World

NIHON STORIES: สายฝนสีดำในฤดูร้อนที่ฮิโรชิมะ 74 ปี จากวันล่มสลายที่ก่อร่างสร้างใหม่หลังสงคราม

By: TOIISAN August 7, 2019

ยามเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 ขณะที่บางคนหลับใหล หรือบางคนกำลังลุกจากเตียง ช่วงที่ทุกคนต่างทำกิจวัตรประจำวันเมืองเล็ก ๆ ของญี่ปุ่นที่ชื่อว่าฮิโรชิมะเวลาแปดนาฬิกาถูกถล่มราบเป็นหน้ากลองพร้อมเสียงกึกก้องที่ได้ยินกันทั่วด้วยระเบิดปรมาณูที่ถูกหย่อนลงมาจากเครื่องบิน โบอิง B-29 รู้ตัวอีกนิวเคลียร์ที่ถูกปล่อยก็ทำให้ฮิโรชิมะไม่มีวันกลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกต่อไป 

Black Rain (1989 Japanese film)

ด้วยเรื่องราวที่แสนสะเทือนใจ ในวันนี้ UNLOCKMEN จึงอยากพาทุกคนไปย้อนรอยถึงเหตุการณ์หลังจากระเบิดนิวเคลียร์ถูกทิ้งลงในเมืองฮิโรชิมะที่ทำให้ผู้คนที่อยู่บริเวณศูนย์กลางของระเบิดเสียชีวิตทันที เพราะแรงกระแทกระดับมหาศาล รวมถึงความร้อนที่ทำให้เหล็กละลาย บางคนก็จากไปในกองเพลิงที่ลุกลามจนไม่อาจดับได้ง่าย ๆ ว่าหลังจากวันที่ 6 แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบบ้าง ?

Black Rain (1989 Japanese film)

ช่วงเวลาเกิดระเบิดครั้งใหญ่ เด็กนักเรียนในโรงเรียนห่างจากศูนย์กลางของระเบิดพอประมาณกำลังฟังคุณครูพรรณนาถึงความดีงามของสงคราม เกียรติยศและความรุ่งเรือง เกิดแสงวาบครั้งใหญ่ที่ทุกคนแม้กระทั่งเด็ก ๆ ก็รู้ว่าคือระเบิด ทุกคนต่างหลบลงใต้โต๊ะเอานิ้วอุดหูรอให้ทุกอย่างจบลง 

เมื่อเสียงอื้ออึงจางหายทุกคนต่างสำรวจตัวเองพบว่าบนร่างกายเกรอะกรังไปด้วยเลือดและฝุ่น กระจกห้องเรียนแตกกระจาย มีคนโดนกระจกบาด ปลิวไปกระแทกกับโต๊ะหนังสือ เสื้อติดไฟ บางคนติดอยู่ในซากตึก แถมไม่นานนักฝนก็เทลงมาพร้อมกับความรู้สึกชวนหดหู่ เพราะหยดน้ำทั้งหมดเป็นสีดำคล้ายกับน้ำมันที่ล้างไม่ออก ฝนเหล่านี้ขนฝุ่นกัมมันตภาพรังสีเป็นพิษลงสู่พื้นดิน ทำให้เพลิงไหม้กระจายทั่วเป็นวงกว้าง 

Black Rain (1989 Japanese film)

เหล่าผู้รอดที่อยู่ในเหตุการณ์การทิ้งนิวเคลียร์ฮิโรชิมะหลายคนรับผลกระทบทั้งภายในและภายนอก ร่างกายของพวกเขาบาดเจ็บ หลายคนถ่ายท้องเป็นเลือดเพราะผลเฉียบพลันจากการได้รับสารกัมมันตภาพรังสี บางคนรอดจากเหตุระเบิดแต่เจ็บหนักและเสียชีวิตไม่กี่วันต่อมาก็มีให้เห็นไม่น้อย

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่น่าเศร้าถูกประกาศออกมาอย่างเป็นทางการวันที่ 7 สิงหาคม 1945 กับเสียงตามสายที่ประกาศให้ประชาชนทุกคนทราบถึงโศกนาฏกรรมว่า

“จังหวัดฮิโรชิมะเสียหายจากการโจมตีของเครื่องบินที่ขนมาพร้อมระเบิดแบบใหม่ที่เรายังไม่ทราบชนิด” 

มีหลายคนที่บ้านอยู่ฮิโรชิมะแต่ต้องออกมาทำงานนอกเมือง เช้าวันที่ 7 หลังจากการประกาศข่าวในวิทยุ กลุ่มคนที่ออกมาทำงานนอกเมืองจำนวนไม่น้อยกลับเข้าไปยังซากปรักหักพังของฮิโรชิมะ ระหว่างทางเห็นสภาพคนคล้ายกับซอมบี้ เหล่าผู้มีชีวิตสภาพหมดอาลัยตายอยาก ซากศพจำนวนมากกองอยู่เต็มถนน 

ตามคำบอกเล่าที่เราไม่สามารถยืนยันได้ว่าจริงหรือไม่ ในวันที่ 7 มีคนเจอทหารอเมริกันบาดเจ็บอยู่ซอกตึก กลางเมืองฮิโรชิมะและขอความช่วยเหลือ แต่ชาวญี่ปุ่นที่โกรธแค้นไม่ช่วยเหลือพวกเขาซ้ำยังปาอิฐกับก้อนหินใส่อีกด้วย

มีคนจำนวนไม่น้อยไม่ปักใจเชื่อจากการบอกเล่าครั้งนี้เพราะมองไม่ถึงเหตุผลที่ดีว่าทำไมถึงมีทหารอเมริกันอยู่ในเมืองฮิโรชิมะแถมยังโดนระเบิดไปพร้อมกับชาวบ้าน แต่ก็มีบางคนบอกว่าทหารมะกันกลุ่มนั้นเป็น POW (prisoner of war) หรือเป็นเชลยของญี่ปุ่น

เหล่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในฮิโรชิมะและรอดชีวิตมาได้ต่างยืนดูบ้านของตัวเองที่ลุกไหม้อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ พวกเขาสิ้นหวัง หมดแรง เจ็บปวดแต่ก็เมื่อยังมีชีวิตอยู่สิ่งที่พวกเขาพอจะทำได้ในตอนนั้นคือต้องก้าวต่อไป

นอกจากนี้เรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กันเรื่องหนึ่งที่มักจะถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมะและนางาซากิคือชีวิตของ ซึโตมุ ยามากูชิ (Tsutomu Yamaguchi)

เขาคือชายที่รอดจากการระเบิดฮิโรชิมะและนางาซากิ บาดเจ็บจากระเบิดครั้งแรกแถมมีแผลไฟไหม้ตามลำตัว พอเริ่มเดินไหวรักษาตัวเองจนดีขึ้นก็กลับบ้านที่นางาซากิ เพียงไม่กี่วันก็เกิดระเบิดขึ้นอีกครั้ง ถึงแม้ว่าเขาจะรอดจากเหตุระเบิดทั้งสองครั้งก็ตาม แต่สุดท้ายซึโตมุซังก็ป่วยด้วยโรคมะเร็งและจากโลกนี้ไป ทำให้เห็นว่าแม้เราไม่ตายแต่สุดท้ายสงครามก็ทิ้งความเจ็บปวดให้กับผู้คนอยู่ดี 

ในเวลาที่ย่ำแย่อาจมีคนโชคดีแบบซึโตมุซังแต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ดวงดีแบบนั้น มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการทิ้งระเบิดเมืองฮิโรชิมะ บางคนร่างกายฉีกขาดไปคนละส่วนหรือโดนไฟแผดเผาจนจำไม่ได้ เมื่อไม่สามารถพิสูจน์จากศพว่าเป็นใครมาจากไหนพวกเขาทั้งหมดจึงถูกฝังไว้รวมกัน

หลุมศพที่ว่ามีรูปร่างครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ ถูกเรียกว่า Atomic Bomb Memorial ที่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดฮิโรชิมะกว่า 60,000 คน ที่ไม่สามารถหาตัวตนได้ 

ผู้คนส่วนใหญ่มักรู้ว่าวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 คือวันทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกในเมืองฮิโรชิมะ และอีกไม่กี่วันถัดมาคือวันที่ 9 สิงหาคม ญี่ปุ่นก็โดนนิวเคลียร์อีกลูกที่เมืองนางาซากิ และความเจ็บปวดหลังจากเหตุการณ์เพิ่งผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ คือความเศร้าที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก เลยทำให้เราหยิบเรื่องนี้มาให้ทุกคนได้อ่านเพื่อระลึกถึงความรุนแรงที่ครั้งหนึ่งเคยสั่นสะเทือนไปทั้งโลก

 

SOURCE: 1 / 2 / 3 / 4

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line