Life

ชีวิตยิ่งยากคนข้าง ๆ ยิ่งสำคัญ ‘วิธีปลอบคนใกล้ตัวให้ยังไหว’เพราะเราจะผ่านมันไปด้วยกัน

By: PSYCAT May 12, 2020

ตอนนี้คงมีคนน้อยยิ่งกว่าน้อยที่กล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “ชีวิตง่าย” เพราะนี่คืออีกช่วงเวลาหนึ่งที่เราต่างต้องเผชิญความยากลำบากในชีวิตต่างกันไปคนละรูปแบบ และเรารับมือกับเรื่องแย่ ๆ ในชีวิตต่างกันไป

บางคนใจดีสู้เสือ ลุยดะ แก้ทีละเงื่อน คลายทีละปมไปอย่างไม่หวาดหวั่น ในขณะที่บางคนก็ดึงพลังที่เก็บสะสมไว้มาใช้ครั้งแล้วครั้งเล่าจนเจียนจะไม่ไหวอยู่หลายหน

การหมดกำลังใจ ไร้เรี่ยวแรง เหนื่อย ท้อ ในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องผิด ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งบอกว่าใครอ่อนแอกว่าใคร ใครแข็งแกร่งกว่าใคร สิ่งที่มีความหมายที่สุดในห้วงเวลาอันยากลำบากของชีวิตคือการที่ถ้าเรายังไหว แล้วยื่นมือไปปลอบโยนคนข้าง ๆ ไว้ไม่ให้ร่วงหล่นต่างหาก

ดังนั้นถ้าคุณคือคนที่ยังไหว และเห็นคนข้าง ๆ หดหู่ใกล้หมดแรงจากหลายเรื่องที่รุมเร้า อย่าปล่อยให้เขาเศร้าเพียงลำพัง ปลุกปลอบเขาเท่าที่แรงเรายังพอมี เพื่อบอกเขาว่าเราอยู่ตรงนี้เสมอ และเราจะผ่านมันไปด้วยกัน

ความหมายของกำลังใจ คือการ “มีใครสักคนรับฟัง”

ในวันที่ชีวิตเดินทางมาถึงจุดที่ยากที่สุด ชวนให้ท้อและหมดเรี่ยวแรงที่สุด เราไม่ได้ต้องการกำลังใจจากคนทั้งโลก เราแค่ต้องการใครสักคนที่รับฟังและมองเห็นความเจ็บปวดที่เราเผชิญอยู่

ไม่ต่างกัน หากวันนี้เราเป็นคนที่มีแรงเหลือและอยากยืนหยัดเคียงข้างคนที่เรารักในวันที่เขาหมดกำลังใจ คำพูดที่พรั่งพรูอาจไม่ตอบโจทย์เท่าการเคียงข้างรับฟัง

ดังนั้นแทนที่จะเลือกคำพูดอย่าง สู้ ๆ , อย่ายอมแพ้นะ, เป็นกำลังใจให้เสมอ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นคำพูดที่ผิดแต่อย่างใด แต่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะฟังดูเป็นคำพูดสูตรสำเร็จตัดจบแบบแกน ๆ ได้ ลองเปลี่ยนมานั่งข้าง ๆ รับฟังสิ่งที่เขาอยากระบาย อาจถามเพิ่มเติมในส่วนที่เรารู้สึกว่าความรู้สึกเขายังไม่คลี่คลาย แต่ก็ไม่กดดันเขาจนเกินไป และบอกเขาว่าเราอยู่ตรงนี้เพื่อรับฟังเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

หลายครั้งที่มนุษย์รู้สึกโดดเดี่ยวและทดท้อ เส้นบาง ๆ ที่กั้นระหว่างการล้มเลิก กับการฮึดไปต่อ ก็อาจเป็นการที่ได้รู้ว่ามีใครสักคนที่จะอยู่เคียงข้างรับฟังเขาเสมอ ใช่ ชีวิตมันอาจไม่ได้ง่ายขึ้นมาทันตาเห็น แต่อย่างน้อยเมื่อรู้ว่ามีคนข้าง ๆ มันที่ว่ายากก็ดูไม่ยากอย่างที่ต้องเผชิญมันลำพัง

ระวัง! Conversational Narcissism การให้กำลังใจที่อาจไปตัดกำลังใจแทน

หากพูดถึงเจตนาแล้ว การเคียงข้างและตั้งใจจะให้กำลังใจคนที่เรารักย่อมมีแต่เจตนาดีทั้งนั้น แต่เจตนามันอาจไม่พอ โดยเฉพาะเมื่อใครคนนั้นกำลังเผชิญความยากลำบากของชีวิต การเลือกปลอบใจหรือให้กำลังใจจึงควรละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ เพราะถ้าคนข้าง ๆ ทำให้มีพลังใจขึ้นได้มหาศาล คำพูดที่คนที่คนข้าง ๆ ไม่ทันระวังก็อาจทำให้เขารวดร้าวเป็นพิเศษได้เช่นกัน

Conversational Narcissism คือรูปแบบบทสนทนาหนึ่งที่เราอาจดันไปแสดงให้อีกฝั่งเห็นว่าโลกหมุนรอบตัวเรา (โดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังให้กำลังใจอีกฝั่ง และเขากำลังเปิดอกระบายปัญหาที่เขาเจอให้เราฟังอย่างเปิดเผย แต่เราดันเผลอไปเกทับปัญหาของเขาด้วยปัญหาของเราแทน

ตัวอย่าง 

A: ท้อมากว่ะ กำลังจะโดนลดเงินเดือน ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้นเห็นว่าออฟฟิศจะปลดคนออก
B: เออ โคตรเข้าใจเลย กูโดนลดตั้งแต่ 2 เดือนก่อน บ้านก็ต้องผ่อน หมาก็ต้องเลี้ยง  (แล้วก็เปลี่ยนมาเล่าเรื่องตัวเอง)

ในสภาวะปกติของบทสนทนาการจะโต้ตอบไปมาด้วยเรื่องเล่าของแต่ละฝั่งอาจไม่ส่งผลอะไร แต่ถ้าในสถานการณ์ที่เราต้องการปลอบและเป็นกำลังใจให้ใครสักคนเราต้องจำให้แม่นว่านี่ไม่ใช่รายการแข่งขันว่าใครชีวิตแย่กว่าชนะ ถ้าคนที่เรารักระบายอะไรออกมา เราควรโต้ตอบด้วยการแสดงให้เขาเห็นว่าเราใส่ใจสิ่งที่เขาเจอ ไม่ใช่การเอาปัญหาเราไปเกทับ และเปลี่ยนบทสนทนามาให้เราเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง

ความเศร้าคนเราไม่เท่ากัน อย่าตัดสินความเศร้าคนอื่นว่าเป็นเรื่องเล็ก

เราต่างไม่ใช่นักปลอบ นักให้กำลังใจมืออาชีพ จึงไม่แปลกเลยที่เราฟังเรื่องราวของคนที่เรารักแล้วเผลอใช้มาตรฐานของเราไปตัดสินความรู้สึกของคนอื่น แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้เข้าใจไว้เสมอคือ “ความเศร้าคนเราไม่เท่ากัน”

เราจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจความเศร้าของเขาเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การตัดสินว่าความเศร้า หรือเรื่องที่เขาเจออยู่มัน “เล็กนิดเดียว” หรือ “คนอื่นแย่กว่านี้เยอะ” นอกจากไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้อีกฝั่งรู้สึกต่อต้าน และโดดเดี่ยวยิ่งกว่าเดิม

ต่อให้เรารู้สึกว่าปัญหาของเขา สำหรับเรามันมีทางออกสารพัน (และเราว่ามันแก้ได้จริง ๆ) สิ่งแรกที่ควรทำเมื่อเขาหดหู่หมดกำลังใจไม่ใช่การบอกว่าปัญหาเขามันเล็กจิ๋วเดียว เพื่อหวังดึงเขาออกมาทันทีอย่างที่ใจเราหวัง

เราต้องเห็นความเศร้าของเขาอย่างที่เขาเห็น ต้องรับฟัง ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เขารู้สึกไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ ให้เขาเห็นว่าเราเข้าใจความรู้สึกของเขา แล้วจากนั้นถ้าเรามีวิธีที่คิดว่าทำได้จริงก็แนะนำหลังจากที่เราพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของเขาเรียบร้อยแล้ว จะราบรื่นและทำให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้ตัดสินเขาลวก ๆ

เมื่อคำพูดถูกกลืนหาย ภาษากายก็สำคัญ

ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่ต้องการกำลังใจในรูปแบบคำพูด หรือบางครั้งในวันที่เจอเรื่องยากลำบากเกินจะทานทนคำพูดก็ไม่อาจอธิบายสิ่งที่รู้สึกได้หมด จึงไม่แปลกที่หลายคนใช้ความเงียบเป็นตัวแทนสิ่งที่รู้สึก และเมื่อเราหวังจะเคียงข้างรับฟัง เราก็อาจได้ยินเพียงลมหายใจหรือเสียงหยาดน้ำตาของคนที่เรารัก

เมื่ออีกฝั่งเงียบ การที่เราจะไปพูดไม่หยุดนั้น ก็ดูเป็นการไม่เคารพความเงียบและสิ่งที่ที่เขาเลือกเลย ภาษากายจึงเป็นอีกหนทางการปลอบและให้กำลังใจที่มีความหมายไม่แพ้คำพูดและวิธีอื่น ๆ

กอดคือภาษากายที่แสดงความรัก ความห่วงใยได้ครบถ้วนที่สุด งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่ามนุษย์รู้สึกผ่อนคลายลงได้จริงเมื่อกอดกัน ดังนั้นถ้าเรากับคนใกล้ตัวคนนี้สนิทกันมากพอ โอบกอดเขาไว้แทนคำพูดเพื่อบอกว่าเราจะผ่านมันไปด้วยกัน

อย่างไรก็ตามบางคนก็ไม่สะดวกใจให้ใครมากอด เราอาจถามความยินยอมพร้อมใจจากอีกฝั่งก่อน หรืออาจเปลี่ยนจากกอดเป็นการกอดคอ ตบบ่า โอบไหล่ เพื่อแบ่งปันกำลังใจจากไออุ่นร่างกายก็ได้เช่นกัน

ชีวิตเรายากและง่ายไปคนละแบบ ไม่มีมาตรวัดใดใช้บอกได้ว่าสิ่งที่เราเจอเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่กว่าใคร สำคัญที่ว่าถ้ากำลังใจเรายังไหว ยังไปต่อได้ ยังแบ่งปันให้ผู้อื่นได้สบาย ๆ การนั่งลงเคียงข้างใครสักคนที่ดูอ่อนล้าเต็มทีเพื่อบอกเขาว่าเราอยู่ตรงนี้ มันอาจไม่ได้ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น แต่เชื่อเถอะว่ามันจะทำให้ชีวิตคนที่เรารักยากน้อยลง เพราะเขาไม่ต้องเผชิญมันเพียงลำพังอีกต่อไป

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line