Life

ยิ่งเสียงดังยิ่งใส่หูฟัง ระวัง! หูพัง สมองก็พัง เพราะความจำเสื่อม

By: Synthkid September 9, 2019

ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าการเปิดเพลงดัง ๆ ตอนใส่หูฟังไม่ดีต่อสุขภาพ อาจทำให้หูตึง หูหนวก ไม่ดีต่อแก้วหู ใช่ครับพวกเรารู้ แต่น้อยคนที่จะใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ยิ่งเป็นคนเสพติดเสียงเพลงบอกเลยว่ายาก ใครจะมาดึงหูฟังออกจากเรา บอกเลยว่าไม่มีทาง!

เวลาเราเดินทาง หรือออกไปยังพื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยเสียงดังจอแจ เราก็ยิ่งเร่งเสียงเพลงให้ดังขึ้น เพื่อกลบเสียงเหล่านั้น คุณอาจจะคิดว่าก็ทำแบบนี้มาได้ตั้งนานไม่เห็นจะเป็นอะไร หูยังใช้การได้ไม่ตึงเสียหน่อย แต่เชื่อเถอะครับว่าการกระทำแบบนี้อาจส่งผลเสียได้มากและ ‘หลากหลาย’ กว่าที่คิด UNLOCKMEN จะบอกคุณให้ว่าการเปิดเพลงเสียงดังวันนี้ จะแถมฟรีโรคภัยอะไรบ้างที่อาจเกิดกับตัวคุณ เพราะต่อให้หูไม่ดับ อย่างอื่นก็อาจดับแทนได้…

 

หูวิ้ง

อาการหูวิ้งไม่เหมือนหูตึง เพราะแทนที่เราจะไม่ได้ยินเสียง เราดันได้ยินเสียงอะไรบางอย่างตลอดเวลาอยู่ในหู (หากใครเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Baby Driver นั่นแหละครับมันคือโรคแบบที่เจ้าเบบี้เป็น) ซึ่งการหูวิ้งนี้ไม่ได้แปลว่าจะได้ยินเสียงวิ้ง ๆ เหมือนจิ้งหรีดเท่านั้น เพราะมีทั้ง ได้ยินเสียงลมในหูตลอดเวลา เสียงตุบ ๆ เสียงคลิก เสียงหึ่ง ๆ จนไปถึงได้ยินเสียงเพลงที่เราคุ้นเคยวนอยู่ในหูซ้ำ ๆ ตลอดไป! แค่คิดก็น่ารำคาญจนจะร้องไห้

อาการหูวิ้งมีทั้งที่รักษาได้และรักษาไม่ได้ อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเกิดจากการฟังเพลงดังเสมอไป เพราะอาจเกิดจาก โรคอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไต โรคความดัน หรือโรคโลหิตจาง ได้เช่นกัน

 

เวียนหัวตอนตื่นนอน

หลายคนรู้สึกมึนงง คลื่นไส้ เวียนหัวทุกครั้งที่ตื่นนอน แต่ยังหาสาเหตุไม่ได้ ลองทบทวนตัวเองให้ดีว่าคุณฟังเพลงเสียงดังเกินไปเป็นประจำหรือไม่ เพราะการได้ยินเสียงดังมาก ๆ อาจเข้าไปกระทบกระเทือนอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ทำให้เราเวียนหัวทรงตัวไม่อยู่ บ้านหมุน จนเกิดอาการอยากอาเจียนได้เช่นกัน

 

หูตึง 

อาการทุกอย่างที่เรากล่าวไปข้างต้น อาจนำมาซึ่งการหูตึงได้ในท้ายที่สุด เพราะในทุก ๆ คลื่นเสียงมี ‘ความดัน’ การที่เราปล่อยให้ความดันเข้ามายังรูหูในปริมาณมากนั้น จะเป็นการทำลายเซลล์ประสาทหู และเซลล์ขนในหู ส่งผลให้อวัยวะรับสัญญาณในหูของคุณเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ จนคุณอาจสูญเสียได้ยิน แต่ในกรณีที่เป็นไม่หนักมาก เพียงหยุดพักการใช้หูฟังสักระยะก็อาจจะกลับมาได้ยินตามปกติ

 

ความจำเสื่อม

ทั้งมึนหัว หูวิ้ง หูหนวก นี่มันสามารถเป็นไปได้ยันความจำเสื่อมเลยหรือนี่! ทางการแพทย์กล่าาวว่า หากเราใส่หูฟังและเร่งเสียงดังจนสุดระดับเสียง จะส่งผลให้ประสาทการรับรู้เราเสียภายใน 30 นาที อีกทั้งอาการหูตึงตอนอายุมากขึ้นสามารถส่งผลถึงสมองได้ การฟังเสียงดังที่เกินพอดีบ่อย ๆ จึงสามารถส่งผลให้เราเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน เนื่องจากสมองของเราต้องทำงานหนักในการประมวลผลเสียงรอบข้างมากกว่าคนทั่ว ๆ ไปนั่นเอง

 

แล้วจะให้ทำไง ในเมื่ออย่างไรก็ต้องใช้หูฟัง?

หูของคนเราไม่ควรได้รับเสียงดังเกิน 110 เดซิเบล แต่ค่าเดซิเบลไม่ใช่อะไรที่ชาวบ้านชาวช่องแบบพวกเราจะสามารถวัดค่าได้ตลอดเวลา ต่อให้มีแอปพลิเคชันช่วยก็เถอะ และเราเองก็ไม่ได้พูดว่าให้ทุกคนเลิกใช้หูฟังไปตลอดกาล เพราะถ้าคุณทำตามวิธีเหล่านี้ ความอันตรายก็จะไม่มาเยือน

  • ปรับระดับความดังไม่ให้เกิน 60% ของระดับเสียงสูงสุด
  • ไม่ควรฟังเพลงด้วยหูฟังนานต่อเนื่องเกิน 2 ชั่วโมง
  • ไม่ควรเสียบหูฟังตลอดเวลา แม้จะไม่ได้เปิดอะไรฟัง ลดอัตราเสี่ยงต่อสุขภาพหู อีกทั้งการใส่หูฟังนาน ๆ อาจทำให้ปวดกระบอกหูอีกด้วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้หูฟังแบบ In-Ear ร่วมกับคนอื่น เพื่อลดความเสี่ยงต่อผิวหนัง
  • หมั่นทำความสะอาดหูฟัง เปลี่ยนฟองน้ำหรือจุกยางหูฟังบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่น และเชื้อแบคทีเรีย

 

Music Therapy

นอกจากหูฟังแล้ว การเปิดลำโพงเสียงดัง หรืออยู่ในสถานที่ที่เสียงดังเป็นเวลานาน ๆ ก็ไม่ปลอดภัยต่อหูเช่นกัน หนุ่ม ๆ หลายคนอาจจะรู้สึกขัดใจที่ต้องลดเสียงเพลง แต่เชื่อเถอะครับ รักษาหูเอาไว้ตั้งแต่วันนี้ดีที่สุด จะได้มีอวัยวะใช้ฟังเพลงเพราะ ๆ ได้ยินเสียงคนที่เรารักไปอีกนาน

 

Source: 1 / 2

Synthkid
WRITER: Synthkid
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line