Entertainment

ไม่ไหวบอกไหว ถ้ายังหายใจก็ต้องไปต่อ ‘5 หนังสือที่บอกว่าโลกร้ายแต่ใจต้องแกร่ง’

By: PSYCAT April 22, 2020

เราต่างเจ็บปวด ทุกข์เศร้า และสูญเสียอะไรบางอย่างให้กับ COVID-19 บางคนเข้าใจ รับมือได้ หรือมีต้นทุนมากพอที่จะดูแลตัวเองให้ผ่านพ้นปัญหาไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ไม่ใช่กับทุกคน บางปัญหา บางการสูญเสีย ปล่อยหมัดตรงจนเราเสียศูนย์ล้มลงไม่เป็นท่า

นอกจากการแก้ปัญหาอันเป็นรูปธรรม อีกสิ่งที่มีความหมายไม่แพ้กันคือ “ความแข็งแกร่งของหัวใจ” ถ้าสูญเสียด้วย หัวใจแหลกสลายด้วย การลุกขึ้นมาเจอแสงสวยงามของวันใหม่อาจไม่มีวันมาถึง อย่างน้อยที่สุดหากยังไม่รู้จะหาทางคลี่คลายความเลวร้ายที่เจอได้อย่างไรก็ประคับประคองหัวจิตหัวใจของตัวเองให้สบายดี เพื่อวันหนึ่งที่มีทางคลี่คลาย เราจะได้ฟันฝ่าไปด้วยหัวใจที่พร้อมสู้ไม่ถอย

หนังสือ 5 เล่มนี้คือหนังสือที่เราอยากให้ใครบางคนที่เศร้า ใครบางคนที่สูญเสีย ใครบางคนที่หัวใจฟีบแฟบไร้ทางกู้คืนได้ลองอ่าน หัวใจอาจไม่แกร่งข้ึนภายในชั่วข้ามคืน แต่มันจะมีความหมายบางอย่างทางความรู้สึกให้คุณได้แน่นอน

 

จะเล่าให้คุณฟัง
DEJAME QUE TE CUENTE
Jorge Bucay

“หนังสือที่เปลี่ยนชีวิตผู้คนมาแล้วจำนวนมากทั่วโลก” นี่คือนิยามของหนังสือเล่มนี้ แต่เมื่อไรที่ได้ยินคำว่าเปลี่ยนชีวิต เราก็คงอดตั้งกำแพงไม่ได้ว่านี่คือหนังสือไลฟ์โค้ช ฮาวทู ที่เอาแต่บอกให้เรามองโลกในแง่ดี ๆ ๆ บอกให้เราเปลี่ยนตัวเอง เลิกเศร้า เลิกทุกข์ ลุกขึ้นมาฉีกยิ้มร่าโดยไม่สนความเป็นจริงหรือเปล่า?

เราขอสัญญาว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ทำแบบนั้นกับคุณ ที่สำคัญหลังอ่านเล่มนี้จบคุณจะมีสิทธิทุกประการที่จะเลือกคิด เลือกจัดการทุกความเศร้าและปวดเจ็บด้วยตัวคุณเอง แต่เป็นการจัดการด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่คุณได้จากการทบทวนตัวเอง ครุ่นคิดกับสิ่งที่รู้สึก

“จะเล่าให้คุณฟัง” คือหนังสือนิทานที่เขียนโดยจิตแพทย์และนักจิตบำบัดที่ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ ใช่ อ่านไม่ผิด แม้จะเขียนโดยจิตแพทย์ที่จะพยายามให้เราทบทวนตัวตน ความต้องการและวิธีคิดของเรา แต่มาในรูปแบบนิทานที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย อ่านเพลิน ชวนให้ฉุกคิดโดยไม่บังคับ

อ่านรวดเดียวจบอาจไม่เหมาะ แต่แทบทุกเสียงที่อ่านเล่มนี้ล้วนบอกตรงกันว่าลองซื้อมาวางไว้บนหัวนอน บนโซฟา หรือโต๊ะที่ระเบียง และในคืนค่ำหรือวันที่เราเศร้า มืดมนและต้องการคำตอบบางอย่างให้ตัวเอง ลองเปิดอ่านเล่มนี้ดู

“เราไม่ได้มีช่วงเวลาสว่างไสวไปตลอด และ เราต่างต้องเผชิญกับความมืดมัวในชีวิตเหมือนกันหมด แต่สิ่งสำคัญเราต้องไม่หลงอยู่ในความสำเร็จในอดีต เพราะการก้าวเดินต่อไปข้างหน้าเพื่อเริ่มต้นหาความสำเร็จครั้งใหม่ คือการดำรงชีวิตอยู่อย่างแท้จริง”

 

ศิลปะของความผิดหวัง
กิตติพล สรัคคานนท์

แม้ชื่อหนังสือจะดูเหมือนหนังสือปลุกเร้ากำลังใจ หรือ How to รับมือกับความผิดหวัง แต่เนื้อหาของเล่มนี้กับงดงามกว่านั้น

เพราะโลกปัจจุบันที่ยกย่องชื่นชมแต่ความสำเร็จ และความผิดหวังกลายเป็นเรื่องน่าเกลียดน่ากลัวที่ใคร ๆ ก็อยากกระโดดหนี หนังสือเล่มนี้กลับเอาเรื่องราวความผิดหวังในรูปแบบต่าง ๆ ของนักคิด นักเขียน นักปรัชญาของโลก (บางคนก็ดัง บางคนเราอาจไม่เคยได้ยินชื่อ) มาเล่าสู่กันฟัง

บางเรื่องงดงาม บางเรื่องเข้าขั้นโศกนาฏกรรม แต่อย่างน้อยที่สุดหลังอ่านเล่มนี้ไปแล้ว เราจะค่อย ๆ ตระหนักได้ว่าโลกนี้มันไม่ได้มีแค่ความสำเร็จที่รอโอบกอดเราอยู่ แต่ความผิดหวัง การพลาดจากสิ่งที่ตั้งใจ ความสูญเสียก็เป็นเพื่อนยากของมนุษย์ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเขียน นักคิด ชื่อดังหรือชื่อไม่ดัง เราล้วนแต่ต้องพบเจอมันเป็นเรื่องธรรมดา

ในห้วงเวลาที่หลาย ๆ อย่างไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิด การได้อ่านเรื่องราวของบุคคลในประวัติศาสตร์จะพอให้เราเห็นรูปรอยอะไรบางอย่างว่าความผิดหวัง อาจเป็นเรื่องธรรมดาสามัญยิ่งกว่าการประสบความสำเร็จ แต่คงไม่ได้หมายความว่าเราจะจมอยู่กับมันแล้วปล่อยให้มันกัดกินทำร้ายเราไปอย่างนั้น แต่อาจหมายความว่าเราล้วนต้องเจอกับช่วงเวลาเจ็บปวดทุกข์ทนเหล่านี้ เพื่อเติบโต แข็งแกร่งขึ้นให้ได้ในแบบของเรา

 

ปีแสง

ปีแสง นั้นยาวนานแค่ไหน? กว่าแสงแห่งการเผาไหม้จากดวงอาทิตย์แสนไกลจะสาดฉายมาถึงเราที่ดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้มันกี่ล้านปีแสงมาแล้ว? หรือแท้จริงมันสั้นแสนสั้นชั่วเท่าที่เห็นแสงยามเช้าที่ส่องมา และจากไปในยามเย็น?

ปีแสง คือหนังสือที่นักจิตบำบัดสาวผู้ชื่อว่า “ดุจดาว” ออกมาเปิดเปลือยตัวตน ความเจ็บปวด การแตกสลาย ที่ปะทุระเบิดราวกับจะทำลายตัวเธอเองและคนรอบตัวให้แหลกเป็นผุยผงได้ในพริบตา

การอ่านเล่มนี้ทำให้เราเห็นความเป็นมนุษย์ของเพื่อนมนุษย์ เห็นความเจ็บปวดของคนอีกคนแบบใกล้ชิดแนบสนิท บางตอนอาจคล้ายความเจ็บปวดของเรา บางคราวอาจใกล้เคียงกับความสูญเสียที่เราเคยประสบ และด้วยความเป็นนักจิตบำบัดของเธอ ตัวอักษรที่ถ่ายทอดออกมาชวนให้เรามองเห็นความเศร้า ความปวดเจ็บในอีกมิติ

ใช่ มันไม่ได้หมายความว่าเราจะหายเศร้า แต่มันอาจหมายความว่าจุดระเบิดชวนให้แตกดับนั้น เราไม่ได้เผชิญมันลำพัง มีใครอีกหลายคนเผชิญความมอดไหม้วอดวายนั้นอยู่ แต่อย่างที่ดุจดาวเขียนไว้ “เปลวไฟเป็นส่วนหนึ่งของการเกิด” เราไม่มีวันรู้เลยว่าความมอดไหม้ในชีวิตครั้งนี้จะพาเราไปสู่อะไร? จนกว่าเราจะยอมรับ อยู่กับมัน และเอาตัวรอดไปจนถึงวันที่มีสิ่งใหม่งอกงามขึ้นในชีวิตเรานั่นเอง

 

สูญเสียแค่ไหน ก็ไม่เสียศูนย์
Guy Winch

ความเจ็บปวดและการสูญเสียสำหรับใครหลายคนอาจเป็นน้ำตา เป็นเสียงสะอื้น หรือบางสิ่งที่จับต้องไม่ได้และไม่มีอะไรมารองรับจนดูคล้ายว่ามีแต่เราที่เข้าใจความเศร้าและการสูญเสียนั้นอยู่เพียงลำพัง แต่ “สูญเสียแค่ไหน ก็ไม่เสียศูนย์” เล่มนี้จะมายืนยันว่าความเจ็บปวดที่เรารู้สึกนั้นมันเป็นเรื่องจริง

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้จะมายืนยันเพราะเขาให้กำลังใจเรา อยู่เคียงข้างเรา แต่เขาจะมาพูดด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ว่าความเจ็บปวด การสูญเสียมันส่งผลต่อร่างกายเราจริง ๆ เช่น ตอนสูญเสียเราอาจรู้สึกเจ็บที่หัวใจได้จริง (ด้วยกระบวนการทางสมองและร่งกาย)

การอ่านหนังสือเล่มนี้จึงคล้ายเป็นเครื่องยืนยันว่ามันเป็นเรื่องปกติที่บางครั้งเราจะเศร้าจนทำอะไรไม่ได้ เราจะรู้สึกป่วยเพราะเราสูญเสียอะไรบางอย่างที่มีความหมายต่อชีวิตเราไป ไม่ใช่เพราะเราอ่อนแอ แต่เพราะนี่คือกระบวนการหนึ่งของร่างกาย (และคนอื่น ๆ ก็เผชิญสิ่งนี้อยู่เช่นกัน)

แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงมีบทค้นคว้าอย่างเป็นระบบเรื่องอาการใจสลายเท่านั้น แต่เขายังบอกวิธีรับมือกับความเจ็บปวดจากการสูญเสียเหล่านี้ รวมถึงวิธีการก้าวไปข้างหน้าให้ได้ แม้จะยังปวดแปลบที่หัวใจอยู่ก็ตาม

 

วิทยาศาสตร์แห่งความสุข: สำรวจความสุขและความหมายของชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์
Jonathan Haidt

ท่ามกลางความเจ็บปวดและการสูญเสีย ไม่ว่าจะสูญเสียการงานที่เคยมั่นคง รายได้ที่เคยล้นหลามใช้ไม่หมด เราอาจนึกไม่ออกว่าปราศจากงาน เงิน แหล่งบันเทิงสารพัดที่เคยมีชีวิตเราจะกลับไปมีความสุขอย่างเดิมได้อย่างไร? เราคิดว่าสิ่งสำคัญที่จะรับมือกับความเศร้าและการสูญเสียในระยะยาว คือการที่หาความสุขจากสิ่งใหม่ ๆ หรือสิ่งเล็ก ๆ ที่เรามีอยู่ให้เจอ

อย่าปล่อยให้ความสูญเสีย พรากโอกาสที่จะเห็นความสุขใหม่ ๆ ในชีวิตเราไป

ความสุขไม่ใช่แค่ความรู้สึกฟุ้ง ๆ ฝัน ๆ ไม่มีรูปร่างอย่างที่เราเคยเข้าใจ เพราะนักวิชาการ นักจิตวิทยา ไปจนถึงนักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามศึกษาความสุขที่สามารถกะได้ วัดได้ (และพอจะสร้างขึ้นได้ ถ้าเข้าใจมันมากพอ) จนออกมาเป็นเนื้อหาชวนทึ่งในหนังสือ “วิทยาศาสตร์แห่งความสุข: สำรวจความสุขและความหมายของชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์” เล่มนี้

คุณจะเข้าใจมากขึ้นว่าทำไมช่วงวัยหนึ่งความสุขถึงง่ายดายเหลือเกิน ในขณะที่บางช่วงวัยของชีวิตความสุขกลับไม่เคยโผล่หน้ามาทักทายเลย ไม่ใช่เพราะความสุขจางหายไป แต่เพราะเราอาจเข้าใจความสุขน้อยกว่าที่เราคิด หนังสือเล่มนี้จะพาเราไปเข้าใจความสุขมากขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้ความสุขเข้ามาอยู่ในชีวิตเราได้มากขึ้นอีกครั้ง แม้วันที่เราเจ็บปวดเจียนตาย เราอาจไม่ได้ถวิลหาความสุขยิ่งใหญ่ที่เราคุ้นเคย แต่เราหาหนทางให้ความสุขเล็ก ๆ เล็ดลอดเข้ามาในหัวใจเราได้มากขึ้น

หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้าเราไม่ได้มีความสุขมากขึ้นอย่างที่ตั้งใจ เราจะยอมรับอย่างเข้าใจได้มากขึ้นว่ามันมีเหตุ มีผลแบบไหนเบื้องหลังความไม่สุขนั้น

 

ขอให้ใจที่พร้อมมอดไหม้เป็นผุยผงของทุกคนที่สู้แล้วสู้เล่าแต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีแสงสว่างใดรออยู่ที่ปลายทางนี้ ยังอดทนต่อไปได้ ยังเข้าใจว่ามีใครอีกหลายคนเผชิญสภาวะเดียวกันนี้อยู่ ยังค่อย ๆ รักและใจดีกับตัวเอง ไปจนถึงวันที่เราแข็งแกร่งพอจะกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line