Entertainment

AWESOME HISTORY: ปริศนาที่ไร้คำตอบ D.B.COOPER ตำนานโจรปล้นเครื่องบินผู้ไม่เคยถูกจับ

By: unlockmen February 15, 2021

หนึ่งในการโจรกรรมเหนือเวหาระดับตำนานจากยุค 70 ที่ผ่านกาลเวลายาวนานกว่าสองทศวรรษ แต่ยังคงถูกพูดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะคดีลึกลับของชายที่ใช้นามแฝง “D. B. Cooper” ก่อเหตุจี้เครื่องบินเรียกเงินค่าไถ่จำนวนมหาศาล และหนีหายไปอย่างไร้ร่องรอยจน FBI ไม่สามารถไขคดีได้จนถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับไปในช่วงบ่ายของวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1971 มีชายผิวขาววัยกลางคน บุคลิกสุขุมเงียบขรึม ใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว ผูกเนคไทสีดำ และสวมเสื้อสูทสีดำเหมือนนักธุรกิจ เขาเดินตรงมาที่เคาน์เตอร์ของสายการบินนอร์ธเวสต์ แอร์ไลน์ (Northwest Airlines) เขาใช้เงินสดซื้อตั๋วเที่ยวบิน 305 ที่มุ่งหน้าไปยังซีแอตเทิล เมืองท่าชายฝั่งในรัฐวอชิงตัน ภายใต้นามแฝง แดน คูเปอร์ (Dan Cooper)

The FBI sketch of D.B. Cooper,

เครื่องบินลำดังกล่าวคือเครื่องโบอิ้ง 727 เขาเลือกนั่งในตำแหน่ง 18C ที่ด้านหลังสุดของห้องโดยสาร เขาได้สั่งเบอร์เบินกับโซดามานั่งจิบแบบสบายอารมณ์ และในเวลา 14:50 น. เที่ยวบิน 305 ได้ออกบินตามกำหนดเวลา และเพียงแค่ 10 นาทีต่อมา คูเปอร์ได้ยื่นกระดาษโน้ตให้แอร์โฮสเตสที่นั่งใกล้เขามากที่สุด ฟลอเรนซ์ แชฟฟ์เนอร์ (Florence Schaffner) เธอรับโน๊ตมาจากคูเปอร์ และเก็บใส่กระเป๋าเงินทันทีโดยไม่ได้เปิดดู เพราะเธอเคยชินกับการโดนนักธุกิจขี้เหงาเข้ามาจีบเป็นประจำ แต่ครั้งนี้เธอกลับคิดผิด เพราะคูเปอร์ได้โน้มตัวมากระซิบกับเธอว่า “Miss, you’d better look at that note. I have a bomb.”

หลังจากนั้นคูเปอร์ได้สั่งให้แชฟฟ์เนอร์นั่งลงข้างเขาเงียบๆ เธอขอดูระเบิดที่คูเปอร์กล่าวอ้าง คูเปอร์จึงทำการเปิดกระเป๋าเอกสารอย่างใจเย็น ทันทีเมื่อแชฟฟ์เนอร์เห็นของที่อยู่ด้านใน เธอรู้สึกตกใจกับภาพตรงหน้า เพราะของที่ซ่อนในกระเป๋าเอกสารใบนั้น มันคือแท่งสีแดงคล้ายกับระเบิดไดนาไมท์จำนวน 8 แท่ง ติดสายไฟที่เคลือบฉนวนสีแดง และแบตเตอรี่รูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ เมื่อคูเปอร์สามารถคุมสถานการณ์ และสร้างความหวาดกลัวให้แอร์โฮสเตสได้สำเร็จ เขาจึงเริ่มบอกความต้องการของเขา

1) ร่มชูชีพจำนวนสี่ตัว

2) เงินค่าไถ่จำนวน 200,000 ดอลลาร์ ทั้งหมดต้องเป็นธนบัตรใบละ 20 ดอลลาร์เท่านั้น (ค่าเงินในยุค 70 หากนำมาเทียบกับค่าเงินในปัจจุบัน คาดว่าอยู่ที่ราวๆ 1,260,000 ดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 38 ล้านบาท)

Northwest Orient Airlines plane

คูเปอร์สั่งให้แชฟฟ์เนอร์นำความต้องการของเขาไปบอกนักบิน และให้แอร์โฮสเตสอีกคนชื่อว่า ทีนา แมคโลว (Tina Mucklow) มานั่งข้างเขาแทน โดยสั่งให้แมคโลวใช้โทรศัพท์ด้านหลังเครื่องในการพูดคุยประสานงานกับลูกเรือคนอื่นๆ ให้อยู่ในความสงบ เมื่อแชฟฟ์เนอร์เดินกลับออกมาที่ห้องโดยสารเธอเห็นคูเปอร์สวมแว่นกันแดดสีดำเข้มอย่างสบายใจ
เที่ยวบิน 305 บินวนกลางอากาศนานกว่าสองชั่วโมง เพื่อรอให้หน่วยงานรัฐบาลในพื้นที่เตรียมเงินค่าไถ่ และของที่คูเปอร์ต้องการให้ครบถ้วน

จนถึงเวลา 17:39 น. เที่ยวบินได้ลงจอดในสนามบินซีแอตเทิล – ทาโคมา เกิดการแลกเปลี่ยน เจ้าหน้าที่นำเงินค่าไถ่ พร้อมร่มชูชีพให้คูเปอร์เพื่อแลกกับชีวิตคนบริสุทธิ์ คูเปอร์ยอมปล่อยผู้โดยสารจำนวน 36 คน ลงมาจากเครื่องบิน ซึ่งผู้โดยสารหลายคนยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเครื่องบินถูกปล้น แต่คูเปอร์ยังคงจับตัวประกัน 4 คนเอาไว้ เขาสั่งให้เครื่องออกบินอีกครั้ง โดยระบุความต้องการดังนี้

  • ทำการเปลี่ยนเส้นทางบินไปยังเมืองเม็กซิโกซิตี้
  • รักษาระดับความสูงในการบินให้ต่ำกว่า 10,000 ฟุต
  • รักษาความเร็วในการบินให้ต่ำกว่า 200 นอต
  • ปิดไฟในห้องโดยสารทั้งหมด
  • เปิดประตูบันไดใต้ท้องเครื่องทิ้งไว้

นักบินได้ปฏิบัติตามคำขอของคูเปอร์ แต่มีสองข้อที่ไม่สามารถทำได้นั้นคือ เครื่องบินไม่สามารถบินในระยะทาง 2,200 ไมล์ไปยังจุดหมายปลายทางที่เม็กซิโกซิตี้ได้ เพราะน้ำมันอาจไม่เพียงพอ คูเปอร์จึงตกลงกับนักบินให้แวะเติมน้ำมันที่เมืองรีโน อีกข้อหนึ่งคือ การออกบินโดยเปิดประตูบันไดใต้ท้องเครื่องทิ้งไว้ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากอันตรายเกินไป คูเปอร์จึงยอมเปลี่ยนใจ แต่เรียกให้แมคโลวมานั่งข้างๆ เพื่อสอนวิธีการเปิดปิดประตูบันไดใต้ท้องเครื่อง

เครื่องบินจอดแวะเติมน้ำมันที่รีโน เเต่เกิดปัญหาในการเติมน้ำมันทำให้ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง เครื่องได้ออกบินอีกครั้งในเวลา 19:40 น. แต่การออกบินครั้งนี้เที่ยวบิน 305 ไม่ได้บินเพียงลำพัง ท่ามกลางความมืดมิดมีเครื่องบินไอพ่นของกองทัพอากาศหลายลำบินตามเพื่อคอยดูสถานการณ์ห่างๆ จนเวลาล่วงเลยมาถึง 20:00 น. คูเปอร์ได้สั่งให้ตัวประกันที่เหลือทั้งหมดเข้าไปรวมตัวกันในห้องนักบินรวมถึงแมคโลว ภาพสุดท้ายที่เธอเห็น คือภาพที่คูเปอร์กำลังยืนตรงกลางทางเดินเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทำอะไรบางอย่าง ไม่นานนักอุณหภูมิบนเครื่องลดต่ำลง พร้อมกับสัญญาณไฟกะพริบในห้องนักบินที่แจ้งให้ทราบว่าประตูบันไดใต้ท้องเครื่องกำลังถูกเปิดออก

D.B. Cooper left this tie aboard the plane when he jumped.

สองชั่วโมงต่อมาในเวลา 22:15 น. กัปตันนำเที่ยวบิน 305 ลงจอดอย่างปลอดภัย ตำรวจท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ FBI พุ่งเข้าล้อมเครื่องบินอย่างรวดเร็ว พร้อมทำการบุกขึ้นเครื่องบิน พบเพียงร่มชูชีพจำนวนสองตัว เนคไทสีดำ และเศษก้นบุหรี่ แต่ไม่มีวี่แววของคูเปอร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่มั่นใจว่าไม่มีทางหนีออกจากเครื่องบินโดยไม่ผ่านสายตาเจ้าหน้าที่ได้ จึงมีเพียงข้อสันนิษฐานเดียวที่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้ดีที่สุด ที่ไหนสักแห่งระหว่างทางจากซีแอตเทิล คูเปอร์ได้กระโดดหนีจากเครื่องบินพร้อมร่มชูชีพ และเงินค่าไถ่ทั้งหมดท่ามกลางควมมืด ที่ระดับความสูง 10,000 ฟุต ลงไปในหุบเขาป่าทึบเบื้องล่าง

ภายหลังจากเหตุการณ์นี้ไม่เคยมีใครพบเห็นคูเปอร์อีกเลย ชะตากรรมสุดท้ายของเขายังคงเป็นปริศนาไปตลอดกาล พร้อมคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบ ต่อมาจอมโจรปริศนาถูกรู้จักในชื่อ D.B. Cooper ซึ่งเกิดจากการนำเสนอข่าวผิดพลาดของสื่อในสมัยนั้น


 

การสืบสวน

wanted poster for D.B. Cooper

เจ้าหน้าที่ FBI คาดว่าจุดที่ D.B. Cooper กระโดดลงอยู่ห่างจากทางเหนือของเมืองพอร์ตแลนด์ 40 กิโลเมตร ในช่วงเช้ามืดของวันถัดมาจึงมีการระดมกำลังเข้าค้นหาในพื้นที่ด้วยแฮลิคอปเตอร์ และหน่วยภาคพื้นดิน แต่ถึงจะสามารถระบุบริเวณที่คูเปอร์กระโดดได้ แต่ก็ไม่ทราบจุดลงที่ชัดเจน การตามหาครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร ประกอบกับอุปสรรคจากสภาพอากาศเลวร้ายที่กินเวลานานหลายวัน ท้ายที่สุดก็ไม่พบร่องรอยของ D.B. Cooper

FBI จึงหันไปที่การสืบสวนการใช้เงิน โดยเงินค่าไถ่ทั้งหมดถูกนำมาจากธนาคาร Seattle First ที่มีการเก็บเงินหมุนเวียนสำรองสำหรับรองรับเหตุการณ์ปล้นลักษณะนี้โดยเฉพาะ เงินจำนวน 200,000 ดอลลาร์ เป็นธนบัตรใบละ 20 ดอลาร์จำนวน 10,000 ใบ มีการเก็บ Serial Number เอาไว้ทั้งหมด สำหรับใช้ตรวจร่องรอยการใช้เงิน โดยทางสายการบิน และสื่อหลายเจ้าได้เสนอเงินรางวัลสำหรับผู้ที่พบเห็นธนบัตรที่มี Serial Number ตรงตามประกาศ แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครแจ้งเบาะแสที่มีประโยชน์เพิ่มเติมเลย

Remains of D.B. Cooper’s ransom money,

จนกระทั่งในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ปี 1980 เก้าปีหลัง D.B. Cooper ก่อเหตุปล้น ไบรอัน อินแกรม (Brain Ingram) ได้ขุดพบเงินในขณะที่เขากำลังตั้งแคมป์ในชายหาด Tina Bar เขาพบเงินทั้งหมด 3 ห่อจำนวน 5,880 ดอลลาร์ ในสภาพที่ไม่สามารถใช้งานได้ พ่อแม่ของไบรอันที่เคยทราบข่าวคดีในอดีต จึงได้นำเงินทั้งหมดส่งให้เจ้าหน้าที่ FBI และจากการตรวจสอบ Serial Number นั้นตรงกับเงินค่าไถ่ของ D.B. Cooper แต่การเจอเงินไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก ยิ่งจะทำให้เกิดคำถามตามมาอีกมากมาย เงินถูกฝังห่างจากจุดที่คูเปอร์กระโดดลงจากเครื่องถึง 27 กิโลเมตรได้อย่างไร ใครเป็นคนนำเงินพวกนี้มาฝัง และทำไปทำไม

ภายหลังแชฟฟ์เนอร์ให้การเพิ่มเติมว่า กระดาษโน๊ตที่คูเปอร์ยื่นให้เธอ ข้อความไม่ได้ถูกเขียนแบบลวกๆ ตัวอักษรทุกตัวถูกเขียนเป็นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่อย่างเรียบร้อยด้วยปากกาสักหลาด แต่เธอจำข้อความทั้งหมดแบบละเอียดไม่ได้ เพราะ D.B. Cooper หยิบโน๊ตกลับไปทันทีหลังจากเธออ่านเสร็จ

จากคำอธิบายของพยานในที่เกิดเหตุหลายราย เจ้าหน้าที่ได้สเก็ตช์ภาพใบหน้าออกมาหลายภาพ ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่ FBI รู้สึกมั่นใจว่าจะสามารถตามจับ D.B. Cooper ได้อย่างแน่นอน เพราะพวกเขามีข้อมูล และรายละเอียดเฉพาะหลายอย่าง แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่เคยจับจอมโจรปริศนาผู้นี้ได้เลย

หากจะตัดสินว่า D.B. Cooper ตายไปแล้วหลังกระโดดหนีจากเครื่องบิน คงจะทำให้เรื่องนี้ดูหมดความลึกลับไป และดูเป็นคำตอบที่ง่ายเกินไป เพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่า D.B. Cooper คือโจรมืออาชีพที่วางแผนมาเป็นอย่างดี จากคำให้การของพยานบอกว่าเขาคุ้นเคยพื้นที่ดี เนื่องจากรู้ระยะห่างสภาพแวดล้อมของสนามบินแต่ละเเห่ง และการที่เขาร้องขอร่มชูชีพทั้งหมด 4 ตัว ก็เพื่อหลอกให้เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเขาจะพาตัวประกันกระโดดหนีไปด้วย เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้ทำการตัดสายร่มชูชีพ

โดยร่มชูชีพจำนวน 4 ตัว มีทั้งร่มแบบพลเรือน ร่มทหาร และร่มเกรดต่ำที่สภาพไม่ดีนัก ซึ่ง D.B. Cooper เลือกร่มแบบทหาร และร่มเกรดต่ำไป ทิ้งร่มพลเรือนสภาพสมบูรณ์เอาไว้สองตัว เชื่อว่าเขาอาจจะเป็ทหารที่ผ่านการฝึกฝนมาก่อน จึงคุ้นเคยกับการใช้ร่มทหารเป็นอย่างดี ส่วนร่มเกรดต่ำที่เขานำไปด้วย คาดว่าใช้สำหรับห่อเงิน เอกสาร และอุปกรณ์ต่างๆ หากดูจากทักษะความสามารถ และการวางแผนมาเป็นอย่างดี เชื่อว่าเขาน่าจะรอดชีวิตจากการกระโดร่ม และแฝงตัวอยู่ในป่า รอเวลาออกมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติในฐานะเศรษฐีรายใหม่


 

ผู้ต้องสงสัย

เจ้าหน้าที่ FBI มีผู้ต้องสงสัยในคดีนี้รวมกันหลายพันคน แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยรายสำคัญ

1. ริชาร์ด แมคคอย จูเนียร์ (Richard McCoy Jr.)

ถูกต้องสงสัยในปี 1972 เพียงห้าเดือนหลังจาก D.B. Cooper ก่อคดี เขาคืออดีตทหารจากสงครามเวียดนาม ได้ก่อเหตุปล้นสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์ เมื่อเครื่องบินผ่านเหนือรัฐยูทาห์ ริชาร์ดกระโดดลงจากเครื่องบินพร้อมเงินค่าไถ่ 500,000 ดอลลาร์ แต่ไม่นานนักเขาถูกเจ้าหน้าที่จับกุม และถูกตัดสินจำคุกนาน 45 ปี ถึงแม้รูปแบบการก่อเหตุจะคล้ายกัน แต่เมื่อสืบสวนต่ออย่างละเอียด เขาได้ถูกตัดออกจากการเป็นผู้ต้องสงสัย เนื่องจากรูปพรรณสัณฐานไม่ตรงกับคำให้การของพยาน ในระหว่างปล้นเขาใช้อาวุธปืนข่มขู่พนักงาน อีกทั้งริชาร์ดกระโดดหนีพร้อมหมวกกับชุดสำหรับกระโดดร่ม และในตอนที่ D.B. Cooper ก่อเหตุปล้น เขามีอายุเพียง 29 ปีเท่านั้น ซึ่งไม่ตรงกับลักษณะที่พยานบอกว่าเป็นชายอายุช่วง 40 กลางๆ

2. โรเบิร์ต แร็กสทราว (Robert Rackstraw)

ถูกต้องสงสัยในปี 1978 อดีตทหารพลร่มหน่วยรบพิเศษ มีประวัติอาชญากรรมโชกโชน ถูกไล่ออกจากกองทัพหลังเหตุปล้นเพียงไม่กี่เดือน ในขณะที่ D.B. Cooper ก่อเหตุปล้น เขามีอายุเพียง 28 ปีเท่านั้น ประกอบกับสีของดวงตาที่ไม่ตรงกัน FBI จึงตัดเขาออกจากผู้ต้องสงสัย แต่ก็ยังมีหลายคนสงสัยว่าโรเบิร์ตคือ D.B. Cooper ตัวจริงจนถึงทุกวันนี้

3. เคนเน็ธ คริสเตียนเซน (Kenneth Christiansen)

ถูกต้องสงสัยในปี 2003 เขาเคยเป็นทหารพลร่มในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังเคยเป็นสจ๊วตให้สายการบินนอร์ธเวสต์แอร์ไลน์ เขาถนัดมือซ้ายเหมือน D.B. Cooper โดยก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1994 เขาได้บอกพี่ชายแท้ๆ ว่า ” มันมีบางอย่างที่พี่ควรรู้ แต่ผมบอกไม่ได้ ” หลังจากนั้นครอบครัวพบว่าเขามีเงินเก็บในบัญชีรวมกว่า 200,000 ดอลลาร์ และที่สำคัญเมื่อเจ้าหน้าที่นำรูปของคริสเตียนเซนให้แชฟฟ์เนอร์ดู เธอบอกว่าเหมือน D.B. Cooper มากๆ แต่จากข้อมูลโดยรวม พบว่าคริสเตียนเซนดูเตี้ย และอ้วนกว่ารูปพรรณสัณฐานที่พยานหลายคนแจ้ง ส่วนเงินทั้งหมดในบัญชีของเขาก็มีที่มาชัดเจนจากการขายที่ดิน

4. ดวน เวเบอร์ (Duane L. Weber)

ถูกต้องสงสัยในปี 1995 อดีตทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต เขาได้บอกภรรยาว่า “ผมมีความลับจะบอก ผมคือ D.B. Cooper ” หลังจากได้ยินแบบนั้น ภรรยาของเวเบอร์ได้นึกย้อนกลับไปทบทวนเรื่องราว และได้แจ้งเบาะแสกับ FBI ว่าในช่วงหนึ่งปีก่อนการพบเศษเงินที่ชายหาด Tina Bar เวเบอร์ได้เดินทางไปในบริเวณนั้น อีกทั้งรูปพรรณสัณฐานตรงกับคำให้การของพยาน แต่จากการตรวจรอยนิ้วมือของเขากลับไม่ตรงกับรอยนิ้วมือที่พบในเครื่องบิน ซึ่งทางตำรวจเองก็ไม่แน่ใจว่าลายนิ้วมือในเครื่องบินนั้นเป็นของ D.B. Cooper หรือเป็นของผู้โดยสารคนอื่นๆ ทำให้ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าเวเบอร์คือคนร้าย

5. วิลเลียม สมิธ ( William J. Smith )

ถูกต้องสงสัยในปี 2018 เขาเป็นพนักงานดูแลรถไฟ ในอดีตเขาเคยประจำในกองทัพเรือสหรัฐช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขามีอายุ 43 ปีในช่วงเหตุปล้น รูปพรรณสัณฐานของเขาตรงกับที่พยานแจ้ง และมีโครงหน้าคล้ายภาพสเก็ตช์ D.B. Cooper เวอร์ชันแก่ อีกทั้งเขายังเคยมีเพื่อนสนิทชื่อ Daniel Cooper ซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้ว เขาอาจมีแนวคิดว่าการมาของเครื่องบินคือต้นเหตุที่ทำให้ธุรกิจรถไฟล้มละลาย และเขาไม่ได้รับเงินบำนาญเลย ประกอบกับการตรวจพบร่องรอยไททาเนียมบริสุทธิ์บนเนคไทที่ D.B. Cooper ทิ้งไว้บนเครื่องบิน ซึ่งเป็นแร่หายากในสมัยนั้น สามารถพบได้จากสถานีรถไฟ แต่ไม่มีหลักฐานเพิ่มเติมที่ทำให้สรุปว่าวิลเลียมคือ D.B. Cooper ตัวจริง

6. เชอริแดน ปีเตอร์สัน ( Sheridan Peterson )

อดีตในนาวิกโยธินสหรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนที่ในเวลาต่อมาเขาได้ทำงานเป็นบรรณาธิการด้านเทคนิคของเครื่องโบอิ้งในซีแอตเทิล เขามีรูปพรรณสัณฐาน และอายุที่ใกล้เคียง D.B. Cooper นอกจากนี้ปีเตอร์สันมักชอบพูดออกสื่อเล่นๆ ว่าเขาคือ D.B. Cooper แต่เป็นความจริงหรือไม่ ไม่มีใครสามารถตอบได้ เพราะล่าสุดปีเตอร์สันเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2021 ที่ผ่านมา

จากการสืบสวนอย่างหนักไม่สามารถจับชายปริศนาที่ก่อเหตุปล้นระดับตำนานมาลงโทษได้เลย จนกระทั่งปี 2016 ทาง FBI ได้ตัดสินใจยุติการสืบสวนคดีนี้ เพื่อหันไปทุ่มเทในการสืบสวนคดีอื่นแทน แต่ FBI ยังพร้อมรับคำให้การของคนที่มีหลักฐานสำคัญๆ เช่น ธนบัตร ชิ้นส่วนของร่มชูชีพ และอื่นๆ โดยสามารถนำมาแจ้งต่อสำนักงานภาคสนามในพื้นที่ได้ โดยในปัจจุบันมีเหล่านักสืบอิสระ และนักสืบสมัครเล่น ที่ถูกเรียกว่า “Cooperites” พวกเขายังคงตามสืบหาข้อมูลทั้งหมดที่พวกเขาสามารถทำได้ และยังเป็นเจ้าภาพจัดงาน “CooperCons” งานสำหรับพูดคุยหารือเรื่องคดีของ D.B. Cooper

ชื่อเสียงของ D.B. Cooper ได้โด่งดังในวัฒนธรรมสมัยนิยม ได้ไปปรากฏตัวในเพลง ภาพยนตร์ และหนังสือมากมาย รวมไปถึงตัวละครของ Dale Cooper ในรายการโทรทัศน์ Twin Peaks และตัวละคร Charles Westmoreland จากซีรีส์แหกคุกระดับตำนานอย่าง Prison Break SS1 ก็ได้แรงบัลดาลใจมากจาก D.B. Cooper เช่นกัน

 


Written by JSTK

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line