นเป็นโรงงิ้ว มาพร้อมแสง สี เสียง จัดเต็มจึงไม่รอดสายตาของเราไป และพวกเขา “DON BOY” คือเจ้าของผลงาน Lhong 1919 presents D19B19 ผลงานชิ้นที่สามในซีรีส์ Close Encounter

Don Boy คือทีมศิลปินไทยที่มีนักออกแบบมารวมตัวกันหลายคน ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน แม้วันนี้เราจะมีโอกาสเจอพวกเขาเพียง 3 คน แต่จริง ๆ ศิลปินที่ร่วมกันทำงานที่ล้งชิ้นนี้มีทั้งหมด 4 คน แบ่งหน้าที่รับผิดชอบและทำงานร่วมกันดังนี้

  • INSTALLATION DESIGNER พริษฐ์ ตรีชดารัตน์ (บอม)
  • MOTION GRAPHIC DESIGNER ชวกร ศฤงฆารนันท์ (ชอน)
  • SOUND DESIGNER แทนสกุล สุวรรณ​กูฏ (แทน)
  • LIGHTING DESIGNER ดิษฐวัฒน์ อัจจมาลย์วรา (ป้อง)

เอกลักษณ์งานสไตล์ Don Boy คือเน้นงานใหญ่ สเกลไหนก็ขอใหญ่ไว้ก่อน งานต้องเห็นแล้วจำ ไม่มินิมัล ไม่เน้นสุนทรีย์แต่มองแล้วเข้ากัน พร้อมให้มาสนุกกับมันได้ ที่สำคัญพวกเขายังมีแนวคิดการออกแบบงานที่ร่วมสมัย โฟกัสเรื่องการใช้วัสดุจากพื้นที่เดิม ไม่เน้นการ custom ขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ มีภาษากราฟิกและเสียงที่ทำขึ้นมาใหม่ ทุกชิ้นเมื่อมารวมกันแล้วมีความหมายตามแบบฉบับของตัวเอง

ชอน ป้อง และแทน (เรียงลำดับซ้ายมาขวา)

ที่สำคัญทุก ๆ งานที่พวกเขาสร้างขึ้นจะมีทั้ง Scene Default ที่เป็นงานหลักปกติ และมี Scene Design ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษกว่าวันอื่น ๆ ให้เราเข้าไปสนุกกัน ทั้งแสง สี เสียง ทุกอย่างจะแปลกตากว่าที่เคยเห็น จึงถือเป็นความสดชนิดหาดูได้ยากและน่าติดตาม

What inspires you to do ‘Lhong 1919 presents D19B19’:

“เราไม่ตีความอะไรต่าง ๆ ใหม่ แต่เราเอามารวมให้มันเกิดความ Unity จริง ๆ เราเอาคอนเซ็ปต์ที่เราคงไว้มาตลอดว่าเราจะไม่คิดแทนคนในพื้นที่ งานทุกชิ้นของเราจึงเป็นการมองพื้นที่จากมุมคนนอกครับ หยิบจับอะไรที่เป็นชิ้น ๆ พวก Texture ภาษา รูปภาพ มาเล่น เหมือนการเอามาพูดในภาษาคนนอก

ด้วยความที่ล้งมี Subculture ของความเป็นจีนแรงมาก เราก็เลยหยิบฟังก์ชันของโรงงิ้วเอามาเล่าสนุก ๆ ว่าเป็นงานของคณะงิ้วที่เดินทางไปเรื่อย ๆ แล้วก็เอาความบันเทิงอะไรบางอย่างมาลง ซึ่ง “งิ้ว” ก็มีครบ การขับร้องเราก็เปรียบเทียบการขับร้องเป็น Sound design ที่เราสร้าง ส่วนการแสดงเราใช้ Visual ที่เราสร้างขึ้น แล้วก็เล่นกับความเป็นจีนด้วยการ print บนผ้าหรือสีที่มีคาแรคเตอร์เป็นโรงงิ้ว จริง ๆ เราสร้างจอ Led บนพื้นเหมือนเป็นภาษากราฟิกของเรา ต่อจากประตูขนาดใหญ่ ก็คือเหมือนครองพื้นที่โดยที่ไม่มีอะไรไปครอบมันโดยแสงที่เป็น Visual ยังอยู่ในพื้นที่ของงานเรา

ตัว Installation ตั้งใจให้เป็นกึ่งสถาปัตย์ มีประตู มีความเป็นทางเดินโดยติด Lighting กับ Sound เข้าไปด้วย ที่สำคัญงานนี้มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่เกี่ยวกับความเชื่อที่เราต้องไม่บดบังศาล จึงทำให้งานนี้ออกแบบมาโดยเฉพาะ สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ อย่างทางเดินที่เราทำก็นำสายตาตรงมาที่ศาลเลยและสามารถทำความเคารพศาลได้”

ใครที่อยากติดตามผลงานของพวกเขา Don Boy ตอนนี้ยังมีเวลาเหลือ พวกเขาฝากบอกว่าจากฝั่งเจริญกรุง ข้ามเรือมาไม่นานก็ถึงล้ง 1919 แล้ว แต่ถ้าจบงานนี้อยากตามไปดูผลงานอื่น ๆ ของเขา ติดตามได้ที่เพจ Don Boy ได้เลย

 

CONSCIOUS X KIMBAB:) : Time Gate

CONSCIOUS X KIMBAB:) สองศิลปินไทย “วีร์ – วีรพร” และ “คิม – ณัฐกิตติ์” ที่โคจรมาพบและร่วมงานกัน ทั้งคู่มีความถนัดที่แตกต่างแต่ความสนุกไม่ต่างกัน โดยวีร์ มีอาชีพด้านกราฟิกดีไซน์ มีงานด้านอื่นทั้งการสอนและเขียนบทความลงใน art4d เขาเก่งเรื่องการทำงานกราฟิกและงาน Typo ขณะที่คิม เรียนจบปริญญาโทด้าน Computational Art ชอบเรื่องการเขียนโค้ด และสนุกกับการสร้างสรรค์งาน Interactive เรียกได้ว่ามีดีกันคนละอย่าง พอมาผสมกันแล้วลงตัว

วีร์และคิม (เรียงลำดับจากด้านซ้ายมาขวา)

หลังจากฝากผลงานแสงในปีที่แล้วที่โรงแรม Prince Theatre Heritage Stay ย่านเจริญกรุง มาครั้งนี้พวกเขาบุกเลือกสถานที่จีนอย่าง “บ้านเหลียวแล (Realrare)” บ้านเก่ามีประวัติอายุนับ 100 ปี ซึ่งเคยจัดแสดงผลงาน Bangkok Design Week ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มาเล่าด้วยคอนเซ็ปต์ใหม่ “เล่าอดีตถึงอนาคต”

What inspires you to do ‘Time Gate’:

Art Installation บริเวณชั้นสองของบ้านสร้างสรรค์ใหม่ด้วยการโปรเจกต์แสง เล่าเรื่องจุดเชื่อมต่อของเวลาระหว่างอดีตและอนาคตให้สัมพันธ์กับพื้นที่ คิมและวีพูดถึงไอเดียที่เขาเห็นจากสถานที่ โดยอธิบายว่าบ้านเหลียวแลแห่งนี้ เหมือนบ้านที่เก็บอดีตไว้ พอเปิดประตูออกไปปุ๊บ อนาคตที่อยู่ด้านหน้าจะกระแทกใส่เรา หรือถ้าเราอยู่กับปัจจุบันที่อนาคตกำลังมาถึง เมื่อเปิดเข้าบ้าน เราจะพบกับอดีตที่อัดแน่นอยู่ในนี้

ส่วนเหตุผลที่ใช้การโปรเจกต์แสงใส่ประตูสร้างใหม่เองก็มีที่มาที่ไป เพื่อเล่าช่วงเวลาที่ขนานกันอย่าลึกซึ้ง

“เราเริ่มนึกถึงประตูหน้าต่าง เพราะว่าประตูและหน้าต่างเป็นพื้นที่เชื่อมต่อ เราคิดว่ามีประตูหน้าต่าง เราสามารถเดินทะลุจากอดีตไปสู่อนาคต อนาคตย้อนกลับสู่อดีต และเมื่อคิดถึงความเป็นจีน ส่วนประกอบที่เล่าเรื่องได้ เรานึกถึงลวดลายเฉพาะบนบานประตู หน้าต่างนั้น

เสน่ห์หลัก ๆ ของงานนี้คือการยิงโปรเจกเตอร์สองฝั่งเข้ามาแล้วทำประตูตรงกลาง ด้านที่ลงพื้นผิวงานด้านใหม่มันก็มีความใหม่อยู่ แต่ว่ามีกราฟิกจากด้านเก่าที่โผล่มา ส่วนถ้าเกิดคุณไปยืนที่กำแพงเป็นเก่า คุณจะเห็นลวดลายพื้นเป็นของใหม่ลอดมา เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเชื่อมโยงแบบหั่นครึ่ง มันมีความใหม่ในความเก่า และมีความเก่าในความใหม่ ตลอดเวลา”

นอกจากนี้ข้อจำกัดเรื่องความเก่ายังเป็นสิ่งที่ท้าทายพวกเขาทั้งคู่ด้วย เพราะพวกเขาห้ามยุ่งเกี่ยวกับโครงสร้างเดิมของบ้าน ห้ามเจาะ ห้ามแขวน ห้ามกระแทก ห้ามชน หรือพื้นเก่าไม่เท่ากันก็ต้องปรับโดยไม่ให้เกิดความเสียหาย ใครที่อยากรู้ว่าผลงาน “Time Gate” จะทำงานอย่างไร น่าสนใจแค่ไหนคงต้องไปดูด้วยตัวเอง

ส่วนถ้างาน Awakening Bangkok จบลง แต่ยังไม่เต็มอิ่ม ใครที่อยากติดตามผลงานของพวกเขาทั้งคู่ กลางเดือนหน้า (ธันวาคม) พวกเขากำลังจะจัดแสดงผลงานร่วมกันอีกครั้งในนิทรรศการจรัส ที่จะจัดขึ้นด้านหน้า BACC แต่ถ้าใครอยากติดตามผลงานอื่น ๆ ของพวกเขา สามารถเข้าไปชมได้ทางช่องทางด้านล่าง

Kimbab:) : www.kimbab.me
Conscious​: facebook.com/conscious.co.th/

 

VAWA Studio : Miss Chiral

ปิดท้ายด้วยผลงานจาก VAWA Studio ศิลปินที่เคยฝากผลงานไว้เมื่อปีที่แล้ว มาถึงปีนี้งานพวกเขายังคงเสนอผลงานได้สดใหม่เหมือนเดิม และได้จัดแสดงในพื้นที่เปิดใหม่ของงาน Awakening บริเวณหน้าทางเข้า ATT 19 ด้วย

บิ๊กและเหนือ (เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา)

เหนือและบิ๊ก เพื่อนร่วมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรที่เรียนจบแล้วกลับมาร่วมงานกันคือตัวแทนของกลุ่ม VAWA Studio ที่มีอยู่ราว 10 กว่าคน ต่างคนต่างทำหน้าที่เกี่ยวกับการออกแบบแต่ละด้าน ทั้งสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน กราฟิก Lighting และ Installation ฯลฯ

ด้วยพื้นฐานของความเป็นสถาปนิก พื้นที่ที่น่าสนใจจึงเป็นแรงบันดาลใจหลักในการทำงานของเขา พวกเขาสนุกกับการทำงาน สนุกกับพื้นที่และที่สำคัญยังไม่ลืมเรื่องการใช้งานจริงที่เหมาะสมสำหรับคนที่สัญจรด้วย ในงาน Awakening Bangkok 2019 เขาจึงยังคงเลือกพื้นที่สัญจรเพื่อเล่าเรื่องเช่นเคย แต่แน่นอนว่างานปีนี้เล่าให้ท้าทายยิ่งขึ้นและน่าสนใจขึ้นด้วย เพราะงานนี้เขาเล่าคอนเซ็ปต์นามธรรมอย่างความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง กับเวลาไว้อย่างน่าสนใจ

What inspires you to do ‘Miss Chiral’:

พื้นที่ ATT19 เดิมเคยเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีน ก่อนปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็น Gallery ให้คนเยี่ยมชม เมื่อกาลเวลาปรุงโฉมพื้นที่และทำให้การรับรู้ของผู้คนให้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยจึงเป็นจุดเริ่มต้นคอนเซ็ปต์ของผลงานชิ้นนี้

เราลองอยู่ที่สถานที่ จินตนาการจากพื้นที่ปัจจุบันว่าภาพมันเป็นอย่างไร เรื่องราวในอดีต มันส่งผลกับความรู้สึกบางอย่างของเรา เราเลยอยากจะนำเสนอความรู้สึกออกมาเป็นชิ้นงาน

เราก็เลือกใช้กระจก ทำจากวัสดุอะคริลิกที่มีความโค้ง ต่างจากกระจกที่จะสะท้อนภาพความจริง นำมาจัดวางกับแสง ภาพที่สะท้อนออกมามันจึงเป็นภาพความจริงที่ไม่เหมือนจริงเสียทีเดียว ตรงกับนัยที่เราพยายามเล่าว่า พื้นที่เดิมแต่มันไม่เหมือนเดิม แล้วให้คนจินตนาการว่าภาพที่ต่างกันมันสร้างความรู้สึกอะไรกับผู้เข้าชมบ้าง

ส่วนแสงมันก็เป็นองค์ประกอบนึง เราได้ประสบการณ์จากปีที่แล้ว เนื่องจากเราชอบทำงานในพื้นที่ที่เป็นทางเปลี่ยนผ่าน คือพวกทางเดิน ทางซอก ปีที่แล้วเราสามารถแสดงงานได้ตอนกลางคืน แต่พอมาเป็นตอนกลางวัน เราไม่สามารถทำให้งานทำงานได้ เราต้องเก็บ มาปีนี้เราเลือกใช้อะคริลิกทำเป็นกระจกเงา ตอนกลางวันมันก็ยังสามารถทำงานของมันได้อยู่แม้จะไม่ได้เปิดไฟ คนก็ยังดูงานตรงนี้ของเราได้ และตอนกลางคืนเราจะใช้แสงเข้ามาช่วยเล่าเพิ่ม สีจากแสงที่ติดตั้ง หลายสีจากต่างมุม เวลาเราส่องกระจกส่องอะคริลิกแต่ละด้าน สีที่ย้อมตัวเราจะสะท้อนภาพทำให้ดูแปลกตา ตรงกับคอนเซ็ปต์ที่เราต้องการให้ภาพที่ไม่ใช่ความจริง

ใครที่จำผลงานครั้งนี้ของเขาได้ และอยากติดตามผลงานชิ้นต่อไป เหนือและบิ๊กบอกเราว่าแม้ตอนนี้พวกเขาจะยังไม่มีเพจหรือเว็บไซต์ VAWA Studio ให้กดไลก์กดแชร์ แต่ไม่นานเกินรอ 25 พฤศจิกายน 2562 นี้แหละ พวกเขาจะจัดงาน City Lab ที่ถนนสีลม งานมีราว เกือบ 10 วัน แวะไปดูให้หายคิดถึงกันเลย

ทำความรู้จักกันมาหอมปากหอมคอกับผลงานของ 3 ทีมศิลปินไทย เห็นผลงานเจ๋ง ที่สร้างสรรค์จากบุคคลเบื้องหลังเหล่านี้แล้วในคอลัมน์ Art of Ars เชื่อว่าชาว UNLOCKMEN ทุกคนน่าจะไปย่ำราตรี Awakening Bangkok 2019 ได้สนุกและเข้าใจมากขึ้น ที่สำคัญเห็นพวกเขาหน้าละอ่อนมันก็เป็นแรงบันดาลใจว่าวงการการออกแบบงานศิลปะบ้านเราก็ยังมีพื้นที่ใหม่ให้ก้าวเข้ามาสนุกได้เสมอ

ส่วนครั้งหน้าเราจะไปที่ไหน ไปนำงานของใครมา หรือคุณจะมีโอกาสได้เห็นหน้าตาและความคิดของศิลปินเหล่านั้นไหม อย่าลืมลุ้นและติดตามกันเดือนละครั้งในเว็บไซต์ UNLOCKMEN

 

Photographer : Warynthorn Buratachwatanasiri

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line